Monthly Archives: เมษายน 2014

ทานที่เกิดผลน้อยแก่ตนและได้ชื่อว่าทำลายพระศาสนา

๖. กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ…..
สมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า

แต่ก่อนฆราวาสผู้จะทำทานแก่ภิกษุสงฆ์ โดยต่ำแต่เข้าทับพีหนึ่ง ก็มีผลปรากฎในชั่วนี้ชั่วหน้า เพราะพระภิกษุผู้รับทานนั้นทรงศีลบริสุทธิ์ ฝ่ายฆราวาสผู้จะให้ทานนั้นก็มีปัญญา…..แลผู้ให้ผู้รับทั้งสองฝ่ายสุจริตดีจริง จึ่งให้ผลมากประจักษ์ในชั่วนี้ชั่วหน้าสืบมา

ทุกวันนี้ภิกษุ สามเณร ผู้รับทานรักษาสิกขาบทนั้นก็ฟั่นเฟือน มักมาก โลภ รับเงินทอง ของอันมิควรด้วยกิจพระวินัย สั่งสมทรัพย์สิ่งของ เที่ยวผสมผสานทำการของฆราวาส การศพ การเบญจา เป็นหมอนวด หมอยา หมอดู ใช้สอยอาสาการคฤหัสถ์ แลให้สิ่งของต่าง ๆ แก่คฤหัสถ์ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ จะให้เกิดลาภเลี้ยงชีวิตผิดธรรมมิควรนัก…..

แลภิกษุทุกวันนี้บวชเข้า มิได้กระทำตามพระวินัย ปรนนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีเนื้อหนังบริบูรณ์ดุจโค กระบือ…..จะได้เจริญสติปัญญานั้นหามิได้ เป็นภิกษุสามเณรลามกในพระพุทธศาสนา

ฝ่ายฆราวาสก็ปราศจากปัญญา มิได้รู้ว่าทำทานฉะนี้จะเกิดผลน้อยมากแก่ตนหามิได้ มักพอใจทำทานแก่ภิกษุ สามเณร อันผสมผสานทำการของตนจึงทำทาน บางคาบย่อมมักง่าย ถวายเงินทองของอันเป็นอกัปปิยะ มิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภ สั่งสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพุทธบัญญัติฉะนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่ภิกษุโจร อันปล้นพระพุทธศาสนา ทานนั้นหาผลมิได้ ชื่อว่าทำลายพระศาสนา

แต่นี้ไปเมื่อหน้า ห้ามมิให้ภิกษุสามเณรสงเคราะห์ฆราวาส ให้ผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เป็นต้น แล้วอย่าให้ผสมผสาน ขอกล่าวป่าวร้องเรื่ยไรสิ่งของอันเป็นของแห่งฆราวาสอันใช่ญาติ แล้วอย่าให้ทำการศพ แลทำเบญจการฆราวาสทั้งปวง แล้วอย่าให้เป็นหมอนวด หมอยา หมอดูต่าง ๆ แลให้ยาแก่คฤหัสถ์อันใช่ญาติ แลห้ามอย่าให้พูดใช้สอยนำข่าวสารการฆราวาส แลห้ามบรรดาการทั้งปวงอันกระทำผิดจากพระปาติโมกข์ สังวรวินัย

ภิกษุรูปใดมีอธิกรณ์ข้อใหญ่ สงฆ์พิพากษามิถ่องแท้ เป็นฉายาเงาปาราชิก ควรจะเสียอยู่ข้างการลามกในพระศาสนา เป็นที่สงสัยสงฆ์ทั้งปวงอยู่แล้ว อย่าให้เอาไว้ให้สึกเสีย…..

หนึ่งห้ามฝ่ายฆราวาสทั้งปวง อย่าได้ถวายเงินถวายทองนากแก้วแหวน แลสิ่งขของอันไม่สมควรแก่สมณ เป็นต้น แลทองเหลือง ทองขาว ทองสำฤทธิ์ แก่ภิกษุสามเณร แลห้ามอย่าให้ถวายบาตรนอกกว่าบาตรเหล็กบาตรดิน แลนิมนต์ใช้สอยพระภิกษุสามเณรให้ทำเบญจการศพ แลให้นวดแลทำยา ดูลักษณะ ดูเคราะห์ แลวาดเขียนแกะสลักเป็นรูปสัตว์ แลใช้นำข่าวสารของฆราวาสต่าง ๆ แลห้ามบรรดาการภิกษุสามเณรกระทำผิดพระปาติโมกข์สังวรวินัย…..

แลถ้าพระราชาคณะ เจ้าอธิการ ภิกษุ สามเณร ฆราวาส สังฆการีธรรม การผู้ใดมิได้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ แลละเมิดเสีย มิได้กำชับว่ากล่าวกัน กระทำให้พระศานาเศร้าหมองดุจหนึ่งแต่ก่อนนั้น ฝ่ายพระราชาคณะ พระภิกษุสามเณร จะเอาญาติโยมเป็นโทษ ฝ่ายฆราวาสทั้งปวง จะให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตามโทษานุโทษ

กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก

[url=http://www.songphuket.org/index.php?option=com_content&view=article&id=89&Itemid=96]กฎหมายพระสงฆ์ของไทย[/url]

จิตเหนือโลก

พูดถึงเรื่องเทศน์นี้เราคิดเห็นตั้งแต่สมัยเป็นกรรมฐาน เทศน์กรรมฐานสอนพระหมุนติ้วเลยเชียว จนรัวเหมือนปืนกล ทั้งลมทั้งธาตุขันธ์ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งอรรถทั้งธรรมมันพร้อมกันแล้วออกพุ่งๆๆ จนหายใจไม่ทัน นี่หมายถึงว่ากำลังวังชาดี ธาตุขันธ์อรรถธรรมก็ดีอยู่แล้ว ทุกอย่างดีพร้อมกันแล้วเวลาเทศน์นี้ไหลเลยเชียว เดี๋ยวนี้ไม่ได้นะ เทศน์นี่ชักอยู่นี้เลย ชักเลย เทศน์ไม่ได้เดี๋ยวนี้

พอออกปฏิบัติแล้วก็สอนตน นี่เริ่มปฏิปทาของเราที่ดำเนินมา พอเรียนเรียนจริงๆ เรียนอยู่ ๗ ปี เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี พอออกจากเรียนแล้วออกเข้าป่า เข้าป่านี้จนกระทั่งทุกวันนี้เข้ามาเรื่อยเข้าป่า ตอนเข้าป่านี้สอนตนทั้งนั้น เรียนหนังสือนี้เรียนวิธีการสอนคนอื่น สอนตนสอนคนอื่นไปด้วยกันนะ แต่พอออกปฏิบัติแล้วธรรมะทั้งหลายที่เรียนมานั้นเข้ามาสอนตนทั้งหมดเลย รวมเข้ามาสอนตนจากนั้นแล้วก็สอนโลกละทีนี้ ต่อไปนี้สอนโลกเรื่อยจนกระทั่งทุกวันนี้ มันมีอยู่สามพักนั่นละ พักหนึ่งเพื่อเรียนสอนตนเสียก่อน แล้วอะไรอีก ปฏิบัติเพื่อตนเองก่อนนะ จากนั้นก็สอนโลกต่อไปเรื่อยๆ สอนโลกเรื่อย ทุกวันนี้เลยสอนโลกก็ไม่ได้สอนตนก็ไม่ได้ หมดกำลัง ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร

พูดถึงเรื่องตัวเอง ความเป็นอยู่ของตัวเองทุกอย่างพร้อมหมด ไม่มีอะไรที่ต้องติ หลักธรรมหลักวินัยเราไม่คลาดเคลื่อนนะ แต่ไหนแต่ไร แต่เรียนหนังสือก็ไม่เคยคลาดเคลื่อน หลักธรรมหลักวินัยตรงเป๋งๆตลอด ยิ่งออกปฏิบัติแล้วยิ่งแน่นหนามั่นคงเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่เราก็ปฏิบัติได้ตั้งแต่ก่อน แต่พอออกปฏิบัติยิ่งเข้มงวดกวดขันแน่นหนามั่นคงเข้าเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มาสอนโลกนี่ สอนอย่างเอาจริงเอาจัง สอนตัวเองก็ไม่สอนธรรมดานะเราสอนเราเองนะ คือมันจริงมาทุกอย่าง ไม่ได้เหลาะแหละนะ ถ้าว่าออกเรียนก็เรียนจริงๆ เรียนเพื่อปฏิบัติ พอออกปฏิบัติก็เอาจริงเอาจังเพื่อมรรคผลนิพพาน ถึงขั้นอรหันต์นะ มรรคผลนิพพานจะเอาให้ถึงพระนิพพานให้ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพุทธศาสนาของเรา มันเป็นอยู่ในจิตนะ มันมั่นคงอยู่นั่นหมุนติ้วๆ

ทีนี้ความเพียรมันก็กล้าละซี ความเพียรเร่งเลย ปฏิบัติจนกระทั่งมาทุกวันนี้เลยไม่ทราบว่าเรียนถึงไหนปฏิบัติถึงไหนนะทุกวันนี้นะ อยู่เซ่อซ่าๆ ไปอย่างนั้นละ เข็มทิศทางเดินที่ตั้งออกไปจะว่าล้มเหลวก็ถูก ไม่ล้มเหลวก็ได้ เพราะมันหากอ่อนไปตามธาตุขันธ์นะ ความเข้มข้นแต่ก่อนเข้มข้นมากธาตุขันธ์ดี ทีนี้ธาตุขันธ์อ่อนลงๆ ความเข้มข้นก็เลยอ่อนลงเหมือนกันนะ จึงปฏิบัติไม่สะดวก อย่างทุกวันนี้ไปเซ่อๆ ซ่าๆ ไปอย่างนั้นละ แต่หลักธรรมหลักวินัยไม่เคลื่อนคลาดนะ หลักธรรมหลักวินัยไม่มีเคลื่อนคลาดแต่ไหนแต่ไรมา ตรงเป๋งๆ ตลอด ความขยันหมั่นเพียรเข้มข้น

นี่ก็ได้พูดกับบรรดาพี่น้องทั้งหลาย นี่จวนจะตายแล้วค่อยเปิดออก เปิดออกนะ เปิดธรรมะนี้ออกจากใจ แต่ก่อนมีแต่หมุนเข้า หมุนเข้ามา เข้ามาหาใจ หาใจ เวลานี้ค่อยระบายออก ระบายออก จากความเอาจริงเอาจังของตัวเอง มันเอาจริงเอาจังมากแต่ก่อน เวลาปฏิบัติจะให้ถึงแดนแห่งมรรคผลนิพพาน เอาจริงเอาจังด้วย จะเอาให้ถึงจริงๆ ในใจนี้มันหมายมั่นปั้นมือตลอดเลย จะเอาให้ถึงมรรคผลนิพพาน ให้ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าเรา มันเข้มข้นมาก ตอนนี้ละความเพียรเร่งเอาเสียเรื่อยๆ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ จากนั้นก็อ่อนแอ กำลังวังชาอ่อนเอง แต่เรื่องเราหวังอย่างนั้นอย่างนี้สมหวังหรือไม่ ไม่อยากพูดนะ มันสมใจว่าอย่างนั้นเถอะ สมใจเลย ไม่ขัดข้อง เรียกว่าสมใจตัวเอง

การปฏิบัติจิตนี่เหมือน จิตนี่มันถูกหุ้มห่อปิดปังอยู่ด้วยกิเลสตัณหามันเหมือนแก้วดำไปครอบจิตใจที่สว่างให้ดำไปหมดนั้นเปิดออกหมด เวลามันเปิดออกมันก็จ้าไปหมดเลย มันเป็นอย่างนั้นละ ทุกวันนี้อยู่สภาพคนแก่ จะว่าเปิดเปิดในหัวใจนี้เปิดหมด ไม่มีข้องแวะอะไร สงสัยอะไรไม่มี หมด ที่จะตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนๆ หายสงสัยหมดเลย สมใจที่เราประกอบความเพียรมาแทบล้มแทบตาย หมายพระอรหันต์เป็นเข็มทิศ เป็นที่อยู่ ครองมรดกอันล้ำเลิศของพระพุทธเจ้าคืออรหันต์ นี่ก็ใส่กันเต็มเหนี่ยวละ แล้วหยุดเองนะ มันหมดกำลังแล้วหยุดเอง ว่าไปไม่ไหวแล้วไม่พูด ว่าไปไม่ไหวแล้วก็ไม่พูด มันอ่อนกำลังที่จะประกอบความพากเพียร ผลที่มุ่งหวังมุ่งมุ่งอย่างไรๆ มันก็เป็นไปในใจ เป็นไปในใจไปทุกอย่างๆ แล้วพอใจ ลงสุดท้ายพอใจ เราพอใจ

พี่น้องทั้งหลายอยากทราบก็ทราบเสีย อีตาบัวนี่เกิดบ้านตาดนี่ละ เกิดบ้านตาดแล้วออกไปบวช ออกไปบวชก็เรียนหนังสืออยู่กี่ปีจากนั้นก็ออกกรรมฐาน พอออกกรรมฐานก็มุ่งหาหลวงปู่มั่นเลย เข้าหาหลวงปู่มั่นปุ๊บเลย เกาะติด ไปหาหลวงปู่มั่นแล้วเกาะติดเลยไม่ปล่อย เอาจนกระทั่งท่านมรณภาพจากไป อยู่กับท่านได้ ๘ ปี คือตั้งแต่วันไปพบท่านจนกระทั่งวันท่านมรณภาพจากไปดูเป็นเวลา ๘ ปี นั่นละเอาเลย จากนั้นเราก็ฟิตเราต่อไปเลย ไม่มีท้อมีถอยทุกอย่าง ท่านทั้งหลายจะฟังก็ฟังเสียนะ หลวงตานี่จวนจะตายแล้ว

(มีคนถ่ายรูปขึ้น) อย่ามาถ่ายรูปแว็บๆ วับๆ ฟาดเข้าป่าหน่อยนะ มันไม่ดูหน้าดูหลังบ้างเหรอ เวลากำลังเทศน์มาถ่ายทำไมถ่ายรูป ดูมนุษย์เขาเป็นอย่างไรเราเป็นอย่างไร เอามนุษย์เทียบกับคนทั้งหลายบ้างซี เราเป็นอย่างไรมนุษย์ประเภทไหน ต้องการความสำคัญในอรรถในธรรมหากมีล่ะเรื่องแว็บๆ วับๆ มีมา นี่ก็ล้มไปแล้ว

นี่เอาจริงเอาจังการปฏิบัติจึงสง่าผ่าเผยในใจ อาจหาญทุกอย่างในใจ ไม่ว่าการเข้าคบค้าสมาคมกับคนชั้นใดไม่เคยมีความสะทกสะท้าน จะสูงขนาดไหนก็สูง ธรรมเราสูงกว่า ธรรมเราสูงกว่าตลอดเวลา จะคบค้าสมาคมกับมนุษย์ชั้นใดภูมิใดจิตใจสูงกว่าทุกขั้นทุกภูมิ เรียกว่าผ่านแล้ว เหนือกว่า เหนือกว่า จึงไม่เคยสะทกสะท้านกับสมาคมใด จะเข้าสมาคมใดก็ตามเราไม่เคยมีคำว่าสะทกสะท้าน เพราะธรรมชาตินี้เหนือกว่าแล้ว เหนือกว่า ธรรมเหนือกว่า จนกระทั่งทุกวันนี้ อะไรก็เลยเสมอหมดทุกวันนี้ มันเสมอไปหมดแล้วละ เจ้าของก็มีแต่ลมหายใจ

ไม่วิตกวิจารณ์ว่าผลได้ผลเสียเป็นอย่างไร การปฏิบัติของเรายังขาดตกบกพร่องอะไร ผลได้ผลเสียที่จะหามาเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง บัดนี้หายสงสัย ไม่เป็นกังวล นี่เรียกว่าหาเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้เต็มอกเต็มใจ หายสงสัยหมด จวนจะตายแล้วพูดให้มันชัดเจนเสีย เราจะไม่กลับมาเกิดอีก มันแน่อยู่ในหัวใจ ขาดแล้วในระหว่างสมมุติกับวิมุตติขาดกันหมดโดยสิ้นเชิงมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ ๖๐ กว่าปีแล้วมัง ตั้งแต่นี้ขาดจากกันมา ตั้งแต่นั้นละสง่างามมาเรื่อย ไม่มีท้อแท้อ่อนแอ ไม่มีสมาคมใดในสามโลกธาตุที่จิตดวงนี้จะยอบแยบจะพรั่นพรึงหวั่นไหวไม่มี สง่าอยู่อย่างนั้น

นี่ละจิตเหนือโลกแล้ว โลกคืออะไรคือกิเลส กิเลสเท่านั้นที่มันเหนือโลกอยู่ทุกวันนี้ นอกจากกิเลสไม่มีอะไรเหนือโลก โลกถึงวิ่งไปตามกิเลสจึงร้อนกันทุกหย่อมหญ้าซิ ทีนี้เมื่อธรรมเหนือกิเลสแล้วกิเลสหมอบ เมื่อกิเลสหมอบแล้วธรรมก็ออกอย่างสง่าผ่าเผย ไม่สะทกสะท้านกับสิ่งใด พากันจำเอาไว้นะ นี่เราจวนจะตายพูดให้ท่านทั้งหลายฟังเสีย สิ่งที่เราหาตั้งแต่วันบวชมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เราสมมักสมหมายแล้ว สมมักสมหมายไม่ได้มีที่ต้องติว่าบกพร่องตรงไหนบ้างไม่มี สมบูรณ์แบบทุกอย่างจึงสอนโลกได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่สะท้านหวั่นไหวว่าเรายังขาดอะไร ไม่มีขาด หัวใจเต็มไปด้วยธรรม ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน พูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแหละ

นี่ก็บวชมาตั้งแต่พ.ศ.บวชมาเท่าไร (๗๖ ปีครับ) บวชมานี้ ๗๖ ปี นั่นละ ๗๖ ปีมีแต่ฝึกจิตนะ ๗๖ ปีฝึกจิตทั้งนั้นละ ฝึกกายวาจาฝึกมาตั้งแต่วันบวช ฝึกจิตนี้ฝึกด้วยจิตตภาวนาจึงเน้นหนักเข้าไปนี้ละ ฝึกจิตตภาวนานี่ฝึกยากนะ เอากันตอนนี้ตอนภาวนา ฝึกจิตเอาให้จิตหายพยศ ความพยศอยู่กับกิเลส กิเลสอยู่กับจิตเอาให้กิเลสหมอบราบหมดแล้วความพยศในจิตไม่มี ตัวพยศคือจิตคือกิเลสนั่นแหละสำคัญเข้าไปเหยียบย่ำทำลายจิตให้เดือดร้อนวุ่นวาย พอตัวนี้ขาดสะบั้นไปแล้วไม่มีจิตพยศ ไม่ปรากฏ กิเลสตายแล้วตัวพยศ หมด อยู่สะดวกสบาย ตายแล้วหายห่วง

เราบอกชัดๆ เลยว่าจะไม่กลับมาเกิดอีก พูดให้มันชัดๆ อย่างนี้เสีย เราปฏิบัติมาแทบเป็นแทบตายเรายังทำได้ของเรา ทำถึงแทบเป็นแทบตายนะการภาวนา แล้วการที่จะแย็บออกให้เป็นคติตัวอย่างแก่บุคคลผู้ดีทั้งหลายทำไมจะพูดไม่ได้ ของดีใครก็อยากพูดใช่ไหมละ นี่เราหาอรรถหาธรรมได้เล็กได้น้อยเราพูดบ้างมันเสียหายที่ตรงไหน นี่เราหาอรรถหาธรรมหาจนหายสงสัยแล้ว หมดสงสัยในใจของเรา บอกว่าไม่มี กิเลสตัวใดที่จะมากีดขวางให้เกิดความสงสัยในการไปการมาเคลื่อนไหวความเกิดความตายของเราไม่มี หมดโดยสิ้นเชิง นี่เราก็พูดได้สบายๆ เราไม่มีอะไรกีดขวางหัวใจนะ เอาให้เรียบหมดเลย จึงพูดได้กับพี่น้องทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายให้ฟังให้ดี อย่าฟังด้วยทิฐิมานะอวดรู้อวดฉลาดอวดเบ่งกล้ามมันมีนะ กิเลสชอบไปเบ่งกล้ามใส่ธรรมเสมอ ถ้าพูดอะไรแล้วหาว่าท่านโม้ท่านคุย เจ้าของอวดเบ่งอยู่ภายใน อึ่งอ่างกับวัว วัวตัวเท่าไร อึ่งอ่างตัวเท่าไร มันไม่ดูอึ่งอ่างตัวมันเบ่งอยู่นั่นน่ะ เพราะฉะนั้นคนเราจึงหาดีไม่ได้ มันไม่ยอมฟังเสียงใคร มันเอาแต่เสียงอึ่งอ่างมันนั่นละเบ่งอยู่อย่างนั้น ดีไม่ดีใหญ่ไม่ใหญ่ก็ตามได้เบ่งก็เอา เข้าใจไหม วัวเขาไม่เป็นอะไรวัวเขาหากินธรรมดาเขา แต่อึ่งอ่างนี้เบ่ง มันมีแต่พวกเบ่งมันจึงหาความดีไม่ได้ ครูบาอาจารย์สอนก็ถือเป็นข้าศึกศัตรูแล้วเบ่งใส่ครูบาอาจารย์ สุดท้ายวัดกับบ้านจะเข้ากันไม่ได้เพราะมันเบ่งใส่วัด วัดท่านไม่อยากเล่นด้วยท่านก็ปล่อยเสีย ให้มันเบ่งอยู่ของมันคนเดียว ตัวเก่งๆ ให้มันเบ่งของมัน ฟังเอานะ พวกเรานี่พวกอึ่งอ่างมันเบ่งนั่นละ มันไม่ได้หาของดิบของดี หาแต่ของเลวของเบ่งๆ ตัวเท่าอึ่งหากเบ่ง ได้เบ่งก็เอา มันเป็นอย่างนั้นนะ

นี่พี่น้องทั้งหลายได้มาเยี่ยม นานๆ ได้เข้ามาสู่อรรถสู่ธรรมหนหนึ่งก็ให้นำไปประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างพระพุทธเจ้าที่เราได้มากล่าวถึงท่าน พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เอาเป็นเอาตายเข้าว่า ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เรียกว่าเรากราบเราไหว้ผู้รอดตายมานะ พระพุทธเจ้ากว่าจะได้ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายตลอดพระสงฆ์ท่านรอดตายนะ เราก็ขอให้นำท่านมาปฏิบัติเป็นคติตัวอย่างแก่ตัวเอง อย่าเป็นอึ่งอ่าง เข้าใจไหมอึ่งอ่าง อึ่งอ่างกับวัว อึ่งอ่างตัวเท่ากำปั้น วัวตัวเท่าวัว แล้วอึ่งอ่างมันเบ่งของมัน มันไม่เท่าละเท่าวัว มันก็เท่าอึ่งอ่างละแล้วตายทิ้งเปล่าๆ ด้วยความถือทิฐมานะอวดรู้อวดฉลาดว่าตัวเก่ง มันไม่เก่งเท่าตัวอึ่งอ่างนะ ตัวอึ่งอ่างจะพาจมนะ

นั่นละใครดีก็ตามสู้เราดีไม่ได้ ตัวนี้ตัวมันจะพาลงนรก ให้ฟังเสียงครูบาอาจารย์บ้างซิ เราอย่าอวดดีอวดเบ่งว่าเราเป็นเจ้าถิ่นเจ้าฐานเจ้าบ้านเจ้าเรือน ครูบาอาจารย์ก็เลยมากลายเป็นลูกศิษย์ของเราไป ฟังเสียงเรา นี่ละตัวอึ่งอ่างตัวมันเบ่งเก่งๆ แล้วจมก่อนเพื่อนด้วยนะตัวนี้นะ ให้ฟังเสียงอรรถเสียงธรรม ไม่ใช่ของใคร ธรรมเป็นธรรมชาติสูงไม่มีอะไรเสมอล่ะ ให้ฟังเสียงธรรมแล้วนำมาประดับจิตใจของตน อันใดไม่ดีให้แก้ไขดัดแปลงตนเอง มันจึงเป็นคนดีสมเรามีพระเจ้าพระสงฆ์ในวัดในวาของเรา เราอย่าไปอวดเบ่งใส่ท่าน ส่วนมากมันมีแต่ชาวบ้านอวดเบ่งใส่วัดนั่นละ ไปที่ไหนมองแป๊บรู้ทันทีชาวบ้านมันอวดเบ่งใส่พระ หาว่าที่นี่เป็นที่ของเราบ้านของเรา อะไรก็เป็นของเรา ของเรา ธรรมเลยเป็นแขกเข้าไปติด ต้องออกไปนู่นนอกบ้าง จะเข้าบ้านก็เข้าไม่ได้ มันไปเจอเอาตัวอึ่งอ่างต้องได้หลีกไป ธรรมเข้าบ้านไม่ได้ ธรรมกลัวบ้านกลัวตัวอึ่งอ่างตัวเก่งกว่าครูเข้าใจไหม ตัวอึ่งอ่างตัวมันเก่งกว่าครูมีเยอะนะ ทุกวันนี้ยิ่งหนาแน่นขึ้นมา ยิ่งไปเรียนที่นั่นที่นี่มาแล้ว โถ เบ่งจนท้องแตก เจ้าของตายยังไม่รู้ว่าท้องแตกจนตาย พากันจำเอา

วันนี้ก็ได้มาอบรมศีลธรรม ให้ได้ศีลธรรมไปแก้ไขดัดแปลงตนบ้าง ครูบาอาจารย์ ท่านเอาเป็นเอาตายนะ ดัดแปลงสั่งสอนตัวเองเอาจนถึงขั้นเป็นขั้นตายก็ตาย ท่านไม่ถอย จึงได้อรรถได้ธรรมมาสั่งสอนพี่น้องทั้งหลายแล้วให้พากันนำไปประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่อึ่งอ่างมันอยู่ในตัวของเรานั้นออก ให้มันเหลือแต่ธรรมชาติตัวเท่าวัว เราตัวธรรมชาติตัวเท่าอึ่งนี้เบ่งเท่าวัวมันไม่ได้ล่ะ วัวเป็นวัว อึ่งเป็นอึ่ง อย่าอวดดีอวดเก่งยิ่งกว่าท่านผู้ดีทั้งหลาย ให้พากันจำเอา

พูดไปพูดมาเหนื่อยแล้วนะ วันนี้มีเท่านั้น แล้วพระเจ้าพระสงฆ์มาพระเจ้าพระสงฆ์ก็ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้สวยงาม พระเจ้าพระสงฆ์ไม่ได้สวยงามที่ผ้าเหลือง โกนผมโกนคิ้วนะ สวยงามที่ข้อวัตรปฏิบัติ เพศของพระกลมกลืนไปกับธรรมกับวินัย พระองค์ไหนสวยงามสวยงามที่กิริยามารยาท การแสดงออกไม่ผิดเพี้ยนจากเพศของพระเลย นั่นละพระที่สวยงาม ไม่ใช่สวยงามแบบแต่งเนื้อแต่งตัวอย่างเขาแต่งตัวเสริมสงเสริมสวยมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าก็ไม่เห็นมันสวย ก็เท่านั้นแหละ เราแต่งเราให้แต่งอยู่ภายใน ใครไม่ว่าสวยก็ตามเรามีความสุขุมคัมภีรภาพอยู่ในใจของเราและความเย็นอกเย็นใจ เพราะการปฏิบัติดีของเรา ให้จำเอาตรงนี้นะ

พระเณรเราอย่าลืมเนื้อลืมตัว ครั้นนานไปนานไปพระเราก็เลอะเทอะ ทีแรกพระเป็นหัวหน้าของบ้านของเรือนเขาเห็นพระเขาได้กราบพระเย็นใจ ทีนี้พระกับโยมก็พอๆ กัน ดีไม่ดีพระสู้โยมไม่ได้แล้วเลวกว่าโยมใครจะกราบลงคอ ให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี อยู่ที่ไหนอย่าลืมคำว่าเป็นพระ พระนั้นมีธรรมมีวินัยเป็นเครื่องกำกับรักษา กิริยาเคลื่อนออกไปไหนมาไหนให้มีเพศของพระติดตัวไปด้วย สวยงามด้วยกิริยามารยาทของพระ จะสวยงามยิ่งกว่ากิริยามารยาทใดๆ ในโลก ให้พากันจำนะลูกหลานทุกคนๆ จำแล้วก็ให้ประพฤติปฏิบัติ

ตกแต่งอะไรก็สู้ตกแต่งตัวเองไม่ได้ พระพุทธเจ้าเลิศเลอด้วยการตกแต่งพระองค์เอง และสาวกทั้งหลายท่านเลิศเลอเพราะการตกแต่งตัวท่านเอง เราต้องการเลิศเลอก็ให้เลิศเลอด้วยการประพฤติปฏิบัติกำจัดความชั่วของตัวเอง สิ่งใดมันเป็นข้าศึกต่อธรรมกำจัดออกให้เหลือแต่พระล้วนๆ มีศีลมีธรรมประจำตนนั่นละจะเป็นพระที่สวยงาม อยู่คนเดียวก็เป็นสรณํ คจฺฉามิ อย่างชุ่มใจ ไปกับใครอยู่กับใครก็เป็น สรณํ คจฺฉามิ อย่างชุ่มใจๆ ทุกคนๆ เพราะฉะนั้นขอให้พระลูกพระหลานทุกคนนำไปประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งลามกทั้งหลายที่เวลานี้กำลังหนาแน่น ตัวลามกจกเปรตนั้นน่ะออกให้เบาบางพระก็จะน่าดู ดูเราก็น่าดู ดูพระอื่นก็น่าดู ดูใครต่อใครต่างคนต่างปฏิบัติให้เป็นคนดีแล้วน่าดูด้วยกันนั้นแหละ

ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาท่านทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ เอาล่ะไม่เทศน์มาก ไม่เทศน์มากแต่เหนื่อย

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระสงฆ์และฆราวาส
เนื่องในโอกาสที่คณะหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด
เข้ากราบคารวะองค์หลวงตา
ณ ศาลาใหญ่วัดป่าบ้านตาด
เมื่อบ่ายวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
เวลาประมาณ ๑๓.๔๕ น.

พิสูจน์ตายเกิดตายสูญ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓หน)

อนิจฺจา วต สงฺขารา   อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ   เตสํ วูปสโม สุโขติ.

บัดนี้ จะเริ่มได้แสดงธรรมิกถา อันเป็นโอวาทคำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ท่านพุทธบริษัททั้งหลายฟัง ตามกำลังและโอกาสอำนวย วันนี้เกี่ยวกับการถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์ฝั้น ซึ่งเป็นพระอาจารย์สำคัญองค์หนึ่ง เวลานี้กำลังจะเสร็จเรียบร้อยลงไปด้วยดี ทำไมท่านอาจารย์ฝั้นท่านก็เป็นพระเหมือนกันกับพระทั้งหลายที่ว่าเป็น ลูกศิษย์พระตถาคต ปรากฏอย่างเด่นชัดในความเป็นพระเหมือนกัน แต่ประชาชนพุทธบริษัททั้งหลายมีความเคารพนับถือ มีความรักความจงรักภักดีต่อท่านมากทั่วประเทศไทยก็ว่าได้ ไม่ว่าทางใกล้ทางไกล ฐานะสูงต่ำหรือวัยใดไม่เลือก ต่างท่านต่างเสียสละมาด้วยความเชื่อความเลื่อมใส มาถวายเพลิงท่านในวาระสุดท้ายนี้

การ มานี้ย่อมเสียสละทุกอย่างเราท่านทั้งหลายก็ทราบได้ดี เสียสละทั้งเวล่ำเวลาหน้าที่การงานสมบัติเงินทอง แม้ที่สุดชีวิตจะหาไม่ในขณะที่มาก็จำยอม นี่เพราะความเชื่อความเลื่อมใสต่อท่าน ท่านเป็นพระประเภทใดถึงได้มีประชาชนเคารพนับถือมาก เราเองเพียงจะมีความภูมิใจในเรา เป็นที่อบอุ่นใจในเราก็ยังเป็นไปไม่ได้ แต่ท่านเองสามารถทำความร่มเย็นให้แก่องค์ท่านเองแล้ว ยังสามารถทำความร่มเย็นหรือเป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจของประชาชนทั้งหลายได้ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเทียบกับแม่เหล็กอันสำคัญดึงดูดจิตใจประชาชนให้มีความเชื่อความเลื่อมใส ทั้งนี้เพราะท่านมีความสำคัญอยู่ภายในองค์ท่าน เรียกว่าคุณธรรม คุณธรรมนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐเหนือโลกทั้งสาม คำว่าธรรมนั้นเป็นของมีอยู่ตลอดอนันตกาล แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรื้อฟื้นธรรมนั้นขึ้นมาแสดงให้โลกเห็นได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกเพียงองค์เดียว

ท่านอาจารย์ฝั้นได้บวชในพระพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดัดกายวาจาใจของตน  เต็มสติกำลังความสามารถเรื่อยมา เรียกว่าเป็น สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อทางมรรคผลนิพพาน ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงภายในใจ สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมน่ากราบไหว้บูชา เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายจึงได้กราบไหว้บูชาเคารพนับถือท่าน เนื่องจากท่านมีของดีด้วยธรรมปฏิบัติมี ๔ ประการนี้เป็นรากฐานสำคัญ

