Monthly Archives: ตุลาคม 2013

ตายแล้วย้อนกลับมาบ้านเรือน

จิตวิญญาณท่องเที่ยวในวัฏสงสาร จะกว้างแคบขนาดไหนจิตวิญญาณจะไปได้ด้วยอำนาจแห่งกรรมดี กรรมชั่วหนุนพาให้ไป ผู้ที่ว่าไปสวรรค์ชั้นนั้น ๆ ถ้าจะพูดถึงเรื่องการวัดชั้นเป็นถนนหนทาง ทางจากนี้ไปสวรรค์ชั้นนั้นห่างสักกี่กิโลอย่างนี้นั้น เรานับไม่ได้ สังขารร่างกายเราไปไม่ได้ แต่จิตใจนั้นไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลขนาดไหน ไปได้ทั้งนั้นชั่วขณะเดียว จิตใจนี้ไปได้ ระยะความใกล้ความไกลไม่มีปัญหาในจิตใจของแต่ละสัตว์แต่ละบุคคล ตายแล้วไปทางดีทางชั่ว เสวยสุขเสวยทุกข์ได้ด้วยกันทั้งนั้น ขอให้มีคำว่าบุญและบาปที่ตนสร้างไว้แล้วติดใจของตนเถิด ไม่ว่าไกลว่าใกล้ เช่นไปเสวยความทุกข์ความทรมาน ใกล้ไกลที่ไหนไม่มีประมาณ ถึงทันที ๆ

เช่นอย่างไปนรก แดนนรกนี้ถ้าธรรมดาแล้วจะไม่มีใครไปถึง เพราะอยู่ไกลแสนไกล แต่อำนาจแห่งกรรมที่เราสร้างไว้ไม่ดีนั้น มันติดอยู่กับตัวของเรา ติดพันกันไป จนกระทั่งถึงนรกหลุมไหนไม่มีคำว่าใกล้ว่าไกล ขึ้นอยู่กับอำนาจแห่งกรรมชั่วของตน ผู้ที่จะไปสวรรค์ พรหมโลก และนิพพานก็เช่นเดียวกัน ไม่มีคำว่าใกล้ว่าไกล ขอให้มีบุญมีกุศลติดใจของเราเถิด จะไปได้ถึงหมดไม่ว่าชั้นใดภูมิใด ตามอำนาจแห่งกรรมดีของเราที่มีมากน้อย และใจเป็นของไม่ตาย ขอให้ท่านทั้งหลายทราบเอาไว้

พระพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้าของเราทุกๆ พระองค์ทรงเทศนาว่าการยืนยันจิตวิญญาณคือใจของคนของสัตว์นี้มีมาดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหนๆ ไม่มีต้นไม่มีปลาย มีแต่ความเกิดความตายแบกหามกองทุกข์ หรือเสวยสุขเป็นลำดับลำดามา ก็เพราะจิตดวงที่ไม่ตายนี้แล เวลาได้รับความทุกข์ความลำบากมากเพราะการทำชั่วของตัวเองด้วยความประมาท ไปตกนรกหมกไหม้กี่กัปกี่กัลป์ก็ยอมรับว่าทุกข์ ถึงขั้นมหันตทุกข์ ใจก็ยอมรับเสวย แต่ไม่เคยฉิบหาย ไม่เคยสูญก็คือใจดวงนี้แล เวลาไปทางดีก็เหมือนกัน ไม่มีคำว่าฉิบหายเหมือนสิ่งอื่นใด

พอตายจากนี้แล้วก็เข้าไปสู่ภพหน้า พร้อมเสมอที่จะไปเกิด ๆ เมื่อหมดสภาพแห่งความเกิดในภพชาตินั้นๆ แล้ว ก็เรียกว่าตายๆ ตายกับเกิดจึงเป็นของคู่เคียง ประจำภพชาติของจิตตลอดมา เพราะฉะนั้นสัตว์ตัวหนึ่งรายหนึ่งจึงมีการเกิดตาย ได้รับความทุกข์ความลำบากเสมอหน้ากันหมด ไม่มีใครที่จะมาแข่งขันกันว่า ข้านี้เกิดน้อยชาติ ข้านี้เกิดหลายชาติ ข้าได้รับความทุกข์ความสุขมากน้อยเท่านั้นเท่านี้ เอามาแข่งขันกันนั้นแข่งไม่ได้ เพราะทุกคนมีอยู่ด้วยกันเต็มตัว เพราะอำนาจแห่งกรรมของตนสร้างมาเหมือนกันหมด ท่านจึงไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน

ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทรงสอนโลกอย่างแม่นยำ ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไหนเลย ก็คือธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นี่สอนพวกเราทั้งหลาย ขอให้ถามปัญหาตัวเองว่า ธรรมพระพุทธเจ้านั้นเลิศเลอพอแล้ว เราจะสามารถรับอรรถรับธรรมเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนแล้วด้วยพระเมตตาสุดส่วน ด้วยความรู้แจ้งแทงกระจ่างในสิ่งทั้งหลายหมดนั้น เราจะรับได้หรือไม่ หรือจะรับตั้งแต่ความหูหนวกตาบอดของเรา ไม่ฟังเสียงอรรถเสียงธรรม เสียงดี เสียงชั่ว แต่สิ่งที่ชั่วนั้นทำได้ตลอดไป

สิ่งที่ดีก็หาเรื่องหาราวมาขัดมาขวาง กีดกันเอาไว้ไม่ให้ทำ เช่นอย่างวันนี้ก็เป็นวันที่เราจะบำเพ็ญการกุศล เราก็จะหาเรื่องว่าวันนี้ฝนตกทำบุญให้ทานไม่สะดวกไม่สบายเลยสำหรับวันนี้ วันอื่นที่เราสร้างขวากสร้างหนามเป็นอุปสรรคแก่ตัวเองทั่วหน้ากันนั้น เราไม่ได้พูดถึง ทั้งๆ ที่มันก็ไม่สะดวกเช่นเดียวกัน แต่เพราะความพอใจของเราที่จะทำ ในน้ำ บนบก ฟ้าฝนตก เราก็ทำได้ด้วยกันทั้งนั้น วันนี้เป็นวันที่เราสร้างบุญกุศล ฝนเป็นฝน น้ำเป็นน้ำ บุญเป็นบุญสำหรับเราผู้สร้างบุญ ไม่มาคละเคล้ากัน เราจึงทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ฝนตกฟ้าลงก็เป็นเรื่องของฟ้าฝนที่เคยมีมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว ไม่ใช่พึ่งมีมาในวันนี้ที่เราจะบำเพ็ญกุศลเท่านั้น

จึงขออย่านำสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างกุศลของเรา บรรดาผู้ที่ล่วงลับ ไปนั้นท่านสอนไว้ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่าใครจะอยู่ใกล้อยู่ไกลที่ไหน ประเทศใดเมืองใดก็ตาม เวลาตายแล้วจะต้องกลับเข้าไปถึงบ้านถึงเรือน ถึงพี่น้องพ่อแม่ญาติมิตรของตนเป็นลำดับลำดา ถ้าไม่ถูกกรรมหนักบังคับให้ไปตกนรกเสียก่อน มีช่องทางที่จะไปหาญาติหาวงศ์ของตนได้ทุกแห่งทุกหน โดยไม่มีคำว่าหลงทาง นี่คือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว แล้วกลับเข้ามาในบ้านญาติมิตรของตน ตายที่ไหนก็มาหาญาติหามิตร เพื่อรับส่วนบุญส่วนกุศลจากพ่อแม่พี่น้องที่เคยเป็นพ่อเป็นแม่มาดั้งเดิม ในเวลาตายแล้วก็ต้องย้อนกลับมา

ท่านบอกไว้ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่า เข้ามาแอบอยู่ตามข้างบ้านข้างเรือนบ้าง เข้ามาอยู่ข้างฝาเรือนบ้าง เข้ามาอยู่ทุกซอกทุกมุมในบ้านเรือนของญาติของมิตร ของพ่อของแม่บ้าง แต่เวลาพ่อแม่พี่น้องซึ่งเคยอยู่ร่วมกันในเวลามีชีวิตอยู่ รับประทานด้วยกัน มีอะไรถึงกันหมดนั้น พอตายไปแล้วเท่านั้น กลับมาก็มาแอบดูพ่อดูแม่ ดูญาติดูวงศ์ที่กำลังรับประทานอาหารกันอยู่ในนั้น ไม่สามารถที่จะรับได้ เพราะไม่ใช่วิสัยของเปรตผีกับมนุษย์ที่จะมาร่วมกินร่วมอยู่ด้วยกันได้เช่นนั้น ถ้าหากว่าญาติมิตรมีความรู้สึกเป็นห่วงใยในผู้ล้มผู้ตายที่จากไปนั้น ได้ทำบุญทำกุศล อุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่บรรดาเปรตทั้งหลายที่มานั้น เปรตเหล่านั้นก็ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ก่อนจะจากไปก็อนุโมทนาสาธุการแก่ญาติมิตรของตน แล้วไปสวรรค์ได้เพราะอำนาจแห่งส่วนกุศลที่หนุนท่านเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ในความเป็นเปรตเสียได้ นี่ท่านแสดงไว้อย่างนี้

เปรตประเภทที่จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้นมีมากมายก่ายกอง ด้วยเหตุนี้จอมปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงสอนไว้ว่าเมื่อล้มหายตายจากไปจากกันแล้ว อย่าลืมบุญลืมคุณ ลืมความระลึกถึงกัน แล้วให้บำเพ็ญส่วนกุศลอุทิศไปให้ ท่านผู้ล้มผู้ตายจะได้รับการสนับสนุนจากการสร้างบุญกุศลอุทิศไปให้นั้น แล้วพ้นทุกข์ไปโดยลำดับ นี่ท่านสอนไว้อย่างนี้ อย่างบรรดาทหารที่มาตายอยู่ในเมืองกาญจน์ของเรามีจำนวนมากมายทีเดียว ท่านเหล่านี้ก็มีความหวังที่จะพึ่งพิงญาติมิตรเพื่อนฝูง และญาติเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันก็มีทางรับได้ เช่นพวกเราไม่ได้รู้จักหน้าค่าตากันเลย แต่เรามีเจตนาเป็นกุศลทำบุญแล้วอุทิศถึงท่านเหล่านั้น บุญกุศลจึงไม่นิยมว่าใครเป็นญาติ ไม่เป็นญาติ อยู่ในฐานะที่จะรับได้จากผู้มีเมตตาจิตยื่นให้ด้วยการอุทิศส่วนกุศล ท่านเหล่านั้นก็รับได้ พ้นทุกข์ไปได้

ที่เราทำวันนี้จึงเป็นการถูกต้องกับขนบประเพณีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และพาดำเนินมา แล้วทีนี้ก็ย้อนมาหาตัวของเราเอง อย่าได้พากันประมาทนอนใจ มีแต่ลมหายใจไปวันหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับอยู่ได้ด้วยลมหายใจ พอลมหายใจขาดเท่านั้นอยู่ที่ไหนตายได้หมดคนเราและสัตว์ทั่ว ๆ ไป พวกเรานี้เรียกว่าอยู่ได้ด้วยลมหายใจ อย่าหายใจอยู่เฉยๆ หายใจให้มีอรรถมีธรรม มีบุญมีกุศลติดใจของตัว อย่าหายใจไปด้วยการให้กิเลสรุมล้อม หายใจไปด้วยความโลภไม่พอ ความโกรธ ความเคียดแค้น หายใจไปด้วยราคะตัณหา หาลูก หาผัว หาเมียไม่พอใช้ ไม่พออยู่ ไม่พอกิน ดิ้นรนกระวนกระวาย อย่างนี้เขาเรียกว่าหายใจเพื่อความล่มจม ถึงจะยังไม่ตายก็ล่มจมอยู่แล้วกับการกระทำของตัว

เพราะฉะนั้นจึงแยกลมหายใจของเราเข้ามาสู่ศีลสู่ธรรม หายใจเข้าหายใจออกให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ อยู่โดยสม่ำเสมอ คำว่าพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวนี้ กระเทือนทั่วพระพุทธเจ้าทั้งหลายในแดนโลกธาตุ ธรรม สงฆ์เป็นอันเดียวกัน จึงมีคุณค่ามากแก่ผู้ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี่เรียกว่าหายใจมีสารประโยชน์ หายใจเป็นบุญเป็นคุณ เวลาเราตายลงไปเราก็อาศัยลมหายใจที่เป็นบุญเป็นคุณต่อเรานี้แล จะเป็นเครื่องอุดหนุนค้ำชูเราให้ไปเกิดในสถานที่ดี คติที่สมหวัง

หลวงตามาหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส
ณ สวน ๓๖ พรรษา สยามบรมราชกุมารี
ตรงข้ามสุสานทหารสัมพันธมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
http://www.luangta.com

ตายเกิดหรือตายสูญ

som00916
เหตุผลซึ่งเป็นสภาพมีภาวะความเป็นคือมีเป็นขึ้นมา ตามธรรมชาติของตนนั้น ที่เป็นส่วนภายนอกคือที่เป็นส่วนโลกธาตุก็มีอยู่เป็นอันมากทั่วไป ส่วนที่เป็นผลนั้นก็เช่นว่า โลกธาตุนี้เองคือพื้นพิภพที่อาศัยอยู่นี้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าดินฟ้าอากาศสภาพของดินฟ้าอากาศที่ปรากฏอยู่ทั่ว ๆ ไป ตลอดจนถึงต้นไม้ภูเขาทั้งหลาย และต้นไม้ที่ยกตัวอย่างมาแล้ว คือการปลูกต้นต้นไม้ให้เป็นขึ้นและต้นไม้ให้ผลเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลตามธรรมชาติธรรมดาของโลกธาตุ ที่เรียกว่าเป็นสภาพหรือเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ๆ สิ่งที่ปรากฏของ โลกธาตุดังกล่าว ตลอดถึงกลางวันกลางคืน เดือนฤดูปี อันเนื่องด้วยกาลเวลา ย่อมเป็นผลอย่างหนึ่ง ๆ ที่จะต้องมีเหตุ

คราวนี้จึงถึงข้อที่กล่าวว่า ผลและเหตุหรือเหตุและผลที่เป็นสภาพเหล่านี้ย่อมเป็นมูลเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้น คือก็ได้มีผู้ที่ค้นคิดหาเหตุว่าอะไรเป็นเหตุของสิ่งที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้ เช่นว่า โลกธาตุอันนี้ประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าดินฟ้าอากาศ อันแสดงลักษณะต่าง ๆ เช่น บางคราวก็ฝนตก บางคราวก็ฝนแล้ง บางคราวก็น้ำท่วม บางคราวก็ฟ้าผ่า เป็นต้น ที่เรียกว่าให้เกิดภัยธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเกิดความกลัวต่อภัยทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้มีความคิดที่จะแสวงที่พึ่งเพื่อให้พ้นภัย ฉะนั้น จึงได้ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว ว่าได้มีผู้คิดค้นหาเหตุของผลที่เป็นสภาพหรือที่เป็นธรรมชาติดังกล่าวมานี้

เมื่อสมัยก่อนพุทธกาล ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ ก็แสดงว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และได้แสดงว่ามีเทพประจำธาตุต่าง ๆ ประจำสิ่งต่าง ๆ เช่น ฝนก็มีเทวดาของฝน ไฟก็มีเทวดาของไฟ ตลอดจนถึงดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็เป็นเทพเหล่านี้เป็นต้น และเมื่อต้องการที่จะพ้นภัย เช่นภัยธรรมชาติดังกล่าวมา จึงได้ถึงต้นไม้ภูเขาที่เป็นเจดีย์ทั้งหลายบ้าง ถึงเทพทั้งหลายบ้างเป็นสรณะคือเป็นที่พึ่ง และก็ปฏิบัติพิธีกรรมในทางที่จะให้บรรดาที่พึ่งเหล่านั้นโปรดปรานรักษาคุ้มครองบำบัดภัยอันตรายต่าง ๆ ตลอดจนถึงอำนวยโชคลาภต่าง ๆ ให้ จึงได้เกิดลัทธิศาสนาต่าง ๆ ขึ้นตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมา

แม้พระพุทธภาษิตเองก็มีแสดงไว้ว่า “มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขาและต้นไม้เจดีย์ทั้งหลายว่าเป็นสรณะคือที่พึ่งกันเป็นอันมาก และได้ตรัสว่านั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดม บุคคลถึงสิ่งนั้น ๆ เป็นที่พึ่งแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

ภัยคือความกลัวของคนเราที่ถูกภัยต่าง ๆ คุกคามอันเป็นเหตุให้แสวงหาสรณะคือที่พึ่ง ที่พึ่งให้พ้นภัย นี้คือมูลเหตุให้เกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงมองเห็นสัจจะคือความจริงแห่งมูลเหตุที่ทำให้คนต้องแสวงหาที่พึ่ง ตรัสไว้ดังนี้ แม้นักปราชญ์ในภายหลังนี้ ก็ได้ตามรับรองพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้นี้ แต่ทางพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่พิเศษ คือมีลักษณะที่พิเศษจากศาสนาอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว และดังที่จะกล่าวต่อไป

พุทธศาสนานั้นมุ่งแสดงเข้ามาถึงเหตุผลที่เป็นภายใน คือเหตุผลที่มีอยู่ในบุคคลทุก ๆ คน ที่เนื่องด้วยกรรมและที่เป็นสภาพดังที่กล่าวมา พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิ์สัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ได้ทรงปรารภถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายที่มีอยู่แก่ชีวิตทุกชีวิต ทรงปรารภโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกทรงผนวชแล้วก็ได้ทรงค้นคว้าแสวงหาทางเพื่อที่จะประสบโมกขธรรม จนได้ทรงพบทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง จึงได้ทรงปฏิบัติดำเนินไปในทางนี้อย่างเต็มที่แล้ว จึงได้ตรัสรู้สัจจะคือความจริง อันได้แก่สัจจะทั้ง ๔ คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว สัจจะทั้ง ๔ นี้ เป็นเหตุผลภายใน ที่เนื่องด้วยกรรมและที่เป็นสภาพ ทุกข์กับสมุทัยนั้นเป็นเหตุและผลฝ่ายสมุทยวาร คือวาระแห่งสมุทัยคือความเกิด ส่วนนิโรธกับมรรคเป็นเหตุผลฝ่ายนิโรธวาร วาระแห่งความดับ ดังจะพึงเห็นได้ว่า เมื่อมีทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหา ก็ต้องมีทุกข์คือมีชาติความเกิด มีชรา ความแก่ มีมรณะความตายโดยนัยนี้ แม้เมื่อตายไปแล้วก็ต้องมีชาติคือความเกิดขึ้นอีก แล้วก็มีความแก่ แล้วมีความตาย ตายแล้วก็ต้องมีชาติคือความเกิดขึ้นอีก แล้วก็มีแก่มีตาย จะเรียกว่าต้องมีเกิดตายหรือจะเรียกว่าต้องมีตายเกิดตลอดเวลาที่มีตัณหาอยู่ดังนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้น หากจะถามว่าพระพุทธศาสนาแสดงว่าตายเกิดหรือตายสูญ ก็จะต้องตอบว่า พระพุทธศาสนาแสดงเป็นวิภัชวาทะ คือมีวาทะที่แบ่งแยกจำแนกแสดง คือแสดงว่าเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องตายเกิด และหากจะถามว่าเมื่อสิ้นตัณหาแล้วตายสูญหรือ ข้อนี้ก็ตอบได้ตามหลักนิโรธวารที่จะกล่าวต่อไปว่า เมื่อสิ้นตัณหาแล้วตายไม่เกิด แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้แสดงว่าพระอรหันต์ดับขันธ์ไปแล้วสูญ นี้เป็นวาทะทางพระพุทธศาสนา

ฉะนั้น เมื่อมีทุกขสมุทัยคือตัณหาอยู่ ก็ต้องมีทุกข์ คือ เกิด ตาย ตาย เกิด และทุก ๆ สัตว์บุคคลนี้จะเกิด ตาย ตาย เกิด มานานเท่าไรในอดีต ตามหลักพระพุทธศาสนา แสดงว่าเป็นอนมตัคคะ คือมียอดหรือว่าปลายสุดที่ไม่ตามไปรู้ ซึ่งหมายความว่านานมาก เมื่อเป็นดังนี้ ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่ประสงค์จะให้ตามไปรู้ ฉะนั้น คำว่าอนมตัคคะ จึงอาจมีความหมายว่า มีปลายหรือยอดอันไม่ประสงค์จะให้ตามไปรู้

เมื่อเป็นดังนี้ หากจะมีปัญหาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นทางพระพุทธศาสนาประสงค์จะให้รู้เหตุและผล หรือผลและเหตุในปัจจุบัน ว่าเพราะอะไรจึงต้องเวียนตายเกิดหรือว่าเกิดตายไม่จบและจะให้จบลงได้อย่างไร จึงได้มีพระสูตรหนึ่งที่ได้แสดงเป็นอุปมาไว้ว่า

พระพุทธเจ้าเหมือนอย่างหมอที่รักษาคนที่ถูกยิงด้วยลูกศรทำนองหมอผ่าตัด เมื่อมีผู้ถูกยิงด้วยลูกศร พวกญาติก็นำมาหาหมอ ถ้าว่าหมอจะมัวซักถามรายละเอียดว่า ถูกยิงที่ไหน ใครยิง ยิงด้วยลูกศรอะไร ลูกศรนั้นใครทำ ทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น คนไข้ที่อาการไม่มากนักก็จะมาก ที่มากก็จะตายเลย เพราะฉะนั้นหน้าที่ของหมอก็คือว่ารีบผ่าตัดนำเอาลูกศรออกทันทีและก็ทายาให้ยา โดยไม่ต้องเสียเวลาไปซักถามดังกล่าว

พระพุทธเจ้าก็เหมือนอย่างหมอรักษาแผลลูกศร เมื่อคนไข้มาหาหมอ คือเมื่อคนทั้งหลายผู้ต้องการพ้นทุกข์ต้องการธรรมมาเฝ้าเพื่อฟังธรรม หน้าที่ของพระองค์ซึ่งได้ตรัสรู้ทรงทราบแล้วว่า ได้มีลูกศรคือตัณหาเสียบจิตใจอยู่อันทำให้ต้องเป็นทุกข์ จึงได้ทรงทำการผ่าตัดนำเอาลูกศรคือตัณหาออกทันที่ไม่จำเป็นจะต้องไปสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ในอดีต ฉะนั้นหน้าที่ของพระองค์ก็คือ ทรงแสดงมรรคทางปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ คือดับตัณหา ในการถอนลูกศรคือตัณหาที่เสียบแทงใจออกเพื่อให้พบกับทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ คือดับตัณหาเสีย นี้เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น จึงจะพีงเห็นได้ว่า ทางพระพุทธศาสนานั้นไม่กังวลในเรื่องว่าใครสร้างโลก ใครสร้างดิน น้ำ ไฟ ลม และทุก ๆ สัตว์บุคคลนี้มาจากไหน ตั้งแต่เมื่อไรในอดีต ไม่กังวลในเรื่องเหล่านี้ และไม่ถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญถือว่าเป็นอนมตัคคะ คือมีปลายสุดที่ไม่จำเป็นที่จะต้องตามไปรู้ที่ไม่ประสงค์จะไปตามรู้ ซึ่งไม่บังเกิดประโยชน์อันใด หน้าที่ของพระองค์ก็คือว่า แสดงธรรมโปรดในปัจจุบัน ให้พ้นทุกข์ในปัจจุบัน เพราะได้ตรัสรู้เหตุผล เหตุผลสายมสมุทัยวารและเหตุผลสายนิโรธวาร คนไข้คือทุกคนที่มีทุกข์ มีเกิด มีแก่ มีตาย มีตัณหา นี่เป็นคนไข้ทั้งนั้น เมื่อมาพบพระพุทธองค์เข้า พระองค์ได้ตรัสรู้ในสมุทัยวารและนิโรธวารอยู่เต็มที่แล้ว ก็ได้ทรงรักษาแสดงธรรมผ่าตัดนำเอาลูกศรที่เสียบแทงใจคือตัณหาออกทันที่โปรดให้พ้นทุกข์ทันที เป็นหน้าที่ของหมอคือพระพุทธเจ้า

ในเหตุผล
พระพุทธศาสนาอันเกี่ยวแก่ปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมมุ่งเหตุผลที่เป็นสัจจะคือความจริงอันเป็นอยู่ทุกกาลสมัย ในอดีตก็เป็นสัจจะอันเดียวกันนี้ ในปัจจุบันก็เป็นสัจจะอันเดียวกันนี้ ในอนาคตก็เป็นสัจจะอันเดียวกันนี้ และเมื่อจับเหตุผลอันเป็นสัจจะปัจจุบันซึ่งครอบคลุมทั้งเหตุผล อดีตอนาคตได้แล้ว ก็จะปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงผลได้ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นที่จะต้องระลึกย้อนไปถึงอดีตหรือระลึกล่วงหน้าไปถึงอนาคต ความระลึกถึงชาติอดีตได้หรือว่าความระลึกชาติในอนาคตได้ เป็นวิสัยของญาณคือความหยั่งรู้อย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติ ธรรมที่เป็นตัวพระพุทธศาสนาโดยตรงนั้นไม่จำเป็นต้องระลึกชาติหนหลังได้ หรือระลึกชาติล่วงหน้าได้ แต่ต้องการให้หยั่งรู้ถึงสัจจะที่เป็นเหตุผลครอบไปทุกกาลสมัยดังกล่าวมาข้างต้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจะอันนี้ก็คืออริยสัจอันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังที่ได้ยกมากล่าวไว้แล้ว และในที่นี้นำมากล่าวซ้ำก็เพื่อที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญว่า สัจจะทั้ง ๔ นี้เป็นกฏธรรมดา จึงเป็นกฏที่จริงแท้แน่นอนครอบไปทุกกาลสมัย เมื่อมีเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ก็ต้องมีทุกข์เริ่มต้นแต่ชาติ ความเกิด ตลอดถึงชรา มรณะ ความแก่ ความตาย และทุกข์อื่น ๆ เมื่อดับตัณหาเสียได้ ก็ดับทุกข์ได้ และจะดับตัณหาได้ก็ต้องมีปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ คราวนี้ กฏอันนี้ใช้ได้ทุกกาลสมัย หนหลังเป็นอดีต กฏอันนี้ย่อมดำรงอยู่ เป็นไปอยู่ กล่าวคือ เมื่อมีเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ก็ต้องมีทุกข์ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิด ดับตัณหาเสียได้ก็ดับทุกข์ได้ โดยปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ล่วงหน้าไปในอนาคต กฏอันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ดำรงอยู่

ฉะนั้น ความระลึกชาติหนหลังได้ หรือความระลึกชาติข้างหน้าได้ จึงเป็นสิ่งไม่จำเป็น เหมือนอย่างว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกของเรานี้ เช่น เมื่อฝนตก อันฝนตกนั้น เริ่มตกมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ หากว่าจะระลึกถึงเรื่องฝนตกว่า เมื่อฤดูฝนปีที่แล้วฝนตกที่นั้นที่นี่เท่านั้นเท่านี้ ย้อนหลังไปอีกปีหนึ่งฝนตกที่นั่นที่นี่เท่านั้นเท่านี้ ย้อนหลังออกไปที่ละปีจนถึงร้อยพันปีหมื่นปีแสนปีล้านปี เท่าไรก็ตาม ว่าฝนตกที่นั้นที่นี่เท่านั้นเท่านี้ การที่จะระลึกตรวจสอบถอยหลังไปด้งนี้ ย่อมไม่มีสิ้นสุด แม้การที่จะทำนายล่วงหน้า ในปีหน้าหรือต่อปีหน้าไปอีก ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี เรื่อยออกไป ฝนจะตกที่นั่นที่นี่เท่านั้นเท่านี้ก็เช่นเดียวกันก็เป็นเรื่องไม่สิ้นสุด แต่ว่าการที่มาค้นหาเหตุผลของฝนตก ว่าฝนตกนั้นเป็นผล อะไรเป็นเหตุให้ฝนตก เมื่อค้นพบเหตุผลว่า ฝนตกเป็นผล อะไรเป็นเหตุให้ฝนตก ค้นพบเหตุผลดังนี้แล้วก็ย่อมทราบตลอดหมดว่า ฝนตกเมื่อพัน หมื่นปี แสนปีที่แล้วมาก็อยู่ในกฏอ้นนี้ เมื่อค้นพบเหตุอ้นนี้เสียอันเดียวแล้วเพียงพอ คือเมื่อรู้เหตุรู้ผลของฝนและมีความสามารถต้องการจะไม่ให้ฝนตก ก็ระงับเหตุที่จะให้เกิดฝนตกหรือต้องการจะให้ฝนตกก็ทำเหตุให้เกิดฝนตก เพราะฉะนั้น กฏอันนี้เป็นเหตุผลที่ใช้ได้ในปัจจุบัน แต่ก็ครอบคลุมไปได้ทุกกาลทุกสมัย การที่จะระลึกไปถึงฝนตกในอดีต ฝนตกในอนาคต ว่าตกที่นั่นที่นี่เท่านั้นเท่านี้ไปได้นากไกลเท่าไรก็ตาม ก็อาจเป็นประโยชน์ในบางอย่าง แต่ว่าไม่ใช่เป็นตัวเหตุผลซึ่งเป็นกฏธรรมชาติธรรมดา

