Monthly Archives: มกราคม 2013

มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตตาวาสวรรคที่ ๓
ฐานสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป ประเสริฐกว่า
เทวดาชั้นดาวดึงส์และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป
ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ
ไม่มีทุกข์ ๑
ไม่มีความหวงแหน ๑
มีอายุแน่นอน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปประเสริฐกว่า
พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป
ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่า
พวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป
ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ
อายุทิพย์ ๑
วรรณะทิพย์ ๑
สุขทิพย์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์ประเสริฐกว่า
พวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป
ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่า
พวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์
ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ
เป็นผู้กล้า ๑
เป็นผู้มีสติ ๑
เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปประเสริฐกว่า
พวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์
ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๑๙/๓๗๙

ผู้ไม่เข้าใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำ
พัดลอยมาในแม่น้ำคงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง
จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบกไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า สัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญฝั่งนี้ได้แก่อะไร
ฝั่งโน้นได้แก่อะไร
การจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร
การเกยบนบกได้แก่อะไร
มนุษย์ผู้จับคืออะไรอมนุษย์ผู้จับคืออะไร
เกลียวน้ำวนๆ ไว้คืออะไร
ความเป็นของเน่าในภายในคืออะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุ คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖
คำว่าฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖
คำว่าจมในท่ามกลางเป็นชื่อแห่งนันทิราคะ
คำว่าเกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ
ดูกรภิกษุ ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา
ดูกรภิกษุนี้เรียกว่ามนุษย์ผู้จับ

ดูกรภิกษุอมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ย่อมประพฤติพรหมจรรย์
ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้
เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ดูกรภิกษุนี้เรียกว่าอมนุษย์ผู้จับ

ดูกรภิกษุคำว่าเกลียวน้ำวนๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕
ดูกรภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ
มีการงานปกปิดไว้ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็น
พรหมจารีเป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย
ดูกรภิกษุ นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าในภายใน ฯ

ก็โดยสมัยนั้นแล นายนันทโคบาลยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นแล
นายนันทโคบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เข้า
ใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูก
เกลียวน้ำวนๆ ไว้จักไม่เน่าในภายใน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะถ้าอย่างนั้น ท่านจงมอบโคให้เจ้าของเถิด ฯ
น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคที่ติดลูกจักไปเอง ฯ
พ. ท่านจงมอบโคให้แก่เจ้าของเถิด นันทะ ฯ
ครั้งนั้นแล นายนันทโคบาลมอบโคให้แก่เจ้าของแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มอบโคให้เจ้าของแล้ว ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค นายนันทโคบาลได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็แลท่านพระนันทะอุปสมบทแล้วไม่นานเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๔

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๑๙๘/๔๐๒ ทารุขันธสูตร

การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

* สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย

* การบำเพ็ยจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว
ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว
เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์
ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ
เป็นสมาธิผิด ไม่พ้นทุกข์
ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์

* การพิจารณาอย่างใด้จิตหนีออกนอกกายนี้
จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ ก็อย่าได้ท้อถอย
เพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ล่ะ
จะพิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ
หรือให้เห็นเป็นธาตุก็ได้
หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์
หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ได้ทั้งนั้น
แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริงๆ
ตลอดอิริยาบถทั้งสี่
แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วจะหยุดเสียเมื่อไร
จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ
เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว
สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก

* การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก
การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี
ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม
รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน
ใจนี้คือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจคือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดอยู่นั่นเอง

* ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ
ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม
คืออาศัยการกำหนดพิจารณาธรรม
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีปรากฏอยู่
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่
ได้ยินอยู่ สัมผัสอยู่ ปรากฏอยู่ จิตใจเล่าก็มีอยู่
ความนึกคิด รู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดี และร้ายก็มีอยู่
ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอก ภายใน ก็มีอยู่
ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือ
ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ
เช่น ใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงมา
พินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายมีอยู่เสมอแล้ว
ชื่อว่า ได้ฟังธรรมทุกเมื่อแล

* ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว
แต่หารักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน
จะปรารถนาจนวันตายรวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด
วิมุตติธรรมก็ฉันนั้นนั่นแล
มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้
คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูก
หรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนวันตาย
จะประสพวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

รวมคำสอนของพระเถระรูปสำคัญ
http://www.khonnaruk.com

ต้นไม้ที่ไร้ประโยชน์

๏ ฮุ่ยจื๊อพูดกับจางจื๊อว่า
ข้าพเจ้ามีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง
ชนิดที่เขาเรียกกันว่าต้นไม้ที่ใช้การอะไรไม่ได้
ลำต้นคดงอ
เป็นปุ่มเป็นป่ำ
จะเลื่อยออกเป็นกระดานตรงๆ สักแผ่นหนึ่งก็ไม่ได้
กิ่งก็บูดเบี้ยว
จะตัดมาทำอะไร
ดูไม่ได้เรื่องทั้งสิ้น

๏ มันขึ้นอยู่ข้างถนนนั่นแน่ะ
ไม่มีช่างไม้คนไหนสนใจมันเลย ฯ

๏ ต้นไม้นี้ฉันใด คำสอนของท่านก็ฉันนั้น
ช่างยิ่งใหญ่และไร้ประโยชน์

๏ จางจื๊อตอบว่า
ท่านเคยเฝ้าดูแมวป่าบ้างหรือไม่
มันหมอบคอยหาอาหาร
แล้วกระโดดไปทางโน้นที ทางนี้ที
เดี๋ยวกระโดดสูง เดี๋ยวกระโดดต่ำ
แต่ในที่สุดตัวเองก็ติดบ่วงพราน ฯ

๏ แล้วท่านเคยเห็นตัวจามรีบ้างไหม
ว่ายิ่งใหญ่ยังกับพายุเมฆ
ยืนแสดงอำนาจ ฯ
ทั้งใหญ่และมั่นใจ
แต่ก็จับหนูไม่ได้ ฯ

๏ สำหรับต้นไม้ใหญ่ของท่าน อันหาประโยชน์มิได้นั้นน่ะหรือ
ปลูกไว้ในที่ว่างสิ
ปลูกไว้ในความว่างเปล่า
ไว้เดินเล่นรอบ ๆ
ไว้พักใต้ร่มเงา ฯ
จะไม่มีใครใช้ขวานหรืออะไรไปบั่นทอนมัน
จะไม่มีอะไรไปโค่นล้มมันลง ฯ

๏ นี่ล่ะหรือคือไร้ประโยชน์ อันท่านควรวิตก

มนุษย์ที่แท้ : มรรควิถีของจางจื๊อ,
ส. ศิวรักษ์ แปลและเรียบเรียง
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๖, หน้า ๓๘ -๓๙
http://www.khonnaruk.com

ตัวโกรธ

ลำธารริมลานธรรม
เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้
พระไพศาล วิสาโล –รวบรวมและเรียบเรียง
http://www.khonnaruk.com

หลวงปู่บุดดา ถาวโร จัดว่าเป็น “รัตตัญญู” (ผู้เก่าแก่และมีประสบการณ์มาก) รูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย ด้วยท่านมีอายุยืนนานถึง ๑๐๑ ปีก่อนที่จะมรณภาพเมื่อปี ๒๕๓๗

สมัยที่ยังหนุ่ม ท่านมีโอกาสพบปะครูบาอาจารย์ที่สำคัญหลายรูปเช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) และครูบาศรีวิชัย ท่านหลังนี้เคยทักหลวงปู่บุดดาเนื่องจากเห็นท่านไม่พาดสังฆาฏิว่า “เฮาเป็นนายฮ้อย ก็ต้องให้เขาฮู้ว่าเป็นนายฮ้อย ไม่ใช่นายสิบ” นับแต่นั้นมาหลวงปู่จึงพาดสังฆาฏิติดตัวตลอดเวลา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท่าน

หลวงปู่บุดดา เป็นพระป่า ชอบธุดงค์ ไม่มีวัดเป็นหลักแหล่ง จนเมื่ออายุ ๘๗ ปีจึงได้มาประจำที่วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรีกระทั่งมรณภาพ

แม้หลวงปู่บุดดาจะไม่ได้เล่าเรียนในทางปริยัติมาก แต่ความที่ท่านเชี่ยวชาญในการปฏิบัติ จึงมีความสามารถในการสอนธรรมชนิดที่สื่อตรงถึงใจ มีคราวหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งซึ่งเป็นเปรียญธรรม ๘ ประโยค ท่านเจ้าคุณรูปนั้นคงเห็นหลวงปู่เป็นพระบ้านนอกจึงอยากลองภูมิหลวงปู่ ได้ถามหลวงปู่ว่า “จะเทศน์เรื่องอะไร”

หลวงปู่ตอบว่า “เรื่องตัวโกรธ กิเลสตัณหา”
ท่านเจ้าคุณซักต่อว่า “ตัวโกรธเป็นอย่างไร”
หลวงปู่ตอบสั้น ๆ ว่า “ส้นตีน ไงล่ะ”

เท่านั้นเองท่านเจ้าคุณก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมเทศน์กับหลวงปู่ วันนั้นหลวงปู่จึงต้องขึ้นเทศน์องค์เดียว เมื่อเทศน์จบแล้ว ท่านก็ไปขอขมาท่านเจ้าคุณองค์นั้น พร้อมกับอธิบายว่า

