Category Archives: พระธรรมวินัย พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก พระไตรปิฎก

การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๙. อนาคตสูตรที่ ๓
[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ยังไม่บังเกิดในปัจจุบัน แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้น เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น ภัยในอนาคต ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญาเพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๑ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัยดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๒ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิดก็จักไม่รู้สึกเพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๓ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้งเป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ก็จักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทกวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับจักตั้งจิตเพื่อรู้ จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญาภิกษุผู้เถระก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง แม้ประชุมชนนั้นก็จักเป็นผู้มักมากมีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัดจักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุเพื่อ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๕ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๙๑/๔๐๗

คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๕. ภัททาลิสูตร
คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้: สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่าเมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ.

พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้
[๑๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน. ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน. ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา. ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมด เหมือนภิกษุอื่นผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดาฉะนั้น.

พระภัททาลิขอขมาพระพุทธเจ้า
[๑๖๒] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันช่วยกันทำจีวรกรรมสำหรับพระผู้มีพระภาคด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ครั้งนั้นท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ โดยปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวว่า ดูกรภัททาลิผู้มีอายุจีวรกรรมนี้แล ภิกษุทั้งหลายช่วยกันทำสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ เราขอเตือน ท่านจงมนสิการความผิดนี้ให้ดีเถิด ความกระทำที่ยากกว่าอย่าได้มีแก่ท่านในภายหลังเลย. ท่านพระภัททาลิรับคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญโทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกอบความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด.

[๑๖๓] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุมากด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุเหล่านั้นจักรู้เราว่าภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุณีมากด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุณีเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสกมากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสกเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์สิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสิกามากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสิกาเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่าสมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกันเข้าอยู่กาลฝนในพระนครสาวัตถี แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิสาวกของพระสมณโคดม เป็นพระเถระองค์หนึ่ง ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาดซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไปเถิด.

[๑๖๔] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาดซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่ออุภโตภาควิมุต เราพึงกล่าวแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ? ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่อปัญญาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อกายสักขี เป็นอริยบุคคลชื่อทิฏฐิปัตตะ เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี เราพึงกล่าวกะภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ?
ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยนั้น เธอเป็นพระอริยบุคคลชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธรรมานุสารี หรือสัทธานุสารี บ้างหรือหนอ? มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภัททาลิ ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ?
เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาลเป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด.

[๑๖๕] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลงไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรมเราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.

ผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
[๑๖๖] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าโคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟางเถิด บางทีเราพึงทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ดังนี้. เธอเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟางเมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น พระศาสดาก็ทรงติเตียนได้ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนได้ เทวดาก็ติเตียนได้ แม้ตนเองก็ติเตียนตนได้ เธออันพระศาสดาติเตียนบ้าง เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายติเตียนบ้าง เทวดาติเตียนบ้าง ตนเองติเตียนตนบ้างก็ไม่ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
[๑๖๗] ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรเราพึงเสพเสนาสนะอันสงัดคือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง บางทีเราพึงทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ดังนี้. เธอเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น แม้พระศาสดาก็ไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ไม่ติเตียน แม้เทวดาก็ไม่ติเตียน แม้ตนเองก็ติเตียนตนไม่ได้ เธอแม้อันพระศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียนแม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. ภิกษุนั้นเธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษคือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. ภิกษุนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ญาณ ๓
[๑๖๘] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย. เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดา. ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายจะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้แล้วทำเป็นเหตุ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายจะไม่ข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ แล้วทำเป็นเหตุ?

การระงับอธิกรณ์
[๑๖๙] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในกายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้ไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น. ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความอ่อนน้อม ให้ปรากฏประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะพึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับได้โดยเร็วฉะนั้น.

[๑๗๐] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏไม่ประพฤติชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์. ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์จะไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น. ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้พึงระงับได้โดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับได้โดยเร็วฉะนั้น.

