Monthly Archives: กันยายน 2013

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ

ท่านสาธุชนทั้งหลายมีท่านผู้แทนมหาวิทยาลัยท่านผู้แทนประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์เป็นประธาน อาตมาขอกล่าวธรรมะปฏิสันถาร คำนี้เป็นคำเก่าแก่คือการต้อนรับด้วยธรรมะ ให้มีธรรมะเป็นของฝากเรียกว่าธรรมะปฏิสันถาร อาตมาขอกล่าวธรรมะปฏิสันถารแก่ท่านทั้งหลาย หัวข้อที่จะกล่าวมีว่า ปัญหาทั้งหมดในโลกแก้ได้ด้วยการเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ โปรดฟังให้ดี ๆ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพเราต้องเคารพสิ่งนั้น และจะแก้ปัญหาทั้งหมดในโลกได้ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเป็นปัญหาทั้งโลก หรือปัญหาของประเทศหยิบมือเดียว จงโปรดจำคำว่าปัญหาทั้งปวงจะแก้ได้ด้วยเราพากันเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ และท่านก็คงจะประหลาดใจในการที่จะได้ฟังว่าสิ่งนั้น คือหน้าที่ บางคนจะไม่เคยฟัง ไม่เคยคิด ไม่เคยฟังว่าพระพุทธเจ้าทรงเคารพหน้าที่

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทันที ทรงฉงวนว่านี้จะเคารพอะไร ในการตรัสรู้แล้วเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะเคารพอะไร ในที่สุดท่านตกลงพระทัยว่าอาจเคารพธรรมะ ๆ ปัญหามันก็อยู่ที่ว่าธรรมะคืออะไร เรามักจะได้ยินได้ฟัง ได้รับคำสั่งสอนว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามันจะถูกหรือไม่เพราะว่าธรรมะมันมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มนุษย์ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดก็พูดได้คำว่าธรรมะ ๆ กันอยู่ทั่วไป โดยบุคคลคนแรกที่มันสังเกตเห็นในหน้าที่ ๆ ของมนุษย์ มันก็ออกชื่อเป็นภาษาพูดว่าธรรมะ ๆ ก็เตือนกันทุกคนให้สนใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะเป็นหน้าที่ ใครฉลาดหน่อยก็สอนหน้าที่สูงขึ้นไป ๆ เป็นหลายก๊ง หลายหมู่ หลายคณาจารย์ แล้วแต่สอนธรรมะในหน้าที่ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาท่านรู้หน้าที่สูงสุด ท่านก็เลยสอนหน้าที่สูงสุด ไม่มีหน้าที่ไหนจะสูงไปกว่านั้น ท่านประกาศในวันตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ หยก ๆ นั่นว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต ล้วนแต่เคารพหน้าที่เป็นธรรมะ นี่เราอาจจะเผลอไปก็ได้เราเคารพพระพุทธเจ้า แต่เราไม่เคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ อาตมาจึงขอยืนยันในขอนี้และขอได้โปรดจงฟังให้ดี ๆ ว่าถ้าเราเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพมันจะแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งโลกได้ เป็นที่น่าสงสารว่าเด็ก ๆ ของเราไม่ได้รับคำแนะนำสั่งสอนในโรงเรียนว่าธรรมะคือหน้าที่ มันสู้เด็กอินเดียไม่ได้ปทานุกรมเด็ก ๆ มันก็แปลคำว่าธรรมะว่าหน้าที่ และมันก็สอนกันว่าธรรมะเป็นหน้าที่ เมื่อฝรั่งมาศึกษาธรรมะ ได้ยิน ได้ฟัง คำว่าธรรมะเป็นคำแรกมันก็ไม่รู้จะแปลว่าอะไรเลยฟังเอาตามเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมะแล้วก็แปลคำว่าธรรมะนี่ได้เป็นคำแปลตั้งหลายสิบคำทีเดียว แต่ในที่สุดมันก็ไม่พ้นความหมายของคำว่าหน้าที่ คำว่าหน้าที่เป็นคำแปลที่ถูกต้อง ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพธรรมะเราก็ควรจะเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพคือหน้าที่ ทว่าหน้าที่ ๆ ธรรมะ ๆ เป็นคำ ๆ เดียวกันมันแตกต่างกันเพียงคนละภาษา ธรรมะตัวพยัญชนะแท้ ๆ แปลว่า ชูไว้ ยกไว้ ทรงไว้ไม่พลัดตกคือคำว่าธรรมะก็คือสิ่งที่จะยึดคนที่ปฏิบัติไว้ในพลัดดกลงไปสู่กองทุกข์ หน้าที่ก็เหมือนกันด้วย สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่นะมันทำหน้าที่ยกคนที่ทำหน้าที่ไว้ ไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ คำว่าธรรมะกับคำว่าหน้าที่เป็นสิ่งเดียวกันมาแต่ดึกดำบรรพ์โน่น ตั้งแต่คนป่าคนแรกเริ่มตั้งแต่เห็นหน้าที่ ๆ ของมนุษย์อยู่อย่างนั้น ธรรมะ ๆ หน้าที่นั้นเป็นสิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าก็ยังทรงเคารพและทุกพระองค์ด้วย ขอให้เราสนใจกันในเรื่องนี้ หน้าที่ก็คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด เมื่อพลัดตกลงไปในความทุกข์จะช่วยให้รอด รอดทั้งทางกาย และรอดทั้งทางจิตสองทาง เรามักจะเห็นแต่เรื่องปากเรื่องท้อง รอดกันไปทางกาย แม้แต่ทางกายก็ยังไม่รู้จักทั้งหมดทั้งสิ้นไม่รอดทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ทางจิตแล้วยิ่งน้อยลงไปมากอีก ขอให้สนใจอย่างยิ่งว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่จะช่วยให้รอดให้รอดทั้งทางกายและทางจิต เมื่อทำหน้าที่ใด ๆ ขอให้รู้ตามที่เป็นจริงว่าปฏิบัติธรรมะเพราะมันช่วยให้รอด หน้าที่นั้นที่ว่ากันทางกายก็มีว่าหาเลี้ยงชีวิตนี่อย่างหนึ่ง แล้วก็บริหารชีวิตอยู่ทุกวัน ๆ นี่อย่างหนึ่งแล้วก็สังคมกันให้ถูกต้อง หน้าที่ทางสังคมสังคมกันให้ถูกต้อง ถ้าได้อย่างนี้แล้วก็พอจะเรียกว่าสมบูรณ์ในหน้าที่ ส่วนทางจิตนั่นสูงขึ้นไปก็มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ตัดกิเลสบรรลุนิพพาน มีความรอดทางจิต ซึ่งจะต้องศึกษากันเป็นพิเศษเฉพาะ และก็ต้องปฏิบัติมากกว่าเรื่องทางกาย

แต่เดี๋ยวนี้เรื่องทางกายเรายังไม่สมบูรณ์ คนยังไม่เคารพหน้าที่ ไม่เคารพธรรมะอาตมาคิดว่าอย่างนี้ถ้าผิดไปก็ขออภัย แต่ที่สังเกตเห็นแล้วมันก็ไม่ได้เคารพธรรมะ มันทำหน้าที่โดยไม่รู้ว่าหน้าที่นั้นคือธรรมะก็ทำหน้าที่โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะมันก็ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมะต่อเมื่อรู้ว่าหน้าที่นั้นคือธรรมะก็ทำไปจึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมะ แต่แล้วก็สับเพร่าไม้รู้ว่ามันละเอียดถี่ถ้วนไปถึงว่าหน้าที่ทุกอย่างหน้าที่ทุกอย่างถ้าเป็นหน้าที่แล้วก็เป็นธรรมะเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอดชีวิตพอไม่ทำหน้าที่มันก็คือตายกล้าท้าอย่างนี้ลองดูสิลองไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย คนก็ต้องตายลองไม่ทำหน้าที่ สัตว์เดียรฉานมันก็ต้องตายถ้ามันไม่ทำหน้าที่ ต้นไม้ต้นไร่เหล่านี้ถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็ต้องตาย บางทีมันจะทำหน้าที่เก่งกว่าคนคือทั้งกลางวันและกลางคืนมีการเคลื่อนไหวในหน้าที่ ชีวิตคือหน้าที่ หน้าที่คือชีวิต ว่าเซลล์ในร่างกายคนมีกี่ล้าน ๆ เซลล์ ทุกเซลล์ทำหน้าที่ถ้าไม่ทำหน้าที่หมายถึงมันจะต้องตาย ชีวิตจะต้องตาย มันประกอบกันขึ้นเป็นตา หู จมูก กาย ใจ แขน ขา มือ ตีน ล้วนแต่ต้องทำหน้าที่ ตาทำหน้าที่ตา หูทำหน้าที่หู ทุกอวัยวะทำหน้าที่มันจึงรอดชีวิตอยู่ได้ หน้าที่ทุกหน้าที่คือธรรมะ คือสิ่งทำให้รอดอยู่ได้ ทว่าความอยู่รอดรอดเนี้ยเป็นความหมายสูงสุดของทุกศาสนาเลย ไม่ว่าศาสนาไหนจุดหมายอยู่ที่ความรอด แม้ว่าวิธีรอดจะต่างกันมันก็มุ่งหมายด้วยความรอดเดี๋ยวนี้เอาความรอดตามธรรมชาติดีกว่าไม่ต้องเกี่ยวกับพระเจ้าหรืออะไรก็ได้ เพราะว่าเป็นพุทธศาสนาถือหลักธรรมชาติถือหลักกฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติผลได้รับจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันถือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วก็เป็นความรอดตามธรรมชาติ หน้าที่นี้คือสิ่งที่ช่วยให้รอด ขอพูดกันในด้านวัตถุหรือทางร่างกายก่อน ชาวนาก็ทำนา ชาวสวนก็ทำสวน พ่อค้าก็ค้าขายก็ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ข้าราชการก็ทำราชการ กรรมกรก็จงทำกรรมกร มันเป็นธรรมะ ขอทานก็นั่งขอทานให้ถูกต้องมันก็เป็นธรรมะของคนขอทาน สุนัขก็เฝ้าบ้านให้ถูกต้องเป็นธรรมะของสุนัข แมวจับหนูให้ถูกต้องไม่บกพร่องเพราะเป็นธรรมะของแมวไก่ขันให้ถูกต้องตามหน้าที่เพราะเป็นธรรมะของไก่ ธรรมคือหน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ก็คือตาย ธรรมะคือหน้าที่อย่างนี้ที่ไหนมีการทำหน้าที่ที่นั่นมีธรรมะ ถ้าไม่มีการทำหน้าที่ แม้ในโบสถ์ก็ไม่มีธรรมะ เพราะว่าโบสถ์บางโบสถ์มีแต่นั่งสั่นเซียมซี นั่งบูชาอ้อนวอนขอร้องมาเรียกสิทธิบ้า ๆ บอ ๆ อะไรก็ไม่รู้ไม่ทำหน้าที่ โบสถ์นั้นไม่มีธรรมะ กลางทุ่งนาไถนาอยู่โครม ๆ นั้นนะมีธรรมะ เพราะว่ามันทำหน้าที่ ฟังดูให้ดีซิธรรมะมันจะไปอยู่ได้กลางทุ่งนา ไม่อยู่ในโบสถ์ถ้ามันไม่มีการทำหน้าที่ในวัดในวา

ขอให้สนใจคำว่าหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ นั้นนะคือธรรมะ คือสิ่งที่จะช่วยให้รอดทำมาหาเลี้ยงชีวิตทุกชนิดเพื่อรอดก็เป็นธรรมะ แต่ที่จะให้แคบเข้ามาจะให้สนใจมากที่สุดก็คือบริหารชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปวัดไม่ต้องไปไหนก็ได้ทำหน้าที่บริหารชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ตื่นขึ้นมาล้างหน้าถูฟันให้ถูกต้องมีสติสัมปชัญญะล้างหน้าถูฟันให้ถูกต้อง ถูกต้องรู้สึกพอใจ พอใจแล้วก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ล้างหน้าและถูฟันใครเคยทำบ้างมันไม่เคยทำหรอกเพราะมันไม่รู้ว่านั่นคือธรรมะถึงมันทำอยู่ทุกวัน ๆ มันก็ไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะ เพราะมันไม่รู้ว่านั่นคือหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติบริหารชีวิตแล้วมันจะทำอะไร มันจะไปนั่งถ่ายเข้าห้องน้ำถ่ายอุจจาระปัสสาวะมันก็ไม่รู้ว่าหน้าที่หน้าที่คือธรรมะ มันก็ทำอย่างบ้า ๆ บอ ๆ เสียไม่ได้อย่างไม่ได้กะฟัดกะเพียดไปตามเรื่อง ถ้ามันรู้ว่าหน้าที่คือธรรมะ มีสติสัมปชัญญะถ่ายอุจจาระปัสสาวะให้ดีที่สุด พอใจ พอใจ ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจเลยมีความสุขตลอดเวลาที่นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะในห้องน้ำใครเคยทำได้ ใครเคยทำเชื่อไม่เคยทำหรอก เพราะมันไม่รู้ว่านั่นคือธรรมะขอให้สนใจไว้มันถึงอย่างนี้

ไปอาบน้ำในห้องน้ำทุกอิริยาบถทุกระยะขั้นตอนถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ พอใจ เป็นสุข เป็นสุข ตลอดเวลาที่อาบน้ำใครเคยทำบ้าง เหลวทั้งนั้นแหละบางทีไม่อยากอาบด้วยซ้ำไปถูขี้ไคลก็ไม่หมด ถูขี้ไคลเอาขี้ไคลนั่นเป็นสมาธิ เป็นอารมณ์ของสมาธิขี้ไคลหลุดออกไปก็ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ เป็นสุขตลอดเวลาที่อาบน้ำ ไปรับประทานอาหารหยิบช้อนหยิบจานตักเข้าปากเคี้ยวกันตามทุกขั้นตอนต้องมีสติสัมปชัญญะถูกต้องและพอใจถูกต้องและพอใจพอใจเลยเป็นสุขตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร เดี๋ยวนี้มันไปทะเลาะกับแกงกะกับ อร่อยไม่อร่อยดุด่าคนปรุงอาหาร ถ้วยจานมันก็ทะเลาะกันได้ คนโง่มันไม่มีสติสัมปชัญญะบริโภคอาหารในฐานะเป็นการปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง มันก็เลยไม่ได้ไม่ได้ความสุข มีสติสัมปชัญญะบริโภคอาหารด้วยความรู้สึกถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ พอใจ แล้วก็เป็นสุข มันก็มีธรรมะตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร และก็พอใจเป็นสุขเป็นสุขอิ่มใจตัวเอง พอใจตัวเอง ตลอดเวลาที่รับประทานอาหารใครทำได้บ้างและใครเคยทำ อ้าวที่นี้มาล้างถ้วยล้างชาม กวาดบ้านถูเรือน ทำด้วยสติสัมปชัญญะ ล้างถ้วยล้างชาม กวาดบ้านถูเรือน เมื่อล้างถ้วยล้างชามก็มีของสกปรกที่ติดจานนะ เป็นอารมณ์ของสมาธิเพ่งอยู่ที่นั่นทำให้สะอาดออกไป เห็นเป็นพอใจ พอใจ ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ เป็นสุข เป็นสุข เก็บกวาดบ้านก็เหมือนกันแหละ เมื่อไม้กวาดมันเคลื่อนไปจิตก็อยู่ที่ปลายไม้กวาดลากไปบนพื้นสะอาดไปตามลำดับ เป็นอารมณ์ของสมาธิสำหรับว่าถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ เป็นสุข ก็เลยเป็นสุขตลอดเวลาที่ล้างถ้วยล้างชาม กวาดบ้านถูเรือน ใครเคยทำบ้าง อ้าวไม่ได้ทำก็ไม่ได้ก็ใช้เวลาล่วงไปโดยไม่มีธรรมะ อ้าวต่อให้ล้างส้วมล้างส้วมที่สกปรกนี่แหละ มีสมาธิอยู่ที่นั่นที่สกปรก ที่มันติดอยู่ที่ส้วมมันหลุดไปอย่างไร ก็เห็นเป็นความถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง พอใจ เป็นสมาธิในการล้างส้วม มันก็พอใจแล้ว มันก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ล้างส้วม ขอท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายช่วยลองล้างส้วมดูบ้าง ไปแย่งภารโรง เจ้าหน้าที่ทำดูบ้าง ล้างส้วมดูบ้าง