“ตัวโกรธมันเป็นอย่างนี้เองนะ มันหน้าแดง ๆ นี้แหละ มันเทศน์ไม่ได้ คอแข็ง ตัวโกรธสู้เขาไม่ได้ ขึ้นธรรมาสน์ก็แพ้เขา ใครจะเป็นนักเทศน์ต่อไปจดจำเอาไว้นะ ตัวโกรธน่ะ นักเทศน์ไปขัดคอกันเอง มันจะเอาคอไปให้เขาขัด”

หลวงปู่บุดดารู้จักตัวโกรธดี ท่านรู้ว่าตัวโกรธกลัวคนกราบ ท่านเล่าว่าตั้งแต่เริ่มบวช ท่านพยายามเอาชนะความโกรธด้วยการกราบ เวลาโกรธท่านจะลุกขึ้นกราบพระ ๓ ครั้ง โกรธ ๒ ครั้งก็กราบพระ ๖ ครั้ง โกรธ ๑๐๐ ครั้ง ก็กราบ ๓๐๐ ครั้ง ทำเช่นนี้หลายครั้ง ความโกรธก็ครอบงำท่านไม่ได้

เมื่อความโกรธเป็นใหญ่เหนือใจไม่ได้ ความเมตตาและอ่อนน้อมถ่อมตนก็ตามมา หลวงปู่บุดดาขึ้นชื่อในเรื่องนี้มาก คราวหนึ่งท่านกำลังจะเดินข้ามสะพาน ก็เห็นสุนัขตัวหนึ่งนอนขวางทางอยู่บนสะพาน แทนที่ท่านจะเดินข้ามสุนัขตัวนั้น หรือไล่มันให้พ้นทาง กลับเดินลงไปลุยโคลนข้างล่าง

ท่านว่าไม่อยากให้ผู้อื่นได้รับความขุ่นเคือง เพียงเพื่อเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง แม้เป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน.

เอาป่าไว้

เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้
พระไพศาล วิสาโล –รวบรวมและเรียบเรียง
http://www.khonnaruk.com

พระโพธิญาณเถรหรือ หลวงพ่อชา สุภทโท แห่งวัดหนองป่าพงเป็นคนรักป่า รักต้นไม้ เมื่อตอนท่านออกบำเพ็ญเพียรภาวนา ท่านชอบพูดว่าพระพุทธเจ้าประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ท่านจึงให้ความสำคัญกับป่ามาก เพราะเป็นสถานที่ ๆ เกื้อกูลต่อการเจริญสมณธรรมอย่างยิ่ง ในสมัยที่พระเณรและแม่ชีวัดหนองป่าพงป่วยเป็นไข้มาเลเรียกันหลายรูปนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มาแนะนำให้ถางป่า ตัดกิ่งไม้ออกให้โล่งเตียน เมื่อป่าโปร่งลมจะได้พัดสะดวก

หลวงพ่อตอบว่า “ตายซะคน เอาป่าไว้ก็พอ”

พูดสั้นเพียง ๆ เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามอธิบาย โน้มน้าวให้เหตุผลหว่านล้อมต่าง ๆ แต่ท่านก็ยืนยันคำเดิมว่า

“พระหรือชีก็ตาม อาตมาเองก็ตาม ตายแล้วก็ไปแล้ว เอาป่าไว้เสียดีกว่า”

วัดหนองป่าพงจึงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ดังเดิม จวบจนทุกวันนี้.

ให้พากันเข้าวัดนะ วัดดูจิตใจของเรา ต้องวัดเสมอ นั่งก็วัด นอนก็วัด เดินยืนก็วัด

* ให้พากันเข้าวัดนะ วัดดูจิตใจของเรา
ต้องวัดเสมอ นั่งก็วัด นอนก็วัด เดินยืนก็วัด
วัดเพราะเหตุใด ให้มันรู้ไว้ว่า จิตของเรามันดีหรือไม่ดี
ไม่ดีจะได้แก้ไข ต้องวัดทุกวัน
ตัดเสื้อตัดผ้าก็ยังต้องวัดไม่ใช่เรอะ ไม่วัดจะใช้ได้อะไรล่ะ

* สติวันโย สติเป็นวินัย สติ คือความรู้ความระลึกได้ความรู้อยู่
สติเป็นวินัย นำตนออกจากความชั่ว นำความชั่วออกจากตน
เมื่อมีสติแล้วไม่หลง ไม่หลงก็ไม่ทำความชั่ว
เราจงมากำจัดความหลงนี้ คือทำตัวให้มีสติ
นั่งสมาธิก็หัดสติ พิจารณาก็หัดสติ
เมื่อมีสติอยู่แล้ว เป็นผู้รู้อยู่แล้ว มีวินัย

* ตัวบุญ คือใจสบาย เย็นอกเย็นใจ
ตัวบาปคือใจไม่สบาย ใจเดือดใจร้อน

* ศาสนาอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่น มันอยู่ที่กายที่ใจของเรา
เมื่อเราปฏิบัติอยู่ ศาสนามันก็เจริญอยู่
ถ้าเราทั้งหลายไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้กระทำ
ก็หมดศาสนา

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ประโยชน์ของชีวิตในโลกทั้งสาม

พระราชสุทธิญาณมงคล

(ธรรมชาติของมวลมนุษย์ทุกคนกลัวจน แต่อยากรวย)
ต้องขยันในการกระทำกิจการงานทั้งหลายทั้งปวง
อารักขสัมปทา หมั่นรักษาในทรัพย์ที่ตนหามาได้ไว้
(มิให้น้ำท่วม ไฟไหม้ ผีหลอก ทรัพย์ได้)
รู้จักเลือกคบคนดี มีศีล มีธรรมะ มีคุณธรรม เป็นเพื่อนเป็นมิตรเป็นสหาย
(อเสวนา จ พาลานัง)
รู้จักแบ่งปันทรัพย์ที่ตนหามาได้ โดยทางที่ชอบ
(ใช้หนี้เก่า ให้เขายืม ใส่ปากงูเห่าจรเข้ ทิ้งเหว ฝังดิน)

ประโยชน์ในโลกเบื้องหน้า
ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ถึงพร้อมด้วยศีล จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปาริสุทธิศีล อริยกันตศีล ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ถึงพร้อมด้วยบุญญเจตนา บุญญเขต บุญญสถาน บุญญวัตถุ อามิสทาน ธรรมทาน อภัยทาน สุญญตาทาน ให้ชีวิตเลือดเนื้อเป็นทาน
ถึงพร้อมด้วยปัญญา ทั้งโลกิยปัญญา และโลุกตรปัญญา ที่รอบรู้ในกองสังขาร ตามความเป็นจริง

ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน
ยอมรับความจริงในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ฝืนโลก ยอมรับความจริงของโลก และชีวิต
บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นแต่ประโยชน์โลกนี้ ไม่เห็นประโยชน์โลกหน้า และพระนิพพาน (มีตาข้างเดียว)
บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นประโยชน์ถึงโลกหน้าด้วย (มีตาสองข้าง)
บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง
(คือมรรค-ผล-นิพพานด้วย) มีตาสามข้าง
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เห็นประโยชน์ในโลกทั้งสรม
(เปล่ามา-เปล่าไป-มืดมามืดไป)
บางคนประมาทในวัยเด็ก บางคนประมาทในวัยหนุ่มสาว
บางคนประมาทในวัยแก่เฒ่าชรา
บางคนไม่ประมาทในวัยทั้งสาม บางคนประมาทในวัยทั้งสาม

มืดมา สว่างไป / มืดมา มืดไป / สว่างมา สว่างไป / สว่างมา มืดไป
http://www.palipage.com/watam/piyapan4/K00060.htm

ธรรมกถาสำหรับผู้ป่วย

รักษาใจในยามป่วยไข้
พระราชสุทธิญาณมงคล

เราทั้งหลายที่เป็นพุทธศาสนิกชนนั้น นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่เคารพบูชาสูงสุด พระรัตนตรัยนั้นก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ถ้ายึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ค้นพบพระธรรม เมื่อค้นพบแล้วรู้ความจริง ก็นำเอาธรรมนั้นมาสั่งสอนแก่ผู้อื่น ผู้ที่ปฏิบัติตามรวมกันเข้าก็เรียกว่าสงฆ์

พระพุทธเจ้าที่ทรงค้นพบพระธรรมนั้น ก็คือค้นพบความจริงเกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตว่าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้านั้นทรงสนพระทัยเรื่องความสุข ความทุกข์ของมนุษย์ และพระองค์ก็ใช้เวลามากมายในการค้นคว้าเรื่องนี้ เพื่อให้รู้ชัดว่า มนุษย์นั้นมีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ถ้ามีปัญหา คือความทุกข์เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร เรียกได้ว่าพระองค์เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องชีวิต เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสามารถในการที่จะแก้ปัญหาชีวิตของคนเรา และเราก็นับถือพระองค์ในแง่นี้เป็นสำคัญ

ชีวิตของคนเรานั้น ประกอบด้วยกายกับใจ มีสองส่วนเท่านั้น กายกับใจรวมเข้าเป็นชีวิตของเรา กายก็ตาม ใจก็ตาม จะต้องให้อยู่ในสภาพที่ดี ต้องรักษาไว้ให้มีสุขภาพดี จึงจะมีความสุข ชีวิตจึงจะดำเนินไปโดยราบรื่น แต่คนเรานั้น จะให้เป็นไปตามที่ปรารถนาทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้ ร่างกายของเรานี้ บางครั้งก็มีความเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสาเหตุเนื่องจากการกระทบด้วยโรคภัยที่มาจากภายนอก หรือฤดูกาลผันแปรไป หรือถูกกระทบกระทั่งจากวัตถุสิ่งของที่แข็งกระด้าง แม้แต่หนามตำทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้น หรือว่าร่างกายนั้นอยู่ไปนาน ๆ เข้า ก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ร่างกายก็เจ็บไข้ได้ป่วย อันเป็นไปตามธรรมดาเรียกว่าเป็นลักษณะของสังขาร คือสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง แต่อาศัยสิ่งหลาย ๆ อย่างมาประชุมกันเข้า มารวมตัวกันเข้า ร่างกายของเรานี้ก็เกิดจากปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกันเข้า ภาษาเก่า ๆ เราเรียกว่า เกิดจากธาตุดิน – น้ำ – ไฟ – ลม มาประชุมกัน ธาตุเหล่านี้แต่ละอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ต่างก็ผันแปรไป เมื่อแต่ละอย่างผันแปรไป ก็เป็นธรรมดาที่ว่าจะเกิดการแปรปรวนขึ้นแก่ร่างกายที่เป็นของส่วนรวมนั้น ซึ่งเป็นที่ประชุมของธาตุทั้งหมด ร่างกายแปรปรวนไปก็เกิดการป่วยไข้ไม่สบายนี้ก็เป็นด้านหนึ่ง

ทีนี้ร่างกายนั้นก็ไม่ได้อยู่ลำพัง ต้องอยู่ร่วมกันกับจิตใจ จึงจะเกิดเป็นชีวิต จิตใจนั้นก็เช่นเดียวกัน ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ จิตใจเปลี่ยนแปลงไป มีความคิดนึกต่าง ๆ นานา บางครั้งเกิดกิเลสขึ้นมา เช่น มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจก็แปรปรวนไปตามกิเลสเหล่านั้น ยามโลภ ก็อยากจะได้โน่นได้นี่ ยามมีโทสะเกิดขึ้น ก็โกรธแค้นขุ่นเคืองใจหงุดหงิดกระทบกระทั่งต่าง ๆ ยามโมหะเกิดขึ้น ก็มีความลุ่มหลง มีความมัวเมาด้วยประการต่าง ๆ หรือในทางตรงข้าม เวลาเกิดกุศลธรรม เกิดความดีงาม จิตใจเป็นบุญขึ้นมาก็คิดนึกเรื่องดี ๆ จิตใจก็งดงาม จิตใจก็ผ่องใสเบิกบานสดชื่นเรียกว่ามีความสุข ในเวลานั้นก็จะมีคุณธรรม เช่น มีความเมตตา มีความกรุณาต่อคนอื่น ๆ หรือว่ามีศรัทธา เช่นมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระศาสนา ศรัทธาในบุญในกุศล เป็นต้น จิตใจก็เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปได้ต่าง ๆ แต่ที่สัมพันธ์กันระหว่างกายกับใจก็คือว่า เมื่อกายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มักจะรบกวนทำให้จิตใจพลอยไม่สบายไปด้วย เพราะว่าร่างกายเจ็บปวด จิตใจก็มีความทุกข์ หรือว่า ร่างกายนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เช่นร่างกายที่อ่อนแอ เป็นต้น จิตใจกับหงุดหงิด เพราะไม่ได้อย่างใจ อันนี้เรียกว่า จิตใจกับร่างกายนั้นอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อร่างกายไม่สบาย จิตใจก็พลอยไม่สบายไปด้วย หรือเมื่อจิตใจไม่สบายมีความทุกข์ มีความหวาดระแวง มีความกลัว มีความกังวลใจ มีห่วงหน้าพะวงหลังต่าง ๆ มีความไม่สมปรารถนา ผิดหวัง ท้อแท้ใจต่าง ๆ ก็ทำให้แสดงออกมาทางร่างกาย เช่นว่า หน้าตาไม่สดชื่น ผิวพรรณไม่ผ่องใส ยิ้มแย้มไม่ออก ตลอดจนกระทั้งว่าเบื่อหน่ายอาหาร เป็นต้น ไม่มีเรี่ยวแรงไม่มีกำลัง เพราะว่าใจไม่มีกำลัง เมื่อไม่มีกำลังใจแล้ว ร่างกายก็พลอยไม่มีกำลัง อ่อนแรง อ่อนกำลังไปด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องของกายกับใจที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

ในบางคราวนั้นร่างกายก็เจ็บปวด ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ว่า เวลานั้นอาจจะทำให้จิตใจนี้พลอยไม่สบายไปด้วย ซึ่งทางภาษาพระท่านบอกว่า ถ้าหากว่ากายไม่สบายเจ็บไข้แล้ว จิตใจไม่สบายไปด้วย ก็เรียกว่ากายป่วย ทำให้ใจป่วยไปด้วย จะทำอย่างไรเมื่อร่างกายเจ็บป่วย แล้วจิตใจจะไม่แปรปรวนไปตาม พระพุทธเจ้านั้นได้ทรงค้นคว้าเรื่องของชีวิตไว้มากมาย และหาทางที่จะช่วยให้คนทั้งหลายมีความสุข พระองค์เคยตรัสสอนว่า ให้ทำในใจ ตั้งใจไว้ว่า ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย การตั้งใจอย่างนี้เรียกว่า “มีสติ” ทำให้จิตใจไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรปรวนในทางร่างกายนั้น เมื่อมีสติอยู่ ก็รักษาใจไว้ได้

การรักษาใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ กายเป็นหน้าที่ของแพทย์ แพทย์ก็รักษาไป เราก็ปล่อยให้แพทย์ทำหน้าที่รักษากาย แต่ใจนั้นเป็นของเราเอง เราจะต้องรักษาใจของตนเอง เพราะฉะนั้นก็แบ่งหน้าที่กัน ตอนนี้ก็เท่ากับปลงใจบอกว่า เอาล่ะ! ร่างกายของเรามันป่วยไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของหมอ เป็นเรื่องของนายแพทย์ นายแพทย์รักษาไป เราได้แต่ร่วมมือไม่ต้องเร่าร้อนกังวล เราจะรักษาแต่ใจของเราไว้ รักษาใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่พระองค์ตรัสไว้ซึ่งได้ยกมาอ้างเมื่อกี้ ให้ตั้งใจว่า ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย ถ้ายึดไว้อย่างนี้ สติอยู่ ก็ทำให้จิตใจนั้นไม่พลอยหงุดหงิด ไม่พลอยออดแอด ไม่พลอยแปรปรวนไปตามอาการทางร่างกาย จริงอยู่ก็เป็นธรรมดาที่ว่าทุกขเวทนาความเจ็บปวดต่าง ๆ ความอ่อนแรงอ่อนกำลังนั้นย่อมมีผลต่อจิตใจ แต่ถ้ารักษาจิตใจไว้ดีแล้ว ความเจ็บป่วยนั้นก็มีแต่น้อย พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้เสมอว่า ให้รักษาใจของตนเอง การที่จะรักษาใจนั้นรักษาด้วยอะไร ก็รักษาด้วยสติ คือมีสติกำหนด อย่างน้อยดังที่กล่าวมาว่า ถ้ามีสติเอาใจยึดไว้กับคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ถึงกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย เพียงแค่นี้ก็ทำให้ใจหยุดยั้ง มีหลัก มีที่ยึด แล้วจิตใจก็สบายขึ้น อาจจะนำมาเป็นคำภาวนาก็ได้ คือภาวนาไว้ในใจตลอดเวลาบอกว่า กายป่วย ใจไม่ป่วย ถึงกายจะป่วย แต่ใจไม่ป่วย ทำนองนี้ ภาวนายึดไว้ บอกตัวเองอยู่เสมอ ใจก็จะไม่เลื่อนลอยเคว้งคว้างไป

การรักษาใจด้วยสตินั้น ก็คือว่า เอาจิตของเราไปผูกมัดไว้กับสิ่งหนึ่งที่ดีงาม ที่ไม่มีการปรุงแต่ง จิตของเรานี้ชอบปรุงแต่ง เมื่อร่างกายไม่สบาย จิตใจก็ปรุงแต่งไปตามความไม่สบายนั้น ทำให้มีความไม่สบายมากขึ้น หรือว่าจิตใจไปห่วงกังวลภายนอก ห่วงกังวลเรื่องทางด้านครอบครัว ลูกหลาน ห่วงกังวลเรื่องข้าวของทรัพย์สินอะไรต่าง ๆ ท่านเรียกว่าเป็นสิ่งนอกกาย ไม่ใช่ตัวของเรา โดยเฉพาะลูกหลานนั้นก็มีหลักฐานมีฐานะของตนเอง ก็อยู่สบายกันแล้ว ตอนนี้ลูก ๆ เหล่านั้น มีหน้าที่ที่จะมาเอาใจใส่ดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เจ็บป่วยที่จะไปห่วงกังวลต่อผู้ที่ยังมีร่างกายแข็งแรงดี ท่านเหล่านั้นสามารถรับผิดชอบตนเอง หรือช่วยเหลือตนเองได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวล ตัวเองก็ไม่ต้องเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เพราะถ้ารักษาใจไวได้อย่างเดียวแล้ว ก็เป็นการรักษาแก่นของชีวิตไว้ได้ เพราะว่าชีวิตของเรานั้น ก็เป็นดังที่ได้กล่าวว่า มีกายกับใจสองอย่าง โบราณกล่าวไว้ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว กายนั้นรับใช้ใจ ใจเป็นแกนของชีวิต ถ้ารักษาใจไว้ได้แล้ว ก็นับว่าเป็นการรักษาส่วนประเสริฐของชีวิตไว้ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็รักษาแต่ใจของตนเองอย่างเดียว ถ้ารักษาใจได้แล้วก็ชื่อว่า รักษาแกนของชีวิตไว้ได้ และดังที่กล่าวมาในตอนนี้ ก็ต้องปลงใจได้ว่า กายนั้นเป็นเรื่องของแพทย์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลเรื่องกาย มาพิจารณาแต่รักษาจิตไว้

วิธีรักษาจิตนั้น ก็รักษาด้วยสติดังกล่าวมา ท่านเปรียบว่า สตินั้นเป็นเหมือนเชือก จะรักษาจิตไว้ให้อยู่กับที่ได้ ก็เอาเชือกผูกใจไว้ ใจนั้นมันดิ้นรน ชอบปรุงแต่ง คิดวุ่นวายฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนกับลิง ลิงที่อยู่ไม่สุข กระโดดไปตามกิ่งไม้ จากต้นไม้นี้ไปต้นไม้โน้นเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็เลยสอนว่า ให้จับลิงคือจิตนี้ เอาเชือกผูกไว้กับหลัก หลักคืออะไร หลักก็คือสิ่งที่ดีงาม ที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อใจไปผูกไว้กับสิ่งนั้นแล้ว จิตก็อยู่กับที่ ก็ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เลื่อนลอย ไม่สับสนวุ่นวาย ถ้าจิตไม่ปรุงแต่งแล้ว ก็จะหมดปัญหาไป วิธีการรักษาใจที่จะไม่ให้ปรุงแต่ง ก็คืออยู่กับอารมณ์ที่ดีงาม อยู่กับสิ่งที่ใจยึดถือ อย่างที่อาตมาได้กล่าวมา แม้แต่เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยมาภาวนาว่า ถึงกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย หรือจะภาวนาสั้น ๆ บอกว่า เจ็บไข้แต่กาย แต่ใจไม่เจ็บไข้ด้วย ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ภาวนาแค่นี้จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง จิตก็ไม่ติดขัด ไม่ถูกบีบ จิตไม่ถูกบีบคั้นก็ไม่มีความทุกข์ จะมีความปลอดโปร่งผ่องใส ไม่ถูกครอบงำด้วยทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น

นอกจากว่า จะผูกไว้กับสิ่งที่ดีงามหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็คือการที่ว่าให้จิตนั้นไม่มีกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับความคิดนึกทั้งหลาย หรือความห่วงกังวลในภายนอก รักษาใจให้อยู่ภายใน ถ้าไม่รักษาใจไว้กับคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือคำภาวนาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็อาจจะเอาคำภาวนาอื่น ๆ มาว่า เช่นเอาคำว่า ‘พุทโธ’ มา คำว่า ‘พุทโธ’ นี้ เป็นคำดีงาม เป็นพระนามหรือชื่อของพระพุทธเจ้า เมื่อเอามาเป็นอารมณ์สำหรับให้จิตใจยึดเหนี่ยวแล้ว จิตใจก็จะได้ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป แล้วจิตใจนี้ก็จะเป็นจิตใจที่ดีงามผ่องใส เพราะว่า พระนามของพระพุทธเจ้านั้นเป็นพระนามของผู้บริสุทธิ์ เป็นพระนามที่แสดงถึงปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ความตื่น และความเบิกบาน คำว่า “พุทโธ” นั้น แปลว่า รู้ ตื่น เบิกบาน พระพุทธเจ้านั้นทรงรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้สังขาร รู้โลกและชีวิตนี้ตามความเป็นจริง มีปัญญาที่แก้ทุกข์ให้กับคนทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วพระองค์ก็ตื่น ตื่นจากความหลับใหลต่าง ๆ ไม่มีความลุ่มหลงมัวเมายึดติดในสิ่งทั้งหลาย เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่มีความลุ่มหลงมัวเมา ก็มีแต่ความเบิกบาน เมื่อเบิกบานก็มีความสุข จิตใจปลอดโปร่งในความสุข จึงเป็นแบบอย่างให้แก่เราทั้งหลาย ว่าเราทั้งหลายจะต้องมีความรู้ เข้าใจสังขารตามความเป็นจริง จะต้องมีความตื่น ไม่หลงใหลในสิ่งต่าง ๆ ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย แล้วก็มีความเบิกบานใจ ปลอดโปร่งใจ เอาอันนี้ไว้เป็นคติเตือนใจ แล้วต่อจากนั้น ก็ภาวนาคำว่า “พุทโธ” ว่า ‘พุทธ’ แล้วก็ว่า ‘โธ’ ถ้ากำหนดลมหายใจได้ก็สามารถที่จะว่ากำกับลงไปกับลมหายใจ เวลาหายใจเข้าก็ว่า ‘พุท’ เวลาหายใจออกก็ว่า ‘โธ’ หรือไม่กำกับอยู่กับลมหายใจก็ว่าไปเรื่อย ๆ นึกในใจว่า ‘พุทโธ’ เป็นจังหวะ ๆ ไป เมื่อจิตผูกรวมอยู่ในคำว่า ‘พุทโธ’ ก็ไม่ฟุ้งซ่านและไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อไม่ฟุ้งซ่านปรุงแต่ง จิตก็อยู่เป็นหลัก เมื่อจิตอยู่เป็นหลักมีความสบมั่นคง แน่วแน่ ก็ไม่เป็นที่เศร้าหมอง แต่จะมีความเบิกบาน จะมีความผ่องใส ก็มีความสุข แล้วอย่างนี้ก็จะถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติตามหลักที่ว่า จิตใจไม่ป่วย นี้ก็เป็นวิธีการต่าง ๆ ในการที่จะรักษาจิตใจ

อาตมากล่าวไว้นี้ ก็เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ในการที่จะรักษาจิตด้วยสติ โดยเอาสติเป็นเชือกผูกจิตไว้กับอารมณ์ เช่นคำว่า ‘พุทโธ’ เป็นต้น จิตใจจะได้มีหลัก ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย มีความสงบเบิกบานผ่องใส ดังที่กล่าวมา อาตมาขอส่งเสริมกำลังใจให้โยมได้มีจิตใจที่สงบ มีจิตใจที่แน่วแน่ผูกรวมอยู่กับคำว่า ถึงกายจะป่วย แต่ใจไม่ป่วย หรือผูกพันกำหนดแน่วแน่อยู่กับคำภาวนาว่า ‘พุทโธ’ แล้วก็ให้มีจิตใจเบิกบานผ่องใสอยู่ตลอดเวลา

วันนี้อาตมาก็เอาใจช่วย ขอให้โยมมีความเบิกบานผ่องใสตลอดกาลทุกเวลา เทอญ.

http://www.palipage.com/watam/piyapan4/K00056.htm

อุบายวิธีดับกิเลสและเรื่องกรรม

โลกนี้แม้จะรุ่มร้อนเพียงไรก็ตาม ยังมีศาสนาเป็นเครื่องเยียวยา อย่างน้อยมีศาสนาเป็นเครื่องเยียวยา ก็ยังมีทางบรรเทาทุกข์ไปได้พอสมควร เช่นเดียวกับโรคแม้จะมีความรุนแรงเพียงไร แต่ถ้ามียาเครื่องเยียวยารักษาอยู่บ้างแล้วก็ยังพอทำเนาได้ ไม่เหมือนปล่อยให้เป็นไปตามอัตราของโรคที่มีมากน้อยโดยไม่มียาไปเกี่ยวข้องเลย

จิตใจของโลก ถ้ามีแต่เรื่องของกิเลสกองทุกข์ล้วน ๆ เป็นเจ้าอำนาจบงการอยู่ภายในใจนั้น โลกไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด จะหาความสงบสุขไม่ได้เลย เพราะไม่มีเครื่องบรรเทาคือศาสนา

คำว่า “ศาสนา” ก็คือคำสั่งสอนที่กลมกลืนด้วยเหตุผลนั่นเอง รวมแล้วเรียกว่า “ศาสนธรรม” เมื่อแยกออกพูดเฉพาะคำว่า “ศาสนา” ก็เหมือนกับว่าเป็นอีกอันหนึ่ง และเป็นอีกอันหนึ่งแตกแขนงออกไป ความจริงคำว่า “ศาสนา” ถ้าพูดตามหลักความจริงแล้ว ก็คือเหตุกับผลบวกกันเข้านั่นแลเรียกว่า “ศาสนา” การเชื่อต่อเหตุต่อผลนั้นคือไม่ฝืน ไม่ปีนเกลียวต่อเหตุต่อผลที่ถูกต้องแล้ว และปฏิบัติดำเนินไปตามนั้น โลกจะพอมีทางเบาบางจากความทุกข์ความลำบากทั้งภายนอกภายใน

จำพวกไม่มีศาสนาเข้าเคลือบแฝงเลยนั้น ใครจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีความรู้สูงต่ำฐานะเพียงไร จะหาความสุขความสบาย พอปลงจิตปลงใจลงชั่วระยะกาลไม่ได้เลย เพราะไม่มีที่ปลง เราจะปลงลงที่ไหน? ที่ไหนก็มีแต่เรื่องของกิเลสอันเป็นไฟทั้งกอง คือมีแต่เรื่องความอยาก มีแต่เรื่องความต้องการไม่มีประมาณ อยากให้เป็นไปตามใจหวัง ความอยากนั้น ๆ ก็ผลิตทุกข์ขึ้นมาเผาตัวเอง สิ่งที่ต้องการกลับไม่เจอ แต่กลับไปเจอแต่สิ่งที่ไม่ต้องการโดยมาก เพราะอำนาจของกิเลสพาสัตว์โลกให้เป็นเช่นนั้น

ถ้าอำนาจของเหตุผลหรือธรรมพาให้เป็นไป แม้จะทุกข์จะลำบากบ้างในการฝืนกิเลส โดยทำลงไปตามเหตุตามผล แต่เวลาปรากฏผลขึ้นมาก็เป็นความสุขความสบาย พอมีทางผ่อนคลายความทุกข์ลงได้บ้าง เพราะฉะนั้นศาสนาจึงเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งต่อจิตใจของโลก เฉพาะอย่างยิ่งคือมนุษย์เรา ซึ่งเป็นผู้มีความฉลาดเหนือสัตว์ทั้งหลาย ควรจะมี “ศาสนธรรม” เป็นสมบัติประดับและคุ้มครองใจกายวาจา และความประพฤติในแง่ต่าง ๆ จะเป็นที่งามตาเย็นใจทั้งส่วนย่อยส่วนใหญ่ไม่มีประมาณ

คำว่า “ศาสนา” นั้น เป็นแขนงหนึ่งที่ออกมาจากธรรมล้วน ๆ คือออกจากธรรม “ที่ประเสริฐ” เป็นของอัศจรรย์ แยกออกมาเป็นคำสอนโดยทาง “สมมุติ” เป็นแขนง ๆ ว่า “ให้ทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้” เป็นต้น ให้เราดำเนินตาม ไม่ฝ่าฝืนปีนเกลียวกับธรรมอันเป็นแนวทางถูกต้องดีงามอยู่แล้ว แม้จะยากลำบากในการดำเนินตามเพียงไร เมื่อเชื่อต่อเหตุต่อผลแล้ว อุตส่าห์พยายามฝืนทำลงไป การฝืนทำลงไปนั้นคือการฝืนกิเลสที่เป็น “ข้าศึก” ต่อธรรม อันเป็นการฝืนทำในสิ่งที่ตนต้องการ อันเป็นเรื่องของ “ธรรม” มีใจเป็นผู้บงการ ผลที่พึงได้รับก็ย่อมเป็นความร่มเย็นเป็นสุข

ยกตัวอย่างเช่น เราคิดอะไรวันนี้จนเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวไปหมด ใจทั้งดวงกลายเป็นไฟทั้งกอง เฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่ขัดใจมาก จิตจะไปยุ่งอยู่กับสิ่งที่ขัดใจมากไม่พอใจมากนั้นแหละ ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนไม่ยอมปล่อยวาง ถือเป็นอารมณ์แทนคำบริกรรมภาวนา แล้วผลจะมีความสุขขึ้นมาได้อย่างไร มันก็ต้องเป็นไฟขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ เพราะเรื่องนั้นพาให้เป็น “ไฟ” และความคิดในเรื่องนั้นพาให้เป็นไฟ ผลจะปรากฏขึ้นมาเป็น “น้ำ” ได้อย่างไร มันก็ต้องเป็นไฟอยู่โดยดี ขืนคิดมากเพียงไรก็ยิ่งจะทำลายจิตใจของเรามากเพียงนั้น สุดท้ายจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แทบไม่มีสติหรือไม่มีสติยับยั้ง จนเป็นบ้าไปเลยก็มีไม่น้อย เพราะเรื่องและความคิดทำลาย

สิ่งที่ทำลายเหล่านี้คืออะไร? ก็คือเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรม ฉะนั้นการฝืนไม่คิดในอารมณ์ไม่ดีนั้น ๆ ด้วยการหักห้ามความคิดปรุงของใจด้วยสติ สกัดกั้นด้วยปัญญา แม้จะลำบาก ผลที่ปรากฏก็คือความสงบย่อมเป็นที่หวังได้ หรือพอมีสติขึ้นมาพิจารณาใคร่ครวญถึงทางที่ถูกที่ควร สิ่งดีชั่วในสิ่งที่คิดนั้น ในเรื่องที่คิดนั้นว่า ทำไมจึงต้องคิด ก็ทราบแล้วว่าไม่ดีคิดไปทำไม แล้วหาทางแก้ไขเพื่อความดีไม่ได้หรือ? นั่นเรื่องของเหตุผลเป็นอย่างนั้น การคิดมาทั้งมวลนี้ก็พอเห็นโทษของมันแล้ว เพราะทุกข์เป็นประจักษ์พยานอยู่ภายในใจ มีความรุ่มร้อนเป็นกำลัง นี่คือผลของความคิดในสิ่งนั้น ๆ ที่เป็นของไม่ดี ถ้าจะฝืนคิดมากยิ่งกว่านี้แล้วจะเป็นอย่างไร ขนาดที่คิดนี้ความทุกข์ก็แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างนี้แล้ว ถ้าจะคิดเพิ่มยิ่งกว่านี้ ความทุกข์จะไม่มากกว่านี้จนท่วมหัวใจไปละหรือ แล้วจะทนแบกหาม “มหันตทุกข์” ได้อย่างไร?

ถ้าฝืนคิดมาก ทุกข์ต้องเพิ่มมากกว่านี้เป็นลำดับ เมื่อมากกว่านี้แล้วเราจะมีกำลังวังชามาจากไหน พอต้านทานแบกหามความทุกข์ที่ผลิตขึ้นทุกระยะ จากความคิดในสิ่งที่ไม่พอใจนั้น ๆ เราจะฝืนคิด ยังจะฝืนกอบโกยทุกข์เหล่านั้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งขึ้นกว่านี้อยู่หรือ? เพียงเท่านี้จิตก็ได้สติ พอได้สติจิตก็เริ่มสงบและยังยั้งตัวได้ และพยายามปล่อยวางความคิดเช่นนั้นโดยทางเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะให้จิตผละออกจากสิ่งนั้นและระงับความคิดนั้น ๆ ได้ ผลที่จะปรากฏดังที่เคยเป็นมาแล้วก็ระงับ เพราะความคิดอันร้อนอันเป็นสาเหตุนั้นมันระงับตัวลง การระงับตัวลงได้แห่งความคิดนั้น เพราะความมีสติยับยั้ง นี่ก็พอเป็นสักขีพยานอันหนึ่งแล้วว่า เท่าที่เราฝืนคิดในสิ่งนั้นมาด้วยสติ และใคร่ครวญด้วยปัญญา มีผลปรากฏขึ้นมาอย่างนี้ คือปรากฏเป็นความสงบร่มเย็นขึ้นมา ทีนี้ทุกข์ก็ระงับดับไป

แม้จะลำบากในการฝืน ในการบังคับจิตใจ ก็จงคิดหาอุบายปลดเปลื้องตนเช่นนั้น อันความลำบากนั้นเราก็ยอมรับว่าลำบาก แต่ลำบากในทางที่ถูก ทีนี้ผลที่ปรากฏขึ้นมาก็เป็นความสุขและเป็นความดี เรื่องก็ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายต่อไป ทุกข์ก็ไม่เพิ่มขึ้นมาอีก เราก็พอผ่อนคลายตัวได้ หรือมีเวลาปลงวาง “ถ่านเพลิง” คือความทุกข์ร้อนบนหัวใจลงได้ นี่เป็นหลักเกณฑ์หนึ่งที่เราจะนำมาพิจารณา เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ถูกต้องดีงามทั้งหลาย

เช่น เขาดุเขาด่า เขาติฉินนินทาว่าอย่างนั้น ๆ คำติฉินนินทาเขาก็ผ่านปากเขาไปแล้ว ผ่านความรู้สึกของเขาไปแล้ว ตั้งแต่วันไหนเดือนไหนไม่ทราบ เราเพิ่งทราบในขณะนั้นเวลานั้นก็เป็นความไม่พอใจขึ้นมา ไอ้ลมปากเขาก็หายไปแล้วตั้งกี่ปีกี่เดือนไม่ทราบ เพียงแต่ลมปากใหม่ขึ้นมาว่า “เขาว่าให้คุณอย่างนั้น ๆ” เช่น “นาย ก นาง ข.ว่าให้คุณอย่างนั้น ๆ ไม่ดีอย่างนั้น ๆ” นี่เป็นลมปากครั้งที่ ๒ เราก็ยึดเอาอันนั้นมาเป็น “ไฟ” เผาตัวขึ้นมาอย่างลม ๆ แล้ง ๆ โดยไม่มีเหตุผลอะไรเลย นี่เป็นความสำคัญผิดของเรา ถ้าเขาไม่เล่าให้ฟัง เราก็ธรรมด๊าธรรมดา ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นเขาได้พูดไปแล้ว ถ้าเขาได้เคยตำหนิติฉินนินทาเรา เขาก็ตำหนิไปแล้ว ผ่านไปแล้ว เราก็ไม่เห็นมีความรู้สึกอย่างไร เพราะจิตใจไม่กระเพื่อมออกมารับสิ่งเหล่านั้น จิตเป็นปกติ ผลก็ไม่แสดงขึ้นมาในทางความทุกข์ความร้อนใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเป็นผู้มีสติอยู่ภายในตัว พอเขาพูดขึ้นมาเช่นนั้น ก็ทราบทันทีว่าสิ่งนั้นไม่ดี เราจะไปคว้าเอามายึดถือให้สกปรกและหนักหน่วงถ่วงใจเราทำไม ของสกปรกเราก็ทราบแล้ว แม้แต่เดินไปตามถนนหนทางไปเจอสิ่งสกปรก เรายังหลีกให้ห่างไกล ไม่กล้าสัมผัสถูกต้อง แม้แต่ฝ่าเท้าก็ไม่แตะต้องเลยเพราะทราบแล้วว่าของไม่ดี ถ้าขืนแตะต้องก็จะต้องเปื้อนเปรอะไปหมด เราทราบแล้วว่าสิ่งเหล่านี้สกปรก แล้วทำไมเราชอบไปคลุกคลี ชอบไปยุ่ง ชอบไปนำมาคิดมาวุ่นวายตัวเอง จนให้เกิดผลขึ้นมาเป็นความสกปรกไปทั้งจิต กลายเป็นไฟทั้งดวง ไม่สมควรเลย

เราคิดอย่างนี้ เราระงับความคิดและอารมณ์นั้นได้ พอจะคิดขึ้นในขณะใดสติเราก็ทันและรู้ทันที แล้วปล่อยไปได้ ไม่ยึดมาเป็นอารมณ์เผาลนใจอยู่นาน ที่กล่าวมาแล้วนี้ทั้งหมด เป็นหลักธรรมวิธีป้องกันตัวในวิธีรักษาตัว

เมื่อเราใช้วิธีนี้เป็น “ยาประจำบ้าน” ประจำตัวทุกอิริยาบถ ใจก็ปกติไม่ค่อยจะเป็นภัยแก่ตัวเองจากสิ่งที่มาสัมผัสทั้งหลาย จะมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ในทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจโดยเฉพาะ ที่ไปคิดในเรื่องอดีตที่ไม่ดีไม่งามต่าง ๆ มารบกวนเจ้าของก็ตาม หรืออะไร ๆ มาสัมผัสก็สลัดได้ทันที เพราะสติปัญญามีอยู่กับใจ นำมาใช้เมื่อไรก็เกิดประโยชน์เมื่อนั้น นอกจากจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาเหยียบย่ำทำลายเสีย โดยไม่คำนึงถึงเครื่องป้องกันคือสติปัญญาเลย เราถึงยอมรับทุกข์

แต่ถ้ายอมรับทุกข์ตามหลักความจริงที่ตนโง่ ตนประมาทแล้ว ก็ไม่ต้องบ่นกัน แต่นี่ก็บ่นกันทั่วโลกดินแดน เพราะอะไรเล่าถึงบ่น? เพราะไม่อยากทุกข์ เมื่อไม่อยากทุกข์ก็คิดทำไมเล่า ในสิ่งที่จะเป็นทุกข์ฝืนคิดทำไม ก็เพราะความไม่รู้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเอาอะไรมาให้รู้เท่าถึงการณ์? ก็ต้องเอาสติปัญญามาใช้ก็ทันกับเหตุการณ์ ไม่เสียไปหมดทั้งตัว ยังพอยื้อแย่งไว้ได้บ้างในขั้นเริ่มแรกแห่งการฝึกหัด ต่อไปก็ทันเหตุการณ์ทุกกรณี ตีชนะได้ทุกวิถีทาง

วิธีปฏิบัติต่อตัวเองด้วยหลักศาสนาต้องปฏิบัติอย่างนี้ โลกถ้าต่างคนต่างมีเหตุผลเป็นเครื่องดำเนิน ไม่ว่ากิจการภายนอก ไม่ว่ากิจการภายใน อันใดที่จะเป็นภัยต่อตนและส่วนรวม ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเข้าใจ ต่างคนต่างละเว้นไม่ฝ่าฝืนดื้อด้านหาญทำกัน ซึ่งเป็นการช่วยกันทำลายตนและส่วนรวมให้เสียไป

อันใดที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมแล้ว พยายามคิดทำในสิ่งนั้นๆ โลกก็มีความเจริญรุ่งเรือง อยู่ด้วยกันมากน้อยก็มีความผาสุกเย็นใจไปทั่วหน้ากัน เพราะมีหลักศาสนาเป็นเครื่องพาดำเนิน ย่อมยังบุคคลให้เป็นไปเพื่อความสงบสุข ด้วยการปฏิบัติถูกต้องตามหลักเหตุผล อันเป็นหลักสากลที่พาโลกให้เจริญ

ดังนั้นเรื่องศาสนาจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการอยู่ด้วยกัน นี่หมายถึงปัจจุบันที่อยู่ด้วยกัน แม้ปัจจุบันจิตและตัวเราเองก็มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวายแผ่กระจายออกไปสู่ส่วนรวม ต่างคนต่างก็มีความรู้สึกเช่นนั้น โลกก็มีความผาสุก เมื่อหมายถึงอนาคตข้างหน้าของจิต จิตที่มีเหตุมีผลเป็นหลักยึด มีธรรมอยู่ภายในใจแล้ว จะหาความเดือดร้อนจากที่ไหน มาจากโลกใด เพราะจิตเป็นผู้ผลิตขึ้นเอง เมื่อจิตไม่ผลิต จิตมีอรรถมีธรรมเป็นเครื่องป้องกันรักษาตนเองอยู่แล้ว ไปโลกไหนก็ไปเถอะ ไม่มีความทุกข์ร้อนที่จะไปทำลายจิตใจของผู้นั้นได้เลย

พูดตามหลักธรรมแล้ว จิตที่มีคุณงามความดีประจำใจ ย่อมจะไม่ไปเกิดในสถานที่จะได้รับความทุกข์ความทรมาน เพราะ “กรรมประเภทนั้น” ไม่มีจะผลักไสไปได้ มีแต่ความดีคือกุศลกรรม เป็นเครื่องพยุงจูงไปสู่สถานที่ดี คติที่งามโดยลำดับ ๆ เท่านั้น อนาคตก็เป็นอย่างนี้แล

ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้มีธรรมในใจ ผิดกับบุคคลที่ไม่มีธรรมเป็นไหน ๆ แม้แต่อยู่ในโลกเดียวกัน เป็นรูปร่างเหมือนกันก็ตาม แต่ความรู้ความเห็น ความคิด การกระทำต่าง ๆ นั้น มีความผิดกันอยู่โดยลำดับ ผลที่จะพึงได้รับจะได้เหมือนกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องมีความแตกต่างกันอยู่เช่นนี้เป็นธรรมดาตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงทรงสอนว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตํ กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้มีความประณีตเลวทรามต่างกัน” ไม่นอกเหนือไปจากกรรม กรรมจึงเป็นเรื่องใหญ่โตที่สุดของสัตว์โลก ทำไมจึงใหญ่โต? เพราะเราต่างคนต่างเป็นผู้ผลิตกรรมขึ้นมาโดยลำดับด้วยกัน แม้จะไม่คิดว่าตนสร้างกรรมก็ตาม ผลดีชั่วก็เกิดจากกรรมคือการกระทำทุกราย จะหักห้ามไม่ได้เมื่อยังทำกรรมอยู่

คำว่า “กรรม” คืออะไร? แปลว่าการกระทำ เป็นกลาง ๆ คิดด้วยใจเรียกว่า “มโนกรรม” พูดด้วยวาจา เรียกว่า “วจีกรรม” ทำด้วยกาย เรียกว่า “กายกรรม” ในกรรม ๓ ประเภทนี้ เราเป็นผู้ผลิตผู้สร้างอยู่ตลอดเวลา แล้วจะปิดกั้นผลไม่ให้ปรากฏดีชั่วขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อการผลิตมีดีมีชั่วประจำตนอยู่ ธรรมชาติที่เราผลิตขึ้นมานี้แล เป็นเจ้าอำนาจสำหรับปกครองจิตใจ สนับสนุนหรือจะบังคับจิตใจให้ไปเกิดและอยู่ในสถานที่ใด คติใดก็ได้ จะนอกเหนือไปจากผลแห่งกรรมที่เรียกว่า“วิบาก” ซึ่งตนกระทำแล้วนี้ไปไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดมีอำนาจยิ่งไปกว่าผลแห่งกรรมที่ตนทำนี้ จะเป็นเครื่องประคับประคอง หรือเป็นเครื่องกดขี่บังคับตนในวาระต่อไป

หลักศาสนาท่านสอนอย่างนี้ ท่านไม่ให้เชื่อที่อื่นยิ่งไปกว่าความเคลื่อนไหวดีชั่วทางกายวาจาใจที่เรียกว่า “กรรม” นี้เป็นหลักประกันตัวอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำลายตัวและส่งเสริมตัวก็คืออันนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรมาทำลายและส่งเสริมได้

การคิด การพูด การกระทำ ในทางที่ไม่ดี คือการทำลายตัวเอง การคิด การพูด การกระทำในทางที่ดี คือการส่งเสริม บำรุงตนเอง การประกันตนเอง ไม่ให้ตกไปในทางไม่พึงปรารถนาก็มีอยู่ใน “หลักกรรม” นี้เท่านั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรกลัวสิ่งโน้นกลัวสิ่งนี้โดยหาเหตุผลไม่ได้ จะกลายเป็นกระต่ายตื่นตูมทั้งที่ถือพุทธ อันเป็นองค์พยานแห่งความฉลาดแหลมคม

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ความคิด การพูด การกระทำ ที่เป็นภัยแก่ตนเอง ไม่ว่าจะในแง่ใดพึงทราบว่า “นี้แลคือตัวพิษตัวภัยซึ่งกำลังแสดงออกกับกาย วาจา ใจของเรา ของท่านอยู่เวลานี้” ถ้าไม่ยอมรู้สึกตัวแก้ไขใหม่เสีย อันนี้แหละจะเป็นตัวพิษภัยที่ร้ายกาจที่สุด ให้โทษแก่เราไม่เพียงแต่ปัจจุบันนี้ ยังจะเป็นไปในอนาคต จนหมดฤทธิ์หมดอำนาจของ “กรรม” ที่ทำไว้นี้แล้ว ทุกข์ภัยต่าง ๆ จึงจะหมดไปได้

ผู้เชื่อศาสนาจึงต้องเชื่อ “หลักกรรมกับวิบากแห่งกรรม” คือผลพึงติดตามมาโดยลำดับ เราทุกคนมีใครนอกเหนือไปจากการทำกรรมได้? ไม่มี ต้องทำด้วยกันทุกคน คนมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ทำ “กรรม” กันทั้งสิ้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติแห่งการกระทำซึ่งมีประจำตนอยู่แล้ว และถูกต้องตามหลักของศาสนาที่ท่านสอนไว้แล้ว กรรมมีอยู่กับทุกคน นอกจากจะเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีการลบล้างกรรมนั้นได้ ทั้งกรรมทั้งผลแห่งกรรมไม่มีทางลบล้างได้ ต้องเป็นกรรมและเป็นผลดีชั่วไปทุกภพทุกชาติ ไม่มีอันใดนอกเหนือไปจาก “กรรม” และ “วิบากแห่งกรรม” ซึ่งเกิดจากการทำดีทำชั่วของตัวเอง จึงไม่ควรกลัวเรื่องสุ่มสี่สุ่มห้าอันหาเหตุผลไม่ได้ ถ้ากลัวนรกก็กลัวบ่อนรกที่กำลังสร้างอยู่เวลานี้ ซึ่งอยู่ภายในจิตใจเป็นต้นเหตุสำคัญ นี่แหละ“บ่อนรก”

สาเหตุที่จะทำให้ไฟนรกเผาก็อยู่ที่ใจนี้ ให้รู้สึกตัวและมีสติจดจ่อ มีปัญญาพินิจพิจารณาแก้ไขเครื่องมือของตนที่กำลังคิดผิด และผลิตยาพิษหรือผลิตคุณธรรมขึ้นมาภายในใจ ให้เลือกเฟ้นตรงนี้ และทำตามความเลือกเฟ้นด้วยดีแล้ว จะไม่มีอะไรเป็นพิษเป็นภัยแก่สัตว์โลกมีเราเป็นต้นเลย

นี่แหละศาสนาจำเป็นหรือไม่จำเป็น? ให้คิดที่ตรงนี้ ผู้ที่สอนก็คือผู้ที่รู้เรื่องของกรรม รู้เรื่องผลของกรรมด้วยดีแล้วไม่มีที่แย้ง คือพระพุทธเจ้า ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งกรรมของพระองค์และกรรมของสัตว์โลก ทั้งผลแห่งกรรมของพระองค์และผลแห่งกรรมของสัตว์โลกทั่วไตรโลกธาตุ ไม่มีใครสามารถอาจเอื้อมที่จะรู้ได้เห็นได้อย่างพระพุทธเจ้า จึงทรงประกาศความจริงนี้ออกมาเป็น “ศาสนธรรม” ให้เราทั้งหลายได้ยินได้ฟัง ได้ประพฤติปฏิบัติตามโดยไม่มีอะไรผิด

ถ้าไม่ฝืนศาสนธรรมที่ท่านสอนไว้เสียอย่างเดียว โดยการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ผลจึงปีนเกลียวกันกับความต้องการ กลายเป็นความไม่สมหวังหรือเป็นความทุกข์ขึ้นมา หลักใหญ่อยู่ที่ตรงนี้

โลกมีเราเป็นต้น ถ้ามีศาสนาอยู่ภายในใจ แม้จะมีทุกข์มากน้อยก็พอมีที่ปลงที่วางได้ เหมือนกับโรคที่มียาระงับ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกำลังหรืออำนาจของโรคโดยถ่ายเดียว ย่อมพอมีทางหายได้

การสร้างความดีไม่เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ไม่เป็นสิ่งที่น่าเอือมระอา ไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ไม่เป็นสิ่งที่น่าอิดหนาระอาใจ เพราะสิ่งทั้งหลายที่เป็นความสุขความสมหวังทั้งมวล เกิดขึ้นจากการสร้างความดีเท่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากอะไร สร้างเท่าไรมีเท่าไรขึ้นชื่อว่าความดีแล้วไม่เฟ้อ ไม่เหมือนสิ่งภายนอกซึ่งมีทางเฟ้อได้ ถ้ามีมากเข้าจริง ๆ แต่คนดีมีมากเท่าไรไม่เฟ้อ ความดีมีมากเท่าไรไม่มีเฟ้อ ดีเท่าไรยิ่งมีความอบอุ่นแน่นหนามั่นคงภายในใจ ยิ่งมีความดีงามต่อกันจำนวนมากเท่าไรยิ่งอบอุ่นไปหมด ไม่มีคำว่า “เฟ้อ”

ผิดกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีการเฟ้อได้ เช่น “เงินเฟ้อ” “คนเฟ้อ” เราเคยได้เห็นไหม? เราเคยได้ยินแต่ “เงินเฟ้อ” สิ่งของมีมากจนล้นตลาดก็เฟ้อ ขายไม่ได้ราคา ต้องขายลดราคาลงไปตามลำดับ ๆ ทีนี้ “มนุษย์เฟ้อ” เราเคยได้ยินไหม?

เวลานี้มนุษย์กำลังเฟ้อจะหาราค่ำราคาไม่ได้แล้วเพราะมีมากต่อมาก ใครก็จะเอาแต่ตัวรอดว่าเป็นยอดดี แล้วสร้างความทุกข์ให้ผู้อื่นมากมายเพื่อความสุขของตัวเอง มีเท่าไรเวลานี้ มีมากมายทีเดียวที่มีความเห็นแก่ตัวมาก เห็นแก่ได้มาก โลภมาก เพราะกิเลสตัณหามันเจริญขึ้นโดยลำดับ สิ่งที่ให้มันเจริญขึ้นโดยลำดับก็เพราะได้รับการส่งเสริมเลี้ยงดูอย่างเหลือเฟือจน “เฟ้อ” ซึ่งเวลานี้กำลังมีมาก นิยมกันมาก มีเต็มอยู่ทุกแห่งทุกหน ซึ่งแต่ก่อนเราก็ไม่เคยเห็น ไอ้สิ่งส่งเสริมให้กิเลสตัณหาราคะมันแสดงตัวขึ้นเป็นเปลวเหมือนฟืนเหมือนไฟ ทุกวันนี้ได้เห็นกันแล้ว

แต่โลกก็ยินดีจะว่ายังไง ? ทุกข์เท่าไรก็ไม่เห็นโทษของมัน ยังถือว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี ถือว่าดีอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งจะไม่มีสติสตังเลยแทบจะเป็นบ้า ก็ยังว่าดีอยู่เรื่อยไป แล้วจะมีทางแก้กันที่ตรงไหน? เมื่อยังมีความยินดีในความเป็นบ้าอยู่เช่นนั้นแล้ว มันจะมีสติสตังเป็นคนดีได้อย่างไร? นี่แหละ “มนุษย์เฟ้อ” ดูเอา เฟ้อจนจะเป็นบ้ากันทั่วดินแดนทั้งเขาทั้งเรา เมื่อจิตใจที่เฟ้ออย่างนี้แล้วมันก็ทำให้มนุษย์เฟ้อด้วย ก่อนที่มนุษย์จะเฟ้อ จิตใจต้องเฟ้อเสียก่อน คือจิตใจไม่มีคุณค่า จิตใจไม่มีราคา ถูกสิ่งสกปรกโสมมซึ่งรกรุงรังเข้าไปทับถมคลุกเคล้าเสียหมด หุ้มห่อหมด จนมองหา “ตัวจริง” คือจิตไม่เจอ แล้วคุณค่าของจิตดวงนี้จะมีมาจากที่ไหน

เมื่อมีแต่ของเฟ้อ ๆ เต็มหัวใจอย่างนี้ เวลาแสดงออกทางกายวาจากิริยามารยาทก็เป็น “มนุษย์เฟ้อ” เฟ้อไปตาม ๆ กันหมด แล้วคุณค่าของมนุษย์นั้นจะมีได้ที่ไหน? เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โลกนี้มันน่าดูน่าชมและน่าอยู่ที่ตรงไหน ? ถ้าไม่อยู่กับมนุษย์ที่ทำตัวให้ดีมีคุณค่าสำหรับตัว มันก็มีเท่านั้น ถ้ามนุษย์เราทำให้เฟ้อแล้วจะไม่มีโลกอยู่แน่นอน แล้วจะไปตำหนิใคร ก็มนุษย์เป็นผู้ทำให้เฟ้อเสียเอง ใครไม่เห็นก็ดูเอา พูดย่อ ๆ แต่เพียงเท่านี้ก็พอจะทราบได้ว่ามนุษย์เฟ้อเป็นอย่างไร

เราไม่ไปตำหนิคนอื่น เราก็เฟ้อ ถ้าที่ไหนไม่ดีสำหรับเรา เราก็เฟ้อเหมือนกัน นี่เราเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาทดสอบ ทดสอบพวกเราที่กำลังเฟ้อ ๆ อยู่เวลานี้แหละ ให้พยายามแก้สิ่งที่เฟ้อออก สิ่งที่เฟ้อนั่นแหละคือสิ่งที่ทำลายคุณสมบัติของเรา คุณค่าของมนุษย์เรา พยายามแก้ตรงนี้ที่กำลังเฟ้อนี้ ให้กลับเป็นความดีขึ้นมา

เอ้า ร่นเข้ามาหานักปฏิบัติเรา ความขี้เกียจนั้นแหละคือความเฟ้อ แก้มันออก ความขี้เกียจ ความอ่อนแอ มันพาให้เราเฟ้อ จงชะล้างมันออกไป ให้มีความเข้มแข็ง มีความอุตส่าห์พยายามเข้ามาแทนที่ ด้วยความเชื่อบุญเชื่อกรรม เชื่อพระพุทธเจ้า

เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องความเกิดกับความตายนั้นมันเป็นของคู่กันอยู่เสมอ จะแยกมันออกจากกันไปไหน เพราะเราเกิดมากับความตาย เราไม่ได้ตายมากับความเกิด เมื่อเกิดแล้วมันต้องมีตาย ถ้าแก้ไขได้แล้ว ตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้นจึงว่า เกิดมากับความตาย ไม่ใช่ตายมากับความเกิดนะ

ดังพระพุทธเจ้าทั้งหลายและสาวกทั้งหลายท่านตายแล้วท่านไม่เกิดอีก ผู้บริสุทธิ์แล้วตายแล้วไม่ต้องกลับมาเกิดอีก แต่เกิดแล้วกับความตายจะต้องตายเป็นคู่กัน พระพุทธเจ้าก็ต้องตายที่เรียกว่า “ปรินิพพาน” ความจริงคือธาตุขันธ์สลายเช่นเดียวกับโลกทั่ว ๆ ไปนั่นเอง เพราะต้นเหตุมันมีอยู่แล้ว จะไปลบผลมันไม่ได้ ผลคือเกิดขึ้นมาแล้ว ความตายจะต้องมีเป็นธรรมดา นี่ต้นเหตุคือความเกิดขึ้นมา ผลคือความตาย จะแยกกันไม่ได้ มันต้องมีเป็นคู่กันเสมอ นี่แหละคู่แห่งความเกิดตายของโลกที่มีกิเลสฝังเชื้ออยู่ภายในใจ เป็นอย่างนี้

เราสู้เพื่อชัยชนะ จิตไม่ตาย แต่จิตถูกจองจำทำเข็ญ ยุ่งกันไปวนกันมาจนเป็น “นักโทษ” ทั้งดวง หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ เพียงแต่ฝึกซ้อมดัดแปลงตัวเองออกจากสิ่งที่สกปรกรกรุงรัง ก็ยังแยกไม่ได้ เพราะความอ่อนแอ แม้สติปัญญามีอยู่ก็ไม่ผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ตน การแก้ตนแก้ด้วยสติ แก้ด้วยปัญญา แก้ด้วยศรัทธาความเพียร พระพุทธเจ้าเคยแก้อย่างนี้มาแล้วก่อนจะได้ผลและนำธรรมมาสั่งสอนโลก พอได้ลืมตามองเห็นบุญเห็นบาปบ้างตามกำลัง

ส่วนเราเอาอะไรมาแก้ เอาความขี้เกียจมาแก้ก็เพิ่มเข้าไปอีก เพิ่มโทษเข้าไปเรื่อย ๆ ติดโทษประมาณเท่านั้นปีเท่านี้ปี แทนที่จะได้ออก กลับเพิ่มโทษขึ้นมาเรื่อย ๆ มันก็ไม่ได้ออกจากคุกจากตะรางสักที เลยตายอยู่ในเรือนจำ นี่ดีแล้วเหรอ?

“เรือนจำ” ในที่นี้หมายถึง “วัฏจักร” คือความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดตาย อันฉาบทาไปด้วยความทุกข์ทรมาน ซึ่งได้แก่พวกเราเอง แล้วเราจะเอาอะไรมาแก้? เอาความอ่อนแอมาแก้มันก็จม เพิ่มโทษเข้าอีก ต้องเอาความเข้มแข็งความขยันหมั่นเพียร ความอุตส่าห์พยายาม สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร เร่งลงไป เอา ตายก็ตาย โลกนี้ มีความเกิดความตายเท่านั้นไม่มีใครจะนอกเหนือกว่ากัน สิ่งที่จะนอกเหนือ คือสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรของเรา ที่จะนำตัวเราให้หลุดพ้นไปได้ในระยะใดก็ตาม ได้ชื่อว่าเราได้ชัยชนะเป็นพัก ๆ ไป นี่แหละที่จะทำให้เรามีคุณค่า เอาตรงนี้ ชนะกันตรงนี้ ซึ่งเป็นความชนะเลิศเหนือกิเลสสมมุติทั้งปวง

ชนะอะไรก็เคยชนะมาแล้ว แต่ชนะตัวเองคือชนะกิเลสของตัวเอง ยังไม่เคยเลย เอ้า เอาให้ชนะให้ได้เป็นพัก ๆ ไป จนกระทั่งชนะไปโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือนั่นแหละ การชนะอะไรหรือผู้อื่นใดคูณด้วยล้าน ยังไม่จัดว่าชนะเลิศประเสริฐเหมือนชนะกิเลสของตนคนเดียว การชนะกิเลสภายในใจของตนเพียงคนเดียวเท่านั้น ผู้นั้นแลเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก

นั่นฟังซิ ชนะสิ่งอื่นไม่มีอะไรประเสริฐเลย นอกจากจะเพิ่มโทษเพิ่มกรรมเพิ่มเวร ให้ยุ่งเหยิงติดต่อก่อแขนง เกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่ไปไม่มีทางสิ้นสุดลงได้เท่านั้น แต่การชนะกิเลสของตนด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรนี้ เป็นผู้ประเสริฐ ไม่ต้องกลับมาแพ้อีกแล้ว มีหนทางเดียวเท่านั้น ตาย ตายเฉพาะหนเดียว เฉพาะอัตภาพที่มีอยู่นี้ อันเป็นต้นเหตุที่จะให้ตายอยู่เท่านั้น นอกนั้นไม่ต้องมาก่อกำเนิดเกิดเที่ยวหาจับจองป่าช้าที่ไหนอีก เราเคยจับจองป่าช้ามานานแล้ว เรื่องป่าช้านี้มันควรจะเบื่อกันเสียที เกิดที่ไหนก็จองที่นั่นแหละ

สัตว์โลกทุกตัวสัตว์มีแต่ “นักจองป่าช้า” กันทั้งนั้น เกิดแล้วต้องตาย ตายแล้วเอาป่าช้าที่ไหน? ก็เอาตัวของเราเองเป็นป่าช้า มันมีด้วยกันทุกคน เราทำไมจะขยันจองนัก จองป่าช้ามันดีหรือ? คนและสัตว์ทนทุกข์จนถึงตายไป ไม่เข็ดไม่หลาบที่ตรงนี้จะไปเข็ดหลาบที่ตรงไหน? อะไรมาให้ทุกข์ให้ภัยแก่เรา ถ้าไม่ใช่เรื่องของความเกิดความตายเท่านั้นเป็นทุกข์เป็นภัย ในระหว่างทางก็เป็นทุกข์ในธาตุในขันธ์ ความหิวโหยโรยแรง ความทุกข์ร้อนต่าง ๆ มันเป็นอยู่ในธาตุในขันธ์นี้ ไม่ใช่เป็นอยู่ที่ภูเขานี่นา ไม่ได้อยู่ในอากาศ ไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ มันอยู่ในบุคคลคนหนึ่ง ๆ สัตว์ตัวหนึ่ง ๆ นี้เท่านั้น กองทุกข์รวมแล้วมันอยู่ที่เรา เราจะไปคิดว่า “อยู่ที่นั่นจะดี อยู่ที่นี่จะดี” ถ้าธาตุขันธ์มันเป็นภัยอยู่แล้วหาอะไรดีไม่ได้ ถ้าจิตยังเป็นภัยอยู่แล้วหาอะไรสุขเจริญไม่ได้ ต้องแก้ไขที่นี่(จิต)ดับกันที่นี่ เอาน้ำดับ ดับกันที่นี่ น้ำคือน้ำธรรม ดับลงที่นี่แล้วก็เย็น เย็นแล้วก็สบาย หายโศกเศร้า เลิกกันเสียทีการจับจองป่าช้า

นี่แหละพระพุทธเจ้าท่านสอนศาสนา สอนจนถึงที่นี่ การดำเนินที่จะให้มีความสุขความสบาย ก็ให้ดำเนินไปตาม “สัมมาอาชีวะ” โดยสม่ำเสมอ ภายนอกภายใน

สัมมาอาชีวะภายใน ก็บำรุงเลี้ยงจิตของตนด้วยศีลด้วยธรรม อย่าเอายาพิษเข้ามาแผดเผาจิตใจ มีอารมณ์ที่ไม่พอใจเป็นต้น เข้ามารบกวนจิตใจ เผาลนจิตใจให้เดือดร้อนขุ่นมัว ก็เป็นความชอบ ชอบ ชอบไปตามลำดับ จนกระทั่งจิตไปถึงความชอบธรรมโดยสมบูรณ์แล้วก็ผ่านไปได้ นี่

การแสดง “สัมมาอาชีวะภายนอก” ไม่ค่อยมีเวลาเพียงพอ

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
http://www.luangta.com