กรรมและวิบากของกรรม

som00916

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

การพิสูจน์ทางโลก

เดี๋ยวนี้เมื่อพูดว่าอะไรเป็นอะไร ก็มักจะถูกถามว่า พิสูจน์ได้หรือไม่ เหมือนอย่างวิธีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ อันทุกๆ สิ่งที่ปรากกขึ้น หรือดังที่เรียกว่าปรากฏการณ์นั้น ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้แน่ ในเมื่อมีเครื่องพิสูจน์ที่เพียงพอ แต่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ชนิดไหนก็สุดแต่สิ่งที่จะพิสูจน์ ถ้าสิ่งที่พิสูจน์นั้นเป็นวัตถุหรือสสาร ก็พึงพิสูจน์ด้วยเครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้เป็นต้น ถ้าสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น จะใช้เครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นก็หาได้ไม่ ถ้าจะพึงใช้เครื่องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ทุกอย่างแล้ว ศาลหลวงก็ไม่ต้องตั้งขึ้น เพราะเมื่อใครถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าทำผิด ก็จับตัวมาเข้าห้องวิทยาศาตร์พิสูจน์ ไม่ต้องขึ้นศาล ในบัดนี้แม้จะมีเครื่องจับเท็จ ก็ใช้เป็นเพียงเครื่องมือประกอบเท่านั้น ใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยเด็ดขาดหาได้ไม่ ฉะนั้นจะพิสูจน์อะไรก็ต้องมีเครื่องพิสูจน์ที่ควรกัน กล่าวอย่างสรุป เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นวัตถุหรือสสาร ก็ใช้เครื่องพิสูจน์ในทางนั้น เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นความจริงที่นอกไปจากวัตถุหรือสสาร ก็ต้องใช้เครื่องพิสูจน์อย่างอื่นที่จะชี้ถึงความจริงนั้นๆ ได้ ดังวิธีที่ทั่วโลกก็ใช้กันอยู่แล้ว เป็นต้นว่า

การพิสูจน์ความผิด เมื่อบุคคลถูกกล่าวฟ้องร้องว่าทำผิดกฏหมาย ก็ต้องพิสูจน์กันตามวิธีที่บัญญัติไว้ในกฏหมายเช่น สืบสวน สอบสวน ไต่สวน พิจารณาวินิจฉัยโดยยุติธรรมตามกฏหมาย

การพิสูจน์ภูมิรู้สติปัญญา เรื่องนี้จะชั่งตวงวัดอย่างวัตถุหรือจะคำนวนด้วยวิธีคณิตศาสตร์ ให้รู้ว่าใครมีสติปัญญาเท่าไรหาได้ไม่ เพราะมิใช่เป็นสิ่งที่มีส่วนกว้างบางตื้นลึกหนักเบาอย่างสิ่งของ ฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีให้แสดงออกเหมือนอย่างในครั้งโบราณ ผู้ที่ไปเรียนสำเร็จศิลปศาสตร์มาแล้ว ก็แสดงศิลปศาสตร์นั้นในที่ประชุมชน ในบัดนี้ก็ใช้การสอบต่างๆ ตั้งเป็นข้อสอบให้ตอบ เมื่อตอบได้ตามกฏเกณฑ์ก็รับรองว่าสอบได้ มีภูมิรู้ชั้นนั้นชั้นนี้ แม้การวัดภูมิสติปัญญาที่เรียกว่าไอคิวของฝรั่งก็เป็นวิธีตั้งปัญหาให้ตอบเช่นเดียวกัน แล้วก็ตัดสินว่ามีสติปัญญาขนาดนั้นขนาดนี้ วิธีพิสูจน์ด้วยการสังเกตจากการแสดงออกนี้ก็คล้ายเป็นการทำนายอย่างหมอดู ซึ่งทำนายไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เป็นความจริงอย่างเต็มที่เหมือนอย่างรู้ด้วยญาณ (ความหยั่งรู้จริง) แต่เรียกว่าเป็นญาณสมมติก็พอได้คือต่างกับญาณ เมื่อใช้วิธีเป็นที่รับรองกันแล้ว เช่นวิธีสอบดังกล่าว ก็เป็นใช้ได้

การพิสูจน์มติและจิตใจ เมื่อต้องการจะรู้ว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไร จะใช้เครื่องชั่งตวงวัดเป็นต้น ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องใช้วิธีให้แสดงออกมา ในทางการเมืองเช่นออกเสียงเลือกตั้งออกเสียงแสดงประชามติ ในการประชุมเช่นการอภิปราย การลงมติ และในส่วนปลีกย่อย เฉพาะเรื่อง เฉพาะบุคคล ก็ใช้วิธีแหย่ให้บุคคลนั้นแสดงออกมา และสังเกตจากอาการที่เขาแสดงออกมานั้น แต่ถ้าเขาไม่แสดงอาการอะไรออกมาแล้วก็จะรู้ไม่ได้ เว้นไว้แต่จะมีญาณหยั่งรู้จิตใจของเขาเท่านั้น