ทำในลักษณะอย่างนี้อาตมายืนยันว่าต้องได้รับความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง และพอใจก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ล้างส้วม ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วอย่างอื่นก็ทำได้ง่ายดายได้หมดแหละ เพราะมันไม่เป็นที่น่ารังเกียจมากกว่าสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เรารังเกียจสิ่งเหล่านี้ รังเกียจหน้าที่ รังเกียจธรรมะ ขอร้องว่าทุก ๆ ท่าน จงกระทำในลักษณะที่ให้มันเป็นปฏิบัติธรรมะทุกอิริยาบถ ตื่นนอนขึ้นมาล้างหน้าถูฟัน ไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไปอาบน้ำ ไปรับประทานอาหาร ล้างจาน กวาดบ้านถูเรือน กระทั่งล้างส้วม ไปฝึกบทเรียนนี้ในลักษณะอย่างนี้คือเคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ เคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเองก็เคารพ พระพุทธองค์ทรงเคารพหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่ช่วยให้รอด เรียกว่าธรรมะอยู่ในรูปของปริยะติธรรม เป็นตัวหนังสือคำสอนก็ได้ อยู่ในรูปของการปฏิบัติ ปฏิบัติลงไปก็ได้ก็เรียกว่าธรรมะ เป็นผลออกมา เป็นความสุขก็เรียกว่าธรรมะ เป็นรูปวิชา เป็นรูปปฏิบัติ เป็นรูปผลของการปฏิบัติก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมะ ท่านเคารพธรรมะคือหน้าที่ที่ถูกต้องที่ดับทุกข์ได้ท่านเคารพ และท่านก็เคารพหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ท่านทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเป็นพระพุทธเจ้า ลองไม่ทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้ามันจะไม่เป็นพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็ทำงานมากพวกเราลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจะขี้เกียจจะทำงานน้อยเบื่อหน้าที่ รังเกียจหน้าที่ ไม่เห็นว่าเป็นธรรมะต่อเมื่อเห็นว่าเป็นธรรมะอย่างรักธรรมะ แม้แต่เหงื่อไหลไคลย้อยอยู่กลางแดดกลางฝน พอใจแหละเป็นสุข ธรรมะคือหน้าที่ที่ช่วยให้รอดทั้งทางกายและทางจิตใจ

เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นกันอย่างนั้นก็ต้องฝืนทำหน้าที่เป็นธรรมดาเพราะไม่อยากทำ จะพูดได้ว่าทุกคน ๆ มันไม่ได้ทำหน้าที่ด้วยความรักเคารพว่าเป็นธรรมะมันก็ฝืนใจทำไมทำไม่ได้ไม่ทำจะอดตาย พอใจทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นธรรมะ เดี๋ยวนี้มันฝืนใจทำหน้าที่เพื่อจะเอาเงินมาหล่อเลี้ยงกิเลสของตัวกู มันจะเอาเงินมาหล่อเลี้ยงกิเลสของตัวกู แต่ที่จะน่าดูทุกคนมันทำหน้าที่ ถ้าอย่างนี้ต้องให้มันตกนรกไปพลางทำงานไปพลาง มันไม่ชื่นอกชื่นใจยกมือไหว้ตัวเองได้เลย มันไม่รู้จักหน้าที่ว่าคือธรรมะ ทีนี้ถ้ามันรู้จักว่าหน้าที่คือธรรมะ หน้าที่คือธรรมะ ยิ่งทำยิ่งพอใจ ยิ่งทำยิ่งพอใจ ขนาดยกมือไหว้ตัวเองได้มันก็เป็นสวรรค์ไปพลาง เป็นสวรรค์ไปพลาง ทำงานไปพลาง เป็นสวรรค์ไปพลาง ทำงานไปพลาง อย่างนี้มันก็จะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง รู้จักหน้าที่ของมนุษย์ จะทำความรอดให้แก่ตัว ปฏิบัติหน้าที่อะไรมันก็จะเห็นแก่ธรรมะเพื่อธรรมะ เพื่อความถูกต้องของธรรมะ ไม่ใช่ว่าเพื่อตัวกูของกู ไอ้ตัวกูของกูนะมันเป็นผีชนิดหนึ่ง เป็นความโง่สร้างขึ้นมา ตามความเอร็ดอร่อย ตามแบบของกิเลส มันก็ทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงกิเลส เอาเงินไปซื้อหาสิ่งที่หล่อเลี้ยงกิเลส เป็นกามอารมณ์โดยเฉพาะซึ่งเป็นกันโดยมากและยิ่งเป็นหนักขึ้นทุกที ในโลกนี้มันก็หลงใหลในวัตถุเท่าไร การเจริญแบบนี้มีขึ้นเท่าไร โลกนี้ก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวจนพูดกันมีรู้เรื่อง นายทุนก็เห็นแก่ตัวจัด ให้ข้อมูลนิดก็เห็นแก่ตัวจัด แล้วมันจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร พรรคฝ่ายรัฐบาลก็เห็นแก่ตัวจัด พรรคฝ่ายค้านก็เห็นแก่ตัวจัด แล้วจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร มันต้องทำลายความเห็นแก่ตัวให้ลดลงไป คือการปฏิบัติธรรมะแล้วมันก็จะพูดกันรู้เรื่อง มิฉะนั้นจะเห็นแก่ตัว เห็นแก่พรรคของตัวมากกว่าเห็นแก่ชาติ อาตมาไม่ได้ว่าใครที่ไหนว่ากันทั้งโลกก็แล้วกัน มันไม่รู้จักธรรมะ มันไม่รู้จักหน้าที่ มันก็ทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ตัวอย่างดีก็เพื่อพรรคของตัวโดยไม่ต้องเห็นแก่ชาติ นักการเมืองในโลกจะเป็นอย่างนี้ซะโดยมาก เห็นแก่พรรคของตัวยิ่งกว่าเห็นแก่ชาติ เนี้ยคือมันไม่รู้จักว่าหน้าที่หน้าที่ที่ต้องทำ มันก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เพื่อธรรมะ เพื่อความรอดของชีวิตในความหมายว่าทุกชีวิต ในฐานะว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ดังนั้นขอให้มารู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะคืออะไร สูงสุดอย่างไร จนถึงกับพระพุทธเจ้าก็เคารพ ถ้าเห็นว่าหน้าที่การงานเป็นธรรมะแล้วมันจะมีกำลังใจ ไม่ต้องมีกิเลสมาเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจ ส่งเสริมไปผิดทาง ถ้ามีความรู้ธรรมะเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจ เป็นโมติฟของการทำงานแล้วก็สดชื่นแจ่มใสเยือกเย็นตลอดเวลาที่ทำหน้าที่การงาน และมันก็จะทำได้มาก ได้เห็นว่าหน้าที่คือธรรมะและจะทำได้มาก

ใครก็ไม่รู้บัญญัติว่าทำงาน 8 ชั่วโมงพอดีอาตมาไม่เชื่อ เราทำงานได้ถึง 18 ชั่งโมง ถ้าเราเห็นว่าหน้าที่คือธรรมะ ไปดูหนังสือทั้งหมดในตึกนั้นอาตมาทำคนเดียว ไม่มีใครเชื่อว่าอาตมาทำคนเดียว อาตมายืนยันว่าทำคนเดียว เพราะมันสนุกเป็นสุขเมื่อทำหน้าที่ทำงานวันละ 18 ชั่งโมง พักผ่อนนอน 6 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง ทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง คิดก็ได้ เขียนก็ได้ ทำไงก็ได้ ขอให้เลิกเลิกเลิกคิดจะทำงาน 8 ชั่วโมงพอดีซักที ถ้ารู้สึกว่าเป็นธรรมะเป็นพระธรรมแล้วมันสนุก ๆ ทำ 18 ชั่วโมงก็ได้ รู้จักธรรมะคือหน้าที่ที่จะต้องทำ สัตว์เดียรฉานก็มีธรรมะของสัตว์เดียรฉานมันจึงรอด ต้นไม้ต้นไร่ก็มีธรรมะ ต้นไม้ต้นไร่มันจึงรอด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความรอด สิ่งนั้นคือธรรมะ ๆ อย่าเพียงแต่สอนลูกเด็ก ๆ ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นลูกเด็ก ๆ ของเราจะโง่ไปจนตาย ต้องบอกมันว่าธรรมะคือหน้าที่คำสอนของพระพุทธเจ้าคือคำสอนเรื่องหน้าที่ทั้งนั้น ไม่มีคำสอนข้อไหนที่ไม่เป็นหน้าที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่จนเราพูดได้ว่าพระพุทธเจ้าคือผู้ที่ค้นพบหน้าที่และสอนหน้าที่อันสูงสุด พระพุทธเจ้าคือผู้ค้นพบและสอนหน้าที่ พระธรรมคือตัวหน้าที่นั่นเอง ในรูปของหลักวิชาก็ได้ ในรูปของการปฏิบัติก็ได้ ในรูปของผลก็ได้เป็นหน้าที่พระธรรมคือหน้าที่ พระสงฆ์คือผู้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ เราก็เป็นพระสงฆ์กันมาโดยไม่มีใครมาแต่งตั้ง ไม่ต้องบวช ไม่ต้องโกนหัวก็ได้ ผู้ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ช่วยชีวิตให้รอด ในความหมายใดความหมายหนึ่งคือทางกายหรือทางจิตก็ตามเรียกว่าพระสงฆ์ จงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันอย่างนี้เทิดจะไม่เป็นไสยศาสตร์ เดี๋ยวนี้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในรูปแบบของไสยศาสตร์คือบูชา บวงศรวง อ้อนวอนอะไรก็ไม่รู้ แล้วมันก็ไม่ถูกต้อง คำว่าถูกต้อง ถูกต้องเนี่ยสำคัญมาก ได้กรุณาช่วยจำไว้ว่าหลักพุทธศาสนาท่านใช้คำว่าถูกต้อง ถูกต้อง สัมมา สัมมา ถูกต้อง สัมมัตตะความถูกต้อง สัมมา ถูกต้อง สัมมัตตะความถูกต้อง สัมมาธิฐิถูกต้องในความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจ สัมมาสังกะโปถูกต้องในความดำริใฝ่ฝันต้องการ สัมมาวาจาในการพูดจา สัมมากำมันโตในการทำงาน สัมมาอาชีโวในการดำรงชีวิต สัมมาวาจาโมพากเพียร ถูกต้อง สัมมาสติระลึกประจำใจถูกต้อง สัมมาสมาธิปัจจัยมั่นถูกต้อง ใบประกันเนี่ยเป็นตัวพุทธศาสนาในส่วนเหตุ และอีกสองถูกต้องคือ สัมมายานะ รู้อย่างถูกต้องมันก็ตรัสรู้ สำหรับสัมมาวิมุตหลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวงเป็นสิบสัมมาสิบถูกต้อง สัมมา สัมมา ถูกต้อง ก็แปลว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องความถูกต้อง ไม่ใช่สอนเรื่องดี ดี ดี ระวัง ระวัง ไอ้ดี ดี ดี ระวัง เพระว่ามันบ้าได้บ้าดีได้ เมาดีได้ หลงดีได้ จงดีได้ และก็อวดดีจน

หมดดี ไอ้ดี ดีนะขอให้ระวังมันบ้าได้ มันเมาได้ อยากจะพูดว่าทั้งโลกเนี่ยทั้งโลกที่มันเป็นบ้ากันอยู่ทั้งโลกกี่ล้านล้านคนก็ตามมันมาแต่บ้าดี เมาดี จุดแรกที่มันจะบ้านั้นมันบ้าดี มันลงดี มันจึงบ้าจริง กล้าพูดอย่างเรี่ยคนบ้าทุกคนที่มีอยู่ในโลกเรี่ยมาจากการบ้าดี มันไม่ได้บ้าความถูกต้อง เพราะว่าความถูกต้องมันบ้าไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าความถูกต้องมันบ้าไม่ได้ แต่ถ้าว่าดี ดีนะระวังเถอะบ้าดีแล้วก็ได้เรื่อง บุญ บุญก็ต้องระวังบ้าบุญแล้วก็ได้เรื่อง บ้าบุญก็คือบ้าดีก็เลยไปด้วยกันไม่ได้บ้าจริง แม้ว่าปัญหาเรื่องฆ่าตัวตายที่เพิ่มกันขึ้นทุกวัน หน้าหนังสือพิมพ์มาจากบ้าดี จุดตั้งต้นที่มันมีการฆ่าตัวตายมันหลงดี มันบ้าดี มันยึดถือดี เมื่อไม่ได้อย่างที่มันต้องการก็ฆ่าตัวเองตายบางทีมันก็ฆ่าลูกฆ่าเมียแล้วฆ่าตัวเองตาย เพราะมันบ้าดีอย่างเนี่ย มันไม่ถูกต้อง ถ้าคนเหล่านี้ยึดถือความถูกต้องจะไม่เกิดอาการอย่างนี้ ไม่บ้าดี ไม่เมาดี ไม่หลงดี ไม่บ้าบุญ ไม่เมาบุญ ไม่หลงบุญเดี๋ยวนี้มันยังมีมากนัก

มันก็เลยไม่ประสบผลที่แท้จริงคือความสงบสุข คือสันติสุขเพราะมันบ้าดี มันไม่ยึดถือเอาความถูกต้อง ขอให้เราปรับปรุงกันซะใหม่ อย่าให้ทำไปในลักษณะบ้าบุญ บ้าบุญ ทำลายเศรษฐกิจของชาติเหลือประมาณไอ้บ้าบุญนี่ ถึงบ้าดีก็ทำลายอะไรซะมากมายในที่สุดมันก็บ้าจริง มันก็ไปอยู่โรงพยาบาลบ้า จงหันมาหาความถูกต้อง ถูกต้องของธรรมะ ถูกต้องของหน้าที่ หน้าที่ ถูกต้องทำหน้าที่เพื่อความถูกต้อง ทำหน้าที่เพื่อความรอด มันก็จะได้ผลตลอดเวลาคือความสุขที่แท้จริง เดี๋ยวนี้เพื่อนมนุษย์ของเราโดยมากมันบ้าดี แล้วมันก็ไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงคือปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องพอใจเป็นสุข มันไปหลงกับความเพลิดเพลินที่หลอกลวงว่าเป็นความสุข อันนี้มันยากเหลือเกินมันเกิดความเข้าใจเอาเอง เอาความเพลิดเพลินแก่กิเลส ตา หู กิเลสยิ่งตายใจเพลิดเพลินกามอารมณ์ว่าเป็นความสุข มันไม่รู้ว่านั่นเป็นเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริงก็จงปฏิบัติธรรมะทุกอิริยาบถ นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมาล้างหน้า ถูฟัน พอใจ ถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง เป็นสุขแท้จริงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ไม่ต้องเพิ่มการงาน ไม่ต้องเพิ่มหน้าที่การงาน การงานเท่าที่ทำอยู่แล้วนั่นแหละ ทำให้เป็นที่พอใจ ถูกต้อง อิ่มใจ เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าและก็เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องเสียสักสตางค์หนึ่งแล้วเงินก็จะเหลือ เพราะว่าการทำหน้าที่มันผล เป็นเงินเป็นทองขึ้นมาด้วย แต่เราเอาความสุขที่แท้จริงเสียก่อน เมื่อกำลังทำหน้าที่ เงินทองมันมีขึ้นมาจากการทำหน้าที่ ก็เอาไปใช้อย่างอื่นด้วยความระมดระวัง อย่าให้ผิดพลาด ใช้ให้ถูกต้องมันก็ยิ่งเป็นผลดีต่อไป เราก็ได้ความสุขทุกอิริยาบถที่ทำหน้าที่ แต่คนโง่มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเอาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงมาเป็นความสุข ใช้เงินเท่าไรมันก็ไม่พอ กิเลสตันหามันวิ่งออกหน้าเรื่อยไป ใช้เงินตามหลังเท่าไรมันก็ไม่พอ มันก็อยู่ในฐานะที่ไม่พอขาดจนอยู่เรื่อย ยากจนขาดแคลนอยู่เรื่อยในที่สุดมันก็ต้องคอรัปชั่น และจะเอาอะไร ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ก็นำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด แต่คนก็เห็นว่าเป็นความสุขทั้งนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ก็เพื่อหาเงินไปหาซื้อสิ่งเหล่านี้ น่าสงสารยุวชนน่าสงสารคนหนุ่มคนสาวของเราบูชาสิ่งเหล่านี้ เห็นแก่สิ่งเหล่านี้จนไม่รู้จักว่าธรรมะอยู่ที่ไหน สิ่งสูงสุดของเขาก็คือความสุขสนุกสนาน หรือความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางเพศ ทางกามอารมณ์ มันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง มันก็ถูกบูชาว่าเป็นความสุข เพราะการศึกษามันไม่พอ เพราะว่าการศึกษามันไม่พอ มหาวิทยาลัยไหนก็ไม่สอนอย่างนี้ ไม่สอนเรื่องนี้ ไม่สอนให้รู้เรื่องอย่างนี้ เรียกว่าการศึกษาไม่สมบูรณ์ การศึกษาที่ยังทำให้เพิ่มความเห็นแก่ตัว อย่าเข้าใจว่าเรียนเก่งปริญญายาวเป็นหางแล้วมันจะลดความเห็นแก่ตัว มันจะเพิ่มความเห็นแก่ตัว เพราะโอกาสที่จะสร้างสรรค์อะไรมันจะมีมากขึ้น สร้างสรรค์ทางวัตถุเท่าไรก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้นเท่านั้น

