Monthly Archives: กรกฎาคม 2013

อายตนะนิพพาน

ท่านทั้งหลายพิจารณาก็แล้วกัน ให้พิจารณาให้ตั้งเนื้อตั้งตัวอยู่ภายในตัวของเราเอง รอรับเหตุการณ์ สิ่งภายนอกมันแฝงเข้ามาได้ที่จะมาหลอกให้ลุ่มหลง อย่างปัจจุบันนี้มีอะไรบ้าง แต่ก่อนเมืองไทยเราจะมีอะไร ได้อะไรมาอยู่มากินมาใช้สอยวันหนึ่ง ๆ พอ ไม่ได้สร้างความกังวลวุ่นวาย ความดีดดิ้นให้มากมายอะไรนัก ก็เป็นความสุขความสบาย เวลานี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันไหลเข้ามาไม่ทราบทางน้ำทางบกทางไหน ๆ มาเรื่อย ๆ อะไรมามันก็ตื่น ๆ ก็ดีดก็ดิ้นแล้วดีดดิ้นมันส่วนมาก ๆ เราอยากพูดว่าร้อยทั้งร้อยเป็นเรื่องที่จะทำคนให้หลงงมงายให้หลับหูหลับตาไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ตื่นนะ เวลานี้กำลังเต็มบ้านเต็มเมืองเข้ามา อันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี ไม่เคยได้เห็นก็เห็น ไม่เคยได้ยินก็ได้ยิน มีมาหมดทุกอย่าง ต้องได้ฟิตหัวใจเราด้วยสติปัญญาด้วยดี ไม่งั้นหลงไปกับสิ่งเหล่านี้ได้

พูดอันนี้แล้ว เอ้า พูดถึงท่านผู้ที่ผ่านไปโดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว อะไรมารู้หมด ที่จะให้ท่านหลงท่านลืมท่านชินต่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี ปั๊บ รู้ทันที ๆ ๆ นั่นต่างกันกับโลกที่กำลังลุ่มหลงอยู่ อะไรมาคอยแต่จะหลง ๆ ผู้ที่ท่านรู้ท่านรอบหมดแล้วทำยังไงให้หลงก็ไม่หลง ปั๊บมาก็รู้ ตกผล็อย ๆ เหมือนน้ำบนใบบัว น้ำที่ตกลงบนใบบัว กลิ้งตก ๆ ไม่ซึมซาบ จิตของท่านที่เป็นใบบัวแล้วสมมุติทั้งหลายเหมือนน้ำ ตกลงมาปั๊บกลิ้งเลย ๆ ไม่ซึมซาบมันต่างกันอย่างนี้นะ พวกเราพวกไม่ใช่ซึมซาบ มันพวกลิง คว้ามับ ๆ อะไรมาคว้ามับเลย เพราะฉะนั้นมันถึงตามไม่ทันนะ จมได้เร็ว กำลังเริ่มขึ้นนะ สิ่งเหล่านี้แหละเป็นบริษัทบริวารเป็นเครื่องอุปกรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างของกิเลสเสียมากต่อมากทีเดียว ถ้าไม่มีธรรมจะไม่รู้เลย แล้วจะเพลินไปตามสิ่งเหล่านี้ แล้วก็จมไปทุกวี่ทุกวัน ผู้มีธรรมเหมือนกับว่ามาขัดเกลาจิตใจ อะไรผ่านเข้ามา ถ้าจิตใจเป็นธรรมขึ้นไปโดยลำดับลำดาแล้วอะไรผ่านเข้ามา เหมือนกับเป็นหินมาลับปัญญา หินลับมีด สติปัญญาของเราเหมือนมีด

สิ่งทั้งหลายที่มาเกี่ยวข้องเหมือนหินมาลับมีด ๆ เพราะเมื่อขั้นเป็นธรรมแล้วอะไรเป็นธรรมหมด อยู่ที่ไหนเป็นธรรม ท่านว่าอัตโนมัติ ๆ คือเป็นธรรมอัตโนมัติโดยลำดับ จนจะถึงขั้นเด็ดขาดเป็นอัตโนมัติ อะไรผ่านเข้ามาเป็นธรรมหมด อยู่เฉย ๆ ก็เป็น ความคิดความปรุงขึ้นมานี้ แต่ก่อนมันเป็นกิเลสตัณหาเป็นฟืนเป็นไฟ เวลามันกลับกลายขึ้นมาเป็นธรรมแล้วด้วยการฝึกฝนอบรมเรา ที่ไหนอะไรผ่านเข้ามามันเป็นธรรม เหมือนกับว่ามาเตือนสติปัญญา ลับสติปัญญาให้คมกล้าเป็นลำดับลำดา มันต่างกันนะ ให้คิดแยกหลายประเภทซิ กิเลสมันร้อยสันพันคม เราก็ให้เป็นอย่างนั้นธรรมะ เมื่อมันทันกันแล้วร้อยก็ร้อยพันก็พัน มีคมเหมือนกันเลย นั่น ทันกัน ๆ

