Monthly Archives: มกราคม 2014

ศีลทำให้คนไปสู่นิพพาน

ธรรมะรุ่งอรุณ
เช้าวันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ.2557
พระธรรมเทศนาโดย พระธรรมมงคลญาณ
(พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ
ประธานผู้ก่อตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ

พระอาจารย์หลวงพ่อฯกล่าวว่า คนเราอยากให้ผู้ที่ตายไปแล้ว ไปสู่สุขคติ ได้รับความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากคนผู้นั้นทำกรรมไม่ดีไว้ก็ต้องไปตามกรร­ม คนที่ไปในทางสุขได้ต้องสร้างความดี ความดีที่เรียกว่าบุญ จะนำจิตวิญญาณ ไปสู่ที่สุข เพราะคนเราตายไปนั้น ใจไม่ได้ตายตามร่างกาย ใจเรามีความสำคัญ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ

การเป็นมนุษย์นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นผู­้ ประเสริฐ สามารถสร้างความดี สร้างบุญได้ในขณะเดียวกันสร้างบาปได้ ด้วยกิเลสพาไป ความโลภเป็นกิเลส ความหลงเป็นกิเลส กิเลสพาไปทางทุกข์ไม่สิ้นสุด หากบรรเทากิเลสลงได้ ความดีเกิดขึ้นแล้ว ใจเราซื่อ ไม่คดงอ แต่กิเลสทำให้คดงอ อย่างเราไมฆ่าคน แต่โกหกว่าไม่ได้ฆ่า อย่างนี้ใจเรารู้ คนอื่นไม่รู้

– เราไม่ฆ่าสัตว์ บุญก็เกิดขึ้นแล้ว
– เราไม่ได้ไปลักขโมย โกง คอรัปชั่น ศีลเกิดขึ้นเป็นบุญขึ้นมา
– เราไม่ได้ไปผิดลูกเมียคนอื่น เราไม่ได้ทำจันทร์-ศุกร์ บุญเกิดขึ้น
– เราไม่ได้ไปโกหกหลอกลวงใคร เราอยู่ไปเฉยๆ ไม่ได้ไปโกหกให้ใครเสียทรัพย์ มันก็เป็นบุญตลอด
– ในที่สุด สุราเมรัย เราไม่ได้กินเหล้า เสพย์ยา ก็เป็นบุญเกิดขึ้นเอง บาปให้ผลเป็นบาป บุญส่งผลเป็นบุญ ถ้ากินเหล้า โกหกหลอกลวง ก็ไม่มีศีลแล้ว

บรรพบุรุษรักษาพระพุทธศาสนามาถึง 2557 ปีด้วยความยากลำบาก คนที่ผิดพระธรรมวินัยถือเป็นการทำลาย เราสามารถรักษาดำรงไว้ให้ยั่งยืนด้วยการสน­ับสนุนผู้ที่ปฏิบัติดี ไม่สนับสนุนผู้ที่ไม่ปฏิบัติไม่ดี

“สีเลนะ สุคะติง ยันติ” ศีลนี่เเหละที่จะทำให้คนไปสู่สวรรค์
“สีเลนะ โภคะสัมปะทา” ศีลทำให้เกิดโคนร่ำรวย
“สิเลนะ นิพพุติง ยันติ” ศีลที่ทำให้คนไปสู่นิพพาน

http://www.bloggang.com

เมื่ออะไรมี อะไรจึงมี เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยสาวก
[๑๗๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล … พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับมิได้มีความสงสัยอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรมีอะไรจึงมีหรือหนอแล เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เมื่ออะไรมี ภพจึงมีเมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี ฯ

[๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อวิญญาณมีนามรูปจึงมี เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมีเมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี เมื่อภพมีชาติจึงมี เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ฯ

[๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมไม่มีความสงสัยอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรไม่มี อะไรจึงไม่มีหรือหนอแล เพราะอะไรดับ อะไรจึงดับเมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มีผัสสะจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ฯ

[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ฯลฯ อุปาทานจึงไม่มี … ภพจึงไม่มี … ชาติจึงไม่มี เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมดับอย่างนี้ ฯ

[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล อริยสาวกรู้ทั่วถึงเหตุเกิดและความดับไปแห่งโลกตามเป็นจริงอย่างนี้ ในกาลนั้น อริยสาวกนี้ เราเรียกว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิบ้าง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะบ้าง เป็นผู้มาถึงสัทธรรมนี้บ้างเห็นสัทธรรมนี้บ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นพระอริยะมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง ว่าอยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง ฯจบสูตรที่ ๙

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๗๖

ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พลสูตร
[๒๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ กำลัง คือ ปัญญา ๑ กำลัง คือ ความเพียร ๑ กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ ๑ กำลัง คือ การสงเคราะห์ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดดำนับว่าดำ ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นพระอริยะ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง ประพฤติได้ด้วยปัญญานี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ความเพียรเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดดำนับว่าดำ ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพนับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ บุคคลยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้นธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นพระอริยะ บุคคลย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม
ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อได้ธรรมเหล่านั้น นี้เรียกว่ากำลัง คือ ความเพียร ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นไฉน สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ คือ ทาน ๑ เปยยวัชชะ ๑ อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศีลสัมปทา ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี พระอนาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์ นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือ การสงเคราะห์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ อาชีวิตภัย ๑ อสิโลกภัย ๑ ปริสสารัชภัย ๑ มรณภัย ๑ ทุคติภัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้นแลพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต ไฉนเราจักกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเล่า เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คือ กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเพราะการงานทางกาย ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ คนที่ไม่สงเคราะห์ใครก็กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต เราไม่กลัวต่อภัย คือ การติเตียน ฯลฯ เราไม่กลัวต่อภัยคือการสะทกสะท้านในบริษัท … เราไม่กลัวต่อภัยคือความตาย … เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักกลัวต่อภัย คือ ทุคติเล่าเพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติคนเกียจคร้านแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คือ กลัวต่อภัยคือทุคติเพราะการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร ก็กลัวภัยคือทุคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการนี้ ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๙๒

ผู้ไกลจากธรรม

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผัสสายตนสูตรที่ ๒
[๘๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง พรหมจรรย์อันภิกษุนั้นไม่อยู่จบแล้ว เธอเป็นผู้ไกลจากธรรมวินัยนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์เป็นผู้ฉิบหายแล้วในธรรมวินัยนี้ เพราะข้าพระองค์ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ฯ

พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอพิจารณาเห็นจักษุ  ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีละ ภิกษุ ในข้อนี้ การที่เธอพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของ เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ จักเป็นอันเธอเห็นดีแล้วด้วย  ปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง ด้วยอาการอย่างนี้ ผัสสายตนะที่ ๑ นี้จักเป็นอันเธอละได้แล้ว เพื่อมิให้ผัสสายตนะนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไป ฯลฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดีละ ภิกษุ ในข้อนี้ การที่เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ จักเป็นอันเธอเห็นดีแล้วด้วยปัญญา อันชอบ ตามความเป็นจริงด้วยอาการอย่างนี้ ผัสสายตนะที่ ๖ นี้จักเป็นอันเธอ  ละได้แล้ว เพื่อมิให้ผัสสายตนะนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไป ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๔๑

ผู้ไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฤาษีมีชื่อตามโคตรว่า ปัณฑรสะ ได้เห็นภิกษุเป็นอันมาก ที่น่าเลื่อมใส มีตนอันอบรมแล้ว สำรวมด้วยดี จึงได้ถามพระปุสสเถระว่า ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จักมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร กระผมถามแล้วขอจงบอกความข้อนั้นแก่กระผมเถิด?