[๑๗๑] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้แล้วให้ทำเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณ ของเธอนั้นอย่าเสื่อมไปจากเธอเลย. ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนชนผู้เป็นมิตรอำมาตย์ญาติสายโลหิตของบุรุษผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว พึงรักษานัยน์ตาข้างเดียวนั้นไว้ ด้วยความตั้งใจว่า นัยน์ตาข้างเดียวของเขานั้น อย่าได้เสื่อมไปจากเขาเลย ฉันใด ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นนำชีวิตไปด้วยความศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ. ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้แล้วให้ทำเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณ ของเธออย่าได้เสื่อมไปจากเธอเลย. ดูกรภัททาลิ นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายที่จะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้แล้วให้ทำเหตุ อนึ่ง นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายที่จะไม่ข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้แล้วให้ทำเหตุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อน ได้มีสิกขาบทน้อยนักเทียว แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลเป็นอันมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เดี๋ยวนี้ได้มีสิกขาบทเป็นอันมาก แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก.

อาสวัฏฐานิยธรรม
[๑๗๒] ดูกรภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก. พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้. ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่. ต่อเมื่อใด สงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงจะปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น. อาสวัฏฐานิยมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ตราบเท่าสงฆ์ที่ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ … ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ … ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต … ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู ต่อเมื่อใด สงฆ์เป็นผู้ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น.

[๑๗๓] ดูกรภัททาลิ ณ สมัยที่เราแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่ม แก่เธอทั้งหลาย ณ สมัยนั้น เธอทั้งหลาย ได้มีอยู่น้อย เธอยังระลึกถึงธรรมปริยายนั้นได้อยู่หรือ? ข้าพระองค์ระลึกถึงธรรมปริยายข้อนั้นไม่ได้ พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ในการระลึกไม่ได้นั้น เธออาศัยอะไรเป็นเหตุเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์นั้นมิได้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เป็นเวลานานเป็นแน่ พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ความเป็นผู้ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขานี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย หามิได้ แต่เรากำหนดใจด้วยใจ รู้เธอมานานแล้วว่า โมฆบุรุษนี้ เมื่อเราแสดงธรรมอยู่ ไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่เราก็จักแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยม้าอาชาไนยหนุ่มแก่เธอ เธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ท่านพระภัททาลิทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ธรรม ๑๐ ประการ
[๑๗๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนนายสารถีฝึกม้าคนขยัน ได้ม้าอาชาไนยตัวงามมาแล้ว ครั้งแรกทีเดียว ฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน. เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการใส่บังเหียน ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันจะสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ. นายสารถีฝึกม้า จึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการเทียมแอก เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการเทียมแอก ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันจะสงบลงได้ ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ. นายสารถีผู้ฝึกม้าจึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการก้าวย่าง ในการวิ่งเป็นวงกลม ในการจรดกีบ ในการวิ่ง ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง ในการฝึกไม่ให้ตื่นตกใจ เพราะเสียงกึกก้องต่างๆ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้ ในวงศ์พญาม้า ในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุ ในการว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันย่อมสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ. ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ สารถีผู้ฝึกม้าย่อมเพิ่มให้ซึ่งเหตุเป็นที่ตั้งแห่งคุณและเหตุเป็นที่ตั้งแห่งพละยิ่งขึ้นไป. ดูกรภัททาลิ ม้าอาชาไนยตัวงามประกอบด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นพาหนะควรแก่พระราชา เป็นพาหนะสำหรับใช้สอยของพระราชา นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชาฉันใด ดูกรภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญยิ่งกว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภัททาลิภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ อันเป็นของพระอเสขะ ดูกรภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่อัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่าดังนี้.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว. ท่านพระภัททาลิชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบ ภัททาลิสูตร ที่ ๕.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๒๙/๕๑๘

ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สักกัจจสูตร
[๖๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ลำดับนั้น ท่านคิดเห็นดังนี้ว่าภิกษุ สักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดาอยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยธรรม …อาศัยสงฆ์ … อาศัยสิกขา … อาศัยสมาธิ … อาศัยความไม่ประมาท …อาศัยปฏิสันถารอยู่แล … จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ท่านคิดเห็นอีกว่าธรรมเหล่านี้ของเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผิฉะนั้น เราพึงไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมเหล่านี้ของเราจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลได้ ทองคำอันบริสุทธิ์ผุดผ่องเขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่าทองคำแท่งของเรานี้ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ผิฉะนั้น เราพึงนำเอาทองคำแท่งนี้ไปแสดงแก่นายช่างทอง ทองคำแท่งของเรานี้ ไปถึงนายช่างทองเข้าจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น ฯ

ลำดับนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับเกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่าภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ลำดับนั้นข้าพระองค์ได้คิดเห็นดังนี้ว่า ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดาอยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล สักการะ เคารพ อาศัยธรรม … อาศัยสงฆ์ …อาศัยสิกขา … อาศัยสมาธิ … อาศัยความไม่ประมาท … อาศัยปฏิสันถารอยู่แลจะพึงละอกุศล เจริญกุศล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้คิดเห็นดังนี้อีกว่าธรรมเหล่านี้ของเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผิฉะนั้น เราพึงไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่ผู้มีพระภาค ธรรมเหล่านี้ของเราจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลได้ทองคำแท่งอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า ทองคำแท่งของเรานี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ผิฉะนั้นเราพึงนำเอาทองคำแท่งนี้ไปแสดงแก่นายช่างทอง ทองคำแท่งของเรานี้ไปถึงนายช่างทองเข้า จักบริสุทธิ์และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ฉะนั้น ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ ภิกษุสักการะเคารพ อาศัยพระศาสดาอยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล สักการะ เคารพอาศัยธรรม … อาศัยสงฆ์ … อาศัยสิกขา … อาศัยสมาธิ … อาศัยความไม่ประมาท … อาศัยปฏิสันถารอยู่แล จะพึงละอกุศลเจริญกุศล ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม จักเคารพในสงฆ์ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ชื่อว่าไม่เคารพในสงฆ์ด้วย ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ จักเคารพในสิกขา ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ชื่อว่าไม่เคารพในสิกขาด้วย ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา จักเคารพในสมาธิ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ชื่อว่าไม่เคารพในสมาธิด้วย ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ จักเคารพในความไม่ประมาท ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดาในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ชื่อว่าไม่เคารพในความไม่ประมาทด้วย ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักเคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพในปฏิสันถารด้วย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเคารพในพระศาสดาจักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ชื่อว่าเคารพในธรรมด้วย ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม จักไม่เคารพในสงฆ์ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ชื่อว่าเคารพในสงฆ์ด้วย ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ จักไม่เคารพในสิกขา ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ชื่อว่าเคารพในสิกขาด้วย ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา จักไม่เคารพในสมาธิ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ชื่อว่าเคารพในสมาธิด้วย ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ จักไม่เคารพในความไม่ประมาท ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ในสิกขา ในสมาธิ ชื่อว่าเคารพในความไม่ประมาท ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักไม่เคารพในปฏิสันถารข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าเคารพในปฏิสันถารด้วย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ สารีบุตร เธอรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ ดีแล้ว ดูกรสารีบุตร ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรมในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักเคารพในปฏิสันถารข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดาในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพในปฏิสันถารด้วย ฯ

ดูกรสารีบุตร ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ชื่อว่าเคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักไม่เคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาทชื่อว่าเคารพในปฏิสันถารด้วย ดูกรสารีบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๖

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๙๕/๓๗๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ข้อที่ ๖๗

ผู้ใดไม่มีศีล ผู้นั้นเป็นคนพาล

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฤาษีมีชื่อตามโคตรว่า ปัณฑรสะ ได้เห็นภิกษุเป็นอันมาก ที่น่าเลื่อมใส มีตนอันอบรมแล้ว สำรวมด้วยดี จึงได้ถามพระปุสสเถระว่า ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จักมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร กระผมถามแล้วขอจงบอกความข้อนั้นแก่กระผมเถิด?

พระปุสสเถระจึงกล่าวตอบด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า : ดูกรปัณฑรสฤาษี ขอเชิญฟังคำของอาตมา จงจำคำของอาตมาให้ดี อาตมาจะบอกซึ่งข้อความที่ท่านถามถึงอนาคต คือ

ในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมากจักเป็นคนมักโกรธ มักผูกโกรธไว้ ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา มีวาทะต่างๆ กัน จักเป็นผู้มีมานะในธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึง คิดว่าตื้นในธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นคนเบา ไม่เคารพธรรม ไม่มีความเคารพกันและกัน

ในกาลข้างหน้า โทษเป็นอันมากจักเกิดขึ้นในหมู่สัตวโลก ก็เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ปัญญา จักทำธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนี้ให้เศร้าหมอง

ทั้งพวกภิกษุที่มีคุณอันเลว โวหารจัด แกล้วกล้า มีกำลังมาก ปากกล้า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ก็จักมีขึ้นในสังฆมณฑล

