Monthly Archives: สิงหาคม 2013

หลักปฏิบัติในการเจริญอานาปานสติภาวนา โดยท่านพุทธทาสภิกขุ

ทีนี้ อยากจะทบทวนความเข้าใจ ด้วยตัวอย่างที่เกี่ยวกับอานาปาสติบ้าง โดยหลักที่กล่าวมาแล้ว ๘ อย่างนั้นแหละ ซึ่งกล่าวไว้เป็นหลักกว้างๆ ว่า จะใช้อะไรเป็นอารมณ์ก็ได้ ใช้กสิณก็ได้ ใช้อสุภะ ศพนอนอยู่ก็ได้ หรือใช้ลมหายใจก็ได้ เดี๋ยวนี้อยากจะแนะว่า การใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์นั้น เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ ท่านแนะว่า อานาปานสตินี้มีประโยชน์ มีอานิสงส์ เพราะไม่หยาบ ประณีต ไม่น่ากลัว ไม่โกลาหลวุ่นวาย สะดวกที่ว่าเราจะไปนั่งทำที่ตรงไหนก็ได้ จึงเสนอแนะอานาปานสติ ถ้าจะใช้กสิณใช้สนุกนี้มันลำบาก ยุ่งยาก น่ากลัวไม่สะดวก จะไปตรงไหนก็ต้องเอากสิณไป หรือไปที่ป่าช้าจึงจะทำได้ อย่างนี้เป็นต้น ลมหายใจนั้นอยู่กับเราตลอดเวลา เราไปนั่งตรงไหนทำตรงไหนก็ได้ ท่านจึงแนะให้ใช้ลมหายใจ เกี่ยวกับลมหายใจนี่ เอาลมหายใจนั้นเองเป็นนิมิต รูปธรรมดาตามธรรมดานี่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทีนี้ เราจะต้องรู้จักลมหายใจนี้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ไม่ใช่สักแต่ว่าลมหายใจ ถ้าเราจะรู้จักลมหายใจดี เราก็ต้องมีการหายใจดู คือมีการหายใจในความรู้สึกที่ควบคุม หรือศึกษามันอยู่ สังเกตมันอยู่

ขั้นที่ ๑ ลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ขั้นที่ ๒ ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร นี้ก็ยังต้องศึกษากันนาน คือให้รู้ว่าลมหายใจสั้นมีอิทธิพลแก่ร่างกายอย่างไร ลมหายใจยาวมีอิทธิพลแก่ร่างกายอย่างไร ขั้นที่ ๓ ด้วยเหตุที่ว่า ลมหายใจนั้นเป็นของที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย ไปด้วยกันมาด้วยกันอะไรอย่างนี้ ฉะนั้น ในบาลีจึงเรียกลมหายใจนั่นแหละว่าเป็นกาย ฟังดูให้ดี เรียก ลมหายใจนั่นแหละว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง เพราะมันเนื่องกันอยู่กับกายนี้ กายเนื้อกายหนังนี้ ถ้าลมหายใจละเอียด กายเนื้อกายหนังนี้มันก็ละเอียด คือสงบรำงับ ถ้าลมหายใจหยาบ ร่ายกายเนื้อหนังนี้มันก็หยาบ หรือว่าถ้าเมื่อร่างกายมันหยาบ เช่นว่าเหนื่อยเป็นต้น ลมหายใจก็หยาบ เมื่อร่างกายสบายดี ลมหายใจก็พลอยละเอียด นี้เป็นของเนื่องกันจนถึงกับไปด้วยกันมาด้วยกันจนถือว่าเป็นอันเดียวกัน ที่ว่าให้ศึกษาลมหายใจสั้นและยาว นี้ก็เพื่อให้รู้ข้อนี้ ให้รู้ว่ามันเนื่องกันอยู่กับร่างกายอย่างนี้ เมื่อลมหายใจมีลักษณะอย่างนี้ มีปกติภาวะตามธรรมชาติอย่างนี้ มีอิทธิพลต่อร่างกายเนื้อหนังอย่างนี้ นี้ก็หัดนั่งดูอย่างนี้กันไปก่อนในตอนต้นๆ ให้รู้จักลมหายใจยาว รู้จักลมหายใจสั้น รู้จักความที่ลมหายใจเป็นของปรุงแต่งร่างกาย ขั้นที่ ๔ ก็มาถึงบทที่ว่า จะฝึการควบคุมลมหายใจให้ละเอียด เพื่อว่าเราจะได้มีร่างกายอันละเอียด และเราจะควบคุมลมหายใจให้สงบ เพื่อว่าเราจะได้มีร่างกายอันสงบ ฉะนั้น เราจะควบคุมลมหายใจนี้อย่างไร ก็คือระเบียบปฏิบิติที่เรียกว่าอานาปานสิตนี้เอง ลมหายใจหยาบบังคับให้ละเอียดได้อย่างไร ลมหายใจยาวบังคับบังคับให้สั้นได้อย่างไร ฝึกฝนอยู่แต่อย่างนี้จนบังคับได้

เคล็ด ของการปฏิบัติก็คือว่า เมื่อกำหนดลมหายใจขั้นแรก ก็กำหนดลมหายใจเหมือนกับวิ่งตามลมหายใจ หายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตาม จิตในนามว่าสตินี้ก็วิ่งตาม ลาหายใจออกมาสุดแค่ไหน หายใจเข้ามาสุดแค่ไหน หายใจออกมาสุดแค่ไหน หายใจเข้ามาสุดแค่ไหน ทำหน้าที่เหมือนวิ่งตามอยู่ตลอดเวลา เราสมมติว่า มันหยุดแค่ไหนเมื่อหายใจเข้า มันหยุดแค่ไหนเมื่อหายใจออก เราสมมติ เอาที่ปลายจมูกก็ได้ ที่สะดือก็ได้ ระหว่างที่ความรู้สึกวิ่งไปวิ่งมาอยู่ ตามลมหายใจอยู่ อย่าให้มีเวลาว่าง อย่าให้ระยะขาดตอน ครั้งแรกต้องหัดถึงอย่างนี้ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็หมายความว่า เราชนะมานิดหนึ่งแล้ว ชนะขึ้นมาขั้นหนึ่งแล้ว คือบังคับจิตไว้ว่า จงวิ่งตามลมหายใจอย่างเดียว บทเรียนทำยากขึ้นไปอีก ก็คือไม่ต้องวิ่งตาม เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง คือที่จุดจะงอยจมูก อย่าหนีไปไหนแล้วกัน ให้เฝ้าดูอยู่แต่ตรงที่ช่องจมูก เมื่อลมหายใจผ่านที่ตรงนี้ ให้รู้สึกให้เต็มที่ก็แล้วกัน เมื่อมันเข้าเลยไปในท้องแล้วหยุดอยู่แล้วก็ช่างมัน ไม่ต้องไปยุ่ง หรือมันออกพ้นจากจมูกไปแล้ว ก็อย่าไปยุ่งไปสนใจกับมัน สนใจแต่เมื่อมันกระทบที่จมูก ตรงนี้จะเกิดระยะที่ว่าง คือว่างการควบคุม หรือควบคุมยากขึ้นมาบ้าง เพราะเราคอยกำหนดแต่ที่ตรงสุดของปลายจมูก แต่ทีนี้เนื่องจากเราเคยบังคับได้ดี ตั้งแต่ระยะวิ่งตามๆ นั่นแหละ บังคับได้ดี ทำได้ดี พอมาถึงตอนนี้ยังมีผลอยู่ คือ เราคอยบังคับแต่ตรงช่องจมูกก็ยังทำได้ ไม่หนีไปไหนเสีย ในขณะที่มันเลยช่องจมูกเข้าไปข้างใน หรือออกมาข้างนอก นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า เราบังคับจิตได้เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง

ทีนี้ เราก็มีจุดตรงที่มันกระทบ ตรงที่ช่องจมูกนั้นเป็นหลัก ตรงนั้นเรียกว่าอารมณ์ หรือนิมิต ในการบริกรรมที่สมบูรณ์แล้ว รู้สึกลมที่กระทบอยู่ที่ตรงนั้นอยู่เป็นประจำนี้ เรียกว่าบริกรรม ทีนี้ ก็เปลี่ยนจุดนั้นให้เป็นมโนภาพแทนที่จะกำหนดเป็นตัวลม ก็กำหนดให้มีความรู้สึกเหมือนกันว่า ดวง หรืออะไรก็ตามใจ มีอยู่ก้อนหนึ่งที่นั่น บางทีก็เป็นดวงขาว บางทีเป็นดวงแดง ไม่เหมือนกันทุกคน บางทีก็เป็นเหมือนดวงอาทิตย์มาอยู่ที่นั่น ดวงจันทร์อยู่ที่นั่น บางคนก็เหมือนกับใยแมงมุมกลางแสงแดดปรากฏอยู่ที่ตรงนั้น จะเป็นอะไรก็ช่างมันอย่าไปฝืนมัน สิ่งอะไรปรากฏขี้น ก็จงถือเอาสิ่งนั้นเป็นอุคคหนิมิต คือนิมิตในมโนภาพที่สร้างขึ้นมาสำเร็จแล้วที่ตรงจุดนั้น เราไม่สนใจกับลมหายใจตัวจริงอีกต่อไป มาสนใจกับมโนภาพที่สร้างขึ้นมาโดยตัวมันเอง ให้เป็นของนิ่งแน่วแน่อยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นดวงขาว ก็ให้ขาวอยู่อย่างนั้น เขียวก็ให้เขียวอยู่อย่างนั้น เป็นใยแมงมุมก็เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นปุยฝ้ายก็เป็นอยู่อย่างนั้น อย่าเพ่อไปเปลี่ยนแปลงมัน คือจะต้องทำอย่างนั้นจนชำนาญได้เท่าไรก็ได้ นานเท่าไหรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ แล้วจึงค่อยเลื่อนบทเรียน

พอชำนาญแล้วน้อมจิตไปเพื่อจะบังคับให้มันเปลี่ยน เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนสี เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนเป็นทุกอย่างที่ต้องการให้เปลี่ยน นี้เรียกว่าเปลี่ยนอุคคหนิมิตให้กลายเป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อทำได้อย่างนี้ก็พิสูจน์อยู่ในตัวแล้วว่า อ้าว เราบังคับจิตเพื่มขึ้นมาได้อีกนิดหนึ่ง บังคับได้ตามต้องการ แล้วแต่จะชอบ นิมิตที่ปรากฏนี้ บางทีบางสมัย บางฤดูกาล มันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แต่เรายอมรับเอา เพราะไม่ใช่ของจริงอะไร เป็นเพียงนิมิตสำหรับฝึกหัด เมื่อบังคับให้เปลี่ยนแปลงได้ เป็นปฏิภาคนิมิตคล่องแคล่วชำนาญแล้ว มันบอกอยู่ในตัวแล้วว่า บังคับจิตได้ถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้น เราสามาถที่จะบังคับความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน เช่น วิตก วิจาร ปิดิ สุข เอกัคคตา ให้ค่อยๆ เกิดขึ้นมาให้ชัดเจนที่ละองค์ ๒ องค์ จนเต็มเปี่ยมครบทั้ง ๕ องค์ นี้ ก็มีการบรรลุปฐมฌานอย่างที่ว่ามาข้างต้น แล้วก็ทำให้ประณีตเข้า ให้เหลือน้อยองค์เข้า เป็นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไปตามลำดับ แล้วฝึกให้ชำนาญ จนกว่าจะหยุดอยู่ในสภาวะอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง ได้นานเป็นสมาบัติ อย่างนี้ก็ได้ นี่ตัวอย่างเกี่ยวกับการฝึกอานาปานสิต โดยหลักที่แท้จริง ที่เป็นชั้นหัวใจก็มีเพียงเท่านี้ รายละเอียดปัญหาปลีกย่อยยังมีอีก แต่ไม่สำคัญอะไร ถ้าทำถูกหลักอย่างนี้แล้วก็ต้องเป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ทั้งหมดนี้เรียกว่า วิธีเจริญสมาธิที่เป็นใจความสำคัญของเรื่อง

ทบทวน อีกที่หนึ่งว่า สมาธิประเภทที่ไม่ต้องการฌาน ไม่ต้องการอัปปนาสมาธินั้น มันสักแต่ว่าทำความรู้สึกคิดนึก เช่นเจริญเมตตานุสสติ พุทธานุสสติ นึกถึงความตาย นึกถึงอะไรก็ตามใจ เพื่อชักจูงเกลี้ยกล่อมจิตให้เป็นไปในทางดี หรือว่าจะใช้เป็นเครื่องระงับอารมณ์ร้ายให้เป็นอารมณ์ดี ระงับอารมณ์ร้อนให้กลายเป็นอารมณ์เย็น หรือเพื่ออธิษฐานจิตของตัว เพื่อให้แน่วแน่ไปแต่ในทางใดทางหนึ่งที่ต้องการ อย่างนี้ไม่ต้องการสมาธิต้องการฌานอะไรมากมาย แต่ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าสมาธิประเภทหนึ่ง ส่วนสมาธิประเภทที่ต้องการฌาน ต้องการอัปปนา ก็ต้องทำอย่างที่ว่า นับตั้งแต่เอาอะไรมาเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนอารมณ์ธรรมชาติเป็นอารมณ์ในมโนภาพ แล้วเปลี่ยนอารมณ์ในมโนภาพให้เปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการ แล้วถือโอกาสหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานขึ้นมาในขณะนั้น พอองค์ฌานครบถ้วนก็เป็นอัปปนา ได้บรรลุฌานใดฌานหนึ่ง เช่น ปฐมฌานเป็นต้น จนกระทั่งถึงฌานที่สูงขึ้นไป ด้วยการปลดอารมณืที่เป็นองค์ฌานนั้นทิ้งออกไป ๆ แล้วก็ชำนาญจนหยุดอยู่ในฌานไหน นานเท่าใดก็ได้ เรียกว่าสมาบัติ

คําบรรยายประจําวันเสาร ในสวนโมกขพลาราม วันเสารที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔ พุทธทาสภิกขุ

สมาธิที่เป็นฌานและสมาธิที่ไม่เป็นฌาน

ต่อไปก็อยากจะพูดถึง วิธีเจริญสมาธิ กันบ้างเท่าที่มีเวลา เราจะพูดกันได้แต่ใจความสำคัญ คำว่าใจความสำคัญในที่นี้ จะพูดถึงแต่ใจความที่สำคัญจริงๆ ด้วย ขอให้ตั้งใจ กำหนดให้ดี

ได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า สมาธิมี ๒ พวก คือพวกที่ให้ถึงฌานถึงอัปปนานั้นพวกหนึ่ง พวกสมาธิที่ไปไม่รอดจนถึงฌานหรืออปัปนานั้นอีกพวกหนึ่ง สำหรับการปฏิบัติ หรือ วิธีเจริญสมาธิประเภทที่ไม่ถึงฌาน ไม่ถึงอัปปนานี้ไม่ยาก ทำไปตามความรู้สึกสามัญสำนึกก็ทำได้เหมือนกัน แต่ว่าตั้งใจให้แรงสักหน่อย เช่น เจริญเมตตา เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ ที่เป็นแต่เพียงทำความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ในใจ มีลักษณะอาการพอที่จะสังเกตได้อย่างนี้

๑. เพื่อชักจูงเกลี้ยกล่อมจิตใจของเรา จูงใจเราโดยตัวเราเอง เช่นเราเจริญเมตตาหนักเข้าๆๆ มันก็จูงใจเราให้เป็นคนเมตตา หรือจูงให้ไปรักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็นการจูงใจตัวเองให้ไปแต่ในทางสบายหรือสงบเย็นอยู่เรื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเจริญเมตตา โดยตั้งความปรารถนา “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข อย่าได้เบียดเบียนแก่กันและกันเลย” นี้ไม่ต้องถึงกับเป็นฌานเป็นอัปปนาอะไร มันมีความรู้สึกอยู่เต็มที่ แต่ความรู้สึกนั้นถูกบรรจุเข้าไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเมตตา

๒. เป็นการพิจารณาพอที่จะ เป็นทางเปลี่ยนอารมณ์ร้าย เช่นว่าเราโมโหโทโส กลัดกลุ้มอยู่อย่างนี้ พอมาลงมือเจริญเมตตาภาวนา หรือเจริญพุทธานุสติ อะไรเหล่านั้นมันก็เปลี่ยนอารมณ์ร้ายกลัดกลุ้มนั้นให้สงบเย็น เป็นอารมณ์ที่ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้เขาไม่ต้องการฌานไม่ต้องการอัปปนา ทำได้ด้วยความรู้สึกธรรมดาสามัญ

๓. เป็นการอธิฐานจิตให้แน่วแน่ไปในทางใดทางหนึ่ง เราทำซ้ำๆ กันอยู่อย่างนี้ เหมือนกับอธิฐานจิตให้มั่นคงแน่วแน่ อยู่ในทางใดทางหนึ่ง เช่นให้รักศีล ให้รักการทำทาน หรือเพื่อให้น้อมไปเพื่อจะรักพระนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น ที่เรียกว่าจาคานุสสติ สีลานุสสติ อุปสมานุสสติ ในเรื่องอนุสสติ ๑๐ นี้

นี้เป็นตัวอย่างของสมาธิประเภทที่ไม่ถึงอัปปนา มีวิธีปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็พอแล้วไม่สำคัญอะไร ไม่มีเทคนิคอะไรมากมาย ไม่เหมือนสมาธิประเภทที่ต้องการให้เป็นฌาน หรือเป็นอัปปนา ฉะนั้น เราก็พูดถึงสมาธิประเภทไม่ถึงอัปปนาเพียงเท่านี้

ต่อไปนี้จะพูดถึง สมาธิประเภทที่ต้องการให้เป็นฌาน หรือที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ก็มีหลักซึ่งจะย่อให้เหลือน้อยที่สุดเพียง ๘ ประการ เท่านั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สมาธิที่จะไปจนถึงฌานถึงอัปปนานั้น ต้องมีวัตถุที่เป็นดุ้นเป็นก้อนเป็นอะไรที่เป็นวัตถุสัมผัสได้นี้มาเป็นอารมณ์ ข้างนอก เช่นดวงกสิณสีต่างๆ ข้างใน เช่นลมหายใจ เป็นต้น

ถ้ากำหนดลมหายใจ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นตัวของมัน หรือจับมันไม่ได้แต่มันก็เป็นวัตถุธรรม ธรรมดา คือเป็นอากาศที่วิ่งไปวิ่งมาอยุ่ในช่องของการหายใจ มันจึงเป็นวัตถุธรรมไม่ใช่นามธรรม ข้างนอก เอาดวงกสิณ ดวงแดง ดวงเขียวเป็นอารมณ์ ถ้าเอาของข้างนอกเป็นอารมณ์ก็เห็นง่าย เพราะตาเพ่งอยู่ที่นั่น ถ้าเอาของข้างในเป็นอารมณ์ แม้หลับตาเสียก็รู้สึกได้ คือรู้สึกลมหายใจที่ถูไปถูมาอยู่ในช่องของการหายใจนี้

การปฏิบัติในขั้นที่ ๑ ก็คือการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของจริงตัวจริงอย่างนี้เป็นอารมณ์ ในฐานะเป็นบริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม การลงมือกระทำบริกรรมไม่ได้หมายว่าท่องด้วยปาก บริกรรมเขาหมายถึงลงมือกระทำในขั้นเริ่มแรก ท่องด้วยปากก็มี ไม่ท่องด้วยปากก็มี คนชินแต่เรื่องท่องด้วยปาก เอาคำว่าบริกรรมมาใช้เป็นการพูดการท่องพึมพำอยู่ด้วยปาก นั้นมันถูกนิดเดียว คำว่า บริกรรมหมายถึงเริ่มกระทำ ลงมือกระทำ นิมิต ในขณะที่เริ่มกระทำนี้ ก็คือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเอามาใช้เป็นอารมณ์ เหมือนที่พูดแล้ว ข้างนอกก็เช่นดวงกสิณเป็นต้น หรืออสุภที่นอนกลิ้งอยู่เป็นต้น ข้างในก็คือลมหายใจเป็นต้น มีอารมณ์ในชั้นเริ่มแรกอย่างนี้ เป็นนิมิตสำหรับกำหนด เราก็กำหนดจนนิมิตเปลี่ยนเป็นมโนภาพ