พระปุสสเถระจึงกล่าวตอบด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า : ดูกรปัณฑรสฤาษี ขอเชิญฟังคำของอาตมา จงจำคำของอาตมาให้ดี อาตมาจะบอกซึ่งข้อความที่ท่านถามถึงอนาคต คือในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมากจักเป็นคนมักโกรธ มักผูกโกรธไว้ ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา มีวาทะต่างๆ กัน จักเป็นผู้มีมานะในธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึง คิดว่าตื้นในธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นคนเบา ไม่เคารพธรรม ไม่มีความเคารพกันและกัน ในกาลข้างหน้า โทษเป็นอันมากจักเกิดขึ้นในหมู่สัตวโลก ก็เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ปัญญา จักทำธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนี้ให้เศร้าหมอง ทั้งพวกภิกษุที่มีคุณอันเลว โวหารจัด แกล้วกล้า มีกำลังมาก ปากกล้า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ก็จักมีขึ้นในสังฆมณฑล ภิกษุทั้งหลายในสังฆมณฑล แม้ที่มีคุณความดี มีโวหารโดยสมควร แก่เนื้อความ มีความละอายบาป ไม่ต้องการอะไรๆ ก็จักมีกำลังน้อย ภิกษุทั้งหลายในอนาคตที่ทรามปัญญา ก็จะพากันยินดีเงินทอง ไร่นา ที่ดิน แพะ แกะ และคนใช้หญิงชาย จักเป็นคนโง่มุ่งแต่จะยกโทษผู้อื่น ไม่ดำรงมั่นอยู่ในศีล ถือตัว โหดร้าย เที่ยวยินดีแก่การทะเลาะวิวาท จักมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรที่ย้อมสีเขียวแดง เป็นคนลวงโลก กระด้าง เป็นผู้แส่หาแต่ลาภผล เที่ยวชูเขา คือมานะ ทำตนดั่งพระอริยเจ้าท่องเที่ยวไปอยู่ เป็นผู้แต่งผมด้วยน้ำมัน ทำให้มีเส้นละเอียดเหลาะแหละ ให้ยาหยอดและทาตา มีร่างกายคลุมด้วยจีวรที่ย้อมด้วยสีงา สัญจรไปตามตรอกน้อยใหญ่ จักพากันเกลียดชังผ้าอันย้อมด้วยน้ำฝาดเป็นของไม่น่าเกลียด พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้วยินดียิ่งนัก เป็นธงชัยของพระอรหันต์ พอใจแต่ในผ้าขาวๆ จักเป็นผู้มุ่งแต่ลาภผล เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม เห็นการอยู่ป่าอันสงัดเป็นความลำบาก จักใคร่อยู่ในเสนาสนะที่ใกล้บ้าน ภิกษุเหล่าใดยินดีมิจฉาชีพ จักได้ลาภเสมอๆ จักพากันประพฤติตามภิกษุเหล่านั้น (เที่ยวคบหาราชสกุลเป็นต้นเพื่อให้เกิดลาภแก่ตน) ไม่สำรวมอินทรีย์ เที่ยวไป อนึ่ง ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชาพวกภิกษุที่มีลาภน้อย จักไม่สมคบภิกษุที่เป็นนักปราชญ์มีศีลเป็นที่รัก จักทรงผ้าสีแดง ที่ชนชาวมิลักขะชอบย้อมใช้ พากันติเตียนผ้าอันเป็นธงชัยของตนเสีย บางพวกก็นุ่งห่มผ้าสีขาวอันเป็นธงของพวกเดียรถีย์ อนึ่ง ในอนาคตกาล ภิกษุเหล่านั้นจักไม่เคารพในผ้ากาสาวะ จักไม่พิจารณาในอุบายอันแยบคายบริโภคผ้ากาสาวะ เมื่อทุกข์ครอบงำ ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว ก็ไม่พิจารณาโดยแยบคาย แสดงอาการยุ่งยากในใจออกมา มีแต่เสียงโอดครวญอย่างใหญ่หลวง เปรียบเหมือนช้างฉัททันต์ ได้เห็นผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ที่นายโสณุตระพราน นุ่งห่มไปในคราวนั้น ก็ไม่กล้าทำร้าย ได้กล่าวคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์มากมายว่า ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งผ้ากาสาวะผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดออกแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลอย่างมั่นคง ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นจึงสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้ ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ กระทำตามความใคร่อย่างเดียว มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่ขวนขวายในทางที่ควรผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ มีใจตั้งมั่น มีความดำริในใจผ่องใส ผู้นั้นสมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้ ผู้ใดไม่มีศีล ผู้นั้นเป็นคนพาล มีจิตใจฟุ้งซ่าน มีมานะฟูขึ้นเหมือนไม้อ้อ ย่อมสมควรจะนุ่งห่มแต่ผ้าขาวเท่านั้น จักควรนุ่งผ้าห่มผ้ากาสาวะอย่างไร อนึ่ง ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายในอนาคต จักเป็นผู้มีจิตใจชั่วร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ จักข่มขี่ภิกษุทั้งหลายผู้คงที่ มีเมตตาจิต แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ กระทำตามความใคร่ ถึงพระเถระให้ศึกษาการใช้สอยผ้าจีวร ก็จักไม่เชื่อฟังพวกภิกษุที่โง่เขลาเหล่านั้น อันพระเถระทั้งหลายให้การศึกษาแล้วเหมือนอย่างนั้น จักไม่เคารพกันและกัน ไม่เอื้อเฟื้อในพระอุปัชฌายาจารย์จักเป็นเหมือนม้าพิการไม่เอื้อเฟื้อนายสารถี ฉะนั้น ในกาลภายหลังแต่ตติยสังคายนา ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย ในอนาคต จักปฏิบัติอย่างนี้.

ครั้นพระปุสสเถระแสดงมหาภัยอันจะบังเกิดขึ้น ในกาลภายหลังอย่างนี้แล้ว เมื่อจะให้โอวาทภิกษุที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่าภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำอันตรายต่อข้อปฏิบัติ ย่อมมาในอนาคตอย่างนี้ก่อน ขอท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ว่าง่าย จงพูดแต่ถ้อยคำที่สละสลวยมีความเคารพกันและกัน มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน จงสำรวมในศีลปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวบากบั่นอย่างมั่นเป็นนิตย์ ขอท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาท โดยความเป็นภัย และจงเห็นความไม่ประมาทโดยความเป็นของปลอดภัย แล้วจงอบรมอัฏฐังคิกมรรค เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว ย่อมจะบรรลุนิพพานอันเป็นทางไม่เกิดไม่ตาย

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๓๔๔/๔๔๗

พิธีต่าง ๆ หมดความเป็นพุทธศาสนา

เดี๋ยวนี้ เราไม่ได้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา ในลักษณะเช่นนี้ ถือพุทธศาสนาตาม ๆ กันมา ก็เป็นอันว่า มันเป็นเรื่องแบบหรือเป็นเรื่องพิธีไปเสียหมด หลักธรรมะกลายเป็นเรื่องพิธีประเพณีไปเสียหมด หลักธรรมะมากลายเป็นเรื่องพิธีประเพณีไปเสียหมด มันก็มีมากมายมหาศาล แล้วก็ไม่น่าจะพูด เพราะพูดแล้วมันก็กระทบกระเทือน สิ่งที่ไม่เคยมีและยุ่งยากลำบาก มันก็มีขึ้นมา จนยุ่งยากลำบาก ลองพูดดูสักอย่างสองอย่าง ทั้งที่รู้ว่ามันกระทบกระเทือน เช่นว่าบวชนาคอย่างนี้ ครั้งพุทธกาล พ่อแม่ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นหรอกไปบวชกับพระพุทธเจ้า อยู่กับพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย พอมาเดี๋ยวนี้ ทำไมล่ะ? ต้องมีฆ่าควายเท่านั้นตัว ฆ่าหมูเท่านั้นตัว กินเหล้าเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็ไปกู้หนี้ยืมสินเขามา เอานาไปจำนำเพื่อมาบวชลูกชายหลานชาย แล้วจะเรียกว่าอย่างไร? มันไม่เคยมีแล้วมันก็มีขึ้นมา หือว่าจะทอดกฐินอย่างนี้ กฐินในครั้งพุทธกาลบางทีไม่ได้เกี่ยวกับชาวบ้านเลย พระได้เศษผ้ามาแต่ไหน ก็มารวมกันเข้าทำเป็นกฐิน แล้วก็ทำกฐินสำเร็จรูปเป็นกฐิน โดยที่ไม่ได้มีชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวข้องสักคนหนึ่งก็มี โอ้, เดี๋ยวนี้ เป็นอย่างไรล่ะทอดกฐินน่ะ! แล้วมันไม่ใช่เพียงแต่เป็นอย่างนั้นนะ ทำทำลายเศรษฐกิจของประเทศชาติ ทำลายเศรษฐกิจของประเทศชาติ ประเทศชาติต้องเสียเงินมาก ต้องเสียเวลามาก ต้องสูญเสียสิ่งที่ควรจะได้ไม่ควรสูญเสีย ทำลายเศรษฐกิจของประเทศชาติมหาศาล นี่พิธีบวชนาค พิธีกฐิน พิธีอะไรต่าง ๆ ซึ่งมันไม่เคยมี เดี๋ยวนี้ มาอยู่ในพิธี ประเพณี พิธีอย่างนี้เสียหมด