ภิกษุทั้งหลายในสังฆมณฑล แม้ที่มีคุณความดี มีโวหารโดยสมควร แก่เนื้อความ มีความละอายบาป ไม่ต้องการอะไรๆ ก็จักมีกำลังน้อย

ภิกษุทั้งหลายในอนาคตที่ทรามปัญญา ก็จะพากันยินดีเงินทอง ไร่นา ที่ดิน แพะ แกะ และคนใช้หญิงชาย จักเป็นคนโง่มุ่งแต่จะยกโทษผู้อื่น ไม่ดำรงมั่นอยู่ในศีล ถือตัว โหดร้าย เที่ยวยินดีแก่การทะเลาะวิวาท จักมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรที่ย้อมสีเขียวแดง เป็นคนลวงโลก กระด้าง เป็นผู้แส่หาแต่ลาภผล เที่ยวชูเขา คือมานะ ทำตนดั่งพระอริยเจ้าท่องเที่ยวไปอยู่ เป็นผู้แต่งผมด้วยน้ำมัน ทำให้มีเส้นละเอียดเหลาะแหละ ให้ยาหยอดและทาตา มีร่างกายคลุมด้วยจีวรที่ย้อมด้วยสีงา สัญจรไปตามตรอกน้อยใหญ่ จักพากันเกลียดชังผ้าอันย้อมด้วยน้ำฝาดเป็นของไม่น่าเกลียด พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้วยินดียิ่งนัก เป็นธงชัยของพระอรหันต์ พอใจแต่ในผ้าขาวๆ จักเป็นผู้มุ่งแต่ลาภผล เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม เห็นการอยู่ป่าอันสงัดเป็นความลำบาก จักใคร่อยู่ในเสนาสนะที่ใกล้บ้าน ภิกษุเหล่าใดยินดีมิจฉาชีพ จักได้ลาภเสมอๆ จักพากันประพฤติตามภิกษุเหล่านั้น (เที่ยวคบหาราชสกุลเป็นต้นเพื่อให้เกิดลาภแก่ตน) ไม่สำรวมอินทรีย์ เที่ยวไป

อนึ่ง ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชาพวกภิกษุที่มีลาภน้อย จักไม่สมคบภิกษุที่เป็นนักปราชญ์มีศีลเป็นที่รัก จักทรงผ้าสีแดง ที่ชนชาวมิลักขะชอบย้อมใช้ พากันติเตียนผ้าอันเป็นธงชัยของตนเสีย บางพวกก็นุ่งห่มผ้าสีขาวอันเป็นธงของพวกเดียรถีย์

อนึ่ง ในอนาคตกาล ภิกษุเหล่านั้นจักไม่เคารพในผ้ากาสาวะ จักไม่พิจารณาในอุบายอันแยบคายบริโภคผ้ากาสาวะ เมื่อทุกข์ครอบงำ ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว ก็ไม่พิจารณาโดยแยบคาย แสดงอาการยุ่งยากในใจออกมา มีแต่เสียงโอดครวญอย่างใหญ่หลวง เปรียบเหมือนช้างฉัททันต์ ได้เห็นผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ที่นายโสณุตระพราน นุ่งห่มไปในคราวนั้น ก็ไม่กล้าทำร้าย ได้กล่าวคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์มากมายว่า ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งผ้ากาสาวะผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดออกแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลอย่างมั่นคง ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นจึงสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้ ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ กระทำตามความใคร่อย่างเดียว มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่ขวนขวายในทางที่ควร ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ มีใจตั้งมั่น มีความดำริในใจผ่องใส ผู้นั้นสมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้ ผู้ใดไม่มีศีล ผู้นั้นเป็นคนพาล มีจิตใจฟุ้งซ่าน มีมานะฟูขึ้นเหมือนไม้อ้อ ย่อมสมควรจะนุ่งห่มแต่ผ้าขาวเท่านั้น จักควรนุ่งผ้าห่มผ้ากาสาวะอย่างไร

อนึ่ง ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายในอนาคต จักเป็นผู้มีจิตใจชั่วร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ จักข่มขี่ภิกษุทั้งหลายผู้คงที่ มีเมตตาจิต แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ กระทำตามความใคร่ ถึงพระเถระให้ศึกษาการใช้สอยผ้าจีวร ก็จักไม่เชื่อฟังพวกภิกษุที่โง่เขลาเหล่านั้น อันพระเถระทั้งหลายให้การศึกษาแล้วเหมือนอย่างนั้น จักไม่เคารพกันและกัน ไม่เอื้อเฟื้อในพระอุปัชฌายาจารย์ จักเป็นเหมือนม้าพิการไม่เอื้อเฟื้อนายสารถี ฉะนั้น ในกาลภายหลังแต่ตติยสังคายนา ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย ในอนาคต จักปฏิบัติอย่างนี้.