การศึกษาแบบนี้มันเพิ่มความเห็นแก่ตัว ต้องมีการศึกษาที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าที่ลดความเห็นแก่ตัว โดยมองเห็นว่าไอ้ความเห็นแก่ตัวเนี่ยคือศัตรูร้ายกาจ ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ ศัตรูร้ายกาจของมนุษย์ ทุกศาสนามีเป้าหมายเพ่งเล็งไปยังความเห็นแก่ตัว ทุกศาสนาต้องการทำลายความเห็นแก่ตัว แต่ว่าตามแบบของตน ของตนไม่เหมือนกัน ศาสนาที่มันมีความเชื่อเป็นหลัก เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อพระเจ้าและก็ใช้ความเชื่อเป็นหลักทำลายความเห็นแก่ตัว โดยถือว่าพระเจ้าต้องการให้ทำอย่างนั้น แต่แล้วก็ทำไม่ค่อยจะได้ แต่ก็มุ่งหมายอย่างนั้น ศาสนาที่สอนกำลังจิต ทำจิต บังคับจิตให้ไม่เห็นแก่ตัวมันก็มี ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็บังคับให้ทำแต่มันก็ทำไม่ค่อยจะได้ ศาสนาพุทธเรามีปัญญา ปัญญาเป็นหลักพื้นฐาน สอนให้เห็นว่ามันไม่มีตัวที่มีอยู่มันไม่ใช่ตัว ถ้าเห็นความจริงอันนี้มันก็ไม่เห็นแก่ตัว เราจึงกล้าท้าทายว่าโดยหลักแห่งพุทธศาสนาอันนี้ จะทำลายความเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าลัทธิศาสนาใด ๆ เพราะมันไม่มีตัวและมันจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร ศาสนาที่มันสอนตัวอย่างดีตัวอย่างสูงสุด มันยังไปมีตัวอยู่ที่นั่นเห็นแก่ตัวอย่างนั้นอย่างนั้นนิรันดรไปเลย เอาเป็นว่าทุกศาสนามุ่งทำลายความเห็นแก่ตัว เมื่อมนุษย์ไม่มีความเห็นแก่ตัว โลกนี้เป็นอย่างไรลองคิดดู ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกไม่เห็นแก่ตัวโลกนี้จะเป็นอย่างไร นั่นแหละคือโลกของพระศรีอารียะเมตไตร ไอ้คำ ๆ ที่มีไร้ความหมายเป็นโลกพระศรีอารียะเมตไตรดูจะมีกันทุกศาสนา แต่ในพุทธศาสนาเราเพ่งเล็งถึงว่าเมื่อมันหมดความเห็นแก่ตัว มันก็รักผู้อื่นโดยอัตโนมัติไปตั้งหน้ารักผู้อื่นโดยไม่ทำลายความเห็นแก่ตัว เป็นไปไม่ได้หรอกจะสร้างเมตตา กรุณาอะไรโดยไม่ทำลายความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ หันมาทำลายความเห็นแก่ตัวกันดีกว่า พอทำลายความเห็นแก่ตัวลดลงไปเท่าไร ความรักผู้อื่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแทนที่ หมดเห็นแก่ตัวเมื่อไรก็รักผู้อื่นเต็มที่ ลดความเห็นแก่ตัวลงได้เท่าไรก็จะรักผู้อื่นได้เท่านั้น มาตั้งใจปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ทำลายความเห็นแก่ตัวถึงรากเหง้าของมัน คือความไม่ใช่ตัวความไม่มีตัวมีแต่ธรรมชาติเป็นร่างกายกับจิตใจเป็นไปอย่างผิด ๆ หรือเป็นไปอย่างถูก ๆ เป็นไปอย่างผิด มันก็มีความทุกข์ ถ้าเป็นไปอย่างถูกมันก็ไม่มีความทุกข์ จงทำลายความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวกำลังเป็นศัตรูร้ายของมนุษย์ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น เหลือที่จะประมาณได้นั่น ก็คือความเจริญทางวัตถุจนเป็นวัตถุนิยม ความเจริญทางวัตถุซึ่งควบคุมไม่ได้ มันเจริญเป็นบ้าเป็นหลังยิ่งเจริญทางวัตถุเท่าไรความเห็นแก่ตัวในโลกเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะไอ้ผลทางวัตถุนั้นมันส่งเสริมความเอร็ดอร่อยแก่จิตใจของผู้เห็นแก่ตัว ยิ่งเจริญทางวัตถุเข้าไปเท่าไร ความเห็นแก่ตัวในโลกจะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การที่จะควบคุมโลกจะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น การที่จะทำให้โลกมีสันติภาพจะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น หันมาต่อสู้ข้าศึกอันร้ายกาจของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว ถ้าองค์การสหประชาชาติจะเป็นเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องนี้จะดีมาก แต่สาขาองค์การยูเนสโก้ไม่รู้เรื่องนี้เลย

ขออภัยถ้าพูดอย่างนี้อย่าหาว่าดูถูกดูหมิ่น อ่านหนังสือของยูเนสโก้มาตั้งมากมาย อ่านแล้วมันก็ไม่มีเรื่องทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้าองค์การสหประชาชาติจะรวบรวมกำลังของศาสนาทุกศาสนาในโลก มาให้แต่ละศาสนาทำหน้าที่ของตน ๆ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์อย่างนี้มันจะเร็วขึ้น ไม่นั่งจับปูใส่กระด้งอยู่อย่างนี้ อยู่อย่างนี้ ก็จะนั่งจับปูใส่กระด้งอยู่เป็นตลอดตลอดกาลเลย นั่งไก่เกลี่ยเป็นเท้ามารีวราช นั่งจับปูใส่กระด้งอยู่อย่างนี้ โลกไม่มีวันที่จะมีสันติภาพ ต้องการทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัวกู อะไร ๆ ก็เพื่อตัวกู นายทุนก็เห็นแก่ตัวกูจัด ไอ้คอมมิวนิสชนกัมมาชีพก็เห็นแก่ตัวกูจัด แล้วมันจะพูดกันรู้เรื่องเหรอ มันจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร เอาคนเห็นแก่ตัวกับคนเห็นแก่ตัวมาพูดกัน ข้อที่อเมริกันกับรัสเซียเขาพูดกันรู้เรื่อง ก็เพราะต่างฝ่ายต่างมีหัวใจเป็นความเห็นแก่ตัว จัดการให้ศาสนาของตน ๆ เท่าที่ถือกันอยู่ศาสนาใดก็เอาวิธีนั้นมาทำลายความเห็นแก่ตัวตามแบบของตน ๆ มันก็พอจะใช้ได้กันทั้งนั้น

เดี๋ยวนี้ศาสนามันกลับเห็นแก่ตัว ศาสนาทะเลาะกันเอง ศาสนามุ่งทำลายกันเสียเอง อย่างนี้ก็มันมีอยู่ มันมีอยู่ เห็นอยู่ และก็ไม่ต้องพูด แต่มันมีอยู่ ก็ศาสนานั่นแหละมันกำลังจะกัดกัน เจ้าหน้าที่ทางศาสนาที่มันโง่เขลา มันก็คือความเห็นแก่ตัว มันไม่เห็นแก่มนุษย์มันไม่เห็นแก่ประเทศชาติ ถ้าพรรครัฐบาลก็เห็นแก่ตัว พรรคฝ่ายค้านก็เห็นแก่ตัว ต่อให้ทำกันตั้งกับตั้งกัน มันก็ไม่ลงรูปลงรอยกันได้ มาทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความเห็นแก่ตัวโดยวิธีใด ใครถือศาสนาอะไร ก็ทำลายความเห็นแก่ตัวตามลัทธิศาสนานั้น ๆ มีทั้งนั้นเลยลองสอบสวนใคร่ควรดูตลอดเวลาเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นฮินดู เป็นซิกง่าย ๆ ข่งจื้งเหล่าจื้ด ก็ล้วนแต่มุ่งทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น แต่แล้วมันไม่มีใครใช้เลย ไม่มีใครถือเลย กลับเห็นเป็นของที่ว่าขาดทุน เสียหาย เรามั่วไม่เห็นแก่ตัวอยู่ เราก็เสียเปรียบคนที่เห็นแก่ตัวเขาก็ได้เปรียบ เลยไม่มีใครที่จะกล้าที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะไม่มีศาสนา คนเหล่านี้ไม่มีศาสนา ถ้ามีศาสนาและกำลังได้รับประโยชน์จากศาสนาของตน มันก็จะรู้จักอันตรายอันร้ายกาจที่สุดของความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์สูงสุดของความไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวหน้าหัว ที่เขาจะจัดให้เป็นปีสันติภาพ อาตมารู้สึกว่าหน้าหัวมันจัดที่ปีสันติภาพสร้างสันติภาพ อยากจะพูดว่ามันโง่สันติภาพมันมีอยู่เองตามธรรมชาติ มนุษย์มันสร้างวิกฤตการณ์ขึ้นกลบสันติภาพ สันติภาพเลยหายไปหมด มนุษย์หยุดสร้างวิกฤตการด้วยความไม่เห็นแก่ตัวเถอะ หยุดเท่านั้นเถอะสันติภาพมีมาเองโดยไม่ต้องสร้าง มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ องค์การสันติภาพอะไร ขอให้ช่วยเขียนบทความไว้ลงหนังสือเล่มนั้นด้วย มันก็เขียนอย่างนี้แหละ บอกว่ามันโง่ที่คิดจะสร้างสันติภาพ หยุดสร้างวิกฤตการเถิด หยุดสร้างวิกฤตการเถิด และสันติภาพก็จะมีเอง เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่รู้จักวิกฤตการคืออะไร วิกฤตการมาจากอะไร ไม่มองดูมันมาจากสิ่ง ๆ เดียว คือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ มันเป็นไปได้โดยสัญชาติญาณ ความเห็นแก่ตัวมันมีสัญชาติญาณอยู่ในชีวิต อยู่ในอินสตริงอินสตริง มีหลายแง่หลายมุม แต่แม่บทของมัน คือความมีตัวฉันอินสตริงมันคือความมีตัวฉัน เป็นแม่บทอินสตริงมันจะหาอาหารมันจะต่อสู้จะวิ่งหนี จะสืบพันธุ์ จะอะไรก็ตามมันมาจากความเห็นแก่ตัว ความมีตัว มันมีอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าสิ่งมีชีวิต สิ่งใดมีชีวิตสิ่งนั้นมีอินสตริงอยู่ในตัว มันเกิดได้ด้วยอินสตริงที่ยังไม่มีปัญญา ไม่มีวิชา สัญชาติญาณอันนี้ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นพาวิทญาณ คือมีปัญญาหรือมีวิชชา พอคลอดมาจากท้องแม่ไม่มีความรู้อะไรเลย มาพบของน่ารักก็รัก พบของน่าเกลียดก็เกลียด พบของอร่อยก็ยินดีหลงใหล ไม่อร่อยก็โกรธเคืองอย่างนี้เป็นต้น มากเข้า ๆ ความเห็นแก่ตัวมันก็มีมากขึ้น ๆ เด็กทารกเดินไปโดนเก้าอี้ สะดุดเก้าอี้เขาก็แตะเก้าอี้เพราะว่าเก้าอี้มันทำอันตรายกู เด็กไม่มีใครสอน เด็กไม่มีความรู้ว่าตัวกู ๆ ขึ้นมาได้ มันก็แตะเก้าอี้ ในความที่ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ทำให้เกิดความคิดที่เป็นตัว ๆ มีตัวกู ตัวตน ตัวฉัน ตัวข้าพเจ้า อะไรก็ตาม เมื่อมีตัวเราก็ไม่ต้องมีของตัว อัตตาแปลว่าตัว อัตตาณียาแปลว่าของตัว คือเนื่องด้วยตัว พอมีอะไรเป็นของตัวมันก็มีปัญหาแล้ว ชอบใจก็เป็นของชอบใจของเรา ของกู พอไม่ชอบใจก็เป็นศัตรูของกู ก็เลยมีมิตรมีศัตรู ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ ที่มันเคลื่อนไหวได้ ๆ มันก็มีความรู้สึกเป็นตัวว่ามีตัว เด็ก ๆ เปิดหลังนาฬิกาพกดูเห็นกระดุกกระดิกได้ก็คิดว่านาฬิกามีชีวิต คนป่าไม่เคยเห็นรถยนต์ที่วิ่งไปมันก็คิดว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นช้างชนิดหนึ่ง หรือเป็นเต่าชนิดหนึ่งก็ได้

ความหลอกว่ามีตัวมันก็มีขึ้นได้โดยสัญชาตญาณ ที่ปราศจากความรู้อย่างนี้ เรื่องนี้เราไม่ได้สอนกัน ทั้งที่พุทธศาสนาสอนแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว สอนเรื่องว่าให้ละความเห็นแก่ตัว โดยละความมีตัวเสีย มันน่าจะเป็นการศึกษาอย่างสูงสุดของโลก เรื่องความไม่มีตัวแต่มันก็ยังไม่มีเลย มันจึงมีตัว มีความเป็นของตัว มีความเห็นแก่ตัวเต็มไปทั้งโลก กลุ้มไปทั้งโลก และหนาแน่นยิ่งขึ้นเพราะความเจริญทางวัตถุ ซึ่งส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ในยุคที่ความเจริญทางวัตถุไม่รุนแรง มันก็มีความเห็นแก่ตัวยังน้อย เดี๋ยวนี้คนก็มาก ส่งเสริมวัตถุวัตถุส่งเสริมความเห็นแก่ตัวนั้นก็มาก ความเห็นแก่ตัวก็อัดแน่นไปทั้งโลก มันจึงพูดกันไม่รู้เรื่องที่จะสร้างสันติภาพ ความเห็นแก่ตัวมันสร้างวิกฤตการ ทำลายความเห็นแก่ตัวมันก็ลดวิกฤตการ สันติภาพมันก็โพล่ขึ้นมา เรียกว่าธรรมชาติที่สร้างไว้ตามปกตินั้นเป็นสันติภาพ พอดีก็ได้ เดี๋ยวนี้มันสร้างความเกินพอดี สวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อยมากขึ้นเป็นความเจริญ ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดก็คือความเจริญที่เราบังคับมันไม่ได้ ความเจริญทางวัตถุที่เราบังคับมันไม่ได้ คือศัตรูอันเลวร้ายที่สุดของมนุษย์ ขอให้สนใจกันบ้าง อย่าสร้างความเจริญอย่างหลับหูหลับตา เดี๋ยวนี้ความเจริญกลายเป็นอุปกรณ์ของอาชญากรรมเสียก็มาก ความเจริญในแบบเนี่ยทำลายความสงบเสียโดยมาก เมื่อไม่มีไฟฟ้ามันก็ตักน้ำได้จากบ่อ มันก็หุงข้าวได้ด้วยฟืน พอมีไฟฟ้า มันก็ต้องใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า ต้องหุงข้าวด้วยไฟฟ้า และยังจะต้องไปกู้เงินเขาซื้อโทรทัศน์มาไว้ดูอีก แล้วโทรทัศน์ที่มาดู ดูเรื่องส่งเสริมความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น เปิดวิทยุ เปิดโทรทัศน์ เปิดแต่โปรแกรมกิเลสทั้งนั้น โปรแกรมที่เป็นการศึกษาไม่เปิดกันมันปิดเสีย การเจริญความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดของมนุษย์ ขอให้สนใจกันในเรื่องนี้ว่าควบคุมความเห็นแก่ตัว ให้มันอยู่ตรงกลางที่ถูกต้อง คือทำหน้าที่ให้ถูกต้องอย่างที่พูดมาแล้วว่า หน้าที่คือชีวิต หน้าที่นั้นอย่าพูดว่าเป็นอุปกรณ์ของชีวิต มันเป็นตัวชีวิตเลย ลองไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย จะพูดว่าหน้าที่ธรรมะ คือคู่ชีวิตก็ยังถูกน้อยไปเพราะมันเป็นตัวชีวิตเลยดีกว่า เพราะมันไม่มีธรรมะ ไม่มีหน้าที่ก็คือไม่มีชีวิคมันหมดค่า ชีวิตด้านคุณธรรมมันหมดไปแล้ว ตายหมดแล้ว แม้ว่าชีวิตทางร่างกายอยู่ชีวิตทางจิตใจอยู่ แต่ชีวิตทางคุณธรรมหมดแล้ว หมดดีแล้ว เหมือนคนตายแล้ว ความเห็นแก่ตัวมันเป็นอย่างนี้ มันสร้างให้ความเป็นอย่างนี้ขึ้นมา เราศึกษาด้านนี้กันเถิด มันยังขาดอยู่ มันถูกละเลย การศึกษาในด้านชีวิตในส่วนลึกมันถูกละเลย ศึกษาชีวิตแต่ในด้านวัตถุอาจจะมาก ขอให้รู้จักว่าความสุขที่แท้จริงคือ การปฏิบัติหน้าที่ปฏิบัติธรรมะอยู่ทุกอิริยาบถโดยไม่ต้องใช้เงิน โดยไม่ต้องเพิ่มการงาน ไอ้งานที่ทำอยู่แล้วหน้าที่ที่ทำอยู่แล้ว พลิกให้เป็นชีวิตสดชื่นเยือกเย็น ยกมือไหว้ตัวเองได้ทั้งนั้น ทำอย่างถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ วันทั้งวันค่ำลงมาคิดบัญชีดู มันมีแต่ความถูกต้อง ยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นคือสวรรค์ที่แท้จริง ที่ตรงนั้นที่นี้และเดี๋ยวนี้ สวรรค์จะตายแล้วอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่แน่นอน ไม่แน่นอนเหมือนสวรรค์ที่เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ สวรรค์ที่แน่นอนที่นี้และเดี๋ยวนี้ พอทำผิดหน้าที่ ๆ ผิดธรรมะ ผิดหน้าที่มันก็เป็นความทุกข์ เกลียด ๆ ตัวเองยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้ นั้นคือนรกที่แท้จริงมีที่ไหนก็มีนรกที่นั่น