การพิสูจน์ต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ แสดงว่าเครื่องพิสูจน์นั้นมีต่างๆ เมื่อวัตถุก็นำเข้าห้องวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นความผิดก็นำเข้าโรงศาล เมื่อเป็นภูมิรู้ก็นำเข้าสอบไล่ เมื่อเป็นจิตใจก็แหย่ให้แสดงออก ดังนี้เป็นต้น คราวนี้เป็นกรรมจะนำเข้าวิธีไหน? จำนะเข้าโรงศาลหรือจะนำเข้าห้องสอบไล่ดังกล่าวแล้วเป็นต้น ก็คงไม่ได้ผล จึงต้องนำเข้าพิสูจน์ตามหลักเหตุผล อันเป็นเหตุผลอย่างธรรมดาสามัญที่สามารถจะเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกของทุกๆ คน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

การพิสูจน์ตามหลักเหตุผล

ทุกๆ คนเมื่อตากแดดก็ร้อน เมื่ออาบน้ำก็เย็น เมื่อได้รับความร้อนเย็นตามที่ต้องการก็เป็นสุข เมื่อได้รับเกินต้องการก็เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้เป็นสุขหรือทุกข์เหล่านี้ เรียกว่าเหตุ ส่วนความสุขหรือทุกข์ที่ได้รับ เรียกว่าผล ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดสุข ก็เรียกว่าดี ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดทุกข์ก็เรียกว่าชั่วร้าย เหตุผลที่เกิดจากการทำของบุคคลก็เช่นเดียวกัน เช่นเมื่อผู้ใดมารังแกตัวเราให้เดือดร้อน เราก็เห็นว่าคนนั้นไม่ดีเกเร เมื่อมีผู้ใดมาช่วยเหลือเกื้อกูลตัวเราให้เป็นสุขสบาย เราก็เห็นว่าคนนั้นเป็นคนดี เป็นคนมีคุณเกื้อกูล ตัวอย่างง่ายๆ ดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องแสดงว่าทุกๆ คน ต่างก็มีสามัญสำนึกบอกตัวเองอยู่ว่า ความดีและความชั่วมีจริง เพราะเรารู้สึกตัวของเราเองว่าคนนั้นทำดีแก่เรา คนโน้นทำชั่วร้ายแก่เรา และในทำนองเดียวกันตัวเราเองก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่า ตัวเราทำดีหรือไม่ดีอย่างไร จนถึงบางทีรู้สึกภูมิใจในความดีของเรา หรือเสียใจในความชั่วของเรา ในเมื่อเกิดรู้สึกตัวขึ้น อันความดีหรือความชั่วที่ตัวเราทำหรือที่คนอื่นทำซึ่งปรากฏในความรู้สึกของเรานั้น คืออะไรเล่า? ก็คือกรรมนั่นเอง เป็นกุศลกรรม (กรรมดี) บ้าง เป็นอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) บ้าง ฉะนั้น กรรมจึงมีจริงและมีตัวอยู่จริง เพราะติดอยู่ในความรู้สึก ในจิตใจของตัวเราเอง ท่านผู้ทำความดีให้แก่ตัวเรา เช่า มารดาบิดา และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย พระคุณของท่านเหล่านี้ย่อมติดอยู่ในจิตใจของตัวเรา เกิดเป็นความกตัญญู (รู้พระคุณที่ท่านได้ทำ) และกตเวที (ประกาศพระคุณที่ท่านได้ทำแล้ว คือการตอบแทนพระคุณท่าน) ในทางตรงกันข้าม เมื่อใครทำไม่ดีต่อเรา ก็มักจะติดใจตัวเรา กลายเป็นผูกเวรกันต่อไปได้เหมือนกัน กรรมของคนอื่นยังติดใจตัวเราเองอยู่ได้ถึงเช่นนี้ ไฉนกรรมของเราเองจะติดใจตัวของเราเองอยู่ไม่ได้ เราไม่สามารถจะแกล้งลืมกรรมของเราได้ ถึงจะลืมไปแล้วก็ยังฝังอยู่อย่างลึกซึ้งในจิตใจ เพราะกรรมเกิดจากเจตนาของเรา จึงเป็นรอยจารึกของจิตใจ