การปฏิบัติ ขั้นที่ ๒ เรียกว่า เปลี่ยนวัตถนิมิต คือนิมิตที่เป็นวัตถุนั้นให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ ที่เป็นภายนอก เช่นเมื่อเพ่งดวงกสิณ ดวงเขียว ดวงแดงเป็นอารมณ์ ลืมตาเพ่งอยู่ นี้อยู่ในขั้นที่ ๑ พอชั้นที่ ๒ หลับตาก็เห็น แม้จะหลับตาอย่างไร ก็ยังเห็นอยู่เหมือนกับลืมตา นี้เป็นชั้นที่ ๒ เรียกว่า สับเปลี่ยนวัตถุนิมิตตัวจริงนั้น ให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ จนถึงกับว่าเราหลับตาก็เห็น แต่ถ้าเป็นของภายใน เช่นลมหายใจอย่างนี้ มันทำได้ยากกว่านั้น แต่ก็ทำได้ คือตรงไหนที่ลมหายใจกระทบสม่ำเสมอเป็นประจำ ตรงนั้นสมมุติเหมือนกับมีจุดใดจุดหนึ่งในลักษณะเป็นมโนภาพเกิดขึ้น ตรงนี้จะบอกกันนิดหน่อยว่า ถ้ากำหนดลมหายใจนี้ ต้องทำอยู่หลายชั้น คือ วิ่งตามลมหายใจไปๆ มาๆ อยู่เหมือนกับวิ่งตาม อย่างนี้จนได้ที่แล้ว จึงหัดหยุดอยู่ตรงที่แห่งใดแห่งหนึ่ง คือเฝ้าดูอยู่ตรงที่ช่องจมูก ไม่วิ่งตามเข้าไปข้างใน ไม่วิ่งตามออกมาข้างนอก เฝ้าดูอยู่ที่จะงอยจมูกจุดนั้น แล้วตรงจุดนั้นแหละจะสามารถสร้างนิมิตในมโนภาพ เป็นดวงเป็นอะไรขึ้นมา แทนลมหายใจ ลมหายใจก็ยังหายใจอยู่ แต่จิตสามารถจะสร้างอะไรเป็นนิมิตในมโนภาพ ซึ่งไม่ใช่ตัวจริง ขึ้นมาได้ตรงจุดที่ลมหายใจกระทบอยู่อย่างสม่ำเสมอ นี้ก็มีผลเหมือนกันกับที่ว่า เราจะใช้ของข้างนอกเป็นนิมิต หรือใช้ของข้างในเป็นนิมิต แต่ของข้างนอกทำง่ายกว่า อย่างเพ่งหลอดไฟฟ้าอย่างนี้ เพ่งจนว่าหลับตาก็ยังเห็นหลอดไฟฟ้าเหมือนกับลืมตา อย่างนี้มโนภาพนี้มันทำได้ง่ายกว่าที่จะทำให้เกิดขึ้นมาจากการใช้ลมหายใจเป็นนิมิต เพราะเป็นของละเอียดประณีตกว่า แต่ของที่ทำยากอย่างนี้ ถ้าทำได้ก็ดีกว่า เพราะมันละเอียดประณีตกว่า แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ขั้นที่ ๒ นี้เราเรียกว่า เปลี่ยนวัตถุนิมิต เปลี่ยนนิมิตที่เป็นรูปธรรมนั่นให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ ไม่ใช่เป็นตัววัตถุ นิมิตที่สร้างเป็นมโนภาพขึ้นมาได้อย่างนี้ เรียกว่าอคคหนิมิต นิมิตตัวเดิมตัวจริงตามธรรรมชาตินั้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต ก็เรียกว่า อุคคหนิมิต

การปฏิบัติ ขั้นที่ ๓ อุคคหนิมิตที่ทำได้ดีจนชำนาญแล้วนี้ ก็จะทำบทเรียนต่อไปเป็นบที่ ๓ คือจะเปลี่ยนรูปร่างสีสันกิริยาสถานะของอุคคหนิมิตนั้นให้กลายเป็นของที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็น movement คือไหวได้อะไรได้ จะยกตัวอย่าง สมมุติว่าเพ่งกสิณดวงเขียว ดวงแดง อย่างนี้หลับตาเห็นโดยไม่ต้องดูตัวจริงที่วางอยู่ตรงหน้า หลับตาเห็นดวงนั้นได้ในมโนภาพ แล้วก็เปลี่ยนนิมิตต่างๆ ได้ ให้เคลื่อนไหวไปมาทางโน้นทางนี้ทางไหนได้ หลายๆ อย่างตามต้องการ นี้เรียกว่า เปลี่ยนอุคคหนิมิตให้กลายเป็นปฏิภาคนิมิต ตามที่จิตประสงค์ นี้เป็นเรื่องที่ฟังยาก จะเอาอันไหนมาทำ มันก็คือจิต แล้วอันไหนถูกกระทำ มันก็คือจิต เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสิ่งที่แบ่งออกไปได้เป็นหลายแง่หลายมุม อะไรบังคับจิต มันก็จิตนั้นแหละ จิตที่เรียกว่าสตินั้นแหละบังคับจิต จิตที่เป็นความรู้สึกนั่นแหละถูกบังคับ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า จิตเดี๋ยวนี้ถูกบังคับ และเป็นไปได้ตามการบังคับหลายสิ่งหลายอย่างหลายแบบ นั่นแหละคือคุณสมบัติที่เกิดขึ้นใหม่ ว่าเดี๋ยวจิตสามารถที่จะกระทำอะไรได้มากกว่าธรรมดา คือถ้าพูดถึงการบังคับจิต ก็บังคับได้หลายอย่างหลายแบบ ก็ลองเปรียบเทียบดูมาตามลำดับซิ ทีแรกมันเป็นวัตถุข้างนอก แล้วเรามาทำให้เป็นนิมิตข้างใน แต่ว่ายังหยุดนิ่งอยู่ แล้วเราก็ทำให้มันเปลี่ยนได้ทุกอย่างทุกประการ เปลี่ยนสี เปลี่ยนกิริยาอาการ เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนอะไรได้ นี่มันไกลมาเท่าไรแล้วในการบังคับจิต เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ก็หมายความว่าบังคับจิตได้พอสมควร จะทำบทเรียนที่ ๔ ต่อไปได้

การปฏิบัติ ขั้นที่ ๔ ในขณะที่มีปฏิภาคนิมิตที่เหมาะสม อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เราทำให้จิตเกิดความรู้สึกขึ้นในภายใน เป็นความรู้สึกที่เรียกว่าเป็นองค์ฌาน เช่น ปิติ เช่น ความสุข อย่างนี้ ทำให้มันปรากฏรู้สึกแก่จิตได้ หมายความว่า พร้อมกับที่ตาข้างในเห็นมโนภาพที่เป็นปฏิภาคนิมิตอยู่นั้น เราสามารถจะรู้สึกความสุข หรือความปิติ หรือวิตก วิจาร หรือเอกัคคตาอะไรแล้วแต่จะเรียกที่เป็นองค์ฌานนั้นได้ด้วย อันแรกที่จะมาก่อน ควรน้อมไปยังความรู้สึกที่เป็น ปิดิ หรือเป็น สุข มันง่ายกว่า ที่เรียกว่า วิตก วิจาร นั้น ในขณะที่นิมิตปรากฏอยู่ในตาข้างใน ไม่ใช่ตาข้างนอก ความที่จิตกำหนดอยู่ที่นิมิตนั้น เราเรียกว่า วิตก ความที่จิตรู้จักแจ่มแจ้งเข้าใจอย่างทั่วถึงในนิมิตนั้น เราเรียกว่า วิจาร เพราะความที่มันเป็นได้อย่างนั้น คือจิตมีแต่สิ่งนั้นเป็นอารมณ์เดียว นั้นเรียกว่า เอกัคคตา เราอาจจะลองทำความรู้สึกดูในอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ คือ วิตก หรือวิจาร หรือปิติ หรือสุข หรือเอกกัคคตา นี้ก็ทำได้ ในขั้นแรกไม่สามารถจะทำได้พร้อมกันทุกอย่าง ก็พยายามดึงขึ้นมาทีละอย่าง คือดึงให้เกิดขึ้นมาในความรู้สึกทีละอย่าง เช่น ปิดิก่อน แล้วสุข แล้วดูให้ดีว่ามันกำหนดอยู่ที่นิมิตนี้เอง ซึ่งเรียกว่าวิตก แล้วก็ดูอย่างทั่วถึง ก็เรียกว่า วิจาร อย่างนี้ แล้วดูความที่จิตหยุดนิ่งอยู่ในความเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า เอกัคคตา ครั้งแรกคงจะล้มลุกคลุกคลาน ล้มไปล้มมาๆ อยู่หลายครั้งหลายหน แต่แล้วมันก็จะค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนมีความรู้สึกได้พร้อมกันทั้ง ๕ อย่างเมื่อเราต้องการ

การปฏิบัติ ขั้นที่ ๕ นี้เรียกว่า ทำองค์แห่งฌานทั้ง ๕ ให้เกิดขึ้นได้แล้ว ครบทั้ง ๕ องค์แล้ว ก็เลื่อนไปอีกนิดหนึ่ง คือ มีความรู้สึกต่อจิตที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ญานทั้ง ๕ นี้ ซึ่งเรียกว่าจิตตั้งอยู่ในปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ หรือฌานทีแรกของพวกรูปฌาน คือฌานที่ต้องอาศัยรูปธรรม วัตถุธรรมเป็นอารมณ์ ทำจนประสบความสำเร็จในขั้นแรกก็คือ ที่เรียกว่ารูปฌานที่ ๑ นี้ มีความรู้สึกเป็นวิตก วิจาร ปิดิสุข เอกัคคตา ทีนี้ ต้องการการทำให้ชำนาญ อย่าให้มันลัมลุกคลุกคลาน อย่าเพ่อละโมบโลภลาภนะทำต่อไป การปฏิบัติทางจิตล้มละลาย เพราะว่าคนละโมบมากจะทำเอาเร็วๆ เลื่อนชั้นๆ มันก็ทำไม่ได้ แล้วล้มละลายย้อนหลังก็ได้ ฉะนั้นพยายามทำให้ได้ในขั้นแรกๆ แล้วก็ทำให้มันชำนาญ ซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำๆ ซากๆ แบบซ้อมนั่นแหละ ซ้อมอยู่เสมอ จนรู้สึกแน่นอนว่า ไม่หลุดมือไปอย่างแน่นอนแล้ว จึงค่อยเลื่อนขึ้นไปยังขั้นที่ถัดไป ฉะนั้น ในขั้นที่ ๕ ในบทเรียนที่ ๕ นั้น เราทำปฐมฌานนี้ให้เป็นที่คล่องแคล่วอยู่ในกำมือของเรา อยู่ในอำนาจของเรา เราต้องการความรู้สึก ๕ อย่างนี้เมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น แล้วจึงเลื่อนไปถึงบทเรียนที่ ๖ ไปสู่ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔

การปฏิบัติในขั้นที่ ๖ สำหรับฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ไม่มีอะไรมาก นอกจากปลดองค์ฌานที่มีมากมายนักในฌานที่ ๑ นั้น ออกเสียบ้าง เช่นในฌานที่ ๑ ปฐมฌานนั้น มีตั้ง ๕ องค์ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ทีนี้ก็กระทำไปในทางที่ปลดทิ้งออกไปเสียบ้าง เช่นไม่ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นวิตก วิจาร ก็เหลืออยู่แต่เพียง ๓ คือ ปิติ สุข เอกัคคตา อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ ทำต่อไปเป็นฌานที่ ๓ ที่ ๔ ก็ปลด ปิติ สุข ออกไปเรื่อยงๆ จนยังเหลือแต่อุเบกขากับเอกัคคตา เป็นชั้นที่ ๔ เป็นชั้นจตุตถฌาน นี้เรียกว่าบทเรียนที่ ๖ กล่าวคือทำฌานที่ได้แล้วนั้น ให้เป็นฌานที่ประณีตกว่า ยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับๆ เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว ก็ให้ได้ฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขึ้นไปตามลำดับ โดยหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานนั้นเอาไว้แต่เพียงน้อยองค์เข้าๆ นอกนั้นปลดทิ้งไป

การปฏิบัติในขั้นที่ ๗ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การซักซ้อมให้ถนัดมือ ให้อยู่ในอำนาจโดยแท้จริง ในทุกแง่ทุกมุม ย้อนหลังมาอันแรกๆ ทำปฐมฌานให้คล่องแคล่ว ทำทุติยฌานให้คล่องแคล่ว ๆ ๆ กลับไปกลับมาๆ ให้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อไรก็ได้ เท่าไรก็ได้ ในสถานะการณ์เช่นไรก็ได้ ตามธรรมดาเราทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ความสงบสงัดเพียงพอแล้วทำสมาธิไม่ได้ แต่พอมาถึงขั้นนี้แล้ว เราทำได้ “แม้ในท่ามกลางกองเพลิง” ว่าอย่างนั้น ใช้คำว่าอย่างนั้นดีกว่า คือสถานะการณ์จะขลุกขลักโกลาหลวุ่นวายอย่างไร ก็ทำได้ ต่อหน้าวิสภาคารมณ์ที่ยั่วยวนอย่างไรเท่าไร ก็ทำได้ นี้เป็นบทเรียนที่ ๗

การปฏิบัติ ขึ้นสุดท้ายที่ ๘ บทเรียนขั้นนี้คือ เราจะหยุดอยู่ในสถานะของฌานใดฌานหนึ่งนานเท่าไหร่ก็ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นสมาบัติ แปลว่าถึงพร้อม เข้าถึงแล้วอยู่ หยุดอยู่ในสภาวะอย่างนั้น นาน ๑ ชั่วโมงก็ได้ ๒ ชั่วโมงก็ได้ หลายวันก็ได้ ตามที่ต้องการ แล้วมันจะเข้าออกของมันได้เอง เพราะความคล่องแคล่วชำนาญในการฝึกมาแล้วตั้งแต่ขั้นที่ ๗ เข้า-ออก ได้อย่างคล่องแคล่วตามต้องการ แล้วมาถึงนี้ เราก็หยุดอยู่ได้ตามต้องการ จะอยู่ในสมาบัตินานเท่าไรได้เท่านั้น นี้มันก็จบเท่านี้ แต่รายละเอียดของแต่ละขั้นๆ มีมาก

นี่เราแบ่งให้เห็นว่า มันมีอยู่ในลักษณะการปฏิบัติ ๘ อย่างนี้เท่านั้น พูดสั้นๆ ที่สุดก็ว่า เอาอารมณ์ที่เป็นวัตถุมาเพ่งพิจารณา แล้วก็เปลี่ยนอารมณ์วัตถุให้เป็นอารมณ์ในมโนภาพ แล้วเปลี่ยนอารมณ์ในมโนภาพที่หยุดนิ่งนั้น ให้ไหวได้ตามที่เราต้องการ ทำอย่างนั้นจิตเหมาะสมแล้วที่จะหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปิดิ สุข เอกัคคตา ขึ้นมาได้ พอหัดหน่วงให้ได้บริบูรณ์ ก็ได้ฌานขั้นแรกคือปฐมฌาน แล้วทำความรู้สึกชนิดที่ละเอียดไปกว่า เอาไว้แต่บางองค์ทิ้งไปเสียบางองค์ ก็เป็นฌานที่ประณีตขึ้น เป็นฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้วก็หัดให้เกิดความชำนาญในทุกแง่ทุกมุมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ในที่สุดก็สามารถจะเข้าสมาบัติคือหยุดอยู่ในสภาวะของฌานใดฌานหนึ่งได้นานตามที่ตัวต้องการ ก็มีเท่านี้เอง

คําบรรยายประจําวันเสาร ในสวนโมกขพลาราม วันเสารที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔ พุทธทาสภิกขุ

ทางนิพพาน

ทีนี้จะพูดต่อไปถึง ทางนิพพาน ถ้าพูดว่า “ทางนิพพาน” ก็ค่อยปลอดภัย แต่ถ้าพูดว่า “ทางไปนิพพาน” มันก็เลือนออกไป ไม่ค่อยปลอดภัย ทั้งนี้เพราะว่า นิพพานนั้นไม่ต้องไป ถ้ามีการไปก็ไม่ใช่นิพพาน ดังที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ไม่ใช่การไป ไม่ใช่การมา ไม่ใช่การหยุดอยู่” นิพพานเป็นสภาวะอันหนึ่งซึ่งปรากฏออกมา เมื่อมีการกระทำถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง ฉะนั้นจึงไม่ต้องไป จึงไม่ต้องมา รวมทั้งไม่ต้องหยุดอยู่ที่นั่น

นี้เป็นภาษาที่ต้องระวัง ไป ก็ไปหาสิ่งหนึ่ง มา ก็มาหาสิ่งหนึ่ง หยุด ก็เพราะว่าติดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นจึงได้ไป จึงได้มา หรือจึงได้หยุดอยู่ที่ไหน ต่อเมื่อดับความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุด หรือติดอยู่ที่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นการหลุดออกไป นี้ถ้าจะเรียกโดยสมมติก็เรียกว่า “ทางนิพพาน”

ทางนิพพานนั้นเรียกว่ามรรค มรรคซึ่งแปลว่าหนทางนี้เอง แต่เป็นหนทาง ทางจิตใจ ที่เรียกว่าอริยมรรคบ้าง อัฏฐังคกมรรคบ้าง แล้วแต่จะให้หมายความอย่างไร ที่เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค มรรคประกอบไปด้วยองค์ ๘ นั้นเป็นตัวทางนิพพาน หมายความว่าเมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนั้น นิพพานปรากฏออกมา เราไม่ต้องเรียกว่าไปนิพพาน หรือหนทางเพื่อให้ไปนิพพาน แต่ต้องพูดว่าทางให้ถึงนิพพาน ถ้าจะพูดกันอย่างอื่น เพื่อไม่เกิดความกำกวมก็จะต้องพูดว่า เป็นการปฏิบัติที่จะทำนิพพานให้ปรากฏแก่ใจ

การปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน พอเหมาะพอดีแล้วนิพพานก็จะปรากฏแก่จิตใจของผู้ปฏิบัติ ที่ว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็ขอทบทวนซักซ้อมความเข้าใจไว้เสมอว่า หมายถึงความถูกต้อง ๘ ประการ ถูกต้องในทางความคิดเห็น เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ถูกต้องในทางความมุ่งมาดปรารถนา เรียกว่า สัมมาสังกัปโป ถูกต้องในการพูดจา เรียกว่า สัมมาวาจา ถูกต้องในการกระทำทางกาย เรียกว่า สัมมากัมมันโต ถูกต้องในการเลี้ยงชีวิต เรียกว่า สัมมาอาชีโว ถูกต้องในความพากเพียร เรียกว่า สัมมาวายาโม ถูกต้องในความดำรงจิต ความรู้สึกนึกคิด นี้เรียกว่า สัมมาสติ และความถูกต้องในการมีสมาธิ คือความมั่นคงของจิต นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ รวมเป็นความถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกว่ามีองค์ ๘ แล้วรวมกันเป็นหนทางให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ที่เรียกว่านิพพาน คำว่าอัฏฐังคิกมรรคหรืออริยมรรคมีความหมายอย่างนี้

ทีนี้ดูให้ดีๆ ว่าใน ๘ องค์นั้น องค์แรกนั้นมีความสำคัญมาก เหมือนกับผู้นำ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็น หรือความเข้าใจ หรือความรู้ความเชื่ออะไรก็ตาม รวมอยู่ที่องค์นี้ทั้งนั้น และเรียกง่ายๆ ว่า ทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง อื่นๆ ก็จะถูกต้องตามไปเอง ฉะนั้นสัมมาทิฏฐิจึงสำคัญในฐานะเป็นองค์ประกอบองค์แรกที่นำหน้า แม้กระนั้นสิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิในกรณีของนิพพานนี้ ก็ยังอาจจะแยกไปได้ว่า เห็นชอบ เห็นถูกต้องนั้น มันหนักไปในทางคิดเห็นว่าอย่างไรๆ

สัมมาทิฏฐินี้อาจจะแยกออกไป เช่นว่า ถ้าไปมีน้ำหนักอยู่ที่เห็นอนิจจังแล้วบรรลุนิพพานนี้ก็เป็น อนิมิตตนิพพา ถ้าหนักไปในทางเห็นทุกขัง แล้วบรรลุนิพพาน ก็เป็น อัปปณิหิตนิพพาน ถ้าหนักไปทางเห็นอนัตตา แล้วบรรลุนิพพานก็เป็น สุญญตนิพพาน

นิพพานนี้เป็นอย่างเดียวกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน คือเป็นของเย็น แต่อาจจะมาได้จากทิศทางต่างๆ กันของผู้ปฏิบัติ หรือผู้เห็น บางคนเขาถนัดที่จะเห็นในความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง แล้วเกิดเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แล้วก็เป็นนิพพาน นี้เป็น อนิมิตตนิพพาน เป็นนิพพานที่มีความหมายว่า ไม่มีอะไรเป็นกำหนด เพราะมีแต่ความไม่เที่ยง และไหลเวียนไปเรื่อย แต่ถ้าบางคนเขามีสิ่งแวดล้อมทำให้เห็นทุกข์ ถึงขนาดสูงสุด จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด บรรลุนิพพาน ก็เรียกว่าเป็นนิพพานที่เป็น อัปปณิหิตะ คือ ไม่มีที่ตั้งที่เกาะของจิตใจ ไปเกาะเข้าที่ไหนเป็นมีความทุกข์ทั้งนั้น ก็เลยไม่มีที่ตั้งที่เกาะ

ทีนี้ ถ้าว่าผู้ใดเขาเหมาะสมที่จะเห็นอนัตตา อะไรๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยึดถือว่าตัวตนหรือของตนอย่างนี้ เกิดเบื่อหน่ายคลายกำหนัด บรรลุนิพพาน นิพพานชนิดนี้ให้ชื่อประกอบเข้าไปว่าเป็น สุญญตนิพพาน นิพพานที่อาศัยความว่าง อาศัยการเห็นความว่างเป็นหลักเป็นประธาน

จากเหตุผลดังกล่าว ทางนิพพาน นี้ จะเรียกว่า ตั้งต้นด้วยอนิจจังก็ได้ ด้วย ทุกขังก็ได้ ด้วย อนัตตาก็ได้ แล้วแต่คนเขามีจิตใจอย่างไร เหมาะที่จะตั้งต้นจากอะไร นี้มันก็แล้วแต่จะทำให้เกิดการตั้งต้นอย่างนั้นเอง เรียกว่าตามอุปนิสัย ในชั้นนี้เรารู้แต่เพียงว่า มีการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐินั้นจะอาศัยอนิจจังก็ได้ อาศัยทุกขังก็ได้ อาศัยอนัตตาก็ได้ ที่แท้ทั้ง ๓ อย่างนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้มันไม่แยกกัน แต่ผู้เห็นอาจจะเห็นเพียงมุมหนึ่ง แง่หนึ่ง ส่วนหนึ่ง เหลี่ยมหนึ่งก็ได้ ฉะนั้น จึงเห็นหนักไปในทางเห็น อนิจจังก็มี เห็นทุกขังก็มี เห็นอนัตตตาก็มี แล้วแต่ว่าอุปนิสัยอย่างที่กล่าวแล้ว

นี้เรียกว่าทางที่จะให้ถึงนิพพาน ที่ไม่ต้องไป ไม่ต้องมา ไม่ต้องหยุดที่ไหน เป็นแต่เพียงทำความถูกต้องให้เกิดขึ้นจนครบถ้วนแล้ว ก็จะปรากฏสิ่งที่เรียกว่านิพพานขึ้นมา

คําบรรยายประจําวันเสาร ในสวนโมกขพลาราม วันเสารที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔ พุทธทาสภิกขุ

ฆราวาสบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีได้

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๔๑๗] มีอยู่ มหาบพิตร นิคมชื่อเวภฬิคะ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ อยู่ในนิคมนั้น เขาเป็นอุปัฏฐากของอาตมภาพ นับเป็นอุปัฏฐากชั้นเลิศ พระองค์แลทรงเสียพระทัยมีความโทมนัสว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงรับการอยู่จำพรรษาในเมืองพาราณสีของเราเสียแล้ว ความเสียใจและความโทมนัสนี้นั้น ย่อมไม่มีและจักไม่มีในช่างหม้อฆฏิการะ ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะแล ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่

ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะเป็นผู้หมดสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บริโภคภัตมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ปล่อยวางแก้วมณีและทองคำ ปราศจากการใช้ทองและเงิน ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะแล ไม่ขุดแผ่นดินด้วยสากและด้วยมือของตน นำมาแต่ดินตลิ่งพังหรือขุยหนูซึ่งมีอยู่ด้วยหาบ ทำเป็นภาชนะแล้วกล่าวอย่างนี้ว่าในภาชนะนี้ ผู้ใดต้องการ ผู้นั้นจงวางถุงใส่ข้าวสาร ถุงใส่ถั่วเขียว หรือถุงใส่ถั่วดำไว้ แล้วนำภาชนะที่ต้องการนั้นไปเถิด ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะ เลี้ยงมารดาบิดา ผู้ชรา ตาบอด ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นอุปปาติกะ จะปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดาเพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้าประการหมดสิ้นไป.

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อที่ ๔๑๗

ติดสมาธิ

หลักปฏิปทาเครื่องดำเนินอันเป็นศูนย์กลางและเหมาะสมอย่างยิ่ง คือ ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ นี่เป็นเครื่องดำเนินสำหรับพระผู้เห็นภัย เพื่อจะหลุดพ้นจากภัยให้ถึงแดนเกษม คือพระนิพพาน ส่วนประกอบภายในจิต อารมณ์ของจิต เครื่องดำเนินของจิต ได้แก่กรรมฐาน ๔๐ ห้องดังที่ท่านแสดงไว้ จะเป็นบทใดก็ตามในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนั้น ที่เห็นว่าเหมาะสมกับจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติเป็นราย ๆ ไป ย่อมยึดเอาธรรมบทนั้น ๆ ที่ตนชอบเข้ามากำกับใจ ที่เรียกว่าบริกรรมภาวนา ดังอนุสสติ ๑๐ นี้มี พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น อยู่ในอนุสสติ ๑๐ นี้ เราจะเอาบทใด หรืออานาปานสติ

ธรรมเหล่านั้นบทใดเหมาะสมกับจริตนิสัยของผู้บำเพ็ญรายใด พึงนำธรรมบทนั้นเข้ามากำกับใจ ให้เป็นบริกรรมภาวนา หรือกำหนดรู้ เช่น ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบริกรรมหรือบริกรรมก็ได้ ตามแต่ความถนัดใจ ถ้าไม่บริกรรมก็ให้รู้ลมเข้าลมออก ลมสัมผัสที่ตรงไหนมาก พึงตั้งสติลงที่จุดนั้น เช่น ดั้งจมูกเป็นต้น เป็นที่ผ่านเข้าออกของลมอย่างเด่นชัด รู้ได้ชัด สัมผัสมากกว่าที่อื่น ๆ ก็กำหนดที่ตรงนั้นไว้

ให้ความรู้คือใจนั้นอยู่กับความสัมผัสของลมผ่านเข้าผ่านออก โดยไม่ต้องตามลมเข้าไปและตามลมออกมาในขั้นเริ่มแรก จะเป็นการฟั่นเฝือมากไป หรือเพิ่มภาระให้จิตมากไป จึงต้องให้กำหนดรู้อยู่เพียงลมเข้าลมออกเท่านั้น ไม่ให้จิตส่งไปสู่สถานที่อื่นใดอารมณ์ใด นอกจากลมเข้าลมออกที่ตนกำหนดอยู่นั้นเท่านั้น เราจะบริกรรมธรรมบทใดก็ตาม ให้พึงทำความรู้สึกอยู่กับธรรมบทนั้น ๆ เท่านั้น ประหนึ่งว่าโลกนี้ไม่มีอันใดในเวลานั้น มีเฉพาะคำบริกรรม กับความรู้ที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่นี้เท่านั้น ท่านเรียกว่าภาวนาที่ถูกต้องเหมาะสม

ในธรรมที่กล่าวมา ๔๐ ห้องนี้ เป็นธรรมที่เหมาะสมกับผู้ประพฤติปฏิบัติ จะยึดเอาบทใดก็ตาม เมื่อเห็นถูกกับจริตนิสัย จึงเรียกว่าเป็นธรรมกลาง ๆ เป็นปฏิปทาที่ราบรื่นดีงาม บรรดาพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายท่านผ่านไปด้วยธรรมเหล่านี้แล ในขั้นเริ่มแรกเป็นเช่นนั้น นี่เราหมายถึงเริ่มแรกแห่งการภาวนา ต้องมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นเครื่องเกาะเครื่องยึด เครื่องกำกับของใจ ไม่เช่นนั้นใจจะหาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ ไขว้เขวไปหมดและไม่ได้ผลอันใด

ท่านจึงสอนกรรมฐานไว้ในตัวของเรานี้ ก็มีกรรมฐาน ๕ ที่อุปัชฌาย์มอบให้ตั้งแต่วันอุปสมบท คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราจะนำคำเหล่านี้คำใดคำหนึ่งบทใดบทหนึ่ง บริกรรมเช่นเดียวกับธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาสักครู่นี้ก็ได้ไม่มีอะไรขัดข้อง เพราะเป็นธรรมเป็นกรรมฐานด้วยกัน นี่เป็นธรรมฝึกหัดเบื้องต้น ต้องมีบทธรรมเป็นเครื่องยึด ไม่ใช่จะกำหนดรู้เฉย ๆ ดังที่จิตท่านมีหลักมีเกณฑ์แล้ว เช่น จิตท่านผู้มีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่แล้วนั้น ท่านจะบริกรรมหรือไม่บริกรรม หากเป็นการเห็นควรของท่านเองสำหรับผู้มีหลักใจแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่มีหลักใจ ต้องยึดหลักธรรมนี้ไว้กับใจเป็นเครื่องยึดเป็นคำบริกรรม จึงเหมาะสม ไม่เช่นนั้นไม่ได้เรื่อง

ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงกำหนดธรรมเหล่านี้ ให้เลือกเอาธรรมเหล่านี้ที่เห็นว่าเหมาะกับจริตนิสัยของตนมาปฏิบัติต่อตนเองในขั้นเริ่มแรก จนจิตเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา คือความแน่นหนามั่นคงภายในใจ หากรู้เอง เมื่อจิตสงบลงไป ๆ หลายครั้งหลายหน จิตจะสร้างฐานแห่งความมั่นคงขึ้นภายในตัวเอง ความสงบเป็นครั้งเป็นคราวแล้วถอนขึ้นมานี้ ท่านเรียกว่าจิตรวมหรือจิตสงบ เมื่อจิตมีการสงบเข้าไปและถอนออกมา สงบตัวเข้าไปแล้วขยายตัวออกมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าจิตสงบ

เมื่อจิตสงบหลายครั้งหลายหน ในแต่ละครั้งละหนของจิตที่สงบนั้น ย่อมสร้างฐานแห่งความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในตัวเองโดยลำดับลำดา เมื่อนานเข้าก็กลายเป็นสมาธิขึ้นมา คือเป็นจิตที่มั่นคง เป็นจิตที่แน่นหนา กำหนดดูเมื่อไรก็รู้ได้ชัดว่านี้คือจุดแห่งความรู้ นี้คือจุดแห่งจิตอันเป็นความสงบประจำตัว นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

ไม่ใช่รวมลงไปแล้วเป็นสมาธิ ๆ เราจะเรียกว่าสมาธิในขณะที่จิตรวมก็ได้ แต่ที่ให้แน่ที่สุดก็คือ จิตรวมตัวเข้าไปหลายครั้งหลายหน จนถึงกับสร้างฐานของตนให้เกิดความมั่นคงขึ้นมา แม้จะคิดอ่านไตร่ตรองอะไรได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตที่แน่นหนามั่นคงนั้นไม่ละตัวเอง นั่นจะเป็นความที่เหมาะสมอย่างยิ่งในคำว่าจิตเป็นสมาธิ เพราะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในวงผู้ปฏิบัติจะทราบได้ชัดไม่ต้องไปถามใครเลย

ขอแต่จิตได้สงบเข้าไปดังที่กล่าวนี้เถอะ เมื่อสงบเข้าไป ๆ ถอนออกมา สงบเข้าไปหลายครั้งหลายหนหลายวันหลายคืนเข้าไป หากเป็นความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในจิตเอง นั่นท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว

จิตเป็นสมาธิย่อมมีความเย็น ย่อมมีความสงบตัว ไม่หิวโหยในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะอารมณ์ทางใด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เฉพาะอย่างยิ่งกามารมณ์เป็นสำคัญสำหรับนักบวช อันนี้เป็นข้าศึกมากภายในจิตใจ และชอบคิดมาก คิดได้อย่างรวดเร็วแต่หักห้ามได้ยาก เหล่านี้เมื่อจิตมีสมาธิคือความสงบแล้วสิ่งเหล่านี้ย่อมสงบตัวไป แต่ไม่ใช่ขาด ไม่ใช่ละขาด เป็นเพียงความสงบของจิต คือจิตอิ่มตัวในขั้นนี้ ท่านจึงสอนให้ใช้การพิจารณาคือปัญญา

ปัญญานั้นหมายถึงการถอดการถอน การคลี่คลายดูสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วถอนไปโดยลำดับลำดา ตั้งแต่กิเลสขั้นหยาบ ๆ จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุด หลุดพ้น ท่านเรียกว่าปัญญาทั้งนั้น แต่เป็นขั้น ๆ ของปัญญา สมาธิเป็นเพียงทำจิตให้สงบเพื่อจะได้พิจารณาง่ายลงไป ผิดกับการพิจารณาทั้งที่จิตหาพื้นฐานแห่งความสงบไม่ได้อยู่เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้บำเพ็ญทางสมาธิ ท่านเรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา

ดังที่กล่าวไว้ในอนุศาสน์ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา ให้พิจารณาสิ่งทั้งหลายรู้ได้แจ่มแจ้งชัดเจนโดยลำดับลำดา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ ปัญญาเมื่อสมาธิได้อบรมแล้วย่อมมีความคล่องตัว คือได้รับการอบรม ได้รับความหนุนมาจากสมาธิแล้ว ย่อมมีความคล่องตัวในการพิจารณาแยกแยะอารมณ์ต่าง ๆ จนถึงกับตัดขาดได้ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นั่นท่านว่า สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ คือหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี่หลักธรรมที่ท่านแสดงเป็นพื้นเป็นฐานอันตายตัวไว้เป็นจุดศูนย์กลางโดยแท้จริง

ท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน เพื่อจิตได้มีความสงบตัว มีความอิ่มตัวในอารมณ์ทั้งหลาย อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ เมื่อจิตมีความสงบเย็นใจแล้ว ย่อมพาพิจารณาอะไรเป็นการเป็นงานได้ดีกว่า การใช้ให้จิตพิจารณาทั้งที่จิตหาความเป็นสมาธิไม่ได้ และกำลังหิวโหยในอารมณ์เป็นไหน ๆ

การพิจารณาจิตที่ไม่เคยมีความสงบเลยให้เป็นปัญญา มักจะเป็นสัญญาเถลไถลออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอ ๆ ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอะไร จนถึงกับว่าไม่ได้เรื่อง ท่านจึงสอนสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้ผลในการพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อสมาธิมีอยู่ภายในจิตใจแล้ว ใจไม่หิวโหย ใจไม่รวนเร ใจไม่กระวนกระวาย ย่อมทำหน้าที่การงานของตนไปโดยลำดับลำดาตามสติที่บังคับให้ทำ จนถึงกับได้ปรากฏผลขึ้นมาเป็นปัญญาโดยลำดับลำดา จนถึงขั้นปัญญาที่เห็นเหตุเห็นผลแล้ว และหมุนตัวไปเองโดยไม่ต้องถูกบังคับเหมือนตั้งแต่ก่อนที่เคยบังคับกันนั่นเลย นี่เป็นอย่างนี้

ในเบื้องต้นจึงต้องอาศัยคำบริกรรมเป็นพื้นฐานก่อน นี่เป็นหลักตายตัว เป็นหลักศูนย์กลางแห่งการปฏิบัติของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย ไม่ควรจะละไม่ควรจะปล่อยวางคำบริกรรมซึ่งเป็นเครื่องยึดของจิตในขั้นเริ่มแรก เพื่อหาหลักฐานใส่ตัวเอง จึงจำต้องใช้บทบริกรรมนี้เป็นฐานสำคัญมากอยู่เสมอ

จนกว่าจิตนี้ได้เริ่มเป็นสมาธิขึ้นมา ถึงกับเป็นสมาธิแล้ว คำบริกรรมเหล่านั้นซึ่งเคยนำมาบริกรรมเป็นประจำนั้น ก็ย่อมจะปล่อยวางกันได้ ด้วยความเข้าใจตัวเองว่าสมควรจะปล่อยวางหรือไม่ นั้นเป็นสิ่งที่จะทราบด้วยสมาธิของตัวเอง ด้วยหลักของความรู้คือความเด่นชัดแห่งจุดของผู้รู้ของตัวเอง แล้วจะไม่บริกรรมก็ได้ โดยกำหนดเอาความรู้นั้นเป็นฐานทีเดียว อยู่กับความรู้นั้น เมื่อจะกำหนดให้ความรู้นั้นมีความสงบลงไป ก็กำหนดลงได้อย่างง่ายดาย ทีนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย

ที่นี่คำว่าคำบริกรรมในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี้ หลักใหญ่ก็เป็นการบำเพ็ญในเบื้องต้น ผู้บำเพ็ญในขั้นเริ่มแรกจำต้องได้ยึดธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักเกณฑ์ของใจ จนกว่าใจจะได้หลักได้เกณฑ์ แล้วค่อยแผ่กระจายออกไปในงานทั้งหลาย ทีนี้หาความเป็นประมาณไม่ได้ เมื่อจิตได้เป็นสมาธิแล้วฝึกหัดทางด้านปัญญา ปัญญาจะตีแผ่ออกไปโดยลำดับลำดา คำบริกรรมนั้นจะหายไปโดยหลักธรรมชาติของผู้บำเพ็ญนั่นแล

เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญถึงขั้นสมาธิอย่างแน่วแน่และขั้นปัญญาแล้ว ในคำบริกรรมทั้งหลายจึงหายไปโดยหลักธรรมชาติแห่งการปฏิบัติของตัวเอง คือค่อยหายไปเอง เช่นเดียวกับเราขึ้นบันได ก้าวขึ้นไปขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๑ ก็หมดความจำเป็นไป ก้าวผ่านไป ๆ จนถึงวาระสุดท้าย ก้าวขึ้นถึงบนบ้าน นี่คำบริกรรมก็ค่อยเปลี่ยนตัวเองไปเช่นนั้น จนถึงขั้นปัญญาแล้วไม่ต้องบอกที่นี่ หากรู้ในตัวเองวิธีทำการทำงาน

เหมือนโลกเขาทำงาน ผู้ใหญ่ทำงานเข้าใจในงาน ทำไปได้กว้างขวางมากมายผิดกับเด็กเป็นไหน ๆ นี่การทำงานของสมาธิที่มีหลักมีเกณฑ์แล้ว กับการทำงานทางด้านปัญญาก็เป็นเช่นเดียวกัน มีความขยายตัวออกไปโดยลำดับลำดาจนหาประมาณไม่ได้ แต่ผู้ปฏิบัติหรือผู้ดำเนินสมาธิดำเนินปัญญานั้นจะรู้ตัวเอง โดยไม่ต้องไปถามใครว่าควรจะปล่อยคำบริกรรมมากน้อยเพียงไร หรือไม่ปล่อย เป็นยังไง ในเวลาใดขณะใด หากทราบเองในผู้ปฏิบัตินั้น ขอให้ทุก ๆ ท่านยึดไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติภาวนา

หลักใหญ่ให้จิตสงบได้นั้นแหละเป็นของดี เพียงจิตสงบเท่านั้นก็ตัดความกังวลวุ่นวาย ซึ่งเคยประจำจิตเสียดแทงจิตออกได้โดยลำดับลำดา จนถึงกับเป็นขั้นสบาย เพราะฉะนั้นผู้ภาวนาเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงมักขี้เกียจในการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา นอนจมอยู่กับสมาธินั้นเสียไม่ออกพินิจพิจารณา สุดท้ายก็เข้าใจว่าความรู้ที่แน่วแน่แห่งความเป็นสมาธิของตนนั้น จะเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย ในข้อนี้ผมเคยเป็นแล้ว จึงได้นำมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ว่าสมาธิต้องเป็นสมาธิ ปัญญาต้องเป็นปัญญา เป็นคนละสัดเป็นคนละส่วน เป็นคนละอันจริง ๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน หากเป็นอยู่ในจิตอันเดียวกันนั่นแล เป็นแต่เพียงไม่เหมือนกัน

จิตที่เป็นสมาธิก็เต็มภูมิได้เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นเต็มภูมิแล้วจะทำอย่างไรก็ไม่เกินนั้น ไม่เลยนั้นไปอีก ถึงขั้นสมาธิที่เต็มภูมิแล้วก็มีแต่ความแน่วแน่ของจิต ความละเอียดของจิตที่รู้อย่างแน่วแน่เท่านั้น จะให้มีความละเอียดแหลมคมหรือแยบคายต่าง ๆ แผ่กระจายออกไปฆ่ากิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในใจนั้นไม่ได้ เพราะไม่เห็นเพราะไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องแยบคายยิ่งกว่าสมาธิอยู่มากมายจนหาประมาณไม่ได้ นี่ละปัญญาจึงเป็นปัญญา

ผู้ที่เป็นสมาธิถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา จะเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดไปจนกระทั่งวันตายก็หาเป็นนิพพานได้ไม่ หาเป็นปัญญาได้ไม่ ต้องเป็นสมาธิอยู่ตลอดไป นี่ละท่านจึงสอนให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา มีความจำเป็นอย่างนี้ ให้ทุก ๆ ท่านจำไว้ให้แม่นยำ นี่สอนด้วยความแม่นยำด้วย สอนด้วยความแน่ใจของเจ้าของ เพราะได้ผ่านมาแล้วอย่างนี้ ติดสมาธิก็เคยติดแล้ว

ผมเคยได้พูดให้หมู่เพื่อนฟังมานานแสนนานหลายครั้งหลายหน จนนับไม่ได้นั้นแหละ ว่าได้ติดสมาธินี้มาเสียอย่างจำเจ หรือติดสมาธิมาเสียจนจมพูดง่าย ๆ จนเป็นความขี้เกียจ จนเกิดความสำคัญว่าสมาธินี้แลจะเป็นนิพพาน สมาธินี้แลจะเป็นธรรมชาติที่สิ้นกิเลส จะสิ้นอยู่ตรงนี้ ตรงที่รู้ ๆ นี่ละ ไม่มีที่อื่นใดเป็นที่สิ้นกิเลส นั่นเหมาเอาเสียทั้งหมด

ความจริงความรู้อันนั้นมันกลมกลืนกับอะไรอยู่ เพียงขั้นของสมาธิ ความรู้ในขั้นสมาธิ จะไปสามารถรู้กิเลสให้เหนือสมาธิไปได้อย่างไร เพราะกิเลสที่ละเอียดเหนือสมาธิมีอีกมากมายยิ่งกว่าที่ความรู้ในขั้นสมาธิจะรู้ได้เป็นไหน ๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้แยกทางด้านปัญญา

เมื่อจิตมีความสงบ จะสงบขั้นใดก็ตามย่อมเป็นบาทเป็นฐาน เป็นเครื่องหนุนปัญญาตามขั้นของตนได้ ให้พิจารณา แต่ไม่ใช่พิจารณาในขณะที่จิตสงบ ต่างวาระกัน เมื่อจิตถอยออกจากความสงบแล้วให้ใช้ปัญญาพิจารณา

การใช้ปัญญาพิจารณาก็หมายถึงขันธ์ห้านี้แหละ เป็นสถานที่ที่คลี่คลายพินิจพิจารณา เพราะนี้เป็นสิ่งที่เราติดก่อนสิ่งใดภายนอก ติดอันนี้ก่อน ติดขันธ์ห้า คืออะไร รูปเป็นสำคัญ รูปกาย กายของเรามีอะไรบ้าง นี่เรียกว่าคลี่คลายแล้วที่นี่นะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันใดที่เหมาะกับการพิจารณาของเราเราจับจุดนั้นก่อน ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ให้ดูทั้งที่เกิดทั้งที่อยู่ของมัน ทั้งความแปรสภาพของมัน เป็นอย่างไรบ้าง แต่ละชิ้นละอันนี้มันเดินทางสายเดียวกันด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่ปลีกไม่แวะ ไปทางสายเดียวกัน และมีส่วนที่เป็นอสุภะอสุภังอีกมากมายในบางส่วนของร่างกายเหล่านี้ เป็นอย่างไรบ้างพิจารณา นี่ท่านเรียกว่าปัญญา

แยกแยะดูจะดูภายนอกก็ได้ภายในก็ได้ เป็นมรรคได้ทั้งสองทาง คือทั้งภายนอกทั้งภายใน เมื่อพิจารณาให้เป็นมรรค คือพิจารณาโดยทางปัญญาเพื่อการถอดการถอน เป็นมรรคได้ทั้งภายนอกภายใน ถ้าเรารู้เราเห็นเราสำคัญมั่นหมายเพื่อความผูกมัดตัวเอง นั้นก็เป็นสมุทัยได้ทั้งภายนอกภายใน นี่จะอธิบายให้ฟังเพียงราง ๆ ก่อน ไม่ได้พูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะยังมีแง่ที่จะพูดอีกมากมายในวงแห่งปัญญาในขันธ์ห้าเหล่านี้

เราดูไปตั้งแต่หนังแต่เนื้อ เอ็น กระดูก เอา ดูเข้าไปภายในมันมีอะไรบ้าง นี่คือปัญญา คลี่คลายดูให้เห็นชัดเจน แต่เวลาพิจารณานั้น เราอย่าเอาความที่ว่าอยากรู้อยากเห็น อยากให้เป็นอย่างใจโดยถ่ายเดียวเข้าไปทำลายความจริง ความจริงนั้นเป็นความจริงอยู่แล้ว ให้พิจารณาสอดส่องดูตามความจริงนั้น แล้วจะเห็นความจริงขึ้นมา เมื่อพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ดูหลายครั้งหลายหนเราจะเห็นความจริงขึ้นมา เช่น อนิจฺจํ ก็จริงอันหนึ่ง ทุกฺขํ จริงอันหนึ่ง อนตฺตา จริงอันหนึ่ง อสุภะอสุภังแต่ละอย่าง ๆ จริงไปตามหลักธรรมชาติของตัวเอง นี่มันจริงอย่างนี้ เมื่อจริงเข้าถึงใจแล้ว ใจย่อมมีความคลายตัวเองออกไปโดยลำดับ จากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่ท่านเรียกว่าพิจารณาทางด้านปัญญา

แล้วพิจารณาภายนอกก็ให้เป็นอย่างนั้น ได้ยินสิ่งใดเมื่อจิตที่ควรจะเป็นปัญญาได้แล้ว พอได้ยินก็จะแปรสภาพเป็นปัญญาขึ้นมา ได้เห็นก็จะแปรสภาพเป็นปัญญาขึ้นมา ในขณะที่ได้เห็นได้ยินได้ฟัง สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ จะเป็นเรื่องปัญญาขึ้นมา ๆ เช่นเดียวกับมันเคยสร้างเรื่องกิเลสขึ้นมาในขณะที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังแต่ก่อนนั้นแล ไม่ผิดกันอะไรเลย เมื่อถึงขั้นปัญญาจะทราบจะรู้เป็นอย่างนั้น นี่ละวิธีการดำเนิน ให้ยึดหลักที่กล่าวมานี้เป็นทางดำเนิน อย่าหาเรื่องหาราวใส่ตัว แฝง ๆ เรื่องนั้น แฝง ๆ เรื่องนี้ไป ไม่ถูก หลักใหญ่อยู่ตรงนี้ละให้ยึดเอา

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ดี หรือนับตั้งแต่พระสาวกทั้งหลายลงมาก็ดี ท่านหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมฐาน ๔๐ นี้ทั้งนั้นแหละ กรรมฐาน ๔๐ นี้แลเป็นธรรมที่สร้างจิตท่านให้มีความสงบร่มเย็น ต่อจากนั้นไปก็สร้างทางด้านปัญญาให้รู้แจ้งแทงทะลุไป ไม่พ้นจากกรรมฐานที่กล่าวมาเหล่านี้เลย เพราะกรรมฐาน ๔๐ นี้ไม่ใช่จะเป็นอารมณ์แห่งสมถะอย่างเดียว ยังเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ด้วย เมื่อจิตควรแก่วิปัสสนาแล้ว จะเป็นวิปัสสนาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย

ในขณะที่จิตยังไม่เป็นปัญญา จิตยังไม่เป็นวิปัสสนา ก็เอาธรรมเหล่านี้แลมาอบรมจิตใจด้วยความเป็นสมถะ คือเพื่อความเป็นสมถะ ได้แก่ความสงบของใจ พอจิตก้าวเข้าสู่ปัญญาแล้ว ธรรมที่เคยเป็นอารมณ์แห่งสมถะนี้แล จะแปรสภาพเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย นี่ละหลักใหญ่อยู่ตรงนี้

เมื่อการพิจารณาทางด้านปัญญาเกี่ยวกับขันธ์นอกขันธ์ใน พิจารณาอยู่โดยสม่ำเสมอดังที่กล่าวนี้ ความรู้แจ้งภายในจิตใจจะปรากฏขึ้นโดยลำดับลำดา โดยไม่มีใครบอกไม่มีใครสอน สิ่งไม่เคยรู้จะรู้ขึ้นมา สิ่งที่ไม่เคยละก็จะละ สิ่งที่เคยติดแนบภายในจิตใจของเรา จนไม่คาดไม่ฝันว่าจะแก้จะแยกจะแยะจะตัดกันออกได้ให้ขาด ก็เป็นขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนภายในใจ ด้วยอำนาจของปัญญานั่นแล

เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นธรรมชาติที่แหลมคมมากกว่าสมาธิเป็นไหน ๆ ถ้าเรายังไม่เคยก้าวทางด้านปัญญามีแต่เพียงสมาธิ ก็จะเห็นว่าสมาธินี้เป็นความละเอียดมาก เพราะจิตที่เป็นสมาธิเต็มภูมิ ต้องสร้างความละเอียดให้ผู้ยังไม่เคยรู้เคยเห็นทางด้านปัญญาว่า ตัวนี้เป็นผู้ละเอียดแหลมคมมาก ละเอียดมากได้จริง ๆ โดยไม่ต้องสงสัย

แต่พอก้าวออกทางด้านปัญญาแล้วจะเห็นสมาธินี้..เหมือนกับเราเดินทางไปเจอตะกั่ว ทีแรกก็ว่าเป็นของดี พอไปเจอเงินเข้าก็ทิ้งตะกั่ว พอไปเจอทองเข้าก็ทิ้งเงินแบบนั้นแหละ เรื่องเราผ่านสมาธิเป็นขั้น ๆ ขึ้นไปหาปัญญาเป็นขั้น ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น เป็นเช่นเดียวกันกับเราปล่อยวางสิ่งนั้น ๆ ก้าวผ่านไปโดยลำดับลำดานั้นเอง ดังที่กล่าวมานี้ไม่ผิด หากเป็นไปในหลักธรรมชาติของจิตนั่นละ ความละเอียดของปัญญาเป็นเช่นนั้น

ที่นี่ธรรมชาติอันหนึ่งที่มันแทรก ที่เหมือนกับว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตนั้น มันอยู่ที่จิต เพียงสมาธิจะไม่มีโอกาสไม่มีทางทราบได้เลย จะกลืนกันทั้งเนื้อทั้งกระดูกทั้งก้างนั้นแหละถ้าเป็นอาหารก็ดี แล้วก็จะติดคอตายอยู่นั้นไม่ไปถึงไหน ถ้าไม่ใช้ความพินิจพิจารณาคลี่คลายออกโดยทางปัญญาแล้ว เราจะไม่ทราบความละเอียดของกิเลสประเภทที่ฝังจมอยู่ภายในจิตใจ แล้วก็แผ่พังพานออกไปทางรูป ทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แผ่พังพานออกไปนู้น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วแดนโลกธาตุ ไปเที่ยวยึดได้หมด ออกจากธรรมชาติที่ละเอียดที่สุดของกิเลสประเภทหนึ่งภายในจิตใจนั่นแล นี่ละมันสร้างเรื่องราวขึ้นมาภายในตัว แล้วแผ่อำนาจสาดกระจายไปทั่วโลกธาตุทั้งสาม

กามโลก รูปโลก อรูปโลก ถ้าไม่ใช่จิตดวงนี้ไปเกิดดวงไหนจะไปเกิด อะไรจะไปเกิด สิ่งที่ละเอียดที่สุดพวกพรหมโลกเหล่านี้ก็เหมือนกัน อะไรจะไปเกิด มีแต่จิตทั้งนั้นไปเกิด เพราะธรรมชาติที่แฝงอยู่ภายในจิตนั้นผลักดันให้เป็นไปเอง ให้ไปเกิด นี่ละปัญญาเมื่อสร้างเข้าไป มันเห็นเข้าไปอย่างนี้เอง เห็นชัดเข้าไป ๆ ไม่ต้องไปถามใคร นั่นละผู้ปฏิบัติไม่อัศจรรย์พระพุทธเจ้าจะอัศจรรย์ใคร สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าสอนแล้วทั้งนั้น

เมื่อปัญญาหยั่งเข้าไป ๆ แล้ว จะเห็นความละเอียดของทั้งกิเลสของทั้งปัญญาไปพร้อม ๆ กัน เมื่อได้เห็นชัดทั้งสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งตัวผู้ยึดมั่นถือมั่นแล้วว่าเป็นภัยด้วยกัน ทำไมจะไม่ถอดไม่ถอน ทำไมจะไม่สลัดปัดทิ้งลงได้เล่า ต้องปัดทิ้งได้โดยไม่ต้องสงสัย ปัญญานี้แหละพาให้สลัดปัดทิ้งได้ เพราะเห็นด้วยปัญญา ท่านกล่าวไว้เป็นบทบาลีว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ความสว่างกระจ่างแจ้งเสมอด้วยปัญญาไม่มี จะสว่างกระจ่างแจ้งที่ไหนเล่าปัญญา ต้องสว่างกระจ่างแจ้งลงในจุดที่มืดที่ดำ ที่เคยเกิดเคยตายนั้นแหละ ได้แก่ดวงใจของตัวเอง นี่มันมืดที่ตรงนี้ไม่ใช่มืดที่ไหน มันหลงที่ตรงนี้ไม่หลงที่ไหน ตัวนี้พาให้เกิด ตัวนี้พาให้ตาย

ภพใดแดนใดก็ตามไม่พ้นจากจิตดวงนี้แล เป็นผู้พาให้ไปเกิดแก่เจ็บตาย อยู่ในทุกแห่งทุกหน ในภพน้อยภพใหญ่ภพนั้นภพนี้ไม่มีสิ้นสุด ก็เพราะธรรมชาติที่ละเอียดแหลมคมมากกลมกลืนกันอยู่กับจิตดวงนั้น นั่น ทีนี้เมื่อปัญญาได้หยั่งทราบลงไปโดยลำดับลำดาตั้งแต่เบญจขันธ์นี้เป็นของสำคัญ เอาส่วนหยาบนี้ก่อน มันหากเป็นของมันเอง ไม่ได้บอกว่าเอาส่วนหยาบก็ตามมันหากเป็น เพราะมันกระเทือนจิตอยู่ตลอดเวลารูปอันนี้

ไม่ว่ารูปนอกไม่ว่ารูปในมันกระเทือนกันอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นอารมณ์ยุ่งอยู่เสมอ ก็เพราะรูปนอกกับรูปใน รูปเขากับรูปเรา รูปหญิงกับรูปชาย เสียงหญิงเสียงชาย เสียงเขาเสียงเรา สัมผัสเขาสัมผัสเรานี้แหละ เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจอยู่ตลอดเวลา นี่เมื่อพิจารณาลงไปมันจะทราบสิ่งเหล่านี้ก่อน เมื่อทราบสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะสลัดเข้ามา ปล่อยเข้ามา จนกระทั่งถึงร่างกายของตัวเองก็สลัดเข้าไปเรื่อย ๆ นี่ปัญญาเหมือนกับไฟได้เชื้อ เผาเข้าไป ๆ ตรงใดจุดใดที่มีเชื้อไฟอยู่ไฟจะลุกลามเข้าไปตรงนั้น เอ้า จนกระทั่งถึงเวทนาเป็นส่วนละเอียด

เมื่อออกจากรูปไปแล้วจะเข้าถึงเวทนา เวทนาอะไร กายเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ จะเห็นว่าเป็นอาการอันหนึ่ง ๆ ที่ออกมาจากใจทั้งนั้น เกิดแล้วดับ ๆ เวทนาก็คือความทุกข์ ความทุกข์ไม่ทราบตัวเอง แต่เป็นจิตเป็นผู้ทราบ และความสำคัญมั่นหมายที่ออกมาจาก อวิชฺชาปจฺจยา นั้นทำให้ยึดมั่นถือมั่น ทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอุเบกขาเวทนา ยึดได้ทั้งนั้น ถ้าลงได้หลงตัวจิตแล้ว จิตจะพาให้หลงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แต่เมื่อได้รู้แล้วจะรู้เข้าไปโดยลำดับลำดาจนกระทั่งถึงตัวจิต เวทนาก็รู้ รู้ก็ปล่อย สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้ปล่อย นั่น ไม่มีใครบอกหากรู้เอง นี่ละเรียกว่าปัญญา ปัญญาฉลาดอย่างนั้นเอง แหลมคมอย่างนั้นเอง รู้ชัด ๆ ไม่มีใครมาบอกก็รู้เอง ๆ และปล่อยเข้าไป ๆ สุด ท้ายก็ขาดสะบั้นไปทั้ง ๆ ที่ขันธ์กับจิตนี้อยู่ด้วยกันครองกันอยู่นะ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต ได้กลายเป็นคนละชิ้นละอันแล้ว จิตดวงนั้นเป็นเหมือนกับเกาะอันหนึ่งที่อยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นน้ำ ทีนี้เวลาพิจารณาเข้าไปอีก พิจารณาเข้าไปจนกระทั่งถึงตัวจิตซึ่งเป็นเกาะอันนั้น แยกพิจารณาอยู่นั้นเช่นเดียวกับเราพิจารณาภายนอกมีรูปขันธ์เป็นต้น โดยทาง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แยกเข้าไป ๆ พิจารณาเข้าไป สุดท้ายเกาะนั้นก็พังทลาย

ความจริงนั้นเกาะคืออะไร นั้นแหละตัวกิเลส ตัวอวิชชา ตัวที่ละเอียดแหลมคมที่สุด สมาธิเข้าถึงได้ยังไงธรรมชาตินั้น เข้าไม่ถึง แต่ปัญญาพังได้ฟังซิ ไม่เจอไม่เห็นพังได้ยังไง นี่ละปัญญาพังได้ เกาะนั้นจนไม่มี ไม่มีเหลือ อ๋อ เกาะนั้นมันเป็นเกาะอะไร ก็เกาะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เกาะแห่งภพ เกาะแห่งชาติ เกาะแห่งความเกิดแก่เจ็บตาย เกาะแห่งมหันตทุกข์ของสัตวโลกนั่นเองจะเป็นอะไรไป นี่รู้ชัดเจน

เมื่อธรรมชาติอันนั้นได้พังลงไปแล้ว ไม่มีเกาะไม่มีดอน จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วไม่มีสีไม่มีแสง ไม่มีคำว่าความสว่างกระจ่างแจ้ง ไม่มีความว่าอับเฉา เอามาพูดไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของสมมุติทั้งมวล เมื่อจิตได้ผ่านนี้ลงไปแล้วไม่มีใครบอกก็รู้ แต่ไม่มีคำว่าสว่างกระจ่างแจ้งดังที่โลกๆ ทั้งหลายคาดกัน หรือเราเองก็เคยคาดจะว่ายังไง เราเคยคาดเป็นยังไง คาดมันเป็นยังไง ทีนี้ความจริงกับความคาดผิดกันอย่างไรบ้าง เมื่อได้เข้าถึงความจริงแล้ว ไอ้ความคาดความหมายมันก็ล้มละลายของมันไปเอง ล้มละลายไปเอง โดยเข้ามาคัดค้านความจริงนี้ไม่ได้เลย นี่ละการตัดภพตัดชาติ

การสร้างปัญญาขึ้นมาเพื่อรู้ในสิ่งที่ควรรู้ในสิ่งที่ควรเห็น ท่านว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา สว่างลงที่ตรงนี้แหละ ตรงที่มันมืด เกาะนั้นแหละเป็นธรรมชาติอันหนึ่งให้ติด ให้มองไม่ทั่วถึง ก็คือเกาะอันนี้เอง เกาะแห่งอวิชชา มันเกาะอยู่ในที่จิตนั่น ติดอยู่กับจิต เมื่อถูกพังทลายลงไปไม่มีเหลือแล้ว

ลำพังโดยธรรมชาติของจิตแท้ ๆ แล้วจะไม่เป็นเกาะจะไม่เป็นจุด จะจับให้ได้ว่าเป็นจุดแห่งความสว่างก็ไม่ได้ จะว่าผ่องใสก็ไม่ได้ จะว่าเศร้าหมองก็ไม่ถูกโดยประการทั้งปวง ถ้าเป็นน้ำก็ไม่มีสี คือน้ำที่สะอาดเต็มที่นี้ย่อมไม่มีสี ถ้าต้องการจะให้เป็นสีก็เอาอะไรลงไปคลุกเคล้ากับน้ำ น้ำก็ปรากฏเป็นสีนั้น ๆ ขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วย่อมปราศจากสีสันวรรณะโดยประการทั้งปวง ไม่มีในจิตดวงนั้น นั่น ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่งั้นหากไม่ใช่อะไรทั้งนั้น นี่ท่านว่าโลกุตรธรรมเต็มภูมิ ธรรมเหนือโลก เหนืออะไร ก็เหนือธาตุเหนือขันธ์ เหนือสิ่งทั้งปวงที่เราเคยคาดเคยคิดเคยติดเคยพันมาแต่ก่อนนั่นแหละ มันไม่ติดไม่พันไม่ยึดไม่ถือ ปล่อยไปหมดโดยประการทั้งปวง

นี่ละการพิจารณาการภาวนา ตั้งแต่เริ่มต้นบริกรรมภาวนามาโดยลำดับลำดา ก้าวไปอย่างนี้ ๆ อย่าให้ออกนอกลู่นอกทาง ให้ดำเนินตามครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างไร เหมือนพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร พระสาวกยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่เคลื่อนคลาด จนกระทั่งถึงความหลุดพ้น ด้วยการยึดหลักสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าให้แนบสนิทกับใจ กลายเป็นสาวกอรหันต์ขึ้นมา ๆ

เห็นไหมพวกเรา ได้กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้เป็นโมฆะเมื่อไร เป็นของพูดเล่นเมื่อไร พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นของเล่นเมื่อไร เป็นของจริงแท้ ๆ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้สร้างขึ้นมา เป็นความสว่างกระจ่างแจ้งแก่โลกแก่สงสารเป็นของเล่นเมื่อไร เป็นของจริงโดยแท้ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นผู้หลุดพ้นตามเสด็จพระพุทธเจ้าทันโดยแท้ไม่มีทางสงสัย

ขอให้สร้างใจของเราให้เป็นอย่างนั้นเถอะ เราจะยอมรับหมด พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ กี่ล้านกี่อะไรไม่สงสัย ธรรมเป็นยังไงไม่สงสัย เพราะเป็นอยู่ที่ใจนี่แล้ว ใจเป็นผู้รู้ ใจเป็นผู้เห็น ใจเป็นพุทธะ ใจเป็นธรรมะ ใจเป็นสังฆะผู้ทรงความบริสุทธิ์ของตนไว้เต็มสัดเต็มส่วนแล้วจะสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ที่ไหน ยืนยันกันที่ใจดวงนี้เอง นี่ละปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม ท่านเรียกว่า อกาลิโก อกาลิกจิต อกาลิกธรรม เป็นอันเดียวกันอยู่ภายในจิตของผู้ปฏิบัติ ของผู้หลุดพ้นนั้นแลจะเป็นที่ไหนไป

ฉะนั้นจึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติ อย่าท้อแท้อ่อนแอ อย่าโลเลโลกเลก อย่าเห็นว่าอันนั้นดีอันนี้ดี ไม่มีอะไรแหละ ในโลกนี้เต็มไปด้วยกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งเขาทั้งเรา เห็นกันแล้วเจอกันแล้วไม่ได้บ่นให้กันอยู่ไม่ได้ ต้องบ่นสู่กันฟัง เพื่อเป็นทางระบายความทุกข์ทั้งหลายที่มันอัดอั้นตันใจจะตายนั้นแหละออกมา เขาก็ระบาย เราก็ระบาย สุดท้ายก็มีแต่ลมเท่านั้น ทุกข์ไม่ได้ออกมาจากหัวใจ เพราะอะไร ก็เพราะไม่มีอะไรเป็นของอัศจรรย์นั่นเองภายในโลกนี้ แม้แต่จิตของเราเองแทนที่จะเป็นของอัศจรรย์ ก็บรรจุความทุกข์ความทรมานไว้เสียอย่างเต็มเอี๊ยด แล้วก็มาระบายกันเท่านั้น เป็นประโยชน์อะไร ให้พิจารณา

นักปฏิบัติเป็นนักใคร่ครวญ พระไม่ใคร่ครวญไม่มีใครใคร่ครวญในโลก เพศของพระเป็นเพศละเอียด เป็นเพศที่สุขุม เป็นเพศที่พินิจพิจารณา เป็นเพศที่อดที่ทน เป็นเพศที่ใคร่ครวญมาก เป็นเพศที่มีความเพียร ไม่ใช่เป็นเพศที่กินแล้วนอนกอนแล้วนิน ขี้เกียจขี้คร้านท้อแท้อ่อนแอ ทำอะไรไม่คิดไม่อ่านดังที่เห็น ๆ อยู่นี่ วันหนึ่ง ๆ อกจะแตก การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน มองดูกิริยาอาการ มองดูอะไรมันหากโดนหูโดนตา และเข้าไปโดนหัวใจอยู่จนได้ สอนเท่าไรมันก็ไม่พ้น ให้นำไปพิจารณาซิ

คนเราที่โง่ ๆ อยู่นี้แหละ เมื่อได้ฝึกหัดตัวของตัวให้เป็นไปตามหลักธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว จะเป็นผู้ฉลาดขึ้นมาโดยไม่ต้องถามใครแหละ เอาธรรมะพระพุทธเจ้าละเป็นเครื่องส่องทาง ดำเนินลงไป ๆ หากจะมีวันฉลาดจนได้แหละ ถ้าฉลาดไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านจะสอนไว้ทำไม พระองค์ทรงเคยฉลาดจากการฝึกการทรมานมาแล้วนี่ พระสงฆ์สาวกก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าวิเศษด้วยธรรม พระสาวกก็วิเศษด้วยธรรม เราก็พยายามฝึกตนของเราให้ฉลาดด้วยธรรมบ้างซิภายในใจ

ครูบาอาจารย์ก็หมดไป ๆ หาที่เกาะที่ยึดไม่ได้นะ หมดไป ๆ แทบจะว่าจริง ๆ แล้วเดี๋ยวนี้น่ะ การสอนจิตตภาวนาเป็นของสำคัญมาก พูดแล้ว สาธุ เราไม่ได้ประมาทคัมภีร์ใบลานตำรับตำรา อันนั้นเป็นตู้เป็นหีบยามีอยู่มาก เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ยาในตู้นั้นละแต่ละขวด ๆ แต่ละชิ้นละอันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ผู้ฉลาดที่จะนำมาใช้นั่นน่ะมันฉลาดไหม ถ้าผู้นำมาใช้ไม่ฉลาดก็ไม่เกิดผลประโยชน์อะไร นอกจากจะเกิดโทษอีกด้วยซ้ำ นี่ละเป็นข้อเทียบเคียง ต้องเป็นหมอเท่านั้นเป็นผู้จะนำยาเหล่านั้นมาใช้ได้เป็นผลประโยชน์แก่คนไข้ ผู้ไม่ใช่หมอเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะทำให้คนไข้ตาย

นี่ละพระพุทธเจ้า พระสาวกเป็นหมอชั้นเอก นำธรรมโอสถนี้ละคือยามาสอนสัตวโลก จึงสอนด้วยความแม่นยำถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่พื้น ๆ แห่งธรรมจนกระทั่งถึงวิมุตติธรรม ไม่มีผิดไม่มีคลาดเคลื่อน จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ๆ และดำเนินมาชอบแล้ว ทั้งรู้ชอบแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายรู้ชอบแล้ว สอนลูกศิษย์ลูกหาท่านจึงสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ

บรรดาศิษย์ทั้งหลายที่เข้าไปอาศัยครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ ๆ ทำไมท่านจะสอนคลาดเคลื่อนล่ะ ท่านจะสอนผิดพลาดไปล่ะ ก็เมื่อท่านรู้อยู่อย่างเต็มใจ เห็นอยู่อย่างเต็มใจในธรรมทั้งหลาย บริสุทธิ์พุทโธเต็มที่แล้ว ท่านจะสอนผิดที่ตรงไหน ต้องสอนถูกต้องแม่นยำ ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องต้องตายใจได้เลย ฝากเป็นฝากตายได้เลย หลับตาได้ให้ท่านจูง ไม่สงสัยว่าจะจูงลงนรกอเวจีที่ไหน จะจูงเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น เพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว ท่านผู้รู้จริงเห็นจริงท่านสอนอย่างนั้น ท่านจูงอย่างนั้น ท่านอบรมอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแต่ละครั้งละคราวนี้ ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานจึงมีมาก จะไม่มีมากยังไง ก็มีแต่ธรรมของจริงล้วน ๆ ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ผู้หาของจริงอยู่แล้ว ทำไมจะไม่ยึดเอาของจริงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มหัวใจเล่า นี่ละที่ความจริงของผู้รู้ธรรมเป็นเช่นนี้ เช่นเดียวกับหมอปริญญาที่เรียนมาแล้วด้วยความถูกต้องแม่นยำ ทดสอบทุกสิ่งทุกอย่างตลอดหยูกยาและวิชาความรู้ นำมาใช้จึงไม่ผิดพลาด นี่ก็พระสาวกทั้งหลายท่านเป็นเช่นนั้น และครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ที่ท่านได้ดำเนินมาแล้ว ผิดก็เป็นครูท่าน ถูกเป็นครูท่าน นำเอาทั้งผิดทั้งถูกนั้นแหละมาสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาด้วยความถูกต้องแม่นยำ จะไม่ผิดเหมือนอย่างท่านที่เคยดำเนินมาก่อน

การสอนจึงลำบากนะ การสอนทางด้านจิตตภาวนา เพียงแต่เราจะจดจำเอาจากคัมภีร์ใบลานมานั้น ดังที่กล่าวแล้วว่า สาธุ ไม่ได้ประมาท เราจะนำมาสอนไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่รู้ว่าธรรมะบทนั้น ๆ จะสอนเวลาใด สอนในกาลใด สอนในขณะใด ในขั้นใดภูมิใดของจิตตภาวนา ของแต่ละขั้นละภูมิของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย นี่สอนไม่ถูก นำมาใช้ไม่ถูก แต่ถ้าเป็นผู้รู้แล้วเห็นแล้วในทางภาคปฏิบัติ นับตั้งแต่สมาธิขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นแล้ว จะสอนตรงไหนสอนได้ทั้งนั้น เพราะรู้แล้วทั้งนั้นนี่ ใครจะควรสอนอยู่ในธรรมบทใด ควรจะได้สอนในธรรมแขนงใดแง่ใด ๆ รู้เข้าใจ ๆ ต้องสอนได้ถูกต้องโดยไม่ต้องสงสัย นี่ละจึงเป็นที่นอนใจ บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายที่ไปหาครูบาอาจารย์ผู้ท่านถูกต้องแม่นยำแล้ว ผลจึงเป็นที่คาดหมายกันได้ว่าไม่สงสัย จึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้ตั้งอกตั้งใจ

เวลานี้เราอยู่ด้วยกันไม่ใช่เป็นของเที่ยงแน่นหนามั่นคงอะไรนักนะ พลัดพรากจากกันไปทั้งไปทั้งมาทั้งเป็นทั้งตาย พลัดพรากกันอยู่ตลอดเวลา คำว่า อนิจฺจํ ๆ ทุกฺขํ อนตฺตา จะเป็นอะไรไป ถ้าไม่ใช่เป็นตั้งแต่พวกเรานี้ไปทุกรูปทุกนาม จนกระทั่งถึงครอบโลกธาตุ มันเป็นแบบเดียวกันหมด จะมานอนใจได้เหรอ

การเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ใช่เป็นของชินชาหน้าด้านนะ เป็นทุกข์จริง ๆ เช่นอย่างไฟเผาเรานั่นละ เราชินชาได้ไหมไฟเผาเรา ทุกข์เผาเราก็เหมือนกัน ทุกภพทุกชาติ เกิดต้องมีความทุกข์มาแล้ว พอเริ่มเกิดก็เริ่มทุกข์มาแล้วจะว่ายังไง เริ่มปรากฏทุกข์ขึ้นมาอย่างชัด ๆ แล้วตายก็เหมือนกัน ความเป็นอยู่แต่ละภพละชาติหาความสุขความสบายที่ไหนได้ เป็นแต่เพียงไม่พูดออกมาทุกขณะที่ทุกข์แสดงตัว ภายในร่างกายของเราและสัตว์ทั้งหลายเขาก็เป็นอย่างเดียวกัน

เพราะอำนาจของกิเลสนี้แหละเป็นตัวสำคัญที่สุด ที่สร้างทุกข์ให้สัตวโลกโดยทั่วกัน ได้รับความลำบากลำบนไม่สงสัย จึงขอให้พากันพินิจพิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของเรา อย่าได้ชินชากัน และรีบเร่งขวนขวายคุณงามความดีที่จะให้หลุดพ้นจากมันเสีย ได้วันนี้ขณะนี้ยิ่งเป็นของที่วิเศษที่สุดแล้ว ในเรื่องการพ้นจากทุกข์น่ะ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙

อาวุธของธรรม

ถาม หลวงตาครับ เวลาจะป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง เราต้องใช้กองทัพ ใช้ทหาร ใช้อาวุธ แต่หลวงตาบอกว่าจะเดินนำหน้าพวกเราเพื่อต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ ออกมาช่วยชาติ หลวงตาไม่มีอาวุธ ไม่มีกองทัพเลย หลวงตาคิดยังไงถึงออกมาช่วยในครั้งนี้ครับ

หลวงตา อันนี้ตอบยากเหมือนกันนะ เรามีอาวุธอยู่เต็มความสามารถของเรา ที่เราปราบความชั่วทั้งหลายของเรามาโดยลำดับ พระพุทธเจ้าก็มีเต็มพระองค์ สาวกมีเต็มองค์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบท่านก็มีอาวุธเต็มตัวของท่าน แต่การแนะนำสั่งสอนคนอื่นนั้นก็ต้องสอนโดยความเป็นธรรมไป จะว่าเป็นอาวุธนี่มันขัดกัน สอนด้วยความเป็นธรรม สิ่งใดที่เป็นข้าศึกอย่าพากันหาญทำ นี่ก็เรียกว่าเป็นอาวุธอันหนึ่ง คือธรรมาวุธ สอนบอกว่าอย่าทำ นี่คืออาวุธของธรรม ไม่ให้ทำความชั่ว เรียกว่าอาวุธของธรรม ท่านเรียกว่าธรรมาวุธ คือมีอาวุธเครื่องปราบศัตรูคือกิเลสตัณหาประเภทต่างๆ ที่อยู่ภายในใจ แล้วพยายามแก้ไขดัดแปลงและปราบปรามออกโดยลำดับ นี่ก็เรียกว่าอาวุธอันหนึ่งเหมือนกัน เอ้า มีอะไรว่ามาอีก

หลวงตา อ๋อ เรื่องภาระนี้ก็มีดังที่ท่านทั้งหลายเห็นแล้ว ก็ไม่ทราบจะแจงไปยังไง แต่ภาระที่มีภายในใจที่มีต่อโลกด้วยเมตตาธรรมนั้นมีตลอด อันนี้จะพูดให้ใครฟังก็พูดไม่ได้ ท่านเรียกว่าเมตตาธรรม มีอยู่ตลอดภายในจิตใจ แต่ส่วนที่จะช่วยโลกได้มากน้อยเพียงใด เป็นกิริยาที่แสดงออกดังที่พานำโลกทั้งหลายให้ปฏิบัติอยู่เวลานี้ นั้นแลเป็นอุบายวิธีการอันหนึ่ง

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์ตอบปัญหา ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

การภาวนาสามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตคนเราบางอย่างได้

ถาม คนที่ ๔ เขาถามมาว่า ชะตาชีวิตคนเรา ถูกกำหนดมาจากตัวเราในอดีต กระผมเคยได้ยินมาว่า การภาวนาสามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตคนเราบางอย่างได้
หากบำเพ็ญภาวนาอยู่เสมอ แล้วแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร กรรมหนักก็ย่อมเบาไปใช่หรือไม่ครับ

หลวงตา ใช่ก็มี มีส่วนใกล้เคียงกับใช่ก็มี เข้าใจเหรอ เท่านั้นแหละ ๒ อย่าง คือใช่ถูกต้องแล้ว อันหนึ่งเฉียด ๆ ก็คือว่ามีใกล้เคียงกัน เอาละพอ

ถาม ข้อ ๒ ครับ ถามว่า ทำไมหมอดูบางคน จึงทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ แสดงว่าชีวิตคนเรา ได้ถูกกำหนดมาจากกรรมแล้วใช่ไหมครับ

หลวงตา อย่าว่าแต่หมอนี้เลย หลวงตาบัวก็ทำนายถูกต้องแม่นยำด้วย เวลาทำนายเขานี้ไม่มีใครกล้ามาถามอีกนะ เราเอาอย่างอยู่หมัดเลย อย่างเขาทาย เขาว่าอีตานี้แกทำนายเก่งใช่ไหม มึงอยากให้กูทำนายมึงก็ถามมาซิ พอถามมาแล้วปั๊บ กูจะตอบเสียก่อน มึงไม่ต้องถาม นี่มึงตั้งแต่เป็นเด็ก แม่หวดเรื่อยใช่ไหม โอ๋ยแม่ไม่เคยหวด ไม่เคยดุมึงบ้างเหรอ สุดท้ายมันก็อยู่หมัด เข้าใจไหม แม่กับลูกไม่ดุไม่เฆี่ยนกันมีอย่างเหรอ แต่หลวงตานี้จะเอาให้แม่นยำกว่านั้นอีก พวกนี้เกิดมาด้วยกัน ตายด้วยกันทั้งหมด (หัวเราะทั้งศาลา) เข้าใจไหม เอ้อนั่น เราเอาให้แม่นยำ เท่านั้นแหละพอ คือตอบอย่างแม่นยำเลย

โยม เขาถามว่า ชีวิตถูกกำหนดมาจากกรรมใช่ไหมครับ

หลวงตา นี่มันก็ใช่อยู่แล้ว ใครก็อ่านฟังอยู่แล้ว มาจากกรรมดีกรรมชั่วของตน กรรมดีกรรมชั่วได้รับความสุขความทุกข์ อายุสั้นยาวนี้ก็เป็นไปตามกรรมของตัวเอง ที่ได้สร้างเอาไว้ มันก็มีอยู่แล้ว เราเลยไม่อยากตอบแหละ เข้าใจหรือ พวกหมอทั้งหลายเขาทำนายอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำ หลวงตาบัวยิ่งแม่นยำกว่านั้น ไม่มีข้อสงสัยเลยใช่ไหม พวกเราเกิดแล้วต้องตายด้วยกันหมด เข้าใจเหรอ (หัวเราะ) เอาละพอ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

ความคิดไม่ใช่จิต

โยม : กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพอย่างสูงยิ่ง ที่ว่าความคิดไม่ใช่จิต เมื่อปฏิบัติตามที่หลวงตาสอนภาวนาแล้วรู้สึกโล่ง
แต่สักพักจะเห็นอาการหมุน ๆ ของกิเลส วนเวียนๆ อยู่อย่างนี้ บางทีก็ติดสัญญา ควรดำเนินการต่อไปอย่างไรเจ้าคะ

หลวงตา : นั่นละมันคิด ให้ระงับจิตอย่าให้มันคิดเข้าใจไหม มันวนเวียนมันออกไปเป็นความคิดไปแล้วนั่นน่ะ ความคิดกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน
แต่เกิดขึ้นจากจิตเข้าใจเหรอ อย่าปล่อยให้มันคิด เวลาจะต้องการความสงบให้สงบด้วยธรรมบทใดก็ได้อย่างที่เขาเคยปฏิบัติเข้าใจไหมล่ะ
เช่น พุทโธ เป็นต้น ก็ได้ ให้สติตั้งอยู่ อย่างวันนี้พูดกันชัดเจนแล้วนะ เอ้า ว่าไป

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

ทำพระนิพพานให้แจ้ง โดยหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ

…….ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน หรือฌานมีองค์ 5 หรือฌาน 10 อะไร.. อะไร..โอ๊..จิปาถะ ไม่ต้องพูดอย่างนั้นก็ได้ เราจะเห็นว่ามันหลุดไปจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว เราก็ต้องไม่ไปทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น เพราะมันพ้นไปแล้ว นิโรธจึงว่าทำให้แจ้ง พ้นไปสิ่งเหล่านั้น เราก็ต้องไม่ไหว้ผีได้ หรือจะไหว้ผีก็ได้ แต่คนไม่มีหูมีตา ก็นึกว่าเขาไหว้ผีจริง แต่ความจริง เขาเคารพตัวของเขา ยกมือไหว้อย่าง…เคารพตัวของเราเอง เราทำดีแล้ว รูปอันนี้มันทำดีแล้ว คำพูดพูดออกไปนี่ พูดดีแล้ว ใจนี่มันคิดออกมานี่ คิดดีแล้ว เขาเรียกว่าเคารพตัวเอง ไหว้ตัวเอง เห็นตัวเอง ไม่เป็นคนประมาท ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น ขั้นแรกต้องรู้รูปนามก่อน ขั้นที่สองต่อไปนะ ไม่ต้องพูดไปให้มันมาก ต้องเห็น รู้ เข้าใจเรื่องโทสะ โมหะ หลุดพ้นไปแล้ว เวทนาจึงไม่ทุกข์ สัญญาเรียกว่าไม่ต้องจำ สังขารไม่ต้องปรุง วิญญาณแปลว่ารู้ วิญญาณไม่ใช่ตายแล้ว ล่องลอยไปเข้าท้องคนนั้น ไปเข้าท้องคนนี้ กลับมาเกิดเป็นคน อันนั้นมันเป็นวิญญาณของบุคคลผู้รู้อย่างนั้น แต่ความจริงตัวเองเข้าใจว่าวิญญาณคือรู้ ตาเรามี..บัดนี่ ตาหมดวิญญาณก็ไม่เห็น ไม่รู้ หูเรามี..บัดนี่ แต่หมดวิญญาณ…ไม่เห็น..ไม่รู้ จมูกเรามี หมดวิญญาณ ไม่รู้เหม็น ไม่รู้หอม ปากเรามี กินข้าวไม่รู้รส กายเราก็เหมือนกัน รูปนี่ หมดวิญญาณ…ไม่รู้สึกตัว ใจหมดวิญญาณ ก็คิดไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น จึงว่า ต้องมีวิญญาณ วิญญาณจึงเป็นการรู้แจ้ง รู้จริง เท่านั้นเอง

ดังนั้น คำว่าวิญญาณเนี่ยะ มันมีหลายคำที่สลับซับซ้อนกัน เราจะไปให้คนนั้นไม่รู้…ห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ถ้าเขาทำถูกจังหวะแล้ว เหมือนกับลูกกุญแจนี่ ซุกเข้าไปสอดเข้าไปนะ บิดเข้าไปถูกจังหวะ มันไขเอง มันเป็นธรรมชาติของมันจริงๆ เรื่องโทสะ โมหะ โลภะ ก็เช่นเดียวกัน เรื่องความยึดมั่นถือมั่นก็เช่นเดียวกัน เขาเรียกอุปาทาน มีเช่นเดียวกัน..บัดนี่ หรือศีลที่เป็นปกติก็เช่นเดียวกัน หรือความสงบก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็น รู้ เข้าใจแล้ว มันจะพ้นไปจากสิ่งที่ไม่รู้ มันจะหมดไปกับสิ่งที่ไม่รู้ มันจึงว่า นิโรธจึงทำให้แจ้ง มรรคจะต้องเจริญ แน่ะ…มันเป็นอย่างนั้น

บัดนี้ เมื่อถึงที่สุดทุกข์ คือ เราจะรู้จำพวกไปนั่งสงบว่า กาม พวกนั้นติดอยู่ในกาม กามาสวะ ตกอยู่ในอาสวะคือกาม ภวาสวะ ตกอยู่ในภพอันนั้น อวิชชาสวะ เขาไปไม่ได้ เพราะมันมียางเหนียว ดังนั้น สิ่งเหล่านั้นจึงหลุดพ้นไม่ได้ แม้ใครจะพูดยังไงก็ตาม ตกอยู่ใน 3 ประเภทนี้เอง กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อวิชชาคือความไม่รู้จริง ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น พวกที่ไม่รู้ ให้เขาทำไปก่อน แม้เขาอยู่ด้วยทุกข์ เขาจะไม่รู้ทุกข์ แต่เมื่อเขาเห็นแจ้ง เขาก็ออกจากทุกข์ได้ เพราะเขาเห็นทุกข์ เบื่อหน่าย คลายกำหนัด เขาว่าอย่างนั้น แต่อันนั้นเป็นคำพูด มันไม่ต้องเบื่อ ไม่ต้องหน่าย แต่มันหลุดพ้นไปจาก…. ความหลุดพ้นนั้น คือการเห็นแจ้ง ถ้าไม่เห็นแจ้งจะหลุดพ้นไม่ได้ เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น การพูดธรรมะให้ฟังวันนี้ เพื่อจับใจความ นำไปใช้ให้มันได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็นถึงที่สุดของทุกข์ ที่เล่ามานี่ ต่อไป แต่อารมณ์นั้นไม่ต้องพูดไปมาก ตอนที่ถึงที่สุดของทุกข์ พูดวานนี้ก็พูดแล้ว ที่ไหน อาตมาก็พูดอย่างนั้น เหมือนกับสำลีที่มันมีน้ำ สำลีที่มีน้ำ เราบีบออก สำลีมันจะคายน้ำจนหมดเลย เหมือนกับผ้า ที่สมัยนี้เขามีผ้าไนล่อน…อะไร ไปชุบน้ำ แต่ผ้าน่ะมันไม่จุ่มเอาน้ำเลย แต่..ผ้า..น้ำก็ติดขึ้นมา พอดียกขึ้น น้ำมันจะไหลออกหมดเลย มันเป็นอย่างนั้น เหมือนกัน(เน้นเสียง) จึงว่า มันหลุดแล้ว สิ่งนั้นออกจากกันแล้ว แต่มันก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะว่าคนนี่มันต้องกินข้าวปลาอาหารได้ เรื่องอาหารใหม่ อาหารเก่านั้น จะทำให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ อาหารกินเข้าไปในท้องแล้วนี่ จะทำให้หมดทุกข์ได้? ไม่ได้ แต่อาหารยังไม่ได้กิน จะทำให้หมดทุกข์ได้? ไม่ได้ เพียงแต่มาเลี้ยงร่างกายเท่านั้นเอง แต่ร่างกายนี้จะรู้อะไรไม่ได้

ดังนั้น อาหารใหม่ อาหารเก่านั้นน่ะ จะมาทำให้รู้แจ้ง เห็นจริง หลุดพ้นได้? ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของสัตว์ มันต้องเป็นอย่างนั้น ดังนั้น การกินข้าวปลาอาหาร ใครจะกินอันใดก็ได้ แต่ขอให้ทำถูกต้อง ถ้าไม่กินข้าว ทำไม่ถูกต้อง ก็ไม่รู้ ไม่หลุด ถ้ากินข้าว ทำไม่ถูกต้อง ก็ไม่รู้ ไม่หลุด ไม่กินข้าว ถ้าทำถูกต้อง ก็รู้ ก็หลุดได้ มันเหมือนกัน กินก็ได้ ไม่กินก็ได้ ถ้าทำถูกต้องนะ มันก็ต้องรู้ ต้องหลุดได้ ถ้าทำไม่ถูกต้อง กินก็ไม่ได้ ไม่กินก็ไม่ได้ เพราะเรื่องมันเป็นคนละเรื่อง

ดังนั้น อันความรู้สึกตัวได้น้อยเนี่ยะ มันเป็นผลที่พลอยได้ มันเป็นผลที่พลอยได้ ดังนั้น เขาเปรียบเอาไว้ การตักบาตรครั้งเดียว ได้ผลา 6 กัปป์ อาตมาเคยเป็นเณร ไปอ่านหนังสือให้คนฟัง ไปส่งอาหารพระตอนเช้า ได้ผลา 5 กัปป์ ไปส่งอาหารตอนกลางวัน ได้ผลา 4 กัปป์ กัปป์หนึ่งกว้าง 100 โยชน์ ลึก 100 โยชน์ ร้อยปีของเมืองคน จึ่งเป็นปีทิพย์ของเทวดา 1 ปี ร้อยปีของเมืองคนนะ จึ่งเป็นปีทิพย์ของเทวดา 1 ปี เทวดาจึงเอาเมล็ดงาไปทิ้งลงที่ในบ่อ กว้าง 100 โยชน์ ลึก 100 โยชน์นั้น ให้ราบเตียนหมดแล้ว นั้นเป็น 1 กัปป์ ท่านว่าอย่างนั้น

บัดนี้ เราไปใส่บาตรเพียงครั้งเดียว ได้ 6 กัปป์ บัดนี่ แล้วบัดนี้ เอายา…กับกาพระ หรือยากาหม่องเนี่ยะ เราตื่นมา เอาไปทิ้งใส่ทุกวัน ตื่นมา จนตาย ก็ไม่ได้…ไม่ได้เต็มเลย เป็นอย่างนั้น เนี่ยะ..เราไม่เข้าใจคำพูดสั้นๆ อย่างนี้ แล้วเราไปตีปัญหมปัญหากันเป็นเรื่องอื่น อันความรู้สึกตัวนี่แหละ อันกว้างร้อยโยชน์ก็หมายถึงเราไม่รู้สึกตัว หรือโมหะนั่นเอง มันมีโทสะ โมหะ โลภะ

บัดนี้ เม็ดหมากงาคือรู้สึกตัวนี่เอง เมื่อรู้เข้า ๆ ๆ ก็เลยรู้ทุกส่วน รู้ข้อมือ รู้ข้อข้อมือ รู้ข้อเข้า รู้ข้อศอก รู้ข้อแขน รู้ไปทุกข้อทีเดียว เมื่อรู้ทุกข้ออย่างนั้นนะ สมมุติพูดนะ มันจะรู้ลักษณะความเป็นมาอย่างนั้นๆ ไม่ต้องไปเรียนพระไตรปิฎกก็ได้ เพราะมันมีในเรา จึ่งมาศึกษาที่ตัวเรา กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ มีพร้อมแล้วให้เราศึกษาได้ทุกอย่างทีเดียว เมล็ดงาก็หมายถึงความรู้สึก หรือจะว่าสติก็ได้ อันมันกว้างร้อยโยชน์ก็หมายถึงเราไม่รู้สึกตัว เราเป็นคนประมาท คนประมาทนั้น ท่านจึงกล่าวเอาไว้ในตำราว่า เหมือนกับคนตายแล้ว ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับคนตายแล้วนั่นว่า เพราะว่ามันไม่รู้สึกตัวนี่ จะมีค่ามีคุณอะไร จึงว่า เมืองคนดี แต่เป็นคนไม่ดี ท่านว่าอย่างนั้น

เมืองคนดี ต้องเป็นคนดี ก็คือรู้สึกนั่นเอง คือเมล็ดงามันเต็มแล้ว นั้นแหละจึงว่าเป็นกัปป์เป็นกัลล์ขึ้นมา เรียกว่า พระศรีอริยเมตไตรย์จึงมาตรัสรู้ ท่านว่าอย่างนั้น แต่เราก็เลยไปติดเอาตำรา..ตัวอาตมาเอง พระศรีอริยเมตไตรย์มีอายุ 80,000 ปี แล้วจะมาเป็นมหากษัตริย์อยู่ 40,000 ปี จะไปประกาศพุทธศาสนา 40,000 ปี เราทำบุญให้ทาน ปรารถนาอยากไปเกิดที่ตรงนั้น แล้วมันจะไปเกิดได้ทำไม อันนั้นมันเป็นปุคคลาธิษฐาน เรื่องสมมุติเอามาพูดให้ฟัง จึงให้รู้จักสมมุติจริงๆ พระแปลว่าผู้ประเสริฐ ศรีคืองามตา ริแปลว่าข้าศึก ยะแปลว่าพ้นไป เรียกว่า พระศรีอริยเมตไตรย์ ลักษณะทั้งนี้แหละ รู้ได้ จึงว่า สิ่งนี้แหละเป็นสมบัติของพระอริยบุคคลก็ได้ สิ่งนี้แหละเป็นสมบัติของมนุสสภูโตก็ได้ สิ่งนี้แหละเป็นสมบัติของมนุษย์ก็ได้ แล้วแต่จะพูดสมมุติขึ้นมาเท่านั้นเอง

ดังนั้น เรามาที่นี่ วันนี่ อาตมาก็จะได้ลาจากพรรคพวกเพื่อนภิกษุสามเณร และญาติโยมทุกท่าน เพราะว่ามาตั้งแต่วันที่ 2 วันนี้ก็เป็นวันที่ 8 แล้ว จะกลับไปที่ทางโน้น เรียกว่า วัดสนามใน เพราะว่าวัดสนามในก็นัดเพื่อน ไม่ใช่เรานัด เพื่อนนัดเรามา ให้มาพบวันที่ 7 วันที่ 7 ก็เลยไม่ได้ไป วันนี้ก็ต้องเป็นวันที่ 8 แล้ว

ดังนั้น การเจริญสติก็ดี การเจริญสมาธิก็ดี การเจริญปัญญาก็ดี มันเป็นเพียงสมมุติ ให้เรารู้ว่าสมมุติ อย่าไปติดสมมุติ ถ้าคนใดไปติดสมมุติ แน่นปึ๊ดอยู่กับสมมุติ แสดงว่าคนนั้นแหละเรียกว่า วัฏฏสงสารยืนยาวนานสำหรับบุคคลผู้ที่ไม่รู้ธรรม หาบของหนักอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา

ดังนั้น เราจะวางภาระอันหนัก ภาราหาเว ปัญจะขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก เราต้องรู้จัก ขันธ์ห้าคืออะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เอง เป็นของหนัก เราปล่อยเสียแล้วนี่ ปล่อยของหนักแล้ว รูปไม่เป็นทุกข์ เวทนาไม่เป็นทุกข์ สัญญาไม่เป็นทุกข์ สังขารไม่เป็นทุกข์ วิญญาณจึ่งรู้สภาพไม่เป็นทุกข์นี่เอง วิญญาณจึงเป็นผู้รู้ ไม่ใช่วิญญาณตายแล้วไปเกิดเมืองสวรรค์ ไม่ใช่วิญญาณตายแล้วไปเกิดนิพพาน อันนั้นเอาไว้ก่อน ต้องศึกษาลักษณะปัจจุบัน ถ้าเราไม่ศึกษาลักษณะปัจจุบันแล้ว เราก็ไม่รู้ทุกข์ เมื่อเราไม่รู้ทุกข์ เราก็ขยับเข้าไปหาทุกข์นั่นเอง

ดังนั้น คนรู้ทุกข์ กับคนไม่รู้ทุกข์ จึงมันไม่เหมือนกัน รู้ทุกข์น้อย มันก็…ทุกข์ก็หมดไปน้อย ถ้ารู้มากๆ ทุกข์มันก็หมดไปมาก ถ้ารู้ทุกข์ให้จบให้สิ้น ทุกข์ก็เลยไม่มีเลย เพราะเราเห็นแล้ว แต่ทุกข์ก็มี แต่ทุกข์นั้นจะมาทำอะไรกับเราไม่ได้ เพราะเราเป็นใหญ่ในทุกข์ ถ้าเราเป็นน้อย ก็ทุกข์แล้ว..(พูดกลั้วหัวเราะ)..มันก็…ทุกข์ก็ต้องบังคับเราได้

อาตมาก็เคยพูดให้ฟัง ถ้าเราจะเป็นนักมวยจริงๆ แล้ว อย่าไปฝึกหัดกับครูมาก ฝึกหัดกับตัวเองให้มาก ถ้าไปฝึกหัดกับครูแล้ว…อาจจะได้ผลน้อย ถ้าฝึกบ่อยๆ กับคู่ต่อสู้ ขึ้นในเวทีต้องชกทันที แพ้-ชนะมันเป็นเกมส์กีฬา เมื่อชำนาญ เปรียว ไว คล่องแคล่ว ขึ้นไปในเวที ไม่ต้องไหว้ครูอะไร คู่ต่อสู้เข้ามา ชกหลุมตาทีเดียว ชกเข้าเบ้าตาสองตานี่เลย คู่ต่อสู้จะสู้เราไม่ได้จริงๆ

อันนี้ก็เช่นเดียวกัน พอดีมันคิดปุ๊บ เห็นปั๊บทันที ความคิดถูกหยุดเลย จะไม่มีเรื่องอะไรเลย มันจะกระทบกัน พอดีกระทบปุ๊บ มันแตกทันทีเลย พอดีมันแตกกะที มันก็เข้าสู่สภาพเดิมของมันจริงๆ

ถ้ามันไม่แตกแล้ว มันจะไม่เข้าสู่สภาพของมันจริงๆ นี่ ที่อาตมาเปรียบให้ฟัง เหมือนกับเชือกไนล่อน หรือจะเป็นยางก็ตาม ผูกส้นนั้นไว้กับเสานั้น ผูกส้นนี้ไว้กับเสานี้ เรามาตัดตรงกลาง ตัดปุ๊บ มันจะสะท้อนเข้ามาติดตรงนี้ทันทีเลย อันนั้นก็จะติดเข้าทันทีเลย

จังว่า มันขาดออกจากกันแล้ว มันก็สะท้อนเข้าไปอยู่กับธรรมชาติของมัน ที่มันดึงเข้าไปผูกกันได้นั่น อันนั้นมันเป็นยางเหนียว มันเป็นยางเหนียว ท่านจึงให้รู้ เห็น เข้าใจ เรื่องอุปาทาน เรียกว่า กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ก็เสวยทุกข์อันนั้นแหละ แต่เราไม่รู้ทุกข์อันนั้นแหละ จึงออกจากทุกข์ไม่ได้

คนที่รู้ทุกข์ เห็นทุกข์ แต่เขาไม่ได้อยู่ด้วยทุกข์ แต่อยู่ด้วยทุกข์ เขาจะไม่เข้าไปในทุกข์

เอาแหละ วันนี้ที่นำธรรมะมาเล่าให้ฟังในตอนเช้าวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว เพราะว่าการพูดนี้ มีประโยชน์น้อยกับพวกคุณ หรือพวกท่าน แต่มีประโยชน์มากสำหรับพวกคุณพวกท่าน นำไปปฏิบัติ ให้มันรู้สึกตัว รู้แล้วปล่อยไป รู้แล้วปล่อยไป ไม่ต้องเข้าไปยึดไปถือ และความเป็นเอง มันจะเป็นเอง แต่ไม่ทำ ไม่เป็น รู้เฉยๆ ไม่เป็น รู้เท่าไรก็ไม่เป็น เป็นอย่างนั้น

วันนี้จึงขอหยุดในการพูด การคุยกับพวกเราแล้ว ก็จะขอวิงวอนเอาถึงคุณของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าในประเทศอินเดียพู่นนะ ที่พูดนี้นะ พระพุทธเจ้าคือตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาที่มีอยู่ในเรานี่แหละ จะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ท้ายที่สุดนี้ อาตมาจึงขออ้างอิงเอาคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคุณของพระอรหันตสาวกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเตือนจิตสะกิดใจของพวกเรา ให้พวกเรา ได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกนี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว จึงว่า สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคต ไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำอย่างที่เราตถาคตนี้ และก็จะรู้อย่างเราตถาคตนี้ แล้วก็จะเห็นอย่างเราตถาคตนี้ ก็จะหลุดพ้นไปอย่างเราตถาคตนี้ อันนี้ เราไม่ทำ ไม่ทำ มันจะเป็นมั้ย? เหมือนกับลูกกุญแจนั่นเอง ไม่ใช่เป็นลูกของมัน มันจะไปไขมันออกมาใด้ทำไม

ดังนั้น ต้องทำอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ให้มีความรู้สึกตัว อย่าไปกำหนดมาก อันว่ารู้สึกตัว กับกำหนดเนี่ยะ มันผิดกันนะ อันนี้เรียกว่าสติ ความระลึกได้ แต่ไม่ต้องระลึกถึงวานนี้ ไม่ต้องระลึกอะไร คือว่า รู้สึกตัวนั่นแหละ เป็นการที่สัมผัส หรือว่าผัสสะ หรือว่าระลึกได้ หรือว่ารู้ได้ เท่านั้นเอง

ต่อเมื่อเรากระทบสิ่งแข็งๆ กระทบกัน แตกออกจากกันแล้ว มันเข้าสู่สภาพเดิม นั้นแหละ คือรู้แจ้ง รู้จริง ผิดไปจากธรรมชาติเดิมแล้ว ขอให้พวกเราทุกคนๆ ได้พบเอาในชีวิตนี้ จงทุกท่านทุกคน เทอญ

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_thien/lp-thien_24.htm

กิเลสตายด้วยปัญญา

พูดให้สติหมู่เพื่อนให้ข้อคิดอุบายวิธีต่อสู้กับกิเลส ไม่งั้นไม่ทันมันง่าย ๆ นะ ละเอียดสุดทีเดียว แต่เมื่อรู้เรื่องของมันเสียหมดจนปราบมันอยู่หมัด พูดง่าย ๆ นะ แล้วนั้น มันจะแสดงอยู่ที่ไหนมันรู้ที่นี่ ไม่ว่ามันจะแสดงออกมากับคน ออกมากับสัตว์รู้หมด มันมีแต่เรื่องอันเดียวทั้งนั้น พอเรารู้ทันมันแล้วมันก็หมดหนทางทำลายเรา กิเลสนี้ละเอียดเอาจริง ๆ นะ หมดเนื้อหมดตัวนี่ก็มันทั้งนั้นครอบอยู่หมดทุกขุมขน เพราะฉะนั้นจึงแก้มันยากนะ ต้องเอาจริง ๆ ใช้ความพินิจพิจารณา ใช้ความอดความทนพากเพียร เอาให้เต็มที่เต็มฐาน เพราะเราตั้งหน้าตั้งตาจะเอาชนะมันอยู่แล้ว จะให้แพ้มันมันสมควรเหรอกับเราผู้ตั้งใจจะเอาชนะมัน แต่แล้วกลับแพ้มันอย่างหลุดลุ่ย ๆ ฟังแต่ว่าหลุดลุ่ย ๆ นั่นเถอะ ไม่เป็นท่าอะไรเลย

นี่ได้เคยปฏิบัติมา โอ้โห พิจารณาย้อนหลัง แหม บางทีจะร้องห่มร้องไห้และน้ำตาร่วงคิดดูอย่างตอนจิตเสื่อม แหมมันเสียใจเสียจน ถ้าเป็นทางโลกก็เรียกว่าผูกโกรธผูกแค้น พอได้ที่เท่านั้นละแหม ทีนี้กำลังทางความเพียรความเป็นนักต่อสู้ไม่ทราบมาจากไหน ถ้าเราเทียบแบบโลกนะ ฆ่าคนได้เขาฆ่ากันได้เพราะเหตุนี้เอง มันเคียดแค้นอย่างถึงใจ แต่นี้มันเป็นเรื่องของธรรมไม่จัดว่าเป็นกิเลสเสีย เป็นฝ่ายมรรค คือพลังของธรรมขึ้นเต็มที่ต่อสู้กับกิเลส ถ้าเป็นทางโลกนี้ก็เรียกว่าเป็นสมุทัย เป็นความอาฆาตจริง ๆ อันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เป็นพลังของธรรมไม่ยอมที่จะให้แพ้ได้อีกต่อไป ให้เสื่อมอีกต่อไปได้

ตั้งแต่นั้นมาเหมือนเป็นอาจารย์เอกทีเดียว ไปที่ไหนนี่มันฟิตตัวของมันปั๋ง ๆ ไม่คุ้นกับใครเลยแหละ จ่อหัวมันอยู่นั่นเลย แล้วจิตก็ไม่เสื่อมเพราะกิเลสและธรรมไม่ชอบคนเซ่อนี่ เซ่อตรงไหนมันเข้าตรงนั้นละกิเลส ธรรมท่านก็ไม่ได้สอนให้เซ่อ สอนให้ฉลาด แต่สุดท้ายมันก็มาจมอยู่ในสมาธิจนได้ มันเอาช่องหนึ่งจนได้กิเลส

เวลาสมาธิได้อย่างใจแล้ว ที่นี่ก็เลยติดสมาธิเสียไม่อยากออกพิจารณาทางด้านปัญญา เห็นว่าลำบากลำบน เข้าอยู่ในความรู้แน่วอยู่อันเดียว ไม่กระทบกระเทือนกับอะไรเพราะไม่ออกมาสู้กับอะไรนี่ อยู่เท่าไรก็ได้ ก็ติดตรงนั้นเสีย กิเลสก็ไปกล่อมตรงนั้นอีกแหละ ติดสมาธิไม่เป็นกิเลสจะเป็นอะไร ความหลงความติด ความติดสุขมันก็เป็นสมุทัยเสีย แน่ะ มันเอาจนได้นะ ยังดีพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านขนาบออกมันถึงออก ไม่งั้นไม่ยอมออกง่าย ๆ นะ

เวลาออกจากสมาธิเพื่อปัญญา มันก็ออกอย่างแหวกแนวเหมือนกัน นิสัยผมมันผาดโผนรู้เจ้าของ ผาดโผนจริง ๆ เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ผู้มาสอนก็ต้องฉลาดจริง ๆ ถึงจะสอนได้ อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่มีทางตำหนิแล้ว เวลามันออกมันก็ออกอย่างผาดโผน ออกแบบไม่ยอมเข้า มีแต่จะออกท่าเดียว ว่ากิเลสตายด้วยปัญญา ก็เลยมีแต่จะเอาปัญญาไม่คำนึงถึงสมาธิเลย แล้วตำหนิสมาธิด้วยซ้ำว่านอนตายอยู่เฉย ๆ แน่ะ มันไม่พอดี เวลาผ่านไปถึงรู้ นั่นเป็นครูหมด

เวลาจะตายจริง ๆ ก็เข้าสมาธิ แต่บังคับเข้านะไม่งั้นไม่ยอมเข้า จะตายจริง ๆ ยังต่อสู้กันอยู่ไม่ถอย เพียงยกมือไปแปะ ๆ มันต่อยไม่ได้หมดกำลัง เอามือไปแปะ ๆ กัน เอาหมัดไปแปะ ๆ กัน มันไม่มีกำลังจะต่อยก็ยังไม่ถอยจิตนี่ นั่นละมันจะตายจริง ๆ ก็หมุนตัวเข้ามาสู่สมาธิ บังคับเข้า สุดท้ายก็เอาพุทโธกำกับนะ ไม่งั้นมันจะผึงออกไปทำงาน ไม่ใช่มันจะไปไหนนะมันจะผึงไปสู่งาน บังคับไว้อย่างขนาดนั้นทีเดียวผมน่ะ นิสัยมันผาดโผน บังคับไว้ ๆ เอาจริงเอาจัง พุทโธให้ถี่ยิบไม่ยอมให้ออก สักเดี๋ยวจิตก็ค่อยสงบเข้ามา ๆ เพราะมันจริงทุกอย่างนี่ เวลาสงบก็จริงไม่ยอมให้ทำงาน จิตจะออกไม่ให้ออกบังคับไว้ โอ๋ย เป็นภาระจริง ๆ เป็นธุระภาระจริง ๆ ใส่เข้าไปมันก็สงบแน่วลง โห เหมือนกับถอดเสี้ยนถอดหนามนะ จิตมีกำลังวังชาเบาโหวงเทียวในตัวนี่ จิตแน่ว พักให้เต็มที่ เรื่องถอนไม่ต้องบอก พอแต่ปล่อยเมื่อไรจะออกผึงเลย ผึงก็ผึงใส่งานนะไม่ใช่ผึงไปไหนแหละ

พอถอนออกมาปั๊บก็ปุ๊บเลย เอ้า ปล่อย มันกระหน่ำกัน ถ้าคมมีดก็เหมือนมีดได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว คนก็ได้รับประทานอาหารได้พักผ่อนนอนหลับให้สบายแล้ว งานก็งานชิ้นนั้นมันทนไปได้ยังไง มีดก็มีดเล่มนี้แหละแต่ได้ลับหินแล้ว คนก็คนคนนี้ผู้ทำงานแต่มีกำลังวังชาแล้ว พักผ่อนนอนหลับรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ฟันลงไป งานชิ้นนี้ไม้ท่อนนี้ขาดสะบั้นไปเลยคราวนี้ แต่เพราะความด่วนนั่นเองละ ความเห็นโทษมาก ความด่วน รีบด่วน จิตจึงไม่อยากจะเข้าสมาธิ

ก็เห็นคุณค่าอยู่แต่มันก็เห็นคุณค่าแห่งการต่อสู้มากยิ่งกว่าสมาธิ จนกระทั่งจิตผ่านของมันไปแล้ว มันฟัดมันเหวี่ยงกันจนผ่านไปแล้วทีนี้ถึงมาเป็นบทเรียนทั้งหมด อุทธัจจะ ท่านว่า ความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ฟุ้งซ่านไปโน่นนะ ความฟุ้งความเพลินในงานที่ตนทำ ที่ตนแก้กิเลสนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ในนิวรณ์ ๕ กับอุทธัจจะอันนี้ต่างกันคนละโลก มันเหมือนกันได้ยังไง

อุทธัจจะในนิวรณ์ ๕ ก็มีอยู่ในคนทั่ว ๆ ไป แต่อุทธัจจะอันนี้จิตเพลินในการพิจารณา การต่อสู้กับกิเลส เพลินจนลืมพักผ่อนในสมาธิ ท่านเรียกอุทธัจจะ คือจิตไม่รอบตัวก็เป็นสังโยชน์อันหนึ่ง มานะก็หมายถึงจิตดวงผ่องใสนี่แหละ ที่ว่ามานะ ๙ นั่น เอาผ่องใสนี่ยกขึ้นเป็นเขี้ยวเป็นเขาขึ้นมา ท่านถึงได้ว่า สามสามเป็นเก้า ตนต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา ตัวเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา ตนยิ่งกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา เก้าแล้วนั่น เอาอันนี้แหละเป็นเขี้ยวเป็นเขา พออันนี้พังลงไปแล้วเอาอะไรมาเทียบมาเคียง เอาอะไรมาฟัดมาเหวี่ยงกันไม่มี เขี้ยวเขาก็หมดไปแล้ว

เขี้ยวเขาก็เขี้ยวเขาของอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่น พอต่อยเขี้ยวมันหักลงไปแล้ว จะเอาอะไรมาแข่ง อยากสู้กับอะไรอีก อยากสู้ก็ไม่อยากสู้ กล้าก็ไม่กล้า กลัวก็ไม่กลัว ความกล้าความกลัวมันก็เป็นกิเลสทั้งมวล นี่ละที่ว่ามานะ ๙ พอจากอวิชชานี้แล้วถืออะไร มันไม่มีที่ถือนี่ จะไปบอกให้มันถืออะไรอีก ลงในนี้หมดนั่นแหละ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ รูปราคะก็ยินดีใน แต่สำหรับผมการปฏิบัติของผมผมว่ายินดีภาพภายในจิต เพราะเราปรากฏอย่างนั้น เป็นภาพภายในจิต ข้างนอกมันสละมาแล้ว มันเป็นภาพอันหนึ่งอยู่ภายใน มันก็มายินดีในการพิจารณานี้

ความยินดีในการพิจารณานั้นแหละท่านเรียกรูปราคะ ไม่ได้เป็นราคะตัณหาแบบโลก ๆ ทั้งหลายเขาเป็นนะ แต่มันไม่มีศัพท์อะไรที่จะมาใช้ให้เหมาะสมกับนี้ท่านก็ว่าราคะ คือความเพลิน ความพอใจในการพิจารณาอยู่กับอันนั้น พอใจกับอันนั้น แต่มันไปปรากฏเป็นภาพภายใน ภาพภายนอกมันออกหมดแล้ว มันปล่อยทิ้งก็เป็นภาพภายใน พออันนี้ออกหมดแล้วมันก็ว่างนี่

อรูปราคะมันไม่มีรูป ก็ยินดีในความว่างของตัวเองเสีย นี่พูดตามหลักปฏิบัติที่ประจักษ์กับเจ้าของเราพูดได้อย่างนี้ หรือจะว่ายินดีในสุขเวทนาก็ยกให้ แต่มันไม่เด่นเหมือนเป็นความว่างนี้ มันว่าง ๆ หมด มองดูภูเขาทั้งลูก ตามันเห็นพอเป็นเงา ๆ นี่ แต่จิตมันทะลุไปหมด มองดูหินทั้งก้อนนี้ ก้อนใหญ่ ๆ เท่ากุฏินี่มองดูมันพอเป็นเงา ๆ แต่จิตมันว่างหมดแล้ว มองดูร่างกายเจ้าของนี่ก็เหมือนกับเป็นเงา ๆ อย่างว่าอีกเหมือนกัน อันหนึ่งมันทะลุไปหมด

มันว่างถึงขนาดนั้น แต่หารู้ไม่ว่าตัวผู้ที่ไปว่าเขาว่างมันไม่ได้ว่างนี่ เหมือนกับคนที่อยู่บนหัวตอนี่มองไปที่ไหนมันก็ว่างไปหมด แต่หัวตอที่ยืนเหยียบอยู่นั้นมันไม่ดู มันว่างที่ไหนก็หัวตอนั่นน่ะ มันไม่ดูตรงนั้นซิ การพิจารณาทางภาคปฏิบัติสำหรับผมเองเป็นอย่างนั้น ก็ยกให้ตามถนัดมันลางเนื้อชอบลางยา ผมมันมาถนัดเอาความว่าง มันติดอยู่ในความว่าง อรูปราคะยินดีอยู่ในความว่าง เพลินอยู่ในนั้น ฝึกซ้อมกันอยู่นั้นเอากันอยู่นั้น มานะก็ถือจิต อุทธัจจะ ความเพลินในการค้นคว้าการพินิจพิจารณา

อวิชชาก็ถือตัวนี้แหละ พออันนี้หมดแล้วถืออะไร ก็มันถืออยู่ตรงนั้น มันติดอยู่ตรงนั้น ก็ถือตรงนั้นยินดีในนั้น พออันนั้นหมดไปแล้วไม่เห็นไปยินดีกับอะไร ไม่เห็นไปถืออะไรไปติดอะไร ทีนี้พออันนี้หมดไปแล้วมันก็ว่าง ว่างรอบตัวที่นี่ มันไม่ว่างอยู่กับตรงนั้นตรงอวิชชา เหมือนกับว่าเราขึ้นเหยียบอยู่บนหัวตอ อวิชชาเป็นเหมือนหัวตอ มองไปทางไหนว่างหมด แต่หัวตอที่เรากำลังเหยียบอยู่นั่นไม่ได้มองลงไป มันไม่ว่างตรงนั้น พอย้อนมาดูหัวตอที่เราเหยียบ หัวตอก็พังไปด้วยกัน ทีนี้ก็ว่างไปหมด ว่างเป็นขั้น ๆ นี่เราก็เคยเทศน์และพิมพ์ออกเป็นหนังสือแล้ว ออกเป็นกัณฑ์เทศน์แล้วอยู่ในแว่นดวงใจก็มี ความว่างมันว่างรอบตัว จากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรจะพูด

เราพูดถึงเรื่องสมาธิว่า ในขณะที่จิตเป็นสมาธิมันก็ว่าง พอถอนออกจากสมาธิแล้วมันไม่ว่าง ออกจากนั้นมันก็ว่าง ว่างเป็นฐานของจิตดังที่พูดแล้ว ขึ้นไปอยู่บนหัวตอมันก็ว่าง ว่างตามฐานของจิต ถึงจิตจะเข้าสมาธิก็ว่าง ออกมาแล้วความว่างก็มีประจำจิต เรียกว่าเป็นฐานของจิต ว่างประจำฐานของจิตที่ชำระได้ เราก็พูดไปแล้ว จากนั้นก็ว่างในความเป็นจริงของจิต คือว่างทั้งจิตด้วย ไม่ว่าแต่อันนั้นว่างอันนี้ว่าง เจ้าของไม่ว่าง เจ้าของเองก็ว่างมันก็วางไปหมด วางอันนั้นกับวางอันนี้แต่เจ้าของไม่วางเจ้าของมันก็ยังไม่ว่าง พอมาวางเจ้าของเมื่อไรมันก็ว่างเมื่อนั้น เรียกว่าว่างตลอดทั่วถึง

แต่เราเขียนในนั้นเราเพียงแต่ว่าว่างนี้ว่างขั้นสุดท้ายตามกำลังของเรา เราว่าไปอย่างนั้นเสีย ใครจะมีกำลังเหนือนั้นก็เอาไปซีถ้าไปได้ ถึงนั้นแล้วมันก็รู้ด้วยกันทุกคนแต่ไม่จำเป็นจะต้องไปพูด เพราะพูดไว้สำหรับผู้ปฏิบัติให้พิจารณา ไปถึงนั้นมันจะเลยไปไหนอีก เอ้า ลองดูซิ

เพราะฉะนั้นพระกรรมฐานหรือผู้ปฏิบัตินี้มีภูมิจิตภูมิใจสูงต่ำขนาดไหน พอมาพูดต่อกันฟังเท่านั้นแหละ มันอ่านหัวใจกันนี่ พิจารณายังไงทุกวันนี้นั่นถาม พิจารณาอย่างนั้น ๆ นั่นบอกแล้วนะนั่น อ่านหัวใจแล้ว เปิดหัวใจให้อ่านแล้ว พิจารณาอย่างนั้น ๆ ทราบแล้ว ทราบทันทีว่าอยู่ในขั้นใดภูมิใด ถ้าสมมุติว่าสิ้นสุดไปแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องราวของจิตปั๊บออกมาเท่านั้นไม่ต้องมาก รู้ทันที

สนฺทิฏฺฐิโก ไม่มีปัญหา พระพุทธเจ้าประทานไว้ไม่มีปัญหาจริง ๆ นี่ ที่มีปัญหาก็มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นพาให้เป็นปัญหา ตัวนี้ตัวมืดนี่มันปิดตรงไหนมืดตื้อไปเลย ตัวของมันไม่ได้มืด มันฉลาด แต่เวลามันปิดตาสัตว์โลกมันทำให้มืดมิดปิดตา ลืมบุญลืมคุณ ลืมนรกสวรรค์ไปหมด ไม่ให้เห็น ดีกลับเป็นชั่ว พลิกทางสันเป็นคมไปหมดฟันเจ้าของแหลก

ใครจะไปอ่านมันง่าย ๆ กิเลส รู้ขนาดไหนก็รู้เถอะ ถ้าไม่รู้ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้นี้ไม่มีทางว่างั้นเลย เรากล้าพูดได้เต็มปาก วิชาใดก็ตาม ใครเรียนมาจากไหนก็ตาม ถ้าไม่ใช่วิชาธรรมพระพุทธเจ้า ยังไงกิเลสหนังไม่ถลอก นอกจากจะเป็นเครื่องเสริมกิเลสเข้าไปอีก ถ้าวิชาธรรมเข้าไปจับแล้วกิเลสตัวไหนก็ขยะ ๆ แล้วหมอบ ๆ ดีไม่ดีเรียบ

อ่านหัวใจนี่ซิมันสำคัญมากนะ ดูนอกมันดูง่าย ดูโน่นดูนี่ ดูต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศเป็นยังไง แต่มาดูหัวใจนี้ดูยาก เพราะกิเลสพาให้ยาก ถ้าเรียนเรื่องของกิเลสจะเรียนยากอะไร เรียนกันง่าย เพราะกิเลสพาให้ง่ายนี่

อย่างนี้ที่ท่านว่าเป็นมหาสติมหาปัญญา เวลาท่านมีอธิกรณ์ พระอรหันต์มีคนฟ้องเหมือนกันนี่ครั้งพุทธกาลมีนี่ พระพุทธเจ้าท่านยกมหาสติขึ้นรับ แต่ก่อนพระพุทธเจ้าเป็นประธานเป็นสักขีพยาน พระองค์รับสั่งอย่างไรแล้วเป็นความจริงนี่ ใครไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็หมด นอกจากเทวทัตเท่านั้น กลายเป็นเทวทัตกี่คนก็ไม่เชื่อเท่านั้นคน ฟ้องพระอรหันต์ถึงขั้นที่สุดก็มีนี่ เป็นปาราชิก โอ๊ย อย่าไปฟ้องเธอ เธอเป็นสติวินัยแล้ว ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านเอามาใช้ตอนนั้นสติวินัย

คือรอบตัวแล้ว เป็นอฐานะ พูดง่าย ๆ พูดอย่างเราให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ว่า อันหนึ่งจิตวิมุตติ อันมาฟ้องร้องนี้เป็นสมมุติทั้งมวลมันเข้ากันได้ยังไงกับวิมุตติน่ะ นี่พูดตามหลักความจริง อันนั้นวิมุตติหลุดพ้นแล้วจากสมมุติทั้งมวล เหตุใดสมมุตินี้จะเอื้อมเข้าไปถึง ฟ้องท่านเป็นสังฆาฯ ปาราชิกอะไรได้อีก เพราะไม่ใช่วิสัยนี่ จิตดวงนั้นไม่ใช่วิสัยของสมมุติ การฟ้องร้องนี่จะเอื้อมเข้าไปถึงได้ไง เท่านั้นก็หมดปัญหา

มีพระอรหันต์เท่านั้นท่านจะเป็นสักขีพยานกันได้ เพราะท่านเป็นธรรมด้วยกัน ท่านเห็นด้วยกัน ท่านรู้ด้วยกัน ท่านแน่ด้วยกันในสิ่งเหล่านี้ นอกนั้นก็เป็นไม่ได้ ครั้งพุทธกาลก็มีพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นอรหันต์องค์เอกจะว่าไง ใครมาฟ้องพระพุทธเจ้าก็รับสั่งเสีย อย่าง วักกลิ ๆ คนถ่อย ๆ อย่าไปว่าเธอ คือใครก็ไปตำหนิติเตียนท่านองค์นั้น เธอเคยสั่งสมกิริยานี้มาตั้งนานแสนนานแล้วจะไปแก้ได้ยังไงจริตนิสัย ไปว่าเธอทำไม จริตนิสัยของใครของเราก็เป็นสมบัติของใครของเรา จริตนิสัยไม่เป็นโทษเป็นกรรมอะไร พระองค์ว่าอย่างงั้นก็หยุดแล้ว

บางองค์ก็กิริยามารยาทสวยงาม ใครก็ว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะคนก็คาดว่าพระอรหันต์ต้องมีกิริยามารยาทที่สวยงามนิ่มนวลมาก นี่เป็นความคิด แต่ไม่ได้คำนึงถึงนิสัย นิสัยเป็นของดั้งเดิม ความเป็นอรหันต์เป็นความสิ้นจากกิเลส กิเลสไม่ได้อยู่ในกิริยาอันนี้ เพราะสิ่งนี้มันยังไม่ดับ ดับได้เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น พร้อมทั้งนิสัยและวาสนา นอกนั้นดับไม่ได้

พระสันตกาย พระสงฆ์ทั้งหลายขึ้นไปทูลพระพุทธเจ้าด้วยความชมเชย ว่าแหมเป็นเหมือนท่านเป็นพระอรหันต์ ทูลถามพระพุทธเจ้าตรง ๆ ก็มีว่าเป็นพระอรหันต์แล้วยัง พระสันตกายนี่ ให้ชื่อว่าสันตกาย สันตกายก็แปลว่าผู้มีกายอันสงบนั่นเอง มารยาทเรียบร้อยสวยงาม ก็ตรัสบอกว่า โอ้โห นี่เธอเคยเป็นราชสีห์มาตั้ง ๕๐๐ ชาติ เธอได้เคยเป็นมาอย่างนี้

ยกราชสีห์ขึ้นมา ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีสติดีมากเหมือนกับเสือ เวลาจะนอนราชสีห์จะต้องกำหนดอวัยวะทุกสัดทุกส่วนไว้เรียบร้อย ตื่นขึ้นมาแล้วเมื่อเห็นอวัยวะส่วนใดเคลื่อนไหวจากที่วางไว้เดิมแล้ว ราชสีห์จะไม่ลุกขึ้นหากิน จะนอนใหม่ตั้งใหม่ จนกระทั่งตื่นขึ้นมาอวัยวะส่วนใดที่วางไว้ เช่น หู หางอย่างนี้เป็นปกติแล้วจึงจะลุกขึ้นหากิน แผดเสียงเอี้ยวกายบิดกายแล้วออกหากิน นี่เธอได้เคยฝึกมารยาทแบบนี้มาเป็นเวลานานแล้วจากกำเนิดราชสีห์

จากนั้นท่านก็เลยยกธรรมะเป็นพุทธพจน์ขึ้นว่า สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ อุปสนฺโตติ วุจฺจติ ผู้มีกายอันสงบด้วยความประพฤติ ผู้มีวาจาอันสงบ ผู้มีใจอันสงบจากกิเลสทั้งหลาย ผู้มีโลกามิสอันละได้โดยประการทั้งปวงแล้วด้วยจิตที่บริสุทธิ์นั้น นั้นแลปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า อุปสนฺโต เรียกว่าผู้สงบรอบตัว พระสันตกายก็เลยได้บรรลุธรรมในขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่าอย่างงั้น พระองค์นั้นก็ได้สำเร็จในขณะนั้น

การสำเร็จของพระอรหันต์แต่ก่อนเราก็ไม่ได้พิจารณาอะไรมากนัก ประการหนึ่งเวลาเรียนมันวุ่นกับการเรียน เวลามาปฏิบัติก็วุ่นกับการต่อสู้กับกิเลส ไม่ค่อยได้คิดอ่านอะไรมากนัก ไม่ค่อยมีโอกาส พอหลังจากนั้นมาก็เอามาพิจารณา ท่านสำเร็จนี้เราเทียบกันได้กับตอนที่เราฟังเทศน์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ฟังคราวนี้จิตเป็นอย่างนี้ ฟังคราวนั้นเป็นอย่างนั้น คือมันค่อยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มันก็ทำให้เชื่อแน่ว่า องค์ที่ท่านมีอุปนิสัยที่ควรจะรู้เร็วอยู่แล้ว พอฟังคราวนี้ปั๊บท่านเลื่อนระดับเข้าใจนี้ชัด ๆ แล้วในขณะเดียวกันก็เข้าใจนี้ปั๊บ ๆ แล้วตามทัน หากผู้ไม่ทันในคราวนี้ ฟังคราวต่อไปเลื่อนขึ้นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ไปได้

พระมากต่อมาก คนมากต่อมาก สำเร็จมรรคผลนิพพานมากต่อมากก็เพราะว่ามันมากต่อมากที่ฟังอยู่เรื่อย ๆ ด้วยกัน แล้วค่อยเลื่อนขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเชื่อที่นี่ เชื่อเอาอย่างไม่สงสัยเลย ใครจะว่าบ้าก็ว่าเถอะ บ้าแบบนี้ว่างั้นเลยนะ ไม่ยอมถอนบ้าแบบนี้ ไม่ยอมแก้ว่างั้นเลย มันมีสักขีพยานอยู่แล้วในขณะที่ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น จิตมันเปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนตัวของมันเรื่อย เรากำลังพิจารณาอยู่ในจุดนี้เวลานี้ เอ้า ฟังเทศน์วันนี้ท่านจะว่ายังไง พอเทศน์มาจวนจะถึงจุดนั้น เพราะท่านเทศน์แบบเหินฟ้านี่ แบบเรือบินเหินฟ้า

เทศน์ตั้งแต่สมาธิขึ้นไปเรื่อย ๆ พอดีเรากำลังพิจารณาอยู่จุดนั้น เรากำลังติดอยู่จุดนี้ กำลังต่อสู้กันอยู่จุดนี้ท่านจะว่ายังไง พอมาถึงจุดนี้ท่านก็พุ่งเลย เพราะท่านเข้าใจหมดแล้ว เราก็ได้อุบายปั๊บ พุ่งตาม เอ้าไปได้จุดนี้ก่อน ฟังในวาระต่อไป กำลังพิจารณาอยู่จุดนั้น พอไปถึงจุดนั้นมันก็เป็นอีก ๆ เราถึงเชื่อ อ๋อ ที่ท่านผ่านพ้นไปในครั้งพุทธกาลเพราะเหตุนี้เอง ยิ่งผู้ที่เป็นบัวอยู่บนผิวน้ำอยู่แล้วก็ยิ่งเร็ว ประเภทอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ก็ยิ่งเร็ว

ตั้งแต่พวกเนยยะ บึกบึนไปหลายครั้งหลายหนก็โผล่ขึ้นมาได้ นอกจากปทปรมะ หูหนวกตาบอดแปดทิศแปดด้าน ไม่สนใจเรื่องอรรถเรื่องธรรมเรื่องเหตุเรื่องผลนรกสวรรค์นิพพานอะไรทั้งสิ้น นอกจากสนใจแต่ความทะเยอทะยานไปตามกิเลสตัณหา ให้มันลากไปจนถลอกปอกเปิก ไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่รู้บุญรู้บาปเท่านั้น พวกนี้พวกปทปรมะ ตกนรกไม่มีวันขึ้นมาได้เลย ในชีวิตนี้มันก็ตกอยู่ในภายในใจ พอตายลงไปแล้วจะไปไหน นิสัยของคนบอกอยู่ในหัวใจนั้นจะไปไหน เรื่องก็บอกอยู่แล้ว

ปลายกระสุนปลายปืนนั้นมันชี้ไปตรงไหน พอปั้งมันก็ต้องไปตรงนั้นจะไปตรงไหน นี่มันบอกอยู่ในตัวของมัน มันเล็งดูตัวของมันเสร็จแล้ว ว่ามันจะไปทิศใต้ทิศเหนือ สูงต่ำขนาดไหนมันบอกอยู่ในจิตหมด พอขาดร่างนี้ปั๊บก็ปุ๊บเลย เหมือนกับเหนี่ยวไกปั้งเดียวก็พุ่งลงนรกเลยไม่สงสัย

การเกิดการตายเป็นสิ่งจำเจของสัตว์โลกเพราะอันเดียวนี้ เพราะฉะนั้นการแก้จึงต้องใช้ความพยายามเต็มที่เต็มฐาน เอาเป็นเอาตายเข้าฝากมอบไว้เลย เพราะยังไงก็ถึงวาระเราจะตาย ไม่ได้ทำความเพียรทุกข์ก็จะบีบคั้นเอาจนกระทั่งถึงเราตายเหมือนกันแหละ นี่ทุกข์เพราะความเพียรไม่ถึงขั้นตายนี่วะ นอกจากกิเลสจะตายก่อนเราด้วยซ้ำไป เรายังไม่ตายกิเลสตายเสียก่อน ถ้าลงได้เอากันขนาดนั้นแล้ว เราจะยังไม่ตายกิเลสมันตายก่อน

พระพุทธเจ้าก็เพียงขั้นสลบกิเลสตาย พระสาวกทั้งหลายก็เห็นไหมล่ะประกอบความพากเพียร ที่ท่านยกมาเด่น ๆ ตาแตกไม่ตาย กิเลสตาย เดินจงกรมฝ่าเท้าแตกไม่ตาย กิเลสตาย ฝ่าเท้าแตกนี้ก็ต้องเป็นแบบที่ผมว่านี่ละ นี่มันหยั่งไปโน่นนะ ทำไมอยู่ธรรมดาเดินจงกรมฝ่าเท้าแตก ต้องมีเครื่องพาท่านหมุน เราก็เอาความรู้ขี้หมูราขี้หมาแห้งเรานี่ก็น่าจะเทียบได้ เทียบแบบของเรา ตั้งแต่เราอยู่พื้นแผ่นดินเรายังมองขึ้นไปพระอาทิตย์สูง ๆ ได้ อันนี้ทำไมเราต่ำ ๆ เราจะพูดถึงเรื่องธรรมพระพุทธเจ้าสูง ๆ ไม่ได้ พูดเรื่องธรรมของท่านผู้มีความเพียรกล้าไม่ได้ ท่านกล้าเพราะเหตุไรเราก็ยังมีเงื่อนอันหนึ่ง

เวลาถึงขั้นมันเพลินในความเพียรมันลืมจริง ๆ ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ลืมหิวลืมกระหายอะไรทั้งนั้น แม้ที่สุดน้ำก็ไม่ได้กิน ก็ไม่เคยสนใจ มีแต่จิตหมุนติ้ว ๆ อยู่ภายใน คิดดูซิเดินจงกรมตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จแล้วจนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาดนานหรือไม่นาน มันรู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไรกับเวล่ำเวลาน่ะ นอกจากมันหมุนอยู่กับความเพียรภายในจิตติ้ว ๆ ทีนี้เมื่อหลายวันเข้าไป ๆ ฝ่าเท้าจะไม่แตกได้ยังไง

เราไม่ถึงฝ่าเท้าแตกแต่ออกร้อน โอ้โห เหมือนไฟลนแหละ พอมาถึงที่พักถึงรู้นะ ตอนนั้นไม่รู้ แดดก็ไม่รู้ร้อน มันไม่สนใจกับแดดกับฝนอะไร แต่ไม่ได้เคยตากฝนเดินจงกรม แต่ตากแดดนี่เคยแล้วเรา เอาผ้าอาบน้ำมาพับครึ่งแล้วก็มัดผูกบนศีรษะนี้แล้วก็มาผูกใส่คาง เหลือแต่ตา เดินจงกรมกลางแจ้งทีเดียวบนไร่ร้างสวนร้างเขา เอากันอยู่นั่น ไม่มีร่มเลย ร่มไม่ร่มช่างหัวมัน ฟาดลงนั้นเลย ทำได้นะไม่สนใจกับร้อนกับหนาวอะไรเลย เพราะอันนี้มันรุนแรงภายในใจ

บทเวลาถึงเวลาปัดกวาดออกจากที่มา มาเห็นกาน้ำนี่แหมมันอยากน้ำจนจะเป็นจะตายจริง ๆ นะ ตอนนั้นจิตไม่ได้ออกนี่ โดดใส่กาน้ำรินน้ำฉันนี่สำลักกั้ก ๆ มันจะตาย ผมไม่ลืมนะ ในขณะนั้นจิตไม่ออกเสียอย่างเดียวมันหมดแหละความหิวความกระหาย ทีนี้เรื่องการเดินจงกรมว่าฝ่าเท้าแตกผมไม่สงสัย เพราะเหตุนี้พาให้แตก ท่านก็เร่งของท่านอย่างนั้นถึงขั้นเพลิน ส่วนที่จะบังคับเอานั้นก็มีส่วนแต่น้อยมาก ส่วนเป็นไปตามหลักอัตโนมัติหลักธรรมชาติแห่งความเพียรของท่านในขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้ผมยอมรับทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ฝ่าเท้าแตกไม่สงสัย เพราะมันบอกอยู่ในตัวแล้วนี่

มันลืมไปหมดเรื่องความหิวความกระหายอะไร หมากพลูบุหรี่อะไรอย่ามายุ่งเลยมันไม่สนใจ อย่าเข้าใจว่ามันจะมาคิดเลยนะ อย่างหมากพลูนี้เหมือนกันผมบางที ๖ เดือน ๗ เดือนก็ไม่แตะ บางทีเกือบปีก็มีเวลาประกอบความเพียรนี่นะ ในพรรษาบางพรรษาไม่เคยแตะสักคำเดียวก็มี ฉันไปอย่างนั้นแหละ อันนี้ก็ทำไปอย่างนั้น จะหยุดเมื่อไรมีปัญหาอะไร นี่เราก็เห็นว่าทางเดินของศรัทธาญาติโยมที่เป็นบุญเป็นกุศลของเขา มาตามกำลังศรัทธาของเขาเราก็ทำไปอย่างนั้น เพราะไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่

การฉันหมากนี่เสียอะไรเราก็คิดแล้ว เราพิจารณาอยู่แล้วไม่เห็นมีอะไรเสียหายทางมารยาทความประพฤติหน้าที่การงานอะไรไม่เห็นเสียหาย จะพาให้ล่มจมอะไรก็ไม่มี คิดไปหมดไม่ใช่เราไม่คิด เพราะฉะนั้นเวลาไปอังกฤษจึงได้สั่งทันทีเลย พวกลูกศิษย์ลูกหาในดอนเมืองเขาจะส่งหมากพลูบุหรี่ไปให้เป็นกล่อง ๆ เขาว่าไม่เสียเงิน จะส่งให้ถึงที่เลย เจ้าหน้าที่ของเขาทางโน้นมี โอ๊ย อย่าส่ง เขาเอามาเป็นลัง ๆ เอามา ๆ เอามาเดี๋ยวนี้เราจะเปิดฉันเดี๋ยวนี้แล้วเอาไปถวายพระวัดไหน ๆ ก็แล้วแต่นะ จะฉันให้ทุกกล่อง ๆ นั่นแหละ นี่เป็นคำสุดท้าย ห้ามไม่ให้ส่งไปเป็นอันขาด นี่เป็นคำสุดท้าย เพียงเท่านี้หยุดไม่ได้สอนคนให้เป็นประโยชน์อะไร แล้วอย่าส่งไปเป็นอันขาดนะ ส่งไปก็ไม่แตะถ้าลงว่าไม่ฉันแล้วนะ

ใครจะกล้าส่งเมื่อพูดอย่างเด็ดขาดแล้วเราจริงอย่างนั้นด้วย ส่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์ไม่แตะเลยจริง ๆ นี่ ถ้าลงว่าหยุด ๆ จริง ๆ พอมาลงดอนเมืองนี้ โอ๋ย พวกนี้พวกเข้านอกออกในเต็มอยู่สนามนั่นแล้ว ก็มีแต่เมียเจ้าเมียนายใหญ่ ๆ โต ๆ เข้านอกออกในได้หมด พอเรือบินมาจอดลานบินเท่านั้นละ อาจารย์อยู่ไหน ๆ ยุ่ง เสียงจอแจ ๆ คนนั้นก็ยกจานหมาก ๆ เหมือนเราหิวเราโหยจะตายมาจากที่ไหน คนนั้นก็ยื่นคนนี้ก็ยื่น จะให้รับของใครก่อนใครหลัง เต็มข้างเรือบิน

เขาคิดว่าเราจะหิวจะโหย เราจะมีอะไร เป็นอย่างงั้น ทำไปอย่างงั้นแหละ สมมุตินิยมอันไหนไม่ขัดข้องไม่เป็นข้าศึกต่อธรรมต่อวินัยเราก็พิจารณาซิ จะให้ฆราวาสเขามาสอนเราทำไม จะว่าเป็นทิฐิมานะเราก็ไม่เห็นมี ห้ามพระสูบบุหรี่ ฉันหมากบ้างอะไร ๆ พูดตำหนิติเตียนพระอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวที่มันตำหนิมันละอะไรได้บ้างล่ะ มันไม่อายเจ้าของบ้างเหรอ มาหาเกาที่ไม่คัน ไอ้ตรงที่มันคัน ๆ ทำไมไม่เกาบ้างให้มันหายคัน ถ้าสนใจเกาเจ้าของบ้างมันจะดีนี่นะ พูดขายเจ้าของเปล่า ๆ

พระไม่มีเหตุผล ถ้าพระเป็นผู้มุ่งต่อความเป็นพระของพระพุทธเจ้าจริง ๆ ต้องมีเหตุผลมีหลักเกณฑ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่จะทำแบบสุ่ม ๆ เดา ๆ ไปนี่วะ เพราะฉะนั้นคนอย่างผมนี้การที่จะมาห้ามปรามก็ดีมาผลักไสไปไหนก็ดี ถ้าไม่ใช่เหตุผลแล้วอย่ามาบอก อย่ามาห้าม อย่ามาฉุดมาลากไว้ ถ้าเหตุผลผมเส้นเดียวไม่ข้าม หยุดทันที และไปทันทีและทำทันทีถ้าเป็นเหตุผล อย่างธรรมดานี่ไม่ได้เรื่องแหละเรา เพราะเราปฏิบัติต่อตัวเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น เหตุผลคือความถูกต้องดีงาม รวมกันลงแล้วเป็นธรรม เราเคยปฏิบัติของเราได้ผลมามากน้อยเราเห็นคุณค่าของเหตุผลนี้อยู่แล้ว ของไม่มีเหตุผลเอามาใช้ทำไม

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
http://www.luangta.com
(คัดลอกบางส่วน)