ครั้นพระปุสสเถระแสดงมหาภัยอันจะบังเกิดขึ้น ในกาลภายหลังอย่างนี้แล้ว เมื่อจะให้โอวาทภิกษุที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่าภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำอันตรายต่อข้อปฏิบัติ ย่อมมาในอนาคตอย่างนี้ก่อน ขอท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ว่าง่าย จงพูดแต่ถ้อยคำที่สละสลวยมีความเคารพกันและกัน มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน จงสำรวมในศีล ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวบากบั่นอย่างมั่นเป็นนิตย์ ขอท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาท โดยความเป็นภัย และจงเห็นความไม่ประมาทโดยความเป็นของปลอดภัย แล้วจงอบรมอัฏฐังคิกมรรค เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว ย่อมจะบรรลุนิพพานอันเป็นทางไม่เกิดไม่ตาย

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๓๔๔/๔๔๗

ทำพิธีเสกเป่า เป็นหมอดู เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์ เป็นติรัจฉานวิชา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๑๑๔] ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่า บูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกาเป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๕๙/๓๘๓

อวิชชาและวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ : สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า.

[๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบการงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกชอบ แล.

จบ สูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑/๔๖๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อที่ ๑ – ๓

คนจนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้า

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืม แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ กู้ยืมแล้วย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ใช่ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความเป็นคนจนก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ด้วยประการฉะนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริ ในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า เป็นจนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้าฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขาว่า เป็นการกู้ยืม เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดกายทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดวจีทุจริตนั้น ฯลฯ เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดมโนทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา เรากล่าวเหตุการปกปิดทุจริตของเขานั้นว่า เป็นการรับใช้ดอกเบี้ยเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีล เป็นที่รักได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุรูปนี้ เป็นผู้กระทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้ เรากล่าวการถูกว่ากล่าวของเขาว่า เป็นการทวงดอกเบี้ย อกุศลวิตกที่เป็นบาปประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมครอบงำเขาผู้อยู่ป่า ผู้อยู่โคนไม้ หรือผู้อยู่ในเรือนว่าง เรากล่าวการถูกอกุศลวิตกครอบงำนี้ของเขาว่า เจ้าหนี้ติดตามเขา คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมถูกจองจำ ในเรือนจำ คือ นรก หรือในเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งร้ายกาจ เป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำ คือ นรก หรือเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉานเลย ฯ ความเป็นคนจนและการกู้ยืมเรียกว่า เป็นทุกข์ในโลก คนจนกู้ยืมเลี้ยงชีวิตย่อมเดือดร้อน เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา เพราะไม่ใช้หนี้นั้น เขาย่อมเข้าถึงแม้การจองจำก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ของชนทั้งหลาย ผู้ปรารถนาการได้กาม ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ย่อมปรารถนา ย่อมดำริว่า คนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา พอกพูนบาปกรรมในที่นั้นๆ อยู่บ่อยๆ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เราตถาคตย่อมกล่าวว่า เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทรามทราบความชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน มีหนี้สิน เลี้ยงชีวิตอยู่ย่อมเดือดร้อน ลำดับนั้น ความดำริที่มีในใจ เป็นทุกข์เกิดขึ้นเพราะความเดือดร้อนของเขา ย่อมติดตามเขาที่บ้าน หรือที่ป่า เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม ทราบความชั่วของตนอยู่ ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานบางอย่าง หรือถูกจองจำในนรก ก็การจองจำนั้นเป็นทุกข์ ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้ บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลาย ที่ได้มาโดยชอบธรรม ย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสองของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ การบริจาคของคฤหัสถ์ดังกล่าวมานั้น ย่อมเจริญบุญ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแลเราเรียกว่ามีชีวิตเป็นสุข ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิสยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่นละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏ มีปัญญารักษาตัว มีสติจิตของเขาย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะทราบเหตุในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง หากว่าเขาผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบไซร้ ญาณนั้นแลเป็นญาณชั้นเยี่ยม ญาณนั้นเป็นสุขไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มีโศก หมดมัวหมองเป็นญาณเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้ ฯ

(อิณสูตร)
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๒๐/๔๐๗ ข้อที่ ๓๑๖

การอาบน้ำในศาสนา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๙๘] ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ท่านพระโคดม จะเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกา เพื่อจะสรงสนานหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกาเล่า แม่น้ำพาหุกา จักทำประโยชน์อะไรได้. สุ. ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่ง ชนเป็นอันมาก พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไร ให้แก่ท่านได้.

สุนทริกพราหมณ์บรรลุพระอรหัตต์
[๙๙] ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใดพระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมผู้เจริญเถิด สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ท่านพระภารทวาชะครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนี้แล.

จบ วัตถูปมสูตรที่ ๗

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๕๐/๔๓๐

ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้ ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๗.  คณกโมคคัลลานสูตร  (๑๐๗)
[๙๓]  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา  มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม  เขตพระนครสาวัตถี  ครั้งนั้นแล  พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ  แล้วได้ทักทายปราศรัยกับ  พระผู้มีพระภาค  ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว  จึงนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  พอนั่งเรียบร้อยแล้ว  ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  ตัวอย่างเช่นปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือกระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง  แม้พวกพราหมณ์เหล่านี้  ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือ  ในเรื่องเล่าเรียน  แม้พวกนักรบเหล่านี้  ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือ  ในเรื่องใช้อาวุธ  แม้พวกข้าพเจ้าผู้เป็นนักคำนวณมีอาชีพในทางคำนวณก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือในเรื่องนับจำนวน  เพราะพวกข้าพเจ้าได้ศิษย์แล้ว  เริ่มต้นให้นับอย่างนี้ว่า  หนึ่ง  หมวดหนึ่ง  สอง  หมวดสอง  สาม  หมวดสาม  สี่  หมวดสี่  ห้า  หมวดห้าหก  หมวดหก  เจ็ด  หมวดเจ็ด  แปด  หมวดแปด  เก้า  หมวดเก้า  สิบ  หมวดสิบ  ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อย  ข้าแต่พระ
โคดมผู้เจริญ  พระองค์อาจหรือหนอ  เพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  ในธรรมวินัยแม้นี้  ให้เหมือนอย่างนั้น  ฯ

[๙๔]  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรพราหมณ์  เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  ในธรรมวินัยนี้ได้  เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด  ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว  เริ่มต้นทีเดียว  ให้ทำสิ่งควรให้ทำในบังเหียน  ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควรให้ทำยิ่งๆ  ขึ้นไป  ฉันใด  ดูกรพราหมณ์ฉันนั้นเหมือนกันแล  ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้ว  เริ่มต้น  ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่าดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้มีศีล  สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร  ถึงพร้อมด้วย  อาจาระและโคจรอยู่  จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย  สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด  ฯ

[๙๕]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล  สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร  ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่  เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย  สมาทาน  ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว  ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วจงอย่าถือเอาโดยนิมิต  อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ  จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ  ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่  พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้  จงรักษาจักขุนทรีย์  ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิดเธอได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว  …  เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว  …  เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว  …  เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว  …  เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว  จงอย่าถือเอาโดยนิมิตอย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ  จงปฏิบัติเพื่อสำรวม  มนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ  ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่  พึงถูกอกุศลธรรม  อันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้  จงรักษามนินทรีย์  ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด  ฯ

[๙๖]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ  คือ  พึงบริโภคอาหาร  พิจารณาโดยแยบคายว่า  เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น  มิใช่เพื่อจะมัวเมา  มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลยบริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่  เพื่อให้ชีวิตเป็นไป  เพื่อบรรเทาความลำบากเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น  ด้วยอุบายนี้  เราจะป้องกันเวทนาเก่า  ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น  และความเป็นไปแห่งชีวิต  ความไม่มีโทษ  ความอยู่สบายจักมีแก่เรา  ฯ

[๙๗]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะได้  ตถาคต  ย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่  คือจงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม  ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน  จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม  ด้วยการเดิน  จงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี  พึงเอาเท้าซ้อนเท้า  มีสติรู้สึกตัวทำความสำคัญว่า  จะลุกขึ้น  ไว้ในใจแล้วสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอด  มัชฌิมยามแห่งราตรี  จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม  ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีเถิด  ฯ

[๙๘]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้  ตื่นอยู่ได้  ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ  คือทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับในเวลาแลดูและเหลียวดู  ในเวลางอแขนและเหยียดแขน  ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร  ในเวลาฉัน  ดื่ม  เคี้ยว  และลิ้มรส  ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ  ในเวลาเดิน  ยืน  นั่ง  นอนหลับ  ตื่น  พูด  และนิ่งเถิด  ฯ

[๙๙]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้  ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด  คือ  ป่า  โคนไม้ภูเขา  ซอกเขา  ถ้ำ  ป่าช้า  ป่าชัฏ  ที่แจ้ง  และลอมฟาง  เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาอาหารแล้ว  นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง  ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  ละอภิชฌาในโลกแล้ว  มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว  เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท  อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาทได้  ละถีนมิทธะแล้ว  เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ  มีอาโลกสัญญา  มีสติสัมปชัญญะอยู่ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้  ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว  เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน  มีจิตสงบภายในอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้  ละวิจิกิจฉาแล้ว  เป็นผู้ข้ามความสงสัยไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้  ฯ

[๑๐๐]  เธอครั้นละนิวรณ์  ๕  ประการ  อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมองทำปัญญาให้ถ้อยกำลังนี้ได้แล้ว  จึงสงัดจากกาม  สงัดจากอกุศลธรรม  เข้าปฐมฌาน  มีวิตก  มีวิจาร  มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่  เข้าทุติยฌาน  มีความ  ผ่องใสแห่งใจภายใน  มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น  เพราะสงบวิตกและวิจารไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่  เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ  มีสติสัมปชัญญะอยู่  และเสวยสุขด้วยนามกาย  เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอ ได้ว่าผู้วางเฉย  มีสติ  อยู่เป็นสุขอยู่  เข้าจตุตถฌาน  อันไม่มีทุกข์  ไม่มีสุขเพราะละสุข  ละทุกข์และดับโสมนัส  โทมนัสก่อนๆ  ได้  มีสติบริสุทธิ์  เพราะอุเบกขาอยู่  ดูกรพราหมณ์  ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ  ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค  ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้  อยู่นั้น  เรามีคำพร่ำสอนเห็นปานฉะนี้  ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว  ปลงภาระได้แล้ว  บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ  สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว  พ้นวิเศษแล้วเพราะผู้ชอบนั้น  ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบาย  ในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ  ฯ

[๑๐๑]  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้  พราหมณ์คณกะ  โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  สาวกของพระโคดมผู้เจริญ  อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  ทุกรูปทีเดียวหรือหนอ  หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี  ฯ
พ.  ดูกรพราหมณ์  สาวกของเรา  อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อย  ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  บางพวกก็ไม่ยินดี  ฯ.
ค.  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  ใน เมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่  ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่  พระโคดมผู้เจริญ  ผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่  แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ  อันพระโคดมผู้เจริญ  โอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อยจึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  บางพวกก็ไม่ยินดี  ฯ

[๑๐๒]  พ.  ดูกรพราหมณ์  ถ้าเช่นนั้น  เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้  ท่านชอบใจอย่างไร  พึงพยากรณ์อย่างนั้น  ดูกรพราหมณ์  ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน  ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ  ฯ
ค.  แน่นอน  พระเจ้าข้า  ฯ

พ.  ดูกรพราหมณ์  ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน  บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์  พึงมาในสำนักของท่าน  เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่าท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์  ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด  ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า  ดูกรพ่อมหาจำเริญ  มาเถิดทางนี้ไปเมืองราชคฤห์  ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นบ้านชื่อโน้นไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นนิคมชื่อโน้น  ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้วจักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์  ป่าที่น่ารื่นรมย์  ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์  สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์  บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้  จำทางผิดกลับเดินไปเสียตรงกันข้าม  ต่อมาบุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมาในสำนักของท่าน  เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า  ท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์  ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า  ดูกรพ่อมหาจำเริญ  มาเถิด  ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์  ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นบ้านชื่อโน้น  ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นนิคมชื่อโน้น  ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์  ป่าที่น่ารื่นรมย์  ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์  สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์  บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้  พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี  ดูกรพราหมณ์  อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่  ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่  ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่  แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้  คนหนึ่งจำทางผิด  กลับเดินไปทางตรงกันข้ามคนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี  ฯ
ค.  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  ในเรื่องนี้  ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้  ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง  ฯ

