Monthly Archives: พฤศจิกายน 2013

ผู้ใคร่ต่อการศึกษา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การปรินิพพานของพระสารีบุตร
[๗๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ บ้านนาฬกคามในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ.

[๗๓๔] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตรและจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหาพระอานนท์ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์ สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว.

[๗๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว.

[๗๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ?
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตรมิได้พาศีลขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรมธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร.

[๗๓๗] พ. ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้วมีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

[๗๓๘] ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใดซึ่งใหญ่กว่าลำต้นนั้นพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลยดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

[๗๓๙] ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล.

[๗๔๐] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้นที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๗๘/๔๖๙

ผู้อยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๑๑๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในโภคนครตามความพอ พระทัยแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังเมืองปาวา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงเมืองปาวาแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ อัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร ในเมืองปาวานั้น ฯ

ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง เมืองปาวาประทับอยู่ ณ อัมพวันของเราในเมืองปาวา จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนายจุนทกัมมารบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตร อันพระผู้มีพระภาคให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาค ทรงรับด้วยดุษณีภาพ ฯ

ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว นายจุนท กัมมารบุตรให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะ เป็นอันมาก ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้นไป ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ

ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่ง บนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะนายจุนท กัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสุกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉัน อย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้ นายจุนท กัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงอังคาสพระผู้มีพระภาค ด้วยสุกรมัททวะที่ตนตระเตรียมไว้ อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่น ที่ตนตระเตรียมไว้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกร นายจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือ เสียในหลุมแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคยังนายจุนทกัมมารบุตรผู้นั่งเรียบร้อยแล้วให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จหลีกไป ฯ

ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะนิพพาน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนาเหล่านั้นไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิด อานนท์เราจักไปยังเมืองกุสินารา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว ฯ

[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวยภัตตาหาร ของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่าง หนัก ใกล้จะนิพพาน เมื่อพระศาสดาเสวยสุกรมัททวะแล้ว การประชวรอย่างหนักได้บังเกิดขึ้นพระผู้มีพระภาคลงพระบังคน ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา ดังนี้ ฯ (คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนา)

[๑๑๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป ยังโคนไม้ต้นหนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เราเราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง บนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เราเราระหาย จักดื่มน้ำ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียน บดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบน่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรงสรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เราระหาย จัดดื่มน้ำ แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อยถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำ กกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส จืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มี พระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ แล้วจักทรงสรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะ ท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น ครั้งนั้น แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียน
บดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวไหลไปอยู่ ท่านพระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อย ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้าไปใกล้กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ ฯ

ท่านพระอานนท์ตักน้ำมาด้วยบาตรแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้วความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อกี้นี้ แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้วมีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อข้า พระองค์เข้าไปใกล้ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปแล้วขอพระผู้มีพระภาค จงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำแล้ว ฯ

[๑๒๐] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ เป็นสาวกของ อาฬารดาบสกาลามโคตร ออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไกลไปยังเมืองปาวา ปุกกุสมัลลบุตรได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อโอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วพวกบรรพชิต ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ เรื่องเคยมีมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางไกล แวะออกจากหนทางนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้น
เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ได้ผ่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ติดกันไปบุรุษคนหนึ่งซึ่งเดินทางตามหลังหมู่เกวียนมา เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร ถึงที่พัก ครั้นเข้าไปหาแล้วถามท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญท่านได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปบ้างหรือ ฯ
อ. ท่านผู้มีอายุ เรามิได้เห็น ฯ
บ. ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
เราไม่ได้ยิน ฯ
ท่านหลับหรือ ฯ
เรามิได้หลับ ฯ
ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
ท่านยังมีสัญญา ตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆกันไปและไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าของท่านเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลีบ้างหรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์ หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่านผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในอาฬารดาบสกาลามโคตรแล้วหลีกไป ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสมัลลบุตรว่า ดูกรปุกกุสะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างหนึ่ง ทั้งสอง อย่างนี้ อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน ปุกกุสมัลล บุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม ๗๐๐ เล่ม ๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม จักกระทำอะไรได้ ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียงอย่างนี้แหละ ทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า ฯ

[๑๒๑] ดูกรปุกกุสะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา สมัยนั้นเมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด ในที่ใกล้โรงกระเดื่อง ลำดับนั้น หมู่มหาชนในเมืองอาตุมา พากันออกมา แล้วเข้าไปหาชาวนาสองพี่น้องนั้น และโคพลิพัท สี่ตัว ซึ่งถูกสายฟ้าฟาด ดูกรปุกกุสะ สมัยนั้นเราออกจากโรงกระเดื่อง จงกรมอยู่ในที่แจ้ง ใกล้ประตูโรงกระเดื่อง ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง ออกมาจากหมู่มหาชนนั้น เข้ามาหาเราครั้นเข้ามาหาแล้ว อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราได้กล่าวกะบุรุษนั้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั้นประชุมกันทำไมหนอ ฯ
บ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด หมู่มหาชนประชุมกัน เพราะเหตุนี้ ก็ท่านอยู่ในที่ไหนเล่า ฯ
เราอยู่ในที่นี้เอง ฯ
ก็ท่านไม่เห็นหรือ ฯ
เราไม่ได้เห็น ฯ
ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
เราไม่ได้ยิน ฯ
ก็ท่านหลับหรือ ฯ
เราไม่ได้หลับ ฯ
ก็ท่านยังมีสัญญาหรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และ ไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
ดูกรปุกกุสะ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่านผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และไม่ได้ยินเสียงบุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำ ประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุกกุสมัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์โปรยความเลื่อมใสในอาฬารดาบส กาลามโคตร ลงในพายุใหญ่หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนาย ท่านจงช่วยนำ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลลบุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีนี้ เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์ทรงรับคู่ผ้านั้นของข้า พระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้เราครอง ผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง ปุกกุสมัลลบุตรรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้ว
ยังพระผู้มีพระภาคให้ทรงครองผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้วปุกกุสมัลลบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๐๓

การบิณฑบาตที่มีอานิสงส์มากกว่าการบิณฑบาตอื่น ๆ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์บางทีใครๆ จะทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ มิใช่ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของ ท่านเป็นครั้งสุดท้ายเสด็จปรินิพพานแล้ว ดังนี้เธอพึงช่วยบันเทาความร้อนใจ ของนายจุนทกัมมารบุตรเสียอย่างนี้ว่า ดูกร นายจุนทะ เป็นลาภของท่าน ท่าน ได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เสด็จปรินิพพาน แล้ว เรื่องนี้เราได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาตสองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนักบิณฑบาตสองคราวเป็นไฉน คือ ตถาคตเสวย บิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างหนึ่ง ตถาคตเสวย บิณฑบาตใดแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพานธาตุอย่างหนึ่ง บิณฑบาต สองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรก่อสร้างแล้ว เป็น ไปเพื่ออายุ … เป็นไปเพื่อวรรณะ … เป็นไปเพื่อความสุข … เป็นไปเพื่อยศ … เป็นไปเพื่อสวรรค์ … เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่ยิ่ง ดูกรอานนท์ เธอพึงช่วยบันเทา ความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตร เสียด้วยประการฉะนี้ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาดเทียว ย่อมละกรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๑๑

มือแห่งบุญ มือแห่งบาป

somdejเป็นที่เห็นกันอยู่ว่า ทุกคนมีชีวิตที่ได้ราบรื่นเสมอไป ไม่มีสุขตลอดชีวิต และไม่มีทุกข์ตลอดชีวิต ไม่พบแต่สิ่งดีงามตลอดชีวิต ไม่พบแต่สิ่งชั่วร้ายตลอดชีวิต แต่ละคนพบอะไรๆ ทั้งทั้งร้าย หนักบ้างเบาบ้าง โดยที่บางทีก็ไม่เป็นที่เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น เช่น บางคนเกิดในครอบครัวที่ต่ำต้อย ลำบากยากจน พอเกิดได้ไม่นาน เงินทองจำนวนมาก็เกิดในครอบครัว เป็นลาภของมารดาบิดาบ้าง เป็นความได้ช่องได้โอกาสทำธุรกิจการงานบ้าง ใคร ๆ ก็ต้องพูดกันว่า ลูกที่เกิดใหม่นั้นเป็นผู้มีบุญ ทำให้มารดามั่งมีศรีสุข

ถ้าไม่คิดให้ดี ก็เหมือนจะเป็นการพูดไปเรื่อย ๆ ไม่มีมูลความจริง และทั้งพูดและผู้ฟังก็มักจะไม่ใส่ใจพิจารณา ให้ได้ความรู้สึกลึกซึ้งจริงจัง แต่ถ้าพิจารณากันให้จริงจังด้วยการคำนึงถึงเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมก็น่าเชื่อได้ว่า เด็กที่เกิดใหม่นั้น เป็นผู้มีบุญมาเกิด

ผู้มีบุญ คือ ผู้ที่ทำบุญกุศลทำคุณงามความดีไว้มากในอดีตชาติ อันความเกิดขึ้นของผู้มีบุญนั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับบุญห้อมล้อมรักษา แม้ชนกกรรมนำให้เกิดจะนำให้เกิดลำบาก แต่เมื่อบุญที่ทำไว้มากกว่ากรรมไม่ดีนำให้ลำบากก็จะต้องถูกตัดรอนด้วยอำนาจกุศกรรม คือบุญอันยิ่งใหญ่กว่า คือเกิดมามารดาบิดายากจน มือแห่งบุญก็จะต้องเอื้อมมาโอบอุ้มให้พ้าจากความลำบากยากจน ให้มั่งมีศรีสุขควรแก่บุญที่ได้ทำไว้

ผู้ที่เกิดในที่ลำบากยากจน แต่เมื่อบุญเก่าได้กระทำไว้มากมายเพียงพอ มือแห่งบุญก็จะเอื้อมมาโอบอุ้มให้พ้นจากความยากลำบากได้อย่างรวดเร็ว พ้นจากความจากความยากจนดังปาฏิหาริย์ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ เด็กบางคนทำบุญทำกุศลไว้ดี แต่ชนกกรรมนำให้เกิดแก่มารดาบิดาที่ยากจนแสนสาหัส พอเกิดบิดามารดาก็หาทางช่วยให้ลูกพ้นความเดือดร้อน นำเอาไปวางไว้หน้าบ้านผู้มั่งมีศรีสุขที่รู้กันว่าเป็นผู้มีเมตตา แล้วเด็กนั้นก็ได้เป็นสุขอยู่ในความโอบอุ้มของมือแห่งบุญ ควรแก่บุญที่เขาได้กระทำไว้

แต่เด็กบางคนเกิดในที่ต่ำต้อยยากไร้ และเป็นผู้ที่มิได้ทำบุญทำกุศลมาในอดีตชาติเพียงพอ ย่อมไม่มีมือแห่งบุญมาโอบอุ้มเขาให้พ้นจากความลำบากยากจน แม้เมื่อบิดามารดาจะพยายามเสี่ยงนำเขาไปวางไว้ในที่หวังว่าจะมีผู้ดีมีเงินมานำไปอุปการะเลี้ยงดู ความไม่มีบุญทำไว้ก่อน ทำให้ไม่เป็นไปดังความปรารถนาของผู้เป็นบิดามารดา เขาอาจจะถูกทิ้งตรงที่ที่ไปวางและสิ้นชีวตไป ณ ที่นั้น อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย อาจจะทรมานด้วยความหนาว ความร้อน ความหิว โดยหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้ และผู้เป็นมารดาก็อาจถูกจับไปรับโทษอาญา นั่นเป็นเรื่องอำนาจอันยิ่งใหญ่นักของกรรมอย่างแท้จริง

——————————————

Wholesome and unwholesome hands

In general, it is realized that everybody’s life is not always smooth. One never becomes happy or sorrowful all the time. Everybody experiences both of them one way or other. Sometimes one does not understand its difficulties. Some may be born in low-class family, but sooner or later the families become rich and have a lot of wealth and opportunities. Everyone says that the virtuous child’s birth brings in wealth for the families being unexpected by the parents.

If we do not consider it well we may be waxing our tongues on base things. The person who speaks this may not pay attention to it profoundly. But if we consider the kamma and its effects, it is believed that new born baby is a meritorious person.

A meritorious one is the person who had done a lot of deeds in the past existences. This person’s birth is blessed even though reproductive kamma could make a difficult life, virtue helps more than unwholesome course of action. His or her virtuous hands help to get away from all difficulties, and lead a happy life.

Those that were born with hardship way have done a meritorious course of action. The wholesome hands may quickly foster them from all difficulties in a miraculous way. We can show these examples. Some children might have done a wholesome action, but the reproductive organ forces him or her to be born from hardy parents. When the child was born, the natural parents wanted it to get away from the difficulties and put it in front of a rich kind person’s door-step, which certainly made it happy to be in the hands of a good person well-known for having loving-kindness.

But other children were born in base places. They did not do enough meritorious things in the previous existences. Meritorious hands do not help them get away from hardship. Even when parents put these children in front of rich, kind persons, they did not do any meritorious things at all. They do not receive any virtue. They might be left there and die later with hardship. Then mother might be arrested and face criminal charges. This is a great matter and has to do with the real mighty power of kamma.

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

มนุษย์เกิดเป็นเทวดาได้ และเกิดเป็นสัตว์ก็ได้

somdejในสมัยพุทธกาล ชายผู้หนึ่งโกรธแค้นรำคาญสุนัขตัวหนึ่งที่ติดตามอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ได้ตรัสแสดงให้รู้ว่า บิดาที่สิ้นไปแล้วนั้น มาเกิดเป็นสุนัขนั่น และได้ทรงพิสูจน์โดยบอกให้สุนัขนำไปหาที่ซ่อนทรัพย์ ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้ นอกจากผู้เป็นบิดาของชายผู้นั้น และสุนัขก็พาไปขุดพบสมบัติที่ฝังไว้ก่อนสิ้นชีวิตได้ สัตว์ไปเกิดเป็นเทวดาได้คงจะมีเป็นอันมาก มีเรื่องต่างๆ ในพระพุทธศาสนาที่เล่าสืบกันมา คือ

ในสมัยพุทธกาล มีสัตว์ได้ยินเสียงของพระท่านสวดมนต์ ก็ตั้งใจฟังโดยเคารพ ตายไปก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพสวรรค์ ด้วยอนุภาพของการให้ความเคารพในพระธรรมของพระพุทธเจ้า สัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ นี้ต้องเป็นที่เชื่อถืออยู่ลึกๆ ในจิตสำนึก ถึงแม้เมื่อพบมนุษย์บางคน บางพวกก็ได้มีการแสดงความรู้สึกจริงใจออกมาต่าง ๆ กัน เช่น ลิงมาเกิดแท้ ๆ สัตว์นรกมาเกิดแน่ ๆ ทั้งนี้ก็ด้วยเห็นจากหน้าตา ท่าทางบ้าง กิริยามารยาท นิสัยใจคอ ความประพฤติบ้าง ซึ่งโดยมากผู้ที่พบเห็นด้วยกัน ก็จะมีความรู้สึกตรงกันดังกล่าว เป็นความรู้สึกที่เกิดจากความเชื่อนั่นเอง ว่าสัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ หรือมนุษย์เกิดมาจากสัตว์ได้

สมัยพุทธกาล มีเรื่องของพระภิกษุรูปหนึ่ง มีจิตหวงห่วงผ้าสบงจีวรที่เพิ่งได้มาใหม่ ซักตากไว้บนราว มรณภาพไปขณะผ้านั้นยังไม่แห้ง จิตที่ผูกพันในผ้าสบงจีวรนั้นนำให้ไปเกิดเป็นสัตว์เล็นเล็ก ๆ เกาะติดอยู่กับผ้า พระภิกษุอีกรูปหนึ่งเห็นผ้าสบงจีวรไม่มีเจ้าของแล้ว ก็จะนำไปใช้ พระพุทธองค์ทรงทราบ ได้ทรงมีพระพุทธดำรัสห้ามตรัสให้รอ เพราะพระภิกษุรูปนั้นจะสิ้นภพชาติขอการเป็นเล็นในเวลาเพียงไม่กี่วัน ถ้านำสบงจีวรนั้นไปในขณะยังเป็นเล็นอยู่ ก็จะโกรธแค้น จะไม่ได้ไปเสวยผลแห่งกุศลกรรมที่ได้ประกอบกระทำไว้เป็นอันมาก นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทรงรับรองว่าอำนาจจิตจะทำให้มนุษย์ไปเป็นสัตว์ได้

—————————————————————————

Human may be reborn either as a Thevada or in the animal world

During the Buddha’s time a male person was annoyed and got angry to a dog that followed him. When the Lord Buddha heard of this event, he told him that the deceased father was reborn as that dog. He proved the case by telling the dog to discover the hidden treasure. It could find the treasure though the hidden wealth was known only by the father before his death.

Animals can be reborn as Thevadas. This is found in many scriptures.

During the Buddha’s time an animal heard monks chanting their prayers and listened to the chants with due respect and attention. When it died it went to a heavenly realm. This is due to the power of deep respect for the Dhamma of the Lord Buddha.

Animals can be reborn as humans as well and are believed with deep conscience. Certain humans are also born with faces, manners, and animal-like behaviors.

During the Buddha’s time a monk was worried about his skirt-like clothes or garment. One day he wanted to wash and dried them on a clothesline, but he passed away without drying the clothes. The mind that clung to the piece of clothes made him reborn as a little vermin due to being attached to the cloth.

Another monk saw the unowned clothes and decided to put them on. The Lord Buddha heard of the event, forbade it. He told the monk to wait since the late monk was reborn into a little vermin just a few days after his death. He could get angry and could not live in ease and comfort. This is the story which shows that the mental power causes humans to be reborn in the animal realm.

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
http://www.nkgen.com

ชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนัก

somdejทุกชีวิต ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ มิได้มีเพียงเฉพาะชีวิตนี้ คือ มิได้มีเพียงชีวิตในชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชีวิตมีทั้งชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต

ชีวิตนี้น้อยนัก นั้นหมายถึง ชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนักชีวิต คือ อายุ ชีวิตในปัจจุบันชาติของแต่ละคนอย่างยืนนานที่สุดก็เกินร้อยปีได้ไม่เท่าไร ซึ่งก็ดูราวเป็นอายุที่ไม่ยืนมากนัก แม้ไม่นำไปเปรียบกับชีวิตที่ต้องผ่านมาแล้วในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วนนับปีไม่ได้ และชีวิตที่จะต้องเวียนวนเกิดตายต่อไปอีกในอนาคต ที่จะนับภพชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้อีกเช่นกัน

ที่ปราชญ์ท่านว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” นั้น ท่านมุ่งให้เปรียบชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนให้พ้นทุกข์สิ้นเชิงได้

————————————————————

This present life is so miniscule in scope and so small

Lives of all kinds whether humans or animals do not exist only in the present existence, but they also have past and future ones.

This short life means that the present existence is a bit brief and so miniscule.

Life , of course, is subject to ageing . The present existence of each individual does not exceed one hundred years in terms of the average age. It is a very short period when compared with the past uncountable existences and those in the future.

When the sages or learned persons utter that this present life is so unfocused , they are comparing it with past and future uncountable existences . Those people of incomplete understanding can not be delivered from suffering

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
http://www.nkgen.com

ชีวิตนี้สำคัญนัก จงเลือกให้ดีเถิด

somdej
ชีวิตนี้น้อยนัก พึงใช้ชีวิตนี้อย่างผู้มีปัญญา ให้เป็นทางไปสู่ชีวิตข้างหน้าที่ยืนนาน ให้เป็นสุคติที่ไม่มีกาลเวลาหาขอบเขตมิได้ โดยยึดหลักสำคัญ คือ ความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเถิด

ชีวิตนี้น้อยนัก
แต่ “ชีวิตนี้สำคัญนัก”
เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก
จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย
เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น
พึงสำนึกข้อนี้ไห้จงดี
แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด.

————————————

This present existence is so important …one should take a good choice

This existence is so miniscule, one should use this as it guides to the next life which is long and blissful without limits. This can be attained by gratefulness to parents, nation, religion, and monarchy at all times, with every breath.

“This existence is so limited,
But it is very important”.
It is a great turning point and good junction.
It can go higher or lower, blissful or woeful,
One can do well and one can do evil,
One can take a choice in this existence,
One should remember this well, and be conscious,
Then one can take a good choice, and be able to choose it well.

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
http://www.nkgen.com

พิจารณาทุกขเวทนา

คนเราเหมือนกับต้นไม้ ถ้ารดน้ำให้ปุ๋ยอยู่เรื่อย ๆ บำรุงอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็มีความสดชื่นดี และเติบโตขึ้นเร็วกว่าปกติธรรมดา ที่ทิ้งไว้ตามบุญตามกรรมไม่บำรุงรักษา จิตใจเมื่อบำรุงรักษาโดยสม่ำเสมอก็มีความผ่องใส มีความสงบเยือกเย็นเป็นลำดับ ๆไป ถ้าขาดการอบรมก็เหมือนต้นไม้ที่ขาดการบำรุง ขาดการอบรมในระยะใด ก็แสดงความอับเฉาเศร้าหมองขึ้นมา เพราะสิ่งที่จะทำให้อับเฉาเศร้าหมองมันมีแทรกอยู่ภายในจิตใจของคนเราอยู่แล้ว

การบำรุงรักษาด้วยจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอ จิตจะมีความสงบเย็นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อจิตมีความสงบ ความสงบกับความผ่องใส ก็เริ่มเป็นไปในระยะเดียวกัน เมื่อจิตมีความสงบ เราจะพิจารณาไตร่ตรองอะไรก็ได้เหตุได้ผล พอเข้าอกเข้าใจตามความจริงทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นทั้งภายนอกและภายในตัวเอง หากจิตกำลังว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ จะคิดอะไรก็ไม่ได้เรื่องทั้งนั้นแหละ ถูกก็เป็นผิดไป ผิดก็ยิ่งเป็นผิดไปเรื่อย ๆ

ฉะนั้นท่านจึงสอนให้อบรม เพื่อจิตจะได้มีความสงบร่มเย็นและผ่องใส มองเห็นเงาของตัว ราวกับน้ำที่ใสสะอาด มองลงไปในน้ำ มีขวากมีหนาม มีสัตว์อะไรอยู่ในน้ำก็เห็นได้ชัด แต่ถ้าน้ำขุ่นมองลงไปก็ไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นขวากเป็นหนาม เป็นสัตว์หรืออะไรอยู่ในน้ำนั้น เราไม่สามารถที่จะเห็นได้เลย

จิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อกำลังขุ่นมัว อะไรที่แฝงอยู่ภายในจิตใจมากน้อย ไม่สามารถที่จะมองเห็นโทษของมันได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นโทษอยู่ภายในจิตใจของเราตลอดมา เพราะจิตใจไม่ผ่องใส จิตใจขุ่นมัวไปด้วยอารมณ์อันเป็นตมเป็นโคลน จึงพิจารณาไม่เห็น จึงต้องอบรมจิตให้มีความผ่องใส แล้วก็เห็น “เงา” ของตัว

“เงา” นั้นมันแฝงอยู่ภายในจิต คืออาการต่างๆ ที่แสดงออกจากจิตนั่นแหละ ท่านเรียกว่า “เงา” แล้วทำให้เราหลงติดอยู่เสมอในเงาของเราเอง ซึ่งไปจากความคิดความปรุงต่างๆ ที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอ และออกจากจิตอยู่ทุกเวล่ำเวลา ทำให้เราเผลอตัวไปเรื่อย ๆ เข้าใจว่าสิ่งนี้ก็เป็นเรา สิ่งนั้นก็เป็นเรา อะไร ๆ ก็เป็นเราไปหมด ทั้ง ๆ ที่เป็น “เงา”ไม่ใช่ตัวจริง ! แต่ความเชื่อถือหรือความหลงตามไปนั้น มันกลายเป็น “ตัวจริง” ไปเสีย จึงเป็นผลขึ้นมาให้เราได้รับความเดือดร้อน

เวลานี้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายผู้เป็นที่เคารพบูชา และเป็นหลักทางด้านปฏิบัติ และทางด้านจิตใจ ก็นับว่าร่อยหรอลงไปโดยลำดับ ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่สามารถจะช่วยตัวท่านได้ เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ชำรุดทรุดโทรมลงไปเป็นลำดับลำดา อย่างท่านอาจารย์ขาว เป็นต้น เห็นแล้วก็รู้สึกสลดสังเวชเหมือนกัน

เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เมื่อถึงเวลามัน “เพียบ” แล้ว ก็เหมือนกับไม่เคยแข็งแรงเปล่งปลั่งอะไรมาก่อนเลย นอนอยู่ก็เป็นทุกข์ นั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ อยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็เป็นทุกข์ เมื่อถึงคราวทุกข์รวมตัวกันเข้ามาแล้วในขันธ์ เป็นทุกข์กันทั้งนั้น แต่พูดถึงท่านผู้เช่นนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นไปตามธาตุตามขันธ์ ทางด้านจิตใจท่านไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ที่แสดงตัวต่าง ๆ เลย