ถ้าย้อนกลับไปทำเหมือนครั้งพุทธกาล ไม่กล้า เคยคุยเคยถามแล้ว ไม่กล้า เพียงแต่ว่างานศพไม่เลี้ยงเหล้า นี่ไม่กล้า เพียงแต่ว่าทอดกฐินไม่เลี้ยงเหล้านี่ไม่กล้า เจ้าภาพไม่กล้า เจ้าภาพต้องไปกู้ยืมเขามา หามาเลี้ยงให้เกิดเป็นภูตผีปีศาจขึ้นมาในสังคมนั้น แล้วก็ว่าทำบุญทำกุศล นี่ขอให้มองลงไปตรงข้อที่ว่า พิธีต่าง ๆ นั้น มันหมดความเป็นพุทธศาสนา พิธีต่าง ๆ นั้นมันหมดความเป็นพุทธศาสนา ระวังให้ดี ขอให้รักษาไว้ให้ได้ ให้ดึงกลับเอามาให้ได้ แล้วพุทธศาสนาก็จะมี จะยังคงอยู่กับเรา

พุทธทาสภิกขุ
คู่มือพุทธศาสนา

รักลูกจนลืมตัว

หัวใจพุทธศาสนา คือมัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงกลาง การปฏิบัติ ระบบการปฏิบัติที่อยู่ตรงกลางอยู่ตรงกลาง นี้โดยหลักการพื้นฐานทั่วไปก็คือไม่จมกาม และก็ไม่แห้งแล้งจนเรียกว่าแผดเผา นี่หลักทั่วไปที่สอนในชั้นแรก นับตั้งแต่ขั้นศีลธรรมต่ำ ๆ ขึ้นไป ก็ได้หมายความว่า ไม่ตึงและไม่หย่อน คือไม่จนกามจนเปียกแฉะ และก็ไม่ตึงเครียดจนไหม้เกรียม ศึกษาข้อนี้ให้เข้าใจดี จะรู้จักว่าตรงกลางอยู่ที่ตรงไหน แล้วเราก็จะได้รู้จักไอ้ที่ตรงกลาง แล้วก็จะสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักอยู่ตรงกลางไปเสียตั้งแต่ต้น

พ่อแม่น่ะมักจะรักลูกจนลืมตัว อยากให้ลูกได้กินของอร่อยที่สุด แพงเท่าไรก็ได้ อยากให้ได้เล่นของเล่น ที่แพงที่สุดเท่าไหรก็ได้ แล้วก็พาไปกินไปเล่น ไปใช้ของที่แพงที่สุดด้วยความรักลูก อย่างนี้เท่ากับสอนผิดแล้ว คือเท่ากับสอนให้ไม่ดำเนินในสายกลางแล้ว วัฒธรรมนี้ผิดแล้ว อาตมาอยากจะพูดว่าอย่างนี้ วัฒธรรมรักลูกเท่าไรเท่ากัน เท่าไรเท่ากัน นี่เป็นวัฒธรรมที่ผิดแล้ว ควรจะบอกเด็กทารกเหล่านั้นให้รู้ว่า เท่าไรพอดี หรือบอกว่าไอ้นี้เขามีไว้สำหรับทำให้เราโง่ สวยมากอร่อยมากและติดฉลากไว้แพง ก็บอกลูกเด็ก ๆ ว่าอย่ากินเลย อันนี้เขาไว้สำหรับให้เราโง่ เขาให้เรายากจน เด็ก ๆ ก็ไม่อยากได้ เด็ก ๆ ก็ไม่ร้องไห้จะเอา ถ้าทำอย่างนี้ก็เรียกว่าสอนหัวใจพุทธศาสนาให้แก่ลูกเด็ก ๆ ในขั้นทารกมาแล้วเลย ซึ่งจะได้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง อยู่อย่างสายกลาง ที่จริงก็มีในหลักสูตรเรียน แต่ว่าสอนกันไม่ถูกต้อง บางทีก็มีระเบียบว่าไม่ให้ใช้ของแพง ไม่ให้ใช้ของสวย นี้ก็ถูกต้องแต่มันไม่เคยสำเร็จประโยชน์ เด็ก ๆ ยังไปรบกวนเงินของพ่อแม่ มาซื้อหาของแพง ของที่ดีกว่าคนอื่น ชนะคนอื่นอยู่นั่นเอง มันก็เป็นการฝังความผิดพลาดลงไปในจิตใจ ผิดหลักพุทธศาสนาไปในทางจิตใจ ไม่ใช่สายกลาง

พุทธทาสภิกขุ
คู่มือพุทธศาสนา

การสวดภาณยักษ์ไม่ใช่พุทธศาสนา

ทีนี้ ก็พระรัตนตรัยสำหรับการท่องบ่นและประกอบพิธีรีตอง การท่องบ่นเรื่องอันเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ หรือพระพุทธคุณก็ดี เหล่านี้เรียกว่าเป็น พระรัตนตรัยสำหรับการท่องบ่น เด็ก ๆ สวดอิติปิโสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ ได้โดยไม่รู้ว่าอะไร เขาก็มีพระรัตนตรัยสำหรับท่องบน พระรัตนตรัยที่กระทำไปในลักษณะเช่นนี้ ก็น้อมเอียงไปในทางความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นรูปแบบของไสยศาสตร์อย่างหนึ่งไปแล้ว เช่นท่องบทพระคุณกี่ร้อยจบแล้วก็ไปสวรรค์บ้าง หรือดับทุกข์บ้าง มีลักษณะเป็นไสยศาสตร์ไปทีละน้อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องคนละเรื่อง เรียกว่าพระรัตนตรัยสำหรับท่องบ่น

สำหรับพิธีรีตองก็มีพระรัตนตรัยเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง บัญญัติเป็นพระพุทธเจ้าประจำทิศ พระพุทธเจ้าประจำทิศ พระอรหันต์ประจำทิศ จนกระทั่งเขียนยันต์แขวนประจำทิศ เป็นเครื่องคุ้มครอง ซึ่งเป็นแบบไสยศาสตร์โดยตรง มีวัตถุศักดิ์สิทธิ์นานาชนิดเกิดขึ้น เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นหลาย ๆ เรื่อง เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา จนกระทั่งมีพระเครื่องไม่รู้กี่ร้อยแบบ มีพระเครื่องรางไม่รู้กี่ร้อยแบบ แล้วก็มีพิธีรีตองขับยักษ์ขับผี ด้วยอ้างคุณพระรัตนตรัย หรือขับยักษ์ด้วยการสวด ภาณยักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหัว ข้อความในการสวดภาณยักษ์นั่น มีแต่เรื่องของพวกยักษ์ทั้งนั้นแหละ เรื่องราวเกี่ยวกับพวกยักษ์ทั้งนั้นเลย ไม่มีเรื่องพระพุทธเจ้า แต่เอามาสวดเพื่อขับผี โดยอธิบายกันว่า จอมยักษ์นั่นไปทูลพระพุทธเจ้าว่า ถ้าสวดข้อความเหล่านี้แล้วไอ้ยักษ์ทั้งหลายก็จะกลัว กลัวว่าสาธุชนเหล่านี้รู้จักประวัติของยักษ์หมดสิ้น สิ้นเชิงถึงต้นตอ ก็เลยกลัว แล้วก็เลยหนีไป อย่างนี้เป็นต้น พระรัตนตรัยก็ได้เปรียบ เพียงแต่เอามาอ้าง ๆ ก็ขับยักษ์หนีไปได้จากจิตใจของคนปัญญาอ่อน แล้วก็ชั่วคราว ไม่ใช่เป็นการถาวรอะไร

เหล่านี้เรารวม ๆ กันเข้าแล้วเรียกว่า พระรัตนตรัยสำหรับท่องบ่น หรือพระรัตนตรัยสำหรับพิธีรีตอง

ทีนี้ ก็มีสิ่งที่เนื่องกัน คือการถึง พระรัตนตรัย ที่เรียกว่า ไตรสรณาคมน์ การถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนี้ โดยปริยัติก็คือพิธีจัดให้พูด ให้ว่า ให้ทำกิริยาท่าทาง ให้ทำอะไรต่าง ๆ ครบแล้วก็เรียกว่ามีพระรัตนตรัย นี่คือไตรสรณาคมน์โดยปริยัติหรือโดยพิธีตอง บัญญัติขึ้นในชั้นหลังมากมาย ครั้งพุทธกาลแทบจะไม่มีพิธีตองอะไร ใครฟังธรรมะของพระองค์เข้าใจแล้ว ก็ประกาศตนถึงพระรัตนตรัยต่อพระพักตร์เท่านั้นก็พอแล้ว เท่านั้นมันก็พอแล้ว มันไม่มีพิธีรีตองอะไร

เดี๋ยวนี้ การถือพระรัตนตรัยนั่น มันถูกนำมาใช้แก่คนปัญญาอ่อน มันก็ช่วยไม่ได้มันก็น่าเห็นใจ เพราะว่า ไม่รู้ว่าจะเอาปัญญาอ่อนไปเก็บไว้ที่ไหน มันยังอยู่เป็นปัญหา ก็ต้อง สร้างระเบียบการถึงพระรัตนตรัยอย่างง่าย ๆ ขึ้นไว้ใช้กับคนที่มีปัญญาอ่อน จึงเกิดมีพิธีขึ้นมา แล้วกระทำกันโดยปาก โดยพิธีการภายนอกเป็นส่วนใหญ่ และกลายเป็นไสยศาสตร์ไป แม้ที่กระทำอยู่โดยพระเจ้าพระสงฆ์นี่แหละ ดูให้ดี ๆ บางอย่างมันเลยเป็นไสยศาตร์ไปก็มี การอธิฐานการอ้างคุณพระรัตนตรัย เพื่อเอาประโยชน์อย่างนั้นเพื่อเอาประโยชน์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยทำ แล้วก็ไม่ต้องทำ ในสมัยพระพุทธเจ้าไม่ต้องทำ ไม่ต้องสวดอ้างคุณพระรัตนตรัย แล้วก็ขอให้เกิดความสุขสวัสดีอย่างนี้ มันไม่ต้องทำนี่ ครั้นมาถึงเดี๋ยวนี้มันไม่มีอะไร แล้วมันทำอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูก มันก็ต้องทำพิธีอ้างคุณพระรัตนตรัยให้เกิดความสุขสวัสดีอย่างนั้นอย่างนี้ หนักเข้าก็กลายเป็น การพึ่งวัตถุภายนอก ถือเหตุปัจจัยภายนอก ก็มิใช่พุทธศาสนาแหละ ก็ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์ มันกลายเป็นไสยศาสตร์ไป นี่จึงเต็มไปด้วยพระเครื่อง, พระเครื่องเต็มไปหมด วัตถุที่เป็นสัญญลักษณ์อื่น ๆ ก็เกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด แล้วก็อ้างความขลังความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาใช้ในขอบเขตของพุทธศาสนา

ขอพูดอีกทีขอย้ำอีกทีว่า คำว่า “ขลัง” คำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” น่ะ ไม่เคยมีในพระพุทธศาสนา, คำว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมีในพุทธศาสนา เพราะ (พุทธศาสนา) มีลักษณะเป็นการประพฤติปฏิบัติโดยตรง เป็นเรื่องของการกระทำและเป็นผลของการกระทำ เห็นอยู่กับตา ไม่ต้องอ้างสิ่งที่มองไม่เห็นคือขลังบ้างศักดิ์สิทธิ์บ้าง อะไรชนิดที่เป็นเรื่องสัมผัสไม่ได้ พุทธศาสนาไม่เคยมี เดี๋ยวนี้ มันก็มีได้มีขึ้นมา พุทธศาสตร์จะกลายเป็นไสยศาสตร์ก็เพราะเหตุนี้ เพราะมีคำว่าขลัง มีคำว่าศักดิ์สิทธิ์เข้ามาใช้นั่นเอง

เอาละ เป็นอันว่า พระรัตนตรัยโดยปริยัตินี่ เราก็มีกันอย่างนี้ ที่จะให้เป็นไปอย่างถูกต้องก็ได้ ก็ศึกษากันอย่างถูกต้อง แต่ชนิดที่ให้เกินขอบเขตนั้น มันก็กลายเป็นว่าทำให้เป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเสียแล้ว มันก็เป็นของใหม่ ซึ่งมันจะไม่ใช่พุทธศาสนาแล้ว ระวังให้ดี

พระรัตนตรัย และการถึงพระรัตนตรัย โดยปริยัตินั่น ก็ควรจะทำได้ ทำได้ในโรงเรียน ทำได้ที่ไหนก็ได้ ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่อย่าให้เลยเถิดกลายเป็นเรื่องขลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นการถือปัจจัยภายนอก คือ พึ่งบุคคลภายนอก ไม่ได้พึ่งตัวเองในภายใน อย่างนี้แล้วก็หมดความเป็นพุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ยึดถือที่พึ่งในภายใน ถ้าเป็นไสยศาสตร์ก็ยึดถือที่พึ่งในภายนอก มีหลักอยู่อย่างนี้ แต่เราก็ไม่พูดยืนยัน อย่าให้กระทบกระเทือนกับเพื่อนศาสนาอื่น ซึ่งถือที่พึ่งในภายนอก พุทธศาสนายังคงยืนยันการถือที่พึ่งในภายในอยู่ตลอดไป นี้คือพระรัตนตรัยในส่วนปริยัติ

พุทธทาสภิกขุ
คำบรรยายประจำวันเสาร์ ๕-๓๐ มกราคม ๒๕๒๘

ฐานของจิต

คราว นี้พูดถึงเรื่องสตินะ ให้เป็นคติตัวอย่างแก่ผู้จริงจัง จะได้อย่างว่าไม่สงสัย พอทบทวนเหตุผลต้นปลายว่าขาดคำบริกรรม สติเราจะเผลอตรงนี้เองจิตถึงได้เสื่อม ตั้งหน้าตั้งตาพยายามขนาดไหนมันก็เสื่อมจนได้ พอไปถึงขั้นนั้นแล้วอยู่ได้สองคืนสามคืนเสื่อมต่อหน้าต่อตาเป็นประจำ พอทดสอบแล้วก็มาได้ความที่ขาดคำบริกรรม สติอาจเผลอตรงนั้นก็ได้ ทีนี้เราจะนำคำบริกรรมเข้ามาตั้งฐานใหม่ มันเสื่อมมันเจริญทีนี้ปล่อยละไม่เอา เราทุกข์มาพอแล้ว มันเจริญขึ้นมาไม่อยากให้เสื่อมนี้ก็ทุกข์ เสื่อมลงไปต่อหน้าต่อตาก็เป็นทุกข์ ทีนี้ไม่เอาทั้งสองอย่าง จะเอาคำบริกรรม

เรา มันนิสัยชอบพุทโธมาดั้งเดิม กับพุทโธติดแนบเลย เอาละที่นี่เราจะเอาคำบริกรรมพุทโธติดแนบกับจิต สติจะเผลอไปไม่ได้ว่างั้นเลย เอ้า มันจะเสื่อมตรงไหนให้รู้ตรงนี้ เสื่อมให้เสื่อมไป เจริญให้เจริญไป เราเคยมาแล้วเหล่านี้เราไม่สนใจกับมัน จะสนใจในจุดนี้จุดเดียว คือคำบริกรรมพุทโธๆ ลงใจแล้วที่นี่ อย่างไรก็นี่ละเราบกพร่องตรงนี้ ทีนี้จะเอาตรงนี้ให้เห็นเหตุเห็นผลกัน

ทำ จริงๆ นะไม่ได้ทำเล่น เหมือนกับว่านักมวยจะต่อยกัน พอระฆังดังเป๋งก็ซัดกันเลย อันนี้พอลงใจทุกอย่าง เอาละที่นี่นะ มีพุทโธคำบริกรรมนี้กับสติติดแนบกันอยู่กับจิตนี้ มันจะเสื่อมไปไหน ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปเป็นอันว่าลงใจละนะ เหมือนว่าระฆังดังเป๋ง เอานะที่นี่ สติจับปุ๊บเลยกับคำบริกรรมไม่ยอมให้เผลอเลยทั้งวัน แหม เราจึงได้เห็นกิเลสมันดันออกมาอยากคิดอยากปรุง อกจะแตกเหมือนกันนะ นี่ทุกข์มากเหมือนกัน แต่ไม่ยอมเผลอ เอา มันจะทุกข์มากขนาดไหน เหมือนนักมวยเขาต่อยกันล้มลุกคลุกคลานไม่ยอมเผลอ ถ้าเผลอแล้วตายเลย นักมวยต่อยกันเผลอไม่ได้ ฟัดกันขนาดไหนก็ต่างคนต่างมีสติจ่ออยู่ตลอด อันนี้ก็เหมือนกันสติจ่อตลอด

ทีนี้ ความคิดตัวสังขารนี้ตัวสำคัญมาก มันคิดมันปรุง มันอยากคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันเคยออกตลอดเวลา ทีนี้พอเอาคำบริกรรมปิดประตูปิดช่องไม่ให้มันขึ้นมา สติติดเข้าไปอีกปั๊บเลย มันไม่ได้ขึ้นมันก็หมุนอยู่ภายในหัวอกซิ แหมเหมือนหัวอกจะแตกนะ มันดันมันอยากคิดอยากปรุง ดันเท่าไรก็ไม่ยอมให้ออก สติติดแนบตลอดเวลา โอ๋ย เหมือนอกจะแตกจริงๆ วันแรกหนักมากที่สุดเลย ไม่ให้เผลอเลยจริงๆ เผลอไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ ตั้งแต่ระฆังดังเป๋ง ฟัดจนกระทั่งหลับไม่มีเผลอเลย

เอา วันนี้ทุกข์ขนาดนี้ วันหลังพอตื่นปั๊บจับปุ๊บอีกไม่ให้เผลอๆ อยู่อย่างนี้ เราอยู่คนเดียวมันถึงสนุกทำความเพียร ไม่มีกิจการงานกับใคร มีเราคนเดียวอยู่คนเดียว ที่หนักมากที่สุดวันแรกนี้เหมือนอกจะแตก ที่สองลดลงนิดหนึ่ง ที่สามค่อยเบาลง แต่เรื่องเผลอไม่ให้มี สติติดแนบๆ พุทโธตลอด พอสามวันผ่านไปค่อยเบาลงนะ ความปรุงนี้ค่อยเบาลงๆ พุทโธกับสตินี้ติดแนบๆ จิตใจก็ไม่มีอะไรกวน ไม่ค่อยกวน เบาลงๆ ทางนี้ก็หนักขึ้นๆ จิตก็เจริญขึ้นละที่นี่ ดูกันตลอดนะไม่ให้เผลอ มันจะไปไหนว่ะ ระฆังดังเป๋งคือตั้งความไม่เผลอไว้แล้วนั่น ไม่ให้เผลอเลย

ซัด กันนี้จนกระทั่งจิตใจค่อยโล่งออกมาๆ ก็ไม่ให้เผลอ ทีนี้มันเจริญขึ้น เอ้าเจริญขึ้นไป ไปถึงขั้นที่มันเคยเจริญแล้วเสื่อม ถึงขั้นนี้แล้วเอ้าเสื่อมไป อยากเสื่อมเสื่อมไป อยากเจริญเจริญไป เราไม่เอา เราจะเอาคำว่าพุทโธกับสติอย่างเดียว อะไรจะเจริญหรือเสื่อมปล่อยเลย ไม่เป็นกังวลกับมัน ทีนี้พอถึงขั้นนั้นแล้ว เอ้ามันจะเสื่อมเอ้าเสื่อมไป พอถึงขั้นมันเคยขึ้นไปถึงแล้วมันจะเสื่อม เอ้า เสื่อมไป พุทโธไม่ปล่อย ถึงนั้นแล้วไม่เสื่อมนะ ไม่เสื่อม ติดกันเรื่อยๆ มันก็ผ่านอันนั้นไปถึงวันเวลาที่มันจะเสื่อมทีนี้ไม่เสื่อม ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านเรื่องนี้ไปได้ จิตใจสว่างไสวขึ้นมา นี่เพราะสตินะ

พอ ถึงขั้นที่ว่ามองนั้นมองนี้ได้บ้างแล้ว จึงมาพิจารณาย้อนหลัง อ๋อ จิตเรานี้เสื่อมเพราะขาดสติอันนี้เอง ตั้งสติแต่นั้นมา คราวนี้มันเข็ดถึงขนาดที่ว่า นี่ละที่ว่าพระโคธิกะจะเข้ามาหาเราตรงนี้ละนะ ถ้าจิตเราเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย จะอยู่ไปทำไม ทนไม่ได้แล้วทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ตกนรกทั้งเป็น เราต้องตายเท่านั้น ทีนี้เมื่อเรายังไม่ตายจิตเราจะเสื่อมไม่ได้ มันก็ยิ่งมัดกันเข้าหนักเข้าๆ จิตก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ  นี่ละวิธี ตั้งจิตให้ได้รากได้ฐาน เราทำมาแล้วนะ เอาเป็นเอาตายใส่กัน ถึงอกจะแตก สังขารมันอยากคิดอยากปรุง เหมือนอกจะแตก ไม่ยอมให้คิดได้เลย ไม่ให้คิดเลยเทียว บังคับด้วยสติ

สติ นี่สำคัญมากนะ ถ้าลงมีสติดีอยู่แล้ว กิเลสจะขนาดไหนมันก็ขึ้นไม่ได้ สังขารออกมาจากอวิชชามันดันออกมา จากนั้นมาก็หนักเข้าๆ จิตสว่างไสวขึ้นมาละ ถึงขั้นที่เสื่อมไม่เสื่อม ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ปล่อย จนกระทั่งจิตที่ว่ามันเจริญแล้วเสื่อมหมดไป มีแต่ความสว่างไสว เห็นผลจากความตั้งสติ ทีนี้ก็หนักเข้าเรื่อยๆ ขีดเส้นตายกันว่า ถ้าจิตเราเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย มันจะเป็นพระโคธิกะ จะเป็นแบบไหนไม่รู้นะเรา มันเป็นได้นะ เพราะจิตนี้มันเด็ด ถึงคราวจะตายมันจะตายได้จริงๆ เด็ดทางตายด้วยนะ ทนไปหาอะไรตายเสียดีกว่า ดีไม่ดีก็ตามจะว่าอย่างนั้นละ ตายเสียดีกว่า มันจะเอาแบบไหนก็ไม่รู้ แต่แน่ใจจะเป็นแบบนั้น พระโคธิกะมาเข้ากับเรา เข้ากันได้อย่างสนิทเลย ทีนี้จิตเราก็เลยไม่เสื่อมเรื่อยมา

นี่ เราพูดถึงเรื่องการตั้งสติ เราทำมาแล้ว ได้ผลมาแล้ว ถึงขั้นที่พุ่งๆ เลย ฟาดถึงนั่งหามรุ่งหามค่ำตั้งแต่นั้นไปไม่ถอยเลย นั่งหามรุ่งหามค่ำตลอดรุ่งๆ ก้นแตกแตก อยากแตกแตกไป กิเลสยังไม่แตกไม่ถอย นี่ก็มาย้อนหาพ่อแม่ครูจารย์อีกแหละ เวลานั่งตลอดรุ่งๆ เกิดความอัศจรรย์มาเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็ปลุกใจเรา ปลุกใจก็ยิ่งเอาใหญ่เลยเทียว จนกระทั่งหลายคืนๆ มานี้ท่านเลยกระตุกเอา ถึงหยุดนั่งตลอดรุ่งนะ ไม่งั้นมันจะเอาอีกตลอดนะ ท่านเทียบถึงม้าเวลามันคึกมันคะนองมาก สารถีฝึกม้าเขาจะต้องฝึกอย่างหนัก ไม่ควรให้กินน้ำไม่ให้กิน ไม่ควรให้กินหญ้าไม่ให้กิน แต่การฝึกไม่ถอย จนกระทั่งม้าลดพยศลงโดยลำดับ การฝึกเขาก็ค่อยลดลงๆ จนม้าทำการทำงานได้ตามต้องการของสารถีแล้ว การฝึกแบบนั้นเขาก็หยุดไป นี่ท่านพูดสอนเรา

พอ ขึ้นไปกราบปั๊บๆ ท่านซัดเลย สารถีฝึกม้าเขาฝึกอย่างนั้นๆ เราก็เคยพูดเสมอว่า เรายังเสียดายไม่ได้เต็มยศ ท่านว่าเท่านั้นท่านก็ผ่านเลย เพราะอันนี้ก็มีอยู่ในคัมภีร์แล้ว เราเรียนมาแล้ว เรายังเสียดายที่ว่า สารถีฝึกม้าเขาฝึกอย่างนั้น ไอ้หมาตัวนี้มันฝึกแบบไหน อยากให้ท่านว่าอย่างนั้นมันยิ่งจะเพิ่มเข้าอีกนะนั่น ไอ้หมาตัวนี้มันฝึกแบบไหนมันถึงไม่รู้จักประมาณ ความหมายว่างั้น แต่ท่านไม่ว่า ตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่เคยนั่งตลอดรุ่ง เพราะจิตมันไม่ได้ผาดโผนไปทางกิเลสเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนมันเป็นอย่างนั้นจึงได้เอากันหนัก ทีนี้เวลามันอ่อนลงทางนี้ยังหนักเข้าเรื่อย