กรรมและวิบาก

เมื่อรู้ว่ากรรมมีจริง ทำดีเมื่อใดเป็นกรรมดีเมื่อนั้น ทำไม่ดีเมื่อใดเป็นกรรมชั่วเมื่อนั้น ปัญหาต่อไปจึงมีว่า กรรม-วิบาก คือผลของกรรมมีหรือไม่ และมีอย่างไร คิดดูง่ายๆ ในเวลาสอบไล่ เมื่อได้รับข้อสอบคิดออกตอบได้สอบไล่ได้ การที่ตอบได้สอบไล่ได้เป็นผลดี เกิดจากความตั้งใจเรียนดี นี้แหละคือกรรมดีทำให้เกิดผลดีคือสอบไล่ได้ ถ้าตรงกันข้ามเรียนอย่างเหลวไหลจนถึงสอบไม่ได้ นี้เป็นกรรมชั่ว ทำให้เกิดผลชั่วคือสอบตก ฉะนั้น ผลของกรรมจึงมีอยู่จริง และมีตามชนิดของกรรม คือผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว เพราะกรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่วเสมอ ไม่สับสนกัน เหมือนอย่างต้นมะม่วงให้ผลเป็นมะม่วง ต้นขนุนให้ผลเป็นขนุน เป็นไปตามชนิด

แต่ยังมีปัญหาต่อไปอีก กรรมและกรรมวิบากนั้นเป็นของใคร คิดดูง่ายๆ อย่างการเรียนการสอบดังกล่าวแล้ว คนไหนเรียนคนนั้นรู้ คนไหนไม่เรียนคนนั้นไม่รู้ ถ้าไม่เรียนใครจะมาบันดาลให้ใครรู้ขึ้นเองหาได้ไม่ ฉะนั้น กรรมและกรรมวิบากจึงเป็นของของคนที่ทำกรรมนั้นเอง ผู้ใดทำกรรมอย่างใดก็ย่อมได้ผลกรรมอย่างนั้น เหมือนอย่างหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทุกๆ คนจึงต้องรับผิดชอบต่อกรรมของตนเอง จะป้ายไปให้คนอื่นไม่ได้ คนที่ทำดี เช่นประพฤติตนเรียบร้อย ช่วยทำกิจที่เป็นประโยชน์เป็นต้น จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็เป็นคนดีขึ้น เพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะชมหรือไม่ก็ตาม ตัวผู้ทำเองก็รู้สึกตัวเองว่าทำดี คนที่ทำไม่ดี เช่นประพฤติตนเกะกะระราน เป็นหัวขโมยเป็นต้น ก็เป็นคนชั่วขึ้นเพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะติหรือไม่ก็ตาม ตัวผู้ทำเองก็รู้สึกว่าตัวของตัวทำชั่ว อาจจะป้ายความผิดให้ผู้อื่น ด้วยการหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิด แต่จะหลอกตัวเองไม่ได้ ตัวเองย่อมรู้สึกสำนึกว่าตัวเองอย่างเต็มที ฉะนั้น เมื่อทำดีทำชั่วแล้ว จึงปัดดีปัดชั่วออกไปให้พ้นตัวเองไม่ได้ เพราะรู้สึกตัวเองอยู่ทางจิตใจของตน ใครจะแย่งดีไปจะใส่ชั่วให้ก็ไม่ได้ นอกจากจะหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิดเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

สรุปความว่า เมื่อคิดพิสูจน์ด้วยสามัญสำนึกตามเหตุผลอย่างง่ายๆ ในเรื่องความดีความชั่วทั่วๆ ไปที่มีอยู่เฉพาะหน้า ก็จะเห็นได้แล้วว่า

๑. กรรมมี คือมีความดีความชั่วในการทำของทุกๆ คน
๒. กรรมวิบากมี คือมีผลดีของความดี มีผลชั่วของความชั่ว
๓. กรรมเป็นของผู้ทำ คือใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลกรรมอย่างนั้น

เมื่อกล่าวเฉพาะตัวของเราเองแล้ว เมื่อเป็นกรรม ของเราเองยิ่งพิสูจน์ได้ง่าย คือนำเข้าพิสูจน์ในห้องใจของเราเอง เพราะเรารู้ตัวเราเองได้ดี แต่ข้อสำคัญเราต้องมียุติธรรม คือไม่ลำเอียง เหมือนอย่างการพิสูจน์วิตถุหรือสสารในห้องวิทยาศาสตร์ เครื่องพิสูจน์ต้องใช้ได้ หรือการพิสูจน์ความผิดในโรงศาล โรงศาลก็ต้องยุติธรรม

คัดลอกมาจากหนังสือ “หลักกรรมในพระพุทธศาสนา” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร