วิเคราะห์แนวคิดท่านพุทธทาส

ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เริ่มการเสวนาจากการวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า

“ถ้าจะให้อาตมาพูดผ่านแนวคิดของท่าน ในแง่

๑. คือตนอาจจะอ่านไม่เพียงพอ

๒. การที่จะบอกว่าท่านผู้นั้นเป็นเรื่องยากและที่ต้องระวังมาก

ที่นี้แม้แต่ชื่อที่บอกว่ามองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตของพุทธทาสก็แปลความหมายได้หลายอย่าง

แปลง่ายๆ ก็ให้มองอนาคตของมนุษย์ ของสังคม หรือของอะไรก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เราเพียงแต่ดูว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็น เราไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่แทนที่จะมองอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราน่ามองแบบมีส่วนรวมว่าอนาคตของโลกควรเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยทำให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร อาตมาคิดว่าถ้ามองแบบนี้จะมีความหมายสำคัญมากกว่า

ส่วนแนวคิดและชีวิตของท่านพุทธทาสซึ่งจะโยงมาหาการที่เราจะต้องเข้าใจแนวคิดชีวิตของท่านพุทธทาส ว่าเราเข้าใจอย่างไร เราก็จะไปมองเรื่องอนาคตที่ว่านั้นจะจัดการไปตามนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญว่าเรามองแนวคิดของท่านพุทธทาสอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรามองตรงกันนั้นถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน มันกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานเลยว่าตัวแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก

บางทีอาจเป็นหัวข้อที่ท่านที่ศึกษางานจะต้องมาช่วยกันวิเคราะห์ ถกเถียง และอย่างน้อยก็ไม่ด่วนตัดสิน เพราะว่าแนวคิดของท่านที่มองอะไรกว้างขวางและผลงานเยอะ มีความเสี่ยงภัยเหมือนกัน คือบางคนไปจับอะไรมอง ได้ยินอะไร หรือว่าไปอ่านหนังสือของท่านบางเล่มเห็นข้อความบางอย่างจับเอาเลยว่าท่านคิดเห็นอย่างนั้น จริงอยู่ท่านกล่าวจากความคิดของท่าน แต่เรามองอย่างไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปเดิม ไม่รู้แนวคิดพื้นฐานกว้างๆ ของท่าน เราก็มองไปแต่เป็นไปตามความคิดความรู้สึกของเราเอง มันทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน

การมองแนวคิดของท่านพุทธทาส ถ้ามองขั้นที่ ๑ เรามองที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นอย่างไร อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกว่าพุทธทาส แปลว่าทาสของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ท่านมุ่งอุทิศชีวิตของท่านในการสนองงานของพระพุทธเจ้าอะไรล่ะ สนองงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์ย้ำบ่อยมาก

ท่านมีเจตนาพื้นฐานเพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อันนี้จริงไหม ถ้าเรายอมรับเราตกลง แล้วเราแน่ใจ เราก็ได้ไปในขั้นเจตนา เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลยมันเป็นตัวนำจิต เพราะว่าจิตของเรากับจิตของท่านจะสอดคล้องกัน ที่นี้เราแน่ใจไหม มันก็ได้ไปส่วนสำคัญ ที่นี้เมื่อมามองงานของท่านที่มีมากมาย อย่างที่พูดเมื่อกี้ ถ้าเราไม่ได้ชัดเจนกับตัวเอง เรื่องของแนวคิดของท่านที่เป็นไปตามเจตนานี้ มันก็เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้การแปลความหมายดีขึ้น เราจะยอมรับไหมว่าแนวคิดนี้แน่ใจ

ต่อไปก็มองที่ตัวหนังสือบ้าง คำพูด คำเทศนาของท่าน อาตมาจะยกตัวอย่างเลย บางที่บางคนไปจับเฉพาะบางแง่บางส่วน แล้วจะทำให้เกิดปัญหา เช่น บางทีบางคนอาจจะไปยกคำของท่านมา ที่บอกว่าพระไตรปิฎกนี่ต้องฉีกออกเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับว่ามีส่วนที่ไม่ควรใช้ ไม่ควรเชื่อถือหลายเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวท่าน ตั้งแต่เจตนาพื้นฐาน บางคนก็อาจจะเข้าใจเลยไปว่าพระไตรปิฎกไม่น่าเชื่อถือ บางคนก็ยกไปอ้างในทำนองนี้ หรือเป็นว่าเป็นแนวคิดของท่าน

อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมา อย่างที่อาตมาเล่า อาตมามอง เริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสออกหนังสือกลุ่มจากพระโอษฐ์เยอะมาก ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านมีหนังสือแบบนี้แสดงว่าท่าทีหรือว่าทัศนคติของท่านต่อพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกมามากมาย และตั้งใจค้นคว้า ศึกษาจริง

เราจะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับว่าด้านหนึ่งท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็มีท่าทีให้มีเหตุผลไม่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่องมงาย ว่าอะไรที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎกจะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้เป็นทัศนคติที่พอดีๆ ที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล

อาตมาจะอ่านให้ฟังสักนิดเป็นการโควท (Quote) ท่านหน่อย ในหนังสือโอสาเรปนะธรรม หน้า ๔๒๓ บอกว่า “ดังนั้นในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก” นี้แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก คำว่า “บาลี” เป็นคำทางพระหมายถึงพระไตรปิฎก อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา อันนี้ก็พูดถึงอรรถกถา ซึ่งประเดี๋ยวก็ต้องพูดกันอีก มาถึงเรื่องฉีก ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องฉีก ในหนังสือพระธรรมปาติโมกข์ เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓ ท่านพูดถึงเว่ยหลาง

“ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้ มันถูกที่สุด เดี๋ยวนี้เรามีห้องสมุด มีหนังสือแยะ ที่เราก็มี เขาให้อะไรเยอะแยะ เป็นตารางที่ขังความโง่ของคนไว้อย่าให้ไปครอบงำใคร…ฉะนั้นห้องสมุดของผมที่ชั้นบนนี้ ผมจึงไม่ให้ใครเอาหรือขึ้นไปใช้มัน เพราะเป็นความโง่ของคนทั้งโลกที่ผมขังไว้ อย่าให้ไปครอบงำคนอื่น บางชุดซื้อมาตั้งหมื่น นั้นคือความโง่ ไม่กี่เล่ม เอามาขังไว้ในนี้ไปครอบงำใครได้ นี้ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งอ่านยิ่งโง่ ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่”

ถ้าคนมาจับความแค่นี้ก็จะบอกว่าท่านเป็นปฏิปักษ์กับเรื่องหนังสือ ไม่สนับสนุนให้อ่านให้ค้นคว้า อันนี้ก็ไม่อยากให้ไปจับเอาเฉพาะแง่เฉพาะมุมนิดๆ หน่อยๆ ต้องดูทั้งหมดว่าท่านมองอย่างไร คิดอย่างไร บางทีมันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เราก็ต้องดูว่าขณะนั้นท่านกำลังพูดเรื่องอะไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังได้แง่คิดอะไรในเรื่องนี้

เมื่อกี้พูดถึงว่าให้เอาบาลี หรือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา ทีนี้บางทีท่านพูดถึงเรื่องอรรถกถาในหลายกรณีก็จะมีเรื่องพูดในแง่ที่ไม่ค่อยดี คล้ายๆ กับไม่น่าไว้ใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนไปถึงขนาดที่ว่าอรรถกานี้ไว้ใจไม่ได้ อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มเขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถา ถ้าเราดูท่านพุทธทาส อาจจะถือเป็นความพอดีก็ได้ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะแล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา เรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา

เราไม่ต้องไปพูดเฉพาะท่านหรอก คืออย่างคำแปลพระไตรปิฎก ฉบับโน้นฉบับนี้เราก็มาอ้างกันว่าเป็นพระไตรปิฎก และที่ใช้ในเมืองไทยก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยมากก็จะคัดมา อ้างอิงมาจากฉบับแปลเป็นภาษาไทย เราไม่ได้อ้างอิงมาจากฉบับภาษาบาลีมาอ้างอิงโดยตรง และหลายคนก็ไม่สามารถแปลได้ด้วย

ที่เราบอกว่าพระไตรปิฎกๆ นั้น คำแปลเขาอ้างจากอรรถกถานะ พระไตรปิฎกฉบับ ๒๕ ศตวรรษพิมพ์ครบชุดครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ฉบับมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ คนแปลไม่ได้รู้ไปหมด ต้องค้นหากัน เวลาค้นๆ กันที่ไหน ก็ค้นจากอรรถกถา จากฎีกา แล้วก็แปลไปตามนั้น

คนที่บอกว่าไม่เชื่ออรรถกถา ไม่รู้แปลพระไตรปิฎกเอาตามอรรถกถา ใช้อรรถกถามาเป็นสิ่งที่ตัวเองยึดถือเลย โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกแปลไม่ได้แปลตรงไปตรงมาหรอก แปลตามอรรถกถาอธิบาย เพราะพระไตรปิฎกนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าเก่ากว่าอรรถกถามาก ที่นี้ศัพท์ที่เก่าขนาดนั้น บางทีรูปประโยคดูไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอย่างไร การแปลจึงต้องหาอุปมาช่วย ก็ได้อรรถกถานี้แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก จึงไปเอาอรรถกถาว่าท่านอธิบายบาลีองค์นี้ไว้อย่างไร ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัดอยากจะได้ความที่ชัดยิ่งขึ้นก็ไปค้นคัมภีร์รุ่นต่อมา หรือฎีกา หรืออนุฎีกาต่างๆ มาพิจารณาประกอบ จะถือเอาตามนั้นหรือจะตัดสินอย่างไรก็ตามแต่ รวมแล้วก็คือต้องอาศัยคัมภีร์เก่า

แต่บางคนก็อ้างพระไตรปิฎกโดยไม่รู้ว่าความจริงว่าแม้แต่คนแปลเขาก็อ้างอรรถกถา กลายเป็นว่าที่ตัวเอาๆ มาจากอรรถกถา อันนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่าท่านบวชตั้งแต่เมื่อไร ท่านอุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาอะไรต่างๆ เวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง เวลาท่านบอกไม่ให้เชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ให้เราเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป

ในหนังสือพุทธิกะจริยธรรม หน้า ๒๓๓ “ฉะนั้นเราต้องมีธรรมที่เหมาะสมแก่วัย ที่วัยนั้นจะพอรับเอาได้ หรือเข้าใจได้” ข้อนี้ท่านเปรียบไว้ในอรรถกถาว่า “ขืนป้อนข้าวคำใหญ่ๆ แก่เด็กซึ่งปากยังเล็กๆ” ก็หมายความว่าเด็กจะรับไม่ได้ ท่านได้ยกคำอรรถกถามาใช้ แต่ที่เป็นอภินิหารท่านก็บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ

ฉะนั้นการที่จะไปพูดเรื่องมองอนาคตอะไร แนวคิดผลงานของท่านอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ บางทีเราอาจจะก้าวเลยไปก็ได้ บางทีคนที่มาพูดมองอนาคตนั้นผ่านชีวิตของท่าน แต่ละคนก็มีในใจของตัวเอง มองแนวคิดของท่านไว้คนละอย่าง เสร็จแล้วอาจจะพูดไปคนละทางสองทาง การมองเรื่องที่ตั้งไว้ว่าเราจะช่วยให้มันเป็นอย่างไร โดยผ่านแนวคิดของท่านพุทธทาส เราก็ต้องชัดด้วย อย่างที่อาตมาบอกว่าให้มองตั้งแต่เจตนาของท่านที่แน่นอนเลย ที่จะสนองพุทธประสงค์ ที่จะรับใช้พระพุทธเจ้า ถ้าเรามีเจตนาแบบนี้ก็ต้องอนุโมทนาว่าเรามีเจตนาที่เป็นกุศล เราศึกษางานของท่าน เพื่อเอามาใช้ เอามาสอน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นส่วนที่เราได้สนองท่านพุทธทาสด้วยนะ ท่านพุทธทาสสนองงานพระพุทธเจ้า โดยที่ว่าเราก็จำกัดลงมาในแง่สนองรับใช้ท่านพุทธทาส เราก็ได้รับใช้ทั้งสองเลย

เอาเป็นอันว่าหลวงพ่อพุทธทาสตั้งเจตนาเลย ท่านอุทิศชีวิตสนองงานพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ชื่อตัวเอง ที่ท่านเรียกตัวเองว่าพุทธทาสภิกขุ บทบาทที่เด่นของท่านก็สมานสัมพันธ์กับยุคสมัย อย่างที่บอกว่าคนไทยห่างไกลพุทธศาสนามาก ความเชื่ออะไรก็เป็นไปตามปรัมปรา ที่สืบต่อกันมา ก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อน ค่อยๆ เพี้ยนไป อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องอาศัยกัน ไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธา ที่จะบอกเลยว่าให้มีหลักความเชื่ออย่างไร”

แม้โลกวันนี้จะแสนวิปริตเพียงใด หากท่านมองผ่านฐานแนวคิดของท่านพุทธทาส จะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความทุกข์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นบุญ เป็นโชค ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า “โชคดีมีบุญที่ได้มาเกิดในโลกนี้ ในสภาพปัจจุบันนี้ที่แสนจะวิปริต เพราะว่ามีอะไรให้ศึกษามาก…คิดดูถ้าไม่มีเรื่องให้ศึกษามากแล้วมันจะฉลาดได้อย่างไร”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

ใส่ความเห็น