แต่สำหรับพวกเรานั้นน่ะ มันคอยต้อนรับกันอยู่เสมอ ไม่ว่าทางด้านจิตใจแสดงออก ไม่ว่าทางธาตุขันธ์แสดงออก วิปริตผิดไปต่าง ๆ นานา จิตก็ผิดไปด้วย เช่น ธาตุขันธ์วิกลวิการ จิตก็วิกลวิการไปด้วย ทั้ง ๆ ที่จิตก็ดีอยู่นั่นแหละ ทั้งนี้ก็เพราะความหวั่นไหวของจิตนี่เอง เนื่องจากสติปัญญาไม่ทันกับอาการต่างๆที่มีอยู่รอบตัว รอบจิต

ท่านจึงสอนให้อบรม “สติปัญญา” ให้มีความสามารถแกล้วกล้า ทันกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต และอาการต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว ได้แก่ขันธ์แสดงตัวออกเป็นอาการวิปริตในส่วนต่าง ๆ ให้รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าจิตไม่รู้เท่าทันเสียอย่างเดียว หรือจิตหลงไปตามสิ่งเหล่านั้นเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ชื่อว่า “เป็นการก่อทุกข์ให้ตัวเองอยู่ไม่หยุดไม่ถอย” ความทุกข์ก็ต้องทับถมเข้ามาทางจิตใจ แม้ร่างกายจะเป็นทุกข์ตามเรื่องของมันในหลักธรรมชาติก็ตาม แต่ใจก็ต้องไป “คว้าเอาสิ่งนั้น” มาเป็นทุกข์เผาลนตนเอง ถ้าไม่ได้พิจารณาให้รู้ทันกัน

จิตถ้ามีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาอยู่โดยสม่ำเสมอ ภัยที่จะเกิดขึ้นก็มีน้อย เพราะเกิดในที่แห่งเดียวกัน คือ “ จิต” “สติ” ก็มีอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ความรับทราบว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้น ดีหรือชั่ว เกิดขึ้นภายในตัว “ปัญญา” เป็นผู้คลี่คลาย เป็นผู้พินิจพิจารณาและแก้ไขอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต เรื่องก็เริ่มสงบลงไป แต่ถ้าขาดสติ เรื่องจะสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ แม้ความคิดความปรุงเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป กี่ครั้งกี่หนก็ตาม แต่ “สัญญา ความสำคัญมั่นหมาย” นั้นจะไม่ดับ จะต่อกันเป็นสายยาวเหยียด “ทุกข์” ก็ต้องสืบต่อกันเป็นสายยาวเหยียด มารวมอยู่ที่ จิต จิตเป็นผู้รับทุกข์ทั้งมวลแต่ผู้เดียวอยู่ตลอดไป

เพราะ “กรรม” ทั้งหลายที่ “สัญญา” ที่ “สังขาร” คิดปรุงขึ้นมา ใจจะเป็น ภาชนะอันสำคัญสำหรับรับไว้ทั้ง “สุข” และ “ทุกข์” ส่วนมากก็รับทุกข์ ถ้าสติปัญญาไม่มีก็รับแต่ของเก๊ ๆ ของทิ้ง ของใช้ไม่ได้ ของเป็นพิษเป็นภัยนั้นแล ไว้ในจิตใจ ถ้ามีสติปัญญาก็เลือกเฟ้นออกได้ อันใดไม่ดี ก็เลือกเฟ้นตัดทิ้งออกไป สลัดตัดทิ้งออกไป เรื่อย ๆ เหลือแต่สิ่งที่เป็นสาระอยู่ภายในใจ ใจก็เย็น ใจไม่เย็นด้วยน้ำ ไม่ได้สุขด้วยสิ่งภายนอก แต่เย็นด้วยอรรถด้วยธรรม มีความสุขด้วยอรรถด้วยธรรม ต้นเหตุก็คือมีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาใจ

การปฏิบัติต่อสิ่งอื่นก็ไม่ยากยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อจิตใจ ภาระทั้งโลกก็มารวมอยู่ที่จิตใจ ขณะที่เราจะแก้ไขสิ่งที่มันฝังจมอยู่ภายในมาเป็นเวลานานนั้น จึงเป็น “งาน” ที่ยากอยู่มาก ดีไม่ดีอาจท้อถอยได้ เพราะทำลงไปไม่ค่อยเห็นผลในระยะเริ่มแรก เนื่องจาก “จิต” ก็เลื่อนลอยในขณะที่ทำ ไม่ค่อยจดจ่อเอาจริงเอาจังในงานของตนที่ทำลงไป ผลจึงไม่ค่อยปรากฏเท่าที่ควร และทำให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอ หรือเกิดความท้อแท้ภายในใจแล้วก็ทิ้งไปเสีย โดยที่เห็นว่า “หยุดเสียดีกว่า” เพราะทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่เวลาหยุดไปแล้วก็ไม่ดี นอกจากจิตจะหาทางสั่งสมความชั่วใส่ตนหลังจากหยุดการบำเพ็ญทางดีแล้วเท่านั้น

แต่ “ความสำคัญ ที่ว่า ดีกว่า”นั่นแหละ มันเป็นเรื่องของกิเลสตัวหลอกลวงทั้งมวล ที่มาหลอกเราให้ท้อถอยอ่อนแอต่างหาก ความจริงตั้งแต่ในขณะทำอยู่มันยังไม่เห็นได้ดี ทั้งที่อยากให้ดีแทบใจจะขาด หัวอกจะแตก เพราะความเพียรพยายาม ยิ่งหยุดไปเสียมันจะดีได้อย่างไร ถ้าหยุดไปแล้วดีดังที่คิด คนทั้งหลายก็ไม่ต้องดำเนินงานอะไรต่อไป หยุดไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันดีไปเอง ! ภายนอกก็ต้องดี ภายในก็ต้องดี เช่นทำการทำงาน ทำไม่ได้มาก หยุดเสียดีกว่า

“ธรรม” ไม่เหมือน “กิเลส” กิเลสมันว่า “หยุดเสียดีกว่า” มันดีจริง แต่ดีเพื่อกิเลสไม่ใช่ดีเพื่อธรรม ส่วน “ธรรม” ต้องอุตส่าห์พยายามทำไปเรื่อย ๆ จนมันดี และดีขึ้น ๆ เรื่อยๆ เพราะทำไม่หยุด งานก็เป็นงานของตนที่ทำขึ้นเพื่อธรรม ไม่ใช่เป็นงานขี้เกียจอันเป็นงานของกิเลส ผลงานจะพึงปรากฏขึ้นโดยลำดับจากการทำไม่หยุด

งานทาง “จิตตภาวนา” ก็เช่นเดียวกัน ยากก็ทำ ง่ายก็ทำ เพราะเป็นงานที่ควรทำ เราไม่ทำใครจะทำให้เรา เวลาความทุกข์ความลำบากมันเผาผลาญภายในใจ เพราะความคิดปรุงสั่งสม ทำไมไม่บ่นว่ามันยาก เวลาสั่งสมกิเลสให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา ทำไมไม่ถือว่ามันยาก มาบ่นให้ความทุกข์อยู่เฉย ๆ ทำไม นั่นคือความพอใจ ยากหรือง่ายไม่สนใจคิด มันไหลไปเลยราวกับน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ ยากหรือไม่ยากมันก็ไหลของมันไปอย่างนั้น เลยไม่ทราบว่ามันยากหรือไม่ยาก

แต่เวลาฝืนใจทำความดี มันเหมือนกับไสไม้ขึ้นที่สูงนั่นแล มันลำบากเพราะทวนกระแส !

การที่จะละความทุกข์น้อยใหญ่ ที่ใจยอมเป็นไปตาม “วัฏวน” มันก็ต้องยากบ้างเป็นธรรมดา ใคร ๆ แม้แต่ท่านผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้อย่างง่ายดาย แต่ก่อนท่านก็ยาก ถึงขั้นที่ควรจะง่ายก็ต้องง่าย เราเองถึงขั้นที่ว่ายากก็ต้องยาก แต่มันไม่ได้ยากอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ถึงเวลาเบาบางหรือง่ายก็ง่าย ยิ่งได้เห็นผลเข้าไปโดยลำดับด้วยแล้วความยากมันหายไปเอง เพราะมีแต่ “ท่าจะเอา” ท่าเดียว สุขทุกข์ไม่คำนึง มีแต่จะให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ ในสิ่งที่ตนต้องการ

การเรียน ให้เรียนเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ให้ดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ที่เกี่ยวข้องกับตนนี้เป็นหลักสำคัญ สำหรับนักปฏิบัติทั้งหลายให้ดูอยู่ทุกเวลา เพราะมันแปรอยู่ทุกเวลา คำว่า “อนิจฺจํ” เป็น อนิจฺจํ อยู่ตลอดกาล คำว่า “ทุกฺขํ” ก็เป็นอยู่ตลอดกาล คำว่า “อนตฺตา” ก็เป็นอยู่ตลอดกาล ไม่มีการหยุดยั้งผ่อนคลายเลย

การพิจารณา ก็ควรพยายามให้เห็นเรื่องของมันที่เป็นอยู่ในตัวเรา จนมีความชำนิชำนาญ พิจารณาหลายครั้งหลายหน จิตก็ค่อยเข้าอกเข้าใจและซึ้งถึงใจ ใจก็ค่อย ๆ ปล่อยวางไปเอง ไม่ใช่จะพิจารณาครั้งหนึ่งครั้งเดียวแล้วก็หยุด แล้วก็คอยแต่จะกอบโกยเอาผล ทั้ง ๆ ที่เหตุไม่ทำให้พอประมาณ มันก็ไม่ได้

การบำเพ็ญความดี มีจิตตภาวนา เป็นต้น ต้องฝืนกิเลสทั้งนั้น ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ๆ ที่ท่านปรากฏชื่อลือนามให้โลกทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาเรื่อยมา ล้วนแต่ท่านรอดตายมาเพราะความเพียรกล้าด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเป็นงานเบาๆ ท่านจะรอดตายได้อย่างไร ก็ต้องเป็นงานหนักซึ่งต้องทุ่มเทกำลังกันอย่างเต็มที่ ครูบาอาจารย์ผู้เช่นนั้นเวลานี้ก็ร่อยหรอไปมากแล้ว มีน้อยเต็มที ! เราหวังพึ่งท่าน เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ของท่านก็เป็นอนิจจัง พึ่งกันได้ชั่วกาลชั่วเวลา แล้วก็พลัดพรากจากกันดังที่เห็นอยู่แล้ว

ฉะนั้น จงพยายามน้อมโอวาทคำสั่งสอนของท่านเข้ามาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนตนอยู่เสมอ ท่านสอนว่าอย่างไร ให้นำโอวาทท่านที่สอนไว้แล้วนั้น เข้ามาปฏิบัติต่อตัวเอง จะชื่อว่า “เราอยู่กับครูกับอาจารย์ตลอดเวลา” เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตลอดกาลสถานที่

การปฏิบัติตนเป็นหลักสำคัญ ที่เป็นความแน่ใจสำหรับเรา การอาศัยครูอาศัยอาจารย์นั้นเป็นของไม่แน่นอน ย่อมมีความพลัดพรากจากไป ท่านไม่พลัดพรากเราก็พลัดพราก ท่านไม่จากเราก็จาก เพราะโลกอนิจจัง มีอยู่ด้วยกันทั้งท่านและเราไม่ผิดกันเลย สิ่งที่พอจะยึดเอาได้ ก็คือหลักธรรมของท่าน จงยึดมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวด้วยความเอาจริงเอาจัง เพื่อเห็นเหตุเห็นผล เพื่อกำชัยชนะภายในใจ ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะอันเลิศประเสริฐสุดในโลก ไม่มีชัยชนะใดจะเสมอเหมือนเลย เรายื้อแย่งเอาชนะตน ! คือกิเลสที่ถือว่าเป็น“ ตน” เป็น “ตัว” เป็นเราเป็นของเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์ นี้ เป็นเรื่องใหญ่โตมาก จะทำเล่นเหมือนเด็กเล่นตุ๊กตา เดี๋ยวกิเลสจะขยี้ขยำเอา เพราะถือมาเป็นเวลานานแล้ว จงรีบพิจารณาให้รู้แจ้งและปล่อยวาง จิตใจจะได้ว่างเปล่าจากทุกข์ ไม่ฉุกละหุกกันตลอดไป

การสั่งสมคำว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” มานี้ นับกัปนับกัลป์ไม่ได้แล้ว ถ้ากิเลสเป็นวัตถุ ความสั่งสมมานานถึงขนาดนั้นจะเอาอะไรมาเทียบเล่าในโลกนี้? ถึงจะใหญ่โตยิ่งกว่าก้อนกิเลสตัณหาอาสวะ ก้อนเราก้อนของเราเหล่านี้ เพราะมีมากต่อมาก จะขนออกมาเทียบไม่หวาดไม่ไหว ถ้าขนเล่น ๆ แบบกิน ๆ นอน ๆ จะถากจะเถือ จะเจาะจะฟัน เพียงหนสองหนให้มันขาดไปนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะพากันคว้าน้ำเหลวไปตาม ๆ กันเท่านั้น จำต้องทุ่มเทกำลังลงอย่างหนักหนาทีเดียว ตอนนี้ตอนจะชิงชัยชนะกัน เราก็เป็นนักปฏิบัติ ไม่ต้องท้อถอยกับการรบกับกิเลสซึ่งมีอยู่ในตัวเราเอง

คำว่า“กิเลส”ก็คือ“ก้อนเรา”นั้นเอง กิเลสเป็น “เรา”เป็น“ของเรา”อะไร ๆ เป็น“เรา”ทั้งนั้น เหล่านี้คือ “กองกิเลสแท้ ๆ” ไม่น่าสงสัยเลย

ถ้าจะแยกให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันตามความสัตย์ความจริง ในหลักธรรมชาตินั้นจริง ต้องแยกด้วยความพากเพียร โดยทางสติปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ พิจารณากัน

การแยกธาตุ ธาตุก็ธาตุสี่ ธาตุ ๔ ก็รู้กันเต็มโลกเต็มสงสารอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้รู้ถึงใจ ซาบซึ้งถึงใจจริง ๆ นั้นต้องภาคปฏิบัติ พิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นชัดเจนแล้วก็ซึ้งไปเอง ถ้าลงได้ซึ้งถึงใจแล้ว ไม่ต้องบอกมันปล่อยเอง เมื่อรู้อย่างถึงใจแล้วก็ปล่อยวางอย่างถึงใจเช่นกัน การที่จะรู้อย่างถึงใจ ปล่อยวางอย่างถึงใจ ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเป็นที่เข้าใจ อย่าไปสำคัญว่า นี่เราพิจารณาแล้ว นั้นเราพิจารณาแล้วในคราวนั้น ด้วยความคาดหมาย นับอ่านครั้งนั้นครั้งนี้ โดยที่ยังไม่ซึ้งถึงขั้นปล่อยวางมันก็ยังไม่แล้ว ต้องพิจารณาให้ถึงขั้นแล้วจริง ๆ ด้วยความซาบซึ้งและปล่อยวาง ถ้า“แล้วจริง” ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอีก มันเข้าใจแล้ว ปล่อยวางได้หมด

คำว่า “ธาตุ” ก็ก้อนธาตุอยู่แล้ว วิญญาณก็ธาตุ สิ่งที่มาสัมผัสก็ธาตุ รูปก็ธาตุ เสียงก็ธาตุ อะไรๆ ก็ธาตุ อะไร ๆ มันก็เป็นธาตุไปหมดอยู่แล้ว

เรื่องขันธ์ภายในตัวเรา เช่น รูป ก็เป็นขันธ์ เวทนา ก็เป็นขันธ์ สัญญา ก็เป็นขันธ์ สังขาร ก็เป็นขันธ์ วิญญาณ ก็เป็นขันธ์ เป็นขันธ์ เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นชิ้นเป็นอัน อยู่ตามธรรมชาติของเขา

เรื่องใจก็ให้รู้ว่า “นี้คือ ผู้รู้” ที่จะต้องพิสูจน์ให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับธาตุขันธ์ทั้งหลาย จะไม่ยึดว่าเป็นตนเป็นของตน ซึ่งจะเป็นภาระหนักมากขึ้น จำต้องพิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริงเสมอกัน แต่การพิจารณา “จิต” นี้ ได้เคยอธิบายมาหลายกัณฑ์แล้ว น่าจะพอเข้าใจ

เฉพาะอย่างยิ่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในกาย ให้ทราบชัดว่า“นี้คือ เวทนา” เพียงเท่านั้น อย่าไปตีความหมายว่า เวทนาเป็นเรา เป็นของเรา หรืออะไรๆ เป็นของเรา เพราะนั้นจะเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสให้มากขึ้นโดยลำดับ แล้วก็นำความทุกข์เข้าทับถมใจมากขึ้น เมื่อเวทนาไม่ดับยิ่งมีทุกข์ทางใจมากขึ้น แล้วจะเอาอะไรมาทนกัน

“เวทนา” มันเกิดขึ้นในธาตุในขันธ์มันก็เคยเกิดขึ้นอยู่แล้ว ตั้งแต่วันเกิดมาขณะที่ตกคลอดออกมา ก็มีเวทนาแสนสาหัส รอดตายจึงได้เป็นมนุษย์มา จะไม่เรียกว่า “เวทนา” จะเรียกว่าอะไร เวทนานี้เคยเป็นมาตั้งแต่โน้น จะให้มันละทางเดินของมันละไม่ได้ ทางของความทุกข์ในธาตุในขันธ์ มันต้องแสดงตัวมันโดยสม่ำเสมอเรื่อยมา มันเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ และก็ดับไป มีเท่านั้น มีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่ว่าจะเป็น เวทนานอก เวทนาใน คือ จิตเวทนา

เฉพาะอย่างยิ่งเวทนาทางร่างกาย พิจารณาให้เห็นชัด รูป ก็เป็นรูป รู้ชัดเห็นชัดอยู่แล้วตั้งแต่วันเกิดมา จะเสกสรรปั้นยอว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือเป็นเจ้าฟ้า พระยามหากษัตริย์ เป็นเจ้าขุนมูลนายหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ความเสกสรร แต่ความจริงก็เป็นความจริงอยู่ตายตัว ไม่ได้เป็นไปตามความเสกสรรปั้นยอใด ๆ ทั้งสิ้น ความจริงรูปก็คือรูปขันธ์นั่นแล มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเข้า เรียกว่า “คน” ว่า “สัตว์” ว่า หญิงว่าชาย แยกประเภทออกไป เป็นชื่อเป็นนามไม่มีสิ้นสุด แต่สิ่งที่คงที่นั้นคือรูป ก็คือ “กองรูป” นั้นเอง รวมทั้งหมดที่เป็นส่วนผสมนี้ เรียกว่ากองรูป คือรูปกาย ซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่ง แยกดูส่วนไหนก็เป็นความจริงของมันแต่ละอัน

ในขณะที่ประชุมกันอยู่ หนังก็เป็นหนัง เนื้อก็เป็นเนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ที่ให้ชื่อให้นามเขา อย่าไปหลงชื่อหลงนามของมัน ให้เห็นว่าเป็นความจริงด้วยกัน คือเป็นกองรูป กองเวทนา มันไม่ใช่รูป รูปไม่ใช่เวทนา มีทุกขเวทนาเป็นต้น เวทนาเป็นเวทนา จะเป็นสุขขึ้นมาก็ตาม เป็นทุกข์ขึ้นมาก็ตาม เฉย ๆ ก็ตาม มันเป็นเวทนาอันหนึ่ง ๆ ต่างหากของมันซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน สองอย่างนี้สำคัญมากยิ่งกว่า สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเกิดดับพร้อมกันไปเป็นระยะ ๆ

แต่เวทนานี้ถึงจะดับก็มีเวลาตั้งอยู่ เห็นได้ชัดทางภาคปฏิบัติ ในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ให้จับทุกขเวทนานั้นเป็นเป้าหมาย คือเป็นจุดที่พิจารณา อย่าเห็นว่าเวทนานี้เป็นเรา จะผิดจากหลักความจริงของเวทนาและวิธีการพิจารณา จะไม่ทราบความจริงของเวทนาด้วยปัญญาที่ควรทราบ เมื่อไม่ทราบความจริงแล้ว ยังจะถือเอาทุกขเวทนานั้นว่าเป็นเราเข้าอีก ก็จะเพิ่มความทุกข์ขึ้นอีกมากมายแก่จิตใจ เพราะเป็นการผิดต่อหลักธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

ท่านจึงสอนให้พิจารณาให้เห็นทุกขเวทนา จะเป็นขึ้นในส่วนใดก็ตามของร่างกาย ให้ทราบว่ามันเป็นอาการอันหนึ่ง เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของมัน ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของมันเท่านั้น อย่าไปยุ่ง อย่าไปปรุงไปแต่ง ไปเสกสรรปั้นยอ ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากแบกหามทุกข์ไม่มีเวลาปลงวาง ให้เห็นตามความจริงของมันในขณะที่ปรากฏตัวขึ้นมาก็ดี ตั้งอยู่ก็ดี และดับไปก็ดี เรื่องเวทนามันมีเท่านั้น จงแยกให้เห็นชัดด้วยสติปัญญา

เมื่อกำหนดดูเวทนาแล้วย้อนเข้ามาดูจิต ว่าจิตกับเวทนานี้เป็นอันเดียวกันไหม แล้วดูกาย กายกับจิตนี้เป็นอันเดียวกันไหม ดูให้ชัด ในขณะที่พิจารณานี้ ไม่ให้จิตส่งออกไปทางไหน ให้จิตอยู่ในจุดนั้นแห่งเดียว เช่น พิจารณาทุกขเวทนา ก็กำหนดทุกขเวทนาให้เห็นชัด เมื่อย้อนเข้ามาดูจิต ก็กำหนดดูความรู้นี้ให้ชัด ว่ามันเป็นอันเดียวกันไหม เอาไปเทียบเคียงกันดู ความรู้อันนี้กับเวทนาอันนั้นน่ะ มันเหมือนกันไหม จะรวมเป็นอันเดียวกันได้ไหม และรูปกายอันนี้มันเหมือนกับจิตไหม? มันเหมือนกับเวทนาไหม? จะพอเป็นอันเดียวกันได้ไหม? นั่น! ท่านจึงว่า “แยกดูให้ดี!” เพราะรูปมันเป็นรูป มันจะไปเหมือนจิตได้อย่างไร จิตเป็นนามธรรม เป็นธรรมชาติที่รู้ แต่ธาตุนี้เป็นธาตุไม่รู้ คือธาตุดินนี้ไม่รู้ ธาตุน้ำนี้ไม่รู้ ธาตุลมนี้ไม่รู้ ธาตุไฟนี้ไม่รู้ แต่ “มโนธาตุ”นี้รู้ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันจะเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร

ทุกขเวทนาก็เหมือนกัน มันก็เป็นธาตุไม่รู้ เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ธาตุไม่รู้กับธาตุไม่รู้ก็ต่างกันอีก เวทนากับกายก็เป็นคนละอย่าง มันไม่ใช่อันเดียวกัน จะให้เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร การแยกการแยะในขณะที่พิจารณาเวทนา ดูให้เห็นชัดตามความจริงนั้น ไม่ต้องกลัวตาย ความตายไม่มีในจิต อย่าไปสงสัย อย่าไปสร้างขวากสร้างหนามปักเสียบตนเองให้เจ็บแสบเดือดร้อน ความตายไม่มี คือในจิตนี้ไม่มีความตาย มีแต่ความรู้ล้วนๆ ความตายไม่มีในจิต ซึ่งเป็นสิ่งแน่นอนตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์

ความสำคัญว่าตายนี้ เป็นเรื่องเสกสรรปั้นยอขึ้นมาให้แก่จิต ด้วยอำนาจแห่งความหลงของจิตเสียเอง เป็นผู้เสกสรรปั้นยอขึ้นมาหลอกตัวเอง ฉะนั้นเมื่อพิจารณาไปตามความจริงแล้ว จิตไม่ใช่ของตาย เราจะไปกลัวตายทำไม คำว่า “ตาย” นั้นคืออะไร? เราก็ทราบว่า ธาตุขันธ์มันสลายลงไป คนเราพอหมดลมหายใจเขาเรียกว่า “คนตาย”ขณะนั้น “ผู้รู้” แยกตัวออกจากธาตุนั้นแล้ว ธาตุนั้นเลยมีแต่ “รูปธาตุ” เฉย ๆ เวทนาก็ไม่มี นั่นเขาเรียกว่า “คนตาย”

แต่ความจริงมันไม่ได้ตาย เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้ชัดเจนด้วยปัญญา เราไม่ต้องสร้างเรื่องความตายขึ้นมาปักเสียบหัวใจ หรือมากีดขวางทางเดินของเรา เพื่อความรู้จริงเห็นจริงด้วยการพิจารณา แม้จะทุกข์มากทุกข์น้อยขนาดไหน ก็จงกำหนดดูให้ดีในเรื่องความทุกข์นั้น เอาความทุกข์นั้นแลเป็นหินลับปัญญา แยกทุกข์ขยายทุกข์ออกจากจิต แยกจิตออกจากทุกข์ เทียบเคียงกันให้ได้ทุกสัดทุกส่วน ในขณะที่พิจารณาอย่าให้จิตเผลอไปไหน เพื่อความรู้จริงเห็นจริงแบบ “ตะลุมบอน” กับขันธ์นั้น ๆ

จิตหรือจะตายตามสมมุติของโลก จะตายในขณะที่พิจารณานี้ก็ให้รู้ว่า อะไรตายก่อน อะไรตายหลัง เวทนาดับไปเมื่อไร จิตนี้จะดับไปเมื่อไร และจิตนี้จะดับไปที่ไหนกันแน่ เพราะธรรมชาติของจิตไม่ใช่เป็นของดับ ใครจะมาบังคับให้จิตดับได้อย่างไร ?

จงพิจารณาดูให้ดี ระหว่างขันธ์กับจิต จนรู้ความจริงขึ้นมาประจักษ์ใจ หายสงสัย นี่แหละท่านเรียกว่า “สร้างปัญญา ฝึกซ้อมปัญญา ให้เห็นความจริง”

ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรในขณะนั้น จะไม่มีอำนาจเข้ามาบังคับบัญชาจิตใจให้กระทบกระเทือนได้เลย เมื่อทราบแล้วว่าจิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นชัดเจนตามนี้แล้ว ว่ามันเป็นความจริงแต่ละอย่าง ๆ ระหว่างขันธ์กับจิตจะไม่กระทบกระเทือนกันเลย กายก็สักว่ากาย ตั้งอยู่เฉย ๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นกายก็มีอยู่ ทุกขเวทนาดับไป กายทุกส่วนก็มีอยู่ตามธรรมชาติของตน เวทนาเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของเวทนา ตั้งอยู่ก็เป็นเรื่องของเวทนา ดับไปก็เป็นเรื่องของเวทนา จิตเป็นผู้รู้เรื่องทุกขเวทนา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป จิตไม่ใช่เป็นผู้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนกายเหมือนเวทนา

เมื่อหัดพิจารณาอย่างนี้จนชำนาญแล้ว ถึงคราวเข้าที่คับขันก็ให้พิจารณาอย่างนี้ เราไม่ต้องกลัวตาย เพราะเราเป็นนักรบ เรื่องกลัวตายไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เรื่องความกล้าหาญต่อความจริงนี้เป็นธรรม และเป็นหลัก “สวากขาตธรรม” ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว จงดำเนินไปตามความจริงนี้ ตายก็ตายไม่ต้องกลัว เพราะจิตไม่ได้ตาย แต่ขอให้รู้อยู่กับตัวว่า อะไรที่แสดงขึ้นเวลานี้ มีทุกขเวทนา เป็นต้น มันเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาดูให้ทราบตามความจริงของมัน เมื่อทราบความจริงแล้ว ทุกขเวทนาก็สักแต่ว่าธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีความหมายร้ายดีแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าเป็น “ข้าศึก” ต่อผู้ใด เป็นความจริงของมันอย่างเต็มตัวที่แสดงขึ้นมาตามหลักธรรมชาติเท่านั้น

กาย ก็เป็นความจริงของกายที่ปรากฏตัวอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน จิตก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่เป็นความรู้ประจำตน ไม่ได้ไปคละเคล้ากับสิ่งใด

เมื่อพิจารณารู้รอบแล้ว จิตก็ถอนตัวออกมาเป็นความจริงของตัวอย่างสมบูรณ์ ทุกขเวทนาเขาก็มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติของเขา กายก็มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติของตน โดยที่จิตไม่ไปแยกส่วนแบ่งส่วนวุ่นวายกับเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน ทุกข์ จะทุกข์ขนาดไหนก็ไม่กระเทือนถึงจิต ยิ้มได้ในขณะที่ทุกข์กำลังเกิดอยู่มากมายนั้นเอง ยิ้มได้! เพราะจิตเป็นอันหนึ่ง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเวทนา คือ ไม่เข้าไปคละเคล้ากับเวทนานั้นให้เผาลนตนเอง ใจก็สบาย

นี้แลการพิจารณาทุกขเวทนาให้รู้รอบ โดยเอาเวทนานั้นเป็นสนามรบ เป็นหินลับปัญญา เป็นสถานที่ลับปัญญาให้คมกล้าขึ้น ด้วยการพิจารณาแยกแยะทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น แยกแยะดูกาย แยกแยะดูเวทนา อันใดจะดับก่อนดับหลังก็ให้ทราบ ตามความจริงของมันมันมีความเกิด ความดับ ประจำตัวอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา เราจะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีเป็นหลักธรรมชาติของตัวอยู่อย่างนั้น เป็นแต่เพียงพิจารณาให้เห็นตามความจริงของมัน จึงไม่ปีนเกลียวกับธรรม เราก็อยู่สบาย

เอ้า ! จะตายก็ตายซิ ตามโลกเขาสมมุตินิยมว่า “ตาย” ตายมันเป็นอย่างไร จึงเรียกว่า “ตาย” กายมันแตก เอ้า แตกไป อะไรสลายก็สลายลงไป ผู้ไม่สลายก็อยู่ อะไรไม่สลาย ก็คือจิตนี่เอง

ใจนี้เมื่อสร้างปัญญาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นภายในตนแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่มี ความหวั่นไหวต่อความล้มความตาย จิตมีความแกล้วกล้าสามารถ

นี่แหละการพิจารณาเรื่องของตัว คือเรื่องของจิต พิจารณาเช่นนี้ เราไม่ต้องกลัวตาย กลัวไปทำไม พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้กลัว ธรรมไม่สอนให้กลัว ความจริงไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นความจริง จะน่ากล้าน่ากลัวที่ตรงไหน กล้าก็ไม่น่ากล้า กลัวก็ไม่น่ากลัว นี่หมายถึงการถึงความจริงล้วน ๆ แล้ว ไม่มีคำว่า “กล้า” ว่า “กลัว” เหลืออยู่ภายในใจเลย มีเฉพาะ “ความบริสุทธิ์” อย่างเดียว

แต่การพิจารณาเพื่อถึงความจริง ต้องมีความกล้าหาญ เมื่อจะเอาชัยชนะเข้าสู่ตน ไม่มีความกล้าหา

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
http://www.luangta.com

เอหิปสฺสิโก ให้ฉุดลากจิตเข้ามาดูกายดูใจนี้

เอหิปสฺสิโก นี่ทางปริยัติท่านแปลว่า ร้องเรียกผู้อื่นมาดูได้ พระธรรมของจริง แต่ทางด้านปฏิบัติเราไม่ได้สนิทใจอย่างนั้น สนิทใจว่า เอหิ ก็หมายถึงตัวของเรา เราสอนเรานี่น่ะ หิ ก็ขึ้น ตฺวํ น่ะซิ ท่านจงมาดูที่นี่ น้อมใจเข้ามาอยู่ที่นี่ สู่ที่นี่ อย่าส่งไปเถลไถลเรื่องบ้าเรื่องบอ เรื่องสมุทัย มันลากออกไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัสถูกต้องต่าง ๆ แล้วกว้านเอาเป็นธรรมารมณ์เข้ามาผูกมัดหัวใจ ให้มาครุ่นคิดวุ่นวายอยู่ภายในจิตใจ เพราะฉะนั้น เอหิ จงฉุดกระชากจิตเข้ามา อย่าให้จิตส่งออกไปข้างนอก ให้เข้ามาดูตรงนี้ ว่างั้นนะความหมายทางด้านปฏิบัติ

เอหิ น้อมเข้ามา เอหิ แปลว่าจงมา ก็หมายถึงว่าน้อมเอาจิตเข้ามา เรียกว่ารั้งจิตเข้ามา ฉุดกระชากจิตที่เลินเล่อเผลอสติไปด้วยความเพลิดเพลินราคะตัณหาให้เข้ามาด้วยสติ ด้วยปัญญา ศรัทธา ความเพียรของเรา ให้เข้ามาดูธรรมของจริง ของจริงอยู่ที่นี่ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ จริงอยู่ที่นี่ สมุทัย อริยสจฺจํ จริงอยู่ที่นี่ นิโรธ อริยสจฺจํ ก็อยู่ที่นี่ มรรคก็ อริยสจฺจํ คือสติปัญญาเป็นสำคัญก็อยู่ที่นี่ ให้ดูที่นี่ เอหิ เอหิ จงน้อมเข้ามาที่นี่ แน่ะ สิ่งเหล่านี้ท้าทายอยู่ตลอดเวลา ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ท้าทายตลอดเวลา นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี. เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา ท้าทายอยู่ภายในจิตใจนี้ตลอดเวลา ให้ดูตรงนี้

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป แกงกินไม่ได้นะ ท่านไม่ได้สอนให้เอาสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นต้นมาไว้สำหรับแกงกิน เอามาไว้พิจารณาฆ่ากิเลส ฟันกิเลส พิจารณาเข้ามาตรงนี้ให้น้อมเข้ามา นี่แหละ เอหิปสฺสิโก ภาคปฏิบัติให้มันเห็นประจักษ์ตัวเองซิ เอหิปสฺสิโก เรียกคนอื่นเข้ามาดูได้ เพราะเป็นธรรมของจริง เดี๋ยวเขาหาว่าบ้า

นี่ยกตัวอย่างเราก็พูดตามเรื่องของท่านนะ เราไม่ได้ยกโทษท่านนะ นี่พูดถึงเรื่องท่านอาจารย์…. ตั้งแต่ท่านบวชอยู่ใหม่ ๆ โน้น ท่านเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมองอยู่ที่ถ้ำพระเวส อำเภอนาแก มาลาเรียขึ้นสมอง แล้วก็ธรรมดาขึ้นสมองจะไม่ให้คนเป็นบ้าได้ยังไง ก็ต้องเป็นบ้าแหละ แต่จิตใจของท่านผูกพันในธรรมมาก เพราะฉะนั้นแม้กิริยาอาการจะเป็นบ้าอะไร ท่านก็ไม่ได้หนีจากธรรม ความมุ่งมั่นก็อยู่ที่นั่น ความใฝ่ใจก็อยู่ที่นั่น สัญญาอารมณ์ก็อยู่กับธรรม เพราะฉะนั้นแม้จะเผลอสติเท่าไร ท่านก็ยังมุ่งไปทางธรรม จิตใจส่วนใหญ่หมุนไปทางหลักธรรม

ถ้าหากว่าจิตใจท่านเอนไปทางโลกนี้ จะต้องแสดงเรื่องโลกมาอย่างขายหน้าบอกไม่ถูกเลย แต่นี้จิตใจท่านเหนียวแน่นในธรรมะ ท่านถึงบอกว่าท่านสำเร็จแล้ว ท่านบอกงั้น เราสำเร็จแล้ว ไปบิณฑบาตก็ถามไปหมดนั่นแหละ ใครตำข้าวอยู่ที่ไหนเพราะแต่ก่อนมีครกกระเดื่อง ภาษาเราเรียกว่าครกมอง ครกกระเดื่องตำอยู่ตามบ้านตามเรือน ไปนี่ว่าสำเร็จแล้วยังพวกนี้ ถ้าใครยังไม่สำเร็จ ท่านก็สะพายบาตรเข้าไปแล้วสอนเขาเต็มที่ แล้วไปนั้นสำเร็จแล้วยัง ทางนั้นก็ว่าสำเร็จอะไร สำเร็จมรรคผลนิพพานน่ะซี ยัง เขาว่ายัง ท่านก็สอนเรื่อย ต่อมาเขาก็รู้เรื่องเอง อ๋อ ท่านเป็นยังงั้น พอมองเห็นสำเร็จแล้วยัง เขาว่าสำเร็จแล้วท่านก็ผ่านไปท่านก็ไปฉันจังหัน ถ้าหากว่าเขายังไม่สำเร็จ ท่านจะสอนอยู่นั่นแหละ

นี่เราพูดเรื่องอะไรมันถึงไปสัมผัสเรื่องนี้ ผมก็ลืมเงื่อนต้นเงื่อนไหน ไม่ได้ตั้งใจจะมาพูดเรื่องของท่านนะ แต่มีเรื่องสัมผัสเข้ามาก็เลยมาพูดเรื่องนี้ พูดเรื่องสติปัญญาก็ไปอย่างนั้น อ๋อพูดเรื่องท้าทาย ให้เขามาดูธรรมของจริง เห็นไหมเป็นอย่างนั้นแหละ ยังไม่สำเร็จหรือ อาตมาสำเร็จแล้วนะ มันเป็นอย่างนั้นนะ จะให้ใครมาดู ธรรมของจริงอยู่ที่ไหนใครจะไปรู้ เกิดมาเขาไม่เคยเห็นธรรมของจริง เขาจะเอาธรรมของจริงจากไหนมารู้

ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะรู้ธรรมของจริง สอนตัวเองให้รู้ธรรมของจริงให้เห็นธรรมของจริงซิ ธรรมของจริงอยู่ที่ไหน ไม่อยู่ทางโน้นทางนี้ที่ไหน ธรรมอยู่ที่ใจเป็นหลักใหญ่ สำคัญมากอยู่ที่กายที่ใจ เรื่องภายนอกก็ไม่ปฏิเสธ เรื่องชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา เห็นคนแก่ เจ็บตาย เมื่อไปเยี่ยมป่าช้าก็เป็นธรรมอันหนึ่ง แต่ธรรมสำคัญแท้ ๆ อยู่ที่นี่ เวลาจิตส่งออกไปข้างนอก มันไม่ได้ส่งออกไปเพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างนั้น มันส่งไปด้วยความรื่นเริงบันเทิง เพราะอำนาจของกิเลสตัณหา ที่ว่ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดังที่กล่าวมานี้

เพราะฉะนั้นจึงให้ฉุดลากใจเข้ามา เอหิ เอหิ จงมาที่นี่ให้มาดูที่นี่ ธรรมของจริงอยู่ที่นี่ ท้าทายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาสงบเลย เอาจะดูท่าไหนก็ดู จะดูสัจจะก็ดู จะดูทุกขสัจก็เห็นแล้วชัด ๆ สมุทัยสัจเป็นตัวสำคัญที่ป้อนอาหารให้ทุกข์กำเริบขึ้นเรื่อย ๆ นั่นแหละ ตัวสมุทัยตัวขวนขวายละนั่น ขวนขวายหาอาหารพิษเข้ามา เพราะฉะนั้นมรรคจึงต้องตัดสมุทัยเข้ามาน่ะซิ ด้วยการคิดค้นพินิจพิจารณา เห็นตามความสัตย์ความจริงของสิ่งต่าง ๆ จิตเราก็ปล่อยไปเอง วางไปเอง นี่คือภาคปฏิบัติ ให้พากันพิจารณาอย่างนั้น นี่แหละ เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก เราเห็นอะไร ๆ ก็ตาม ได้ยินผ่านทางหู ทางตา ให้น้อมเข้ามาเป็นอรรถเป็นธรรม เห็นเขาหัวเราะ เห็นเขาร้องไห้ หัวเราะด้วยเหตุผลกลไกอันใด ด้วยความรื่นเริงบันเทิง เพราะอำนาจราคะตัณหา หรือหัวเราะเพราะอะไร เพื่ออะไร มีความโศกเศร้าโศกาอาลัย ร้องห่มร้องไห้เป็นทุกข์ เป็นทุกขสัจ พิจารณาน้อมเข้ามา ๆ เห็นคนแก่ก็น้อมเข้ามาหาตัว เห็นคนตายก็น้อมเข้ามาหาตัว

เรื่องความทุกข์ที่แสดงขึ้นแก่ผู้ใดก็ตาม จนถึงกับแสดงอาการออกมา ด้วยความร้องห่มร้องไห้ นี่ก็เพราะอำนาจของทุกข์ที่มาจากสมุทัย ทีนี้เราก็น้อมเข้ามาให้เห็นโทษของสมุทัย ตัวสำคัญซึ่งสามารถยังทุกข์ให้แสดงออกอย่างเปิดเผย โดยไม่มีอ้ำอายคนผู้หนึ่งผู้ใดเลย ธรรมดาการร้องไห้เป็นเรื่องที่อายกัน แต่เวลามันเป็นขึ้นมาละมันอายไม่ได้ เพราะพลังของกิเลสมาก พลังของทุกข์มาก พลังของสมุทัยมากก็ทำให้ร้องห่มร้องไห้ได้ไม่อายใครละ ให้น้อมเข้ามาซิ นี่ผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๒
http://www.luangta.com

การค้าขาย อันอุบาสกไม่พึงกระทำ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้
อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
การค้าขายศาตรา ๑
การค้าขายสัตว์ ๑
การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑
การค้าขายน้ำเมา ๑
การค้าขายยาพิษ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายการค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้าที่  ๒๑๑.