[๑๐๓]  พ.  ดูกรพราหมณ์  ฉันนั้นเหมือนกันแล  ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่  ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่  เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่  แต่ก็สาวกของเรา  อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อย  ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  บางพวกก็ไม่ยินดี  ดูกรพราหมณ์  ในเรื่องนี้  เราจะทำอย่างไรได้ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้  ฯ

[๑๐๔]  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้  พราหมณ์คณกะ  โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  บุคคลจำพวกที่ไม่มีศรัทธา  ประสงค์จะเลี้ยงชีวิต  ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  เป็นผู้โอ้อวด  มีมายา  เจ้าเล่ห์  ฟุ้งซ่าน  ยกตัว  กลับกลอก  ปากกล้า  มีวาจา  เหลวไหล  ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ  ไม่ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้ตื่น  ไม่มุ่งความเป็นสมณะ  ไม่มีความเคารพ  กล้าในสิกขา  มีความประพฤติมักมาก  มีความปฏิบัติย่อหย่อน  เป็นหัวหน้าในทางเชือนแช  ทอดธุระในความสงัดเงียบ  เกียจคร้าน  ละเลยความเพียรหลงลืมสติ  ไม่รู้สึกตัว  ไม่มั่นคง  มีจิตรวนเร  มีปัญญาทราม  เป็นดังคนหนวก  คนใบ้  พระโคดมผู้เจริญย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลจำพวกนั้น  ส่วนพวกกุลบุตรที่มีศรัทธา  ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  ไม่โอ้อวด  ไม่มีมายา  ไม่เป็น
คน  เจ้าเล่ห์  ไม่ฟุ้งซ่าน  ไม่ยกตน  ไม่กลับกลอก  ไม่ปากกล้า  ไม่มีวาจาเหลวไหล  คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  รู้จักประมาณในโภชนะ  ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้ตื่น  มุ่งความเป็นสมณะ  เคารพกล้าในสิกขา  ไม่มีความประพฤติมักมาก  ไม่มีความปฏิบัติย่อหย่อน  ทอดธุระในทางเชือนแช  เป็นหัวหน้าในความสงัดเงียบ  ปรารภความเพียร  ส่งตนไปในธรรม  ตั้งสติมั่น  รู้สึกตัวมั่นคง  มีจิตแน่วแน่  มีปัญญา  ไม่เป็นดังคนหนวก  คนใบ้  พระโคดมผู้เจริญ  ย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรพวกนั้น  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  เปรียบเหมือนบรรดาไม้ที่มีรากหอม  เขากล่าวกฤษณาว่าเป็นเลิศ  บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม  เขากล่าวแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ  บรรดาไม้ที่มีดอกหอม  เขากล่าวดอกมะลิว่าเป็นเลิศฉันใด  โอวาทของพระโคดมผู้เจริญ  ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล  บัณฑิตกล่าวได้ว่าเป็นเลิศในบรรดาธรรมของครูอย่างแพะที่นับว่าเยี่ยม  แจ่มแจ้งแล้วพระเจ้าข้าแจ่มแจ้งแล้ว  พระเจ้าข้า  พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย  เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ  หรือเปิดของที่ปิด  หรือบอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า  ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้  ฉะนั้น  ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ  พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะขอพระโคดมผู้เจริญ  จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก  ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ฯ

จบ  คณกโมคคัลลานสูตร  ที่  ๗
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๖๒

ควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชิคุจฉสูตร
[๔๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉนคือ
๑. บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่
๒. บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่
๓. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบควรเข้าไปนั่งใกล้มีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม  ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าในภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ บุคคลเห็นปานนี้ควรเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริง แต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ก็ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในคูถ ถึงแม้จะไม่กัดแต่ก็ทำให้เปื้อนได้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน แม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติ ของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริงแต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงน่าเกลียด ไม่ควรเสพไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โกรธมากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคืองพยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมให้ความหมักหมมยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธมากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาทขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิๆ แม้ฉันใด  บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจเมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธและความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนหลุมคูถ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคืองพยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความพินาศให้เราบ้าง ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้

ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมบุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้จะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็ตาม ถึงกระนั้น ชื่อเสียงที่ดีงามของเขาก็จะระบือไปว่า เป็นผู้มีคนดีเป็นมิตร มีคนดีเป็นสหาย มีคนดีเป็นเพื่อนฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ

จบสูตรที่ ๗
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๑๙