การระลึกถึงอดีตชาติหรืออนาคตชาติก็เช่นเดียวกัน ระลึกไปได้ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ที่ล่วงมาแล้วก็ตามหรือข้างหน้าก็ตาม จะได้เกิดมาหรือจะไปเกิดที่นั้นเป็นนี่ที่นั่นที่นี่ มีสุขมีทุกข์อย่างนี้ มีอายุเท่านั้นเท่านี้เหล่านี้เป็นต้น ก็อาจเป็นประโยชน์บางอย่าง แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์ในบางเหตุผลที่เป็นกฏธรรมชาติธรรมดา จึงไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติธรรมดังกล่าว แม้ในพระสูตร บางพระสูตรพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า ความรู้ระลึกชาติได้ก็ดี ความรู้ถึงจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาติอันนั้นของสัตว์ทั้งหลายก็ดี ไม่เป็นตัวพุทธศาสนา ก็เพราะว่าผู้ที่ได้วิชาระลึกชาติได้เป็นต้น ดังนี้ ก็ได้เคยมีมาก่อนพุทธศาสนาเกิดขึ้น เป็นวิชาอย่างหนึ่งที่บุคคลภายนอกพุทธศาสนาก็ได้กันมีอยู่ แต่ว่าความหยั่งรู้ในสัจจะทั้ง ๔ นี้เป็นตัวพุทธศาสนาพิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่าเพราะว่าเป็นตัวกฏที่เป็นสัจจะคือความจริงที่ครอบไปได้ทุกกาลสมัยดังกล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเปรียบพระองค์เองเหมือนอย่างหมอผ่าตัดลูกศรดังที่กล่าวมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปสืบสาวราวเรื่อง ต้องรักษาทันที เพราะว่า เมื่อทราบกฏอันเป็นสัจจะเป็นความจริงดังนี้แล้ว หน้าที่ก็คือว่ารีบปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพื่อดับตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับตัณหาได้แล้วก็เป็นอันดับทุกข์ได้หมด ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิด เมื่อสิ้นชาติคือคือความเกิด ก็ไม่ต้องแก่ต้องตาย ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วยประการทั้งปวงเป็นสัจจะที่กฏธรรมดาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบจะเกิดมากี่ร้อยกี่พ้นชาติก็อยู่ในกฏธรรมดาอันนี้ จะเกิดต่อไปข้างหน้าก็อยู่ในกฏธรรมดาอันนี้ บัดนี้ก็อยู่ในกฏธรรมดาอันนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้กฏธรรมดาอันนี้ก็เพียงพอที่จะปฏิบัติดับทุกข์ได้เลยที่เดียว ไม่ต้องไปนึกถึงชาติอดีต ไม่ต้องไปนึกถึงชาติอนาคตอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาที่เป็นสัจจะคือคือเป็นกฏธรรมดาอันนี้จึงเป็นปัจจุบันธรรม และก็กล่าวได้ว่าเป็นปัจจุบันทุกสมัย คือครอบไปในอดีต ในอนาคตทั้งหมดเรียกว่าตั้งแต่สร้างโลกมาจนถึงโลกสลาย ก็อยู่ในกฏคืออยู่ในสัจจะอันนี้ ตรัสรู้สัจจะอันนี้เท่านั้นเพียงพอที่จะดับทุกข์ได้ อันนี้แหละเป็นจุดประสงค์และเป็นตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง อันเป็นชั้นเหตุผล อันหมายถึงว่าทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเหตุผลฝ่ายเกิดและเป็นเหตุผลฝ่ายดับ

เหนือเหตุผล
คราวนี้ต่อจากดับขึ้นไปแล้วนั่นแหละเรียกว่าเหนือเหตุผล นิพพานเป็นธรรมที่อยู่เหนือเหตุผล ก็คือเหนือเหตุผลฝ่ายเกิด เหนือเหตุผลฝ่ายดับดังกล่าว แต่ว่าในขณะที่ยังอยู่ในเหตุผลฝ่ายเกิด คือยังมีตัณหาอันเป็นสมุทัย มีทุกข์ มีชาติทุกข์ เป็นต้น ก็จะยังไม่พบธรรมที่อยู่เหนือเหตุผลคือนิพพาน เพราะยังวนเวียนอยู่ในเหตุผลฝ่ายเกิด แต่ว่าเมื่อบรรลุถึงเหตุผลฝ่ายดับคือ ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นมรรคดับตัณหาได้ ดับทุกข์ได้เป็นนิโรธ ก็แปลว่าได้พบเหตุผลฝ่ายดับแล้ว และก็ได้ถึงที่สุดของเหตุผลฝ่ายดับแล้ว ก็บรรลุถึงธรรมที่อยู่เหนือเหตุผลคือนิพพาน ธรรมที่อยู่เหนือเหตุผลคือนิพพานนั้น จึงอยู่ในอันดับถัดจากที่สุดของฝ่ายดับคือนิโรธกับมรรคดังกล่าว แต่ในข้อนี้จะได้กล่าวขยายความในภายหลังต่อไปอีก

ในบัดนี้จะได้กลับมาถึงความพิจารณาจนถึงความตรัสรู้ดังกล่าวของพระพุทธเจ้าตามเหตุและผล รวมเข้าก็คือเหตุผลฝ่ายเกิดและเหตุผลฝ่ายดับ อันได้แก่อริยสัจทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมาพึงทราบว่าเป็นกล่าวแสดงโดยสรุป คือสรุปเข้าเป็นทุกข์ เป็นทุกขสมุทัย เป็นทุกขนิโรธ เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังที่กล่าวมา แต่ว่าเมื่อแสดงโดยพิสดารออกไป ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเล่าถึงความพิจารณาจับเหตุจับผลของพระองค์ โดยที่ทรงจับผลพิจารณาย้อนไปหาเหตุ และย้อนกลับไปโดยลำดับจนถึงต้นเหตุ เป็นผลและเหตุสายเกิด และได้ทรงพิจารณาสายดับเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นแสดงโดยย่อ ทรงจับเอาชรามรณะขึ้นมาพิจารณา ว่าชราคือความแก่ มรณะคือความตาย พร้อมทั้งทุกข์อื่น ๆ ทั้งหมด มีโสกะปริเทวะเป็นต้น เกิดขึ้นได้เพราะอะไรเป็นปัจจัยก็ได้ทรงทราบว่า เพราะชาติคือความเกิดเป็นปัจจัย ก็ทรงจับพิจารณาชาติว่าเกิดมีขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย ก็ทรงทราบว่าเพราะภพความีความเป็นเป็นปัจจัย ภพเกิดมีขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย ก็เพราะอุปาทานความยึดถือเป็นปัจจัย อุปาทานเกิดมีขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าตัณหาเป็นปัจจัย ตัณหาเกิดมีขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัยก็เพราะเวทนาเป็นปัจจัย เวทนาเกิดมีขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ผัสสะเกิดมีขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะสฬายตนะคืออายตนะ ๖ เป็นปัจจัย สฬายตนะเกิดมีขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย วิญญาณเกิดมีขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะสังขารเป็นปัจจัย สังขารเกิดมีขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึ่งเป็นอันสิ้นสุดอยู่ที่อวิชชา

ฉะนั้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจังเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจังเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ และทุกข์อื่น ๆ มีโสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ฉะนั้นจึงได้อาการเป็นปัจจัยเนื่องกันไปเป็นสายดังนี้ เป็น ๑๒ อาการ และนับโดยเป็นปัจจัยและผลได้ ๑๑ คู่ หรือ ๑๑ ห่วง โดยเทียบกับสายโซ่ ๑๑ ห่วง

จึงสรุปกล่าวไว้ว่า เหตุและผลในปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัยวาร ซึ่งวนเป็นวัฏฏะอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันนี้ก็วนอยู่ในอดีตก็วนมาแล้ว และวนต่อไปในอนาคต ก็คืออาการ ๑๒ หรือว่า ๑๑ ห่วง รวมเข้าเป็นวัฏฏะ ๓ กิเลส กรรม วิบาก รวมเข้าอีกเป็นอริยสัจ ๒ เป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นผลและเป็นเหตุที่วนอยู่ดังนี้ และสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้ค้นคว้าหาโมกขธรรมเองเพื่อพุทธภาวะหรือพุทธภูมิ และบรรดาสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่มิได้ค้นคว้าหาโมกขธรรมเอง แต่ว่าได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ปฏิบัติอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นผู้ปฏิบัติสร้างเหตุและผลขึ้นอีกสายหนึ่ง คือสายนิโรธวาร ได้แก่ปฏิบัติในมรรค เป็นเหตุ เพื่อนิโรธความความดับ เป็นผล เป็นอันว่าได้มีเหตุผลทั้งสองฝ่ายเป็นไปอยู่ คือเหตุผล ฝ่ายสมุทัยวาร ได้แก่ทุกข์และสมุทัย ฝ่ายนิโรธวาร ได้แก่นิโรธและมรรค

ดังเราทั้งหลายในบัดนี้ก็กล่าวได้ว่า ได้มีเหตุผลทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ หรือว่ากำลังเป็นอยู่ในเหตุผลทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ เพราะว่ายังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานอยู่ ก็เป็นไปในเหตุผลฝ่ายทุกข์และสมุทัยทางหนึ่ง มาปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เป็นไปในเหตุผลฝ่ายนิโรธและมรรคทางหนึ่ง นี่เป็นเหตุผลทางทุกข์ เหตุผลทางนิโรธ

คราวนี้ใครจะไปทางไหนมากหรือน้อยกว่ากันอย่างไรนั้นก็สุดแต่ความประพฤติปฏิบัติ แต่รวมความเข้าแล้ว ก็เป็นไปอยู่ในเหตุผลดังกล่าวมานี้ได้ จนกว่าจะดับกิเลสได้หมด เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย คือว่าดับอวิชชา ก็ดับสังขารจนถึงดับชรา มรณะ และทุกข์ทั้งปวงดังกล่าวว่า บรรลุวิชชาและวิมุตตินั้น

เมื่อเป็นดังนี้ ก็เข้าถึงวิวัฏกะ หรือบรรลุนิพพาน อันเป็นธรรมที่อยู่เหนือเหตุผล คือว่าเหนือเหตุผลทั้งหลาย สมุทัยวารทั้งสายนิโรธวาร กล่าวคือ พ้นจากทุกข์ พ้นจากเหตุเกิดทุกข์ ดับทุกข์ ดับเหตุเกิดทุกข์ ไม่ต้องเป็นไปตามเหตุผลสายทุกข์และอยู่เหนือนิโรธเหนือมรรค เพราะได้เป็นผู้ปฏิบัติเสร็จกิจ ไม่ต้องปฏิบัติในมรรคอีกต่อไป เหมือนอย่างว่าเดินทางมาถึงที่สุดทางแล้วก็พักการเดินทางได้ ไม่ต้องเดินทางอีกต่อไป การเดินทางนั้นเท่ากับมรรค การถึงที่สุดทางนั้นเท่ากับนิโรธ ฉะนั้นเมื่อเดินทางมาถึงก็เป็นอันว่าถึงที่สุด จึงไม่ต้องทำการเดินทางเพื่อให้ถึงที่ไหนอีกต่อไป

ธรรมอันเป็นที่สุดนี้คือนิพพาน อันหมายถึงธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่สิ้นอวิชชา สังขาร เป็นต้น ตลอดจนถึงชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ทั้งปวง นิพพานจึงเป็นธรรมที่อยู่เหนือเหตุผลดังนี้ อันหมายถึงว่าอยู่เหนือเหตุผลทั้งสายสมุทัยวาร ทั้งสายนิโรธวาร เมื่อยังเป็นเหตุผลอยู่ไม่ว่าจะสายไหนก็ยังต้องมีการดำเนินไปอยู่ ยังต้องปฏิบัติอยู่ แต่เมื่อเสร็จกิจทั้งปวงแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้น ไม่ต้องดำเนินไปในเหตุผลสายไหนทั้งนั้น จึงชื่อว่าอยู่เหนือเหตุผลดังนี้ นี้คือนิพพาน และนิพพานนี้จึงบรรลุได้ในปัจจุบัน จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้รวมใจความว่า เพราะหน่าย สิ้นติดสิ้นยินดี วิมุตติหลุดพ้นไม่ถือมั่น จากอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และโสกะปริเทวะ เป็นต้น ย่อมบรรลุ ทิฏฐิธรรมคือนิพพาน คือนิพพานในปัจจุบันทันตาเห็น

และได้ตรัสไว้ถึงลักษณะเบ็คเตล็ตต่าง ๆ อีก เป็นต้นว่าลักษณะที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คือความอาศัยกันเกิดขึ้นด้วยกัน ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเกิดสังขารเป็นต้น เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือเป็นความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นความกำหนดแน่แห่งธรรม พระตถาคตจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้น ข้อนี้ก็ตั้งอยู่ดำรงอยู่ แต่เมื่อพระตถาคตอุบัติขึ้นจึงได้ตรัสแสดงเปิดเผยกระทำให้แจ้ง ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเกิดสังขารเป็นต้น ส่วนปฏิจจสมปปันนธรรม คือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความสลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา

ตามที่แสดงถึงเรื่องพระนิพานอันโยงมาถึงปัฏิจจสมุปาท อันนับว่าเป็นธรรมที่สุดยอดในพระพุทธศาสนา ก็เพื่อที่จะให้ได้ทราบตามที่พระพุทธเจ้าและพระอาจารย์ทั้งหลายได้แสดงอธิบายไว้ และโดยเฉพาะต้องการที่จะให้เป็นที่เข้าใจว่านิพพานนั้นเป็นยอดของพระพุทธศาสนา เป็นที่รวมของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดย่อมเอียง เทลุ่มลาดลงไปสู่พระนิพพานทั้งนั้น นิพพานจะยังอยู่ไกลหรือใก้ลก็ตาม แต่ก็หันหน้าไปสู่นิพพาน และเมื่อได้ปฏิบัติไปก็ชื่อว่าได้เดินใก้ลนิพพานเข้าไปทุกที

เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ควรทราบ และก็ไม่ใช่เป็นข้อที่ควรคิดว่าเหลือวิสัยที่จะได้จะถึง หรือเอื้อมไม่ถึง ดังที่ได้ปรารภกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เหมือนอย่างขึ้นบันได คือเหมือนอย่างการเดินขึ้นไปโดยลำดับ การปฏิบัตินี้เอง จะได้ส่งให้ใก้ลเข้าไป และความที่ได้บรรลุสันติสุข คือความสุขสงบเย็นจากการปฏิบัติธรรม ก็ชื่อว่าเป็นผลที่แผ่ออกมาจากนิพพานทั้งนั้น เช่นเดียวกับความร้อนที่ทุกคนได้ ก็เนื่องมาจากดวงอาทิตย์ทั้งนั้น

ฉะนั้น เมื่อเข้ามาปฏิบัติธรรม ก็ชื่อว่านำตนเข้ามาอยู่ในขอบเขตรัศมีของนิพพาน จึงย่อมได้รับความสงบ ความเย็นจากนิพพานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อแสดงเรื่องนิพพาน ก็ทำให้ต้องแสดงเรื่องเหตุผลและธรรมที่อยู่เหนือเหตุผล ในการแสดงธรรมที่เป็นเหตุผลนั้นก็หมายถึงปฏิจจสมุปบาททั้ง ๒ สาย แล้วจึงจะมาถึง ธรรมที่อยู่เหนือเหตุผล คือนิพพาน ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้หมั่นพิจารณาทบทวน แล้วจะได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นด้วยตนเอง.