ค่อยหนาไป ๆ ดูนะ มันอดไม่ได้เพราะสิ่งเหล่านี้มันสัมผัส อายตนะภายนอก อายตนะภายใน อายตนะแปลว่าเครื่องสืบต่อ เครื่องประสานกัน เช่น ตาเรานี้เพื่อประสานรูป รูปเป็นอายตนะภายนอก ตาเป็นอายตนะภายในเครื่องประสานกัน ตาเห็นรูปเป็นยังไง หูฟังเสียงเป็นยังไง มันประสาน เรียกว่าประสานกัน เวลาทางภายในมันรอบหมดแล้วอายตนะก็สักแต่ว่าใช้ในเวลามีสมมุติอยู่เท่านั้น ส่วนภายในจิตนั้นไม่ได้ซึมซาบกับสิ่งเหล่านี้ เราจะแยกเข้าไปพูดว่าเป็นอายตนะของตัวเองโดยเด็ดขาด โดยหลักธรรมชาติไม่ผิด แต่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติผู้บรรลุไม่ค้านกัน ถ้าไม่ปฏิบัติไม่รู้แล้วค้านวันยังค่ำเข้าใจไหม ท่านเป็นอายตนะโดยหลักธรรมชาติ ในเวลาอยู่ในสมมุติท่านก็ทราบ ไม่ถือไม่ติด นั่น ท่านพูดอันหนึ่งว่า อายตนะนิพพาน มีนะในหนังสือ

อายตนะนิพพานเป็นยังไง อันนี้พูดยากนะ แต่ไม่สงสัย มันเป็นอายตนะนอกสมมุติเสียทั้งหมด นิพพานก็นอกสมมุติแล้ว อายตนะนิพพานก็นอกไปด้วยกัน แล้วจะเอามาพูดคลุกเคล้ากันกับมูตรกับคูถได้ยังไง แน่ะ อายตนะที่จะใช้ในมูตรในคูถก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของพระอรหันต์ท่านก็มีท่านก็ใช้เหมือนกัน แต่ท่านไม่แปดเปื้อนกับสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นอายตนะอันหนึ่ง อายตนะนิพพาน จิตเป็นนิพพานแล้วก็เป็นอายตนะอันหนึ่ง มาใช้ภายนอกเป็นอายตนะอันหนึ่ง เอ้า ดับไปโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องพูด แน่ะ หายสงสัยทุกอย่างวันนี้พูดธรรมะจะสูงไปหรือต่ำไปก็ไม่รู้นะเรา ก็งงผู้พูดเหมือนกันเราก็งง หนาขึ้นเรื่อย ๆ นะ ให้พี่น้องทั้งหลายจำเอาไว้ กิเลสจะหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ คนจะนับวันทะนงตัวดีดดิ้นเรื่อยไปตามกิเลส ทะนงเท่าไรยิ่งต่ำลง ๆ ผู้มีสติสตังพินิจพิจารณาผู้นี้ไม่ทะนงจะผ่านไปได้ ๆ จำเอานะ เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านั้น

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
http://www.luangta.com
(คัดลอกมาบางส่วน)

ทำสมาธิต้องหลับตาภาวนาหรือลืมตาภาวนา

โยม : กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพอย่างสูงยิ่ง ที่ว่าความคิดไม่ใช่จิต เมื่อปฏิบัติตามที่หลวงตาสอนภาวนาแล้วรู้สึกโล่ง แต่สักพักจะเห็นอาการหมุน ๆ ของกิเลส วนเวียนๆ อยู่อย่างนี้ บางทีก็ติดสัญญา ควรดำเนินการต่อไปอย่างไรเจ้าคะ

หลวงตา : นั่นละมันคิด ให้ระงับจิตอย่าให้มันคิดเข้าใจไหม มันวนเวียนมันออกไปเป็นความคิดไปแล้วนั่นน่ะ ความคิดกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เกิดขึ้นจากจิตเข้าใจเหรอ อย่าปล่อยให้มันคิด เวลาจะต้องการความสงบให้สงบด้วยธรรมบทใดก็ได้อย่างที่เขาเคยปฏิบัติเข้าใจไหมล่ะ เช่น พุทโธ เป็นต้น ก็ได้ ให้สติตั้งอยู่ อย่างวันนี้พูดกันชัดเจนแล้วนะ เอ้า ว่าไป