เหมือน หมูสองตัวนั่น เราเคยเอามาเล่าให้ฟังหมูสองตัว กอไผ่อยู่นี้ พ่อแม่ครูจารย์มั่นพอท่านรับบาตรเสร็จแล้วท่านก็มานั่งปั๊บ หมูสองตัวกำลังน่ารักตัวเท่ากระโถนนี่ อ้วนน่ารักทั้งสองตัว ตัวเท่ากัน พอมาถึงกอไผ่ปั๊บมันกัดกัน ซัดกันปึ๊งปั๊งๆ เราเห็นท่านก็เห็น ใส่กันปึ๊งปั๊งๆ ตัวหนึ่งเสียท่า ตัวนี้ก็งัดใหญ่ ไปติดกอไผ่ ตัวนี้ก็งัดใหญ่ไม่ถอยเลย ตัวนั้นร้องกี๊กๆ ตัวนี้ยังงัดใหญ่ตลอด ท่านพูดว่า ไอ้นี่แพ้ไม่เป็น เขายอมแล้วก็ยังงัดเขาอยู่ ธรรมดานักมวยเขาเมื่อทางหนึ่งยอม ทางหนึ่งก็ต้องหยุด ไอ้นี้งัดตลอด แพ้ไม่เป็น ท่านว่า ท่านก็พูดเท่านั้นละ เราก็เห็นอยู่หมูตัวนั้นที่มันงัดเขา ตัวนั้นร้องแง้กๆ ตัวนี้ยังงัดตลอด มันแพ้ไม่เป็นไอ้นี่ เขายอมแล้วก็ยังไม่ยอมถอย ท่านพูดเท่านั้นเราอดกลั้น(หัวเราะ) จะตาย ให้พรให้ไม่ได้เลย เราเลยไม่ลืมหมูสองตัวนั้น

เรา ก็เหมือนกัน นั่งตลอดรุ่งนี่เราก็งัดใหญ่เลย จนท่านมาขนาบเอา แพ้ไม่เป็น เลยหยุด ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้นั่งตลอดรุ่ง ไม่งั้นเอาจริงๆ นะไม่ถอย อย่างนี้ละจิตอันนี้มันพิลึกอยู่นะ จึงได้พุ่งเรื่อยๆ เลย ฐานของจิตที่จะตั้งได้อยู่ที่สติ ถ้าสติไม่ดียังไงก็ไม่ได้ ว่างี้เลย ขอให้สติดีเถอะมันจะผาดโผนขนาดไหน กิเลสนี่อยู่ในเงื้อมมือจนได้ เราได้ทำแล้วถึงขนาดอกจะแตก มันอยากคิดอยากปรุงดันออกมา ดันเท่าไรก็ไม่ให้ออก สติติดๆ ตลอด มันก็เลยอ่อนลงๆ ผู้ประกอบความเพียรขอให้มีสติเถอะ สติดีเท่าไรยิ่งดี สตินี่ไม่เฟ้อ ดีตลอดเวลา นี่เราพูดถึงขั้นล้มลุกคลุกคลานนะ เราไม่ได้หมายถึงสติปัญญาอัตโนมัติ อันนั้นไม่ต้องบอก  ไหลเลยนั่น เพราะนี้ผ่านมาแล้วทั้งนั้น ที่เอามาพูดนี่นะ

ล้มลุก คลุกคลาน เอาจนขนาดอกจะแตก มันอยากคิดอยากปรุง ครั้นต่อไปก็ถึงขั้นสมาธิ คิดปรุงรำคาญ แต่ก่อนมันอยากคิดอยากปรุง ไม่ได้คิดอยู่ไม่ได้ ทีนี้เวลาสมาธิแน่นหนามั่นคงเต็มที่แล้ว อยู่เป็นเอกเทศ อกัคคตารมณ์ รู้อยู่อันเดียว ความคิดความปรุงแย็บขึ้นมารำคาญ มันไม่อยากคิด สู้อยู่อันเดียวไม่ได้ นี่มันก็ติด จิตลงถึงขั้นสมาธิแล้ว ถ้าไม่มีผู้แนะติดทั้งนั้นแหละ สมาธิก็มีรสมีชาติพอสมควรให้ติดได้ เราติดแล้ว นี่ก็ท่านลากออก เราก็ไม่ลืม

พอ ถึงขั้นปัญญา เพราะสมาธิมันพอตัวแล้ว พอท่านไล่ออกทางด้านปัญญามันก็ผึงเลยทันที ออกอย่างผาดโผนอีกเช่นเดียวกัน ไม่ได้นอนทั้งวันทั้งคืน เพราะสมาธิมันพอตัวแล้วนี่ พอออกทางด้านปัญญามันก็หนุนกันเลย จิตไม่ได้หิวโหยในอารมณ์ บังคับทางด้านปัญญา ออกทางด้านปัญญาไปเลย ทีนี้ออกเตลิดเปิดเปิงไม่ได้นอน กลางคืนทั้งคืนไม่นอน ไม่หลับ มันหมุนของมัน กลางวันก็ยังไม่หลับอีกมันเลยจะตาย

นี่ ท่านก็หักอีกเหมือนกัน ไปเล่าถวายท่าน ที่พ่อแม่ครูจารย์ว่าให้ออกทางด้านปัญญาเวลานี้มันออกแล้วนะ มันออกยังไงท่านว่า ก็มันไม่ได้นอนทั้งวันทั้งคืน กลางคืนตลอดรุ่งไม่ได้นอน กลางวันบางวันมันยังจะไม่นอน นั่นละมันหลงสังขาร นั่นเห็นไหมล่ะท่านว่า นั่นละมันหลงสังขาร ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ เราก็ว่างั้น ท่านก็ซัดเข้าอีก นี่ละบ้าหลงสังขารขึ้นใหญ่เลย หมอบคราวนี้ไม่ตอบนะ แต่มันไม่ถอยเรื่องปัญญา ออกจากนี้เรียกว่าเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ทีนี้ไม่ต้องบอกเรื่องสติ เป็นของมันเอง สติกับปัญญาหมุนไปเป็นอันเดียวกันเลยนี่ ขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ ขั้นที่ล้มลุกคลุกคลานต้องบังคับให้มีสติเต็มเหนี่ยวๆ ถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติแล้วหมุนตัวไปเอง เหมือนน้ำไหลลงจากภูเขา ไหลเรื่อยๆ

สติปัญญา อัตโนมัติขั้นนี้ไม่เผลอ ยังไงก็ไม่เผลอ ตื่นปั๊บติดแล้วเป็นแล้วจนกระทั่งหลับไม่มีเผลอ จากนั้นก็ละเอียดเข้าไปๆ เป็นมหาสติมหาปัญญา อันนี้ซึมไปเลยนะ  ให้ มันเห็นอยู่ในหัวใจพูดได้หมดคนเรา คัมภีร์ท่านสอนไว้แต่มันไม่ทำ มันไม่รู้มันก็พูดไม่ได้ เมื่อมาปฏิบัติมันรู้ขึ้นมาอย่างที่ท่านสอนไว้แล้ว จะปิดบังกันได้ที่ไหนมันก็ออกได้ชัดเจน นี่ก็เป็นแล้วในหัวใจเรา ที่พูดมานี้ถอดออกมาจากหัวใจมาให้พี่น้องทั้งหลายฟังนะ

ถึง ขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้เรียกว่าไม่มีวันมีคืน นอนนี่ต้องบังคับให้นอน เข้าสมาธิต้องบังคับรั้งเข้ามาสู่สมาธิพักอารมณ์ ไม่อย่างนั้นมันจะหมุนของมันตลอด จากนั้นก็เป็นมหาสติมหาปัญญา ยิ่งหมุนละเอียดลงไปโดยลำดับลำดา ทีนี้พูดถึงเรื่องกิเลสนี่ตั้งแต่เริ่มขั้นสติปัญญาอัตโนมัติไม่มีคำว่าถอย กันนะ สติปัญญาอัตโนมัติกับกิเลสไม่มีคำว่าถอยกัน ขาดสะบั้นไปเลย ให้แพ้กิเลสนี้ไม่มี คำว่าแพ้กิเลสไม่มี มีแต่หมุนติ้วๆ ใส่กันเลยเชียว

ยิ่ง ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาด้วยแล้ว จนได้ เหอ มันไมใช่เป็นพระอรหันต์น้อยๆ แล้วเหรอ คือมันไม่มีเลย เงียบเลย ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญามันละเอียดลออ ซึมซาบ กิเลสตัวไหนโผล่มาไม่ได้ขาดสะบั้นไปทันทีเลย ไม่ได้ตั้งหน้าทำลายกันนะ  มันหาก เป็นของมันเองเรียกว่าอัตโนมัติ ธรรมฆ่ากิเลสก็ฆ่าอัตโนมัติ กิเลสฆ่าธรรมก็อัตโนมัติเหมือนกัน เวลามีกิเลส คนเรามีกิเลสทั่วๆ ไปนี่มีตั้งแต่เรื่องกิเลสฆ่าธรรมโดยอัตโนมัติ เวลาธรรมมีกำลังแล้วมันก็เทียบกันได้ปุ๊บ ธรรมฆ่ากิเลสฆ่าอัตโนมัติฆ่าอย่างนี้ๆ จนกระทั่งขาดสะบั้นไปหมดเลย ไม่มี

ที่ ว่าไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อยๆ ขึ้นมาเหรอ ไม่ได้สำคัญตนนะ คือค้นเท่าไรมันก็ไม่เจอ ค้นหากิเลสเท่าไรก็ไม่เจอ มีแต่มหาสติมหาปัญญาสง่างามครอบอยู่หมดเลย เวลาถึงขั้นมันขาดไม่เห็นมีคำว่าอรหันต์น้อยอรหันต์ใหญ่ ไม่มี พอขาดสะบั้นปึ๋งลงไปเท่านั้นหมดปัญหา ทั้งอรหันต์น้อยอรหันต์ใหญ่ไม่มีเหลือ นี่มันตัดสินกันในหัวใจของเรา แล้วจะไปทูลถามพระพุทธเจ้ายังไง พระพุทธเจ้ามีหรือไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสรู้ยังไง ถามหาอะไร อันเดียวกัน ผางขึ้นนี้อันเดียวถึงกันหมดเลย แล้วถามหาพระพุทธเจ้าที่ไหน สามแดนโลกธาตุแคบไป ธรรมนี้ครอบตลอด ธรรมชาตินี้ครอบเหมือนกันนี่ละอำนาจแห่งการบำเพ็ญตน

ใคร จะมาอยู่เฉยๆ นอนเฉยๆ ไม่ได้นะ ต้องมีสติสตัง สติเป็นสำคัญมาก จากนั้นปัญญาก้าวเดินเป็นระยะๆๆ จิตที่ควรจะเข้าสู่สมาธิเพื่อพักงานก็ให้เข้าสู่ความสงบ อย่าไปกังวลกับความคิดความปรุงทางด้านสติปัญญาอย่างอื่น ให้อยู่กับความสงบ พักจิต เหมือนเราพักผ่อนนอนหลับหรือพักผ่อนทานอาหาร นี่ละธรรมะพระพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆ อยู่ในหัวใจเราทุกคน เหมือนกิเลสสดๆ ร้อนๆ อยู่ในหัวใจ เวลานี้กิเลสกำลังแผ่พังพานบนหัวใจเรา ธรรมะจึงออกไม่ได้ มีแต่กิเลสตีเอาหมอบๆ สุดท้ายก็ให้กิเลสมาลบหมด มรรคผลนิพพาน ไม่มี บาป บุญ นรก สวรรค์ ไม่มี มรรคผลนิพพาน ไม่มี ทำอะไรๆ ก็ไม่มี ที่มีก็มีแต่เป็นโมฆบุรุษ โมฆสตรี ตายทิ้งเปล่าๆ ไม่มีค่าราคาอะไร นี่ละสิ่งที่มีในหัวใจเขา มรรคผลนิพพานไม่มีก็คืออันนี้มีแทน ให้จำเอานะ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

ชาติแรกของคนเราคืออะไร? มาจากที่ไหน?

ผู้กำกับ คนที่สองครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเชื่อเรื่องวิญญาณมีจริง จิตมีจริง แต่ก็ยังมีข้อสงสัยมากมาย แต่ที่สงสัยมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องต้นกำเนิดแห่งจิตว่ามีความเป็นมาอย่างไร ชาติแรกของคนเราคืออะไร มาจากที่ไหน ทำไมจึงต้องลงมาเกิด ทำไมไม่ไปนิพพานเลย อยากทราบมากๆ ครับ จะได้ทราบถึงสิ่งที่มาที่ไป จะได้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมให้ดียิ่งขึ้น

หลวงตา เขาเคยภาวนาไหมล่ะ (สันนิษฐานว่าไม่เคยครับ) เราก็ไม่อยากตอบ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไปหากำเนิดเกิดของจิต มันฟังไม่ได้นะ รวนเร ถ้าเป็นผู้ที่เป็นนักภาวนาอยู่แล้ว หากำเนิดที่เกิดของจิตนี้ เอา ตั้งลงในภาวนา หนีไม่ได้เลย รากเหง้าเค้ามูลของมันเกิดมาจากไหน จะรื้อขึ้นมาจากจิตตภาวนา ดังองค์ศาสดาพาดำเนินมาแล้ว นี่คือศาสดาองค์เอก รู้หมดฐานจิต ไม่ว่าของใครๆ สามแดนโลกธาตุ ฐานของจิตเดิมของสัตว์ทั้งหลายทรงทราบได้หมดจากจิตตภาวนา เป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างกระจ่างแจ้ง อันนี้มันภาวนาหรือเปล่า เอ้า ให้ภาวนาซิถ้าอยากจะทราบ มีแต่อยากทราบเฉยๆ อยากเป็นเศรษฐีแต่ขี้เกียจยิ่งกว่าหมาตายมันจะเป็นได้ยังไง มันก็เป็นคนทุกข์ตลอดวันตายมันนั่นแหละ ตอบกันอย่างนี้ดีกว่า นี่ละฐานของจิต เอาตรงนี้เลย พ้นไม่ได้

นี่ได้ผ่านมาแล้วทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจึงกล้าพูดทุกอย่างเลย เหล่านี้รู้หมดแล้วว่างั้นเถอะน่ะ จึงบอกว่าเรียนจบทั้งโลกทั้งทางธรรมในหัวใจดวงเดียว หายสงสัย ปล่อยวางโดยประการทั้งปวง หายห่วง จะว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็แล้วแต่ใครจะว่าเอา เราไม่ว่าเราปล่อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรเกินพุทธศาสนา การพิสูจน์เรื่องจิตวิญญาณ จิตวิญญาณมีอยู่กับทุกคน นำธรรมพระพุทธเจ้าเข้าไปพิสูจน์มันด้วยจิตตภาวนา แล้วจะรู้ รู้เป็นลำดับ รู้จนกระทั่งถึงที่สุดของจิตดวงนี้ ที่เกิดของจิต ต้นของจิต ปลายของจิต จะรู้รวมกันมาหมด แต่นี้มันไม่ได้ภาวนามาถามงูๆ ปลาๆ เราก็ตอบแค่นี้ นับว่าตอบให้มากอยู่นะ เอาละพอ

นี้พูดอย่างอาจหาญชาญชัยทุกอย่าง ไม่มีสงสัยในโลกทั้งสามนี่ เราหายสงสัยหมด จึงบอกว่าเรียนโลกจบ เรียนธรรมจบ หายสงสัยทั้งสองเลย พูดอย่างถ้าว่าอาจหาญก็เลยอาจหาญไปแล้ว ภาษาของโลกก็ว่า อย่างอาจหาญชาญชัยไม่สะทกสะท้าน เอาของจริงมาแบ นี่น่ะๆ ตาบอดหรือ อยากว่าอย่างนั้นอีก ธรรมพระพุทธเจ้าจริงขนาดนั้นแหละ แล้วมันมาลูบๆ คลำๆ ไม่มาหาตรงนี้ก็ไม่มีความจริงติดหัวใจแหละ ถ้าลงมีพิจารณาอย่างนี้ เฉพาะอย่างยิ่งภาวนาแล้วตามได้ตลอดเลยถึงที่สุด หายสงสัยอย่างที่ว่านี่ นี้พูดตามความจริง หายสงสัยหมดแล้ว เรียกว่าเรียนจบทั้งทางโลกทางธรรม หายสงสัยหมด ไม่มีอะไรสงสัย ไม่มีอะไรมาเป็นภาระให้จิตใจแบกหามอีกต่อไปแล้ว ปล่อยโดยประการทั้งปวง ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น เลิศเลอมาแต่ไหนแต่ไร ที่ตรัสรู้ถ่ายทอดกันมานี้มากขนาดไหน แล้วสัตว์โลกก็ตามพระพุทธเจ้ามากต่อมากผ่านถึงที่สุดของจิตดวงนี้นี้มากนะ

การพูดการจาเทศนาว่าการทุกอาการของเราที่ออก เราบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า เราไม่มีกิเลสแทรกออกไปแม้เม็ดหินเม็ดทราย จะเผ็ดร้อนขนาดไหน ฟ้าดินถล่มก็ตาม เป็นเรื่องของธรรม พลังของธรรม อานุภาพของธรรมทั้งนั้นออก กิริยานี้เป็นเครื่องมือใช้ พลังของธรรม ออกมาควรเด็ด กิริยาทางนอกก็เด็ดให้เห็น ข้างในเด็ดมาแล้ว ผลักออกมาดันออกมาให้เห็น กิริยาของเราที่ปฏิบัติต่อโลกเราพูดจริงๆ เราไม่มีเป็นพิษเป็นภัยต่อโลกแม้เม็ดหินเม็ดทราย เราไม่มีเราบอกตรงๆ จะพูดหนักพูดเบาพูดเผ็ดร้อนขนาดไหนก็ตาม บอกว่าเราไม่มีในหัวใจของเรา มีแต่ธรรมล้วนๆ ออก ใครจะปฏิบัติตามก็เอา ไม่ปฏิบัติตาม ธรรมก็ไม่บังคับ แล้วแต่เจ้าของจะนำธรรมไปบังคับเจ้าของถ้าต้องการเป็นคนดีเท่านั้นเอง ท่านสอนไว้เป็นกลางๆ นี่ก็สอนเป็นกลางๆ เด็ดก็เด็ด บอกทุกสิ่งทุกอย่างให้รู้หมด จึงบอกตรงๆ เลยว่าจิตดวงนี้เป็นธรรมทั้งแท่งแล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดจะมาแฝง ไม่ว่าจะกิริยาใดที่แสดงออกต่อโลก เราไม่มีพิษมีภัยแฝงไปแม้เม็ดหินเม็ดทราย กิริยาที่แสดงออกทั้งหมดต่อโลกนี่ไม่มี ไม่ว่าพูดเล่นพูดจริงพูดเด็ดพูดเดี่ยวพูดนิ่มนวลอ่อนหวาน ธรรมะจะแทรกไปๆ ทุกกิริยา ไม่ได้พูดแบบลอยๆ นะ มีธรรมะแทรกๆ หนักเบามากน้อย ถ้ามากก็ดันออกอย่างแรง ให้พากันจำเอานะ

ธรรมะพระพุทธเจ้าเมื่อเข้าถึงหัวใจแล้วนิ่มไปหมดเลย สามแดนโลกธาตุเรียกว่านิ่มไปหมด ไม่มีพิษมีภัยต่ออะไรทั้งนั้น บอกไม่มี เราไม่มีพิษมีภัยต่อผู้ใด แม้ความคิดที่จะเป็นพิษเป็นภัยต่อโลก เราไม่มี ความคิดที่เป็นกิเลสก็ไม่มี บอกว่าไม่มี เพราะฉะนั้นโลกผู้ที่ต้องการอรรถธรรมก็ให้ฟังนะ เราจวนจะตายแล้วเทศน์ให้ฟังทุกอย่าง เราไม่เป็นภัยต่อใครในโลกอันนี้ ทั้งสามโลกเราไม่เป็นภัยต่อผู้ใด มีแต่ทำคุณประโยชน์ต่อโลกเต็มความสามารถด้วยความเมตตาเท่านั้น นอกนั้นเราไม่มี ใครจะมาหาเรื่องราวอะไรๆ ก็เหมือนปากอมขี้ อมลงไปเห่าไป ขี้มันก็โปะหัวเจ้าของนั่นละ ให้มาโปะเรา บอกตรงๆ ไม่โปะ จะชมเชยสรรเสริญขึ้นฟาดจรวดดาวเทียม มันก็ไปจรวดดาวเทียมเสียเราไม่เอา จะติฉินนินทาโจมตี เอ้า เอาให้แหลกเราไม่แหลก เราไม่ได้อยู่ในสิ่งเหล่านี้เราไม่มี เหล่านี้เป็นเรื่องมูตรเรื่องคูถทั้งนั้นละ สรรเสริญนินทาน้ำหนักเท่ากัน

เมื่อจิตพอทุกอย่างแล้วเอาอะไรมาใส่ก็ไม่อยู่ ตกหมดๆ สรรเสริญก็ตก เป็นส่วนเกิน นินทาก็ตก เป็นส่วนเกินทั้งนั้น ธรรมชาตินั้นพอแล้วเลิศกว่าทุกอย่างแล้วจะไปหาหยิบอะไรมาว่าเลิศกว่านี้ไม่มี เราพูดอย่างจังๆเลยละ เราปฏิบัติมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มกำลังความสามารถถึงขั้นจะสลบไสลก็มีไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่เคยสลบก็บอกไม่สลบ แต่เฉียดตลอด เฉียดนี้ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน นี่ละเรื่องฆ่ากิเลส กิเลสตัวมันทำให้เราสู้กันจนถึงขั้นจะสลบ แต่เราไม่เคยสลบเราก็บอกไม่สลบ ขั้นเฉียดนี้มีๆ ตลอด เวลาเด็ดๆ อย่างนี้เด็ดจริงๆ เอ้าชีวิตเหลือก็เหลือไม่เหลือก็เอ้า เข้าสงครามตายในสงครามเลย จะเอาชัยชนะเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาผลปรากฏขึ้นมาตามความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาด ผลจึงเฉียบขาดมาตลอดเลยไม่มีจืดจาง หัวใจดวงนี้ไม่เคยจืดจาง จะเทศน์อะไรหนักเบามากน้อยไม่เคยจืดจางเหมือนเขาเล่านิทาน เล่านิทานนี้ขบขันดีในครั้งนี้ ครั้งหลังมานิทานอันเก่าไม่ขบขันนะ มันจืดชืดไปนี่เรื่องของโลก เรื่องของธรรมไม่มี มีรสชาติเต็มเหนี่ยวอยู่ตลอดเวลา จะออกแง่ไหนๆ มีรสชาติตลอดไปเลย

เราได้บอกกับพี่น้องชาวไทยเราแล้วที่เราช่วยไทยมานี้ อย่างเปิดเผยก็คือช่วยชาติบ้านเมือง ทั้งชาติทั้งศาสนาเราช่วยเต็มกำลังความสามารถของเรา นี่เราเต็มเหนี่ยวแล้วนะ เราไม่มีอะไรที่จะผิดพลาดไปพอจะได้ตำหนิเราว่า การดำเนินไปนี้ผิดไป ไม่มี เพราะพิจารณาโดยธรรมออกโดยธรรมล้วนๆ จึงไม่ต้องไปตรวจทาน เรียบร้อยไปพร้อมๆ เลยทีเดียว ใครจะยึดก็ยึดไม่ยึดก็เท่านั้น เราสุดกำลังความสามารถ อย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนโลกได้ ๔๕ พระพรรษาท่านก็ปรินิพพาน ใครจะเอาก็เอาไม่เอาก็ตายกองกันอยู่นี่ก็แล้วแต่ ท่านไม่มาตายกองกันแล้ว นั่น มีแต่พวกเราที่เก่งๆ แล้วมันตายกองกันอยู่ ถ้าใครอวดเก่งกว่าธรรมพระพุทธเจ้า แล้วก็จะตายกองกันอยู่นี่ พวกเก่งๆ พวกตายกองกัน พวกไม่เก่งพวกเชื่อถืออรรถธรรมของพระพุทธเจ้ามีทางจะเล็ดลอดออกไป ไม่ตายกองกันอีกต่อไป พากันจำเอานะ วันนี้ก็เทศน์เท่านี้แหละ เทศน์หนักมากเหนื่อยแล้วนะ เท่านี้ก็พอแล้วละ เอาละพอ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘
http://www.luangta.com