อย่าให้พระบังพุทธ

ชาวบ้านเล่าว่า ท่านได้แนะนำให้พวกเขาแสดงตัวเป็นพุทธมามกะ (ผู้รับเอาพระรัตนเป็นที่พึ่ง-ผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย) และสอนให้พวกเขาเข้าใจในเหตุผลแห่งความเป็นจริง โดยไม่ให้มีความเชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล เพราะเหตุผลเป็นความจริงในพระพุทธศาสนา โดยท่านได้สอนเน้นถึงว่า คุณธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งนัก เช่นที่เราพากันกราบไหว้พระพุทธปฏิมากรนี้ มิใช่ว่าเราไหว้หรือนอบน้อมต่ออิฐ-ปูน-ทองเหลือง-ทองแดง-ทองคำ-หรือไม้-ดิน เพราะนั่นเป็นแต่เพียงวัตถุก่อสร้างธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อเราจะกราบไหว้พระพุทธรูป เราต้องกราบไหว้คุณธรรม คือมาระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ไกลจากกิเลสเครื่องยั่วยวน ซึ่งถ้าไม่ไกลจากกิเลสแล้วเราก็ไม่ไหว้ เราไหว้เฉพาะท่านที่ห่างไกลจากกิเลสเท่านั้น อย่างนี้ชื่อว่า ไหว้พระองค์ท่านด้วยคุณธรรม จึงจะไม่ชื่อว่า ไหว้อิฐ-ปูน- ฯลฯ

การไหว้พระธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในพระพุทธองค์ก็เช่นกัน โดยกล่าวคำเป็นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ-พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการกราบไหว้พระธรรมนั้น เพราะถ้าพระธรรม (คำสอน) ที่กล่าวแล้วไม่ดีและเมื่อพิจารณาเห็นประจักษ์แล้วว่าไม่มีเหตุผล เราก็ไม่ไหว้ไม่นอบน้อม ดังนั้นเราจึงไหว้แต่พระธรรมที่กล่าวดี มิฉะนั้นแล้วเราก็จะกราบถูกเพียงแต่ใบลาน คือใบไม้ เพราะไปเข้าใจว่า ใบไม้คือธรรมนี้ชื่อว่าไม่ถูกต้อง เราจะต้องกราบให้ถูกให้ตรงต่อคำสอน คือพระธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง

สำหรับพระสงฆ์อันเป็นสาวกผู้สืบพระศาสนาคือหลักธรรมของ พระพุทธเจ้าก็มีนัยเช่นเดียวกัน การที่เราให้ความเคารพกราบไหว้สักการะก็โดยมาระลึกถึงว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีการเป็นอยู่อย่างสงบ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ พร้อมกันนี้ท่านยังดำรงภาวะเป็นเนื้อนาบุญอันเอกอุของชาวโลก ดังนั้นเมื่อเราจะกราบไหว้เราก็กล่าวคำว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ-พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้านอบน้อมกราบไหว้พระสงฆ์นั้น ถ้าพระสงฆ์มีการปฏิบัติไม่ดีเราก็ไม่กราบ เรากราบผู้ที่ท่านปฏิบัติดี อย่างนี้ชื่อว่า กราบถูก มิฉะนั้นจะเป็นว่าเรากราบคนหรือธาตุ ๔ เท่านั้น ดังนั้นขณะที่เรากราบโดยกล่าวคำระลึกดังที่กล่าวมาแล้วและมีพระสงฆ์อยู่ต่อเฉพาะหน้าเรา อาจจะไม่ถูกเรากราบ ถ้าพระสงฆ์รูปนั้นปฏิบัติไม่ดี เมื่อทำได้ดังกล่าวชื่อว่าเรากราบได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด

สรุปแล้วกราบไหว้ใด ๆ ก็ตามถ้าเรากราบโดยยึดเอาคุณธรรมเป็นที่คงเป็นหลักแล้ว เราจะไม่มีการกราบผิดเลยเพราะการกราบไหว้โดยท้าวความถึงคุณธรรมนั้นจึงจะชื่อว่าเป็นเหตุผล หรือสมกับเหตุผลนั้นก็คือ กราบได้ไม่ผิดจึงจะได้รับความสงบร่มเย็นเป็นบุญ ฯ

ผู้เขียนรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจมาก ที่ได้ฟังโยมเขาอธิบายถึงคำสั่งสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่เขาได้พากันจดจำเอาไว้และได้นำมาเล่าให้ฟังได้อีกจึงทำให้ได้ ความจริงมาอีกข้อหนึ่งว่า ท่านอาจารย์ท่านได้สอนคนบ้านนอกที่กลการศึกษาให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงซึ่งบางทีอาจจะดีกว่าผู้ที่ศึกษาแล้วอยู่ในเมืองหลวงเสียอีก….

โยมคนนั้นได้เล่าถึงท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านสอนต่อไปว่า ศาสนา คือตัวของเราและอยู่ที่ตัวของเราเพราะเหตุไร ? ก็เพราะว่า ตัวตนของคนเรานี้เป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมก็ทรงแสดงถึง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ปฏิบัติก็ให้ปฏิบัติที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่ใจ ไม่เห็นให้ปฏิบัติที่อื่น ๆ

นอกจากที่ดังกล่าว บางคนก็ว่า ศาสนาอยู่ในคัมภีร์ใบลาน โยมคนนั้นได้เล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่อยู่ในคัมภีร์ใบลาน ก็ในใบลานหรือในกระดาษหนังสือทั้งหลาย ก็คนเรานั่นแหละไปจารึกไว้หรือไปเขียนไว้และทำมันขึ้นมา ซึ่งถ้าคนไม่ไปเขียนหรือไปทำมันขึ้นมา มันจะเป็นหรือมีขึ้นมาได้อย่างไร

บางคนว่าศาสนาอยู่ในวัดวาอารามหรือพระสงฆ์ โยมคนนั้นก็ได้รับอรรถาธิบายจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ว่า วัดนั้นใครเล่าไปสร้างไห้มันเกิดขึ้น ก็คนนั้นแหละ พระสงฆ์ใครเล่าไปบวช ก็คนนั่นแหละบวชขึ้นมา ก็เป็นอัน ศาสนาอยู่ที่ตัวของเรา. ..

การที่เราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติศาสนา จึงเป็นสิ่งที่ตัวเราจะต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าไม่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือการละบาป บำเพ็ญบุญ เราจะต้องไปทำชั่วซึ่งผิดศีลธรรมก็ต้องถูกลงโทษให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคือละความชั่วประพฤติความดี ผลที่เกิดขึ้นก็คือความสุขสงบ และความหลุดพ้นจากทุกข์ในที่สุด นี้ก็คือการปฏิบัติพระพุทธศาสนาแล้วก็มีผล คือการปฏิบัติโดยการยกตัวของตนขึ้นจากหล่มหลุมแห่งวังวนวัฏสงสารเป็นต้น. .

ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกจับใจและมาเข้าใจว่า คนที่อยู่ในตำบลนอก ๆ ห่างไกล ก็ยังมีความรู้ซึ้งในพระพุทธศาสนาได้ก็นับว่ายังดีมาก แต่ก็เกิดขึ้นจากท่านผู้รู้ที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวโดยเข้าไปสอนให้รู้ธรรมได้

ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-03-01.htm

ใส่ความเห็น