โยม : คือเวลาลืมตาภาวนาแล้วเป็นสมาธิดีกว่าหลับตาภาวนา ทำอย่างไรถึงจะหลับตาแล้วทำสมาธิได้เจ้าคะ หรือหากอิริยาบถใดเป็นสมาธิแล้วก็ให้รักษาคงไว้ กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

หลวงตา : เราอย่าเผลอ หลับตาก็ไม่เผลอ ลืมตาก็ไม่เผลอมันก็เป็นสมาธิได้ทั้งหลับตาทั้งลืมตานั้นแหละ ถ้ามันหลับตาดี ลืมตาไม่ดี แสดงว่าสมาธิคอยแต่จะล้ม แบบนี้ ยังหาหลักเกณฑ์ไม่ได้เข้าใจไหม เอ้า เป็นอย่างนั้นนี่

http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=529

เนื้อความแห่งธรรมจักร

ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักร เบื้องต้นทรงยกส่วนสุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า เทว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกา และอัตตกิลมถา อธิบายว่า กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก อัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชังทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นตัวสมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้งสองนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้นเมื่อจิตนึกคิดฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้น คือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตกิลมถา ความดีใจก็เป็นราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่ ชื่อว่าผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่นๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ได้ญาณ ๒ ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ กล่าวคืออาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริงทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือ…ส่วนสุดทั้งสองนั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสวักขยญาณพ้นจากความผิดตามพระองค์ไป ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรกๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหน เกิดที่เรา โลกธรรมมี ๘ มรรคเครื่องแก้ก็มี ๘ มรรค ๘ เครื่องแก้โลกธรรม ๘ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาแก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็นจาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน ๒ ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล

มุตโตทัย
http://luangpumun.org

อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส

อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส
ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่ง สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง

ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครกคือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้ และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาป เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายจึงพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วย โยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ อันชาวนาเขาทำนาเขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดินดำลงไปในดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ดินอีกเช่นเคย เข้าไม่ได้ทำในอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินอย่างเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเอง และจะห้ามว่า เข้าเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางเอง ฉันใดก็ดีพระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น จงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัยหรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอจึงจะชื่อว่า ทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว

พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้ พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่างพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือ จิต ย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพึ่บลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกันคือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่า ป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องลบราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกันพร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน ในที่นี้ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง

ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุดอันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญเห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยงอาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลาย เขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อน เราเกิดตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณมาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว โดยไม่ต้องสงสัยเลยจึงรู้ขึ้นว่า ปุพฺเพสุ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมดาเหล่านี้ หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นในความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ ได้ความว่าธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้ามาพิจารณา โดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สพฺเพ สฺงขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง คือมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาโดย อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้โดย ปัจจักขสิทธิ ว่า ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต จึงปรากฏขึ้นว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน ๒ ประการ คือรู้ว่า สัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่มีอาการเป็นผู้หลุดพ้น ได้ความว่า ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป ให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดย ปัจจักขสิทธิ พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้ ในที่นี้ไม่ใช่สมมติไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ต่างๆ มีต้นข้าวเป็นต้น เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลย เป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมฺตติธรรม ก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติมัวเกียจคร้านจนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

มุตโตทัย
http://luangpumun.org

กรรมฐาน ๕

พระบรมศาสดาจารย์เจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ

อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหา ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด

อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆอาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน

การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุทฺทกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก่อน

อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาส (คือการพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพระอรหันตผล

เหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า “ชัยภูมิ” เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

มุตโตทัย
http://luangpumun.org

สัจธรรม ๔

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา
สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พักจึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา

อุปมา ดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ ถึง ๙ ทิ้งเสีย เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้

ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ยเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปนกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ทิ่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรมอันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

