ทรัพย์คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธนสูตรที่ ๒
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศีลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่าทรัพย์คือโอตตัปปะ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่าทรัพย์คือจาคะ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ เป็นอริยะชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าทรัพย์คือปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลายทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ฯ ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธาศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ

จบสูตรที่ ๖
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๕

ใส่ความเห็น