Monthly Archives: ธันวาคม 2013

ธรรมเนียมการล้างกระดูก

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โธวนสูตร
[๑๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทักษิณาชนบท มีธรรมเนียมการล้างกระดูกแห่งญาติผู้ตายในธรรมเนียมการล้างกระดูกนั้น มีข้าวบ้าง น้ำบ้างของขบเคี้ยวบ้าง ของบริโภคบ้าง เครื่องลิ้มบ้าง เครื่องดื่มบ้าง การฟ้อนบ้างเพลงขับบ้าง การประโคมบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมเนียมการล้างนั้นมีอยู่เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ว่าการล้างนั้นแลเป็นของเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่เป็นของอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราจักแสดงการล้างอันเป็นของพระอริยะ ซึ่งเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความแก่ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความตาย ผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความโศก ความร่ำไรความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การล้างที่เป็นของพระอริยะ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากความเกิด … จากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจได้นั้น เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นชอบย่อมล้างความเห็นผิด ล้างอกุศลบาปธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้น เพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความดำริชอบ ย่อมล้างความดำริผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวาจาชอบ ย่อมล้างวาจาผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีการงานชอบ ย่อมล้างการงานผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ ย่อมล้างการเลี้ยงชีพผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความพยายามชอบ ย่อมล้างความพยายามผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความระลึกชอบ ย่อมล้างความระลึกผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความตั้งใจชอบ ย่อมล้างความตั้งใจผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความรู้ชอบ ย่อมล้างความรู้ผิด … ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความหลุดพ้นชอบ ย่อมล้างความหลุดพ้นผิดล้างอกุศล บาปธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะความหลุดพ้นผิดเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเป็นอันมาก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความหลุดพ้นชอบเป็นปัจจัย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การล้างที่เป็นของพระอริยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความแก่ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความตายผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจได้ ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๑๘๕

การอาบน้ำในพุทธศาสนา

[๙๘] ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ท่านพระโคดม จะเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกา เพื่อจะสรงสนานหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกาเล่า แม่น้ำพาหุกา จักทำประโยชน์อะไรได้. สุ. ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่ง ชนเป็นอันมาก พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไร ให้แก่ท่านได้.

สุนทริกพราหมณ์บรรลุพระอรหัตต์
[๙๙] ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใดพระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมผู้เจริญเถิด สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ท่านพระภารทวาชะครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนี้แล.

จบ วัตถูปมสูตรที่ ๗

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๕๐/๔๓๐

ผู้ไม่เสื่อมจากสัทธรรม

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หานิสูตร
[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก ๗ ประการเป็นไฉน คือ
อุบาสกขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑
ละเลยการฟังธรรม ๑
ไม่ศึกษาในอธิศีล ๑
ไม่มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง ๑
ตั้งจิตติเตียนคอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑
แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก ๗ ประการเป็นไฉน คือ
อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑
ไม่ละเลยการฟังธรรม ๑
ศึกษาในอธิศีล ๑
มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ทั้งปานกลาง ๑
ไม่ตั้งจิตติเตียน ไม่คอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑
ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก ฯ

อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน ละเลยการฟังอริยธรรม ไม่ศึกษาในอธิศีล มีความไม่เลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในภิกษุทั้งหลาย ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ และกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ อุบาสกนั้นซ่องเสพธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดงแล้ว ๗ ประการ นี้แล ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม อุบาสกใดไม่ขาดการเยี่ยม เยียนภิกษุผู้อบรมตน ไม่ละเลยการฟังอริยธรรม ศึกษาอยู่ในอธิศีล มีความเลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย ไม่ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม ไม่แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ และกระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ อุบาสกนั้นซ่องเสพธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดงดีแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม ฯ

จบสูตรที่ ๙

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๖

ผู้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑๒. ธรรมิกสูตร
[๓๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระธรรมิกะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอาวาส ๗ แห่ง ที่มีอยู่ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ทราบข่าวว่า ท่านพระธรรมิกะย่อมด่า บริภาษ เบียดเบียนทิ่มแทง เสียดสีซึ่งภิกษุทั้งหลายที่จรมาอาศัยด้วยวาจา และภิกษุผู้จรมาอาศัยเหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียนทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจาย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่าพวกเราได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็แต่ว่า พวกภิกษุที่จรมาอาศัยย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกภิกษุผู้จรมาอาศัยหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไปครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า ท่านพระธรรมิกะนี้แลย่อมด่าบริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุผู้จรมาอาศัยด้วยวาจา และพวกภิกษุที่จรมาอาศัยเหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษเบียดเบียน ทิ่มแทงเสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ท่านพระธรรมิกะให้หนีไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้ต่อไป ฯ

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้จากอาวาสนั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่าแม้ที่อาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ … ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสแม้นี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้ ฯ

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้จากอาวาสแม้นั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ในอาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ … ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ท่านพระธรรมิกะให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมดครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่และได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฯ

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า เราถูกพวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด บัดนี้ เราจะไปที่ไหนหนอ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ลำดับนั้น ท่านพระธรรมิกะถือบาตรและจีวรหลีกไปทางกรุงราชคฤห์ไปถึงกรุงราชคฤห์และภูเขาคิชฌกูฏโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เออ เธอมาจากที่ไหนหนอ ท่านพระธรรมิกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกพวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ ควรแล้ว จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยการอยู่ในชาติภูมิชนบทนี้ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้วมาในสำนักของเรา ฯ  ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าทางสมุทร จับนกที่ค้นหาฝั่งแล้วนำเรือออกเดินทางไปในสมุทร เมื่อเดินเรือไปยังไม่เห็นฝั่ง พ่อค้าเหล่านั้นจึงปล่อยนกที่ค้นหาฝั่ง มันบินไปทางทิศตะวันออก บินไปทางทิศตะวันตกบินไปทางทิศเหนือ บินไปทางทิศใต้ บินขึ้นสูง บินไปตามทิศน้อย ถ้ามันเห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็บินเข้าหาฝั่งไปเลยทีเดียว แต่ถ้ามันไม่เห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็กลับมาที่เรือนั้น ฉันใด ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้วมาในสำนักของเรา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะของพระเจ้าโกรัพยะมี ๕ กิ่ง ร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ ก็ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะมีปริมณฑลใหญ่สิบสองโยชน์ มีรากแผ่ไป ๕ โยชน์ มีผลใหญ่ เหมือนกะทะหุงข้าวสารได้หนึ่งอาฬหกะ ฉะนั้น มีผลอร่อยเหมือนรวงผึ้งเล็กซึ่งไม่มีโทษ ฉะนั้นก็พระราชากับพวกสนมย่อมทรงเสวยและบริโภคผลไทรชื่อสุปติฏฐะเฉพาะกิ่งหนึ่ง เหล่าทหารย่อมบริโภคเฉพาะกิ่งหนึ่ง ชาวนิคมชนบทย่อมบริโภคเฉพาะกิ่งหนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลายย่อมบริโภคเฉพาะกิ่งหนึ่ง เนื้อแหละนกย่อมกินกิ่งหนึ่งก็ใครๆ ย่อมไม่รักษาผลแห่งต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ และไม่มีใครๆทำอันตรายผลของกันและกัน ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งบริโภคผลแห่งต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ พอแก่ความต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะได้คิดว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ มนุษย์ใจบาปคนนี้ บริโภคผลของต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะพอแก่ความต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป ไฉนหนอ ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะไม่ได้ออกผลต่อไปพระเจ้าโกรัพยะ เสด็จเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่าขอเดชะ ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์พึงทรงทราบเถิดว่า ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะไม่ออกผลครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่แรงกล้าพัดโค่นต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ลำดับนั้นเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะมีทุกข์เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตายืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้เสด็จเข้าไปหาเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ แล้วตรัสถามว่า
ดูกรเทวดา เหตุไรหนอท่านจึงมีทุกข์ เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตา ยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ลมฝนที่แรงกล้าได้พัดมาโค่นที่อยู่ (ภพ) ของข้าพระองค์ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ดังที่เห็นอยู่นี้ พระเจ้าข้า ฯ
ส. ดูกรเทวดา ก็เมื่อท่านดำรงอยู่ในรุกขธรรมแล้ว (ธรรมที่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้จะต้องประพฤติ) ลมฝนที่แรงกล้า ได้พัดมาโค่นที่อยู่ของท่านล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบนได้อย่างไร ฯ
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างไร ฯ
ส. ดูกรเทวดา พวกชนที่ต้องการราก ย่อมนำรากต้นไม้ไป พวกชนผู้ต้องการเปลือก ย่อมนำเปลือกไป พวกชนผู้ต้องการใบย่อมนำใบไป พวกชนผู้ต้องการดอกย่อมนำดอกไป พวกชนผู้ต้องการผลย่อมนำผลไป ก็แต่เทวดาไม่พึงกระทำความเสียใจหรือความดีใจเพราะการกระทำนั้นๆ ดูกรเทวดา เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างนี้แล ฯ
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ไม่ดำรงอยู่ในรุกขธรรมเป็นแน่เทียว ลมฝนที่แรงกล้าจึงได้พัดมาโค่นที่อยู่ให้ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ฯ
ส. ดูกรเทวดา ถ้าว่าท่านพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรมไซร้ ที่อยู่ของท่านก็พึงมิเหมือนกาลก่อน ฯ
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรม ขอให้ที่อยู่ของข้าพระองค์พึงมีเหมือนกาลก่อนเถิด ฯ
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่แรงกล้าพัดต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ ให้กลับตั้งขึ้นดังเดิม ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะได้มีรากตั้งอยู่ดังเดิมฉันใด ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เออก็ พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่เธอผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่งในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านพระธรรมิกะทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมณะย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างไร ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ด่าตอบบุคคลผู้ด่า ไม่เสียดสีตอบบุคคลผู้เสียดสี ไม่ประหารตอบบุคคลผู้ประหาร ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างนี้แล ฯ
ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่ข้าพระองค์ผู้ไม่ดำรงอยู่ในสมณธรรมออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ  ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ก็สาวกเหล่าใดเมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ฯ
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อมูคปักขะ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่ออรเนมิ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อกุททาลกะ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ก็สาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใสสาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากหรือ ฯ
ธ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลายมีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษบุคคลผู้มีทิฐิสมบูรณ์คนเดียว ผู้นี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราหากล่าวการขุดโค่นคุณความดีของตนภายนอกศาสนานี้ เหมือนการด่าว่าบริภาษในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันนี้ไม่ ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ประทุษร้ายในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันของตน ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ ได้มีท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ชื่อมูคปักขะ ชื่ออรเนมิชื่อกุททาลกะ ชื่อหัตถิปาละ และได้มีพราหมณ์ปุโรหิตของพระราชาถึง ๗ พระองค์ เป็นเจ้าแห่งโค เป็นศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ ท่านศาสดาจารย์ผู้มียศเป็นผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าลัทธิในอดีต ท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาปคือ ความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์คลายกามราคะเสียได้ เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก สาวกของท่านเหล่านั้นแม้หลายร้อย ได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก นรชนใดมีความดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่าบริภาษท่านเหล่านั้น ผู้เป็นฤาษี ผู้เป็นนักบวชนอกศาสนา ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่นก็นรชนเช่นนั้นย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ส่วนนรชนใดมีความดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีทิฐิสมบูรณ์รูปเดียว นรชนผู้นี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์เหล่านั้น นรชนไม่พึงเสียดสีท่านผู้มีความดี ผู้ละทิฐิบุคคลใดเป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมถะและวิปัสสนาอ่อน บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม เราเรียกว่าเป็นบุคคลที่เจ็ด แห่งพระอริยสงฆ์  นรชนใดเบียดเบียน ทำร้ายบุคคลเช่นนั้นผู้เป็นภิกษุ ในกาลก่อน นรชนนั้นชื่อว่าทำร้ายตนเอง ย่อมบั่นรอนอรหัตผลในภายหลัง ส่วนนรชนใดย่อมรักษาตน นรชนนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตนที่เป็นส่วนภายนอก เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่ขุดโค่นคุณความดีของตน ชื่อว่าพึงรักษาตนทุกเมื่อ ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๓๓

ทุกคนต้องทำวิปัสสนาให้ถูกวิธี ผิดวิธีบ้าได้

นี่อาตมาได้รับคำถามว่าอายุเท่าไร? นี้มากที่สุด รำคาญที่สุดมาถามว่าอายุเท่าไหร่? นี่มันบ้า มันเสียเวลาเปล่า ๆ บางคนก็มาถามว่าวัดนี้มีพระเท่าไร? มันก็เสียเวลาเปล่า ๆ มันเรื่องอะไรของคนนั้น ที่จะรู้ว่าที่นี่มีพระเท่าไรเล่า? มันไม่ต้องถาม แล้วมีอะไรซอกแซก ๆ อย่างนี้เสียมาก จะเสียเวลา ปี ๆ หนึ่งไม่รู้เท่าไร ที่นั่งตอบคำถามว่าอายุเท่าไหร่? มีพระกี่องค์? เนื้อที่วัดนี้มีกี่ไร่? มันเรื่องบ้าทั้งเพ เพราะเรามันชอบถามชอบพูดแต่เรื่องที่มันไม่จำเป็น ไม่สมกับที่ว่ามันกำลังมีความทุกข์ แล้วก็พูดกันแต่เรื่องดับทุกข์สิ ถ้ามีความทุกข์อยู่อย่างไรที่คาราคาซังอยู่ในใจ ก็ถามเรื่องนั้น แล้วก็จะได้พูดกัน แล้วดับทุกข์ได้ หรือถ้าไม่รู้อะไรมาก่อน ก็ถามให้ตั้งต้นมาอย่างไร? จะดับทุกข์อย่างไร? นี้มันก็ได้เหมือนกัน นี่ไม่พยายามถามเรื่องที่มีอยู่จริง เรื่องที่ควรจะถามที่มีอยู่จริง

และที่มากไปกว่านั้น ก็คือจะถามว่า ที่นี่วัดนี้ทำวิปัสสนาไหม? นี่มันคือแสดงว่า คนนั้นไม่รู้ว่าวิปัสสนาที่แท้นั้นคืออะไร มันรู้แต่วิปัสสนาตามแบบของเขาเอง ทำพิธีรีตองทำท่าทำทางหลับหูหลับตาอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่เขาเห็น ๆ กัน เคยเห็นกันมา อาตมาก็เลยบอกเขาว่า ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าใคร ต้องทำวิปัสสนาทั้งนั้นแหละ ไม่ทำก็เป็นคนโง่ที่สุด จะอยู่ที่บ้านหรือจะอยู่ที่ไหนก็ตามใจ อยู่ที่วัดก็ตามใจ ทุกคนจะต้องทำวิปัสสนา คือการพิจารณาให้เห็นชัดว่าอะไร เป็นอะไร ๆ แล้วก็อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ นี้ยังมาถามว่า วัดนี้ทำวิปัสสนาไหม? คล้าย ๆ กับว่ายกเว้นให้บางวัดไม่ต้องทำวิปัสสนา แต่ความจริงนั้น คนที่มีชีวิตอยู่แล้ว จะทำทำวิปัสสนาทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นทุกข์ หรืออย่างน้อยมันก็เป็นโรคประสาท เป็นบ้า ถ้ามันไม่เห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งของชีวิตจิตใจเสียเลย ว่าจะตั้งไว้อย่างไร ดำรงไว้อย่างไรแล้ว มันจะเป็นบ้าหมดแหละ หรือมันจะเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ขอบอกให้รู้กันเสียเลยว่า ทุกคนไม่ยกเว้นเด็กผู้ใหญ่หญิงชายอะไร ต้องทำวิปัสสนา คือสอดส่องเข้าไปในชีวิตจิตใจของตน ให้รู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร? ความทุกข์ดับไปอย่างไร? เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ๆ ก็ขอให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร? ทำผิดอะไร? นั้นแหละคือวิปัสสนา วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง วิแปลว่าแจ้ง ปัสสนาแปลว่าเห็น วิปัสสนา แปลว่า การเห็นแจ้ง, การเห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ควรจะเห็น ก็คือเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์

ฉะนั้น ทุกคนควรจะเอาใจใส่คิดนึกสอดส่อง พิจารณาเรื่องความทุกข์และเรื่องความดับทุกข์ นั่นน่ะได้ชื่อว่าทำวิปัสสนา ทำไปตามมาก ตามน้อย ตามสติปัญญา เด็ก ๆ ก็ทำไปตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็ทำไปตามประสาผู้ใหญ่ อยู่ที่บ้านก็ทำไปตามประสาอยู่ที่บ้าน อยู่ที่วัดก็ทำไปตามประสาอยู่ที่วัด อยู่ในป่าก็ทำตามประสาที่อยู่ในป่า แต่ต้องทำให้ถูกวิธีทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าบ้านหรือวัดหรือป่า มันจะช่วยอะไรได้มากไปกว่า ว่าไม่ต้องทำให้ถูกวิธี มันต้องทำให้ถูกวิธี แม้จะอยู่ในป่า ถ้าทำไม่ถูกวิธีมันก็ไม่ได้ ไม่มีผลอะไร บางทีจะบ้าเร็วกว่าทำที่บ้าน ทำวิปัสสนาในป่า ถ้าทำผิดวิธี จะเป็นบ้าเร็วกว่าทำที่บ้านเสียอีก

นี่ขอให้รู้ความหมายของคำ รู้ความหมายของคำที่เรียกว่าหัวใจของพุทธศานา อยู่ตรงที่ทำความดับทุกข์ ทำความดับทุกข์ ดับลงไปที่ทุกข์ นั่นแหละหัวใจของพุทธศาสนา คือพูดพูดได้หลายอย่าง ตั้ง ๙ อย่าง ๑๐ อย่าง ล้วยแต่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วก็มาเถียงกัน ถ้ายึดถือตัวหนังสือก็ได้เถียงกันได้ชกปากกัน ครูกับลูกศิษย์ก็อาจจะชกปากกันได้ เพราะมันเหตุผลที่จะยืนยันด้วยกันทั้งนั้น ว่านี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา

แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างนี้ ก็มารวมกันอยู่ตรงที่ว่า ดับทุกข์ให้ได้ ดับทุกข์ให้ได้ ดำรงจิตตั้งจิตไว้ในลักษณะที่เกิดความทุกข์ไม่ได้ หรือทำให้มันเต็มอยู่ด้วยสิตปัญญา
สติ คือความรวดเร็วในการที่จะรู้สึกคิดนึก
ปัญญา คือ ความรอบรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
เอาความรอบรู้ว่าอะไรเป็นอะไรนี้มาทันท่วงทีที่อารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เราจึงสรุปคำพูดได้อีกประโยคหนึ่งว่า การรู้จักควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ นั่นแหละหัวใจ ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ทำผิดจนเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ นั่นแหละหัวใจ หัวใจของเรื่อง นี่จะต้องรู้จักหัวใจของพระพุทธศาสนา

พุทธทาสภิกขุ
คู่มือพุทธศาสนา

พุทธวิธีควบคุมความคิด

null

พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีควบคุมความคิด ให้อยู่ในอำนาจใจไว้ว่า ถ้ามีสติรู้ว่ากำลังคิดในเรื่องไม่ควรคิด ซึ่งเมื่อกำลังพูดถึงการแก้โทสะ ก็หมายความได้ถึงเรื่องที่จะทำให้โทสะเกิด หรือเกิดอยู่แล้วแต่น้อยให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีสติรู้ว่ากำลังคิดเช่นนั้น ให้เปลี่ยนเรื่องคิดเสีย เช่น กำลังคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ก. กำลังเกิดโทสะเกี่ยวกับนาย ก. ก็ให้เปลี่ยนเป็นคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ข. เสีย โทสะที่กำลังจะเกิดเกี่ยวกับนาย ก. ก็จะดับไป

แต่ถ้าเปลี่ยนเรื่องคิดเช่นนั้น ก็ยังคอยแต่จะย้อนกลับไปคิดเรื่องเก่าที่ก่อให้เกิดโทสะอยู่นั่นเอง ท่านให้พิจารณาโทษของความคิดเช่นนั้น คือ พิจารณาให้เห็นว่า การคิดเช่นนั้นทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่คิดเช่นนั้นแล้วจะสบาย ตนเองได้ประโยชน์จากความสบายนั้น แม้พิจารณาโทษของความคิดที่ไม่ดีนั้นแล้ว ก็ยังไม่อาจยับยั้งความคิดนั้นให้สงบลงได้ ท่านก็ให้ไม่ใส่ใจเรื่องนั้น คือ พยายามไม่สนใจเสียเลย พยายามลืมเสียเลย แต่ถ้าไม่สำเร็จอีก ลืมไม่ได้อีก คือยังใส่ใจอยู่อีก ท่านให้ใช้ความใคร่ครวญ พิจารณาหาเหตุผลว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น ขณะที่คิดหาเหตุผลอยู่นี้ ความโกรธจะลดระดับความรุนแรงลง

ท่านเปรียบเหมือนคนกำลังวิ่งเร็วก็จะเปลี่ยนวิ่งช้า กำลังวิ่งช้าก็จะเปลี่ยนเป็นเดิน กำลังเดินก็จะเปลี่ยนเป็นยืน กำลังยืนก็จะเปลี่ยนเป็นนั่ง และกำลังนั่งก็จะเปลี่ยนเป็นลงนอน ถ้าทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ผล ความคิดเดิมยังไม่หยุดท่านให้ใช้ฟันกัดฟันให้แน่น เอาลิ้นกดเพดานไว้ เช่นนี้ความคิดจะหยุด เมื่อแก้ไขความคิดที่จะนำไปสู่ความมีโทสะได้สำเร็จ คือเลิกคิดในทางที่จะทำให้เกิดโทสะได้ ก็เท่ากับไม่เพิ่มเชื้อแก่ไฟโทสะ ไฟโทสะก็จะเย็นลง และหากบังคับความคิดเสมอๆ จนเคยชิน ให้ไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะลดลง ทำให้ความร้อนในจิตใจเบาบางลง มีความเยือกเย็นเกิดขึ้นแทนที่นั้นแหละจะมีความสุข ทั้งตัวเองและทั้งผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดด้วยทั้งหลาย นับเป็นผลอันน่าปรารถนาที่เกิดจาการบริหารจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

วิธีที่หนึ่ง:เปลี่ยนความคิด

จะอธิบายในข้อที่ว่า เมื่อโทสะเกิด ให้ใช้สติความระลึกพร้อมทั้งความรู้ตัว กับใช้ปัญญา ความรู้สำหรับพิจารณาให้รู้ความคิดของตน ว่ามีอะไรเป็นนิมิต คือเครื่องหมายกำหนดหรือเรื่องที่กำหนดคิด คำว่านิมิตนี้ใช้ในความหมายหลายอย่าง เป็นวัตถุก็มีเป็นเรื่องจิตใจก็มี เป็นวัตถุก็เช่นลูกนิมิตที่ฝังเป็นเครื่องหมายเมื่อผูกพัทธสีมาในโบสถ์ เป็นเรื่องจิตใจก็ฝังอยู่ในจิตใจ สำหรับจิตกำหนดหมาย คืออารมณ์ที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นรูปเป็นเสียง แล้วมาฝังอยู่เป็นนิมิตในใจ เหมือนนิมิตโบสถ์

ให้รู้นิมิตหรืออารมณ์ที่ฝังในใจตนว่าเป็นเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องทำให้เกิดฉันทะ ความพอใจรักใคร่ โทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะ ความหลง ให้รู้ว่าเป็นอกุศลนิมิต คือลูกนิมิตในใจที่เป็นอกุศล เช่น มีโทสะก็หมือนมีลิ่มสลักปักอยู่ในใจ สมมติตนเป็นช่างไม้ เมื่อต้องการถอนสลักที่ปักใจอยู่ ก็ต้องเอาสลักอีกอันมาตอกถอนเอาออก คือต้องหาอารมณ์อย่างอื่นที่จะไม่นำให้เกิดโทสะมาเป็นนิมิตขึ้นในใจ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องตั้งใจคิดถึงเรื่องอื่นให้แรง เรื่องที่คิดอยู่เกิดอันเป็นเหตุให้เกิดโทสะจะดับได้เมื่อคิดเรื่องใหม่แรงพอ เมื่อเรื่องที่คิดดับ อารมณ์อันเกิดจากเรื่องที่คิดนั้นก็จะดับด้วย คือโทสะดับนั่นเอง วิธีดับโทสะด้วยการเปลี่ยนนิมิต หรือเปลี่ยนเรื่องได้ผลแน่ แต่ก็เป็นการได้ผลชั่วระยะ คือชั่วระยะที่ใจยังไม่คิดเรื่องที่จะนให้เกิดโทสะ ถ้าใจคิดถึงเรื่องใดก็ตามที่จะนำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะกลับเกิดได้อีกเพราะวิธีดับชนิดนี้ เป็นวิธีระงับมิใช่เป็นวิธีรักษาให้หายขาด

วิธีแก้กิเลสทุกประเภทรวมทั้งโทสะ ให้ลดน้อยถึงให้หายขาดไปได้นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้เหตุผล คือใช้ปัญญา พิจารณาลงไปเป็นเรื่องๆ ว่าอะไรเป็นอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้น ควรปล่อยให้เกิดอยู่ต่อไป หรือควรแก้ไขอย่างไร ควรปล่อยวางอย่างไร พิจารณาด้วยปัญญาดังกล่าวนี้ในเรื่องใดก็ตาม หากทำให้เรื่องนั้นคลี่คลายลงได้ เช่น กำลังเกิดโทสะในเรื่องใดอยู่ ทำให้หายได้ด้วยเห็นตามปัญญาพิจารณา โทสะในเรื่องนั้นจะไม่กลับมาเกิดอีก เรียกว่าใช้ปัญญาถอนรากถอนโคนให้เด็ดขาดไป

ตัวอย่างในกรณีที่เป็นคนงานที่มีผู้ร่วมงานหลายคนต้องเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างใกล้ชิด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องทำอะไรไม่ถูกใจกันบ้าง คนโทสะแรงจะหาความสุขได้ยากในที่ทำงานนั้น เพราะจะต้องเกิดโทโสอยู่เสมอ คนนั้นทำงานไม่ดีพอ คนนี้ทำได้ไม่ถูกใจ หรือไม่ก็คนนั้นมีความสามารถน้อยจนทำอะไรแล้วได้ผลออกมาเป็นการยั่วโทสะ รวมความแล้วก็คือ ไม่ว่าใครทำอะไรก็ต้องเกิดโทโสเป็นส่วนมาก

ที่จริงก็อาจเป็นจริงดังนั้น คือบางคนอาจจะทำงานได้ไม่ดีพอ หรือมีความสามารถไม่เพียงพอ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องทำงานนั้น ผู้ใดจำเป็นต้องร่วมงานด้วย ก็ต้องร่วมงานไป และถ้าหากจะยอมเกิดโทโสเพราะผู้ร่วมงานอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นการบกพร่องของตนเองมิใช่ของผู้ร่วมงานอื่น เพื่อแก้โทสะที่เกิดในกรณีนี้ให้ลดลงหรือหมดไป ไม่ใช่ปล่อยให้ดับไปเป็นครั้งคราว ต้องใช้ปัญญาหาเหตุผล เช่นหาเหตุผลมาอธิบายให้ตัวเองเข้าใจและเห็นใจว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น

ถ้ามีความตั้งใจจริงว่าจะต้องหาเหตุผลมาช่วยตัวเองให้เลิกเกิดโทโสเพราะเขาให้ได้ ก็จะต้องหาเหตุผลได้ เหตุผลที่จะทำให้คนเจ้าโทโสนที่ต้องการจะแก้ไขตนเองจริงๆ ได้รับความสำเร็จมีอยู่มากมาย ในกรณีดังตัวอย่างข้างต้นก็เช่น ให้คิดว่าคนเราเกิดมาไม่เสมอกัน สติปัญญาก็ไม่เท่ากัน ความคิดเห็นก็แตกต่างกัน เขาทำได้เช่นนั้นก็คงสุดความสามารถของเขาแล้ว เขาเห็นว่าดีแล้ว เขาไม่ได้แกล้ง

เขาทำด้วยความตั้งใจดี ผลที่ไม่ถูกใจเรานั้นมิได้เกิดจากเจตนาของเขาเลยสักครั้งเดียว เราจะไปเกิดโทโสให้ร้อนแก่ตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลสมควรทำไม ใจหนึ่งอาจจะแย้งว่า ก็มันยั่วโทโสที่ทำงานเช่นนั้น ใช้ไม่ได้เลย อาจจะแก้ว่า เกิดโทโสแล้วผลงานที่เขาทำดีขึ้นหรือถูกใจหรือ สบายใจขึ้นหรือ ถ้าเกิดโทโสแล้วผลงานของเขาเคยอย่างไรก็อย่างนั้นไม่ดีขึ้น ไม่ถูกใจขึ้น ยังร้อนใจเพราะอำนาจโทสะอีกด้วย เช่นนี้แล้วโทสะช่วยอะไรได้

ใจหนึ่งอาจจะเถียงอย่างดื้อดึงว่า ช่วยไม่ได้ก็ช่าง จะต้องโกรธ อยากทำอย่างนั้นให้ยั่วโทสะทำไม อาจจะตอบว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะยั่วโทสะ เขาอาจจะตั้งใจเอาใจเสียด้วยซ้ำ
ทำไมเขาจึงจะมาตั้งใจทำงานซึ่งแสดงความสามารถของเขาให้เสียหายไป เขาทำได้เพียงเท่านั้นจริงๆ ให้หาเหตุผลโต้แย้งใจฝ่ายที่คอยจะเข้าข้างโทสะไปเรื่อยๆ ฝ่ายเข้าข้างโทสะแย้งอย่างไร ให้หาเหตุผลมาแก้อย่ายอมจำนน

มีเหตุผลเพียงไร ให้ยกมาแสดงตอบโต้จนฝ่ายเข้าข้างโทสะพ่ายแพ้ นั่นแหละโทสะจะไม่กลับเกิดขึ้นในกรณีนี้อีก จะขาดหายไปได้จริงๆ อย่างแน่นอนเด็ดขาด เกี่ยวกับโทสะที่เกิดในกรณีอื่นทุกกรณี ก็แก้ได้ทำนองเดียวกันนี้ คือให้หาเหตุผลแย้งอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนฝ่ายเข้าข้างโทสะจำนน โทสะก็จะดับ และจะเป็นการดับสนิทไปทุกกรณีที่นำมาพิจารณาเหตุผลตอบโต้ขัดแย้งกันดังกล่าว

สามัญชนทุกคนมีโทสะ มีเรื่องที่ทำให้เกิดโทสะกันเป็นประจำ ถ้าต้องการแก้ไขก็จะทำให้สำเร็จด้วยการตอบโต้ฝ่ายเข้าข้างโทสะอย่างไม่ยอมเป็นฝ่ายแพ้ ต้องให้ฝ่ายเข้าข้างโทสะแพ้ให้ได้ โทสะจึงจะดับอย่างไม่กลับเกิดขึ้นอีกเลยในแต่ละเรื่องนั้น ความเย็นใจก็จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกับที่โทสะแต่ละกรณีหมดไป

วิธีที่สอง : พิจารณาโทษของความคิด

การจะควบคุมความคิดไม่ให้เป็นเหตุให้เกิดโทสะ มีวิธีอยู่ว่า ให้พิจารณาโทษของความคิด ให้เห็นว่าความคิดที่นำให้เกิดโทสะนั้นมีโทษอย่างไร เมื่อพิจารณาจนเห็นโทษของความคิดเช่นนั้นชัดเจน ใจก็จะสลัดความคิดนั้นทิ้ง ท่านเปรียบเหมือนหนุ่มสาวที่กำลังรักสวยรักงาม ยินดีพอใจประดับตกแต่งร่างกายด้วยอารภรณ์อันงาม เมื่อซากอสุภเน่าเหม็นไปคล้องคออยู่ ก็ย่อมสลัดทิ้งเสียทันทีด้วยความรังเกียจ

อันที่จริงแม้จับพิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่า ความคิดที่จะนำให้เกิดโทสะนั้นมีโทษมากมายต่างๆ กัน ทั้งโทษหนักและโทษเบา ความคิดที่จะนำให้เกิดโทสะ จะเรียกอย่างง่ายๆ ก็คือการคิดไปคิดมาจนโกรธนั่นแหละ คิดไปคิดมาจนโกรธแล้วมีโทษอย่างไรบ้าง พิจารณาตรงนี้ ทุกคนเคยคิดไปคิดมาจนโกรธมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น และทุกคนก็คงเคยได้รับโทษเพราะการคิดไปคิดมาจนบันดาลโทสะหรือเกิดความโกรธมาด้วยกันแล้วมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี

การตีรันฟันแทงที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ มีสาเหตุมาจากความคิดที่นำให้เกิดโทสะมากกว่าอย่างอื่น ตัวอย่างเช่นเห็นคนหนึ่งมองหน้า ใจก็คิดไปว่า มองเพราะดูถูก เพราะจะท้าทาย เพราะเห็นตนอ่อนแอ ขลาด ถ้าโทสะไม่ทันเกิดรุนแรงในขณะนั้น แยกทางกันมาแล้วกลับมาคิดถึงต่อไปอีก ยิ่งคิดก็ยิ่งอารมณ์ร้อนขึ้นทุกทีจนถึงจุดที่เรียกว่าเกิดโทสะ เลยไปถึงต้องแสดงออกเพื่อให้เป็นการกระทำทางกาย

ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดเรื่องร้ายขึ้น โทษเกิดขึ้น คือเมื่อปล่อยให้โทสะเกิดขึ้นเต็มที่เพราะความคิด ความคิดเกิดจากโทสะอีกต่อหนึ่งก็จะพาให้กระทำกรรมต่างๆ เช่น ทะเลาะกับเขาเป็นอย่างเบา หรือชกต่อยทุบตี จนถึงฆ่าฟันกัน แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะบาดเจ็บหรือถึงตายไปก็ตาม ฝ่ายที่ปล่อยให้ความคิดดำเนินไปจนเกิดการบันดาลโทสะเช่นนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับโทษ จะต้องได้รับโทษเหมือนกัน ทั้งโทษอันเป็นอาญาของบ้านเมือง และโทษที่เกิดขึ้นในจิตใจตนเอง เพราะแน่ละเมื่อก่อเรื่องร้ายแรงเช่นนั้นให้เกิดขึ้นแล้ว ผู้ก่อจะต้องเดือดร้อนทั้งใจด้วย มิใช่เดือดร้อนเพียงกายเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นหาได้เดือดร้อนแต่ลำพังตนเองไม่ ผู้เกี่ยวข้องเป็นมารดาบิดาญาติพี่น้องทั้งหลายย่อมต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย

แต่ถ้าหากพิจารณาความคิดของตนเสียแต่เริ่มแรก ทำสติให้รู้เสียแต่ต้นว่า ความคิดเช่นนั้นแม้ปล่อยให้ดำเนินต่อไป ผลร้ายคือโทษจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ก็อาจทำให้เลิกคิดอย่างนั้นได้ แต่การมีสติพยายามยับยั้งความคิดเช่นนั้นอาจจะไม่เกิดผลทันที คือบางทีพอเริ่มจะเกิด จะห้ามให้หยุดคิดทันทีไม่ได้ แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ รักษาสติไว้ พยายามใช้สติต่อไป จะได้ผลในจุดหนึ่งก่อนที่จะทันเกิดโทษ เช่น ความคิดดำเนินไปจนถึงที่ว่าจะต้องไปฆ่าผู้ที่เป็นต้นเหตุเสีย สติจะชี้ให้เห็นโทษว่าฆ่าเขาตายเราก็เหมือนตายด้วย เพราะอาญาบ้านเมืองที่จะลงโทษผู้ร้ายฆ่าคนตายนั้นรุนแรง

การต้องเข้าไปถูกจองจำอยู่ในคุกในตะรางนั้นน่ากลัว ไม่ใช่น่าสนุก ชื่อเสียงเกียรติยศจะหมดสิ้น จะดูหน้าผู้คนได้อย่างไร เมื่อพ้นโทษแล้วจะอยู่อย่างไร มีพ่อแม่พี่น้องลูกหลานก็จะต้องมาพลอยได้รับโทษเพราะการกระทำของตนด้วย คิดลงไปให้ลึกลงไป ให้เห็นชัดเข้าไปเห็นภาพความทุกข์ร้อน น่ากลัว น่ารังเกียจ ที่จะเป็นผลของสิ่งที่คิดจะทำแล้วความคิดนั้นจะหลุดพ้นจากใจ เหมือนคนหนุ่มสาวผู้รักสวยรังามสลัดซากอสุภส่งกลิ่นเน่าเหม็นให้พ้นจากคอตนฉะนั้น ยังมีตัวอย่างของการพิจารณาให้เห็นโทษของความคิดอันจะนำให้เกิดโทษอีกมากมาย จะพิจารณาย้อนไปดูเรื่องราวที่เกิดกับตนเอง หรือกับผู้อื่นแล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาแต่เรื่องเฉพาะหน้า

ที่จริงผู้ฝึกพิจารณาย้อนหลังไว้เสมอ เมื่อเกิดเรื่องเฉพาะหน้าจะมีความสามารถในการพิจารณาได้รวดเร็วกว่าผู้ไม่เคยฝึกพิจารณามาก่อนเลย จึงควรอย่างยิ่งที่ผู้ต้องการจะควบคุมความคิดไม่ให้นำไปสู่ความเดือดร้อนเพราะการบันดาลโทสะ จะต้องฝึกพิจารณาโทษของความคิดที่ตนผ่านมาแล้วไว้ให้เสมอ จนแลเห็นถนัดชัดเจน และจนแลเห็นได้รวดเร็วทันเวลา ไม่สายเกิดจนไปจนต้องได้รับโทษเพราะโทสะที่เกิดจากความคิดเสียก่อน

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
http://www.baanjomyut.com

น้ำมนต์เป็นติรัจฉานวิชา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๑๒๐] ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกัน บ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธี บวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยา ถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตาปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผลแม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๕๙

เมื่อผมไปเที่ยวนรกสวรรค์

Image

สำนักวัดทองแอ๋ของผม เคยเป็นสำนักวิปัสสนาที่มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาก่อน สมภารหลายรูป โดยเฉพาะ เจ้าคุณกสิณสังวร มีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนามาก เรียกว่าเป็นเกจิอาจารย์ขลังว่างั้นเถอะ ขนาดเจ้าสัวศิษย์ไปค้าขายทางทะเล เรือแตกจะอับปาง ท่านรู้ด้วยญาณ สั่งให้พระสงฆ์ที่นั่งสวดมนต์ทำวัตรอยู่ ช่วยกันอุดเรือ บอกพลางท่านก็ม้วนสังฆาฏิเป็นก้อนกลมๆ ทำคล้ายอุดช่องอะไรสักอย่าง พลางพูดว่า “เออ ค่อยยังชั่ว พ้นแล้วๆ”

พระลูกวัดตาค้างไปตามๆ กัน ไม่รู้ว่าสมภารท่านทำอะไร ทุกอย่างมาแจ่มแจ้งเมื่อเจ้าสัวลูกศิษย์กลับมาแล้ว นี้คือสาเหตุว่าทำไมวัดทองแอ๋ของผมจึงมี “สำเภา” เก่าแก่ไว้ที่ลานวัด เจ้าสัวแกสร้างไว้เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนั้น เรื่องนี้เล่าไว้ในที่อื่นแล้ว ไม่ขอฉายหนังซ้ำ

หลังจากยุควิปัสสนาก็เสื่อมโทรมมาระยะหนึ่ง พระสงฆ์ไม่ค่อยสนใจปฏิบัติธรรม ทั้งการปริยัติธรรมก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจ พวกบวชมาก็มีแต่หลวงตา บวชเพื่ออาศัยพระศาสนามากกว่าให้พระศาสนาอาศัย บ้างก็ตั้งตัวเป็นนักเลง สวดตลกคะนอง สมัยนั้นเป็นที่แพร่หลายกันทั่วไป จะว่าไปแล้วไม่ใช่เฉพาะที่วัดทองนพคุณของผม

นัยว่ายาดองนกเขาคู่ ตำรับนายนรินทร์ กลึง มีแพร่หลายกันทั่วไป พระเจ้าท่านก็รินใส่กาน้ำชา สวดศพไปฉันไป จากเสียงที่ไพเราะตอนต้นๆ กลายเป็นสวดทำนองลิ้นไก่สั้นไปในที่สุด เพราะล่อ เอ๊ย ฉันน้ำชานกเขาคู่หนักไปหน่อย

บ้างก็บำเพ็ญตนเป็นพระนักเลง ใครพูดไม่ถูกหูก็ดักตีศีรษะก็มี มีเจ้ากูหัวไม้กันหลายรูป สมญาวัดภาษาจีนว่า “วัดทองเอ๋” (เอ๋ แปลว่า ล่าง) ก็กลายเป็น “วัดทองแอ๋” มาแต่บัดนั้น

ผมมันพวก ท.ป.ล. “ไทยปนลาว” ไม่รู้ภาษาจีนดอก หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์เล่าให้ฟัง เมื่อระดับครูบาอาจารย์ที่มีเชื้อจีนเล่าให้ฟัง ก็แน่ใจว่าไม่ผิด หน้าที่ของศิษย์ที่ดีก็คือจำมาขยายต่อเป็นวิทยาทาน ว่างั้นเถอะ !

เข้าใจว่าพระหลวงตาที่ตั้งก๊กตั้งเหล่าก็คงตั้งกันไป แต่พระที่ท่านตั้งใจปฏิบัติกิจพระศาสนา สร้างชื่อเสียงให้แก่วัดก็มี พระที่มีฝีมือทางช่างเลื่องลือมากก็มี เช่น ท่านเจ้าคุณกสิณสังวร ผู้เขียนจิตรกรรมผนังโบสถ์อันลือเลื่อง นัยว่าเป็นศิษย์ร่วมสำนักขรัวอินโข่ง

บรรยากาศคงเป็นไปในรูปนี้กระมังครับ พระที่เป็นนักเลงตั้งก๊กตั้งเหล่าก็ทำไป ส่วนท่านที่ใฝ่ใจปฏิบัติการพระศาสนาก็ทำไป พระที่สนใจในการช่าง ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างปูน กระทั่งเลี้ยงกล้วยไม้ เลี้ยงนกเขาก็ว่ากันไปตามถนัด ว่าไปทำไมมี เมื่อผมมาอยู่ใหม่ๆ ชานกุฏิคณะ 3 ที่หลวงพ่อผมและท่านเจ้าคุณภัทรอยู่นั้น เต็มไปด้วยกล้วยไม้พันธุ์ดีๆ หลายกระถาง ถามไถ่ได้ความว่า หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ท่านเลี้ยงไว้แก้เซ็ง สมัยท่านเป็นโรค “ประสาท” ตอนผมมาอยู่ใหม่ๆ นั้น ท่านกำลังจะเลิกหมดแล้ว

สมัยผมเป็นเณรมาอยู่วัดนี้ ก็เป็นปลายสมัยนักเลงหัวไม้ สิ้นสุดอิทธิพลแล้ว ด้วยบารมีของ “หลวงพ่อใหญ่” ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) ส่งมาครองวัด ตั้งแต่สมัยท่านใหญ่เป็นพระครูสังฆรักษ์ของสมเด็จฯ อาศัยความเก่งกาจในด้านบริหาร ท่านใหญ่สามารถปราบก๊กต่างๆ หมดสิ้น เหลือเพียงก๊กเดียว

คือ “ก๊กท่านใหญ่” ว่าอย่างนั้นเถิด

ในยุคเปลี่ยนผ่านนี้ ผมยังได้สัมผัสกับก๊กอีกแบบหนึ่ง คือ ก๊กพระสวดศพ คราวนี้ไม่ใช่ก๊กพระนักเลง แต่เป็นกลุ่มพระที่จับมือกันสวดสังคหะ เป็นกลุ่มที่ผูกขาดในเรื่องการสวดศพ มีชื่อเรียกตามลำดับว่า “หน้าสังฆ์ หลังส่ง” หรือ “ส่งหลัง สังฆ์หน้า” (คือขึ้นต้นด้วยพระครูสังฆรักษ์ และลงท้ายด้วย พระบุญส่ง)

ก่อนยุคหน้าสังฆ์หลังส่ง หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์เล่าให้ฟังว่า มีกลุ่ม “เสริม เสียน เรียน ราญ” (ชื่อเต็มว่าอย่างไร มาไม่ทัน จำไม่ได้) แสดงว่า กิจการเผาศพนี้ตกอยู่ในมือของพระบางกลุ่ม ผูกขาดผลประโยชน์ในกลุ่มของตนเท่านั้น คงเป็นธรรมดาในวัดทั่วไปกระมัง

ยุคท่านใหญ่นี้ ท่านเน้นการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลัก โดยคหปตานีคู่บุญของวัดคือ ท่านล้อม เหมะชะญาติ อุปถัมภ์ นิมนต์พระมหาเปรียญมาช่วยสอน เช่น พระมหาป่วน (ต่อมาคือหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์) พระเณรก็ใส่ใจศึกษาภาษาบาลีกันมากขึ้น ช่วงแรกๆ ไม่ค่อยมีครูสอน ก็ข้ามน้ำไปเรียนยังสำนักวัดเทพศิรินทร์บ้าง สำนักอื่นบ้าง ดังพระมหาอิ๋น ภทฺรมุนี (ต่อมาเจ้าคุณพระภัทรมุนี) ก็เป็นศิษย์วัดนี้ จนสอบได้เปรียญ 9 ประโยค แต่เมื่อสอบได้แล้วก็มิได้เปิดสอนพระเณร เนื่องจากท่านมีชื่อเสียงทางโหราศาสตร์ เป็นโหรดังเสียแล้ว เลยไม่มีเวลา

จนกระทั่งพระมหากี มารชิโน (พระธรรมเจดีย์) สอบได้เปรียญ 9 ประโยคนั่นแหละ ท่านได้เปิดสอนบาลีอย่างเอาเป็นเอาตาย เรียกอย่างนั้นเลย เพราะท่านอุทิศชีวิต อุทิศวันเวลาตั้งแต่เช้ายันค่ำ ยันดึก ให้แก่การสอนบาลีชั้นสูง ตั้งแต่เปรียญ 5-9 ประโยค สอนรูปเดียวจริงๆ ไม่มีใครช่วย วันๆ ท่านก็สอนๆ วันละสามสี่ชั้น งดกิจนิมนต์อื่นๆ หมด สอนหนังสืออย่างเดียว

เริ่มจากตั้งโต๊ะเรียนที่กุฏิคณะ 3 เรียนกันสี่ห้ารูป แล้วก็ขยายเป็นสิบ ยี่สิบ ส่งเข้าสอบ ปรากฏว่าสอบได้เกือบทั้งหมด ทำให้ชื่อเสียงว่าเป็นครูอาจารย์ที่มีฝีมือในการสอนเป็นเลิศ เพียงสองสามปีชื่อเสียงก็กระฉ่อนไปทั่วราชอาณาจักร มีพระเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนบาลีกันมากมาย ผมมาในยุคที่การเรียนบาลีรุ่งเรืองแล้ว ได้รู้จักกับพระลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ตั้งแต่รุ่นแรกเป็นต้นมา ศิษย์เปรียญเก้ารุ่นแรก บ้างก็สึกหาลาเพศ บ้างก็ครองสมณเพศสืบมา เจริญก้าวหน้าในยศศักดิ์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ระดับมหาเถรสมาคม เป็นสมเด็จพระราชาคณะหลายรูป มรณภาพไปแล้วก็หลายรูป

ตั้งใจจะปูแบ๊คกราวด์สั้นๆ แต่ยังไม่เข้าเรื่องก็จะหมดหน้ากระดาษแล้ว (ฮา) ขอเข้าเรื่องก็แล้วกัน วันหนึ่ง ท่านขุนอาณัตินาวาการ มาถามว่า มีพระรูปใดอยากเรียนกรรมฐานบ้าง ท่านจะสอนให้ ผมเห็นว่าเข้าทีดี เรามัวแต่แปลบาลี อยากมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติธรรมบ้าง จึงกราบเรียนขออนุญาตหลวงพ่อ เมื่อได้รับอนุญาตก็ชักชวนพระใหม่อื่นๆ มาฝึกกรรมฐานด้วย โชคดีที่ผมสามารถชักชวนหลวงพ่อเจ้าคุณปริยัติฯ มาฝึกด้วย

Image

ท่านขุนก็พาเราไปนั่งในห้องพระ ปิดประตูหน้าต่าง เปิดเพียงพัดลม ดับไฟ จุดเทียนหน้าพระพุทธรูป แสงเทียนสะท้อนสีเหลืองอร่ามของพระพุทธรูปสวยงามมาก ให้พวกเรานั่งขัดสมาธิ หลับตาสักพัก แล้วให้ลืมต้องจ้องพระพุทธรูป แล้วให้หลับตา ลืม-จ้อง-หลับตา อย่างนี้สักระยะหนึ่ง พลางกล่าวนำด้วยเสียงเบาๆ แต่มีพลังมาก สั่งให้จ้องพระจนแน่ใจว่าจำได้แล้ว คราวนี้ให้หลับตาโดยไม่ลืมอีกต่อไป

ผมทำตามท่านขุนบอก ภาพพระพุทธรูปสีเหลืองอร่ามปรากฏต่อหน้าไม่หายไปไหนเลย เสียงท่านขุนว่า “เห็นชัดหรือยัง” เราก็บอกว่าชัดแล้ว “อ้าว คราวนี้ให้ขยายให้ใหญ่ขึ้น…ย่อให้เล็กลง…อัญเชิญมาประดิษฐานบนบ่า ซ้าย…ย้ายไปบ่าขวา…แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานเหนือสะดือสองนิ้ว…” ท่านจะสั่งอย่างนี้ด้วยเสียงเนิบๆ ประหนึ่งแว่วมาจากที่ไกล เมื่อพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็สั่งให้ถอนออกจากสมาธิ

พวกเรา “อิน” กับประสบการณ์ทางจิต ที่นำโดยคุณหลวง หารู้ไม่ว่านั่นคือการฝึกกรรมฐานแบบ “กึ่งสะกดจิต” วันดีคืนดีคุณหลวงท่านก็พาไปนรก-สวรรค์ อ้อ ก่อนไปนรก-สวรรค์ ท่านพาไปสนามหลวงก่อน ท่านให้ดูพระเครื่ององค์หนึ่งที่ท่านเช่ามาว่าแท้หรือไม่ (โดยอธิบายว่าถ้าแท้จะมีรังสีออกมา) วันนั้นเราไปสนามหลวงตามคำสั่งของครู พอท่านถามว่า “ถึงยัง” ภาพสนามหลวงก็ปรากฏดังกับไปด้วยตัวเอง พอศิษย์ร้องพร้อมกันว่า “ถึงแล้ว” เท่านั้น ภาพแผงพระวางเรียงราย บ้างก็แบกะดินบนทางเท้าที่ทอดยาวไปยังท่าพระจันทร์

เห็นคุณหลวงเดินไปหยิบพระเครื่ององค์หนึ่งขึ้นมา แล้วก็ควักเงินให้คนขาย เสียงถามแว่วมาว่า “เห็นพระหรือยัง” ใครคนหนึ่งตอบว่า เห็นแล้ว “มีรัศมีไหม” พระรูปเดียวตอบว่า มี “อ้าว ถ้าเช่นนั้นถอนจิตออกมาได้” แล้วภาพสนามหลวงก็หายวับไป

พระใหม่รูปหนึ่งกลับช้ากว่าคนอื่น ถามคุณหลวงว่า “พระองค์นี้สามสิบบาทใช่ไหม” คุณหลวงว่า ไม่ใช่ ผมเช่ามาห้าสิบบาท พระรูปนั้นกล่าวว่า “เอ๊ะ อาตมาได้ยินคุณหลวงพูดว่า สามสิบนะ สามสิบ” คุณหลงรับว่า ใช่ ท่านพูดเช่นนั้น แต่คนขายเขาไม่ยอม

วันหลังเราก็ไปนรก-สวรรค์ตามคำชวนของคุณหลวง ภาพ นรก ภาพสวรรค์ ปรากฏจริงตามที่เรารับทราบจากคัมภีร์พระศาสนาไม่ผิดเพี้ยน สัตว์นรกถูกทรมาน บ้างก็ถูกกรอกปากด้วยน้ำทองแดง บ้างก็ถูกยมบาลไล่ให้ปีนต้นงิ้วอย่างน่าขนลุกขนพอง จะว่าฝันก็มิใช่ เพราะเราทั้งหมดก็รู้ตัวว่ากำลังนั่งเข้าสมาธิอยู่

พูดตามตรง ผมรู้สึกประทับใจในประสบการณ์ทางจิตที่ไม่เคยประสบมาก่อน เรียกว่า “ติด” ก็ไม่ผิด ว่างเมื่อไรก็นั่งเข้าสมาธิตามแบบคุณหลวง ท่องเที่ยวนรก-สวรรค์สบายอารมณ์ไปเลย นึกครึ้มๆ ว่า “ข้าได้สำเร็จแล้ว” ระดับใดระดับหนึ่ง ไปโน่น !

ไปเล่าให้หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ฟัง ท่านก็ดุเอาว่า “กรรมฐานอะไรของเอ็ง พาไปนรกสวรรค์ สมถกรรมฐาน จุดประสงค์ระงับกิเลสได้ชั่วคราว วิปัสสนากรรมฐาน จุดประสงค์ให้รู้แจ้งสภาวธรรมตามเป็นจริง การนั่งกรรมฐานเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นล้วนนอกทางทั้งนั้น นี่เรียนปริยัติมาจนจบประโยค 9 ยังถูกตาแก่ที่ไหนจูงเข้ารกเข้าพงจนได้”

เสียงหลวงพ่อเข้ม ไม่เคยเป็นมาก่อน จนผมสะดุ้ง วันหลังลองนั่งเพื่อไปเที่ยวนรก-สวรรค์อีกบ้าง พยายามอย่างไรก็ไม่เห็นภาพดังที่เคยเห็นอีกเลย

สำนักวัดทองนพคุณ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16062

ของเก่าบังของจริง

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้แสดงธรรมโอวาทหลายเรื่อง เช่นเรื่อง ของเก่าปกปิดความจริง ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณาต้องน้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันก็วางเอง

คูบาญาปู่มั่น ท่านว่า “เหตุก็ของเก่านี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าของเก่า” ของเก่านี่แหละมันบังของจริงอยู่นี่ มันจึงไม่รู้ ถ้ารู้ว่าเป็นของเก่า มันก็ไม่ต้องไปคุย มีแต่ของเก่าทั้งนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่า เวลามาปฏิบัติภาวนา ก็พิจารณาอันนี้แหละ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ให้มันรู้แจ้งออกมาจากภายใน มันจึงไปนิพพานได้ นิพพานมันหมักอยู่ในของสกปรกนี่ มันจึงไม่เห็น พลิกของสกปรกออกดูให้เห็นแจ้ง

นักปราชญ์ท่านไม่ละความเพียร เอาอยู่อย่างนั้นแหละ เอาจนรู้จริงรู้แจ้ง ทีนี้มันไม่มาเล่นกับก้อนสกปรกนี้อีก พิจารณาไป พิจารณาเอาให้นิพพานใสอยู่ในภายในนี่ ให้มันอ้อ นี่เอง ถ้ามันไม่อ้อหนา เอาให้มันถึงอ้อ จึงใช้ได้

ครั้นถึงอ้อแล้วสติก็ดี ถ้ามันยังไม่ถึงแล้ว เต็มที่สังขารตัวนี้ พิจารณาให้มันรู้แจ้งเห็นจริงในของสกปรกเหล่านี้แหละ ครั้นรู้แจ้งเข้า รู้แจ้งเข้า มันก็เป็นผู้รู้พระนิพพานเท่านั้น

จำหลักให้แม่น ๆ มันไม่ไปที่ไหนหละ พระนิพพาน ครั้นเห็นนิพพานได้แล้ว มันจึงเบื่อโลก เวลาทำก็เอาอยู่นี่แหละ ใครจะว่าไปที่ไหนก็ตามเขา ละอันนี่แหละทำความเบื่อหน่ายกับอันนี้แหละ ทั้งก้อนนี่แหละ นักปฏิบัติต้องพิจารณาอยู่นี่แหละ ชี้เข้าไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้พิจารณากาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย

การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง หากพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็ถอนได้ กามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียว ทำให้มีการต่อสู้แย่งชิงกัน ทั้งความรักความชัง จะเกิดขึ้นในจิตใจก็เพราะกาม

นักปฏิบัติต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทำใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน ก็ของเก่าปรุงแต่งขึ้นเป็นความพอใจไม่พอใจ มันเกิดมันดับอยู่นี่ ไม่รู้เท่าทันมัน ถ้ารู้เท่า ทันมัน ก็ดับไป ถ้าจี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยลดกำลังไป ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน

ธรรมโอวาท
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
http://www.dharma-gateway.com

 

กำลังของความถูกต้อง

กำลังธรรม หรือกำลังพระธรรมก็ได้ นี้คือกำลังของความถูกต้อง แต่เราเรียกว่ากำลังของพระธรรม ก็จะดีกว่าศักดิ์สิทธิ์กว่า ข้อแรกเมื่อพูดถึงความถูกต้อง ก็ขอให้ระลึกถึงอริยมรรคมีองค์แปดนั้นแหละ หรืออัฐฐังคิกมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา ไว้เป็นหลักประจำใจ แยกเป็น ความถูกต้องในความคิดเห็น ถูกต้องในความหวัง ถูกต้องในการพูดจา ถูกต้องในการกระทำทางกาย ถูกต้องในการเลี้ยงชีวิต ถูกต้องในความพากเพียรพยายาม ถูกต้องในความรำลึกประจำใจ แล้วก็ถูกต้องในความมีสมาธิ ถ้ามันผิดเขาก็เรียกมันว่า มิจฉามรรค หรือมิจฉัตตะ ถ้ามันถูกเขาก็เรียกว่า สัมมามรรค-หนทางถูก ถ้าผิดก็เรียกว่า หนทางผิด มิจฉามรรคก็ถือว่า ความรู้ความเข้าใจผิด ความหวังผิด พูดจาผิด การงานทางกายผิด เลี้ยงชีวิตผิด ความเพียรผิด สติผิด สมาธิผิด, มันคือฝ่ายผิด ส่วนฝ่ายถูกต้อง ก็อย่างที่เราเรียกว่า เป็นตัวของพุทธศาสนา เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็เรียก อัฏฐังคิกมรรค ก็เรียก อริยมรรค ก็เรียก แล้วต้องมี “กำลังของความถูกต้อง” นี้ มาควบคุมทั้งหมดอีกที ควบคุมกำลังกาย ควบคุมกำลังจิต ควบคุมกำลังความรู้ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ถ้าจะเรียกให้กว้างออกไปก็เป็น “กำลังของธรรมะ”

“กำลังของธรรม” นี้ขยายออกไปถึงสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่โดยอ้อมอีกหลายอย่างก็ได้ ที่ใช้กันมากอยู่อย่างผิด ๆ นี้ ผมจะระบุชี้ให้เห็น เช่นกำลังของบุญเก่า ของบุญกุศลที่ทำไว้แต่กาลก่อน คุณเคยทำความดีความงาม ความถูกต้อง อะไรไว้มากแต่กาลก่อน นี้มันก็เป็นกำลังใหม่ขึ้นมาในที่นี้อีก กำลังของบุญขอบกุศลที่ได้กระทำไว้ดีแล้ว นี้เรียกว่า กรรมที่ได้กระทำไว้ดีแล้วแก่กาลก่อนมาเป็นกำลัง เป็นกุศลกรรมแต่หนหลังมาช่วย แต่แล้วคนในสมัยนี้ไม่สนใจ ถอยหลังเข้าคลอง ไปเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “โชค” ว่า “เคราะห์” หรืออะไรไปเสียอย่างนี้ ว่าเป็นโชคดี เคราะห์ดี ฤกษ์ดี อะไรไปทำนองนั้น นั่นเพราะความโง่ เพราะอำนาจของความฉลาด และความโง่รวมกัน โง่ทำให้ขลาด ขลาดทำให้โง่ หล่อเลี้ยงกันอยู่อย่างนี้แหละ แล้วก็ไปถือเทวดา ผีสาง โชคชะตาราศี อะไรไป ไม่หวังความถูกต้องคือบุญกุศล หรือกรรมที่เป็นกุศลที่แท้จริง มันหวังผลอย่างเดียวกันนั่นแหละจึงไปเชื่อโชค เชื่อฤกษ์ เชื่อเทวดา แต่หารู้ไม่ว่า ที่มันจะช่วยได้จริงนั้น คือบุญกุศลที่แท้จริงที่ได้เคยทำไว้นั่นแหละจะเป็นโชคดี

อีกอย่างหนึ่ง เราไปเล็งถึงสิ่งที่เรียกว่า เจ้านายช่วย บุญวาสนาช่วย บารมีมาก มีอำนาจวาสนาช่วย มันก็ไม่พ้นไปจากความดีที่ทำไว้แต่กาลก่อน ความถูกต้องที่ทำไว้ในกาลก่อน สำหรับเจ้านายนั้น ถ้าเป็นเจ้านายจริง เจ้านายดี เจ้านายจริง ถูกต้องตามความหมายของคำว่า เจ้านาย มันก็เป็นคนดี แล้วก็ช่วยแต่คนที่ทำดี ในการที่เจ้านายจะช่วยเราก็เพราะเราทำดี นี้คือความหมายของคำว่าช่วยตัวเอง ความดีของตัวเอง ช่วยตัวเอง ไปบังคับให้ผู้อื่นต้องรุมมาช่วยเรา เพราะความดีของเรา

สิ่งที่เรียกว่า “วาสนาบารมี” ก็เหมือนกัน ถ้าถูกต้องและแท้จริง ต้องมาจากบุญกุลศลที่ทำไว้ คือความดีที่ทำไว้ ถ้าวาสนาบารมีมาจากผีสาง เทวดาบ้า ๆ บอ ๆ มันก็ไม่ยั่งยืน หรือมาจากทุจริตคดโกงอะไร มันก็ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นต้องให้รู้ว่า มันมีอยู่อีกชุดหนึ่งกลุ่มหนึ่ง คือ “กำลังของธรรมะ” หรือ “กำลังของความถูกต้อง” เพื่อจะไปควบคุมทั้งสามกำลังข้างต้นนั้น ให้มันเดินไปถูกต้อง ใช้กำลังกายถูกต้อง ใช้กำลังจิตถูกต้อง ใช้กำลังความรู้ถูกต้อง นี่รวมเป็น ๔ กำลัง มีรายละเอียดปลีกย่อยจาระไนไม่ไหว ครอบคลุมอะไรทั้งหมดในบรรดาที่เป็นกำลัง-กำลัง คุณก็ลองไปคิดดูเอาเองเถิด มันจะคิดได้

พุทธทาสภิกขุ
๒ พฤษภาคม ๒๕๑๒
ฆราวาสธรรม