มุตโตทัย
http://luangpumun.org

เข้าใจพุทธศาสตร์ให้ถูกต้องจะกำจัดไสยศาสตร์ได้

ทีนี้สิ่งที่จะกำจัดไสยศาสตร์ออกไปได้ ก็คือพุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง นี้จะพูดให้มันชัดกันตรง ๆ ง่าย ๆ ก็คือว่า พุทธศาสนาแท้ ตัวพุทธศาสนาแท้. หลักพระพุทธศาสนาแท้ ตัวธรรมะที่เป็นพุทธศาสนาแท้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เคารพเลยนั่นอะไรรู้ไหมล่ะ? ที่จริงก็พูดมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่บางคนยังงอยู่ แสดงว่าลืมไป สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ แล้วท่านเคารพเลยคืออะไร? ก็คือกฎอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท : ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้, ความทุกข์ดับลงไปอย่างนี้, ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ดังนี้; นั้นคือกฎปฏิจจสมุปบาทหรือ อิทัปปัจจยตา. นี่หัวใจพระพุทธศาสนาแท้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้แล้วท่านเคารพเลย, เคารพ เป็นสิ่งสูงสุดเลย, นั่นแหละมันจะกำจัดไสยศาสตร์ได้.

ถ้ามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาแล้ว ไม่มีทางสำหรับไสยศาสตร์. ถ้าในจิตใจมันเต็มไปด้วยความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาแล้ว มันไม่มีเนื้อที่สำหรับให้ไสยศาสตร์ตั้งอยู่ได้. ฉะนั้นสนใจเรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท อันนี้เข้ามาแล้วก็ไสยศาสตร์มันก็ไปหมดแหละ; เหมือนกับโรยผงดีดีทีมดแมลงไปไหนหมดก็ไม่รู้, มันง่ายถึงขนาดนั้น. ศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตา ให้มันแจ่มแจ้งประจักษ์อยู่ในจิตใจของเรา พุทธศาสตร์จะทำหน้าที่เต็มที่ แล้วไสยศาสตร์จะถอยหนีไปไหนไม่รู้ โดยไม่ต้องไปยุ่งยากลำบาก, เพียงแต่ทำให้ธรรมะเรื่องอิทัปปัจจยตาเกิดขึ้นในจิตใจเท่านั้น ไม่ต้องไปเตะต่อยไล่ตี ไสยศาสตร์มันหายไปเอง มันหนีไปเองหายไปเอง.

ฉะนั้น ชวนกันศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตาให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปทุกปี ๆ, อย่าได้งมงาย เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เพราะว่ามีความโง่เป็นปัจจัย ไสยศาสตร์จึงเกิดขึ้น ให้รู้ว่าอย่างนั้นซิ, เพราะว่ามีอวิชชามีตัณหาในจิตใจของเรา ไสยศาสตร์จึงเข้ามา รู้ว่าอย่างนี้ซิ, มันก็มีความรู้ที่ถูกต้อง แล้วความรู้ที่ไม่ถูกต้องมันก็หายไปเอง.

พระธรรมสูงสุดเหมือนกับพระเจ้าสูงสุด คืออิทัปปัจจยตา เอามาซิ แล้วภูตผีปีศาจทั้งหลายจะไปหมด จะหนีหมด จะไม่มีรอหน้าเลย, ไสยศาสตร์จะหนีไปหมด นี้ไปสวดภาณยักษ์ ที่จะให้บ้านเมืองเป็นสุข, ไปสรรเสริญยักษ์ ไปเชื้อเชิญยักษ์ ไปสวดภาณยักษ์ แล้วก็ไม่สวดอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ที่มันน่าฟัง, แล้วก็น่าหัวที่ว่า ใบตาลที่เขาให้เขียนกันนะ-สพฺพา ยกฺขา ปิสาเจว -จะวิ่งหนีไปด้วยอำนาจของพระธรรม. ใบตาลนั้นเมื่ออาตมาแรกบวชก็เคยช่วยเขียนให้เขาแยะ ใบตาลเอามาขดหัวแล้วก็เขียนที่ใบตาลว่า… ลืมเสียแล้วเดี๋ยวนี้ ได้ความว่า ยักษ์ทั้งหลายปีศาจทั้งหลาย จะหนีไปด้วยอำนาจของพระธรรม. แต่วดภาณยักษ์ มันขวางกันสิ้นเชิงเลย, ไปส่งเสริมยักษ์ ไปรับรองยักษ์ ตระกูลยักษ์เรื่องภาณยักษ์ ทั้งนี้ให้เขียนข้อความว่า ยักษ์จะหนีไปหมด เพราะอำนาจของพระธรรม. ใบตาลชนิดนั้นเขาเรียกว่าตะบองเพชรน่ะ, ตะบองเพชร เข้าใจว่าหลาย ๆ คนคงเคยเห็นและเคย ทำด้วย. แต่อาตมานี้ เคยทำเคยเขียนเยอะแยะไป เขียนแจกชาวบ้าน เมื่อเขาสวดภาณยักษ์กัน.

ฉะนั้นเราจะต้องเอาอิทัปปัจจยตามาสวดแทนภาณยักษ์, แล้วก็เขียนอิทัปปัจจยตาลงไปใน ใบตาลแจกกันอีก, ทำพิธีอย่างเดิม แต่เปลี่ยนบทสวดแล้วก็เปลี่ยนบทจารึกในใบตาลนั้นเสีย. นี่ไสยศาสตร์จะค่อย ๆ หายไป พุทธศาสตร์จะเข้ามาแทนที่อิทัปปัจจยตาเข้ามาช่วยกำจัดไสยศาสตร์.

จิตตภาวนาในแง่ของไสยศาสตร์
http://www.buddhadasa.in.th/html/life-work/dhammakot/40-little_book/05.html

ควรรู้จักแยกพุทธกับไสยออกจากกัน

มนุษย์ทุกคนจะมีความคิดนึก ที่จะสร้างลัทธิของตน ตามความพอใจของตน. นี่ทุกคนช่วยสังเกตดูให้ดีว่า เราก็อยากจะมีความเชื่อระบบของเรา ซึ่งไม่เหมือนคนอื่นแหละ ก็เลยเรียกว่าลัทธิของตน-ของตน-ลัทธิของตน, ทุกคนจะสะสมลัทธิต่าง ๆ ปรับปรุงกันขึ้นมา จนเป็นลัทธิของตน ถืออยู่จนตาย มันมี โอกาสที่จะปนกันได้ เพราะไปเก็บนั่นเอามา เก็บนี่เอามา เก็บโน่นเอามา ตามที่ตนเชื่อและพอใจ อย่างไร มันก็เลือกเก็บเอามา, มารวม ๆ กันเข้า ก็เป็นลัทธิของตน. บุคคลนั้นจะถือลัทธิของตนอยู่ไปจนกระทั่งตาย, ถ้าว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะการรู้ธรรมะ, เพราะการบรรลุ มรรค ผล. ถ้ามันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบรรลุ มรรคผล เป็นพระโสดาบันหรือเป็นอะไรเสีย ลัทธินั้นจะอยู่กับ ตนไปจนตาย มันปนกันได้อย่างนี้.

เราชอบอะไรเราก็ไปเอาส่วนนั้นมา, ชอบอะไรก็ไปเอาส่วนนั้นมา มาหลอมกันเข้า ก็เป็น ลัทธิของตนลัทธิของเรา, อย่างนี้ไม่ค่อยเหมือนกันดอก. แต่จะเห็นได้ว่า ในลัทธิของตน ๆ ของแต่ละคนนั้น ปนกันอยู่มากหลาย ๆ อย่าง; นี้คนโดยมากโดยทั่วไปถือว่า การศึกษาไม่พอ, การศึกษาทางธรรมะไม่พอ, เขาก็เลือกผิด ๆ ถูก ๆ. เราไม่มีความรู้ทางธรรมะพอ เราก็เลือกเอาตามชอบใจ แล้วมันก็มี การปนกันได้ง่ายที่สุด จะถือลัทธิหลาย ๆ ลัทธิพร้อมกันไปได้ โดยไม่รู้สึกตัว, เมื่อหลอมกันเข้าเป็นอันเดียว แล้วก็ถือว่าลัทธินี้ของเรา เราพอใจ.

ฉะนั้นเราจึงมีลัทธิปลอมปน เรียกว่าพันทาง ทำนองเดียวกับที่เรื่องวัตถุ. เรื่องวัตถุเดี๋ยวนี้เรามีการกินอาหาร การแต่งเนื้อแต่งตัว การอยู่บ้านอยู่เรือนปน-ปนกันหลายอย่าง : เป็นไทยบ้าง เป็นจีนบ้าง เป็นฝรั่งบ้าง เป็นแขกบ้าง, ครอบครัวบางครอบครัวหรือบ้านเรือนบางหลังไปดูเถอะ มันจะมีวัฒนธรรมปนกันอยู่มาก ๆ หลาย ๆ อย่าง เพราะคนเขาชอบ, เขาชอบไปตามความรู้สึกพอใจของ เขาความปนมันก็มีได้ง่าย. ลัทธิทางจิตใจก็เหมือนกัน พอเห็นอะไรแปลกดีก็รับเอาเข้าไว้, เห็นอะไรแปลกดีก็รับเอาเข้าไว้ เพราะฉะนั้นจึงมีลัทธิปลอมปน หรือลัทธิพันทาง อยู่มากทีเดียว.

เมื่อมองดูในแง่นี้แล้ว มันน่าเศร้า น่าสลด น่าสังเวชใจ ที่พุทธบริษัทเราก็ยังมีเป็นส่วนมาก ที่ถือลัทธิปน, ลัทธิปลอมปน ลัทธิพันทาง จนไม่รู้อะไรเป็นอย่างไร. เอาพระเจ้าในศาสนาอื่น มาปนรวมกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างนี้ก็มี. ระวังให้ดีเถอะ บทกรวดน้ำมันเกิดขึ้นได้อย่างไร, บทกรวดน้ำน่ะดูให้ดีเถอะมันมีปนกันยุ่งไปหมด. อย่างนี้น่ากลัวว่าจะเป็นของใหม่; ครั้งพระพุทธเจ้านั้นไม่มีแน่, แม้ครั้งแรก ๆ ก็คงจะไม่มี, แล้วต่อมาโอกาสมันอำนายให้ปน-ปน ลัทธิพิธีกรรมก็ปน. การท่องพระพุทธคุณ ก็กลายเป็นอ้อนวอนของร้องของไสยศาสตร์ไปเสียนี้เรียกว่าปลอมปน.

รวมความว่าเรากำลังถือลัทธิปน, เรากำลังถือศาสนาปน จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นทองคำ อะไรเป็นทองแดง อะไรเป็นทองเหลือง เอามาหลอมปนกันเข้า แล้วก็เป็นของเรา เราก็ไม่ได้รับ ประโยชน์จากสิ่งที่ดีที่สุด; เพราะเมื่อเราเอาทองคำมาปนกับทองแดงทองเหลืองดีบุกเป็นต้นแล้ว เราจะได้ประโยชน์จากทองคำได้อย่างไร, เพราะเราเอามาปนกันเสีย เราก็ไม่มีทางที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ที่ดีที่สุดได้. นี่พยายามกันสักหน่อยจะดีละมั้ง คือพยายามแยกออก ๆ ให้ได้เหลือของดีของจริงของแท้ จะได้รับประโยชน์มากกว่า.

เดี๋ยวนี้มันมีลักษณะปนกันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเราจะถือหลักว่า ถ้ามันดีกว่าไม่ปน ก็เอาสิ ก็ได้เหมือนกัน ถ้ามันปนดีกว่าไม่ปนก็เอา เพราะมันเป็นประโยชน์ได้เดี๋ยวนี้มันปนกันเข้ามา แม้ในโบสถ์, ในโบสถ์ของพุทธบริษัท มันก็มีลัทธิอื่นเข้าไปปน ในวัดในวาก็มีลัทธิอื่นเข้ามาปน. บางทีเขาทำพิธีที่ไม่ใช่พุทธในวัด, แม้แต่ในโบสถ์มันก็มีอะไรเข้าปนไป เหมือนอย่างที่ว่าโบสถ์วัดแก้วพบศิวลึงค์กับคเณศ อย่างนี้เป็นต้น.

ที่องค์พระพุทธรูป ระวังให้ดีเถอะจะมีปน ที่องค์พระพุทธรูป อุตส่าห์เอาผ้าไปห่มให้พระพุทธรูป ห่มทำไมคิดดูซิ. พระพุทธรูปก็เป็นอิฐเป็นปูน แล้วก็เอาผ้าไปห่มให้พระพุทธรูป ให้ปลวกมันกิน นี่ห่มทำไม? คิดว่าพระพุทธเจ้าจะหนาว ถ้าอย่างนี้มันเป็นลัทธิวิญญาณอย่างไสยศาสตร์. ระวังให้ดี ที่พระพุทธรูปนั่นมันมีไสยศาสตร์เข้าไปเสียแล้ว. บางทีก็เอาของถวายพระพุทธรูปอย่างเหมือนของเซ่นผี, เหมือนของเซ่นสรวง ที่พระพุทธรูป, บางทีก็ทำอย่างพระพุทธรูปเป็นวิญญาณเป็นผีเป็นอะไรอย่างนี้ก็มี. ที่วัดตระพังจิกสวนโมกข์เก่า เขาไปขอลูกกันที่นั่น, ที่พระพุทธรูปองค์นั้นเขาไปขอลูกกัน แล้วบางคนที่เป็นลูกของพระพุทธรูปองค์นั้นเขาก็มีนะ เพิ่งตายไปอย่าออกชื่อดีกว่า ไปขอลูกจากพระพุทธรูปองค์นั้นแล้วก็ได้มา. นั่นที่พระพุทธรูปกลายเป็นไสยศาสตร์ไปที่องค์พระพุทธรูปเสียแล้วก็มีนี่, เรียกว่าไม่ปนอย่างไรเล่า. เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่อย่าออกชื่อเขาเลยว่า มันเป็นใครที่เป็นลูกพระพุทธรูปที่ วัดสวนโมกข์เก่าน่ะมันมี.

ฉะนั้นเราดูและให้รู้ไว้ เหลียวดูให้รู้ไว้ ให้รู้ว่าอะไรเป็นพุทธ อะไรเป็นไสย อะไรปน, แล้วก็ตั้งพิธีแยกชำระสะสางกันเท่าที่จะทำได้, คือเพียงแต่เราเลิกเราละทิ้งเสีย มันก็หมดไป. เราเอาไว้แต่ที่มันถูก ที่มันจริง ที่เป็นพุทธะ, ที่เป็นไสยศาสตร์ก็ไม่รู้ไม่ชี้มันเลิกไปเอง มันหายไปเอง. อย่าไปทำชุ่ย ๆ หวัด ๆ ง่าย ๆ ปล่อยตามชุ่ย ๆ ทำชุ่ย ๆ : เพื่อนทำเราก็ทำ, เพื่อนทำเราก็ทำ อย่างนี้เอาผ้าไปห่มจอมปลวกมีเหตุผลกว่าเอาไปห่มพระพุทธรูป เพราะว่ามันมีความหมายคนละอย่าง, แล้วเอาผ้าไปห่มพระธาตุหรือพระพุทธรูปนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตนะ, เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร ฉลองกันเป็นการใหญ่ ทำกันเป็นอย่างสุดชีวิตจิตใจก็มี, นี่มันไม่ใช่พุทธศาสตร์, มันไม่ใช่พุทธะเลย แต่ทำกันเป็นการใหญ่ ยิ่งกว่าเรื่องที่เป็นพุทธเสียอีก. ฉะนั้นเรียกว่าไสยศาสตร์นี่ ก็ยังมีกำลังมากมายอยู่เสมอ. เราควรจะรู้ไว้ อย่าให้ครอบงำเราได้, รู้ไว้ เพื่ออย่าให้มันมาครอบงำเราได้, ให้เรามน คงเป็นพุทธอยู่ ให้เป็นพุทธมากขึ้น.

จิตตภาวนาในแง่ของไสยศาสตร์
http://www.buddhadasa.in.th/html/life-work/dhammakot/40-little_book/05.html

พิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้พิเศษยิ่งกว่าที่เคยทรงปฏิบัติมา จึงทรงมีพระราชราชปุจฉาต่อสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพรให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระศรีรัตนตรัยในวันวิสาขบูชา เยี่ยงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ปางก่อนเคยกระทำมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดให้กำหนดพิธีวิสาขบูชาขึ้น เป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐ นั้นเป็นต้นมา นับเป็นการทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้มีการทำพิธีวิสาขบูชากันสืบมาจนปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระสังฆราช (มี) โดยแท้ นับเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญครั้งหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

พิธีวิสาขบูชาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดให้จัดขึ้นในครั้งนั้นทำอย่างไร พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ดังนี้ คือ

ทำโคมปิดกระดาษ ปักเสาไม้ไผ่ ยอดผูกฉัตรกระดาษ พระราชทานไปปักจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงวัดละสี่เสาอย่าง ๑ หมายแผ่พระราชกุศลแก่ข้าราชการ ให้ร้อยดอกไม้มาแขวนเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๓ วันอย่าง ๑ มีดอกไม้เพลิงของหลวงตั้งจุดเป็นพุทธบูชาที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่าง ๑ นิมนต์พระสงฆ์ให้อุโบสถศีลและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ราษฎรตามพระอารามหลวงฝั่งตะวันออก ๑๐ วัด ฝั่งตะวันตก ๑๐ วัด เครื่องกัณฑ์เป็นของหลวงพระราชทาน และให้อำเภอกำนันป่าวร้องตักเตือนราษฎรให้ไปรักษาศีลฟังธรรมและห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่าง ๑ ทำธงจรเข้ไปปักเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงวัดละคันอย่าง ๑ เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง พระราชทานสลากภัต แล้วสดัปกรณ์พระบรมอัฐิอย่าง ๑ ๑๐

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๑๒๐-๑๒๓.
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
วัดมหาธาตุ
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-hist-index-page.htm

วิญญาณ ๖

ในพระเถราธิบายนี้ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายในข้อว่ารู้จักวิญญาณ ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ก็คือวิญญาณในขันธ์ ๕ นั่นเอง และที่เรียกว่าหมู่นั้นก็เพราะว่า วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้ เกิดขึ้น ดับไป ในทุกอารมณ์ที่ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้ามา

ดังจะยกอายตนะภายในภายนอกขึ้นเป็นตัวอย่างว่า เมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้ขึ้น ที่เรียกว่าเห็นรูป ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ เมื่อเห็นรูปอันใด ก็เกิดขึ้นดับไปในรูปอันนั้น ทุกๆ คนนั้นย่อมเห็นรูปต่างๆ มากมาย เป็นรูปนั่นรูปนี่ วิญญาณก็ย่อมเกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ที่เห็น เพราะฉะนั้น ชั่วระยะเวลาประเดี๋ยวเดียว วิญญาณก็เกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ ที่ตาเห็นนั้น หลายสิบ หลายร้อย หลายพัน แม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าหมู่ หมู่แห่งวิญญาณ เมื่อเกิดขึ้นทางตา ก็เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตาเป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิจึงได้แก่ความรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ดังกล่าวมา ความรู้จักนั้นต้องกำหนดเข้ามาดูด้วยสติ คือมีสติกำหนดอยู่ที่ตาที่หูเป็นต้นของตนเอง เมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เห็นหรือได้ยินนั่นแหละ ก็คือวิญญาณทางตาวิญญาณทางหู และก็เกิดดับไปในสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้น แต่ละสิ่ง แต่ละสิ่ง แต่ละสิ่งไป เพราะฉะนั้น หากว่าหัดใช้สติกำหนดดูอยู่ รู้อยู่ ก็จะรู้สึกว่า เห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินนั่นได้ยินนี่ และก็เทียบดูได้ว่าเกิดดับอย่างไร

เช่นในขณะที่เห็นใบไม้ วิญญาณก็เกิดอยู่ที่ใบไม้ เห็นผลไม้ วิญญาณก็ดับจากใบไม้ ไปเกิดที่ผลไม้ เห็นบ้าน วิญญาณก็ดับจากผลไม้ ไปเกิดที่บ้านที่เห็น เห็นคนเดินมา วิญญาณก็ดับจากบ้าน ไปเกิดที่คนเดินมาที่เห็นนั้น ดั่งนี้เป็นต้น ลองคิดดูว่าขณะหนึ่งๆ อันหมายถึงว่า ระยะเวลาหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่ง ที่ไม่ๆ ..ที่แม้ไม่ๆ นานนัก (เริ่ม ๖๑/๒) วิญญาณก็เกิดที่นี่ ก็ดับ ดับจากที่นี่ไปเกิดที่โน่น ดับที่โน่นไปเกิดที่นู้น อะไรอย่างนี้ มากมาย เมื่อมีสติหัดกำหนดดูดั่งนี้ ก็อาจที่จะกำหนดดูได้ รู้ได้ ว่าวิญญาณนี้ เกิดที่นี่ ดับจากนี่ไปนั่น ดับจากนั่นไปเกิดที่โน่น

ดับจากที่โน่นไปเกิดที่นั่น เป็นอย่างๆ ไป เป็นสิ่งๆ ไป จะเห็นว่าเป็นหมู่จริงๆ มากมาย

แล้วก็ไม่ใช่รูปอย่างเดียว ยังมีเสียงอีก เกิดที่รูป ดับจากรูปไปเกิดที่เสียง ดับจากเสียงไปเกิดที่กลิ่น ดับจากกลิ่นไปเกิดที่รส ดับจากรสไปเกิดที่โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย ดับจากโผฏฐัพพะไปเกิดที่เรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ดับจากเรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ก็ไปเกิดที่นั่นที่นี่ เมื่อรวมกันเข้าทั้ง ๖ แล้วก็จะรู้สึกว่า เป็นหมู่ใหญ่จริงๆ ของวิญญาณ เกิดดับๆ กันอยู่ทุกขณะ ทุกขณะไป

มีสติกำหนดอยู่ดังนี้ เป็นวิธีกำหนดให้รู้จักวิญญาณ ที่เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตา หมู่แห่งวิญญาณทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ แล้วก็หัดให้เห็นเกิดดับของวิญญาณดังกล่าวมานี้ ก็จะเป็นตัวสติด้วย แล้วก็ตัวปัญญาที่เป็นวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริงด้วย จะมองเห็นความเกิดดับ ซึ่งเป็นตัวอนิจจะคือไม่เที่ยง จะทำให้มองเห็นทุกข์ คือสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จะมองเห็นอนัตตา ว่าเป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นไปอยู่อย่างนี้ ดั่งนี้คือรู้จักวิญญาณ รู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ตามพระเถราธิบาย

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/somdej-preach-index-page.htm