มันจะอยู่ใต้ดินใต้บาดาลนั่นนะมันอยู่ที่ว่าทำผิดหน้าที่ ยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้เมื่อใดมีนรกเมื่อนั้น ขอให้ช่วยสอนลูกเด็ก ๆ ให้รู้จักนรกสวรรค์ที่แท้จริงที่รีบด่วนที่จำเป็นกว่าในนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้าเขากันสอนกันมาก่อนพระพุทธะเจ้า อย่าไปคิดว่าพระพุทธเจ้าสอนเลย เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าโน่น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในหมู่คนที่เขามีความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์อย่างนั้น และท่านก็ไม่ขัดแย้ง คำนี้อีกคำ ขอได้โปรดจำไว้ด้วยว่า ความไม่ขัดแย้งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ไปยกเลิกผิด ๆ เลิก ๆ สวรรค์มีทั้งนั้น ท่านมีท่านก็ได้จะให้ฉันอธิบายบ้าง ก็ต้องทำให้ถูกต้อง จึงจะได้สวรรค์ชนิดนั้นแหละไม่ตกนรกชนิดนั้น แต่ว่านรกสวรรค์ที่แน่กว่านั้นฉันเห็นแล้ว ๆ พบแล้ว มะยาทิดฐา ๆ แปลว่า ฉันเห็นแล้ว คือเมื่อทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำถูกต้องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้คือสวรรค์ที่แท้จริงที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกสวรรค์อย่างนี้ คือของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านสอนจริง ๆ สวรรค์บนฟ้านรกใต้ดินเขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า อย่าไปเอามาตู่เป็นของพุทธศาสนาสอนกันอยู่ก่อน แต่พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้น ท่านไม่มีการขัดแย้ง ทุกอย่างทุกประการมีหลักว่าไม่ขัดแย้ง ผู้ไม่ขัดแย้ง คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตไม่กล่าวคำขัดแย้งกับผู้ใดภายในโลกนี้ ในเทวโลภ มาราโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมนะพราหมณ์ ก็มันก็ทุก ๆ โลก ทุก ๆ อย่างจะไม่กล่าวคำขัดแย้ง เมื่อสอนว่านรกเป็นอย่างนั้นก็ได้ สอนเรื่องกรรมนี้อีกอย่างหนึ่ง ทำดีดี ทำชั่วชั่ว นี่อย่าเข้าใจว่าพุทธศาสนานะ เพียงแต่ว่าพุทธศาสนาไม่ขัดคอ ก็รับเอามาใช้ด้วยเป็นปัจจัย เป็นคำสอนพื้นฐาน แต่พุทธศาสนาที่แท้ สอนกรรมชนิดหนึ่งอยู่เหนือกรรมทั้งปวง ไม่ติดมั่นอยู่ในกรรมดีหรือกรรมชั่วนั่นนะสูงสุดของพุทธศาสนา การติดดี บ้าดี คือความทุกข์ชนิดหนึ่ง สอนว่าอย่าทำชั่วเสร็จไปและทำดีถึงที่สุด และทำจิตให้บริสุทธิ์อย่าบ้าดี อย่าหลงดี อย่าเมาดี มันจึงเป็นคำสอนที่ว่าเหนือกรรม เหนือกรรม กรรมที่เหนือกรรม ไม่ดำไม่ขาว กรรมดำคือชั่ว กรรมขาวคือดี กรรมไม่ดำไม่ขาวคือกรรมที่ถอนเสียทั้งกรรมชั่วและกรรมดี เนี่ยเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาในเรื่องกรรม แต่คนก็มามัวเร่งกันทำดีดี ทำชั่วชั่ว ไปอย่างนี้เขาสอนอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า สอนให้มีจิตใจอยู่เหนือดีจนไม่บ้าดี อย่าบ้าดี อย่าเมาดี อย่าหลงบุญ อย่าบ้าบุญ ถึงจะมีจิตใจผ่องแผ้วผ่องใสในข้อที่สามว่าสะจิตตะปริโยทะประนัง ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในหมู่ของคนที่เขามีความเชื่อกันอยู่อย่างหนึ่งเคร่งคัด ท่านไม่ขัดแย้ง แล้วประกาศคำนี้ออกมาว่า ตถาคต ไม่กล่าวคำขัดแย้งกับใครในโลกทุก ๆ โลก เขาว่าขัดแย้ง ถ้าเป็นภาษาบาลีคือคำว่าอุปัทวะ ภาษาไทยก็คืออุบาทว์ ๆ อุปัทวะในภาษาบาลีคำนี้มีความหมายว่าการขัดแย้ง มีการขัดแย้งที่ไหนมีอุบาทว์ที่นั่น เพราะฉะนั้นต้องไม่มีการขัดแย้ง ต้องมีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องบรรเทาความเห็นแก่ตัวจึงจะทำความเข้าใจแก่กันและกันได้ เดี๋ยวนี้เราทำความเข้าใจแก่กันไม่ได้เพราะมีความเห็นแก่ตัว จงทำลายความเห็นแก่ตัว และก็ทำความเข้าใจแก่กันและกันได้ แล้วก็จะไม่ความขัดแย้ง แล้วสิ่งที่เรียกว่าอุบาทว์ หรืออุปัทวะจะไม่มีในโลกนี้อีกต่อไป โปรดสังวรในเรื่องนี้ด้วยว่าถ้ามีการขัดแย้งที่ไหนมีอุบาทว์ที่นั่น จะกลางไร่ กลางนา กลางตลาด ในรัฐสภา ในโลกที่ประชุมของโลก อะไรก็ตามถ้ามันมีการขัดแย้งแล้วก็ต้องว่ามีความอุบาทว์ที่นั่น ต้องไม่มีการขัดแย้งทำความเข้ากันได้ พยายามลดความเห็นแก่ตัวจึงจะเป็นพุทธศาสนา นี่เรียกว่าทำหน้าที่ให้ถูกต้อง

ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง และจะไม่มีความขัดแย้งเลย ทุกคนเคารพหน้าที่ของตน ในฐานะที่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าก็เคารพ ตามหัวข้อของปาถะกถา จะขอพูดเรื่องสิ่งที่พระพุทธเจ้าก็เคารพ ปัญหาทั้งปวงจะละลายสูญหายไปหมดสิ้นทั้งโลก โดยที่เราเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเคารพ สิ่งนั้นคือ ภาษาไทยเรียกว่าหน้าที่ ภาษาบาลีเรียกว่าธรรมะ จงเคารพธรรมะเถิด คือเคารพหน้าที่เถิด ทำหน้าที่ของตน ๆ อย่าไปแทรกแซงหน้าที่ของคนอื่นเลย ดูว่าหน้าที่ของตนนั่นสมบูรณ์ถูกต้องแล้วหรือยังถูกต้องแล้วก็ใช้ได้ เคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพนั่นก็คืออย่างนี้ เคารพหน้าที่ ๆ เป็นความหมายที่ลูกเด็ก ๆ ไม่ค่อยจะเข้าใจ คนโต ๆ ก็ไม่ค่อยจะเข้าใจ เพราะมันไม่รู้ว่าหน้าที่คือธรรมะคือช่วยได้ ๆ ทุกอย่างทุกประการ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว มันก็จะพอใจทำหน้าที่ มันก็ไม่เลือกงาน แล้วคนก็จะไม่ว่างงาน คนก็จะไม่ว่างงาน หน้าที่โกยขยะ ล้างท่อถนนก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ คือทำหน้าที่ทำแล้วรอด แม้แต่ว่าขอทานก็ทุพพลภาพ หรือเพราะอะไรก็ตาม มันก็เป็นการทำหน้าที่เพื่อความรอด ขอให้ทุกคนบูชาหน้าที่ของตน บูชาหน้าที่ของตน มีหน้าที่อย่างไรก็ทำหน้าที่ของตน หน้าที่ดำรงชีวิตก็ทำดี ทำหน้าที่บริหารชีวิตประจำวันก็ทำดี หน้าที่สังคมก็ทำดี หรือหน้าที่สังคมนี้ สรุปรวมได้ว่าหกทิศทาง ข้างหน้าบิดามารดา ข้างหลังบุตรภรรยา ข้างซ้ายเพื่อน ข้างขวาครูบาอาจารย์ ข้างบนครูผู้อยู่เหนือบังคับบัญชา พระเจ้า พระสงฆ์ ราชา มหากษัตริย์ ข้างล่างก็ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา กรรมกร ทุกทิศทางทั้งหกทิศทางทำถูกต้อง ๆ ก็เรียกว่าทำหน้าที่ถูกต้อง มันก็ทำหน้าที่ฝ่ายจิตใจได้ตามที่จะมีโอกาส มีศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มขึ้นได้ตามโอกาส แต่ถ้าว่าทำหน้าที่อย่างธรรมดาในโลกนี้ไม่ถูกต้อง มันก็ยากที่จะทำหน้าที่ทางจิตใจ สร้างพื้นฐานหน้าที่ธรรมดาโลก ๆ นี้กันให้สมบูรณ์เสียก่อนเถิด มีโอกาสที่จะแทรกแซงอยู่ในหน้าที่ธรรมดานี่ให้มีศีล สมาธิ อย่างที่พูดแล้วว่าล้างส้วมก็ขอให้มีสมาธิ จะได้มีปัญญารู้แจ้ง ความสะอาดความไม่สะอาดตามลำดับ เอามาปนกันได้ทำพร้อม ๆ กันไปได้ หน้าที่ทั้งหลายมันทำพร้อม ๆ กันได้ และก็เป็นผู้สมบูรณ์ ๆ ด้วยหน้าที่ ปฏิบัติธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติศาสนาก็คือปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติเพื่อความรอดคือการปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็จะรอด ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีทางรอด ไม่มีใครช่วยได้ คนที่ทำหน้าที่ให้พระเจ้าเทวดามาเป็นฝูง ๆ ก็ช่วยไม่ได้หรอก มันไม่ทำหน้าที่ต่อให้เทวดาพระเป็นเจ้ามาเป็นฝูง ๆ ก็ช่วยคนนี้ไม่ได้ ช่วยคนที่ไม่ทำหน้าที่ไม่ได้ พอทำหน้าที่เท่านั้นไอ้หน้าที่มันกลายเป็นพระเจ้ามาช่วยทันที ช่วยได้ด้วยและทันทีด้วย ทำหน้าที่และพระเจ้าจะมาช่วยทันทีหน้าที่กลายเป็นพระเจ้ามาช่วย ไม่ทำหน้าที่มัวแต่จุดธูป จุดเทียนบูชาบวงสรวง อ้อนวอนอยู่ สั่นเซียมซีอยู่ไม่มีทาง ไม่มีพระเจ้าองค์ไหนจะช่วยได้ คนอย่างนี้ไม่เป็นพุทธบริษัท ให้ศาสนาคริสต์มาเข้าแย่งไปเสียให้หมด ๆ ก็ดีเหมือนกัน มันจะไปใช้วิธีอื่นของศาสนาคริสต์ช่วยให้รอดได้ เมื่อมันอยู่เป็นชาวพุทธ มันยังช่วยตัวเองไม่ได้อย่าอยู่เลย ถ้าเป็นพุทธบริษัทไม่ต้องมีไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์แปลว่าความรู้ของคนหลับ ไสยะ ๆ แปลว่าหลับ พุทธศาสตร์แปลว่าความรู้ของผู้ตื่น พุทธะ ๆ แปลว่า ผู้ตื่น มันต้องตื่นจากความหลับ ตื่นจากความโง่รู้ตามที่เป็นจริง มีหลักว่าช่วยตัวเอง ตามกฎแห่งเหตุผลช่วยตัวเอง ๆ ไม่ต้องให้สิ่งภายนอกช่วยช่วยตัวเองคือทำหน้าที่ บูชาหน้าที่ หน้าที่ก็จะกลายเป็นของช่วยขึ้นมา คำว่าช่วยตัวเองหมายความอย่างนี้

อย่าไปคิดว่าจะพึ่งพระพุทธเจ้า ๆ ท่านได้สอนว่า จงพึ่งธรรมะคือพึ่งตัวเอง ท่านทั้งหลายจงมีธรรมะ มีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ถ้ายังมีตนอยู่แม้จะไม่ใช่ของจริง แต่มันมีตนอยู่เป็นตนที่ตนคิดว่าช่วยตน คือปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะคือปฏิบัติหน้าที่มันก็ช่วยตนเองได้ ตถาคตทั้งหลายไม่อาจจะช่วยได้ ได้แต่บอกทาง บอกวิธี บอกหนทาง ท่านทั้งหลายจะต้องช่วยตัวเองด้วยการทำหน้าที่ และสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้าสักหน่อยตรงนี้กันก็ได้ว่า ก่อนสว่างก่อนหัวรุ่งให้คิดก่อนว่าจะไปช่วยใคร วันนี้จะไปช่วยใคร ก็สังเกตเห็นดูทั่ว ๆ ไปว่าคนนั้นช่วยไม่ไหว คนนี้พอช่วยได้ก็ไป สว่างขึ้นก็ไปบิณฑบาต เพื่อได้มีโอกาสพูดกับคนนั้นให้มันได้รับประโยชน์ช่วยตัวเองได้ ตั้งแต่ก่อนสว่างเล่งยานทั่วโลก และก็ไปช่วย จะเป็นกลางวันตอนสายอะไรก็ได้ จะค้างคืนที่นั่นก็ได้ ช่วยโปรดสัตว์หมายความว่า ไปช่วยให้เขามีความรู้เรื่องดับทุกข์ ไม่ใช่ไปขออาหารกินล้วน ๆ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมักจะเข้าใจว่า ไปโปรดสัตว์ไปบิณฑบาตไปขออาหารกิน แต่สำหรับพระพุทธเจ้า ท่านไปเพื่อจะโปรดมันให้พ้นจากกองทุกข์ พอตอนบ่าย ๆ แสดงธรรมโปรดคนทั่วไป ตอนหัวค่ำสอนภิกษุ ตอนดึกสอนคนชั้นสูง เรียกว่าแก้ปัญหาเทวดา จะเป็นเทวดามาจากสวรรค์ หรือเทวดาพระราชามหากษัตริย์ก็ได้ จะแก้ปัญหาเทวดาตอนดึก เรื่องในบาลีมีอยู่ชัดเจนแล้ว พระเจ้าปัทเสนธิ พระเจ้า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าตอนดึกทั้งนั้น ต้องมีกองทัพ ครบเพลิงถือไป ตอนดึกแก้ปัญหาเทวดา พอใกล้รุ่งก็นึกถึงว่าจะไปโปรดใคร ท่านทำงานเป็นวงจรอย่างนี้แหละ ลองคิดดูเถอะว่า ท่านไม่ได้เป็นคนขี้เกียจหรือว่าเบื่องาน ทำงานอย่างนี้ ขอให้ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเรา ทำงานครบวงจรกันอย่างนี้ ก่อนสว่างคิดว่าจะทำอะไร พอสว่างแล้วก็ทำ ๆ ๆ ค่ำลงก็พอใจ ๆ ยกมือไหว้ตัวเองได้ว่าได้ทำถูกต้องทั้งวัน นี่คือหน้าที่ในภาษาไทยธรรมะในภาษาบาลี ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พ่อแม่ทั้งหลายช่วยบอกลูกเด็ก ๆ ให้รู้ว่าธรรมะคือหน้าที่ อย่าบอกเขาแต่ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่รู้ว่าสอนว่าอย่างไร ตัวธรรมะคือตัวหน้าที่ ตัวสิ่งที่พระพุทธเจ้าเองก็เคารพ เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายจงเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพเถิด แล้วโลกนี้ก็จะหมดปัญหา ข้อความทั้งหมด อาตมาถือว่าเป็นธรรมะปฏิสันถาร ไม่มีกาแฟเลี้ยง ไม่มีโคคาโคล่า ขอปฏิสันถารด้วยธรรมะ คือบอกให้รู้ว่าโลกจะรอดได้ เพราะว่าเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าก็เคารพ สิ่งนั้นคือหน้าที่ ๆ ขอให้บูชาหน้าที่ แม้จะทำงานอยู่ กลางแดดอาบเหงื่ออยู่กลางแดด ก็เคารพบูชาเหงื่อ ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ถ้าเกียจเหงื่อแล้วไปเป็นอันธพาลจี้ปล้นดีกว่า ถ้าเป็นธรรมะของอันธพาลอย่าเอาเลย เหงื่อออกมานี่ก็น้ำมนต์ รดพอใจ ดีกว่าไปรดน้ำมนต์ที่เขารด ๆ กันอยู่ ซึ่งไม่เกิดอะไรขึ้น เป็นไสยศาสตร์มากเกินไป ขอให้รดน้ำมนต์เหงื่อเพราะการทำหน้าที่เถิด แล้วจะเป็นน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้าด้วย แล้วก็รอดจากความทุกข์ จะดับความทุกข์โดยประการทั้งปวงด้วย ขอให้พอใจในหน้าที่ แม้มันจะออกมาในรูปของเหงื่อกลางแดด ทำงานกลางฝนอะไรก็ตามพอใจ ๆ ๆ เป็นสุข ๆ เมื่อทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้คนไม่พอใจในความสุขที่แท้จริง ไปพอใจในความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เงินไม่พอใช้ต้องกู้ต้องยืม ต้องหลงเป็นเหยื่อของคนหลอกลวง เพราะมันจะไปหาแต่เงินมาบูชากิเลส ก็สมน้ำหน้าพูดอย่างนี้ดีกว่า

ขอให้ทุกคนมองเห็นที่พึ่งอันแท้จริงของเราคือหน้าที่ พระพุทธเจ้าคือผู้ค้นพบและสอนเรื่องหน้าที่ พระธรรมคือตัวหน้าที่ พระสงฆ์คือผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่ เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จงเคารพหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันที่พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพ ขอท่านทั้งหลายได้โปรดเอาธรรมะปฏิสันถารไปตามมี ตามได้ ตามที่จะทำได้ ไม่ต้องเชื่อเดี๋ยวนี้ แต่ขอให้ไปลองดูว่าจริงหรือไม่จริง ขอให้ไปลองดู ไปสังเกตดู ไปทดลองดูว่าจริงหรือไม่จริงค่อยกันทีหลัง อาตมาก็ขอยุติการบรรยายปาฐะกถาธรรมนี้ โดยความสมควรแก่เวลา ขอขอบพระคุณที่ได้มา ขอบพระคุณที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้ ขอเน้นให้พอใจในแผ่นดิน ๆ ที่เป็นที่ ๆ ประสูติ ตรัสรู้ ที่อยู่อาศัย ที่สอนของพระพุทธเจ้า ที่นิพพานของพระพุทธเจ้า แล้วก็คงจะประหยัดค่าก่อสร้างได้อีกเป็นอันมาก ขอยุติการบรรยาย

http://vcharkarn.com

จิตเป็นของแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์

การฝึกหัดเบื้องต้นก็ต้องมียากเป็นธรรมดา แม้ว่าท่านผู้ตั้งใจทำจริง ๆ มีหน้าที่แก้ไขกิเลสโดยถ่ายเดียว เช่นกับนักบวช เป็นต้น การฝึกฝนอบรมเบื้องต้นรู้สึกลำบาก บางทีถึงกับจะให้เกิดความท้อใจ ให้สงสัยตัวเองว่าจะไปรอดหรือไม่รอด พร้อมกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้าศึกต่อนิสัยของปุถุชนจะพึงปรารถนา สถานที่บางแห่ง เช่นในป่าในเขา เวลาเราไปอยู่ในที่เช่นนั้น สิ่งที่ทำความลำบากย่อมมีมาก เพราะสถานที่เราอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน บางแห่งถึง ๖-๗ กิโลเมตรก็มี ตื่นเช้าพอสว่างออกบิณฑบาต กว่าจะกลับไปถึงที่ก็จวนเที่ยง จากนั้นแล้วพยายามฝึกหัดรู้ความเคลื่อนไหวของใจ

ตามธรรมดาของใจย่อมมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีความคิด ความเห็นมากอย่าง ต้องพยายามฝึกหัดติดตามความเคลื่อนไหวของเรา ความชำนาญและความมีสติจะเริ่มปรากฏตัวขึ้นมา ตามธรรมดาของใจย่อมเป็นนิสัยชอบกดขี่บังคับเสมอ ถ้าปล่อยตามอำเภอใจจะเป็นการลำบากทีเดียว เช่นเราอยู่ในวัด ซึ่งเป็นสถานที่ธรรมดา จิตก็ฝึกหัด จิตอบรมยาก จะหยั่งเข้าสู่ความสงบแต่ละครั้งรู้สึกลำบาก พอแยกย้ายออกจากสถานที่เช่นนั้นเข้าไปอยู่ที่เปลี่ยว ซึ่งเป็นสถานที่น่ากลัว ใจก็ไม่ค่อยจะได้ถูกบังคับเท่าไร ก้าวลงสู่ความสงบได้ง่าย ทั้งวันทั้งคืนเราอยู่ด้วยความมีสติ ใจในเมื่อมีสติเป็นเครื่องปกครองรักษาแล้ว ภัยที่จะเกิดขึ้นให้ได้รับความเดือดร้อน หรือฟุ้งซ่านรำคาญก็ไม่ค่อยมี จะมีแต่ความเงียบและความเย็นใจตลอดเวลา

ถ้าเราจะพิจารณาในทางปัญญา ตรองดูสภาวธรรมที่มีอยู่รอบตัวเราก็จะพิจารณาได้สะดวก เพราะจิตอยู่ในกรอบ มีสติเป็นรั้วกั้น ความเยือกเย็นเป็นไปทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อใจเรามีความสงบมากเท่าไร ความแน่นหนามั่นคงของใจก็ยิ่งเพิ่มกำลังขึ้น การรวมสงบจิตก็อยู่ได้นาน ความสงบของจิตไม่มีเพียงชั้นเดียว ยังมีหลายชั้น คือจิตรวมลงไปชั้นหนึ่ง ไม่สู้จะละเอียดเท่าไร ถึงชั้นที่สองละเอียดลงไปมาก ถึงชั้นที่สามกายก็ไม่เหลืออยู่ในความรู้สึกนั้น ไม่ปรากฏอันใดทั้งสิ้น เหลือแต่ธรรมชาติความสุขและมีสติกับความรู้เท่านั้น ขณะจิตได้รวมลงเช่นนั้น จะว่าเรารักษาจิตด้วยสติก็ไม่ถนัด สติกับความรู้เลยกลายเป็นอันเดียวกัน ไม่ทราบว่าใครจะพยายามรักษาใคร รู้อยู่เท่านั้น แม้อวัยวะจะมีอยู่ก็ไม่ปรากฏ

เมื่อรู้สึกว่ากายของเราไม่มีแล้ว เวทนาก็หมดไป ไม่มีอันใดเหลือ นี้เรียกว่าจิตลงอย่างละเอียดเต็มที่ และพักอยู่ได้นานๆ บางครั้งตั้งสามสี่ชั่วโมงก็ยังไม่ถอนขึ้นมา เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว เราจะกำหนดย้อนคืนไปในอดีต และความเป็นอยู่ของเราในขณะรวมและพักสงบอยู่ รู้สึกว่าเป็นของที่แปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์มาก ความเห็นภัยในวัฏสงสารก็มีกำลังมากขึ้น ความเห็นคุณที่จะยกฐานะคือจิตใจของตนให้ก้าวขึ้นระดับสูงขึ้นไปกว่านั้น ก็มีกำลังกล้าอีกเช่นเดียวกัน เวลาจิตถอนออกมาแล้ว ถ้าจิตควรแก่การพิจารณาด้วยปัญญา ก็ต้องค้นคว้าในความเป็นอยู่ของกาย จนกระทั่งว่ากายของเราทุกส่วนได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยปัญญาจนเพียงพอ ไม่มีส่วนใดๆ จะยังเหลืออยู่ให้เป็นตัวอุปาทาน คือความยึดมั่นในส่วนกาย

เมื่อปัญญาได้พิจารณาส่วนร่างกายจนเพียงพอถึงกับได้ถอนอุปาทาน คือถือมั่นในกายจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นสภาพที่ว่างเปล่า แม้จะปรุงขึ้นมาก็สักแต่ว่าปรากฏชั่วขณะเดียว เหมือนอย่างฟ้าแลบก็ดับไป เป็นความว่างประจำจิต คำว่า ความว่างประจำจิตนี้เป็นความว่างจากร่างกายอันนี้ และจะเหลือภาพอันหนึ่งขึ้นที่จิต แต่อาศัยภาพของกายอันหยาบนี้ไปปรากฏอยู่ภายใน ก็พิจารณาภาพนั้นให้เป็นไปลักษณะเช่นเดียวกับส่วนแห่งกายทั้งหลาย เมื่อปัญญาพอแล้ว ภาพภายในนี้ก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือ จะเหลือแต่ความว่างกับจิต แม้เราจะปรุงในส่วนรูปกาย หรือปรุงขึ้นเป็นต้นไม้ ภูเขา ตึกรามบ้านช่อง ก็จะปรากฏคล้ายกับสายฟ้าแลบเท่านั้น ก็ดับไปพร้อมกัน

ข้อนี้จะเป็นเพราะอำนาจปัญญา หรือเพราะเหตุไรก็สันนิษฐานยากอยู่ แต่ก่อนเราพิจารณาคล่องแคล่วในส่วนร่างกายนี้ จะให้ตั้งอยู่นาน หรือจะขยายแยกส่วนแบ่งส่วนให้เล็กให้โตก็ได้ เมื่อถึงปัญญาขั้นนี้ปรากฏการณ์จึงแปรรูปไปเป็นลำดับ เช่น รูปกายที่เราได้พิจารณาให้ตั้งอยู่ หรือขยายแยกส่วนแบ่งส่วนได้ตามต้องการ หรือให้ตั้งอยู่นานเท่าไรก็เท่านั้น มันก็ดับไปหมด เราจะยับยั้งไว้ไม่ได้เหมือนที่เคยเป็นมา พอตั้งขึ้นก็ดับไปพร้อม ๆ กัน กลายเป็นอากาศธาตุว่างไปหมด ไม่เพียงแต่ว่าส่วนแห่งกายและจิต แม้สภาวะทั่ว ๆ ไปทั้งด้านวัตถุ เช่น ต้นไม้ ภูเขา เวลาเรามองดูด้วยสายตาของเราก็เห็นชัด แต่เมื่อพลิกสายตากลับมาเท่านั้นแล้ว สภาพต้นไม้ ภูเขา ปรากฏขึ้นในจิตแทนกับสายตาของเราที่เคยเห็น จะปรากฏในมโนภาพเพียงขณะเดียวก็ดับ สิ่งที่คงเหลืออยู่ก็คือความว่างเท่านั้น ความว่างอันนี้เป็นอารมณ์ของจิต หากว่าปัญญาไม่รอบคอบจะต้องติดในความว่างอันนี้เหมือนกัน เพราะความว่างนี้เป็นอารมณ์ของจิต หรือสิ่งที่จะทำให้ติดได้

ความว่างกับจิตคล้ายกับว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน เมื่อเราพิจารณาให้ชัดจะเห็นความว่าง และเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณปรากฏเด่นอยู่ในจิต ส่วนร่างกายเมื่อปัญญาพอแล้วต้องปล่อยวางจริง ๆ เราจะกำหนดขึ้นมาพิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนเหมือนอย่างที่ทำมานั้นเป็นไปไม่ได้ ยังเหลือแต่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ต้องพิจารณาตามสภาพของส่วนนั้น ๆ เช่นเดียวกับร่างกาย มีไตรลักษณะเป็นต้น แต่ว่าการพิจารณาในอาการทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรามีความดูดดื่มหรือพอใจในส่วนใดก็ตาม เป็นเหตุที่จะให้เข้าใจในอาการนั้น ๆ ชัดเจนเช่นเดียวกัน การทดสอบ การพิสูจน์ในความเกิดขึ้นแห่งความคิด ความปรุง หรือความสำคัญใดๆ ที่เป็นขึ้นในจิต ก็จะเห็นในทุกขณะที่บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่หรือดับไป

ถ้าปัญญาของเรารู้เท่าแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมกับใจจะสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา ความสัมผัสแห่งธรรมกับใจนั้น แสดงถึงเรื่องไตรลักษณะเป็นส่วนๆ แม้ไม่ต้องนึกคิดไปถึงส่วนภายนอกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ตาม เพราะส่วนภายนอกกับส่วนแห่งกายนี้เป็นประเภทเดียวกัน ส่วนที่ละเอียดคือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นภายในล้วนๆ เราพิจารณาเป็นไตรลักษณะ เฉพาะเป็นความสัมผัสซึ่งเกิดขึ้นจากใจ พอสัมผัสอะไรรู้ได้ในขณะนั้น เมื่อเราเห็นไตรลักษณะ หรือว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะผ่านมาแล้ว จึงยังเหลืออยู่แต่ไตรลักษณะภายใน คืออาการของจิตกับจิตซึ่งเป็นตัวอุปาทานเท่านั้น ในเรื่องของสติกับปัญญา จักกำหนดก็ตามไม่กำหนดก็ตาม จะต้องไหวตัวไปตามสิ่งที่มาสัมผัส จะกลายเป็นสติอัตโนมัติไปในตัว คือไหวตัวอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งหลาย

คำว่า “ปัญญาอัตโนมัติ” นั้น หมายความว่า ปัญญาเป็นไปโดยลำพังตนเอง ไม่มีใครบังคับบัญชา ไม่เหมือนปัญญาในเบื้องต้นซึ่งเป็นไปโดยเชื่องช้า ถ้าจะเทียบก็เหมือนเมื่อเราเริ่มเรียนหนังสือ ทีแรกเรียนสระ เรียนพยัญชนะ แล้วก็มาฝึกหัดการผสมสระ พยัญชนะ อ่านเป็นเนื้อความ เช่น เด็กที่กำลังฝึกใหม่จะอ่านคำว่า “ท่าน” ต้องคิดถึงตัว “ท” คิดถึงสระอา คิดถึงตัว “น” คิดถึงไม้เอก แล้วนำมาผสมกันจึงจะอ่านว่า “ท่าน” ปัญญาในเบื้องต้นต้องเป็นอย่างนี้ พยายามค่อยฝึกหัดค้นคว้าไตร่ตรองอย่างนั้น เรียกว่าปัญญาที่อาศัยความบังคับเป็นพี่เลี้ยง ถ้าไม่อาศัยความบังคับปัญญาก็เดินไม่ได้ และอาศัยสัญญาหมายไว้ก่อน ปัญญาค่อยตรองตาม

ถ้าจะเทียบอุปมาแล้ว ส่วนแห่งร่างกายหรือสภาวธรรมนั้น เป็นเหมือนกับแผ่นกระดาษ สัญญาเป็นเหมือนเส้นบรรทัดซึ่งมีอยู่ในกระดาษนั้น ปัญญาเป็นเหมือนผู้เขียนหนังสือ ตรองไปตามสัญญาที่คาดเอาไว้ ถ้าปัญญามีความชำนาญแล้วในอิริยาบถทั้ง ๔ จะเป็นอิริยาบถที่เต็มไปด้วยความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน สิ่งที่มาสัมผัสก็แสดงว่าเริ่มเกิดภูมิรู้ ความสัมผัสจะต้องไปสัมผัสที่ผู้รู้และกระเทือนถึงผู้รู้ เรื่องสติปัญญาก็จะต้องวิ่ง หรือไหวตัวไปตามสิ่งที่มาสัมผัส เช่นเดียวกับแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นกับดวงไฟฉะนั้น เพราะขณะที่เราพิจารณาอยู่ในสภาวธรรม หรือตัวของเรา ซึ่งเป็นอริยสัจอยู่แล้ว มรรคคือข้อปฏิบัติ ได้แก่สติกับปัญญาที่จะพิจารณาไปตามสภาวธรรมซึ่งมาสัมผัส จึงเป็นไปตลอดเวลา จิตจึงกลายเป็นปัจจุบันจิต นี่เรียกอย่างย่อๆ

ปัญญาเพียงพอในการพิจารณากายต้องปล่อยในกายฉันใด ปัญญาเพียงพอในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ปล่อยได้ฉันนั้น เบื้องแรกใจของเราจะต้องเห็นดีเห็นชั่วนอกไปจากใจ เข้าใจว่าดีกับชั่วนี่อยู่ที่อื่น เช่น เราตำหนิติชมในรูป เสียง เป็นต้น เข้าใจว่าดีกับชั่วมีอยู่ในรูป เสียง จึงสำนึกเลยไปว่า ความคิดว่าดีว่าชั่ว หรือพอใจในความชั่วในสิ่งชั่วนั้น เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเพ่งเล็ง เมื่อปัญญายังไม่สามารถจับจุดความผิดซึ่งเกิดจากตัวเองได้ จึงเห็นสิ่งที่มาสัมผัสว่าเป็นของควรยึดถือไปหมด ส่วนรูปหรือเสียงเป็นต้นนั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความรู้สึกไปสัมผัสเข้าไปแล้วก่อตัวขึ้นมา คือก่อเรื่องที่น่ารักน่าชังเป็นต้นให้เกิดขึ้น

การพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายก่อนที่จะปล่อยวางได้ เช่น กาย ต้องเห็นความเป็นจริงของส่วนแห่งร่างกายนั้น จนหมดความตำหนิติชมในกาย จึงจะปล่อยวางได้ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เห็นว่าเป็นสภาพความจริงอย่างหนึ่ง จึงจะปล่อยวางได้ ส่วนสำคัญที่สุดคือผู้รู้ซึ่งเป็นรากฐานแห่งอาการทั้ง ๕ รูปกายนี้ปรากฏขึ้นมาได้เพราะเหตุแห่งใจดวงนี้ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แต่ละอย่างก็เหมือนกับกิ่งแขนงของต้นไม้ พิจารณาจนชำนาญประสานกันกับความรู้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้ เมื่อพอแล้วก็จะเห็นความรู้อันนั้นว่าสังสารจักรปฏิเสธสิ่งอื่น ว่าเป็นสังสารจักร เป็นตัวกิเลสตัณหาและอวิชชาใด ๆ

การพิจารณาต้องรู้รอบและปล่อยวางได้ เพราะถ้ายังไม่เห็นโทษในความรู้ของตนเองก็จะยกความรู้ขึ้นเหยียบย่ำในสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าใจว่าตนรู้ แท้จริงความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้ภายใต้ของอวิชชาต่างหาก จนกว่าจะรู้รอบความรู้นี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะความรู้นี้เป็นตัวเหตุตัวการที่จะก่อความรัก ความชัง ความดี ความชั่ว หรือความสุข ความทุกข์ทั้งหมด มันก่อตัวขึ้นจากความรู้อันนี้ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ

ลืมเรียนให้ทราบตอนว่า เมื่อจิตได้ปรากฏเข้าสู่ความว่างเปล่าแล้ว ความรู้ที่ว่านี้เป็นความรู้แปลกมากเหมือนกัน คล้าย ๆ กับว่าเป็นความรู้ที่มีรสชาติ และอัศจรรย์ เลยเข้าใจว่านั้นเป็นนิพพานแล้วติดได้เหมือนกัน ที่จริงควรพิจารณาความว่างเปล่าและผู้รู้อันนั้น กับอาการที่เกิดขึ้นจากผู้รู้นั้นแล เป็นอารมณ์พิจารณาทวนไปทวนมาไม่หยุดยั้ง จนเห็นโทษแห่งความรู้เช่นเดียวกันกับสภาวะส่วนอื่นๆ ทั้งหยาบ กลาง ละเอียดแล้วนั่นแหละ จึงจะมีโอกาสปล่อยวางได้ แต่อาการปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยเอาเฉย ๆ ตามที่เราคาดกัน จะต้องมีสภาพอันหนึ่งซึ่งจะให้นามก็ลำบากเหมือนกัน แต่พอเข้าใจได้ว่ามันตัดสินขึ้นมาเอง

ขณะนั้นเรียกว่าขณะถอดถอนตนเอง หรือกลับเข้ามารู้ตนเอง เมื่อเรากลับเข้ามารู้ตนเองและปล่อยวางตนเอง จะมีขณะอันหนึ่งซึ่งเป็นขณะที่ไม่เคยมี และไม่เหมือนกับขณะจิตที่รวม ขณะจิตที่สงบ แต่ขณะจิตที่ตัดภพ ตัดชาติ ตัดสมมุติ หรือทำลายความอัศจรรย์ของจิตดวงสมมุตินี้นั้น เป็นขณะอันหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ ทั้งไม่เคยประสบมาแต่กาลไหนๆ ได้เกิดขึ้นมาเอง โดยที่ใคร ๆ ไม่ได้คาดหมายเอาไว้ เราจะว่าจิตของเรามีความเผลอไปในสิ่งใดก็ไม่ใช่ จะว่าจดจ่ออยู่กับอะไรก็ไม่เชิง คล้าย ๆ กับว่าขโมยมาสอยเอาสิ่งของเวลาเราเผลอฉะนั้น

ขณะจิตอันหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติที่แปลกและอัศจรรย์ยิ่งกว่าธรรมชาติใด ๆ มาปรากฏขึ้นในขณะเดียวเท่านั้น เพราะขณะจิตนั้นได้ทำงาน หรือว่าลบล้างความหลงของตนเองสิ้นสุดลงไปแล้วนั้นแล เราจึงจะเห็นโทษแห่งความเป็นมา ผ่านมาเอง เราจะเห็นโทษแห่งปฏิปทาที่เป็นมาที่ลุ่มๆ ดอนๆ คือ มีทั้งผิดทั้งถูกสับสนระคนกันไป เหมือนข้าวสารกับแกลบรำฉะนั้น และคุณแห่งปฏิปทาของเราที่ได้ปฏิบัติมาแต่ต้นจนถึงจุดนี้ ว่าเป็นสวากขาตธรรม และเป็นนิยยานิกธรรมโดยแท้ ฉะนั้นเมื่อขณะจิตนั้นได้ทำงานสิ้นสุดลงไปแล้ว ไม่เห็นมีเรื่องอะไรที่จะเป็นปัญหาให้ขบคิดต่อไปอีก นอกจากใจดวงเดียวเท่านั้นไปก่อเรื่องราวทั้งหลาย แล้วนำมาเผาลนตนเองให้เดือดร้อนเท่านั้น จึงมีให้นามว่าปัญหาโลกแตก คือปัญหาหัวใจ

บาลีท่านว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ รู้เห็นตามเป็นจริงตามสภาวะนั้นๆ จึงหมดการตำหนิติชมในสภาวธรรมทั่วๆ ไป พร้อมทั้งการตำหนิติชมในตัวเอง สมมุติภายในและภายนอกก็ยุติกันลงได้ สิ่งทั้งหลายภายในจิตก็ไม่มี จิตนั้นเป็นวิสุทธิจิตจึงพ้นจากสมมุติไป ท่านเรียกชื่ออีกว่าวิมุตติ ที่ให้ชื่อเช่นนั้นถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับชื่อของวัด จะเป็นวัดใดก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น วัดบวรนิเวศ ท่านติดป้ายไว้หน้าวัดบวรฯว่า วัดบวรนิเวศ การติดป้ายไว้นั้นติดไว้เพื่อใคร พระเณรในวัดบวรฯ รู้แล้ว ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องมาอ่านป้ายวัดนี้คือวัดบวรฯ ก่อนจะเข้าออกจากวัด หรือจะหลับนอน ที่ติดไว้ก็เพื่อคนที่ไม่รู้จักวัดบวรฯ เขาจะอ่านที่ป้ายและรู้ว่า อ้อ นี้คือวัดบวรฯ

ท่านให้ชื่อว่าวิมุตติก็เช่นเดียวกัน สำหรับท่านที่หลุดพ้นไปแล้วจะให้ชื่อว่า วิมุตติ หรือนิพพาน ไม่เห็นจำเป็นอะไร แต่ก็ตั้งชื่อเป็นกรุยเป็นหมายเพื่อให้โลกที่มีสมมุติให้รู้กัน และเพื่อท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ และเพิ่มกำลังความเพียรเพื่อนิพพาน แต่เมื่อเข้าถึงธรรมคือนิพพานแล้ว มันก็หมดปัญหาไปตามๆ กัน ความสำคัญว่าตนโง่ตนฉลาดก็หมดไป ความสำคัญว่าตนเศร้าหมอง หรือผ่องใสก็หมดไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งนั้น ธรรมชาตินั้นไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ จึงเข้ากันไม่ได้

สิ่งใดที่จะมาสัมผัสในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็สักแต่ว่าเท่านั้น เพราะจิตหมดเรื่องแล้ว สิ่งทั้งหลายจึงไม่มีเรื่อง พลอยหมดไปตาม ๆ กัน เครื่องกังวลและภาระใดๆ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด หยุดการรักษา คำว่ารักษาหมายถึงจิตโดยเฉพาะ ไม่ได้หมายถึงมรรยาททางกาย วาจา เช่น มีแผลอยู่ในอวัยวะของเราส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งรักษายังไม่หายสนิท เราจะต้องพยายามรักษาและระวังสิ่งที่มากระทบ และพอกยา ทายาอยู่เสมอ จนกว่าจะหายสนิท

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
http://www.luangta.com

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน?

null

บางครั้ง ต้นผลไม้ อย่างต้นมะม่วงเป็นดอกออกมาแล้ว บางทีถูกลมพัด มันก็หล่นลง แต่ยังเป็นดอกอย่างนั้นก็มี บางช่อเป็นลูกเล็กๆลมก็มาพัดไป หล่นทิ้งไปก็มี บางช่อยังไม่ได้เป็นลูก เป็นดอกเท่านั้น ก็หักไปก็มี

คนเราก็เหมือนกัน บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้องบางคนคลอดจากท้องอยู่ได้สองวัน ตายไปก็มี หรืออายุเพียงเดือนสองเดือน สามเดือน ยังไม่ทันโต ตายไปก็มีบางคนพอเป็นหนุ่มเป็นสาวตายไปก็มี บางคนก็แก่เฒ่าแล้ว จึงตายก็มี

เมื่อนึกถึงคนแล้ว ก็นึกถึงผลไม้ ก็เห็นความไม่แน่นอน แม้นักบวชเราก็เหมือนกัน บางทียังไม่ทันได้บวชเลย ยังเป็นเพียงผ้าขาวอยู่ ก็พาผ้าขาววิ่งหนีไปก็มีบางคนโกนผมเท่านั้น ยังไม่ได้บวชขาวด้วยซ้ำ ก็หนีไปก่อนแล้วก็มี บางคนก็อยู่ได้สามสี่เดือนก็หนีไป บางคนอยู่ถึงบวชเป็นเณรเป็นพระ ได้พรรษาสองพรรษาก็สึกไปก็มี หรือสี่ห้าพรรษาแล้วก็สึกไปก็มี เหมือนกับผลไม้เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ผลไม้ถูกลมพัดตกลงไปเลยไม่ได้สุก จิตใจคนเราก็เหมือนกัน พอถูกอารมณ์มาพัดไป ดึงไป ก็ตกไปเหมือนกับผลไม้

พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นเหมือนกัน เห็นสภาพธรรมชาติของผลไม้ ใบไม้ แล้วก็นึกถึงสภาวะของพระเณรซึ่งเป็นบริษัท บริวารของท่านก็เหมือนกัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ย่อมจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติถ้ามีปัญญา พิจารณาดูอยู่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีครูอาจารย์แนะนำพร่ำสอนมากมาย

พระพุทธเจ้าของเรา ที่จะทรงผนวชในพระชาติที่เป็นพระชนกกุมารนั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายท่านไปทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่ง พระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับ พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่ง กำลังออกผลงามๆมากมาย ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น

แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้าง เพื่อให้กิ่งหัก ใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน

พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงนั้นอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภคฉะนั้นใบของมันจึงขาดกระจัดกระจาย กิ่งของมันก็หัก ห้อยระเกะระกะ

เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงสักต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกัน ก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์ มองดูน่าร่มเย็น จึงทรงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นมันไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก

พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรู ที่คอยจะมาโจมตีตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้น ที่มีใบสดดูร่มเย็น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ?

พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกทรงผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่าถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวัลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช

หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน? พระองค์ก็จะทรงตอบว่า “ต้นมะม่วง” ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน? พระองค์ก็ทรงตอบว่า “ต้นมะม่วง” พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงนั้นเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติทรงเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส

นี้คือในสมัยที่พระองค์ (พระพุทธเจ้า) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมเช่นนี้มาโดยตลอดอันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก

ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว เหมือนอย่างพระชนกกุมาร

ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเราสังวร สำรวม ดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขังอนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้ มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจังทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้

เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกันมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นในท่ามกลางก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ

ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกันโดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไป เสื่อมไปดับสิ้นไปเป็นธรรมดา

มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่รู้อยู่ ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้ เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ทุกสิ่งสารพัดนี้เป็นธรรมะ สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา คือใจของเรานี้ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดนั้นก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไป เมื่อแปรไปแล้ว ก็ดับสูญไปเท่านั้น นี้เรียกว่า “นามธรรม” สักแต่ว่าความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไป นี่คือความจริงที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น ล้วนเป็นอริยสัจจธรรมทั้งนั้น ถ้าเราไม่มองดูตรงนี้ เราก็ไม่เห็น

ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงไหน?
พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม

พระธรรมอยู่ที่ตรงไหน?
พระธรรมอยู่ที่พระพุทธเจ้า อยู่ตรงนี้แหละ

พระสงฆ์อยู่ที่ตรงไหน?
พระสงฆ์อยู่ที่พระธรรม

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ในใจของเราแต่เราต้องมองให้ชัดเจน บางคนเก็บเอาความไปโดยผิวเผิน แล้วอุทานว่า “โอ! พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ อยู่ในใจของฉัน” แต่ปฏิปทานั้นไม่เหมาะไม่สมควร มันก็ไม่เข้ากันกับการที่จะอุทานเช่นนั้น เพราะใจของผู้ที่อุทานเช่นนั้น จะต้องเป็นใจที่รู้ธรรมะ

ถ้าเราตรงไปที่จุดเดียวกันอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าความจริงในโลกนี้มีอยู่ นามธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นของไม่แน่นอน มีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว ความโกรธตั้งอยู่แล้ว ความโกรธก็แปรไป เมื่อความโกรธแปรไปแล้ว ความโกรธก็สลายไป

เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ความสุขนั้นก็ตั้งอยู่เมื่อความสุขตั้งอยู่แล้ว ความสุขก็แปรไป เมื่อความสุขแปรไปแล้ว ความสุขมันก็สลายไปหมด ก็ไม่มีอะไร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ทุกกาลเวลา ทั้งของภายในคือ นามรูปนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งของภายนอก คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์เหล่านี้มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าสัจจธรรม

ถ้าใครเห็นธรรมชาติก็เห็นธรรมะ ถ้าใครเห็นธรรมะก็เห็นธรรมชาติ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชาติ เห็นธรรมะผู้นั้นก็เป็นผู้รู้จักธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ไกล

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน ผู้รู้ทั้งหลายก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมา ให้รู้ ให้เห็นธรรมะตามเป็นจริงทุกกาลเวลา

พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านยังไม่ตาย แต่คนมักเข้าใจว่าท่านตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว ความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นท่านไม่นิพพาน ท่านไม่ตายท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ทุกเวลา พระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะนั่นเอง ใครทำดีต้องได้ดีอยู่วันหนึ่ง ใครทำชั่วมันก็ได้ชั่ว นี่เรียกว่าพระธรรมพระธรรมนั้นแหละเรียกว่า พระพุทธเจ้า และก็ธรรมะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าของเรา เป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำก็จะเห็นน้ำไม่ใช่ว่าผู้นั้นไปแต่งไปทำให้น้ำมีขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น ให้ลึกลงไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว

อันนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้ไปแต่งธรรมะ ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ บัญญัติก็บัญญัติสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ธรรมะคือความจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรม คือรู้ความจริงอันนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสรู้ธรรม และการตรัสรู้ธรรมนี่เองจึงทำให้ท่านได้รับพระนามว่า พระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นเพียง “เจ้าชายสิทธัตถะ” ต่อเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้ทรงเป็น “พระพุทธเจ้า” บุคคลทั้งหลายก็เหมือนกันผู้ใดสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ผู้นั้นก็เป็นพุทธะ

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่ ยังเมตตากรุณาสัตว์ทั้งหลาย ยังช่วยมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอยู่ ถ้ามนุษย์ผู้ใดมีความประพฤติปฏิบัติดี จงรักภักดี พระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ผู้นั้นก็จะมีคุณงามความดีอยู่ตลอดทุกวันฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย เดี๋ยวนี้เราก็ยังนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเราเข้าใจธรรมะเมื่อใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ผู้ใดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

ในการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ในที่สงบ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้เป็นหลักไว้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ไม่เกิดที่อื่นความดีทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้สังวรสำรวมให้รู้จักเหตุที่มันเกิดขึ้น

ความจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกทรงสอนไว้หมดทุกอย่างแล้ว เรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีตลอดจนข้อประพฤติปฏิบัติทุกประการก็ทรงพร่ำสอนไว้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องไปคิด ไปบัญญัติอะไรอีกแล้วเพียงให้ทำตามในสิ่งที่ท่านทรงสอนไว้เท่านั้น นับว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ มีโชคอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบหนทางที่ท่านทรงแนะทรงบอกไว้แล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมไว้ให้เรา แล้วก็เชิญให้พวกเราทั้งหลายไปกินผลไม้ในสวนนั้น โดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำอะไรในสวนนั้นเลย เช่นเดียวกับคำสอนในทางธรรม ที่พระองค์ทรงสอนหมดแล้ว ยังขาดแต่บุคคลที่จะมีศรัทธาเข้าไปประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีโชคมีบุญมากเพราะเมื่อมองไปที่สัตว์ทั้งหลายแล้ว จะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เช่น วัว ควาย หมู หมา เป็นต้น เป็นสัตว์ที่อาภัพมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเรียนธรรม ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสที่จะรู้ธรรม ฉะนั้นก็หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพ เป็นสัตว์ที่ต้องเสวยกรรมอยู่

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่ควรทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ คือไม่มีข้อประพฤติ ไม่มีข้อปฏิบัติ อย่าให้เป็นคนอาภัพ คือ คนหมดหวังจากมรรค ผลนิพพาน หมดหวังจากคุณงามความดี อย่าไปคิดว่าเราหมดหวังเสียแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น จะเป็นคนอาภัพเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่อยู่ในข่ายของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น เมื่อมนุษย์เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีเช่นนี้แล้ว จึงควรที่จะปรับปรุงความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของตนให้อยู่ในธรรม จะได้รู้ธรรม เห็นธรรม ในชาติกำเนิดที่เป็นมนุษย์นี้ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นสัตว์ที่ควรตรัสรู้ธรรมได้

ถ้าหากเราคิดไม่ถูก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นยักษ์ เป็นผี เป็นสารพัดอย่าง มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ก็ขอให้มองดูในจิตของเราเอง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!

เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร?นั่นแหละ!
เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร?นั่นแหละ!

สภาวะทั้งหลายเหล่านี้แหละ มันเป็นภพ แล้วก็เป็นชาติ เป็นความเกิดที่เป็นไปตามสภาวะแห่งจิตของตน

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

เดินจงกรมทำให้เกิดปัญญา

เมื่อจะเดินจงกรม ก็ให้มีทางเดินสักทางหนึ่ง จากต้นไม้ต้นนี้ไปสู่ต้นไม้ต้นนั้นก็ได้ ให้ระยะทางมันยาวสัก ๗-๘ วา เดินจงกรมมันก็เหมือนกับทำสมาธิ ให้กำหนดความรู้สึกขึ้นในใจว่า “บัดนี้ เราจะทำความเพียร จะทำจิตให้สงบ มีสติสัมปชัญญะให้กล้า” การกำหนดก็แล้วแต่ละคน ตามใจ บางคนออกเดินก่อนก็แผ่เมตตาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สารพัดอย่าง แล้วก็ก้าวเท้าขวาออกก่อนให้พอดีๆ ให้นึก “พุทโธ…พุทโธ…” ตามการก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้ในอารมณ์นั้นไปเรื่อย ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่าน หยุด ให้มันสงบ ก้าวเดินใหม่ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อยๆ ต้นทางออกก็รู้จัก รู้จักหมด ต้นทางกลางทาง ปลายทาง ทำความรู้นี้ให้ติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ นี่เป็นวิธีทำ กำหนดเดินจงกรม เดินจงกรมก็คือ เดินกลับไปกลับมา เดินจงกรมไม่ใช่ของง่ายนะ บางคนเห็นเดินกลับไปกลับมาเหมือนคนบ้า แต่หารู้ไม่ว่าการเดินจงกรมนี่ทำให้เกิดปัญญานักละเดินกลับไปกลับมา ถ้าเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอสมควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก แล้วอิริยาบถมันก็เปลี่ยนไปเอง การยืน การเดิน การนั่ง การนอนมันเปลี่ยน คนเราจะนั่งรวดเดียวไม่ได้ ยืนอย่างเดียวไม่ได้นอนอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันจะต้องอยู่ตามอิริยาบถเหล่านี้ ทำอิริยาบถทั้งสี่ให้มีประโยชน์ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ นี่คือการทำ ทำไป ทำไป มันไม่ใช่ของง่ายๆหรอก ถ้าจะพูดให้ดูง่าย ก็นี่ เอาแก้วใบนี้ตั้งไว้นี่สองนาที ได้สองนาทีก็ย้ายไปตั้งไว้นั้นสองนาที แล้วก็เอามาตั้งไว้นี่ ให้ทำอยู่อย่างนี้ ทำไปทำไป ทำจนให้มันทุกข์ ให้มันสงสัย ให้มันเกิดปัญญาขึ้น นี่ คิดอย่างใดหนอ แก้วยกไปยกมา เหมือนคนบ้า มันก็จะคิดของมันไปตามเรื่อง ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ยกอยู่อย่างนั้น สองนาทีนะอย่าเผลอ ไม่ใช่ห้านาที พอสองนาทีก็เอามาตั้งไว้นี่ กำหนดอยู่อย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของการกระทำ

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

ปฏิปทาของเสขบุคคล

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้: สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ก็สมัยนั้น สัณฐาคารใหม่ที่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งยังมิได้เคยอยู่เลย. ครั้งนั้น พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส สัณฐาคารใหม่อันพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งยังมิได้เคยอยู่เลย ขอเชิญพระผู้มีพระภาคทรงบริโภค สัณฐาคารนั้นเป็นปฐมฤกษ์ พระผู้มีพระภาคทรงบริโภคเป็นปฐมฤกษ์แล้ว พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์จักบริโภคภายหลัง ข้อนั้น พึงมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์สิ้นกาลนาน. พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ.

ลำดับนั้น พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ทราบการรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเข้าไปยังสัณฐาคารใหม่ แล้วสั่งให้ปูลาดสัณฐาคารให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง ให้แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ให้ตามประทีปน้ำมันแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายปูลาดสัณฐาคาร ให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันแล้ว บัดนี้ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทราบกาลอันควรเถิด.

[๒๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังสัณฐาคาร ทรงชำระพระบาทยุคลแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงเสากลาง ทรงผินพระพักตร์ตรงทิศบูรพา. แม้ภิกษุสงฆ์ชำระเท้าแล้ว เข้าไปสู่สัณฐาคารแล้วนั่งพิงฝาด้านทิศปัจจิม ผินหน้าเฉพาะทิศบูรพาแวดล้อมพระผู้มีพระภาค. แม้พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ชำระพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงฝาด้านทิศบูรพาผินพักตร์เฉพาะทิศปัจจิม แวดล้อมพระผู้มีพระภาค.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่าดูกรอานนท์ ปฏิปทาของเสขบุคคลจงแจ่มแจ้งกะเธอ เพื่อพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ เถิดเราเมื่อยหลัง เราจักเหยียดหลังนั้น ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคโปรดให้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น สำเร็จสีหไสยาสน์ ด้วยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการสัญญาในอันเสด็จลุกขึ้น.

[๒๖] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เชิญท้าวมหานามศากยะมาว่า ดูกรมหานาม อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเครื่องตื่น ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก.

[๒๗] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจรมีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรมหานามอย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

[๒๘] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว … ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว … ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว … ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว … รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรมหานาม อย่างนี้แลอริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.

[๒๙] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อจะเล่น เพื่อจะมัวเมา เพื่อความผ่องใส เพื่อความงดงาม เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อบำบัดความอยากอาหาร เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จักกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปแห่งอิริยาบถ ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่เป็นผาสุกจักมีแก่เรา ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.

[๓๐] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เวลากลางวันชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง เวลากลางคืน ในปฐมยาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง เวลากลางคืน ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้ามีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น เวลากลางคืน ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง ดูกรมหานาม อย่างนี้แลอริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น.

[๓๑] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คืออริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม.
๒. เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.
๔. เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น.
๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.
๖. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน.
๗. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ.

[๓๒] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก.

[๓๓] ดูกรมหานาม เพราะอริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนาเป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไก่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า.

ดูกรมหานาม เปรียบเหมือนฟองไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไก่เหล่านั้น แม่ไก่นอนทับ กก อบให้ได้ไออุ่นดีแล้ว ถึงแม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอลูกไก่เหล่านี้พึงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปาก ออกได้โดยสะดวกเถิดดังนี้ ลูกไก่ภายในเปลือกไข่นั้นก็คงทำลายเปลือกไข่ออกได้โดยสวัสดี ฉันใด ดูกรมหานามอริยสาวกก็ฉันนั้นเพราะท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากอย่างนี้ บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่า เป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไก่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า.

ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น
เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่หนึ่งของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น.

ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีมีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษ์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้ เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สองของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น.

ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สามของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น.

ความเป็นผู้มีวิชชาและจรณะ
[๓๔] ดูกรมหานาม แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างสี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้นครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้นมีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้นครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง

คาถาสนังกุมารพรหม
ดูกรมหานาม อริยสาวกนี้ บัณฑิตสรรเสริญว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้กล่าวคาถาไว้ว่า ในชุมชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุด.

[๓๕] ดูกรมหานาม คาถานั้น สนังกุมารพรหมขับดีแล้ว มิใช่ขับชั่ว กล่าวดีแล้วมิใช่กล่าวชั่ว ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระผู้มีพระภาคทรงอนุมัติแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า สาธุๆ อานนท์ เธอได้กล่าวเสขปฏิปทาแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ดีแล.

ท่านพระอานนท์ได้กล่าวภาษิตนี้จบลงแล้ว พระศาสดาทรงยินดี พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ชื่นชม ยินดี ภาษิตของท่านพระอานนท์ ดังนี้แล.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๙

วิปัสสนากับอิทธิปาฏิหารย์

null

นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ขณะนี้ยังเป็นกำลังของสมาธิอยู่ ถ้าเป็นสมาธิขั้นนี้มันสุดของมันแล้ว มันไม่สะกดมันไม่เป็น ขณะมันสุดแล้ว ถ้าจะทำวิปัสสนาที่นี่คล่องแล้วจะใช้ในทางอื่นก็ได้ ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจะใช้ฤทธิ์ใช้เดชใช้ปาฏิหาริย์ใช้อะไรๆ อาจใช้ได้ทั้งนั้น นักพรตทั้งหลายเอาไปใช้ ใช้ทำน้ำมนต์น้ำพร ใช้ทำตะกรุดคาถาได้หมดทั้งนั้น ถึงขั้นนี้แล้วมันไปของมัน ได้มันก็ดีไปอย่างนั้นแหละ ดีเหมือนกับเหล้าดีกินแล้วก็เมาดีไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้

ตรงนี้เป็นที่แวะ พระศาสดาท่านแวะตรงนี้ นี่เป็นแท่นที่จะทำวิปัสสนาแล้วเอาไปพิจารณา ทีนี้สมาธิไม่ต้องเท่าไร ดูอาการภายนอกเลย ดูเหตุผลพิจารณาเรื่อยไป ถ้าเป็นอย่างนี้เราเอาความสงบนี้มาพิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ที่มากระทบอารมณ์ แม้จะดีจะชั่วสุขทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับคนขึ้นต้นมะม่วงแล้วเขย่าลูกหล่นลงมา เราอยู่ใต้ต้นมะม่วงคอยเก็บเอาลูกไหนเน่าเราไม่เอา เอาแต่ลูกที่ดีๆ ไม่เปลืองแรงเพราะไม่ได้ขึ้นต้นมะม่วงคอยเก็บอยู่ข้างล่างเท่านั้น

ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาแล้วเอาความรู้มาให้เราหมด มิได้ไปปรุงแต่งมัน ลาภยศ นินทา สรรเสริญ สุขทุกข์ มันมาเอง เรามีความสงบมีปัญญาสนุกเฟ้นสนุกเลือกเอา ใครจะว่าดีว่าชั่วว่าร้ายว่าโน่นว่านี่ สุขทุกข์ต่างๆ นานาเป็นต้นล้วนแต่เป็นกำไรของเราหมด เพราะมีคนขึ้นเขย่าให้มะม่วงหล่นลงมา เราก็สนุกเก็บเอาไม่กลัว จะกลัวทำไม มีคนขึ้นเขย่าลงมาให้เรา ลาภก็ดียศก็ดีสรรเสริญนินทาสุขทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เปรียบเหมือนมะม่วงหล่นลงมาหาเรา เราเอาความสงบมาพิจารณาเก็บเอา เรารู้จักแล้วลูกไหนดีลูกไหนเน่า เมื่อเริ่มพิจารณาสิ่งเหล่านี้อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้แหละเรียกว่าปัญญาเป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมันหรอก วิปัสสนานี้ถ้ามีปัญญามันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน ถ้ามันรู้แจ้งน้อยก็เรียกว่าวิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่งก็เรียกว่าวิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงก็เรียกว่าวิปัสสนาถึงที่สุด เรื่องวิปัสสนานี้อาตมาเรียกปัญญาการไปทำวิปัสสนาจะทำเอาเดี๋ยวนั้นๆ ทำได้ยาก มันต้องเดินมาจากความสงบ เรื่องมันเป็นเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเราจะไปบังคับ
หลวงพ่อชา สุภัทโท

http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

ปัญญามาก่อนศีลสมาธิ

null

การรักษาศีลปัญญาต้องมาก่อน แต่เราพูดว่ารักษาศีลก่อนตั้งศีลก่อนศีลจะสมบูรณ์ อย่างไรนั้นจะต้องมีปัญญา ต้องค้นคิดกายของเรา วาจาของเราพิจารณาหาเหตุผล นี่ตัวปัญญาทั้งนั้น ก่อนที่จะตั้งศีลขึ้นได้ต้องอาศัยปัญญา

เมื่อพูดตามปริยัติก็ว่า ศีลสมาธิปัญญา อาตมาพิจารณาแล้วการปฏิบัตินี้ต้องปัญญามาก่อน มารู้เรื่องกายวาจาว่าโทษของมันเกิดขึ้นมาอย่างไร ปัญญานี้ต้องพิจารณาหาเหตุผลควบคุมกายวาจาจึงจะบริสุทธิ์ได้ ถ้ารู้จักอาการของกายวาจาที่สุจริตทุจริตแล้วก็เห็นที่ปฏิบัติ ถ้าเห็นที่จะปฏิบัติแล้วก็ละสิ่งที่ชั่ว ประพฤติสิ่งที่ดี ละสิ่งที่ผิดประพฤติ สิ่งที่ถูกเป็นศีลถ้ามันละผิดให้ถูกแล้วใจก็แน่วแน่เข้าไป อาการที่ใจแน่วแน่มั่นคงมิได้ลังเลสงสัยในกายวาจาของเรานี้เป็นสมาธิความตั้งใจมั่นแล้ว เมื่อตั้งใจมั่นแล้ว รูปเกิดขึ้นมา เสียงเกิดขึ้นมาพิจารณามันแล้ว นี่เป็นกำลังตอนที่สองเมื่อรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณหรือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์เกิดขึ้นมาบ่อยๆ ได้พิจารณาบ่อยๆ ด้วยอาการที่เราตั้งใจมิได้เผลอ จึงรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ มันเกิดตามความเป็นจริงของมัน เมื่อรู้เรื่อยๆ ไปก็เกิดปัญญา เมื่อรู้ตามความเป็นจริงตามสภาวะของมัน สัญญาจะหลุดเลยกลายเป็นตัวปัญญา จึงเป็นศีลสมาธิปัญญาคงรวมเป็นอันเดียวกัน

ถ้าปัญญากล้าขึ้นก็อบรมสมาธิให้มั่นขึ้นไป เมื่อสมาธิมั่นขึ้นไปศีลก็มั่นก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อศีลสมบูรณ์ขึ้นสมาธิก็กล้าขึ้นอีก เมื่อสมาธิกล้าขึ้นปัญญาก็กล้ายิ่งขึ้น สามอย่างนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน สมกับพระศาสดาตรัสว่ามรรคเป็นหนทาง เมื่อสามอย่างนี้กล้าขึ้นมาเป็นมรรค ศีลก็ยิ่งสมาธิก็ยิ่งปัญญาก็ยิ่งมรรคนี้จะฆ่ากิเลส โลภเกิดขึ้น โกรธเกิดขึ้น หลงเกิดขึ้น มีมรรคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ฆ่าได้

ข้อปฏิบัติอริยสัจจ์คือ ที่ท่านว่าทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคนั้นคือศีลสมาธิปัญญา คือข้อปฏิบัติอยู่ในใจ คำว่าศีลสมาธิปัญญาที่เป็นอยู่นี้ที่นับมือให้ดูนี้มิใช่ว่ามันอยู่ที่มือ มันอยู่ที่จิตอย่างนั้นต่างหาก

ทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญาเป็นอยู่อย่างนั้น มันหมุนอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา อาศัยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ อะไรเกิดขึ้นมามรรคนี้จะครอบงำอยู่เสมอ ถ้ามรรคไม่กล้ากิเลสก็ครอบได้ ถ้ามรรคกล้ามรรคก็ฆ่ากิเลส ถ้ากิเลสกล้ามรรคอ่อน กิเลสก็ฆ่ามรรคฆ่าใจเรานี่เอง ถ้ารูปเวทนาสัญญาสังขารเกิดขึ้นมาในใจเรา ไม่รู้เท่ามันมันก็ฆ่าเรา มรรคกับกิเลสเดินเคียงกันไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติคือใจจำเป็นจะต้องเถียงกันไปอย่างนี้ตลอดทาง คล้ายมีคนสองคนเถียงกัน แท้จริงเป็นมรรคกับกิเลสเท่านั้นเองที่เถียงกันอยู่ในใจของเรา มรรคมาคุมเราให้พิจารณากล้าขึ้น เมื่อเราพิจารณาได้ กิเลสก็แพ้ เราเมื่อมันแข็งมาอีกถ้าเราอ่อนมรรคก็หายไป กิเลสเกิดขึ้นแทน ย่อมต่อสู้กันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะมีฝ่ายชนะจึงจะจบเรื่องได้ ถ้าพยายามตรงมรรคมันก็ฆ่ากิเลสอยู่เรื่อยไป ผลที่สุดทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคก็อยู่ในใจอย่างนี้ นั่นแหละคือเราได้ปฏิบัติอริยสัจจ์

ทุกข์เกิดขึ้นมาด้วยวิธีใด ทุกข์ก็เกิดมาจากเหตุคือสมุทัยเป็นเหตุ”เหตุอะไร” เหตุคือศีลสมาธิปัญญานี้อ่อน มรรคก็อ่อน เมื่อมรรคอ่อนกิเลสก็เข้าครอบได้ เมื่อครอบได้ก็เป็นตัวสมุทัยทุกข์ ก็เกิดขึ้นมา ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วตัวที่จะดับสิ่งเหล่านี้ก็หายไป หมดอาการที่ทำมรรคให้เกิดขึ้นคือ ศีลสมาธิปัญญา เมื่อศีลยิ่งสมาธิยิ่งปัญญายิ่งนั่นก็คือมรรคเดินอยู่เสมอ มันจะทำลายตัวสมุทัยคือเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ระหว่างที่ทุกข์เกิดไม่ได้เพราะมรรคฆ่ากิเลสอยู่นี้ ในระหว่างกลางนี้ตรงจิตที่ดับทุกข์ ทำไมจึงดับทุกข์ได้เพราะศีลสมาธิปัญญายิ่ง คือมรรคนี้ไม่หยุด อาตมาว่าปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องจิตเรื่องเจตสิกไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน มันมารวมอยู่นี่ ถ้าจิตพ้นสิ่งเหล่านี้ก็แน่แล้วมันจะไปทางไหนไม่ต้องไปไล่มันมาก

ต้นกะบกต้นนี้ใบเป็นอย่างไรหยิบมาดู ใบเดียวเท่านั้นก็เข้าใจได้แล้ว มันมีสักหมื่นใบก็ช่างมัน ใบกะบกเป็นอย่างนี้ ดูใบเดียวเท่านี้ใบอื่นก็เหมือนกันหมด ถ้าจะดูลำต้นกะบกต้นอื่นดูต้นเดียวก็จะรู้ได้หมด ดูต้นเดียวเท่านั้นต้นอื่นก็เหมือนกันอีกเช่นกัน ถึงมันจะมีแสนต้นก็ตาม อาตมาดูเข้าใจต้นเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว อาตมาคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้

ศีลก็ดีสมาธิก็ดีปัญญาก็ดีสิ่งทั้งสามประการนี้ท่านเรียกว่ามรรค อันมรรคนี้ยังมิใช่ศาสนา อีกซ้ำยังไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาต้องการอย่างแท้จริงเลย แต่ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไป เหมือนกับที่ท่านมหามาจากกรุงเทพฯ จะมาวัดหนองป่าพง ท่านมหาคงไม่ต้องการหนทาง ต้องการถึงวัดต่างหาก แต่หนทางเป็นสิ่งจำเป็นแก่ท่านมหาที่จะต้องมา ฉะนั้น ถนนที่ท่านมหามานั้นมันไม่ใช่วัด มันเป็นเพียงถนนมาวัดเท่านั้น แต่ก็จำเป็นต้องมาตามถนนจึงจะมาถึงวัดได้

ศีลก็ดีสมาธิก็ดีปัญญาก็ดี ถ้าจะพูดว่านอกศาสนาแต่ก็เป็นถนนเข้าไปถึงศาสนา เมื่อทำศีลให้ยิ่งสมาธิให้ยิ่งปัญญาให้ยิ่งแล้ว ผลคือความสงบเกิดขึ้นมา นั่นเป็นจุดที่ต้องการ เมื่อสงบแล้วถึงได้ยินเสียงก็ไม่มีอะไร เมื่อถึงความสงบอันนี้แล้วก็ไม่มีอะไรจะทำ ฉะนั้นพระศาสดาจึงให้ละ จะเป็นอะไรก็ไม่ต้องกังวลอันนี้เป็นปัจจัตตังแล้วจริงๆ มิได้เชื่อใครอีก หลักของพระพุทธศาสนาจึงมิได้มีอะไร ไม่มีฤทธิ์ไม่มีปาฏิหาริย์อย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวง สิ่งเหล่านี้พระศาสดามิได้สรรเสริญแต่มันก็อาจทำได้เป็นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นโมหธรรม พระศาสดาไม่สรรเสริญ ท่านสรรเสริญผู้ที่ทำให้พ้นจากทุกข์ได้เท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องปฏิบัตินั้นได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญาจะต้องฝึกหัดอย่างนี้

อันนี้คือทางดำเนินเข้าไป ก่อนจะถึงได้ต้องมีปัญญามาก่อน นี้เป็นมรรค มรรคมีองค์แปดประการรวมแล้วได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ากิเลสหุ้มขึ้นมาก็เกิดไม่ได้ ถ้ามรรคกล้าก็ฆ่ากิเลส ถ้ากิเลสกล้าก็ฆ่ามรรค สองอย่างเท่านี้ที่จะต่อสู้กันไปตลอดจนปลายทางทีเดียว รบกันไปเรื่อยไม่มีหยุดไม่มีสิ้นสุด

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

ทำสมาธิด้วยการปล่อยวาง อย่าทำด้วยความอยาก

null

การกระทำความเพียรก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่าอย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่เดินอยู่นั่งอยู่นอนอยู่ทุกประการ ท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าวซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหละ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อนการประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น สมมุติวิมุตติมันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าวมันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งหมดนั่นแหละ เขาจะหาว่าเราทานเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่เช่นนี้เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้เป็นปัญญาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดีไม่มีช้าไม่มีเร็วเร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทางช้าก็ไม่ได้มันไม่ใช่ทางมันก็ไปในแบบเดียวกัน

แต่ว่าพวกเราทุกๆคนมันร้อนเหมือนกันนะ มันร้อนพอทำปุ๊บก็อยากให้มันไปไวๆ ไม่อยากจะอยู่ช้าอยากจะไปหน้า การกำหนดตั้งใจหาสมาธินี้ บางคนจึงตั้งใจเกินไป บางคนถึงกับอธิษฐานเลยจุดธูปปักลงไปกราบลงไป “ถ้าธูปดอกนี้ไม่หมดข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่นั่งเป็นอันขาดมันจะล้มมันจะตายมันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันจะตายอยู่ที่นี้แหละ” พออธิษฐานตั้งใจปุ๊บก็นั่ง มันก็เข้ามารุมเลยพญามารนั่งแพล๊บเดียวเท่านั้นละ ก็นึกว่าธูปมันคงจะหมดแล้วเลยลืมตาขึ้นดูสักหน่อย โอ้โฮยังเหลือเยอะ กัดฟันเข้าไปอีกมันร้อนมันรนมันวุ่นมันวาย ไม่รู้ว่าอะไรอีกเต็มที แล้วนึกว่ามันจะหมดลืมตาดูอีก โอ้โฮยังไม่ถึงครึ่งเลยสองทอดสามทอดก็ไม่หมด เลยเลิกเสียเลิกไม่ทำ นั่งคิดอาภัพอับจน แหมตัวเองมันโง่เหลือเกิน มันอาภัพมันอย่างโน้นอย่างนี้ นั่งเป็นทุกข์ว่าตัวเองเป็นคนไม่จริง คนอัปรีย์ คนจัญไร คนอะไรต่ออะไรวุ่นวาย ก็เลยเกิดเป็นนิวรณ์นี่ก็เรียกว่าความพยาบาทเกิด ไม่พยาบาทคนอื่นก็พยาบาทตัวเอง อันนี้ก็เพราะอะไรเพราะความอยาก

ความเป็นจริงนั้นนะ ไม่ต้องไปทำถึงขนาดนั้นหรอก ความตั้งใจนะคือตั้งใจในการปล่อยวาง ไม่ต้องตั้งใจในการผูกมัดอย่างนั้น อันนี้เราไปอ่านตำรา เห็นประวัติพระพุทธเจ้าว่า ท่านนั่งลงที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ท่านอธิษฐานจิตลงไปว่า “ไม่ตรัสรู้ตรงนี้จะไม่ลุกหนีเสียแล้วแม้ว่าเลือดมันจะไหลออกมาอะไรก็ตามทีเถอะ” ได้ยินคำนี้เพราะไปอ่านดู แหมเราก็จะเอาอย่างนั้นเหมือนกัน จะเอาอย่างพระพุทธเจ้าเหมือนกัน นี่ไม่รู้เรื่องว่ารถของเรามันเป็นรถเล็กๆ รถของท่านมันเป็นรถใหญ่ ท่านบรรทุกทีเดียวก็หมด เราเอารถเล็กไปบรรทุกทีเดียวมันจะหมดเมื่อไหร่ มันคนละอย่างกันเพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนั้น มันเกินไป บางทีมันก็ต่ำเกินไป บางทีมันก็สูงเกินไปที่พอดีๆ มันหายาก

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

จุดหมายของการสวดมนต์-ท่องมนต์

null

เรื่องธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เป็นอะไร เหมือนกันกับโรคในร่างกายเรานี้ เป็นเจ็บ เป็นไข้ เป็นหวัดเป็นไอ เป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็น ในร่างกายของเรา ความเป็นจริงคนเราก็หวงแหนกายของเราจนเกินขอบเขตเหมือนกัน ก่อนที่มันจะหวงแหนก็เนื่องจากความเห็นผิด มันจึงปล่อยไม่ได้ อย่างศาลาเราอยู่เดี๋ยวนี้เราสร้างมันขึ้นเป็นศาลาของเรา จิ้งเหลนมันก็มาอยู่ จิ้กจกมันก็มาอยู่หนูมันก็มาอยู่ เราก็เบียดเบียนแต่มัน เพราะเราเห็นว่าศาลาของเราไม่ใช่ของจิ้งเหลนจิ้งจก เลยเบียดเบียนมัน เหมือนกันกับโรคในร่างกายเราที่เป็นอยู่ ร่างกายเราถือว่าเป็นบ้านเป็นของของเรา ถ้าจะมาเจ็บหัวปวดท้องนิดหนึ่งก็ทุรนทุราย ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นทุกข์ ขาก็ขาของเราไม่อยากให้มันเจ็บ แขนก็แขนของเราไม่อยากให้มันเจ็บ หัวนี่ก็หัวของเรา ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นอะไรเลย ที่นี่ รักษามันให้ได้ หลงไป หลงจากความจริงมา เราก็จรเข้ามาอยู่กับสังขาร นี้ก็เหมือนกัน ศาลานี้ไม่ใช่ศาลาของเราตามความจริงนะ เราก็เป็นเจ้าของชั่วคราว หนูมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวจิ้งเหลนมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราว จิ้งจกมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวเท่านั้นแต่มันไม่รู้จักกัน

ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่นี้ เราก็มายึดสังขารก้อนนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาแน่นอนเข้าไป ทีนี้สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่อยากให้เปลี่ยนบอกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ บอกจริงๆก็ยิ่งหลงจริงๆอันนี้ไม่ใช่ตัว ว่าอย่างนั้น ก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่รู้เรื่อง เรามาภาวนาให้มันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นคนโดยมากไม่เห็นตัวตน ผู้ที่เห็นตัวตนจริงๆก็คือผู้ที่เห็นว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน คือเห็นตนตามธรรมชาติ ผู้ที่เห็นตัวด้วยอุปาทานนี้ว่า นี่เป็นตัวเป็นตน ผู้นั้นไม่เห็น มันก้าวก่ายอยู่อย่างนี้นะ จะทำอย่างไร มันไม่เห็นง่ายๆก้อนนี้ อุปาทานมันยึดไว้

ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญา ให้เห็นด้วยปัญญา คือพิจารณาสังขารว่า มันจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น อาศัยปัญญารู้ตามเป็นจริงของสังขารเรียกว่าตัวปัญญา ถ้ารู้ไม่ตามเป็นจริงของสังขารนั้นก็ไปแย้งกัน ไปขัดกัน สังขารนี้มันสมควรที่จะปล่อยไปแล้ว ก็ยังจะไปกางไปกั้นมันไว้ ไปร้องขอให้เป็นอยู่อย่างนั้น หาสิ่งของสารพัดอย่างมาแก้มัน มาไถ่ถอนเอาสารพัด ถ้ามันเจ็บมันไข้แล้วไม่อยากไป จึงค้นหาสูตรอะไรต่างๆพากันมาสวด สูตร โพชฌังโค ธัมมจักร อนัตตลักขณสูตร ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นพากันกั้นพากันห้าม ก็เลยเป็นพิธีรีตองไป ยึดมั่นถือมั่นยิ่งไปกันใหญ่โดยบทสวดต่างๆ คือสวดให้มันหายโรค เอามาสวดต่ออายุกัน เอามาสวดให้มันยืนยาว สารพัดอย่าง

ความเป็นจริงท่านให้สวดเพื่อเห็นชัด แต่เรามาสวดให้หลงรูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง…บทที่สวดนั้นไม่ใช่สวดให้เราหลงนะ สวดให้เรารู้เรื่องตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น จะได้ปล่อยจะได้วาง จะได้ไม่เสียใจ จะได้ทอดอาลัย อันนั้นมันจะสั้น แต่เรามาสวดให้มันยาวออก ถ้ามันยาวอยากจะให้มันสั้น บังคับธรรมชาติให้มันเป็นไป หลงกันหมด ที่มาทำกันในศาลานั้นก็มาหลงกันหมดทุกคน คนที่สวดก็หลง คนที่นอนฟังอยู่ก็หลง ใครที่ไหนก็หลงทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ คิดอย่างนั้น จะปฏิบัติที่ไหนกัน จึงปฏิบัติให้มันหลงไปแก้ความจริงในเรื่องนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นว่ามันไม่มีอะไรเกิดมาแล้วต้องมีโรคอย่างนี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ดี อริยสาวกของท่านก็ดี มีเจ็บมีไข้เป็นธรรมดา ท่านก็รักษาฉันยาเป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ มันเป็นเรื่องแก้ธาตุ แต่ความเป็นจริงท่านไม่ได้ถือมั่นถือลางถือขลัง ยึดมั่นจนเกินไป หรอก ท่านก็รักษามันด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่รักษาด้วยความหลง มันหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย เป็นอย่างนั้น

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ว่าด้วยข้อที่พึงหวังได้ ๑๗ อย่าง
[๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นมีศีลอันสมบูรณ์ มีปาติโมกข์อันสมบูรณ์ อยู่เถิดจงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.

[๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ขอเราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และเป็นผู้ควรยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายเถิดดังนี้ ภิกษุนั้น พึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ขอเราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเถิด ดังนี้ ภิกษุนั้น พึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเทวดาหรือมนุษย์เหล่าใด สักการะเหล่านั้นของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นพึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ญาติและสาโลหิตของเราเหล่าใด ล่วงลับทำกาละไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงอยู่ ความระลึกถึงด้วยจิตอันเลื่อมใส ของญาติและสาโลหิตเหล่านั้น พึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่เถิด ดังนี้ภิกษุนั้นพึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีลหมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ข่มความไม่ยินดีและความยินดีได้ อนึ่ง ความไม่ยินดีอย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำย่ำยี ความไม่ยินดีอันเกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้ อนึ่ง ความกลัวและความขลาด อย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำ ย่ำยี ความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเกิดขึ้นเพราะจิตยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนาพึงได้ไม่ยาก ไม่ลำบากเถิดดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงถูกต้องด้วยกายซึ่งวิโมกข์อันก้าวล่วงรูปาวจรฌานแล้ว เป็นธรรมไม่มีรูปสงบระงับอยู่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนาพอกพูนสุญญาคาร.

[๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นโสดาบันเพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ พึงเป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันตรัสรู้เป็นเบื้องหน้าเถิด ดังนี้ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ [และ] เพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นสภาพเบาบาง พึงมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วพึงทำที่สุดทุกข์ได้เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นอุปปาติกสัตว์ เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดาเถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร

[๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวพึงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนพึงเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ พึงผุดขึ้น ดำลง แม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ พึงเดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่างประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ๑

[๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงได้ยินเสียงทั้ง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์เถิด ดังนี้ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตนไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะจิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้นเถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร

[๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ พึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ
พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาถึงเข้าอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลัง
อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้เถิด ดังนี้ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่เถิดดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตนไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร. คำใด ที่เรากล่าวแล้วว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันถึงพร้อม มีปาติโมกข์อันถึงพร้อมแล้วอยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดังนี้ คำนั้น อันเราอาศัยอำนาจประโยชน์นี้จึงได้กล่าวแล้ว ฉะนี้แล.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๔๗/๔๓๐ ข้อที่ ๗๓-๙๐