คำว่า สุปฏิปนฺโน อุชุฯ ญาย ฯ สามีจิปฏิปนฺโน นี้นั้น เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนบรรดาพุทธบริษัท เฉพาะอย่างยิ่งคือภิกษุบริษัท หรือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะถากถางดัดแปลงกายวาจาใจของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ให้ได้ถึงความรู้ยิ่งเห็นจริง ศาสนาของพระพุทธเจ้ารวมลงแล้วเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมศูนย์กลางอยู่เสมอต่อมรรคผลนิพพาน ท่านผู้ใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าภิกษุ ไม่ว่าอุบาสก อุบาสิกา ธรรมไม่ได้เลือกหน้า ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นต้องให้ผลแก่ผู้ปฏิบัตินั้นโดยลำดับด้วยกัน

ท่าน อาจารย์ฝั้น ท่านเป็นพระสำคัญมาดั้งเดิม การประพฤติปฏิบัติก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ จนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นสมัยพุทธกาลก็เรียกว่าบรรลุธรรมขั้นนั้นๆ ไปโดยลำดับ ผู้มีความสามารถฉลาดรู้ถึงอรรถถึงธรรมจริงๆ ก็บรรลุถึงอรหัตผลได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เพราะศาสนธรรมนี้เป็นท่ามกลางเสมอในการสั่งสอนอบรม หรือเป็นท่ามกลางในการที่ผู้ปฏิบัติจะนำมาแก้กิเลสอาสวะทุกประเภทที่มีอยู่ ภายในใจ และเป็นความเหมาะสมในการแก้กิเลสทุกประเภทตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่ง ถึงปัจจุบันนี้

ธรรม นี้ไม่มีการเสื่อมสูญ ไม่มีเรียวมีแหลมไปไหน นอกจากผู้ปฏิบัติธรรมจะทำความเรียวแหลมแก่ตนเท่านั้น มรรคผลนิพพานจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าครั้งพุทธกาลหรือสมัยปัจจุบันนี้ มีการปฏิบัติเป็นสำคัญ ไม่มีสิ่งใดที่จะมากีดกันหวงห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติโดยชอบธรรมตามหลักธรรมของ พระพุทธเจ้า ไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ในสัจธรรมท่านแสดงไว้ ๔ ประการ คือ๑) ทุกข์ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ซึ่งเป็นผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากร่างกายวิกลวิการวิปริตผิดไปต่างๆ ทุกข์อันที่ ๒) เกิดขึ้นมาจากใจที่คิดสั่งสมกิเลสอาสวะให้เกิดขึ้นภายในตน แล้วปรากฏผลขึ้นมามากน้อย ทั้งสองประการนี้แลที่จะเป็นเครื่องกั้นกางมรรคผลนิพพานไม่ให้เกิดขึ้น

แล้วมีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องบุกเบิก หรือถากถางสิ่งกีดขวางทั้งสองประเภทนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ ท่านกล่าวไว้ว่า มัชฌิมาปฏิปทา คำว่า มัชฌิมา นั้นสรุปธรรมทั้งหลายนับแต่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ลงมา ย่อลงมาเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น และสัมมาสมาธิเป็นที่สุดท่าน ผู้ใดนำมัชฌิมาปฏิปทานี้ไปปฏิบัติให้สมบูรณ์ ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้สามารถจะบุกเบิกทางอันเป็นสิ่งที่รกรุงรังด้วยกิเลส ทั้งหลายภายในจิตใจของตนให้หลุดพ้น หรือให้ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงนิโรธคือความดับทุกข์ มรรคคือข้อปฏิบัติมีกำลังสามารถเพียงไร นิโรธคือความดับทุกข์ย่อมดับไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งมรรคมีกำลังเต็มที่ สามารถสังหารกิเลสทุกประเภทให้หมดไปจากใจ นิโรธคือความดับทุกข์ อันเป็นผลเกิดขึ้นมาจากสมุทัยได้แก่กิเลสทั้งหลายนั้น ก็แสดงขึ้นมาอย่างเต็มที่ภายในจิตใจของผู้นั้น

การ สำเร็จมรรคผลนิพพานไม่ได้หมายสถานที่กาลเวลาเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าครั้งพุทธกาลหรือสมัยนี้ก็ตาม ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง อันควรแก่การแก้กิเลสประเภทต่างๆ ให้หมดสิ้นไปได้ด้วยมรรคคือข้อปฏิบัตินี้เป็นของสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เราท่านทั้งหลายผู้ปฏิบัติศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ได้สนใจคิดบ้างหรือไม่ว่า สัจธรรมทั้ง ๔ ประเภทนี้ ยังมีสมบูรณ์อยู่กับพวกเราทั้งหลาย หรือหากว่าส่วนใดที่ด้อยลงไป การด้อยขอให้ด้อยในทางทุกข์และสมุทัยเถิด อย่าให้ด้อยข้อปฏิบัติ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จะเป็นโอกาสหรือจะเป็นความหวังที่จะให้ผู้ปฏิบัตินั้นๆ ได้ถึงความพ้นทุกข์ได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล

พอ เทศน์มาถึงตอนนี้ ก็มีปัญหาอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นเมื่อเย็นวานนี้ มีพระท่านไปถามว่า ในครั้งพุทธกาลปรากฏว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานมากมายก่ายกอง อันนี้เป็นความจริงประการใดหรือไม่ เราก็ได้ตอบตามความรู้ป่าๆ ของเราว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ธรรมะที่แสดงออกจากพระทัยของพระพุทธเจ้าโดยทางพระโอษฐ์ เป็นธรรมะที่บริสุทธิ์หมดจด ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ ผู้ฟังฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพื่อจะรู้ยิ่งเห็นจริงในความจริงทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เมื่อต่างอันต่างจริงเข้าบวกกันแล้ว จะเป็นของเลวลงได้อย่างไร

เพราะ ฉะนั้น ผู้ที่บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็ต้องเป็นผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมต่อความสัตย์ความจริงจริงๆ และผู้ชี้แจงแสดงธรรมก็เป็นผู้แสดงด้วยความรู้จริงเห็นจริง ไม่แสดงแบบสุ่มสี่สุ่มห้าเดาหน้าด้นหลังไปอย่างนั้น ตนเองไม่รู้จำได้แต่ชื่อของธรรมว่า ความโลภเป็นอย่างนั้น ความโกรธเป็นอย่างนี้ ความหลงเป็นอย่างนั้น เราจำชื่อของกิเลสได้จนกระทั่งถึงปู่ย่าตายายของมันก็ตาม เช่นเดียวกับเราจำชื่อของโจรผู้ร้ายทั้งหลายได้นั่นเอง อย่าว่าเพียงจำชื่อของโจรผู้ร้ายทั้งหลายนั้นได้เลย จำจนกระทั่งโคตรแซ่ของผู้ร้ายเหล่านั้นได้ ก็ไม่เห็นเกิดประโยชน์อันใด ถ้าจับตัวเสือเหล่านั้นไม่ได้ ก็คือเสือเหล่านี้เองที่จะทำความเดือดร้อนเสียหายแก่บ้านแก่เมือง หาความสงบไม่ได้

อัน นี้การจำชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะเฉย ๆ ไม่เพียงแต่จะจำชื่อของตัวกิเลส จำจนกระทั่งถึงโคตรแซ่ของกิเลสด้วยความจดความจำเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรให้กิเลสมีความกระทบกระเทือน หรือจับกิเลสไม่ได้ ฆ่ากิเลสไม่ตายแล้ว การจำชื่อกิเลสทุกประเภทได้ไม่เห็นมีความหมายอันใดเลยเช่นกัน

เพราะ ฉะนั้นจึงมีความสำคัญอยู่ที่การจำชื่อของกิเลสได้แล้ว ให้ทำหน้าที่ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่จะให้กิเลสเหือดแห้งหรือหมดสิ้นไปด้วยอุบายวิธีใด ที่เรียกว่าฆ่ากิเลสไปโดยลำดับ กิเลสจะสิ้นออกจากใจไปเป็นลำดับจนกระทั่งหมดสิ้นภายในจิตใจ เป็นผู้ถึงความบริสุทธิ์วิมุตติพุทโธเหมือนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่าตามเสด็จพระองค์ทัน เช่นเดียวกับเราจำชื่อของโจรของผู้ร้ายได้แล้ว ตามจับตัวมาทำโทษให้ได้ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะเป็นโจรผู้ร้ายก่อความเดือดร้อนแก่บ้านเมืองอีกต่อไป

การ ปฏิบัติศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราควรคำนึงถึงพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเรา ไม่ใช่สั่งสอนเพียงปาวๆ เท่านั้น ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ก็ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่ออรรถเพื่อธรรม จนกระทั่งถึงสลบไสลไปถึง ๓ ครั้ง ซึ่งเราเคยทราบในตำรับตำราอยู่แล้ว จนกว่าจะได้ตรัสรู้มีความลำบากยากเย็นแค่ไหน ไม่มีใครเสมอเหมือนพระพุทธเจ้าในเรื่องความลำบาก หรือความอุตส่าห์พยายามทุกด้านทุกทาง เพื่ออรรถเพื่อธรรมมาเป็นสมบัติของพระองค์และมาสั่งสอนโลก

การ สั่งสอนโลกนั้น พระองค์สั่งสอนด้วยพระเมตตาจริงๆ ไม่มีโลกามิสใดๆ เข้าเคลือบแฝงเลย เพราะพระทัยท่านบริสุทธิ์ ไม่มุ่งประสงค์สิ่งใดนอกจากหัวใจของสัตว์โลก ได้รับผลประโยชน์มีความร่มเย็นเป็นสุข และรู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่วรู้บุญรู้บาป รู้นรกสวรรค์ ประจักษ์ตามพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนนั้นเท่านั้น นั้นเป็นสิ่งที่พระองค์ต้องการอย่างยิ่ง

พระ โอวาททุกบททุกบาททรงแสดงด้วยพระเมตตา เราผู้รับพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ควรจะสำนึกในพระคุณของท่าน แล้วพยายามปฏิบัติตนอย่าให้เสียเวล่ำเวลา เกิดมาในชาติหนึ่งๆ ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย เช่นเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องมีภูมิคุณธรรมควรที่จะเป็นมนุษย์ได้ถึงจะมาเป็นได้ เช่น กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของที่หาได้ยาก แต่เราทุกคนที่ปรากฏตัวอยู่เวลานี้ ได้เป็นมนุษย์แล้วอย่างสมบูรณ์ด้วยกัน และทราบประจักษ์ใจว่าตนเป็นมนุษย์ เมื่อได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ก็ควรจะรักษาคุณสมบัติแห่งความเป็นมนุษย์นี้ด้วยดี ด้วยข้อปฏิบัติ มีทานมีศีลมีอบรมเจริญเมตตาภาวนาสวดมนต์ประจำภูมิมนุษย์เรา ไม่เช่นนั้นก็จะกลายไปแย่งภูมิสัตว์ กิริยามารยาทความรู้ความเห็นของสัตว์มาเป็นของตัว เมื่อไปแย่งเอากิริยามารยาทความรู้ความเห็นของสัตว์มาเป็นของตัวแล้ว ก็จะก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่นได้มากมาย เพราะมนุษย์เรามีความฉลาดกว่าสัตว์ การทำความเสียหายจึงทำได้อย่างมากมายยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ ทั้งนั้น และมนุษย์เราเป็นผู้ฉลาดกว่าสัตว์ การบำเพ็ญตนให้เป็นไปในทางที่ดี ย่อมไม่มีสัตว์ตัวใดจะเสมอมนุษย์ได้เลย เพราะมนุษย์ฉลาด

เวลา นี้เราเกิดมาในท่ามกลางแห่งพระพุทธศาสนา ก็เรียกว่าเป็นบุญลาภของเราแต่ละท่านๆ อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ตามหลักธรรมที่ได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารร่างกายของเราทุกๆ ท่านตั้งอยู่ในความไม่แน่นอนทุกขณะ คือ สังขารร่างกายไม่เที่ยง ไม่เพียงไม่เที่ยงอยู่เฉพาะกาลเท่านั้น ไม่เที่ยงไปตลอดเวลา แปรอยู่โดยสม่ำเสมอตั้งแต่ขณะแรกเริ่มปฏิสนธิวิญญาณขึ้นมา จนกระทั่งถึงบัดนี้ และแปรไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายคือความตาย

เรา จึงไม่ควรนอนใจในชีวิตจิตใจของเราที่เป็นอยู่นี้ว่าจะไม่ตาย สัตว์ทุกตัวสัตว์ มนุษย์ทุกคนมีป่าช้าเต็มตัว ใหญ่โตกว้างแคบดูในตัวของเราก็ทราบ นี้เป็นป่าช้าหมดทั้งตัว เมื่อตายแล้วหาสาระอันใดไม่ได้ อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีเกิดขึ้นกับตายเท่านั้นเป็นคู่เคียงกัน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดแล้วต้องตาย นั่นท่านบอก เตสํ วูปสโม สุโข การระงับดับเสียได้ซึ่งความเกิดเป็นรูปเป็นกายเป็นหญิงเป็นชายอะไรนี้เสียได้ ท่านว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง

พวก เราทั้งหลายปรารถนาอยากเกิดกัน แต่ไม่ปรารถนาอยากตาย เป็นความขัดแย้งต่อความจริง ปีนเกลียวกับความจริง จึงได้ทุกข์อยู่เรื่อย ๆ เพราะความปีนเกลียวความจริง การรู้ตามความจริงปฏิบัติตามความจริง คือหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนไว้นั้นเป็นความถูกต้อง เราจะได้ไม่ประมาท เกิดขึ้นมาอย่างไรแล้วต้องตาย ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้ให้พยายามบำเพ็ญ เราอย่าเชื่อเราจนเกินไปเรามีกิเลส เหมือนคนตาบอดเชื่อตัวเองไม่เชื่อตนตาดี เดินไปที่ไหนชนแต่ไม้โดนแต่ไม้ เจ็บแข้งเจ็บขาก็เจ็บแข้งเจ็บขาคนตาบอดนั้นแล ไม่ใช่เจ็บแข้งเจ็บขาคนตาดี การเชื่อคนตาดีดีกว่าเชื่อตัวเองซึ่งเป็นคนตาบอด คนโง่ควรจะเชื่อคนฉลาดเป็นของดี

ถ้า เราเชื่อเรามากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงว่า ผู้ใดบ้างที่จะมีความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าเรา ถือว่าเราเป็นผู้ฉลาดเหนือใครๆ หรือว่าฉลาดเต็มตัว นั้นมักจะโง่เต็มตัวอยู่ทุกขณะ การที่เชื่อย่อมมีเชื่อหลายด้านหลายทาง เช่น เชื่อว่าตายแล้วสูญก็มี นี่เชื่ออย่างจมไปเลย ความที่ว่าตายแล้วสูญนั้น เราค้นหาสาเหตุอันใดมา มีเหตุมีผลอย่างไรพอที่จะยืนยันได้ว่าตายแล้วสูญเล่า

ตาย แล้วเกิดนี่มีหลักมีเหตุผลเป็นเครื่องยืนยัน ดังพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ท่านเรียกว่าวัฏวน วนไปเวียนมาอยู่ในกำเนิดต่างๆ แล้วแต่กรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจจะพาให้ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ชั้นสูงชั้นต่ำชั้นใดๆ ไม่เลือก สำคัญอยู่ที่กรรมซึ่งมีอยู่ภายในใจ กรรมดีกรรมชั่วนี่เป็นเชื้ออันสำคัญที่จะยังสัตว์ทั้งหลายให้ไปเกิด และมีความสุขความทุกข์ มีอำนาจวาสนา โง่ฉลาดต่างกัน มีอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้มีอยู่ที่ความสำคัญเอาเฉยๆ

เช่น อย่างว่าตายแล้วสูญเป็นต้น อะไรมันสูญ ถ้าหากว่าตายแล้วสูญ พวกเราทั้งหลายที่นั่งอยู่นี้มีมาได้อย่างไร เพราะคำว่าตายแล้วสูญนั้นจะไม่สูญตั้งแต่เพียงเท่านี้ จะสูญมาดั้งเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่จะมาสูญเพียงขณะเรามาพูดนี้เพียงเท่านั้น อะไรมันสูญ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เข้า ผสมกันแล้ว จิตไปจับจองว่าเป็นเจ้าของมาเกิดเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย ปรากฏเป็นตัวเราเป็นสัตว์ต่างๆ มีอยู่เต็มโลกเต็มแผ่นดิน นี่ถ้าโลกเป็นของตายแล้วสูญจริงๆ สัตว์มาเกิดได้อย่างไร เอาอะไรมาเกิด เพราะอะไรๆ มันก็ต้องสูญไปหมด จิตตายแล้วสูญมีความรู้สึกในตัวคนได้อย่างไรเล่า นี่ก็เพราะตายแล้วไม่สูญนั่นเอง มันถึงมีอยู่ให้เห็นอยู่รู้อยู่อย่างนี้

ผู้ ที่ว่าตายแล้วสูญนั้นแล เป็นเหตุที่จะให้ทำความชั่วช้าลามกต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงผลว่าจะเป็นอย่างไร ความเชื่อตัวเองนั้นแลเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราสำคัญว่าตายแล้วสูญ แต่ความจริงมันไม่สูญ เมื่อไปเกิดในภพต่างๆ เพราะอำนาจแห่งการทำกรรมหนัก ก็จะได้รับความทุกข์แก่ตัวเองนั้นแล เช่นเดียวกับคนตาบอดไม่เชื่อคนตาดี ความเจ็บก็จะต้องตัวเองเป็นคนเจ็บ โดนไม้โดนอะไรก็ตาม ความไม่เชื่อคนตาดี ผลสุดท้ายก็คนตาบอดนั้นแลเป็นผู้ได้รับความทุกข์ เพราะความเชื่อตัวเอง

เรา ทั้งหลายมืดบอด ไม่มีความสว่างไสวอันใดเป็นเครื่องยืนยัน พอที่จะรับรองเป็นความจริงได้ เกิดมาก็ไม่ทราบว่ามาจากภพใดชาติใด มาปรากฏเป็นมนุษย์อยู่นี้ แล้วตายจากนี้แล้วจะไปไหนอีก เมื่อไม่มีทางออกโดยธรรมแล้วก็ว่าตายแล้วสูญ คนที่เข้าใจว่าตายแล้วสูญนั้นแล เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วช้าลามกได้โดยไม่มีการยับยั้ง เพราะว่าเราเกิดชาติเดียวตายไปแล้วไม่เห็นมีอะไรทั้งนั้น สูญสิ้นไปเลย นี่เป็นความสำคัญ แต่สิ่งที่เป็นเชื้อให้เกิดนั้นได้แก่อะไร ท่านว่าอวิชชาเป็นเชื้อสำคัญ แต่การที่เราจะพิสูจน์ถึงเรื่องความเกิดความตายนี้ เราจะพิสูจน์เพียงความคิดด้นเดาเอาเฉยๆ นั้นไม่ได้ ไม่ยังผู้นั้นให้สิ้นสงสัยได้เลย

พระพุทธเจ้า ผู้ทรงสั่งสอนสัตว์โลก ทรงค้นพบด้วยภาคปฏิบัติของพระองค์ ตรัสรู้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้ตรัสรู้ด้วยการด้นเดา ด้วยการคิดเอาเฉยๆ เมื่อได้ตรัสรู้ความจริงแล้ว นำความจริงนั้นมาสั่งสอนโลก ธรรมนั้นจึงเป็นของจริงลบไม่สูญ เช่นอย่างว่าตายแล้วเกิดอีก อะไรเป็นเหตุให้เกิดอีก พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบแล้วว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นต้น อวิชชานั้นแลเป็นเชื้อสำคัญ ที่ฝังอยู่ภายในจิตนั้น พาให้สัตว์ไปเกิดในกำเนิดต่างๆ กันไม่มีที่สิ้นสุดจุดหมายปลายทางเลย การที่จะระงับดับเสียซึ่งความเกิดนั้นดับวิธีใด ท่านสอนวิธีดับ เฉพาะอย่างยิ่งคือ จิตตภาวนาเป็นภาคพิสูจน์อันสำคัญ และจะเห็นความจริงด้วยภาคภาวนานี้เท่านั้น อย่างอื่นเป็นไปไม่ได้

พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ด้วยการภาวนา ตรัสรู้ด้วยการปฏิบัติ สาวกทั้งหลายบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติ รู้จริงเห็นจริงด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้รู้จริงเห็นจริงด้วยความจำความคาดคะเนเอาเฉยๆ อันนั้นเป็นความสำคัญของคนมีกิเลส ไม่ใช่เป็นความจริงของธรรม พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติธรรม รู้ธรรมด้วยความจริงในพระทัยแล้วจึงนำมาสั่งสอนโลก เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

คำว่า อวิชฺชาปจฺจยา นี่เราจะทราบได้ทางภาคปฏิบัติ เริ่มแรกปฏิบัติถ้าใจของเรายังไม่เคยสงบร่มเย็นเลย เราก็ไม่ทราบว่าใจคืออะไร ร่างกายคืออะไร มันรู้ไปหมดทั้งตัวแต่จับจุดแห่งความรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ อย่างท่านสอนให้อบรมจิตให้มีความสงบ ก็เพื่อจะตะล่อมกระแสจิตเข้ามาสู่วงเฉพาะของตนเอง เพื่อจะจับตัวเองได้ว่านี้คือจิต นั้นคือร่างกาย ในภาคปฏิบัติเบื้องต้นก็จะพิสูจน์ถึงเรื่องของจิต พิสูจน์เรื่องจิตท่านให้พิสูจน์ด้วยหลักจิตตภาวนา เมื่อใจมีความสงบเราจะเห็นจุดแห่งความรู้อย่างเด่นชัดอยู่ภายในตัวของเรา สงบมากเพียงไรยิ่งเห็นจุดของจิตเด่นชัด ร่างกายเป็นอย่างหนึ่ง จิตเป็นอย่างหนึ่ง เห็นได้อย่างชัดเจนภายในใจของผู้สงบ ยิ่งจิตมีรากฐานแห่งสมาธิแน่นหนามั่นคงด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นฐานของจิตได้อย่างชัดเจน จากนั้นแล้วก็พิจารณาทางด้านปัญญา

คำ ว่าปัญญาคือความเฉลียวฉลาด ความคลี่คลาย ความพินิจพิจารณาไตร่ตรองค้นหาความจริงที่มีอยู่ในสกลกายของเรา เรียกว่ามีอยู่ที่ขันธ์ ๕ นี้ รูปได้แก่ร่างกายส่วนต่างๆ นี้เรียกว่า รูป เวทนา ได้แก่ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่มีอยู่ทั้งในร่างกายและจิตใจ สัญญา คือความจำได้หมายรู้ จำได้ว่าบ้านนั้นอยู่นั้น บ้านนี้อยู่นี้ คนนั้นชื่อนั้น สังขารคือความคิดความปรุงของใจ นี่เป็นอาการที่ออกมาจากจิตแต่ละอย่างๆ วิญญาณคือความรับทราบ เวลาอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในกระทบกัน ได้แก่ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น เกิดความรู้สึกขึ้นในขณะนั้น พอสิ่งสัมผัสผ่านไปความรู้นี้ก็ดับไป ท่านเรียกว่าวิญญาณ

การ พิจารณาคลี่คลายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เห็นชัดตามเป็นจริงของมัน เรียกว่าปัญญา ปัญญาคลี่คลายดูให้เห็นชัด รูปให้เห็นเป็นสภาพของรูปตามความจริง ไม่ใช่เรา เวทนา ความสุขความทุกข์เฉยๆ เป็นความจริงแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา นี่ทางภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ สังขาร ความคิดความปรุงขึ้นมาภายในจิตใจ เกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิด คิดดีคิดชั่วดับ มีเกิดมีดับเป็นคู่เคียงกันเสมอไป ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

พิจารณา จนเห็นชัดภายในจิตใจ ว่ารูปเป็นรูป เวทนาเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ เป็นอาการหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ให้เห็นได้อย่างชัดเจนประจักษ์ใจ เมื่อรู้แจ้งเห็นชัดในอาการทั้งห้านี้แล้ว จิตย่อมหดตัวเข้าไป ปล่อยวางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกไว้ตามความเป็นจริงของมัน นี่การคลี่คลายการพิสูจน์ถึงเรื่องจิต มีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดไม่เกิด จิตมีความติดข้องพัวพันในสิ่งใด หนักในอารมณ์ใดมาก เราย่อมทราบได้ชัดว่า จิตนี้ยังมีความสืบต่อกับสิ่งนั้นๆ

เมื่อ ปัญญาพิจารณาหยั่งทราบชัดเจนแล้วปล่อยวางเข้ามาๆ เรียกว่าจิตขาดจากอารมณ์นั้นๆ โดยลำดับ จนกระทั่งเข้ามารู้ภายในตนเอง คือ มีจิตกับอวิชชาเท่านั้น กิ่งก้านแขนงของอวิชชาที่ส่งออกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือส่งไปทางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถูกตัดหมดหรือถูกรู้เท่าทันด้วยปัญญา ปล่อยวางเข้ามาไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย เหลือแต่อวิชชาตัวเดียวเท่านั้น ลูกเต้าหลานเหลนถูกฆ่าฉิบหายตายหมดด้วยปัญญาแล้ว ก็พิจารณาตัวเชื้อที่พาให้เกิด ไม่มีอันใดที่จะพาให้เกิดนอกจากอวิชชานี้เท่านั้น นี่การปฏิบัติให้พิสูจน์เรื่องความตายเกิดตายสูญต้องพิสูจน์อย่างนี้

เมื่อ ได้ทำลายอวิชชาลงไปหมดด้วยปัญญาอันแหลมคมแล้ว หมดเชื้อ ความเกิดไม่มี เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นี้ละที่พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ การเกิด-เกิดเพราะสาเหตุแห่งอวิชชานี้ ได้ชำระลงไปหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือแล้ว ภพไม่มี นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ความเป็นอีกความเกิดอีก คือ เกิดในภพนั้นๆไม่มี รู้ประจักษ์พระทัยพระองค์อย่างนี้ ไม่ได้รู้ด้วยความคาดคะเน ความด้นเดาเอาเฉยๆ ว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญอะไรทำนองนั้น

แม้ เราจะเชื่อตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าว่า ตายแล้วเกิดก็ตาม แต่ถ้ายังไม่ถึงความจริงที่เราปฏิบัติรู้เองเห็นเอง อันนั้นก็ยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร เพียงเชื่อไปเท่านั้น การที่จะให้เกิดผลโดยสมบูรณ์ ต้องเป็นเราประพฤติปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไว้แล้วภายในใจของตน ทุกสิ่งทุกอย่างจริงหมดด้วยปัญญาแล้ว นั้นแลเป็นผลของผู้ปฏิบัติ การสิ้นสุดแห่งความเกิดก็สิ้นสุดที่อวิชชาซึ่งเป็นเชื้อให้พาเกิดพาตาย เมื่ออวิชชาสลายตัวลงไปแล้ว ด้วยอำนาจของข้อปฏิบัติมีปัญญาเป็นสำคัญแล้ว ไม่มีอันใดที่จะมาเป็นสาเหตุให้ก่อภพก่อชาติอีก นั้นคือท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้ไม่เกิด

ทุกขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ในขณะเดียวกันทุกข์ย่อมมีแก่ผู้ชอบเกิดเสมอนั่นแหละ ทุกฺขา ชาติ ปุนพฺปุนํ การเกิดบ่อยๆ ก็เป็นทุกข์ไม่หยุด การไม่เกิดเสียนั้นแลเป็นบรมสุข ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จะหมายถึงอะไร ก็หมายถึงความบริสุทธิ์ของใจนั้นแล ไม่ต้องไปก่อภพก่อกำเนิดเกิดในสถานที่ใดอีก ประจักษ์ด้วยปัญญา นี้แลเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นผู้รู้เองเห็นเองด้วยการปฏิบัติของตนเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้โดยเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สาธารณะแก่ผู้ใดที่ไม่ได้ปฏิบัติ

ธรรมะ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาเหล่านี้ เวลานี้เป็นโมฆะไปแล้วเหรอ สวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้น ชอบตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน่นเหรอ ปัจจุบันนี้ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ชอบเหรอ หรือชอบแต่พวกเรา แต่ธรรมไม่ชอบ มันจึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาอาสวะ เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เราเป็นชาวพุทธปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วกิเลสตัวไหนบ้างที่ได้หลุดลอยออกไปเพราะถือศาสนา ถือเฉยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ถ้าไม่ถือเพื่อปฏิบัติ เหมือนเราถือขนมอยู่ในมือของเรานั้นน่ะ ถ้าไม่รับประทานก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ข้าวต้มขนมมันก็ทิ้งไปเฉยๆ เน่าเฟะไปเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากเอามารับประทานเท่านั้น

ธรรม ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่จะมีอยู่เฉยๆ ยกเป็นตู้เป็นหีบแบกอยู่บนบ่าแล้วชื่อว่าถือศาสนา ถืออยู่ที่ใจ ปฏิบัติอยู่ที่ใจ ให้รู้ที่ใจให้เห็นที่ใจ พิสูจน์ความจริงของธรรมต้องพิสูจน์ภายในใจ ท่านสอนลงที่นี่ไม่ได้สอนไปที่ไหน

นี่ ละท่านอาจารย์ฝั้น ท่านปฏิบัติมีความรู้ยิ่งเห็นจริงอย่างนั้น ท่านมีความอบอุ่น มีความภูมิใจในอรรถในธรรมสำหรับท่าน ท่านเคารพท่าน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุให้คนทั้งหลายมีความเคารพต่อท่าน ท่านเป็นผู้ดี คนทั้งหลายก็มีความเคารพ นี่เป็นหลักสำคัญ ขึ้นอยู่กับ สุปฏิปนฺโน อุชุ ฯ ญาย ฯ สามีจิปฏิปนฺโน นี้เป็นหลักสำคัญ

เรา ท่านทั้งหลายก็เป็นผู้มีความรู้อันหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ในร่างกายนี้ มีสิทธิ์ที่จะรู้จะเห็นธรรมทั้งหลายได้เช่นเดียวกันกับครั้งพุทธกาล เพราะศาสนธรรมที่สอนไว้นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหญิงกับชายโดยถ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย มีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ ครั้งไหนก็ตามคำว่ามัชฌิมาต้องท่ามกลางเสมอ เป็นธรรมเหมาะสมกับการแก้กิเลส ถอดถอนกิเลสทุกประเภท สำหรับผู้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมแล้ว มีสิทธิหรือมีอำนาจที่จะถอดถอนกิเลสภายในจิตใจของตนให้หลุดพ้นได้ด้วยกัน ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาถึงปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรแปลกต่างกันเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เรียกว่ากิเลส ก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกันมาแต่ครั้งพุทธกาลถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น ธรรมจึงไม่จำเป็นจะต้องไปเปลี่ยนแปลงหาอย่างอื่นมาแก้กิเลส

หากว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ ไม่สามารถจะแก้กิเลสในสมัยปัจจุบันเรานี้ได้เหมือนครั้งพุทธกาลแล้วไซร้ ก็ ควรจะได้เสาะแสวงหาธรรมใหม่เอี่ยมขึ้นมาให้ทันสมัย แต่นี้ธรรมนี้เป็นธรรมที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาแล้วที่จะแก้กิเลสทุกประเภท หรือทำคนให้ดีได้โดยลำดับเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล ท่านจึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมศูนย์กลางเสมอ เป็นความเหมาะสมเสมอ ความพอดีเสมอ เรียกว่ามัชฌิมาคือความพอดี

โลก เรานำไปใช้ก็เอาหลักมัชฌิมานี่แหละไปใช้ถึงจะพอดี ถ้าเลยมัชฌิมานี้แล้วไม่พอดีทั้งนั้น ไม่ว่าอันใดก็ตาม เช่นอาหาร แกงเผ็ดเกินไปไม่พอดี เค็มเกินไปไม่พอดี หวานเกินไปไม่พอดี เปรี้ยวเกินไปไม่พอดี ฟังคำที่ว่าเกินไปๆ นั้นไม่ใช่มัชฌิมา นั้นไม่ใช่ความพอดี ความพอดีก็คือว่าอาหารนี้พอดี ไม่จืดเกินไปไม่เค็มเกินไป เหมาะ นี่เรียกว่าเหมาะสมแล้ว ถ้าเป็นบ้านเป็นเรือนก็เหมาะสม ไม่สูงเกินไปไม่ต่ำเกินไป คนก็พอดี ไม่สูงนักไม่ต่ำนักก็พอดี

หลัก สากลของโลกนำมัชฌิมานี้ทั้งนั้นไปใช้ คือความพอดี เลยนี้แล้วไม่เรียกว่าพอดีได้เลยและขัดขวางด้วย เราจะเห็นว่าศาสนธรรมนี้เข้ากับโลกได้หรือไม่เมื่อเป็นเช่นนั้น ธรรมเข้ากับโลกไม่ได้แล้วโลกจะเป็นอย่างไร เช่นโลกแห่งสัตว์ สัตว์ประเภทไหน เช่นสุนัขอย่างนี้เขาไม่สนใจกับอรรถกับธรรมเลย เรียกว่าธรรมกับเขาเข้ากันไม่ได้ แล้วน่ากราบน่าไหว้ไหม เราเห็นความสวยงามของสัตว์ที่ไม่มีอรรถมีธรรมไหม

มนุษย์ เราเมื่อไม่มีอรรถมีธรรมหาความสวยงามหาความน่าดูที่ไหนมี มนุษย์เราไม่ใช่จะงามในรูปร่างกลางตัวแล้วเป็นความสดสวยงดงาม เป็นที่มีคุณค่าราคาโดยถ่ายเดียว สำคัญที่คุณธรรม การประพฤติปฏิบัติ กิริยามารยาท นี่เป็นเหตุที่จะส่งเสริมบุคคลนั้นให้มีสาระสำคัญขึ้นมาภายในตน ไม่ใช่เพียงรูปร่างเท่านั้นเป็นสำคัญ อันนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องประดับหน้าร้านเท่านั้น ถ้าเข้าไปในร้านไม่มีอะไรก็เป็นเครื่องหลอกโลก คนนั้นสวยงามแต่รูปร่างแต่จิตใจต่ำทราม ความประพฤติปฏิบัติเลวทรามใช้ไม่ได้

คน เรามีคุณค่าอยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติ สัตว์ทั้งหลายมีคุณค่าอยู่ที่เนื้อที่หนังของมัน ตายแล้วนำไปจ่ายตลาดได้เป็นเงินเป็นทองสำเร็จประโยชน์ มนุษย์ตายแล้วกลัวผีกันทั้งนั้น หาคุณค่าราคาไม่ได้ถ้าไม่หาคุณค่าราคาด้วยคุณธรรม ยกตัวอย่างเช่นครูบาอาจารย์นี่ลองดูซิ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นนี้เป็นต้น ใครกลัวไหมกระดูกท่านอาจารย์ฝั้น มีแต่ผู้อยากได้ต้องการทั้งนั้น ถ้าเราจะแจกแล้วชุลมุนกันใหญ่เลย เป็นข้าศึกน้อยๆ อันหนึ่งขึ้นมาในวงงานนี่แหละ เพราะใครก็ต้องการกระดูกท่าน ต้องการอัฐิท่าน ใครก็ต้องการๆ

ไม่ เห็นมีใครว่ากลัวกระดูกท่านอาจารย์ฝั้นเลย นี่เพราะเหตุใด เพราะกระดูกนี้มีคุณค่า กระดูกนี้มีคุณธรรม ออกมาจากท่านผู้มีคุณธรรม อะไรก็กลายเป็นคุณธรรมไปหมด เช่น ผ้าสบง จีวร เครื่องใช้ต่างๆ บริขารของท่านเป็นสิริมงคลไปหมด เพราะท่านพาให้เป็นสิริมงคล ท่านเป็นผู้มีคุณค่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมีคุณค่าไปหมด แน่ะ ถ้าเป็นธรรมดาๆ อย่างคนตายธรรมดาๆ แล้วใครกลัวผีทั้งนั้นแหละ แม้แต่พ่อแม่กับลูกยังกลัวผีกัน กลัวพ่อจะมาหลอก แม่จะมาหลอก และกลัวลูกคนนั้นจะมาหลอกมาหลอน ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่รักกันแทบล้มแทบตาย พอชีวิตหาไม่แล้วเท่านั้นกลัวผีกันแล้ว นั่นเพราะเหตุไร มันต่างกันที่คุณธรรมนี้

มนุษย์ เราจึงสำคัญที่คุณธรรมเป็นหลักใหญ่ พระพุทธเจ้าจึงสอนธรรมะนี้เพื่อให้เป็นคุณธรรม ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นเครื่องประดับมนุษย์ให้มีความสวยงาม สวยงามภายนอกสวยงามภายใน เช่นดอกไม้ ดอกไม้สวยงามแต่กลิ่นไม่หอมก็ไม่น่าทัดน่าทรง ทั้งสวยงามด้วยทั้งกลิ่นหอมด้วยน่าทัดน่าทรงมาก ดอกไม้ไม่สวยงามแต่กลิ่นหอมก็ยังดี ทั้งขี้ริ้วขี้เหร่ดอกไม้นั้นน่ะ ทั้งกลิ่นเหม็นด้วย ไม่มีใครเหลียวแลเลย ดูไม่ได้ มนุษย์เราก็เหมือนกัน รูปร่างกลางตัวสวยงามด้วยความประพฤติปฏิบัติตัวเองก็ดีด้วย มีคุณธรรมด้วย ผู้นั้นมีคุณค่าสูง รูปร่างไม่สวยงามแต่น้ำใจสวยงาม ผู้นั้นก็มีคุณธรรมดี รูปร่างก็ไม่สวยงามแล้วทั้งจิตใจก็เลวทรามใช้ไม่ได้เลย รูปร่างก็ขี้ริ้วขี้เหร่ น้ำใจก็เหมือนกันอีก นี่เรียกว่าดูไม่ได้ ในลักษณะ ๔ อย่างนี้ ให้เราทั้งหลายเทียบเคียงเอาเอง

มนุษย์ เรามีคุณค่าที่การประพฤติปฏิบัติดังที่กล่าวแล้วสักครู่นี้ ถ้าไม่มีคุณค่าอันนี้น่ะกลัวผีกันทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคุณค่านี้แล้วดังอัฐิของท่านอาจารย์ฝั้นนี้แหละแจกไม่ได้ ต้องเป็นข้าศึกกันทันที ใครก็จะเอาๆ กระดูกของท่านมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนทั่วประเทศไทยใครก็จะเอาๆ นั่นละตอนจะเกิดข้าศึกกัน ทำไมใครจึงไม่คิดกลัวผีกระดูกท่านบ้าง ก็เพราะคุณธรรมของท่านเป็นสำคัญ

ให้ เราทำตัวของเราอย่างนี้ ไม่ได้อย่างท่านอาจารย์ฝั้นก็ตาม แต่ขอให้เราเป็นคนดี ประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นเครื่องประดับสัตว์โลกให้มีความสวยงาม ทั้งความประพฤติการปฏิบัติตัว นอกจากนั้นยังเป็นสุขในปัจจุบันและเป็นสุขในอนาคตอีกด้วย ในโลกนี้ก็เป็นสุข ไปโลกหน้าก็เป็นสุข เพราะเป็นผู้สร้างคุณงามความดีอันเป็นสาเหตุให้เกิดความสุขขึ้นมา

วัน นี้ได้อธิบายถึงเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา และเกี่ยวกับเรื่องท่านอาจารย์ฝั้น ให้ท่านทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติ และพูดถึงเรื่องตายเกิดตายสูญ ขอให้ทุกๆ ท่านได้นำไปวินิจฉัยภายในตัว เราทุกคนเป็นผู้เกิดมาแล้ว ให้วินิจฉัยตัวเองให้ทราบด้วยตัวเองนั้นแล เป็นสิ่งสำคัญที่สุด วันหนึ่งๆ ที่ผ่านไปๆ ขอให้ผ่านไปด้วยคุณงามความดีประสมกันไปด้วย อย่าให้มีแต่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อย่าให้มีแต่ความลืมเนื้อลืมตัวไปหมด ศีลธรรมไม่ปรากฏภายในจิตใจเลย คนนั้นหาคุณค่าหาราคาไม่ได้

คำ ว่าบุญและบาปนั้นลบไม่สูญ ใครจะว่าบุญและบาปไม่มีก็ตาม ก็เหมือนกับว่าตายแล้วสูญนั่นแหละ สิ่งที่มีอยู่ย่อมเป็นสิ่งที่เปิดเผยด้วยความมีอยู่ของตน แต่ลี้ลับสำหรับคนที่ไม่เห็น เช่นหนามที่ขวางทางอยู่ เป็นความเปิดเผยด้วยความมีอยู่ของมัน แต่เราไม่เห็นไปเหยียบเข้า หนามที่เราไม่เห็นนั่นแลมันปักเท้าเราให้เจ็บได้ คำว่าบาปหรือบุญนี้เราเทียบกันได้อย่างชัดเจนก็คือว่า สุขกับทุกข์ เคยหนีจากร่างมนุษย์และร่างสัตว์เมื่อใด สุขทุกข์มีมาดั้งเดิม บาปก็คือความชั่ว อันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ บุญก็คือความดีอันเป็นสาเหตุให้เกิดความสุข เราจะลบล้างได้อย่างไร

ผู้ ใดเป็นผู้ตรัสไว้ในสิ่งเหล่านี้ บาปก็พระพุทธเจ้าแสดงไว้ บุญก็พระพุทธเจ้าแสดงไว้ นรกสวรรค์ก็พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ทุกแง่ทุกมุม ไม่ได้แสดงแบบลวงโลก พระพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสดาลวงโลก เป็นศาสดาที่รู้จริงเห็นจริงจริงๆ นำสิ่งที่รู้เห็นประจักษ์พระทัยแล้วออกมาสั่งสอนโลกแล้วจะผิดไปที่ไหน จึงหาความผิดไม่ได้ มีแต่ความถูกต้องดีงาม สมกับหลักธรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วตรัสชอบแล้วเท่านั้น

ขอ ให้ทุกท่านซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน นำอรรถนำธรรมของพระพุทธเจ้าไปเป็นสิริมงคล ไปเป็นคุณสมบัติแก่ตัวของเรา เราจะมีความอบอุ่นภูมิใจในความเป็นมนุษย์ของเรา เวลาเราตายไปเราก็มีความภูมิใจว่าเราได้สร้างความดีไว้ในใจ ใจนี้เป็นนักท่องเที่ยวเกิดได้ทุกแห่งทุกหน ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ในสถานที่เกิด สำคัญที่มีกรรมดีกรรมชั่วเป็นเครื่องหนุนอยู่ภายในจิตใจ นี่เป็นของสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงควรสร้างความดีให้มากๆ

ให้ เราระลึกถึงป่าช้าบ้างวันหนึ่งคืนหนึ่ง วันหนึ่งๆ ควรระลึกถึงความตายอย่างน้อยสัก ๕ ครั้ง ใจคนเราก็จะมีหยุดชะงักบ้าง การทำความชั่วช้าลามกทั้งหลาย หรือความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม การลืมเนื้อลืมตัวก็จะมีสติสตังบ้าง เพราะป่าช้ามีอยู่กับตัว เราต้องตายวันหนึ่งแน่นอน จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนก็ต้องมีตาย ทุกข์จนขนาดไหนก็ต้องมีตาย คนโง่คนฉลาดมีความตายประจำด้วยกัน จึงควรสร้างความดีงามไว้สำหรับตน จะได้เป็นสิริมงคลในปัจจุบันแลอนาคต

การ แสดงธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงมาคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสบายใจ และกลับไปบ้านด้วยความปลอดภัยโดยทั่วกัน เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
http://www.luangta.com

ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้ ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๗.  คณกโมคคัลลานสูตร  (๑๐๗)
[๙๓]  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา  มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม  เขตพระนครสาวัตถี  ครั้งนั้นแล  พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ  แล้วได้ทักทายปราศรัยกับ  พระผู้มีพระภาค  ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว  จึงนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  พอนั่งเรียบร้อยแล้ว  ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  ตัวอย่างเช่นปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือกระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง  แม้พวกพราหมณ์เหล่านี้  ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือ  ในเรื่องเล่าเรียน  แม้พวกนักรบเหล่านี้  ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือ  ในเรื่องใช้อาวุธ  แม้พวกข้าพเจ้าผู้เป็นนักคำนวณมีอาชีพในทางคำนวณก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  คือในเรื่องนับจำนวน  เพราะพวกข้าพเจ้าได้ศิษย์แล้ว  เริ่มต้นให้นับอย่างนี้ว่า  หนึ่ง  หมวดหนึ่ง  สอง  หมวดสอง  สาม  หมวดสาม  สี่  หมวดสี่  ห้า  หมวดห้าหก  หมวดหก  เจ็ด  หมวดเจ็ด  แปด  หมวดแปด  เก้า  หมวดเก้า  สิบ  หมวดสิบ  ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อย  ข้าแต่พระ
โคดมผู้เจริญ  พระองค์อาจหรือหนอ  เพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  ในธรรมวินัยแม้นี้  ให้เหมือนอย่างนั้น  ฯ

[๙๔]  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรพราหมณ์  เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ  การกระทำโดยลำดับ  การปฏิบัติโดยลำดับ  ในธรรมวินัยนี้ได้  เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด  ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว  เริ่มต้นทีเดียว  ให้ทำสิ่งควรให้ทำในบังเหียน  ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควรให้ทำยิ่งๆ  ขึ้นไป  ฉันใด  ดูกรพราหมณ์ฉันนั้นเหมือนกันแล  ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้ว  เริ่มต้น  ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่าดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้มีศีล  สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร  ถึงพร้อมด้วย  อาจาระและโคจรอยู่  จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย  สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด  ฯ

[๙๕]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล  สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร  ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่  เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย  สมาทาน  ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว  ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วจงอย่าถือเอาโดยนิมิต  อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ  จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ  ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่  พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้  จงรักษาจักขุนทรีย์  ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิดเธอได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว  …  เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว  …  เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว  …  เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว  …  เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว  จงอย่าถือเอาโดยนิมิตอย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ  จงปฏิบัติเพื่อสำรวม  มนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ  ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่  พึงถูกอกุศลธรรม  อันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้  จงรักษามนินทรีย์  ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด  ฯ

[๙๖]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ  คือ  พึงบริโภคอาหาร  พิจารณาโดยแยบคายว่า  เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น  มิใช่เพื่อจะมัวเมา  มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลยบริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่  เพื่อให้ชีวิตเป็นไป  เพื่อบรรเทาความลำบากเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น  ด้วยอุบายนี้  เราจะป้องกันเวทนาเก่า  ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น  และความเป็นไปแห่งชีวิต  ความไม่มีโทษ  ความอยู่สบายจักมีแก่เรา  ฯ

[๙๗]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะได้  ตถาคต  ย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่  คือจงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม  ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน  จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม  ด้วยการเดิน  จงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี  พึงเอาเท้าซ้อนเท้า  มีสติรู้สึกตัวทำความสำคัญว่า  จะลุกขึ้น  ไว้ในใจแล้วสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอด  มัชฌิมยามแห่งราตรี  จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม  ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีเถิด  ฯ

[๙๘]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้  ตื่นอยู่ได้  ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ  คือทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับในเวลาแลดูและเหลียวดู  ในเวลางอแขนและเหยียดแขน  ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร  ในเวลาฉัน  ดื่ม  เคี้ยว  และลิ้มรส  ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ  ในเวลาเดิน  ยืน  นั่ง  นอนหลับ  ตื่น  พูด  และนิ่งเถิด  ฯ

[๙๙]  ดูกรพราหมณ์  ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้  ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า  ดูกรภิกษุ  มาเถิด  เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด  คือ  ป่า  โคนไม้ภูเขา  ซอกเขา  ถ้ำ  ป่าช้า  ป่าชัฏ  ที่แจ้ง  และลอมฟาง  เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาอาหารแล้ว  นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง  ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  ละอภิชฌาในโลกแล้ว  มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว  เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท  อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาทได้  ละถีนมิทธะแล้ว  เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ  มีอาโลกสัญญา  มีสติสัมปชัญญะอยู่ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้  ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว  เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน  มีจิตสงบภายในอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้  ละวิจิกิจฉาแล้ว  เป็นผู้ข้ามความสงสัยไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้  ฯ

[๑๐๐]  เธอครั้นละนิวรณ์  ๕  ประการ  อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมองทำปัญญาให้ถ้อยกำลังนี้ได้แล้ว  จึงสงัดจากกาม  สงัดจากอกุศลธรรม  เข้าปฐมฌาน  มีวิตก  มีวิจาร  มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่  เข้าทุติยฌาน  มีความ  ผ่องใสแห่งใจภายใน  มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น  เพราะสงบวิตกและวิจารไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่  เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ  มีสติสัมปชัญญะอยู่  และเสวยสุขด้วยนามกาย  เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอ ได้ว่าผู้วางเฉย  มีสติ  อยู่เป็นสุขอยู่  เข้าจตุตถฌาน  อันไม่มีทุกข์  ไม่มีสุขเพราะละสุข  ละทุกข์และดับโสมนัส  โทมนัสก่อนๆ  ได้  มีสติบริสุทธิ์  เพราะอุเบกขาอยู่  ดูกรพราหมณ์  ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ  ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค  ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้  อยู่นั้น  เรามีคำพร่ำสอนเห็นปานฉะนี้  ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว  ปลงภาระได้แล้ว  บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ  สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว  พ้นวิเศษแล้วเพราะผู้ชอบนั้น  ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบาย  ในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ  ฯ

[๑๐๑]  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้  พราหมณ์คณกะ  โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  สาวกของพระโคดมผู้เจริญ  อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  ทุกรูปทีเดียวหรือหนอ  หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี  ฯ
พ.  ดูกรพราหมณ์  สาวกของเรา  อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อย  ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  บางพวกก็ไม่ยินดี  ฯ.
ค.  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  ใน เมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่  ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่  พระโคดมผู้เจริญ  ผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่  แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ  อันพระโคดมผู้เจริญ  โอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อยจึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  บางพวกก็ไม่ยินดี  ฯ

[๑๐๒]  พ.  ดูกรพราหมณ์  ถ้าเช่นนั้น  เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้  ท่านชอบใจอย่างไร  พึงพยากรณ์อย่างนั้น  ดูกรพราหมณ์  ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน  ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ  ฯ
ค.  แน่นอน  พระเจ้าข้า  ฯ

พ.  ดูกรพราหมณ์  ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน  บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์  พึงมาในสำนักของท่าน  เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่าท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์  ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด  ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า  ดูกรพ่อมหาจำเริญ  มาเถิดทางนี้ไปเมืองราชคฤห์  ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นบ้านชื่อโน้นไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นนิคมชื่อโน้น  ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้วจักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์  ป่าที่น่ารื่นรมย์  ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์  สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์  บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้  จำทางผิดกลับเดินไปเสียตรงกันข้าม  ต่อมาบุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมาในสำนักของท่าน  เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า  ท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์  ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า  ดูกรพ่อมหาจำเริญ  มาเถิด  ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์  ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นบ้านชื่อโน้น  ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นนิคมชื่อโน้น  ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว  จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์  ป่าที่น่ารื่นรมย์  ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์  สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์  บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้  พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี  ดูกรพราหมณ์  อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่  ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่  ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่  แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้  คนหนึ่งจำทางผิด  กลับเดินไปทางตรงกันข้ามคนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี  ฯ
ค.  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  ในเรื่องนี้  ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้  ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง  ฯ

[๑๐๓]  พ.  ดูกรพราหมณ์  ฉันนั้นเหมือนกันแล  ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่  ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่  เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่  แต่ก็สาวกของเรา  อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อย  ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน  บางพวกก็ไม่ยินดี  ดูกรพราหมณ์  ในเรื่องนี้  เราจะทำอย่างไรได้ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้  ฯ

[๑๐๔]  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้  พราหมณ์คณกะ  โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  บุคคลจำพวกที่ไม่มีศรัทธา  ประสงค์จะเลี้ยงชีวิต  ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  เป็นผู้โอ้อวด  มีมายา  เจ้าเล่ห์  ฟุ้งซ่าน  ยกตัว  กลับกลอก  ปากกล้า  มีวาจา  เหลวไหล  ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ  ไม่ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้ตื่น  ไม่มุ่งความเป็นสมณะ  ไม่มีความเคารพ  กล้าในสิกขา  มีความประพฤติมักมาก  มีความปฏิบัติย่อหย่อน  เป็นหัวหน้าในทางเชือนแช  ทอดธุระในความสงัดเงียบ  เกียจคร้าน  ละเลยความเพียรหลงลืมสติ  ไม่รู้สึกตัว  ไม่มั่นคง  มีจิตรวนเร  มีปัญญาทราม  เป็นดังคนหนวก  คนใบ้  พระโคดมผู้เจริญย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลจำพวกนั้น  ส่วนพวกกุลบุตรที่มีศรัทธา  ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  ไม่โอ้อวด  ไม่มีมายา  ไม่เป็น
คน  เจ้าเล่ห์  ไม่ฟุ้งซ่าน  ไม่ยกตน  ไม่กลับกลอก  ไม่ปากกล้า  ไม่มีวาจาเหลวไหล  คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  รู้จักประมาณในโภชนะ  ประกอบเนืองๆ  ซึ่งความเป็นผู้ตื่น  มุ่งความเป็นสมณะ  เคารพกล้าในสิกขา  ไม่มีความประพฤติมักมาก  ไม่มีความปฏิบัติย่อหย่อน  ทอดธุระในทางเชือนแช  เป็นหัวหน้าในความสงัดเงียบ  ปรารภความเพียร  ส่งตนไปในธรรม  ตั้งสติมั่น  รู้สึกตัวมั่นคง  มีจิตแน่วแน่  มีปัญญา  ไม่เป็นดังคนหนวก  คนใบ้  พระโคดมผู้เจริญ  ย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรพวกนั้น  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  เปรียบเหมือนบรรดาไม้ที่มีรากหอม  เขากล่าวกฤษณาว่าเป็นเลิศ  บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม  เขากล่าวแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ  บรรดาไม้ที่มีดอกหอม  เขากล่าวดอกมะลิว่าเป็นเลิศฉันใด  โอวาทของพระโคดมผู้เจริญ  ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล  บัณฑิตกล่าวได้ว่าเป็นเลิศในบรรดาธรรมของครูอย่างแพะที่นับว่าเยี่ยม  แจ่มแจ้งแล้วพระเจ้าข้าแจ่มแจ้งแล้ว  พระเจ้าข้า  พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย  เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ  หรือเปิดของที่ปิด  หรือบอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า  ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้  ฉะนั้น  ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ  พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะขอพระโคดมผู้เจริญ  จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก  ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ฯ

จบ  คณกโมคคัลลานสูตร  ที่  ๗
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๖๒

ควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชิคุจฉสูตร
[๔๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉนคือ
๑. บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่
๒. บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่
๓. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบควรเข้าไปนั่งใกล้มีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม  ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าในภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ บุคคลเห็นปานนี้ควรเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริง แต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ก็ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในคูถ ถึงแม้จะไม่กัดแต่ก็ทำให้เปื้อนได้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน แม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติ ของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริงแต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงน่าเกลียด ไม่ควรเสพไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โกรธมากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคืองพยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมให้ความหมักหมมยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธมากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาทขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิๆ แม้ฉันใด  บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจเมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธและความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนหลุมคูถ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคืองพยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความพินาศให้เราบ้าง ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้

ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมบุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้จะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็ตาม ถึงกระนั้น ชื่อเสียงที่ดีงามของเขาก็จะระบือไปว่า เป็นผู้มีคนดีเป็นมิตร มีคนดีเป็นสหาย มีคนดีเป็นเพื่อนฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ

จบสูตรที่ ๗
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๑๙