สมถะและวิปัสสนา

lp-wiriyang-sirintharo

พระธรรมเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินธโร)

ญาณวิปัสสนาอันละเอียด

ฌานที่มี 4 คือ ปฐมฌาน มีองค์ 5 คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา วิตก วิจารณ์ นั้น คือการนึก พุทโธๆ เรียกว่า วิตก วิจารณ์ พอปีติ เมื่อนึกพุทโธแล้ว จิตก็อยู่ที่พุทโธ ปีติคือความขนพองสยองเกล้า รู้สึกมันหวิวๆ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า ปีติ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข ก็คือความสบาย เอกัคคตานั้น คือความเป็นหนึ่ง นี้เรียกว่าปฐมฌาน

ทุติยฌาน นั้น ก็มีอยู่องค์ 3 วิตก วิจารณ์ตัดออกไป การนึกพุทโธนั้นไม่ต้องนึกแล้ว เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เหลือแต่ความเอิบอิ่ม และความสบาย และความเป็นหนึ่ง

ตติยฌาน นั้น เหลืออยู่องค์สอง ตัดวิตก วิจารณ์ออกไป ตัดปีติออกไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา มีแต่ความสบายและความเป็นหนึ่ง

จตุถฌาน ที่ 4 สุดท้ายนั้น ก็มีองค์สอง เช่นเดียวกัน คือมีแต่ อุเบกขา และเอกัคคตา เรียกว่าวิตกวิจารณ์ตัดออกไป ความเอิบอิ่มตัดออกไป ความสุข ความสบายก็ตัดออกไป เหลือแต่ความวางเฉยกับความเป็นหนึ่ง ฌานทั้ง 4 นี้เรียกว่า รูปฌาน

เมื่อรูปฌานนี้ ได้รับการพัฒนา หรือทำให้ยิ่ง รูปฌานนั้น จะกลับกลายเป็นอรูปฌาน คือจิตจะละเอียดลงไป จิตละเอียดลงไปนั้น ก็กลับกลายเป็นอากาศว่างเปล่า ไม่มีอะไร เรียกว่าอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อจิตนี้ได้รับการฝึกฝน ละเอียดยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้ ไม่มีอะไร เหลือแต่ความรู้ เรียกว่าวิญญานัญจายตนฌานเมื่อได้รับการฝึกฝนจนกระทั่งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรแล้ว อารมณ์อะไร ความสุข ความอะไรก็ไม่มีหมด เรียกว่าอากิญจัญญายตนฌาน ในที่สุดถึงที่สุด ฌานของอรูปฌาน 4 นั้น คือ จะว่าสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ เรียกว่าไม่มีอะไรเอาเลย นั้นเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ทั้งหมดนี้ เรียกว่ารูปฌาน และอรูปฌาน

ฌานทั้งหมดนี้นั้น เป็นฌานที่เรียกว่า ฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์ ผู้ที่บำเพ็ญฌานเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะไปเกิดในชั้นพรหมโลก เลยชั้นสวรรค์ไป ก็ไปเกิดในชั้นพรหมโลก จากพรหมธรรมดา จนกระทั่งถึงมหาพรหม อย่างนี้คือผู้บำเพ็ญฌาน

ฌานเหล่านี้นั้น มิใช่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ได้ง่ายๆ ผู้ที่บำเพ็ญฌานที่เป็นรูปฌานและอรูปฌานนั้น ต้องใช้เวลา อันยาวนาน บางทีหมดชีวิตก็ไม่ได้ บางทีพวกฤาษีไปอยู่ในป่าคนเดียว บำเพ็ญฌาน ก็ยังไม่ค่อยจะสำเร็จถึงขั้นนี้ ฌานพวกนี้ ถ้าทำสำเร็จขึ้นมาแล้ว สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ มองดูจิตใจของคนได้ ระลึกชาติหนหลังได้ อย่างนี้ ถือว่าได้สำเร็จฌาน แต่ ฌานเหล่านี้นั้น ไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสได้ กิเลสก็ยังอยู่ เพราะว่าไม่ใช่วิปัสสนา เป็นแต่เพียงสมถกรรมฐาน

สมถะนั้น ถ้าเราบำเพ็ญฌาน ไปโดยสม่ำเสมอ อานิสงส์แห่งฌาน ก็ทำให้ไปบังเกิดเพียงแค่ชั้นพรหม ชั้นพรหมนั้น อายุยาวนานกว่าชั้นสวรรค์ถึง 20 เท่า เมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้วก็ลืม มีความสบายจนลืม แต่ที่สุดถึงที่สุด ก็ต้องกลับมาในมนุษยโลกอีก นั่นคือ เรียกว่า ยังเวียนว่ายตายเกิด

ผู้ที่ไม่ต้องการที่จะเวียนว่าย ตายเกิดอีก หมายความว่าเมื่อบำเพ็ญฌานได้แล้ว เขาก็ยกอรูปฌานออกเสีย เอาแค่รูปฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน เอาแค่ฌาน 4 นี้ เอาฌาน 4 นี้มาเป็นกำลัง หันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา

เมื่อหันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา ก็จะไปพบ ไตรลักษณ์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส ไตรลักษณ์นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น ศาสนาอื่น ไม่มี เพราะฉะนั้น ในศาสนาทุกศาสนาจึงไม่มีวิปัสสนา มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะทุกคนนั้น ปรารถนาแค่เพียงสวรรค์ ปรารถนาแค่เพียงความสุขในเมืองมนุษย์ แต่ว่า การที่สำเร็จฌานเหล่านั้น บางทีก็เกิดความเสื่อม เมื่อเกิดความเสื่อมแล้วก็ไปทำความชั่ว สามารถไปตกนรกได้ สามารถไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ เพราะว่ายังไม่ใช่นิยตบุคคล เป็นอนิยตบุคคล ดังนั้น การเวียนว่ายตายเกิด รึว่าการแปรเปลี่ยน ย่อมมีแก่ผู้บำเพ็ญฌาน

แต่ว่า ถ้าผู้ใด หันเข้ามาสู่วิปัสสนานั้น วิปัสสนาเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำคนให้พ้นทุกข์ คือพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายนี้ได้ ดังนั้น ในวิปัสสนา พระพุทธองค์จึงทรงตรัสให้เกิดเป็น ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นั้น คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกขังคือความเป็นทุกข์ อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้ ทั้งสามประการนี้ ถ้าพิจารณาได้ ก็ถือว่า เราได้เริ่ม วิปัสสนาแล้ว

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า สัพ เพ สังขารา อนิจจา ติ สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย ดา ปัญญา ย ปัสสติ เมื่อใด บุคคลผู้ใด ทำให้เกิด ปรากฏขึ้นแล้ว อัตถ นิพพินติ ทุกเข จากนั้น ผู้นั้น จะเกิดความเบื่อหน่าย เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี้คือหนทางไปสู่พระนิพพาน

ใส่ความเห็น