คัดลอกมาจากหนังสือ “ในเหตุผลและเหนือเหตุผล” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

วิธีแก้การนับถือพระอย่างเทพเจ้า

som00916

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระอาจารย์ได้เล่าเป็นตำนานของพระรัตนสูตร แสดงพระพุทธานุภาพนำพระสูตร ใจความของพระรัตนสูตร ก็แสดงพระรันตนตรัยนั้นเอง แม้ในปัจจุบันนี้คนทั่ว ๆ ไป ก็ยังนับถือในมงคล ในอานุภาพต่าง ๆ ตามปกติวิสัยของสามัญชน แต่ถ้านับถืออยู่ในภายนอก ก็อาจนำให้ปฏิบัติผิดจากพระพุทธศาสนา ใก้ลไปในทางนับถือพระเป็นเทพเจ้าผู้บันดาลต่าง ๆ ทางที่จะแก้ไขมีทางเดียว คือศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนา จนเปลี่ยนจากนับถือสิ่งภายนอกต่าง ๆ มานับถือเหตุผลตามที่เป็นจริง หรือนับถือความจริงตามเหตุและผล ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ ดังที่แสดงข้างต้น กล่าวโดยสรุปคือตามหลักอริยสัจ ตามที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องสรณะ เมื่อนับถือหนักมาทางเหตุผล คือความจริงตามเหตุผล เพราะรู้ตระหนักในทางพุทธศาสนาขึ้น การปฏิบัติก็เข้าทางที่ชอบ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือเห็นชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ดังที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๖ ว่า “ใครเดินทางชอบมีองค์ประกอบ ๘ รวมกันเป็นทางเดียวนี้แล คือพุทธศาสนิก”

เห็นชอบ ก็คือเห็นถูก เพราะรู้จริงตามเหตุผลหรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง เมื่อมีเห็นชอบ ดำริชอบ เป็นต้นก็มีตามกัน แต่ดำริชอบเป็นต้นก็อาจช่วยให้เห็นชอบขึ้นได้ ตกว่าองค์ประกอบทั้ง ๘ ต้องอาศัยพึ่งพิงกัน จะขาดเสียสักข้อหนึ่งมิได้ ต้องใช้ในกิจทั้งปวง เช่นจะทำเลขก็ต้องมีเห็นชอบจึงจะทำได้ถูก จะตอบปัญหาทุกอย่างได้ถูกก็ต้องมีเห็นชอบ จะรู้ดีชั่วผิดถูกเท็จจริงเทียมหรือแท้ก็ต้องมีความเห็นชอบ จะรู้ซาบซึ้งพระพุทธศาสนาตลอดจนคุณพระรัตนตรัยก็ต้องมีเห็นชอบ การศึกษาทุกอย่างจนถึงการศึกษาพระพุทธศาสนาด้วย วิธีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้น ก็เพื่ออบรมให้เห็นชอบนี้เอง

การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พูดเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัย โดยตรงคือเข้าพึ่งพระพุทธศาสนาที่ชี้ทางที่ถูกให้แก่ตน เมื่อเห็นทางที่ถูกแล้ว ก็ต้องปฏิบัติไปในทางที่ถูกนั้นด้วยตนเองจึงจะได้รับผล เหมือนอย่างต้องเรียนเองจึงจะรู้ ต้องบริโภคเองจึงจะอิ่ม เมื่อพึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างนี้ ก็จะกลับเป็นผู้พึ่งตนเองได้ เพราะตนเองจะทวีความดีขึ้นทุกทีจนเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ไตรสรณคมน์จึงสัมฤทธิ์ผลอย่างนี้แล

ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
เห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ
สรณคมน์นี้ของผู้นั้น เป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะอันอุดม
ผู้นั้นอาศัย สรณะนี้จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ศรัทธา-ปสาทะ
เครื่องชักนำอันแรกให้เกิดไตรสรณคมน์ หรือให้เป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ๒ อย่าง ได้แก่ศรัทธากับปสาทะ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ ปสาทะ แปลว่าความเลื่อมใส

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่าศรัทธา หรือศรั่ทธาปสาทะ เพราะนิยมพูดกันในทางศาสนา หรือในการทำบุญ เช่น มีศรัทธาบูชาพระรัตนตรัย มีศรัทธาฟังพระธรรม มีศรัทธาบริจาคทาน เป็นต้น เห็นใครทำบุญทำกุศลทุกอย่าง ก็มักพูดว่าเขามีศรัทธา การพูดอย่างนี้ก็เป็นความจริง เพราะจะทำอะไรทุกอย่างต้องมีศรัทธาชักนำให้ทำ แต่มีปัญหาว่าศรัทธาที่มีเครื่องชักนำนั้นคือเชื่อว่าอย่างไร ดังเช่นในที่นี้ ถ้าจะตั้งปัญหาถามทุก ๆ คนว่า มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ทุก ๆ คนที่เป็นพุทธศาสนิกก็คงตอบว่ามี คราวนี้ถามต่อไปว่า มีว่าอย่างไร ให้ทุก ๆ คนตั้งปัญหานี้ถามตนเอง และตอบให้ได้ด้วยตนเองว่าบัดนี้เรามีศรัทธา คือมีความเชื่อว่าอย่างไรในพระพุทธศาสนา

เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธปฏิมาซึ่งเป็นที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ใช่หรือไม่
เชื่อในความขลังของคาถาอาคมใช่หรือไม่
เชื่อในอาจารย์ผู้เสกคาถาใช่หรือไม่
เชื่อในการบนบานอ้อนวอนใช่หรือไม่

ถ้ามีความเชื่อดังเช่นที่กล่าวข้างบนนี้ ก็พึงรู้ว่ายังมิใช่ศรัทธาที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา และอาจเป็นอันตรายแก่การนับถือพระพุทธศาสนา ดังเช่น เมื่อบนบานอ้อนวอนแล้ว ไม่ได้สมประสงค์ หรือต้องพลาดพลั้งวิบัติเสียหาย ก็เลยหาว่าพระพุทธศาสนาช่วยอะไรไม่ได้ พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียเสื่อมสิ้นไป ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาบางประเทศต้องเสียเอกราช และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งในขณะนี้ ผู้ที่เชื่อในทางศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้ที่มุ่งกล่าวปรักปรำ ก็อาจกล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาช่วยอะไรไม่ได้ บางทีก็กล่าวหาว่าเป็นเครื่องถ่วงให้ล้ำหลัง ไม่เจริญเร็วเหมือนประเทศนอกพระพุทธศาสนา ศรัทธาที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายแก่การนับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ เมื่อศรัทธาไม่ถูกต้อง ปสาทะก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน ฉะนั้น จึงจำต้องปรับปรุงศรัทธานี้แหละให้ถูกต้องก่อน ว่าควรทำความเชื่อในพระพุทธศาสนาอย่างไร

ศรัทธาอย่างถูกต้องในพระพุทธศาสนามี ดังนี้
เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง
เชื่อว่าบุญบาปมีจริง
เชื่อว่าผลของบุญบาปมีจริง
เชื่อว่าบุญบาปที่ตนทำเป็นของตนจริง

ข้อที่ ๑ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง ทำให้ไม่สงสัยลังเลใจในพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ไม่สงสัยลังเลใจในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเป็นพระพุทธศาสนา ไม่สงสัยลังเลใจในพระสงฆ์ โดยตรงกันข้าม ยิ่งเกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ความเชื่อ ความเลื่อมใสนี้ เกิดเพราะตั้งใจสดับฟังพระธรรม หรือศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้ซาบซึ้ง โดยเฉพาะให้รู้จักบุญบาปหรือกรรมดีกรรมชั่ว ยิ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พิจารณาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ก็ยิ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง เหมือนอย่างฟังคำสอนของครูเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็ทำให้เชื่อในภูมิรู้ของครู ความเชื่อข้อนี้ เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา แปลว่า ความเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงนั่นเอง เป็นเหตุให้เชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ที่แสดงบุญบาปคุณโทษ เป็นต้น เหมือนอย่างเมื่อเชื่อภูมิรู้ของครูแล้ว ครูจะแนะนำอะไรก็ย่อมจะเชื่อ

ข้อที่ ๒ เชื่อว่าบุญบาปมีจริง ทำให้ไม่สงสัยลังเลใจในเรื่องบุญและบาปหรือกรรมดีกรรมชั่ว สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนว่าเป็นบุญเป็นกรรมดี ก็เชื่อว่าเป็นบุญเป็นกรรมดีจริง เช่นความมีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงเคาระห์ช่วยเหลือเป็นต้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนว่าเป็นบาปหรือกรรมชั่ว ก็เชื่อว่าเป็นบาปเป็นกรรมชั่วจริง เช่นมีความใจละโมบ โหดร้ายหลงใหล ประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์เป็นต้น ความเชื่อข้อนี้เรียกว่า กัมมสัทธา เชื่อกรรม กรรมแปลว่าการงานที่บุคคลทำด้วยเจตนา คำว่ากรรมเป็นกลาง ๆ มิใช่หมายความว่าไม่ดีจึงเรียกกรรม ทำดีหรือไม่ดีเรียกว่ากรรมทั้งนั้น เมื่อต้องการจะให้รู้ว่าดีหรือไม่ดีก็เติมคำนั้นเข้าไป ว่ากรรมดีหรือบุญกรรม กรรมชั่วหรือบาปกรรม ฉะนั้น เชื่อกรรมก็คือเชื่อว่าบุญบาปหรือกรรมดีกรรมชั่วมีจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนไว้

ข้อที่ ๓ เชื่อว่าผลของบุญบาปมีจริง ทำให้ไม่สงสัยลังเลใจว่าบุญบาปที่ทำจะไม่มีผลสนอง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ว่า กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ไม่สับสนกันเหมือนอย่างหว่านพืชเช่นใด ก็ได้รับผลเช่นนั้น ความเชื่อข้อนี้เรียกว่า วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าบุญบาปที่ทำให้ผลจริงตามประเภท บุญก็ให้ผลดี บาปก็ให้ผลไม่ดี

ข้อที่ ๔ เชื่อว่าบุญบาปที่ตนทำก็เป็นของตนจริง ทำให้ไม่สงสัยลังเลใจว่า ตนจะต้องรับผลของบุญบาปที่ตนเองทำไว้หรือไม่ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุก ๆ คน นึกคิดอยู่เสมอว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทรับผลของกรรม เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วก็จักได้ชั่ว ความเชื่อข้อนี้เรียกว่า กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมที่ตนทำไว้เป็นของของตน เหมือนบริโภคอาหารเองก็อิ่มเอง เรียนเองก็รู้เอง

ศรัทธาทั้ง ๔ ข้อนี้ สำคัญอยู่ที่ข้อ ๑ คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เพราะตั้งใจสดับศึกษาพระพุทธศาสนาจนเกิดความรู้สึกว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เป็นความจริงทุกอย่าง ความเชื่อและความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยก็จะเกิดตั้งมั่นขึ้นทุกที ที่ทำให้เชื่อมั่นว่าบุญบาปที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ มีจริง ผลของบุญบาปตามที่ตรัสสั่งสอนไว้มีจริง บุญบาปที่ผู้ใดทำไว้ก็เป็นของผู้นั้นจริงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หมายความว่าทำให้เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา

ศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธศาสนา เมื่อมีลักษณะดังกล่าวจึงเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ผู้ที่มีศรัทธาที่ถูกต้องจึงจะเป็นพุทธศาสนิกผู้ถึงไตรสรณคมน์ที่ถูกต้อง การปลูกศรัทธาที่ถูก หรือการปรับปรุงศรัทธาให้ถูก อาศัย

ก. บุคคลผู้ชักจูงศรัทธา
ข. ตนเอง

ก. บุคคลผู้ชักจูงศรัทธา เริ่มตั้งแต่บิดามารดาอบรมบุตรธิดาตั้งแต่เล็ก ๆ ด้วยวิธีสอนให้เชื่อฟังอย่างมีเหตุผลเท่าที่เด็ก ๆ จะเข้าใจ มิใช่ด้วยวิธีหลอกให้เข้าใจผิดหรือขู่ให้กลัว เช่นขู่หรือหลอกด้วยเรื่องผีต่าง ๆ และโดยที่แท้ที่ว่าผีหลอกนั้น คนหลอกต่างหาก เมื่อเด็กถูกหลอกหรือขู่ให้เชื่อผิด ๆ มาตั้งแต่เล็ก ความเชื่อก็จะฝังแน่นติดเป็นสันดาน เป็นการแก้ยากในภายหลัง เมื่อโตขึ้นมาแล้วถึงจะมีความรู้ใหม่มากขึ้นอย่างไร ความเชื่อในสันดานก็ยังไม่หมด จึงยังมัวกลัวผิด ๆ อยู่ ฉะนั้น เมื่อจะห้ามมิให้เด็กทำอะไร ก็พยายามแนะนำให้เด็กรู้เหตุผลถูกผิด หรือใช้วิธีแก้ร้ายให้กลายเป็นดีอย่างมีเหตุผล ดังเช่นมารดาบิดารายหนึ่งส่งบุตรไปศึกษา ฝากไว้กับครอบครัวหนึ่ง บุตรแจ้งไปว่ารู้สึกไม่ค่อยชอบลูกของเจ้าของบ้าน ทั้งที่เด็กนั้นก็มิได้ทำอะไรให้ มารดาบิดาจึงแนะนำไป ให้บุตรของตนหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปให้ลูกเจ้าของบ้าน ต่อมาบุตรก็แจ้งมาว่าได้ปฏิบัติตามแล้วและหายความรู้สึกไม่ชอบแล้ว นี้เป็นการสอนให้สร้างมิตรจิตมิตรใจต่อกันให้เกิดขึ้นนั้นเอง เมื่อมีจิตใจเป็นมิตรต่อกันแล้วอื่น ๆ ก็เรียบร้อย เมื่อจะสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กก็สอนอย่างถูกต้อง ปลูกความเชื่อที่ถูกต้องให้แก่เด็ก ต่อมาถึงวาระครูอาจารย์สั่งสอนอบรมศิษย์ และพระภิกษุสามเณรอบรมกุลบุตรกุลธิดาเป็นต้น เมื่อผู้อบรมเหล่านี้ อบรมให้เกิดความเชื่ออย่างมีเหตุผลในทางต่าง ๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรม ก็จะทำให้เกิดศรัทธาที่ถูกต้อง เป็นความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เพราะเชื่อด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง กล่าวโดยเฉพาะศรัทธาทางพระพุทธศาสนา เมื่ออบรมให้รู้ให้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนา มิใช่เวทมนต์คาถาขลังอย่างทางไสยศาสตร์ มิใช้เป็นตำราทำนายโชคชะตาอย่างโหราศาสตร์ มิใช่เป็นตำราเล่นแร่แปรธาตุผสมธาตุ สร้างรถสร้างเรือสร้างปรมาณูเป็นต้นอย่างวิทยาศาสตร์ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า แสดงทางแห่งความบริสุทธิ์ไว้อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งทุก ๆ คนต้องปฏิบัติด้วยตนเอง จึงจะได้รับผลดีตามแต่จะปฏิบัติได้ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้รับผลหรือไปทำชั่วทำผิดที่ตรงกันข้ามก็จักได้ผลชั่วเพราะทุก ๆ คนมีกรรมเป็นของของตนเอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมแล้วตรัสบอกเปิดเผยพระธรรมนั้นมิได้เป็นเทพเจ้า ผู้สร้างผู้บันดาลให้ใครเป็นอะไร พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วตามพระธรรม และช่วยบอกเปิดเผยพระธรรมนั้น มิได้เป็นเทพเจ้าผู้สร้างผู้ดลบันดาลให้ใครเป็นอะไร พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วตามพระธรรม และช่วยบอกเปิดเผยพระธรรม มิใช่บอกให้อะไรอื่น เมื่อรู้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และปลูกศรัทธาอย่างถูกต้องให้เกิดขึ้นแล้ว ก็จักไม่หวังอะไรผิด ๆ จากพระพุทธศาสนา เช่นหวังความศักดิ์สิทธิ์ปัองกันภัยต่าง ๆ ภายนอก อำนวยโชคลาภเป็นต้น เมื่อหวังอะไรผิด ๆ แล้วไม่ได้สมหวังก็จักเสื่อมความนับถือลงไป ฉะนั้น เมื่อมีศรัทธาที่ถูกต้อง เมื่อหวังจะพ้นชั่วได้ดี ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปอ้อนวอนบนบานอะไรที่ไหน ถ้าจะอ้อนวอนก็อ้อนวอนตนเองให้เว้นจากการทำชั่วให้ทำดีก็จักเป็นคนดีขึ้น และจักได้รับผลดีด้วยตนเอง บุคคลผู้มีหน้าที่ชักจูงศรัทธา แม้จะพยายามอบรมปลูกหรือปรับศรัทธาให้ถูกต้อง แต่ความสำเร็จจะมีมิได้ ก็ต้องอาศัยบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้รับการอบรมที่ถูกต้องนั้น คือ

ข. ตนเอง ได้แก่ตัวเราเองทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เพราะตัวเราเองจำต้องคอยตรวจสอบดูศรัทธาของตัวเราเอง ว่าเป็นอย่างไรถูกต้องหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ถูก คือให้

เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง
เชื่อว่าบุญบาปมีจริง
เชื่อว่าผลของบุญบาปมีจริง
เชื่อว่าบุญบาปที่ตนทำเป็นของตนจริง

พยายามคิดทำความเข้าใจในหลักของความเชื่อเหล่านี้ เพราะตัวเราเองต้องเห็นจริงด้วยความเชื่อจึงจะตั้งมั่น เมื่อมีความเชื่ออย่างนี้ สิ่งที่รู้ว่าเป็นบาปเป็นความชั่วก็จักไม่ทำ จักทำแต่สิ่งที่เป็นบุณเป็นความดี ใครมีศรัทธาอย่างนี้ก็พึงหวังได้ว่าจักเป็นคนดีได้จริง ๆ ในขั้นต้นเมื่อยังไม่อาจเห็นจริงได้ด้วยตนเอง ในหลักของศรัทธาดังกล่าว ก็ทำความเชื่อฟังไปก่อน ไม่ดื้อถือรั้น ความดื้อถือรั้น ไม่อยู่ในโอวาทของมารดาบิดาครูอาจารย์ ตลอดถึงของพระพุทธเจ้า เป็นการไม่ดี ดังเรื่องเห็นกงจักรเป็นดอกบัวในคัมภีร์ชาดก เรื่องมีว่า

ในกาลของพระกัสสปพุทธเจ้า บุตรของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงพาราณสี ชื่อว่ามิตตวินทุกะ เป็นเด็กไม่มีศรัทธา ฝ่ายมารดาบิดาเป็นผู้มีศรัทธา เป็นพระโสดาบัน ต่อมาบิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงเป็นผู้จัดแจงทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งจึงแนะนำบุตรว่า เจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์มิใช่ง่าย จงไปรักษาศีลฟังธรรม มิตตวินทุกะตอบว่า ไม่มีประโยชน์อะไรในการรักษาศีลฟังธรรม แม่อย่าพูดอะไรอีกเลย ผมจะไปตามกรรม ในวันอุโบสถวันหนึ่งมารดาได้กล่าวแก่บุตรว่า วันนี้เป็นวันอุโลสถเจ้าจงไปฟังธรรม กลับมาแล้วแม่จะให้ทรัพย์แก่เจ้าพ้นหนึ่ง มิตตะวินทุกะรับคำ จึงสมาทานอุโบสถศีล บริโภคอาหารเช้าแล้วก็ไปวัด แต่ไปหลบนอนเสียในที่แห่งหนึ่ง ไม่ได้ฟังธรรม กลับมาแล้วกับทรัพย์จากมารดา ในวันอุโบสถต่อมาก็ได้ปฏิบัติอย่างนี้ จนรวบรวมทรัพย์ได้เป็นอันมาก จึงคิดจะโดยสารเรือข้ามทะเลไปทำการค้าขาย ได้บอกลามารดา ฝ่ายมารดาก็ห้ามมิให้ไปเพราะว่ามีบุตรอยู่คนเดียวและทรัพย์ก็มีอยู่มาก มิตตวินทุกะก็ไม่ยอมจะออกไป มารดาก็จับมือดึงไว้ มิตตวินทุกะก็ทำร้ายมารดาให้ล้มลงแล้วโดยสารเรือออกทะเลไป เมื่อเรือออกทะเลไปได้ ๗ วันก็หยุดนิ่งอยู่ ในสมัยนั้นเชื่อกันว่าเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ต้องมีคนกาลกิณีอยู่บนเรือ และต้องจับสลากกันทุกคน ใครจับถูกสลากกาลกิณี ก็ต้องถูกปล่อยลงแพให้ลอยไปตามยถากรรม ฉะนั้นจึงมีการจับสลากกัน สลากกาลกิณีได้ตกแก่มิตตวินทุกะถึง ๓ ครั้ง ชนทั้งหลายจึงกล่าวว่าคน ๆ เดียวอย่าทำให้คนเป็นอันมากต้องวินาศเสียเลย จึงให้มิตตวินทุกะลงแพ ปล่อยไปในทะเล เรือก็แล่นต่อไปได้ในขณะนั้น ฝ่ายแพที่มิตตวินทุกะลงไปอยู่ได้ลอยไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง มิตตวินทุกะขึ้นไปอยู่บนเกาะนั้น ปรารถนาจะเที่ยวต่อไปก็ลงแพต่อไปอีกจนถึงเกาะหนึ่ง ได้ขึ้นไปบนเกาะนั้น พบเมืองเข้าเมืองหนึ่งมี ๔ ทวาร ได้ยินว่าที่นั้นเป็นเมืองที่สวยงาม จึงเข้าไปในเมืองนั้น ได้เห็นสัตว์นรกตนหนึ่ง สวมกงจักรคมกริบเหมือนมีดโกนหมุนบดอยู่บนศรีษะ มิตตวินทุกะได้เห็นกงจักรบนศีรษะของสัตว์นรกนั้นเหมือนอย่างดอกบัว ได้เห็นโซ่ตรวนที่รัดตรึงตัวสัตว์นรกนั้น เหมือนอย่างเครื่องประดับ ได้เห็นโลหิตที่ไหลจากศีรษะของสัตว์นรกนั้นเหมือนอย่างแป้งลูบไล้สีแดง ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญเหมือนดังเสียงร้องเพลงที่ไพเราะ จึงเข้าไปหาสัตว์นรกนั้น พูดขอดอกบัวที่สวมอยู่บนศรีษะ สัตว์นรกนั้นจึงบอกว่า นี่ไม่ใช่ดอกบัวแต่เป็นกงจักร มิตตวินทุกะก็ไม่เชื่อ ยังยืนยันขอให้ได้ สัตว์นรกจึงคิดว่าชะรอยบาปของเราจักสิ้นแล้ว ชายคนนี้คงจะทุบตีมารดาเหมือนกับเรา มารับผลกรรมต่อไป จึงถอดกงจักรจากศีรษะ กล่าวว่า อยากได้ดอกบัวนี้ ก็จงรับเอาไป แล้วก็สวมกงจักรบนศีรษะของมิตตวินทุกะ กงจักรนั้นก็หมุนบดกระหม่อมของมิตตวินทุกะ ในขณะนั้น มิตตวินทุกะก็รู้ว่าเป็นกงจักร ไม่ใช่ดอกบัวแต่ก็ไม่สามารถจะถอดออกได้ ต้องได้รับทุกข์ต่อไปบนเกาะนั้นจนสิ้นกรรม นิทานในชาดกตามที่เล่ามานี้เป็นนิทานสุภาษิต แสดงให้เห็นโทษของความไม่มีศรัทธาที่ถูกต้อง มีความดื้อถือรั้นไม่อยู่ในโอวาทของท่าน ที่สมควรเชื่อฟัง ประพฤติดึงดันไปตามใจของตนเอง หรือเรียกว่าเชื่อใจของตนเอง หรือเชื่อตนเองไปอย่างผิด ๆ ซ้ำยังทำร้ายผู้มีพระคุณที่ตนควรจะเชื่อฟังเคารพนับถือ จึงต้องประสบความทุกข์เดือดร้อน และเมื่อเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้นก็เชื่อว่าเป็นดอกบัวจริง ๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างฉกรรจ์ จึงอ้อนวอนขอเอากงจักรมาสวมศีรษะ เป็นการอ้อนวอนขอเอาทุกข์มาให้แก่ตนเอง ต้องประสบความทุกข์วิบัติเหมือนเช่นนี้ บางทีได้คิดเมื่อสายไปเสียแล้วก็เหลือที่แก้ไข อย่างมิตตวินทุกะรู้ว่ากงจักร ก็ต่อเมื่อสวมอยู่บนศีรษะแล้ว ไม่สามารถจะถอดออกได้

ส่วนผู้ที่อยู่ในโอวาท แม้ทีแรกจะยังไม่ศรัทธา แต่ภายหลังอาจมีศรัทธาได้ ดังเรื่องอรรถกถาธรรมบทว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวนาราม ใก้ลกรุงสาวัตถี นายกาละ บุตรอนาถปิณฑิกเศรษฐีไม่มีศรัทธาจะฟังธรรม บิดาจึงว่ากล่าวให้ไปฟังธรรม อย่างเดียวกับมารดาของมิตตวินทุกะ และให้เรียนจำพระธรรมให้ได้บทหนึ่ง นายกาละจึงตั้งใจฟัง เมื่อจำได้ก็ได้ความรู้ความเข้าใจในพระธรรม จนได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม สำเร็จประโยชน์ตามที่บิดาประสงค์

ผู้ที่เข้าใจพระธรรมซาบซึ้งดังนั้น ย่อมมีศรัธาอย่างถูกต้องและตั้งมั่น ดังบุรุษโรคเรื้อนผู้ยากจนชื่อสุปปพุทธะ ท้าวสักกเทวราชคิดจะทดลองศรัทธา จึงมาตรัสว่า “เจ้าเป็นคนยากจนขัดสน เอาเถิด เราจักให้ทรัพย์มหาศาลแก่เจ้า เจ้าจงกล่าวว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เลิกกันที” สุปปพุทธะกล่าวว่า ท้าวสักกะเป็นอันธพาล ตนมิใช่คนขัดสน แต่เป็นคนมีสุข มีทรัพย์มีศรัทธาเป็นต้น ศรัทธาที่ตั้งมั่นให้สำเร็จประโยชน์ดังเช่นที่กล่าว

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ว่า “สทฺธา สาธุ ปติฏฺิตา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์สำเร็จแล”

“การนับถือพระรัตนตรัยของชาวพุทธ” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

เวรและวิธีป้องกัน ระงับเวร

การผูกเวร
“ฝากไว้ก่อนเถิด รอให้ถึงทีเราบ้าง” นาย ข. คิดผูกใจไว้เมื่อถูกนาย ก. ข่มเหงคะเนงร้าย ต่อมาเมื่อนาย ข. ได้โอกาสก็ทำร้ายนาย ก. ตอบแทน นาย ก. ก็ทำร้ายนาย ข. ได้โอกาสก็ทำร้ายนาย ก. ตอบแตน นาย ก. ก็ทำร้ายนาย ข. ตอบเข้าอีก แล้วต่างก็ทำร้ายตอบกันไปตอบกันมา ตัวอย่างนี้แหละเรียกว่าเวร บางรายผูกเวรกันไปชั่วลูกชั่วหลาน บางรายผู้ใหญ่ผูกเวรกันแล้ว ยังห้ามไม่ให้บุตรหลานของตนผูกมิตรกันอีกด้วย ถือว่าผูกมิตรกับลูกหลานศัตรู มิใช่แต่ต้องร้ายแรงจึงเรียกว่าเวร ถึงรายย่อยๆ ดังการตอบโต้กันในวงด่าวงชกต่อยก็เรียกว่าเวร เช่น นาย ก. ด่า นาย ข. ชกต่อยนาย ข. ก่อน นาย ข.ก็ด่าตอบ ชกต่อยตอบ แล้วต่างก็ด่าและต่างก็ชกต่อยกันอุตลุค บางทีวงวิวาทขยายออกไป คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ ก็ไปบอกพรรคพวกร่างคณะร่วมโรงเรียนให้พลอยโกรธ แล้วยกพวกไปชกต่อยต่อสู้กัน ขยายวงเวรออกไป บางรายเด็กทะเลาะกันแล้วไปฟ้องผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายเข้ากับเด็กที่เป็นบุตรหลายของตนก็ออกต่อว่าต่อปากคำวิวาทกัน เวรวงเด็กก็ขยายออกเป็นเวรวงผู้ใหญ่ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องทะเลาะวิวาทกันรายใหญ่ๆ มิใช่น้อยเกิดจากมูลเหตุที่เล็กนิดเดียว ดังนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวทำให้เกิดสงครามกลางเมือง

วงเวรในระหว่างบุคคลให้เกิดความเสียหายในวงแคบ ส่วนวงเวรในระหว่างหมู่คณะให้เกิดความเสียหายในวงกว้างออกไป ยิ่งวงเวรในระหว่างประเทศชาติ ในระหว่างค่ายของชาติทั้งหลาย ยิ่งให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ตลอดจนถึงทั้งโลก เหล่านี้เป็นเรื่องของเวรทั้งนั้น ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจควบคู่ไปกันเรื่องกรรม

เวรคืออะไร
เวรคือความเป็นศัตรูกันของบุคคล ๒ คนหรือ ๒ ฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรมเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายนั้นก็ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้นตอบแทน เวรจึงประกอบด้วยบุคคล ๒ คนหรือ ๒ ฝ่าย คือผู้ก่อความเสียหาย ๑ ผู้รับความเสียหาย ๑ บุคคลที่ ๒ นี้ผูกใจเจ็บแค้น จึงเกิดความเป็นศัตรูกันขึ้น นี้แหละคือเวร

เวรเกิดจากอะไร
เวรเกิดจากความผูกใจเจ็บแค้นของบุคคลที่ ๒ คือผู้รับความเสียหาย พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า “ชนเหล่าใดผูกอยู่ว่าคนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นไม่สงบ” ดังนี้ ทั้งนี้เพราะลำพังบุคคลที่ ๑ ฝ่ายเดียวก็ยังไม่เป็นเวรสมบูรณ์ ต่อเมื่อบุคคลที่ ๒ ผูกใจเจ็บไว้จึงเกิดเป็นเวรสมบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลที่ ๒ นั้นไม่ผูกใจเจ็บก็ไม่เกิดเป็นเวรขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้น ความเกิดเป็นเวรขึ้นจึงมีเพราะบุคคลที่ ๒ เป็นสำคัญ เห็นอย่างง่ายๆ ในเรื่องเวรสามัญ เมื่อมีใครมาทำความล่วงเกินอะไรเล็กๆ น้อยๆ ต่อเรา เมื่อเราไม่ผูกอาฆาต เขาและเราก็ไม่เกิดเป็นศัตรูกัน คือไม่เกิดเป็นคู่เวรกันนั่นเอง เหมือนอย่างตบมือข้างเดียวไม่เกิดเสียง

เวรระงับเพราะอะไร
เวรระงับเพราะบุคคลที่ ๒ ไม่ผูกอาฆาตดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้โดยความว่า “ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกอยู่ว่า คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ เวรไม่ระงับด้วยเวรในกาลไหนๆ เลย แต่ย่อมระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร” ดังนี้ น่าคิดว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลที่ ๒ เป็นผู้ที่น่าติมากกว่าบุคคลที่ ๑ เพราะทำให้เป็นเวรขึ้น ในเรื่องเวรก็เป็นความจริงอย่างนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเป็นความกันในโรงศาล เมื่อมีใครเป็นโจทก์ฟ้องใครเป็นจำเลยขึ้น จึงเกิดเป็นความ คดีถึงที่สุดหรือโจทก์ถอนฟ้องเสียเมื่อใด ความก็ระงับเมื่อนั้น แต่ถ้าจำเลยไม่เป็นตัวการก่อกรรมเสียหายแก่โจทก์ เมื่อกล่าวโดยปกติมิใช่แกล้งกันแล้ว โจทก์ก็คงไม่ฟ้อง ฉันใดก็ดี บุคคลที่ ๑ นั้นเองเป็นมูลเหตุของเวร เพราะเป็นตัวการก่อกรรมเสียหายขึ้นก่อน

เวรเกี่ยวกับกรรมอย่างไร
เวรเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ ๑ ซึ่งทำความเสียหายให้แก่บุคคลที่ ๒ และเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ ๒ ซึ่งทำตอบด้วย ดังเช่น นาย ก. ฆ่า นาย ข. ลักทรัพย์นาย ข. นาย ข. จึงผูกใจอาฆาต เกิดเป็นเวรกันขึ้น นี้ก็เพราะกรรมของนาย ก. นั่นเอง ซึ่งทำแก่นาย ข. และนาย ข. ก็ผูกใจทำตอบ ฉะนั้นเวรจึงเกี่ยวแก่กรรมของบุคคลนั่นเอง ที่ยังให้เกิดความเสียหายเจ็บแค้นแก่คนอื่น กรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ละเว้นในศีล ๕ คือการฆ่าสัตว์ ๑ การลักทรัพย์ ๑ การประพฤติผิดประเพณีในทางกาม ๑ การพูดเท็จ ๑ การดื่มน้ำเมา ๑ เรียกว่าเวร ๕ หรือภัย ๕ อย่าง เพราะเป็นกรรมที่ก่อเวรก่อภัยทั้งนั้น เช่นการฆ่าสัตว์ ก็มีผู้ฆ่าฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน การลักทรัพย์ ก็มีผู้ลักฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกลักอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน ดังนี้เป็นตัวอย่าง เมื่อกล่าวโดยรวบรัด เวรเกิดจากกรรมที่ก่อความเสียหายให้แก่ใครๆ นั่นเอง

ผลเวรต่างจากผลกรรมอย่างไร
ผลของกรรมได้แสดงแล้วว่า ผลดีต่างๆ เกิดเพราะกรรมดี ผลชั่วต่างๆ เกิดเพราะกรรมชั่ว ส่วนผลของเวร คือ ความทุกข์ที่บุคคล ๒ ฝ่ายผู้เป็นศัตรูคู่เวรให้แก่กัน กรรมเมื่อให้ผลแล้วก็หมดไป เหมือนอย่างผู้ต้องโทษครบกำหนดแล้วก็พ้นโทษ ส่วนเวร เมื่อบุคคลทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นยังผูกใจเป็นศัตรูกันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่ระงับตราบนั้น แต่เมื่อบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย เลิกเป็นศัตรูกันเมื่อใด เวรก็ระงับเมื่อนั้น ฉะนั้น เวรจึงอาจยาวก็ได้ สั้นก็ได้ สุดแต่บุคคล ๒ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สัตว์บางชนิดพบกันเข้าไม่ได้ เป็นต้องทำร้ายกัน เช่นกากับนกเค้า บัณฑิตผู้ฉลาดในการสอน ยกเป็นตัวอย่างของเวรที่ผูกกันยืดยาวไม่รู้จบ เหมือนกับผูกกันมาตั้งแต่ปฐมกัลป์ และผูกกันไปไม่สิ้นสุด ในหมู่มนุษย์บางชาติบางเหล่าก็คล้ายๆ กันอย่างนั้น

วิธีระงับเวรและป้องกัน
อาศัยการปฏิบัติตามคำที่ทุกคนได้ฟังจนคุ้นหู คือ “ขออภัย” กับคำว่า “ให้อภัย” เมื่อใครทำอะไรล่วงเกินแก่คนอื่นก็กล่าวคำขออภัยหรือขอโทษ ฝ่ายผู้ที่ถูกล่วงเกินก็ให้อภัยคือยกโทษให้ คนเราต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ คือร่วมบ้านเรือน ร่วมโรงเรียน ร่วมประเทศชาติเป็นต้น ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ก็อาจจะประพฤติล่วงเกินกันบ้างเพราะความประมาทพลั้งเผลอต่างๆ ถ้าต่างไม่รู้จักขออภัยและไม่รู้จักให้อภัยแก่กันและกันแล้ว ก็จะทะเลาะวิวาทกัน แตกญาติแตกมิตรสหายกัน ไม่มีความสุขสงบ นี้แหละคือเวร อันได้แก่ความเป็นศัตรูกัน หรือเรียกอย่างเบาๆ ว่าไม่ถูกกันนั้นเอง

อนึ่ง จะคิดว่าล่วงเกินเขาแล้วก็ขอโทษเขาได้ ดังนี้แล้ว ไม่ระมัดระวังในความประพฤติของตนก็ไม่ถูก เพราะโดยปกติสามัญ ย่อมให้อภัยกันในกรณีที่ควรให้อภัย ซึ่งผู้ประพฤติล่วงเกินแสดงให้เห็นได้ ว่าทำไปด้วยความประมาทหรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา และให้เกิดโทษไม่มากนัก คนที่มีจิตใจสูงเป็นพิเศษเท่านั้นจึงจะให้อภัยในเรื่องที่ร้ายแรงได้ ซึ่งก็มีเป็นส่วนน้อย และถึงแม้จะให้อภัยในส่วนตัว แต่กฏหมายบ้านเมืองไม่ยอมอภัยให้ก็มี และโดยเฉพาะเมื่อเป็นบาปหรืออกุศลกรรมแล้ว กรรมที่ตนก่อขึ้นไม่ให้อภัยแก่ผู้ก่อกรรมนั้นเลย ฉะนั้น ทางที่ดีจึงควรมีสติระมัดระวัง มีขันติ คือความอดทน มีโสรัจจะ คือความสงบเสงี่ยมคอยเจียมตน ประหยัดตน ไม่ให้ก่อเหตุเป็นเวรเป็นภัยแก่ใคร พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ว่า “ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร”

คัดลอกมาจากหนังสือ “หลักกรรมในพระพุทธศาสนา” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

วิธีพิสูจน์กรรม

การพิสูจน์ทางโลก

เดี๋ยวนี้เมื่อพูดว่าอะไรเป็นอะไร ก็มักจะถูกถามว่า พิสูจน์ได้หรือไม่ เหมือนอย่างวิธีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ อันทุกๆ สิ่งที่ปรากกขึ้น หรือดังที่เรียกว่าปรากฏการณ์นั้น ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้แน่ ในเมื่อมีเครื่องพิสูจน์ที่เพียงพอ แต่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ชนิดไหนก็สุดแต่สิ่งที่จะพิสูจน์ ถ้าสิ่งที่พิสูจน์นั้นเป็นวัตถุหรือสสาร ก็พึงพิสูจน์ด้วยเครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้เป็นต้น ถ้าสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น จะใช้เครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นก็หาได้ไม่ ถ้าจะพึงใช้เครื่องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ทุกอย่างแล้ว ศาลหลวงก็ไม่ต้องตั้งขึ้น เพราะเมื่อใครถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าทำผิด ก็จับตัวมาเข้าห้องวิทยาศาตร์พิสูจน์ ไม่ต้องขึ้นศาล ในบัดนี้แม้จะมีเครื่องจับเท็จ ก็ใช้เป็นเพียงเครื่องมือประกอบเท่านั้น ใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยเด็ดขาดหาได้ไม่ ฉะนั้นจะพิสูจน์อะไรก็ต้องมีเครื่องพิสูจน์ที่ควรกัน กล่าวอย่างสรุป เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นวัตถุหรือสสาร ก็ใช้เครื่องพิสูจน์ในทางนั้น เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นความจริงที่นอกไปจากวัตถุหรือสสาร ก็ต้องใช้เครื่องพิสูจน์อย่างอื่นที่จะชี้ถึงความจริงนั้นๆ ได้ ดังวิธีที่ทั่วโลกก็ใช้กันอยู่แล้ว เป็นต้นว่า

การพิสูจน์ความผิด เมื่อบุคคลถูกกล่าวฟ้องร้องว่าทำผิดกฏหมาย ก็ต้องพิสูจน์กันตามวิธีที่บัญญัติไว้ในกฏหมายเช่น สืบสวน สอบสวน ไต่สวน พิจารณาวินิจฉัยโดยยุติธรรมตามกฏหมาย

การพิสูจน์ภูมิรู้สติปัญญา เรื่องนี้จะชั่งตวงวัดอย่างวัตถุหรือจะคำนวนด้วยวิธีคณิตศาสตร์ ให้รู้ว่าใครมีสติปัญญาเท่าไรหาได้ไม่ เพราะมิใช่เป็นสิ่งที่มีส่วนกว้างบางตื้นลึกหนักเบาอย่างสิ่งของ ฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีให้แสดงออกเหมือนอย่างในครั้งโบราณ ผู้ที่ไปเรียนสำเร็จศิลปศาสตร์มาแล้ว ก็แสดงศิลปศาสตร์นั้นในที่ประชุมชน ในบัดนี้ก็ใช้การสอบต่างๆ ตั้งเป็นข้อสอบให้ตอบ เมื่อตอบได้ตามกฏเกณฑ์ก็รับรองว่าสอบได้ มีภูมิรู้ชั้นนั้นชั้นนี้ แม้การวัดภูมิสติปัญญาที่เรียกว่าไอคิวของฝรั่งก็เป็นวิธีตั้งปัญหาให้ตอบเช่นเดียวกัน แล้วก็ตัดสินว่ามีสติปัญญาขนาดนั้นขนาดนี้ วิธีพิสูจน์ด้วยการสังเกตจากการแสดงออกนี้ก็คล้ายเป็นการทำนายอย่างหมอดู ซึ่งทำนายไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เป็นความจริงอย่างเต็มที่เหมือนอย่างรู้ด้วยญาณ (ความหยั่งรู้จริง) แต่เรียกว่าเป็นญาณสมมติก็พอได้คือต่างกับญาณ เมื่อใช้วิธีเป็นที่รับรองกันแล้ว เช่นวิธีสอบดังกล่าว ก็เป็นใช้ได้

การพิสูจน์มติและจิตใจ เมื่อต้องการจะรู้ว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไร จะใช้เครื่องชั่งตวงวัดเป็นต้น ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องใช้วิธีให้แสดงออกมา ในทางการเมืองเช่นออกเสียงเลือกตั้งออกเสียงแสดงประชามติ ในการประชุมเช่นการอภิปราย การลงมติ และในส่วนปลีกย่อย เฉพาะเรื่อง เฉพาะบุคคล ก็ใช้วิธีแหย่ให้บุคคลนั้นแสดงออกมา และสังเกตจากอาการที่เขาแสดงออกมานั้น แต่ถ้าเขาไม่แสดงอาการอะไรออกมาแล้วก็จะรู้ไม่ได้ เว้นไว้แต่จะมีญาณหยั่งรู้จิตใจของเขาเท่านั้น

การพิสูจน์ต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ แสดงว่าเครื่องพิสูจน์นั้นมีต่างๆ เมื่อวัตถุก็นำเข้าห้องวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นความผิดก็นำเข้าโรงศาล เมื่อเป็นภูมิรู้ก็นำเข้าสอบไล่ เมื่อเป็นจิตใจก็แหย่ให้แสดงออก ดังนี้เป็นต้น คราวนี้เป็นกรรมจะนำเข้าวิธีไหน? จำนะเข้าโรงศาลหรือจะนำเข้าห้องสอบไล่ดังกล่าวแล้วเป็นต้น ก็คงไม่ได้ผล จึงต้องนำเข้าพิสูจน์ตามหลักเหตุผล อันเป็นเหตุผลอย่างธรรมดาสามัญที่สามารถจะเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกของทุกๆ คน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

การพิสูจน์ตามหลักเหตุผล

ทุกๆ คนเมื่อตากแดดก็ร้อน เมื่ออาบน้ำก็เย็น เมื่อได้รับความร้อนเย็นตามที่ต้องการก็เป็นสุข เมื่อได้รับเกินต้องการก็เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้เป็นสุขหรือทุกข์เหล่านี้ เรียกว่าเหตุ ส่วนความสุขหรือทุกข์ที่ได้รับ เรียกว่าผล ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดสุข ก็เรียกว่าดี ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดทุกข์ก็เรียกว่าชั่วร้าย เหตุผลที่เกิดจากการทำของบุคคลก็เช่นเดียวกัน เช่นเมื่อผู้ใดมารังแกตัวเราให้เดือดร้อน เราก็เห็นว่าคนนั้นไม่ดีเกเร เมื่อมีผู้ใดมาช่วยเหลือเกื้อกูลตัวเราให้เป็นสุขสบาย เราก็เห็นว่าคนนั้นเป็นคนดี เป็นคนมีคุณเกื้อกูล ตัวอย่างง่ายๆ ดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องแสดงว่าทุกๆ คน ต่างก็มีสามัญสำนึกบอกตัวเองอยู่ว่า ความดีและความชั่วมีจริง เพราะเรารู้สึกตัวของเราเองว่าคนนั้นทำดีแก่เรา คนโน้นทำชั่วร้ายแก่เรา และในทำนองเดียวกันตัวเราเองก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่า ตัวเราทำดีหรือไม่ดีอย่างไร จนถึงบางทีรู้สึกภูมิใจในความดีของเรา หรือเสียใจในความชั่วของเรา ในเมื่อเกิดรู้สึกตัวขึ้น อันความดีหรือความชั่วที่ตัวเราทำหรือที่คนอื่นทำซึ่งปรากฏในความรู้สึกของเรานั้น คืออะไรเล่า? ก็คือกรรมนั่นเอง เป็นกุศลกรรม (กรรมดี) บ้าง เป็นอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) บ้าง ฉะนั้น กรรมจึงมีจริงและมีตัวอยู่จริง เพราะติดอยู่ในความรู้สึก ในจิตใจของตัวเราเอง ท่านผู้ทำความดีให้แก่ตัวเรา เช่า มารดาบิดา และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย พระคุณของท่านเหล่านี้ย่อมติดอยู่ในจิตใจของตัวเรา เกิดเป็นความกตัญญู (รู้พระคุณที่ท่านได้ทำ) และกตเวที (ประกาศพระคุณที่ท่านได้ทำแล้ว คือการตอบแทนพระคุณท่าน) ในทางตรงกันข้าม เมื่อใครทำไม่ดีต่อเรา ก็มักจะติดใจตัวเรา กลายเป็นผูกเวรกันต่อไปได้เหมือนกัน กรรมของคนอื่นยังติดใจตัวเราเองอยู่ได้ถึงเช่นนี้ ไฉนกรรมของเราเองจะติดใจตัวของเราเองอยู่ไม่ได้ เราไม่สามารถจะแกล้งลืมกรรมของเราได้ ถึงจะลืมไปแล้วก็ยังฝังอยู่อย่างลึกซึ้งในจิตใจ เพราะกรรมเกิดจากเจตนาของเรา จึงเป็นรอยจารึกของจิตใจ

กรรมและวิบาก

เมื่อรู้ว่ากรรมมีจริง ทำดีเมื่อใดเป็นกรรมดีเมื่อนั้น ทำไม่ดีเมื่อใดเป็นกรรมชั่วเมื่อนั้น ปัญหาต่อไปจึงมีว่า กรรม-วิบาก คือผลของกรรมมีหรือไม่ และมีอย่างไร คิดดูง่ายๆ ในเวลาสอบไล่ เมื่อได้รับข้อสอบคิดออกตอบได้สอบไล่ได้ การที่ตอบได้สอบไล่ได้เป็นผลดี เกิดจากความตั้งใจเรียนดี นี้แหละคือกรรมดีทำให้เกิดผลดีคือสอบไล่ได้ ถ้าตรงกันข้ามเรียนอย่างเหลวไหลจนถึงสอบไม่ได้ นี้เป็นกรรมชั่ว ทำให้เกิดผลชั่วคือสอบตก ฉะนั้น ผลของกรรมจึงมีอยู่จริง และมีตามชนิดของกรรม คือผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว เพราะกรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่วเสมอ ไม่สับสนกัน เหมือนอย่างต้นมะม่วงให้ผลเป็นมะม่วง ต้นขนุนให้ผลเป็นขนุน เป็นไปตามชนิด

แต่ยังมีปัญหาต่อไปอีก กรรมและกรรมวิบากนั้นเป็นของใคร คิดดูง่ายๆ อย่างการเรียนการสอบดังกล่าวแล้ว คนไหนเรียนคนนั้นรู้ คนไหนไม่เรียนคนนั้นไม่รู้ ถ้าไม่เรียนใครจะมาบันดาลให้ใครรู้ขึ้นเองหาได้ไม่ ฉะนั้น กรรมและกรรมวิบากจึงเป็นของของคนที่ทำกรรมนั้นเอง ผู้ใดทำกรรมอย่างใดก็ย่อมได้ผลกรรมอย่างนั้น เหมือนอย่างหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทุกๆ คนจึงต้องรับผิดชอบต่อกรรมของตนเอง จะป้ายไปให้คนอื่นไม่ได้ คนที่ทำดี เช่นประพฤติตนเรียบร้อย ช่วยทำกิจที่เป็นประโยชน์เป็นต้น จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็เป็นคนดีขึ้น เพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะชมหรือไม่ก็ตาม ตัวผู้ทำเองก็รู้สึกตัวเองว่าทำดี คนที่ทำไม่ดี เช่นประพฤติตนเกะกะระราน เป็นหัวขโมยเป็นต้น ก็เป็นคนชั่วขึ้นเพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะติหรือไม่ก็ตาม ตัวผู้ทำเองก็รู้สึกว่าตัวของตัวทำชั่ว อาจจะป้ายความผิดให้ผู้อื่น ด้วยการหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิด แต่จะหลอกตัวเองไม่ได้ ตัวเองย่อมรู้สึกสำนึกว่าตัวเองอย่างเต็มที ฉะนั้น เมื่อทำดีทำชั่วแล้ว จึงปัดดีปัดชั่วออกไปให้พ้นตัวเองไม่ได้ เพราะรู้สึกตัวเองอยู่ทางจิตใจของตน ใครจะแย่งดีไปจะใส่ชั่วให้ก็ไม่ได้ นอกจากจะหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิดเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

สรุปความว่า เมื่อคิดพิสูจน์ด้วยสามัญสำนึกตามเหตุผลอย่างง่ายๆ ในเรื่องความดีความชั่วทั่วๆ ไปที่มีอยู่เฉพาะหน้า ก็จะเห็นได้แล้วว่า

๑. กรรมมี คือมีความดีความชั่วในการทำของทุกๆ คน
๒. กรรมวิบากมี คือมีผลดีของความดี มีผลชั่วของความชั่ว
๓. กรรมเป็นของผู้ทำ คือใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลกรรมอย่างนั้น

เมื่อกล่าวเฉพาะตัวของเราเองแล้ว เมื่อเป็นกรรม ของเราเองยิ่งพิสูจน์ได้ง่าย คือนำเข้าพิสูจน์ในห้องใจของเราเอง เพราะเรารู้ตัวเราเองได้ดี แต่ข้อสำคัญเราต้องมียุติธรรม คือไม่ลำเอียง เหมือนอย่างการพิสูจน์วิตถุหรือสสารในห้องวิทยาศาสตร์ เครื่องพิสูจน์ต้องใช้ได้ หรือการพิสูจน์ความผิดในโรงศาล โรงศาลก็ต้องยุติธรรม

คัดลอกมาจากหนังสือ “หลักกรรมในพระพุทธศาสนา” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

ญาณในอริยสัจ ๔

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๔ บท คือ ๑. ทุกข์ ๒. ทุกขสมุทัย ๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ เรียกกันว่าอริยสัจ ก็เรียกตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา คือเทศนาทีแรกของพระองค์ที่ตรัสว่าพระตถาคตคือพระองค์ได้เว้นทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือ ทางกามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบพัวพ้นอยู่ด้วยความสุขสดชื่นในกาม และทางอัตตกิลมถานุโยค ทางทรมานตนให้ลำบาก ได้ทรงปฏิบัติอยู่ในทางอันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่เกี่ยวข้องด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ก็คือมรรคมีองค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นที่สุด จึงได้ทรงเกิดญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และมรรค หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ญาณคือความหยั่งรู้ที่บังเกิดขี้นแก่พระองค์นั้นเป็นญาณที่บังเกิดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยสดับแล้วมาก่อน ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าว โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

สัจจญาณ

มีวนรอบ ๓ ก็คือวนรอบในสัจจะทั้ง ๔ นี้โดยเป็นสัจจญาณคือหยั่งรู้ว่าจริง คือนี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้เป็นทุกขนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคคือทางดับทุกข์จริง

ข้อที่ว่านี้เป็นทุกข์จริงก็คือว่า ความเกิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศกคือความแห้งใจ ความปริเทวะคือความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะคือความไม่สบายกาย โทมนัสสะคือความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจ เป็นทุกข์จริง ความประจวบกับสิ่งคือสัตว์และสังขารไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์จริง และกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธฺ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เป็นทุกข์จริง

ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์นั้นก็คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันประกอบด้วยนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดในยินดี เพลิดเพลินยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ จำแนกออกเป็นกามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง

ดับตัณหาเสียได้ทุกข์ดับไปหมด นี้เป็นความดับทุกข์จริง

มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นต้นนั้น เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง

พระญาณคือความหยั่งรู้ว่า นี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง นี้เป็นความดับทุกข์จริง นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง นี้เป็นสัจจญาณ นี่ก็วนไปในสัจจะทั้ง ๔ รอบหนึ่ง

กิจจญาณ

กิจจญาณ ความหยั่งรู้ในกิจคือข้อที่พึงกระทำได้เกิดพระญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นว่า ทุกข์เป็นข้อที่พึงกำนหนดรู้อันเรียกว่าปริญญา สมุทัยเป็นข้อที่ควรละอันเรียกว่าปหานะ ความดับทุกข์เป็นข้อที่พึงกระทำให้แจ้งอันเรียกว่าสัจฉิกรณะ มรรคคือข้อที่ควรอบรมปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอันเรียกว่าภาวนา นี้เป็นกิจที่พึงกระทำในสัจจะทั้ง ๔ เรียกว่ากิจจญาณ

กตญาณ

และกตญาณ คือความหยั่งรู้กิจทั้ง ๔ นั้นว่าได้กระทำแล้ว คือว่าทุกข์นั้นพระองค์ก็ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยคือตัณหาพระองค์ก็ทรงละได้แล้ว นิโรธคือความดับทุกข์พระองค์ก็ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นครบถ้วนแล้ว เรียกว่ากตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ว่ากิจได้กระทำเสร็จแล้ว

เพราะฉะนั้น พระญาณทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเข้าก็เป็นอาการ ๑๒ จึงเรียกว่ามีวนรอบ ๓ อาการ ๓๒ วนรอบไปโดยเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณในอริยสัจทั้ง ๔ ก็เป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒ พระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้บังเกิดขึ้นในขณะเดียวกันเพราะเหตุที่พระองค์ได้บรรลุพระญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้ ในอริยสัจทั้ง ๔ สมบูรณ์ ๒๘ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิคือความตรัสรู้ยิ่งเป็นยอดเยี่ยมแล้ว พระองค์สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์พระองค์ได้อยู่จบแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อที่จะเป็นอย่างนี้อีก ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า

คัดลอกมาจากหนังสือ “ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

มีปัญหาอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ คือ ไม่ตรัสตอบแก้ อีกอย่างหนึ่งคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์คือตรัสตอบแก้

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์นั้น คือ เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในครั้งพุทธกาลที่มีอยู่ ๑๐ ข้อ ที่มักจะยกขึ้นอ้างถึงในพระสูตรทั้งหลาย ปัญหา ๑๐ ข้อเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เทึ่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีวะเป็นอย่างอื่น สรีระเป็นอย่างอื่น ถัดจากตายไปตถาคตมีอยู่ ถัดจากตายไปตถาคตไม่มี ถัดจากตายไปตถาคตมีด้วยไม่มีด้วย ถัดจากตายไปตถาคตมีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ปัญหาเหล่านี้ได้มีผู้มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์คือไม่ตรัสตอบแก้

ในปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ พิจารณาดูความก็จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับโลก โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด คือโลกนี้ยั่งยืนอยู่ตลอดไป หรือไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ก็สืบมาจากยึ่งยืนหรือไม่ยั่งยืนดังกล่าวนั้น ซึ่งได้มีอาจารย์หรือมีศาสดาแสดงไว้ต่างๆ กัน ดั่งในศาสนาที่บังเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาลก็ดี ก่อนพุทธกาลก็ดี ได้มีแสดงถึงผู้สร้างโลก พราหมณ์หรือฮินดูก็มีแสดงถึงผู้สร้างโลก ศาสนาที่มีในภายหลังก็มีแสดงถึงผู้สร้างโลก ก็เป็นปัญหาเค้าเดียวกัน

เรื่องชีวะกับเรื่องสรีระก็เหมือนกัน ชีวะนั้นก็คือความเป็นอยู่หรือตัวชีวิต สรีะนั้นคือร่างกายตัวชีวะหรือชีวิต หรือตัวร่างกายนั้นเป็นอันเดียวกันหรือว่าแยกกันอย่างไร ถ้าหากว่าชีวะหรือสรีระเป็นอย่างเดียวกัน สรีระแตกสลายคือตาย ชีวะก็จะต้องดับ ถ้าหากว่าแยกกัน สรีระแตกสลาย ชีวะก็อาจจะไม่ดับ และชีวะหรือชีวิตนี้ก็รวมถึงอัตตาหรืออาตมันอันเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันไปถึงตายเกิดตายสูญ

คราวนี้มาถึงปัญหาของตถาคต ตถาคตนั้นที่ใช้ทั่วไปก็หมายถึงพระพุทธเจ้าเอง ซึ่งตรัสเรียกพระองค์เองว่าตถาคต ถ้าหมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเองก็มีปัญหาว่า ถัดจากที่ตายไปคือดับขันธ์ องค์ตถาคตมีหรือไม่มี หรือทั้งมีทั้งไม่มี หรือว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ อีกอย่างหนึ่ง ตถาคตพระอาจารย์แสดงว่าหมายถึงสัตว์ ดังที่เราเรียกว่าสัตวโลกหรือหมู่สัตว์ และคำว่าสัตว์นี้ก็มิได้หมายความว่าสัตว์เดียรัจฉาน ดังที่เราเรียกกันเท่านั้น แต่ว่าครอบหมดทั้งมนุษย์ทั้งเดียรัจฉาน ทั้งเทพดามารพรหมทั้งหมด หรือแม้ว่าสัตว์นรกเปรตอสุรกายทั้งหมด ซึ่งยังมีความติดพันเกี่ยวข้องอยู่กับโลกก็ชื่อว่าสัตว์ทั้งหมด สิ่งที่เรียกว่าสัตว์นี้ถัดจากตายไปจะมีหรือไม่มี หรือว่าทั้งมีทั้งไม่มี หรือว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ก็เป็นปัญหาที่พูดถกเถียงกัน ได้มีผู้มากราบทูลถามถึงปัญหาเหล่านี้ พระองค์ไม่ตรัสพยากรณ์

ได้มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่ามาลุงกยะ ได้คิดว่าข้อที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ตนเองไม่พอใจ ฉะนั้นก็คิดจะเข้าไปเฝ้ากราบทูลถาม และคิดว่าถ้าตรัสพยากรณ์ตนก็จะบวชอยู่ต่อไป ถ้าไม่ตรัสพยากรณ์ก็จะลาสิกขา ท่านมาลุงกยะจึงได้เข้าไปเฝ้าและได้กราบทูลถามปัญหาเหล่านี้ และก็ได้กราบทูลว่า ขอให้พระองค์ตรัสตอบ ถ้าทรงทราบก็ให้ตรัสตอบแก้ ถ้าไม่ทรงทราบก็ให้ตรัสบอกตรงๆ ว่าไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ถ้าไม่ตรัสตอบแก้อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะลาสิกขาคือสึกไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระองค์มิได้ทรงชักชวนให้ท่านมาลุงกยะเข้ามาบวชว่าถ้าเข้ามาบวชแล้วจะตรัสพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ และเมื่อท่านมาลุงกยะเข้ามาบวช ท่านมาลุงกยะเองก็มิได้ขอให้พระองค์ทรงรับรองว่าจะตรัสแก้ปัญหาเหล่านี้ตนจึงจะบวช เพราะฉะนั้น ใครเล่าที่เป็นผู้ขอร้องและเป็นผู้รับรองในเรื่องนี้ และจะไปทวงเอาเรื่องนี้จากใครเล่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปว่า ปัญหาที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านี้ ก็เป็นปัญหาที่ไม่พึงทรงพยากรณ์นั่นเอง ผู้ที่จะคิดคาดคั้นให้พระองค์ทรงพยากรณ์ก็จะตายเปล่า ไม่เป็นประโยชน์อะไร

ทรงพยากรณ์เรื่องทุกข์และการแก้ทุกข์

ต่อจากนั้นพระองค์ก็ตรัสต่อไป โดยตรัสแสดงถึงปัญหาที่ทรงพยากรณ์แก้ไข โดยความก็คือเรื่องทุกข์และเรื่องแก้ทุกข์เป็นต้น ซึ่งเป็นไปอยู่ในปัจจุบันอันเป็นปัญหาที่จะพึงแก้ไขในปัจจุบัน โดยตรัสยกเป็นข้ออุปมาขึ้นก่อน ว่าเหมือนอย่างว่ามีบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรที่มีพิษร้าย ญาติมิตรได้นำบุรุษที่ถูกยิงนั้นไปหาหมอผ่าตัด ถ้าหากว่าหมอผ่าตัดนั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักยังไม่ผ่าตัดนำลูกศรนี้ออกเยียวยารักษา จนกว่าเราจะรู้ว่าบุรุษนั้นถูกใครยิง คนยิงนั้นเป็นใคร คนยิงนั้นชื่ออะไร โคตรสกุลอะไร คนยิงนั้นเป็นคนสูง เป็นคนต่ำ หรือเป็นคนท่ามกลาง คนยิงนั้นมีผิวดำ หรือผิดคล้ำ หรือผิวสองสี และคนยิงนั้นอยู่ที่ไหน บ้านไหน นิคมไหน นครไหน และลูกศรที่ยิงนั้นเล่าเป็นแบบลูกศรมีแล่งหรือเป็นแบบเกาทัณฑ์ สายที่ใช้ยิงเป็นสายที่ทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น ถ้าหากว่าหมอผ่าตัดนั้นจะพึงกล่าวดั่งนี้ ให้สอบสวนค้นคว้าไปถึงเรื่องคนยิงถึงเรื่องลูกศรเป็นต้นดังกล่าวนั้น บุรุษผู้ถูกยิงด้วยลูกศรนั้นก็จะพึงตายเสียก่อนที่จะรักษา

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์เหล่านี้ แต่ว่าพระองค์จะตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พึงพยากรณ์ อันจะเป็นปัญหาที่แก้ทุกข์ถอนทุกข์ทั้งปวงได้ในปัจจุบัน คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญจวนใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เพราะในปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้น แม้ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรในปัญหาเหล่านั้น คือใครจะมีความเห็นว่าโลกเที่ยงก็ตาม โลกไม่เที่ยงก็ตาม ก็คงมีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ดังกล่าวนั้นอยู่นั่นเอง จะมีความเห็นอย่างไรก็ถอนทุกข์เหล่านี้ไม่ได้ พระองค์จึงต้องการที่จะแก้ปัญหาที่จะถอนทุกข์เหล่านี้ได้ในปัจจุบันนี่แหละ ฉะนั้น ปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้นจึงเป็นปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายความสิ้นติดใจยินดี เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อง เพื่อนิพพานคือความดับ

แต่ว่าปัญหาที่ทรงพยากรณ์อันจะเป็นเครื่องแก้ทุกข์ในปัจจุบันนั้น ย่อมเป็นการแก้ที่ประกอบด้วยประโยชน์ ที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ที่เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความสิ้นติดใจยินดี เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพานคือความดับ ปัญหาที่ทรงพยากรณ์นั้นก็คือปัญหาที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดั่งนี้

ทรงแสดงปัจจุบันธรรม

ท่านมาลุงกยะได้ฟังพระพุทธภาษิตก็มีความอภินันท์ยินดีในภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เป็นอันว่าท่านก็พอใจในพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้จึงเป็นพระสูตรที่แสดงลักษณะของพระพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานั้นไม่แสดงถึงเรื่องต่างๆ อันเป็นปัญหาที่ไม่ตรัสพยากรณ์ และปัญหาที่ไม่ตรัสพยากรณ์นี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตก ถึงจะตรัสพยากรณ์ไปก็ไม่มีใครที่จะไปตามรู้ได้ เช่น ปัญหาว่าโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ถึงแม้จะตรัสพยากรณ์ว่าอย่างไร ดังที่มีศาสดาหรือศาสนาก่อนพุทธกาลก็ตาม หลังก็ตาม ได้กล่าวเอาไว้ถึงเรื่องสร้างโลกต่างๆ ก็ไม่มีใครที่จะตามไปรู้ได้ ได้อย่างเดียวคือเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น และก็เป็นความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาคือความรู้ เชื่ออย่างเดียวจะเรียกว่าเชื่ออย่างหลับตาเชื่อก็ได้เพราะไม่รู้ เชื่อด้วยศรัธาในศาสดาผู้แสดงนั้นอย่างเดียวเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เชื่อเอาทีเดียว เพราะว่าไม่สามารถจะตามไปรู้ได้ และแม้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจจะแก้ทุกข์อะไรได้ที่เป็นปัจจุบันดังกล่าว ก็คงยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง แก้อะไรไม่ได้ และหากทรงแสดงไปก็อาจจะเป็นที่ตั้งแห่งความวิวาทขัดแย้งแก่บรรดาผู้แสดงอื่นๆ ที่ต่างก็แสดงกันไปต่างๆ และก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ยิ่งเพื่มความทุกข์เข้าไปอีกเพราะวิวาทขัดแย้งนั้นเพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ตัดประเด็นเสียทีเดียวคือ ไม่แสดงไม่แก้ไข การที่ไม่แสดงนั้นก็มีความหมายว่าไม่เข้าไปพาดพิงเกี่ยวข้องถึงทั้งในด้านรับรองทั้งในด้านปฏิเสธ แปลว่านอกเรื่องที่จะยกขึ้นมาวินิจฉัยว่าอย่างไร เพราะว่าในปัจจุบันนี้ทุกๆ คนต่างก็เพียบกันด้วยความทุกข์ต่างๆ อยู่แล้ว มีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ มีโสกะ ความโศก ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพันรัญจวนใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ ความประจวบกับสัตว์และสังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รัก ความปรารถไม่สมหวัง และกล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ดังที่เราสวดกันอยู่ ต่างก็มีทุกข์กันอยู่เต็มแปร้แล้วในปัจจุบัน จึงเหมือนอย่างว่าทุกคนเป็นบุรุษถูกยิงด้วยลูกศร ถูกลูกศรเสียบใจกันอยู่เสียบกายกันอยู่

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนอย่างหมอที่ผ่าตัดลูกศร พระองค์ก็มีหน้าที่ที่จะผ่าตัดเอาลูกศรออกโดยเร็ว เพื่อให้ดับทุกข์อันเกิดจากลูกศรเสียบแทงนั้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาไปสอบค้นว่าใครยิง คนยิงชื่ออะไร เป็นต้น หรือว่าลูกศรที่ยิงนั้นทำด้วยอะไร สายธนูนั้นทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น เป็นการเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์อะไร หน้าที่ของพระองค์ก็คือผ่าตัดเอาลูกศรออก เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงแสดงธรรมเป็นการผ่าตัดลูกศร ชี้ให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คำสั่งสอนที่ทรงพยากรณ์นี้ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม ธรรมที่เป็นปัจจุบัน

คัดลอกมาจากหนังสือ “ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานใกล้พระนครราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ. ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราแล้ว ทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิเธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิเธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ. ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถ
ยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.
พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.
พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?
ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้.
พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.

[๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียงแล้ว หามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละ ในละแวกบ้านเล่า? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอดราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าวักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น. เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้วครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง.

[๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงบอกวักกลิกภิกษุอย่างนี้ว่าอาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคและคำของเทวดา ๒ องค์ อาวุโสณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าวักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์.

[๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นอย่างไรเล่า? ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว กล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วเทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้นเทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นแล้ว
จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาไม่เลวทรามแก่เธอ. พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูล อย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา … สัญญา … สังขาร … วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น หลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา.

[๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านของถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าและยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา … สัญญา … สังขาร … วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.

[๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาไปกันเถิดภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาตรามา. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก. ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว. ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไป ทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ.ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตรด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๗  หน้าที่ ๑๑๕/๓๑๐

เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้วเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่าเที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น.

[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็นเป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้นๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอยๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๑๘ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หาเป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ ๑๖ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หาเป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยเหตุ ๘ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิด ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน ย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๕ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หาเป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๔๔ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หาเป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหาเหมือนกัน.

[๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๖๒ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหา เหมือนกัน.

[๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้มิได้ บัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิดิ้นได้ ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้นๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ ๕ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ บัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอยๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๑๘ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา บัญญัติว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ ๑๖ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา บัญญัติว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ด้วยเหตุ ๘ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญความพินาศ ความเลิกเกิด ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน บัญญัติว่านิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๕ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๔๔ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ๖๒ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

[๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่าเที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีมิได้.

[๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ย่อมบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิดิ้นได้ ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้นๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ ๔ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตมีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๑๘ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ ๑๖ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยเหตุ ๘ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน ย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ด้วยเหตุ ๕ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๔๔ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานที่จะมีได้.

[๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๖๒ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่าเที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการพวกที่มีทิฏฐิว่า
บางอย่างเที่ยงบางอย่างไม่เที่ยง …
พวกที่มีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ …
พวกที่มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว …
พวกที่มีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ …
พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต …
พวกที่มีทิฏฐิว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา …
พวกที่มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา …
พวกที่มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ …
พวกที่มีทิฏฐิว่าขาดสูญ …
พวกที่มีทิฏฐิว่านิพพานในปัจจุบัน …
พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต …
พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วน อนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๖๒ ประการ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกถูกต้องๆ แล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง ๖ ย่อมเสวยเวทนา เพราะเวทนาของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับคุณและโทษ แห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ กับทั้งอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น เมื่อนั้น ภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง กำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ อย่างเหล่านี้แหละเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ อยู่ในข่ายนี้เอง เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ถูกข่ายปกคลุมไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ เปรียบเหมือนชาวประมงหรือลูกมือชาวประมงผู้ฉลาด ใช้แหตาถี่ทอดลงยังหนองน้ำอันเล็ก เขาคิดอย่างนี้ว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ๆ ในหนองนี้ทั้งหมด ถูกแหครอบไว้ อยู่ในแห เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ติดอยู่ในแห ถูกแหครอบไว้เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย. สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ก็ฉันนั้น ที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ถูกทิฏฐิ ๖๒ เหล่านี้แหละเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ อยู่ในข่ายนี้เอง เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ ถูกข่ายปกคลุมไว้เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้วยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้วเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต เปรียบเหมือนพวงมะม่วง เมื่อขาดจากขั้วแล้วผลใดผลหนึ่งติดขั้วอยู่ ย่อมติดขั้วไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตมีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตได้ก็ชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต.

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่าน่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า อรรถชาละก็ได้ ว่าธรรมชาละก็ได้ ว่าพรหมชาละก็ได้ ว่าทิฏฐิชาละก็ได้ ว่าพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมก็ได้. ครั้นพระผู้มีพระภาค ตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจชื่นชมเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ หมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้วแล.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๔๔/๓๘๓

ผู้ใดตามรักษาจิตของตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร

“จิต” นี้เหมือนกันกับ “ควาย” ทีนี้เรามารักษาจิตของเรา “ผู้รู้” รักษาจิตคือ “เจ้าของควาย” อาหารของควายนั้นคืออะไร? อาหารของควายนั้นคือข้าวหรือหญ้า ถ้าเราตามรักษาจิตของเราก็คือ “คนเลี้ยงควายจะต้องทำอย่างไร?” คนเลี้ยงควายก็จะต้องเห็นควายของตัวเอง ว่าควายมันกำลังอยู่ในลักษณะท่าทีอย่างไร…เราก็รู้จักหมด มันจะเข้าป่าเข้าดง ลงน้ำลงห้วยเราก็รู้จัก หรือมันจะไปเข้ารั้วเข้าสวนเขา…เราก็รู้จัก เพราะเรามองดูควายของเราอยู่ถ้ามันจะเข้าไปใกล้รั้วใกล้สวนของเขา เราก็ตะเพิดไล่มัน… อย่าไปส่งเสริมมัน เราตามรักษาจิตก็เหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้เราเกิดมีความสุขความทุกข์ มีความอิจฉาพยาบาทนั้นคือข้าวคือหญ้าอารมณ์ของจิต… จิตมันจะมีอิจฉา… จิตมันจะมีพยาบาท… จิตโลภอันนั้น… โกรธอันนี้เราก็รู้จัก เพราะจิตเปรียบเหมือนกับควาย ผู้มีปัญญาผู้รู้ทั้งหลายก็เหมือนกันกับเจ้าของควาย ถ้าจิตของเราจะคิดดีคิดชั่ว เราก็รู้จักเรื่องของมัน เราก็รักษาสั่งสอน… ทรมานมันได้ เหมือนกันกับคนเลี้ยงควายตามรักษาควาย มันจะไปกินข้าวเข้าไปในรั้วในสวนของเขา เราก็ไล่มันได้ เพราะเราคอยดูควายของเราอยู่ การรักษาตัวเองก็เหมือนกัน ก็ต้องรักษาอย่างนั้น อันนี้คือการตามรักษาจิตของตัวเอง “ผู้ใดตามรักษาจิตของตน…ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร” ก็ต้องพ้นซิ… ก็เหมือนกันกับคนตามรักษาควายนั่นแหละ ควายมันจะเข้าไปกินหญ้ากินข้าวในนาเขาเราก็ไล่มันจะเข้ารั้วเข้าสวนเขาเราก็ไล่ มันจะไปในทางไม่ดีไม่งามเราก็ไล่มันก็พ้นจากความเสียหาย พ้นจากความผิดเท่านั้น นั่น… ตามรักษาจิตเจ้าของ ก็เหมือนกันกับคนตามรักษาควาย มันจะเกลียดผู้นั้น… โกรธผู้นี้ มันจะหลงอันนั้น… หลงอันนี้ เราก็ตามรักษาจิตของเราอยู่อย่างนั้น ในเรื่องความชั่วเราไม่ส่งเสริมมัน… กำราบสอนมันอยู่เรื่อยๆ มันก็สอนได้เท่านั้นแหละ ถ้าตามรักษาตัวเองแต่นี่กลับไม่รู้จักรักษาตัวเอง นั่งอยู่เฉยๆมันก็มีธรรมะ คนเรานั้นจิตมันจะไม่อยู่เฉยๆหรอก ไม่รู้จักปฏิบัติอะไร กฎนั้นเป็นอย่างไร ธรรมนั้นอยู่ที่ไหน?… ไม่รู้จัก ถ้าเรารู้จักอย่างนี้นั่งอยู่มันก็คิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆคิดรัก… คิดชัง.. .คิดน้อยใจ… คิดดีใจเสียใจ… คิดวิตกกังวล คิดไปหลายๆ อย่าง ถ้าเราตามรักษาเราก็ต้องรู้จัก ถ้ารู้จักแล้วเราก็ทรมานมันซิ… อันไหนมันไม่ดีไม่งาม เราก็ตะคอกมันซิ… ไล่มันออกไปอย่าให้มันอยู่กับเราซิ… อย่าให้มันโผล่ขึ้นมาได้ อย่างนี้มันก็เป็นการปฏิบัติเท่านั้น เกิดมาแล้วก็ดับไป… เกิดแล้วดับไป นั่น… คือการตามรักษาจิตของตน นี่… คือธรรมะคือการปฏิบัติธรรม อันนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ อย่าได้พากันมาเฉยๆ กลับไปถึงบ้านแล้ว ถึงเราจะมีงานที่ต้องทำ จะรดสวน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่หุงหาอาหาร หรือทำอะไรต่างๆก็ให้ตามดูจิตของเราอย่าได้ทิ้งไป ถ้าตามรักษาจิตของตัวเอง เราก็จะรู้ตัวเราก็คอยห้ามตักเตือนตัวเอง เหมือนกันกับเราตามรักษาควายนั่นแหละ มันจะเข้าไปกินข้าวกล้าในนาเขา หรือกินพืชผักในรั้วสวนของเขาเราก็ตะเพิดไล่มันออก หรือมันจะหนีไปไม่กลับบ้าน เราก็ไล่มันกลับมา เราตามรักษาจิตของเราก็เป็นอย่างนั้น มันจะออกไปข้างนอก มันจะไปอิจฉาพยาบาทผู้อื่น เราก็ต้องต้อนมันกลับเข้ามา จะไปส่งเสริมมันทำไม… อันนี้ก็ให้รู้จักอะไรๆ ต่างๆ ถ้าจิตของเรามีความโกรธขึ้นมา ก็ตั้งท่าจะสู้ช่วยมันด้วยซ้ำไป ถลกผ้าขึ้นแสดงท่าที่ช่วยส่งเสริมมันอีกอย่างนั้น มันจะรักษาตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก็เห็นพร้อมร่วมส่งเสริมไปกับมันอย่างนั้น นั่น… มันเป็นสิ่งไม่ดีก็ไปช่วยมันอย่างนั้น มันก็เลยละไม่ได้ เพราะคนไม่เคยรักษาตัวเอง เห็นท่าว่ามันจะไม่ดี… แล้วก็หยุด คิดว่า เอ๊ะ!..เราจะเอามันไปด้วยได้ไหม… “ให้หนี” บอกตัวเองว่าอย่างนั้นก็ได้ เมื่อถูกอารมณ์มากระทบก็หันท่าสู่ใส่เขาปากก็ถามเขาว่า “เคยตายไหม?” เอาแล้วซิ…ไปส่งเสริมมันอย่างนั้นทำไม เอ้า…เราก็ดูอย่างนี้แหละตัวธรรม การปฏิบัติธรรม จะไปเรียนเอาในพระไตรปิฎกที่ไหน เราอย่าไปส่งเสริมมันในทางที่ผิดซิ

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks