Monthly Archives: พฤศจิกายน 2012

จิตดวงนี้ไม่มีคำว่าตาย คำว่าสูญ มีแต่เกิดกับตายและสัมภเวสีหาที่เกิดให้เหมาะสมกับกรรมของตน

null

(ลูกศิษย์ร่วมสร้างตึกสงฆ์อาพาธที่หลวงตารับไว้เมื่อวาน) สงฆ์อาพาธที่ไหน โรงพยาบาลอะไร (ที่หลวงตารับไว้เมื่อวาน ๘ ชั้นครับ ๑๑๕ ล้านบาท) เป็นเงิน ๑๑๕ ล้านบาท ขอให้จำไว้ทุกท่าน ฟังให้ถึงใจ เรื่องเหล่านี้โดนได้ทุกคน ไม่เคยเห็นโรงพยาบาลแต่เวลาจำเป็นมันต้องได้เข้าๆ โรงพยาบาลจึงเป็นได้ทั้งสองประเภท ป่าช้าคน โรงพยาบาลรักษาคน มีสองประเภท เตียงนั้นคนไข้คนหายคนตายอยู่ในนั้นเยอะ

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนอนโรงพยาบาลดูซิมาจับแข้งจับขาดึง สัมภเวสีเสาะแสวงหาที่เกิด คือถ้ากรรมหนักจริงๆ กรรมชั่วหนักจริงๆ ลงปึ๋งเลย รุนแรง ขาดสะบั้นไปเลย ถ้าเป็นทางความดีนี้ก็ผึงดีดขึ้นเลย ถ้าเป็นสัมภเวสีเสาะแสวงหาที่เกิดไม่หนักถึงขนาดนั้นทั้งชั่วทั้งดี เขาเรียกสัมภเวสีแสวงหาที่เกิดเร่ๆ ร่อนๆ อยู่ตามโรงพยาบาล เวลาคนไข้ไปนอนที่โรงพยาบาลมันมาทำทุกแบบนั่นแหละ บางทีมาจับขากระตุกเอาบ้าง ตายแล้วมันไม่ยอมไป อยู่ในโรงพยาบาลนะ เอาไปรักษาโรงพยาบาล ทีแรกเป็นโรงพยาบาลแล้วก็กลายเป็นป่าช้าขึ้นมา

เวลาคนตายกรรมไม่หนักมากนัก สัมภเวสีเร่ร่อนอยู่ตามนั้น ใครไปก็มาขอความช่วยเหลือ แต่คนว่าผีหลอกๆ มันไม่ได้หลอก คือมาขอความช่วยเหลือ มาทำแบบไหนที่จะให้เจ้าของตื่นรู้สึกตัวหรืออะไรขึ้นมา พอรู้สึกตัวขึ้นมาก็ว่าผีกวนผีหลอกอะไร เขามาขอความช่วยเหลือต่างหากนะ อย่างนั้นละเป็นก็อาศัยกัน ตายแล้วก็ต้องมาอาศัยกันอยู่อย่างนั้น

โรงพยาบาลจึงเป็นทั้งป่าช้าเป็นทั้งโรงพยาบาลรักษาคนไข้ รักษาไม่หายก็ตาย เตียงในนั้นทั้งเตียงคนไข้ทั้งเตียงคนตายอยู่ในนั้นละ สลับซับซ้อนเต็มไปหมด เมื่อจิตมีความรู้สึกกับสิ่งเหล่านี้ จิตวิญญาณอะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตว์ เกิดตาย สัมภเวสี ที่ลงอยู่ในนรกก็เยอะ เป็นชั้นๆ ขึ้นมา ไปสวรรค์พรหมโลกก็เยอะเหมือนกัน ที่สัมภเวสีเป็นเปรตเป็นผีนี้มาก เวลาทำบุญให้ทานนี้เขาอุทิศส่วนกุศลพวกนี้ไม่มีญาติมาขอทานกินเยอะนะ

ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร พระพุทธเจ้าแสดงไว้แล้ว น่าสงสารมาก คือมาอาศัยอยู่ตามข้างฝาข้างบ้านของเจ้าของของญาติเจ้าของ ติโรกุฑฑกัณฑสูตร แสดงถึงเรื่องความเสาะแสวงหาความดิ้นรนของเปรตของผี มาในบ้านในเรือน ไปโรงพยาบาล ไปหมด หาที่พึ่งหาที่อาศัย ตายแล้วไม่มีที่พึ่ง คือเวลามีชีวิตอยู่นี้หาแต่ความชั่วใส่ตัวเอง เวลาตายลงไปแล้วไปเป็นสัมภเวสีเสาะแสวงหาที่เกิดที่อยู่ ทั้งความทุกข์ร้อนทุกอย่างเต็มตัวๆ นี่ละจิตวิญญาณไม่เคยมีคำว่าตายคำว่าสูญ คือในจิตแต่ละดวงๆ เป็นจิตที่ไม่เคยตาย สัมภเวสีขึ้นลงๆ สัมภเวสีอย่างนี้ตลอด

น่าสังเวชนะความเกิดความตายของสัตว์ น่าสลดสังเวชมากทีเดียวไม่ใช่ธรรมดา ตายแล้วมันไม่แล้วซี จิตสัมภเวสีหาที่เกิดเพราะทุนรอนไม่มี ถ้ามีทุนมีรอนมีบุญมีกุศลตายแล้วก็ดีดผึง ผู้ที่กรรมหนักๆ ก็ลงผึงเหมือนกัน ลงแรงขึ้นแรง ถ้าผู้ที่ไม่ถึงขนาดนั้นซิพวกกวนบ้านกวนเมืองอยู่ตามโรงพยาบาลเต็มไปหมดนั่นละ แต่เขาไม่ได้ว่านะ คือเขาไม่รู้ เขาก็ว่าแต่ผีมาหลอกบ้างอะไรบ้าง มาขอความช่วยเหลือ ไม่ได้มาหลอกมาหลอนอะไร มาขอความช่วยเหลือ

เพราะฉะนั้นใครจึงอย่าประมาท จิตดวงนี้ไม่มีคำว่าตาย คำว่าสูญ มีแต่เกิดกับตายและสัมภเวสีหาที่เกิดให้เหมาะสมกับกรรมของตน เพราะทุกคนมีกรรมทุกคน แล้วเกิดในที่ต่างๆ กัน น่าสลดสังเวชการเกิดการตายของสัตว์โลก เป็นทุกแบบทุกฉบับ ป่วยหนักไม่หายก็ไปเท่านั้นละ เรื่องตายเป็นอย่างนั้นละ

(ลูกศิษย์ที่ป่วยในวัดถวายทอง ๑ บาท ปัจจัย ๒,๐๐๐ บาท) เอาให้ดีนะภาวนา จิตใจไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นแต่ร่างกาย จิตกับธรรมเอาให้ดี พุทโธอย่าปล่อยจากใจ พุทโธไม่ตายละพุทโธ เข้าใจ ถ้าร่างกายหนักจิตก็ยิ่งหนักในความกระวนกระวายนี้ยิ่งไปหนักนะ ไม่ดี

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
http://www.luangta.com

คนใจบุญ ทำบุญสร้างศาลาตายไปเป็นเปรต

null

อาตมาจะเล่านิทานให้ฟัง ก็น่าฟังเหมือนกันนะ ไม่อยากจะเล่าหรอกมันยาว แต่ว่าควรจะเล่าก็เล่าให้ฟัง จะพูดสั้นๆ ให้มันคุ้มแต่มันทำไม่ได้นะ ท่านบอกว่า…มีคนๆ หนึ่ง เป็นคนที่ใจบุญสุนทร์ทาน ตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่ อะไรจะเป็นบุญ อะไรจะเป็นกุศล แกพยายามไปทำ แกก็ทำให้มันดีทำให้มันละเอียดทุกอย่างแหละ วางของที่นี่วางไว้ตรงนี้ ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น ถ้าลูกหลานจับมาเคลื่อนก็บ่นเสียแล้ว…ไม่สบายใจนะ ไม้กวาดต้องวางตรงนี้ กาน้ำวางตรงนั้น เมื่อใคร มาทำให้ผิดหวัง…ทุกข์เสียแล้ว

แต่แกเป็นคนละเอียดดี ใจบุญ เป็นระเบียบ วันหนึ่งก็คิดได้ เห็นศาลาในป่าที่คนไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ก็คิดว่าเราจะมาสร้างศาลานี่ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้บุญ พ่อค้าพ่อขายไปมาจะได้พักผ่อนหย่อนใจ จะได้มีความสุขสบาย คิดแล้วก็ไปทำๆอย่างดีอยู่ในป่าเพื่อให้คนพัก เมื่อทำเสร็จแล้วต่อไปแกก็ตายวิญญาณไปเกาะอยู่ที่ตรงนั้น คือมันเกาะแต่เมื่อมีชีวิตอยู่น่ะเมื่อสร้างศาลาแล้วแกก็พยายามไปดู มันสกปรกที่ไหนคนมาพักนี่มันเป็นอะไรยังไง ถ้าคนทำไม่ดีแล้วแกก็ใจไม่ค่อยดี ถ้าคนทำดีแกก็ใจสบาย เพราะแกเป็นคนใจบุญสุนทร์ทาน ละเอียดเจ้าระเบียบ

อีกวันหนึ่งพ่อค้าเกวียนมาหลายร้อยเลยมาพัก เมื่อกินข้าวแล้วก็นอนกันเป็นแถว เจ้าของศาลาเป็นเปรตก็มามองดูมันเป็นระเบียบหรือเปล่า…ย่องมาดู มาดูทางศีรษะมันก็ไม่เสมอกันเสียแล้ว บางคนสูงๆ บางคนต่ำๆ มันยุ่งหัวใจเหลือเกิน จะทำอย่างไรดี ก็มาดึงทางเท้าให้มันลงไปให้ศีรษะมันเสมอกัน ดึงไปสุดแถวพอใจแล้วเรียบร้อย ต่อมาๆดูทางเท้าอีก อ้าวไม่เสมอกันอีกแล้ว ก็ไปดึงศีรษะขึ้นไปอีกให้มันเสมอกัน เมื่อเสมอกันดีแล้ววนไปรอบๆ ไปดูทางศีรษะ อ้าวไม่เสมอกันอีก…เปลี่ยนอีก ยุ่งจนกระทั่งดึก จนทอดอาลัย มันเป็นเพราะอะไรหนอคน เท่านี้แหละ คนเรามันหลง…ไม่หลงมากหรอกหลงเท่านี้เปรตมันหลงแล้ว

ก็เลยมานั่งคิดดูว่า อ้อ…คนมันสั้นยาวไม่เสมอกัน ความสั้นความยาวของคนไม่เสมอกัน ก็มารู้สึก เอ้อ…วางเสียมันอย่างนี้แหละคนเราเพราะมันสูงมันต่ำไม่เสมอกันอย่างนั้น แกก็เลยวาง…เพราะเห็นอะไร เพราะเห็นว่าคนมันไม่เสมอกัน แต่ก่อนเห็นคนให้มันเสมอกัน คนไม่เสมอกันทำให้เสมอกัน มันเสมอไม่ได้ แกก็เป็นทุกข์มานั่งคิด เออ..ความจริงคนมันเป็นอย่างนั้น คนมันสั้นมันยาวไม่เสมอกัน มันจึงเป็นอย่างนี้ พอเห็นได้เช่นนี้ก็สบายเลยนะ สบายใจ

พวกเราก็เหมือนกันไปเห็นเหตุมันแล้วก็ไม่เห็นเหตุมันเป็นอย่างนั้น การจะทำให้มันเสมอกันอย่างนั้นหมดปัญญาที่จะต้องคิดแล้วเพราะมันแก้ไขไม่ได้ มันจะไปตัดแข้งตัดขาเขามันก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าความยึดมั่นอุปาทานจะให้มันเหมือนๆกัน พวกเรานี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีธุระหน้าที่ก็คงจะไม่เสมอกันหรอกนะ บางคนก็ช้าไปบ้าง บางคนก็เร็วไปบ้างสารพัดอย่าง มันเลยเกิดยุ่งยากเหมือนเปรตนี่ เราก็ชอบอยากจะไปเป็นเปรตอย่างนั้น

บางทีอาตมาก็เป็นเปรตเหมือนกัน แต่มันรู้สึกง่ายหรอกอ้าว…มันเป็นเปรตแล้วนี่เรา…เลิก…อย่างนี้….ทำไม…เพราะอาศัยลูกศิษย์ลูกหาน่ะ อยากจะให้เขาดีทำเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็เป็นทุกข์ ทุกข์แล้วก็รู้ว่าเออ…เราเป็นเปรตแล้วสอนเจ้าของไปเรื่อยๆ อย่างนั้นมันก็ยังเกิดเป็นเปรตอยู่บ่อยๆเหมือนกัน ไม่ค่อยยอมง่ายๆ จะต้องทำจนชำนาญๆไป ให้มันรู้เหตุรู้ผลมันจริงๆ

http://www.isangate.com/dhamma/prate.html

กายนี้ของพ่อแม่

null

โดยหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
กายของเรานี้เป็นของพ่อแม่ให้มาทั้งหมด เจ้าของเดิมก็คือพ่อแม่นั่นเอง มาจากข้าวสุกขนมสดที่พ่อแม่เคี้ยวกินเป็นเลือดเป็นเนื้อเป็นน้ำเหลือง หรือเป็นการป้อนข้าวป้อนน้ำนมให้เราจนเจริญเติบโตมาถึงทุกวันนี้ ร่างกายของเรานี้จึงไม่ใช่ของใครเลย นอกจากของพ่อแม่ ฉะนั้น เราอย่าคิดโกรธเกลียดพ่อแม่เลย อย่าได้คิดถกเถียงดื้อรั้นด่าตีพ่อแม่เลย เพราะการกระทำเช่นนั้นล้วนเป็นการเนรคุณและเป็นบาปกรรมที่ใช้ไม่หมดลบล้างไม่ได้ มีเพียงบุญกุศลเท่านั้นที่จะให้พ่อแม่ ให้แต่ความดีอย่างเดียวสำหรับพ่อแม่ ให้พูดดีอย่างเดียว ให้ทำดีอย่างเดียวจึงจะเป็นการตอบแทน ถ้าพูดไม่ดีทำไม่ดีก็มีแต่เวรมีแต่กรรม มีแต่หนี้สินอยู่ตลอดเวลา วันนี้เรามาชดใช้บุญคุณของพ่อแม่ ด้วยการมาภาวนาให้จิตของเราหยุดคิดหยุดนึก สงบใจสักพักหนึ่ง ตั้งอกตั้งใจให้สบาย ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องกังวลอะไร เอากายวาจาใจของเราที่ดีที่พ่อแม่ให้มานั้นให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ…

ทำสมาธิให้ใจของเราสงบเย็นสักห้านาทีสิบนาที เช่น “พุท” ลมหายใจเข้า “โธ” ลมหายใจออก ทำความรู้สึกไว้ที่สองช่องจมูกของเรา จำใบหน้าจำจมูกของเราไว้จนกว่าใจของเราจะว่าง สว่าง เฉย เป็นดวงเดียว จิตของเราจะได้ผ่องใสเบิกบานรื่นเริงบันเทิงใจ ทำบุญกุศลถึงใจเรา ถ้าเราไม่สงบเราจะไม่รู้เลยว่า พระคุณของพ่อแม่นั่นมีมากมายเพียงไร พอใจสงบแล้าเราระรู้เลยว่าบุญคุณของพ่อแม่นั้นมี่มากสุดที่จะพรรณนา สุดที่จะประมาณได้ จึงเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพระพรหมของบุตร

พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะอะไร?
เพราะพ่อแม่มีความรักอันบริสุทธิ์ใจ พร้อมที่จะให้อภัยแก่ลูกเสมอ ส่วนพ่อแม่เป็นพระพรหมของลูกก็คือเป็นผู้ประเสริฐต่อชีวิตลูก อะไร ๆ ก็เสียสละได้ทุกอย่างเพื่อลูก ทุกวันนี้เราเป็นพ่อคนแม่คน เราได้สำนึกแล้วว่าเรารักลูกมากเพียงไร พ่อแม่ก็รักเรามากเพียงนั้น เมื่อตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ เราไม่เคยรู้ถึงความรักความห่วงใยของพ่อแม่ที่แสดงออกมา เพราะเรายังไม่รู้เดียงสาเราจึงมองไม่ออก แต่เราจะมองเห็นการแสดงออกถึงความรักความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อเราได้ก็เมื่อตอนที่เรามีลูก เราอุ้ม เรากอด เราจูบ เรากระวนกระวาย เราคอยดูแลตลอดวันตลอดคืนอย่างไร นั่นแหละ!พ่อแม่ของเราก็ทำเช่นนั้นกับเราเหมือนกัน เราห่วงใยลูกเราอย่างไร พ่อแม่ก็ห่วงใยเราเมื่อตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ อย่างนั้น เหมือนกัน คนจะคิดได้ก็ตอนที่ตนเองมีลูกนะ ถ้าคิดไม่ได้ก็สายเสียแล้วก็กลายเป็นคนเนรคุณไม่รู้คุณพ่อแม่ ส่วนมากคนเราจะรักแต่ลูกตัวเอง รักแต่หลานตัวเอง ไม่เคยย้อนกลับไปดูพ่อแม่ตัวเองว่าพ่อแม่ก็รักเราเพราะเราเป็นลูก พ่อแม่ของเราก็รักเราเหมือนเรารักลูกนั่นเอง ถ้าคิดได้อย่างนี้เราจะมองเห็นเลยว่า อ๋อ! เวลาเราอุ้มท้องลูก
เราห่วงใยกังวลอยู่ตลอดวันตลอดคืน ตอนที่แม่อุ้มท้องเราก็คงห่วงใยกังวลตลอดวันตลอดคืนไม่ต่างอะไรกันแน่นอน

เรื่องนี้เราคิดได้หรือยัง? …เราคิดถึงบุญคุณพ่อแม่ได้หรือยังว่าท่านทำอะไรให้เราบ้าง…มากน้อยแค่ไหนในชีวิตนี้ ตั้งแต่อุ้มท้องมาเก้าเดือน เลี้ยงดูจนถึงทุกวันนี้ พ่อแม่ให้อะไรเราบ้าง…คิดได้หรือยัง? แล้วเราได้ให้อะไรแก่พ่อแม่หรือยัง? ยังเลย! เราให้แต่ลูกของเรา ให้แต่สามีภรรยาของเรา เรายังไม่เคยย้อนกลับไปให้แม่ของเราเลย เพราะเราลืมบุญคุณ เราไม่ได้คิดว่าพ่อแม่เลี้ยงดูรักเรามากถึงขนาดนี้เชียวหรือ?

เราคิดได้แต่เพียงว่าเรารักลูกของเรา อยากจะให้ลูกของเรา แต่เราไม่เคยคิดว่าพ่อแม่ก็ให้เราอย่างนี้มาก่อน มันเป็นกงกรรมกงเกวียนที่ปิดบังหัวใจมนุษย์ให้นึกไม่ออก ให้หลง ให้งงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถออกจากทุกข์ได้ ไม่เหมือนพระอรหันต์ ไม่เหมือนพุทธเจ้า ไม่เหมือนผู้กตัญญูรู้คุณ จะมองออกเลยว่า…ใช่! เรายอมรับ เรารักลูกของเราอย่างไร พ่อแม่ก็รักเราอย่างนั้น เราเสียสละให้ลูกของเราอย่างไร พ่อแม่ก็เสียสละให้เราอย่างนั้น เจ็บแทนลูกได้ ตายแทนลูกได้…

แต่เมื่อลูกโตแล้วก็ไม่เคยคิดที่จะเสียสละให้พ่อแม่อย่างนั้นเลย กลับเถียงกลับว่ากลับ มองพ่อแม่ในแง่ไม่ดี กลับไม่เข้าใจพ่อแม่ หาว่าคนแก่เป็นแผ่นเสียงตกร่อง ว่าพ่อแม่เป็นแผ่นเสียงตกร่อง พูดแล้วก็พูดอีกเป็นหนังเก่าฉายแล้วก็ฉายอีกเราก็มานั่งบ่นนั่งว่าพ่อแม่เอาจุดที่พ่อแม่นี่เองมาย้อนพ่อแม่ให้เจ็บช้ำใจ พอเรามีลูก เราก็เป็นแผ่นเสียงตกร่องต่อไปอีก หนังเก่าฉายใหม่เหมือนกัน เป็นกงเกวียนกำเกวียนไม่มีผิดเลย ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

ถ้าเราไม่อยากให้เป็นกงเกวียนกำเกวียน ก็ต้องไม่ว่าพ่อแม่ นิ่งเฉยเสีย ยอมอดทน ถือว่าเป็นเรื่องของคนแก่ เป็นพ่อคนแม่คนก็ต้องบ่นอย่างนี้เอง เพราะความรักความห่วง ถ้าไม่รักไม่ห่วงไม่มีบ่นเลย ที่บ่นที่ด่าลูกก็เพราะความรักความห่วง กลัวลูกจะไม่ได้ดี เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราจะทะนุถนอมพ่อแม่เหมือนเรารักลูกเลย เราทะนุถนอมลูกของเราเท่าไร เราก็ทะนุถนอมพ่อแม่ของเราเท่านั้น อันนี้จึงว่าเป็นบุคคลฉลาด เป็นบุคคลประเสริฐที่รู้บาปบุญคุณโทษว่าพ่อแม่รักเราอย่างไร…

มีอยู่วันหนึ่งอาตมาไปงานศพที่จังหวัดสมุทรสาคร ลูกสาวเป็นพยาบาล แม่ผ่าตัดแล้วเป็นโรคหลงลืม กินไม่รู้ นอนไม่รู้ ไม่รู้จักลูก ลูกคนอื่น ๆ พยาบาลไม่ได้เพราะไม่มีเวลา ลูกคนหัวปีเลยเอาแม่ไปเลี้ยง แม่เหมือนกลับกลายเป็นเด็กอีกครั้ง เสื้อผ้าก็ต้องนุ่งให้ ต้องช่วยอาบน้ำเช็ดอุจจาระปัสสาวะ

คิดดูซิ! แม่ทำอะไรไม่ได้เลย แม่ช่วยตัวเองไม่ได้ กินข้าวก็กินเองไม่ได้ ต้องให้ลูกคอยป้อน เขาปรนนิบัติแม่อยู่ ๔-๕ ปี กตัญญูมากเลย เขาบอกว่าทำให้เขาได้ซึ้งในบุญคุณของพ่อแม่ ทำให้เขาได้กลับมาตอบแทนพ่อแม่ เหมือนตอนที่พ่อแม่ได้เลี้ยงเขามาสมัยเด็ก ๆ ไม่ต่างกัน ลูกหลาย ๆ คนทำให้แม่คนเดียวไม่ได้ แต่ทีทำให้ลูกๆ ของตัวเองกลับทำได้ แล้วเขาก็ทำบุญอุทิศให้แม่เป็นพันเป็นหมื่น นิมนต์พระมาถวายอาหารทั้งอำเภอเลย

นอกจากนั้นยังให้ทุนการศึกษาเด็กยากจน ให้ทุนอาหารเด็กนักเรียนอีกไม่ใช้จะเลี้ยงพ่อแม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการทำบุญให้พ่อแม่อีก คนเราถ้าเป็นอย่างนี้แล้วลูกหลานก็คล้อยตาม ต่อไปพอเราแก่หรือเจ็บป่วย ลูกหลานก็ต้องเลี้ยงดูและพยาบาลเราอย่างนี้ คนเราทุกวันนี้ มีวิชาความรู้มากยิ่งไกลจากพ่อแม่มาก ยิ่งศึกษาสูงเท่าไร ยิ่งทอดทิ้งพ่อแม่มากขึ้นเท่านั้น ต่อไปพ่อแม่จะต้องเดียวดาย เพราะเขาไม่ศึกษาธรรมะ เขาไม่ศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา…เรื่องกตัญญูรู้คุณ เขามัวศึกษาแต่ความเจริญทางวัตถุ เขาจะต้องทอดทิ้งให้เราเป็นคนแก่ที่ไร้สาระ ถูกทอดทิ้งให้ลำบาก สมัยก่อน คนเราไม่ได้มีการศึกษาอะไรกันมาก คนจะรักพ่อรักแม่ ดูแลพ่อแม่ยันตาย ถ้าเราศึกษามากเท่าไรเราต้องศึกษาธรรมะมากเท่านั้น ให้ธรรมะเจริญในใจของเราจนเกิดความรู้ความเข้าใจ เราจะได้ไม่ทอดทิ้งผู้มีพระคุณ

วันนี้โยมระลึกถึงพระคุณพ่อพระคุณแม่ได้หรือยังว่าท่านให้อะไรแก่เราบ้าง… แล้วอะไรล่ะที่เราให้พ่อแม่ได้บ้าง? ความสบายใจที่พ่อแม่ต้องการ เราให้ท่านหรือยัง? พ่อแม่นั้นหวังเพียงอย่างเดียวคือ…ให้ลูกเจริญ ที่เคี่ยวเข็ญทุกวันนี้ ก็เพราะอยากให้ลูกเจริญอยากให้ลูกรวย อยากให้ลูกมีการศึกษาดีมีงานทำ ไม่อาภัพเหมือนคนอื่น คืออยากให้ได้ดีความปรารถนาของพ่อแม่ ไม่มีอะไรมากไปกว่าให้ลูกได้ดี แก้วแหวนเงินทองก็ไม่อยากได้จากลูก มีแต่อยากจะเอาไปให้ลูกให้มากขึ้น

เรื่องเหล่านี้ทำไมเราจึงคิดไม่ได้?… อะไรปิดบังใจเราอยู่?… ทำไมเราจึงเสียสละให้พ่อแม่ไม่ได้?… อะไรปิดบังใจเราอยู่?… เราสละให้ลูกของเราได้ แล้วทำไมเราสละให้พ่อแม่ของเราไม่ได้.. พ่อแม่ของเราก็เหมือนกัน ท่านสละให้เราได้ แต่ทำไมสละให้พ่อแม่ของตัวเองไม่ได้?… มันก็คงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกกระมัง!

ถ้าเรามีลูกมีหลานต่อไปก็คงจะต้องทำกันอย่างนี้เรื่อยไป ไม่มีใครตอบสนองบุญคุณด้วยการทำให้เราสบายใจเลย เราจะต้องคิดกันให้มากเรื่องอย่างนี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ เราเกิดมามีพ่อมีแม่ มีผู้มีพระคุณให้เรา ไม่ใช่ไม่มีใครให้เรา บางคนถึงพ่อแม่จะไม่เคยเลี้ยงดูเรามา แต่อย่างน้อยเลือดเนื้อกายใจนี้ท่านก็ให้เรามา เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นพระคุณสูงสุดแล้ว เรามีปากเอาไปชมเชยพ่อแม่ เอาไปสรรเสริญพ่อแม่ เอาไปเรียกพ่อแม่กินข้าวกินน้ำ ไม่ใช่มีปากเอาไว้เถียงพ่อแม่ เอาไปด่าว่าพ่อแม่ให้เจ็บช้ำใจ เรามีตาเอาไปมองดูแลพ่อแม่ให้พ่อแม่มีความสุข ไม่ใช่เอาตาไปค้อนไปควักพ่อแม่ให้เจ็บช้ำ ไม่ไปมองพ่อแม่เหมือนไร้ความหมาย ก็ขอให้เราได้เข้าถึงความเป็นพ่อแม่ที่ดีกันทุกคน..

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! บุคคล ๒ จำพวก คือ มารดาและบิดานี้ เราไม่กล่าวว่าจะตอบแทนคุณให้สิ้นสุดได้ง่าย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! บุตรที่ปฏิบัติมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง ปฏิบัติบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่งอยู่จนตลอดอายุร้อยปี บุตรนั้นได้ปฏิบัติด้วยปัจจัยสี่ ด้วยการอบกลิ่น การนวด การอาบน้ำ และการดัดกาย มารดาบิดาได้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนบ่าของบุตรนั้น ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่นับว่าตอบแทนคุณบิดามารดาให้สิ้นสุดได้ หรือแม้บุตรจะพึงสถาปนามารดาบิดาไว้ ในราชสมบัติของแผ่นดินด้วยแก้ว ๗ ประการ ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาให้สิ้นสุดได้เลย ข้อนี้เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่า… มารดาบิดาเป็นผู้มีคุณมาก เป็นผู้รักษาชีวิตบุตรไว้ เป็นผู้เลี้ยงบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดชักชวนมารดาบิดาซึ่งไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธามั่นคง ชักชวนมารดาบิดาผู้ไม่มีศีลให้ตั้งมั่นในศีล ชักชวนมารดาบิดาผู้ไม่มีปัญญา ให้มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางที่ถูกต้องได้

ภิกษุทั้งหลาย!…ด้วยการตอบแทนบุญคุณดังกล่าวนี้ ชื่อว่าบุตรได้ตอบแทนคุณมารดาบิดาแล้ว”

คนไม่มีกิเลสตัณหา ไม่ได้อุ้มกิเลสมา ย่อมเป็นคนเบา เหยียบน้ำก็ไม่เปียก

หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ยกนิทานเปรียบเทียบแสดงเหตุผลว่า ทำไมท่านจึงเลือกการปฏิบัติภาวนา แทนที่จะเลือกเอาการเรียนทางตำราหรือภาคปริยัติ ดังนี้

ในครั้งพุทธกาล มีกุลบุตร 2 พี่น้อง ได้ศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา พระภิกษุ 2 พี่น้องได้ปรึกษากันว่า เมื่อเราบวชแล้วจะมานั่งนอนกินของฆราวาสของเขาเฉยๆ ดูจะไม่สมควร อันกิจในพระพุทธศาสนา มี 2 อย่าง คือ คันถธุระ การศึกษาท่องบ่นในคัมภีร์ต่างๆ อันเป็นเนื้อหาธรรมอย่างหนึ่ง กับวิปัสสนาธุระ การปฏิบัติภาวนาเพื่อค้นหาความจริงอีกอย่างหนึ่ง ขอให้เราทั้งสองเลือกเอาคนละอย่าง ต้องตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง ต่างคนต่างเรียนให้จบในแนวทางที่ตนเลือก แล้วจึงค่อยมาพบกัน

ฝ่ายภิกษุผู้น้องเป็นผู้เลือกก่อน บอกว่า “ผมจะถือเอาคันถธุระ คือการศึกษาเล่าเรียนจากคัมภีร์ และตำรับตำราต่างๆ”
ภิกษุผู้พี่จึงต้องเลือกอีกอย่างหนึ่ง ได้พูดว่า “เออดี ! เธอยังหนุ่มแน่นอยู่ เรียนไปจะได้มีความรู้ ขอให้เรียนให้จบในตำราทุกเล่มที่มี จะได้มีลาภยศและชื่อเสียง เป็นที่นิยมยกย่องของคนทั่วไป ส่วนพี่นั้นแก่แล้ว ถ้ามัวเรียนตามตำรับตำรากลัวจะตายเสียก่อนที่จะพ้นทุกข์”

พระพี่ชายจึงตกลงใจเรียนฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือการมุ่งปฏิบัติ เมื่อตกลงเช่นนั้นแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปเสาะแสวงหาอาจารย์ตามแนวที่ตนเลือก ฝ่ายพี่ชายมุ่งหน้าเข้าป่าเขาลำเนาไพร แสวงหาที่สงบสงัดปราศจากผู้คนพลุกพร่าน ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาจนบรรลุถึงจุดสุดยอดของวิปัสสนากรรมฐาน ใช้เวลายาวนานพอสมควร จนจิตใจมั่นคงแข็งแกร่ง ตัดสิ้นขาดจากอาสวะกิเลส สู่วิมุตติหลุดพ้น ภายในดวงจิตดวงใจสงบราบเรียบและผ่องใสทั้งกายและใจ ถือว่าจบกิจทางพระศาสนา ฝ่ายพระน้องชายก็มุ่งเข้าเมืองใหญ่ เข้าศึกษาในสำนักที่มีชื่อเสียง ได้อาจารย์ที่เป็นปราชญ์ชั้นยอด ศึกษาธรรมะจนแตกฉานทุกเรื่องทุกตอน ศึกษาจนจบตำราและคัมภีร์ทุกประเภท ถือว่าเรียนจบขั้นสูงสุด มีความเป็นปราชญ์อย่างสมภูมิ กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรจะไม่รู้อีกแล้ว เมื่อสองพี่น้องต่างมั่นใจว่าตนบรรลุในสิ่งที่มุ่งหวังแล้ว จึงได้กลับมาพบกัน เมื่อเรียนรู้คนละอย่างจึงเกิดการประลองกันว่าใครจะดีจะเก่งกว่ากัน

ฝ่ายพระผู้น้องได้กล่าวขึ้นว่า “ที่พวกเราไปร่ำเรียนศิลปะวิทยากันมาจนสำเร็จแล้วนั้น ผมอยากทราบว่าของใครจะดีกว่ากัน”
พระผู้พี่พูดว่า “วิชาของพี่นี่จบไตรโลกธาตุสูงสุด จนหมดที่จะศึกษาเล่าเรียนแล้ว จิตของเราถึงวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง”
พระผู้น้องก็พูดขึ้นว่า “ผมก็เรียนเก่งเหมือนกัน เรียนจนจบตำราทุกเล่ม และเรียนจนหมดความรู้ของอาจารย์ ถือว่ารู้แจ้งจบในพระธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว”
พระสองพี่น้องจึงเกิดการข้องใจว่าวิชาของใครดีกว่ากัน จึงได้ตกลงกันว่า “เราทั้งสองก็ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้พระองค์เป็นผู้ตัดสินเถิด พระองค์จะวินิจฉัยอย่างไรก็ตาม เราทั้งสองต้องยอมรับ”

พระสองพี่น้องจึงออกเดินทางเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อกราบทูลให้ทรงวินิจฉัยต่อไป

พระพุทธวินิจฉัย
ในระหว่างเดินทางของพระภิกษุสองพี่น้องนั้น ฝนตกอย่างหนัก การเดินทางจึงยากลำบากเพราะอุปสรรคจากน้ำท่วม พระภิกษุผู้พี่เดินนำหน้า พระภิกษุผู้น้องเดินตามหลัง เมื่อถึงเวลาน้ำลึกจนท่วมหัว ก็ปรากฏว่าท่วมเพียงครึ่งแข้งของพระผู้พี่ ถ้าน้ำตื้นก็เดินอย่างแสนสบาย ซึ่งไม่เหมือนกับพระน้องชาย กล่าวคือ ถ้าน้ำท่วมเพียงแข้งของพระพี่ชาย แต่กลับท่วมถึงอกของพระน้องชาย ถ้าน้ำตื้นพระพี่ชายก็เดินสบายมาก แต่พระน้องชายกลับเดินตกหลุมตกบ่อไปตลอดทาง พระน้องชายเดินทางด้วยความลำบากทุลักทุเล ผ้าสบงจีวรเปียกปอนต้องยกกลดยกบาตรไว้เหนือศีรษะ เมื่อไปถึงพระเชตวันมหาวิหาร พระภิกษุทั้งสองพี่น้องได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว ก็ได้เข้าเฝ้าเพื่อฟังพระพุทธวินิจฉัย

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ก่อนจะตอบข้อสงสัย ตถาคตจะขอถามอาการที่พวกเธอเดินทางมาเป็นอย่างไร ลำบากไหม ?”
พระผู้พี่ตอบว่า “ไม่ลำบากเลย ร่มเย็นตลอดทาง พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ตรัสถามพระน้องชาย “แล้วเธอละลำบากไหม ?”
พระน้องชายตอบว่า “เกล้ากระหม่อมลำบากเหลือเกิน ต้องลุยน้ำต้องตกหลุมตกบ่อ ผ้าเปียกปอนหมด พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “ทำไมเมื่อมาด้วยกันจึงไม่เหมือนกัน คนหนึ่งสบาย อีกคนหนึ่งกลับทุกข์”
พระภิกษุสองพี่น้องกราบทูลว่า “เกล้ากระหม่อมไม่ทราบดอกพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมให้เกล้ากระผมเข้าใจด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นั้นว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนไม่มีกิเลสตัณหา ไม่ได้อุ้มกิเลสมา ย่อมเป็นคนเบา เหยียบน้ำก็ไม่เปียก เดินก็สบายไม่ทุกข์กาย ส่วนคนที่มีกิเลสหยาบ ตัณหามากมาย จนไม่มีโกดังที่จะเก็บใส่ เอาไว้ที่ไหนก็เต็ม คนนั้นเป็นคนหนัก เหยียบน้ำก็เปียก เดินไปก็จมแสนลำบาก น้ำเกือบจะท่วมตาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพี่หรือภิกษุน้อง ใครฟูใครจม”

พระภิกษุสาวกกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์ทราบแล้ว”
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า “ปัญหาที่พวกเธอตกลงไม่ได้นั้น ทราบแล้วหรือยัง คนเรียนแต่ไม่ปฏิบัติในพระธรรมวินัย กับคนเรียนสมถวิปัสสนาปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด จนกำจัดอวิชชาออกจากดวงใจแล้ว ดวงใจก็ใสสะอาด พี่เก่งหรือน้องเก่ง…..พี่ฟูหรือพี่จม น้องฟูหรือน้องจม”

ด้วยนิทานอุทาหรณ์ข้างต้น หลวงปู่ขาวท่านจึงเรียนด้านปริยัติพอเป็นพื้นฐาน แล้วก็มุ่งปฏิบัติสมถวิปัสสนา เพื่อลดละกิเลส พาจิตไปสู่ความหลุดพ้น ดังนั้นท่านจึงยอมขัดคำสั่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งสมเด็จฯ ท่านเข้าใจจึงยอมตาม

http://www.dhammajak.net/

พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป พระธรรมคำสอนไม่ได้อยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก

คนเราเมื่อตกอยู่ในทาสของอารมณ์ มีความโกรธ ความเกลียด จิตใจว้าวุ่นไม่เคยสงบเป็นคนเจ้าอารมณ์ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ถึงจะอยู่ในวัดก็ไม่มีความสุขก็เหมือนคนอยู่นอกวัดฉะนั้นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้เราเอาไปด้วย สอนให้เรากินเป็นสุขนอนเป็นสุขนั่งเป็นสุข ให้ตัดทุกข์ ฉะนั้นเราจะอยู่ที่ไหน เราก็เอาวัดไปด้วย เอาพระไปด้วย เราต้องนึกว่า พระพุทธเจ้านั้นไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป พระธรรมคำสอนไม่ได้อยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก พระสงฆ์ไม่ได้อยู่ที่วัด คุณธรรมของพระพุทธเจ้า คุณธรรมของพระสงฆ์นั้นอยู่ที่ผู้ปฏิบัติตาม ผู้ใดปฏิบัติตามคนนั้นชื่อว่าเข้าถึงพระรัตนตรัย เข้าถึงวัด เข้าถึงพระธรรม เข้าถึงศาสนาได้ คนถึงจะกินในวัด นอนในวัด แต่ไม่เคยปฏิบัติศีลเลย หรือว่าเป็นคนไม่มีวิปัสสนา คือไม่พิจารณารู้จักละทุกข์ได้เลย เป็นคนเจ้าอารมณ์ อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นดังนั้นแล้วเราจะอยู่ในวัดเท่าไหร่เราก็ไม่ดับทุกข์เหมือนไม่ได้เข้าถึงพระพุทธเจ้า

ฉะนั้นอย่างได้คิดว่าเราอยู่ไกลวัด เราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องคิดว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ตามทำอย่างไรเราจะเป็นคนใจดีใจเย็น เป็นคนไม่โกรธ ที่เอาพระคล้องคอ แต่มีควาามโกรธมาก มีความอิจฉาริษยาเขามาก ถึงจะมีพระคล้องคออยู่แต่ ใจเขาก็ไม่เป็นพระ แต่คนไม่มีพระคล้องคอเลยแต่เขานึกถึงพระอยู่เรื่อย คิดจะทำความดีอยู่เรื่อยไม่อาฆาตพยาบาทใคร เพราะทำใจดีได้ พระก็ปรากฏอยู่ในใจ

…..บุคคลที่ปฏิบัติเข้าถึงธรรมะเท่านั้น จึงจะรู้บาปบุญ นรก สวรรค์ นิพพาน เพราะต้องดูด้วยปัญญาที่จะต้องฝึกให้เกิดขึ้น ก็ต้องศึกษาจากสติ สมาธิเข้าไปถึงความสงบ แล้วจึงจะมีญาณ มีปัญญารู้เห็นว่า บาป บุญ สวรรค์ นิพพานอยู่ที่ใจคน ประตูใจเท่านั้นเองที่เราจะเปิดให้ดูได้ว่าทำบุญแล้วได้บุญอย่างนี้เอง เพราะทำบุญแล้วใจดี ใจสงบ ทำบาปแล้วร้อนใจทุกข์ใจ เป็นนรกอย่างนี้เอง นิพพานทำแล้วรู้จักดับทุกข์ พอโกรธแล้วไม่โกรธต่อ เป็นผู้มีสติปัญญาระวังใจ อะไรมากระทบใจก็มีปัญญาดับ เคยชังใครก็ดับวางได้หมด นั่นคือนิพพานที่เราเห็นศาสนาเห็นอย่างนี้ ที่เราอยู่ใกล้วัดเราอยู่อย่างนี้ เราจะไปอยู่ประเทศใด อยู่เมืองใด เราก็มีพระ มีวัดของเราอยู่ในใจแล้ว เราก็เข้าใจศาสนาพุทธอยู่ตลอดเวลา เพราะพระพุทธองค์สอนเรื่องนามธรรม สอนให้คนแก้ปัญหาหัวใจตัวเอง ให้รู้จักโทษ รู้จักทุกข์ รู้จักสิ่งที่เกิดทั้งหลายเกิดจากใจเรา ถ้าเราทำใจให้มีธรรมะได้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีไปหมด

ฉะนั้นเราเข้าถึงวัดก็คือ พยายามไม่โกรธทำใจให้ผ่องใส ไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น มีเมตตาธรรม นั่นแหละเข้าถึงพระธรรมคำสอนได้ดี พระพุทธเจ้าทรงยกย่องบุคคลที่เข้าถึงธรรมโดยสัจธรรม โดยนามธรรมโดยคุณธรรม ด้วยจิตใจอย่างนี้ ไม่ใช่ไปวัดทุกวันๆ แต่ไม่เคยเลิกโกรธเลย ไม่เคยเลิกเล่นการพนันเลย
ก็ไปวัดแต่ตัวแต่ใจไม่เข้าถึงเลย ก็ไปวัดแต่ตัว แต่ใจไม่เข้าถึงเลย อันนี้เราคงเข้าใจกันนะว่า เราเข้าถึงวัดแล้วด้วยการทำใจ..

หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ วัดสังฆทาน นนทบุรี

เหตุให้มีทรัพย์มาก มีเงินทองมาก เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวพรรณงาม

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พาลบัณฑิตสูตร (๑๒๙)
[๔๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

[๔๖๘] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นพาลของคนพาลนี้มี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลในโลกนี้มักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว มักทำการทำที่ชั่ว ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษเพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว ฉะนั้น พวกบัณฑิต จึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน ฯ

[๔๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดีริมทางสามแพร่งก็ดีชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มีปรกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ปรกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติเหล่านั้นด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกข์ โทมนัสข้อที่หนึ่งดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก คนพาลเห็นราชา ทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติ ผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ
(๑) โบยด้วยแส้บ้าง
(๒) โบยด้วยหวายบ้าง
(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
(๔) ตัดมือบ้าง
(๕) ตัดเท้าบ้าง
(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
(๗) ตัดหูบ้าง
(๘) ตัดจมูกบ้าง
(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล ราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ปรกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติเหล่านั้นด้วย ถ้าแม้ราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆบ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อ ที่สองแม้ดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก กรรมลามกที่คนพาลทำไว้ในก่อนคือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมลามกที่คนพาลทำไว้ในก่อนคือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียงหรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความร้าย ทำแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศลไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ซึ่งทำแต่ความชั่ว ความร้าย และความเลว เป็นกำหนดคนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ร่ำไห้ ทุ่มอก ถึงความหลงพร้อมดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อที่สามดังนี้แลในปัจจุบัน ฯ

[๔๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงอบาย ซึ่งเขาพูดหมายถึงนรกนั่นแลโดยชอบ พึงกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจส่วนเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมา จนถึงนรกเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ง่ายนัก ฯ

[๔๗๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุอาจเปรียบได้ แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแสดงแด่พระราชาว่า ขอเดชะผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดลงอาชญาที่ทรงพระราชประสงค์แก่มันเถิด พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถิดพวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนี้ในเวลาเช้า พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทง บุรุษนั้นในเวลาเช้า ครั้นเวลากลางวัน พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า พ่อมหาจำเริญ บุรุษนั้นเป็นอย่างไรพวกราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ยังเป็นอยู่อย่างเดิม พระเจ้าข้า พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลากลางวัน พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษ นั้นในเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็น พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่าพ่อมหาจำเริญ บุรุษนั้นเป็นอย่างไร พวกราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ยังเป็นอยู่อย่างเดิมพระเจ้าข้า พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทง มันในเวลาเย็น พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเย็น ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้น ถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม พึงเสวยทุกข์โทมนัสเหตุที่ถูกแทงนั้นบ้างหรือหนอ ฯ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็เสวยทุกข์โทมนัสเหตุที่ถูกแทงนั้นได้ ป่วยการกล่าวถึงหอกตั้งสามร้อยเล่ม ฯ

[๔๗๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้ กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้ มีประมาณน้อยนักเปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยวย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ทุกข์โทมนัสที่บุรุษถูกแทง ด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ กำลังเสวยอยู่นั้น เปรียบเทียบทุกข์ของนรกยังไม่ถึงแม้ความนับ ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

[๔๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการคือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่ง ถาก คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะเอาคนพาลนั้นเทียมรถแล้ว ให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่ร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง คนพาลนั้นจะเดือดเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็น ฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไป ด้านขวาครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนคนพาลนั้นเข้าไปในมหานรกก็มหานรกนั้นแลมีสี่มุมสี่ประตูแบ่งไว้โดยส่วนเท่ากันมีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วนแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลงประกอบด้วยไฟ แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเรื่องนรกแม้โดยอเนกปริยายแล เพียงเท่านี้จะกล่าวให้ถึงกระทั่งนรกเป็นทุกข์ไม่ใช่ทำได้ง่าย ฯ

[๔๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นย่อมใช้ฟันและเล็มกินหญ้าสด ก็เหล่าสัตว์ เดียรัจฉานจำพวกมหญ้าเป็นภักษา คืออะไรคือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีหญ้าเป็นภักษา ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น ฯ

[๔๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกลๆ แล้วย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ เปรียบเหมือนพวกพราหมณ์เดินไปตามกลิ่นเครื่องบูชาด้วยตั้งใจว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนี้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกลๆแล้ว ย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนี้ ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา คืออะไร คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีคูถเป็นภักษา ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้น นั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกมีคูถเป็นภักษาเหล่านั้น ฯ

[๔๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในที่มืด ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในที่มืด คืออะไร คือ ตั๊กแตนมอด ไส้เดือน หรือแม้จำพวกอื่นๆไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เกิดแก่ตายในที่มืดดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในที่มืด ฯ

[๔๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉาน จำพวกเกิดแก่ตายในน้ำ ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในน้ำ คืออะไร คือ ปลา เต่า จรเข้ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เกิดแก่ตายในน้ำ ดูกรภิกษุทั้งหลายคนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตาย ในน้ำ ฯ

[๔๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครกคืออะไร คือ เหล่าสัตว์จำพวกที่เกิดแก่ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี ในขนมกุมมาสเก่าก็มีในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เกิด แก่ตายในของโสโครก ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเรื่องกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานแม้โดยอเนกปริยายแล เพียงเท่านี้จะกล่าวให้ถึงกระทั่งกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานเป็นทุกข์ ไม่ใช่ทำได้ง่าย ฯ

[๔๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นมีบ่วงตาเดียวไปในมหาสมุทรทุ่นนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้ ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือมีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ ฯ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญถ้าจะเป็นไปได้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ยังจะเร็วกว่า เรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ ยังยากกว่านี้นั่นเพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะในตัวคนพาลนี้ไม่มีความประพฤติธรรม ความประพฤติสงบการทำกุศล การทำบุญ มีแต่การกินกันเอง การเบียดเบียนคนอ่อนแอ ฯ

[๔๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล ถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราวไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลคนจัณฑาล หรือหรือสกุลคนจักสาน หรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะ เห็นปานนั้น ในบั้นปลาย อันเป็นสกุลคนจนมีข้าวน้ำและโภชนาหารน้อย มีชีวิตเป็นไปลำบาก ซึ่งเป็นสกุลที่จะได้ของกิน และเครื่องนุ่งห่มโดยฝืดเคือง และเขาจะมีผิวพรรณทราม น่าเกลียดชัง ร่างม่อต้อ มีโรคมาก เป็นคนตาบอดบ้างเป็นคนง่อยบ้าง เป็นคนกะจอกบ้าง เป็นคนเปลี้ยบ้าง ไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายทุจริตวจีทุจริตมโนทุจริต ครั้นแล้วเมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ

[๔๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงการพนัน เพราะเคราะห์ร้ายประการแรกเท่านั้นจึงต้องเสียลูกบ้าง เสียเมียบ้าง เสียสมบัติทุกอย่างบ้างยิ่งขึ้นไปอีก ต้องถึงถูกจองจำ เคราะห์ร้ายของนักเลงการพนันที่ต้องเสียไปดังนั้น เพียงเล็กน้อย ที่แท้แลเคราะห์ร้ายอันใหญ่หลวงกว่านั้นคือ เคราะห์ที่คนพาลนั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว ตายไป เข้าถึงอบายทุคติวินิบาต นรก นั่นเอง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ภูมิของคนพาลครบถ้วนบริบูรณ์ ฯ

[๔๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะ เครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นบัณฑิตของบัณฑิตนี้มี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตใน โลกนี้มักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี มักทำการทำที่ดี ถ้าบัณฑิตจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ดี พูดคำพูดที่ดี และทำการทำที่ดีบัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่าผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ เพราะบัณฑิตมักคิดความคิดที่ดีมักพูดคำพูด ที่ดี และมักทำการทำที่ดี ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิตเป็นสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลย่อมเสวยสุขโสมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตนั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดีริมทางสามแพร่งก็ดีชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าบัณฑิตเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากเหตุเป็นที่ตั้งความประมาทเพราะ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นบัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ปกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติ เหล่านั้นด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่หนึ่งดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก บัณฑิตเห็นราชาทั้งหลาย จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ
(๑) โบยด้วยแส้บ้าง
(๒) โบยด้วยหวายบ้าง
(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
(๔) ตัดมือบ้าง
(๕) ตัดเท้าบ้าง
(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
(๗) ตัดหูบ้าง
(๘) ตัดจมูกบ้าง
(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล ราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดคือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ปรกติเหล่านั้นไม่มีอยู่ในเรา และเราก็ไม่ปรากฏในปรกติเหล่านั้นด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่สองดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ ในก่อนคือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียงหรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขา ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็นฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในก่อน คือกายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียงหรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นบัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความชั่วไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคน ที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้เป็นกำหนด บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่สามดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลประพฤติสุจริตทางกายทางวาจา ทางใจแล้วเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเมื่อจะกล่าวถึงสุคติซึ่งเขาพูดหมายถึงสวรรค์นั้นแลโดยชอบ พึงกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจส่วนเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาจนถึงสวรรค์เป็นสุข ก็ไม่ใช่ง่ายนัก ฯ

[๔๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุอาจเปรียบได้ แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง จึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้นเป็นเหตุได้ พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการเป็นไฉน ฯ

[๔๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ผู้ทรงได้มุรธาภิเษกแล้วทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ครั้นทอดพระเนตรแล้วได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า ก็เราได้สดับมาดังนี้แล พระราชาพระองค์ใด ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพันพร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พระราชานั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อนั้น พระองค์เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหลั่งรดจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่า จงพัดผันไปเถิดจักรแก้วผู้เจริญจักรแก้วผู้เจริญจงพิชิตให้ยิ่งเถิด ลำดับนั้น จักรแก้วนั้นก็พัดผันไปทางทิศตะวันออก พระเจ้า จักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราชพระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควร ลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแลได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อนั้น จักรแก้วนั้นได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันออก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศใต้ ฯลฯ พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศใต้แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศตะวันตก ฯลฯ พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศเหนือ พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐาน อยู่ ณ ประเทศใดพระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราชพระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิดพระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่ เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล จักรแก้วนั้นพิชิตยิ่งตลอดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วกลับมาสู่ราชธานีเดิม ประดิษฐานอยู่เป็นเสมือนลิ่มสลักพระทวาร ภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำให้งดงามอย่างมั่นคงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลายย่อมปรากฏจักรแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏช้างแก้วเป็นช้างหลวงชื่ออุโบสถ เผือกทั่วสรรพางค์กาย มีที่ตั้งอวัยวะทั้งเจ็ดถูกต้องดี มีฤทธิ์เหาะได้ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้วย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า จะเป็นยานช้างที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญถ้าสำเร็จการฝึกหัด ต่อนั้น ช้างแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดีเป็นเวลานาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองช้างแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา ดูกรภิกษุทั้งหลายย่อมปรากฏช้างแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏม้าแก้วเป็นอัสวราชชื่อวลาหก ขาวปลอด ศีรษะดำเหมือนกา เส้นผมสลวยเหมือนหญ้าปล้อง มีฤทธิ์เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว ย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า จะเป็นยานม้าที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการฝึกหัด ต่อนั้น ม้าแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัดเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดีแล้วเป็นเวลานาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วพระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองม้าแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏม้าแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏมณีแก้วเป็นแก้วไพฑูรย์ งามโชติช่วง แปดเหลี่ยม อันเจียระไนไว้อย่างดี มีแสงสว่างแผ่ไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองมณีแก้วนั้น จึงสั่งให้จตุรงคินีเสนายกมณีขึ้นเป็นยอดธง แล้วให้เคลื่อนพลไปในความมืดทึบของราตรีชาวบ้านที่อยู่รอบๆ พากันประกอบการงานด้วยแสงสว่างนั้น สำคัญว่าเป็นกลางวัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏมณีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏนางแก้วรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนักไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพมีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัวเย็นในคราวร้อนมีกลิ่น ดังกลิ่นจันทรฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก นางแก้วนั้นมีปรกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังบรรหารใช้ ประพฤติถูกพระทัย ทูลปราศรัย เป็นที่โปรดปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทางใจ ไฉนเล่า จะมีประพฤติล่วงทางกายได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏนางแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏคฤหบดีแก้วผู้มีจักษุเพียงดังทิพเกิดแต่วิบากของกรรมปรากฏ ซึ่งเป็นเหตุให้มองเห็นทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของทั้งที่ไม่มีเจ้าของได้ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ พระองค์จงทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้พระองค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วพระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองคฤหบดีแก้วนั้น จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้ลอยล่อง กระแสน้ำกลางแม่น้ำคงคา แล้วรับสั่งกะคฤหบดีแก้วดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดีฉันต้องการเงินและทองคฤหบดีแก้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้นโปรดเทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิดพระเจ้าจักรพรรดิตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ ทันใดนั้น คฤหบดีแก้วจึงเอามือทั้ง ๒ หย่อนลงในน้ำ ยกหม้อเต็มด้วยเงินและทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่าข้าแต่มหาราช พอหรือยังเพียงเท่านี้ ใช้ได้หรือยังเพียงเท่านี้ บูชาได้หรือยังเพียงเท่านี้ พระเจ้าจักรพรรดิจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี พอละ ใช้ได้แล้ว บูชาได้แล้วเพียงเท่านี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏคฤหบดีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏปริณายกแก้วปริณายกนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถถวาย ข้อแนะนำให้พระองค์ทรงบำรุงผู้ที่ควรบำรุง ทรงถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักสั่งการถวาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏปริณายกแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการนี้ พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างเป็นไฉน ฯ

[๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ย่อมทรงพระสิริโฉมงดงาม น่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งพระฉวีวรรณอย่างยิ่งเกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลายพระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อแรกดังนี้ ฯ

[๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงพระชนมายุยืนทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๒ ดังนี้ ฯ

[๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นผู้มีพระโรคาพาธน้อยไม่ทรงลำบาก ทรงประกอบด้วยพระเตโชธาตุย่อยพระกระยาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนักไม่ร้อนนัก เกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๓ ดังนี้ ฯ

[๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่พอใจ ของพราหมณ์และคฤหบดีเหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจ ของบุตรฉะนั้น พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นที่ทรงโปรดปราน พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิเหมือนบุตรเป็นที่รักใคร่พอใจของบิดาฉะนั้น ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาออกประพาสพระราชอุทยาน ทันทีนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่ารีบด่วน โปรดเสด็จโดยอาการที่พวกข้าพระองค์ได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงสั่งสารถีว่าดูกรสารถี ท่านอย่ารีบด่วนจงขับไปโดยอาการที่ฉันได้ชมบรรดาพราหมณ์และคฤหบดีนานๆ เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๔ ดังนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ และความสัมฤทธิผล ๔ อย่างดังนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้นเป็นเหตุบ้างไหมหนอ ฯ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้วแม้ประการหนึ่งๆ ก็ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้วประการนั้นเป็นเหตุได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงแก้วทั้ง ๗ ประการ และความสัมฤทธิผลทั้ง ๔ อย่าง ฯ

[๕๐๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้มีประมาณน้อยนักปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยวย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พระเจ้าจักรพรรดินี้ ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง ย่อมทรงเสวยสุข โสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้น เป็นเหตุได้ สุขโสมนัสนั้นเปรียบเทียบสุขอันเป็นทิพย์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่เข้าถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

[๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราวไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาลหรือสกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล เห็นปานนั้นในบั้นปลาย อันเป็นสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหารอย่างเพียงพอ และเขา จะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่งมีปรกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ อาศัยและเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตครั้นแล้วเมื่อตายไป
จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

[๕๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงการพนัน เพราะฉวยเอาชัยชนะได้ประการแรกเท่านั้น จึงบรรลุโภคสมบัติมากมาย การฉวยเอาชัยชนะของนักเลงการพนันที่บรรลุโภคสมบัติมากมายได้นั้นแล เพียงเล็กน้อย ที่แท้แลการฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น การฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น คือ การฉวยเอาชัยชนะที่บัณฑิตนั้น ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต แล้วตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นั่นเอง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ภูมิของบัณฑิตครบถ้วนบริบูรณ์ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ พาลบัณฑิตสูตร ที่ ๙

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๔๐/๔๑๓

“คาดไม่ได้อำนาจของกรรม” กรรมของคนตระหนี่ถี่เหนียว

เมื่อวานไปไหน (วัดเขาใหญ่เจริญธรรม เอาของไปให้ ๕ คันรถ) เอาไปท่านอุทัย ๕ คันรถเมื่อวาน ไปไหนมาจำไม่ได้เรา วัดนี้เป็นวัดแจกทานนะ ไม่มีการสั่งสม มีเท่าไรออกหมดเลย ใครให้อะไรมาๆ ออกๆๆ ทั่วไปหมด ความตระหนี่ถี่เหนียวมันเป็นภัยต่อเจ้าของ ให้พากันจำเอาไว้ ได้กินได้ทานเหมาะถูกต้องตามคลองธรรมของมนุษย์ มีแต่กินๆ มีแต่โลภอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ให้ได้กินได้ทานละเหมาะ อย่างพระสีวลี พระสมัยพุทธกาลพระสีวลีมีอติเรกลาภมากที่สุดเลย บรรดาสาวกก็มีพระสีวลีเป็นผู้มีอติเรภลาภมากที่สุด ท่านให้ทานมาตั้งแต่อดีตชาติเลย เวลาผลออกมาไปที่ไหนมีแต่กองทานๆ เรื่อยๆ นั่นละความกว้างขวางเป็นอย่างนั้น ความตระหนี่ถี่เหนียวไม่เกิดประโยชน์อะไร เจ้าของตายแล้วดีไม่ดีไปเป็นเปรตเฝ้าอยู่นั้นละ อยากเป็นเปรตไหมล่ะพวกนี้ ถ้าอยากเป็นเปรตก็ให้ตระหนี่ถี่เหนียว มีแต่กิน ไม่เห็นแก่หน้าแก่ตาใครเลย เห็นแก่ท้องของตัวเองอย่างเดียวตายแล้วไปเป็นเปรตพวกนี้ มนุษย์เราเป็นสัตว์ชั้นสูงรู้จักบุญจักคุณจักบาป กินแล้วให้ทาน นี่ก็อะไรบ้างทองคำ ๑๒ ตันเหรอ (๑๒ ตัน ๖๒ กิโลครึ่งเข้าคลังหลวงครับ) นี่เข้าคลังหลวงทั้งนั้น แล้วนี่ยอดเงินอะไร (ตึก ๑๐ ชั้น ตอนนี้ได้ ๒๙๘ ล้าน) ตั้งไว้ทั้งหมด ๕๐๐ ล้าน นี่ได้ ๒๙๘ ล้านแล้ว ได้เรื่อย

พระพุทธเจ้าท่านจะพาพระสงฆ์ไปเยี่ยมพระเรวัตตะ พระเรวัตตะเป็นน้องพระสารีบุตร ท่านชอบอยู่แต่ในป่าๆ ในป่าลึกๆ นั้นพระสงฆ์หรือใครต่อใครก็พูดด้วยความเดือดร้อนใจ เพราะไปเยี่ยมท่านเรวัตตะแล้วจะทำอย่างไร ท่านอยู่ในป่าเราไปจะได้กินอะไร โอ้ เอาพระสีวลีไปด้วยซี พระพุทธเจ้าท่านยกสาวกของท่าน เอาพระสีวลีไปด้วยไม่อด ใครจะไปเกินพระพุทธเจ้า แต่เวลาพูดเอาพระสีวลีออกมา เอาพระสีวลีไปซี ไม่อดอยาก พระสีวลีไปด้วยแล้วเหลือเฟือ คือพระสีวลีนี้เป็นกองมหากุศลในการให้ทาน จนเป็นนิสัยติดสันดานมาตลอด ได้กินไม่ได้ทานอยู่ไม่ได้พระสีวลี แต่ก่อนมีแต่ให้ทานๆ ไปที่ไหนเขามีงานมีการต้องเอาพระสีวลี ตั้งแต่เป็นฆราวาสเอาไปเป็นประธานในงานต่างๆ เพราะท่านเก่งทางการทำบุญให้ทาน ทีนี้เวลามาบวชก็เหมือนกันพระสีวลีเป็นผู้มีอติเรกลาภมากที่สุด ไปไหนใครถวายไทยทานเกลื่อนไปเลย อย่างนั้นละ

ก็มาเข้ากับพระที่ตระหนี่ถี่เหนียว เป็นฆราวาสตระหนี่ถี่เหนียว ไปบิณฑบาตที่ไหนมาฉันจังหันไม่อิ่มๆ ให้ไปข้างหน้าก็บันดลบันดาลให้เขาไม่เห็นเสีย อยู่ย่านกลางก็เอาอีกแหละ สุดท้ายก็หมดเสีย เขาใส่บาตรฉันจังหันไม่อิ่มสักวัน พระองค์นี้เราลืมชื่อเสียแล้วละ ร่ำลือความอดอยากขาดแคลนของพระองค์นี้ แต่เราจำชื่อไม่ได้ จนกระทั่งพระสารีบุตรไป ท่านฉันจังหันไม่อิ่มเลย มีอะไรมาใครใส่บาตรให้ฉันไปๆ หมดไปๆ หมดไปเฉยๆ ยังไม่อิ่ม อย่างนี้ทุกวัน

เสียงก็ร่ำลือไปถึงพระสารีบุตร-พระโมคคัลลาน์ ท่านไปเองเชียว ท่านเตรียมเครื่องทานไปเลยไปใส่บาตรพระองค์นี้แหละ ชื่อพระอะไรน้า ไปวันนั้นก็ไปถามว่าไหนทราบว่าท่านฉันจังหันไม่เคยอิ่มเลย ไม่มีใครให้ทานท่านเหรอท่านจึงฉันไม่อิ่ม ให้ว่าอย่างนั้นนะ แต่ครั้นฉันลงไปแล้วอันนั้นหมดไป อันนี้หมดไป เจ้าของยังไม่ได้ฉันของหมดไปเลย ไม่อิ่มสักวัน พระสารีบุตร-พระโมคคัลลาน์ก็ว่า เอ้า วันนี้จะให้เห็นต่อหน้าต่อตา ให้อิ่มนะวันนี้ พระสารีบุตร-พระโมคคัลลาน์เตรียมของไปเลยไปใส่บาตรท่าน ฟาดจนล้นบาตรเลย เอ้า ฉัน ท่านจับขอบปากบาตรไว้นะ จับขอบปากบาตรของพระองค์นั้นไว้

นี่ละพระอาภัพ มีแต่ความตระหนี่ถี่เหนียว ไปที่ไหนก็ไม่อยากทำบุญให้ทาน เห็นแก่พุงของตัวเอง ครั้นเวลามาบวชเป็นพระแล้วบิณฑบาตได้มาฉันจังหันไม่พอๆ สักวันเดียว วันนั้นพระสารีบุตรเลยไปกับพระโมคคัลลาน์ ไปถามเหตุผลกลไก ท่านก็เล่าให้ฟังตามความจริง แล้วไม่มีใครให้ทานท่านเหรอท่านจึงว่าฉันจังหันไม่อิ่ม มี แต่ครั้นเวลาเอาลงไปในบาตรเรียบร้อยแล้วฉันไปฉันมาอันนั้นหมดอันนี้หมดยังไม่อิ่ม ว่าอย่างนั้นนะ เป็นอย่างนั้นทุกวันๆ พระสารีบุตรไปก็ เอา วันนี้เตรียมของมาพร้อมเลย เอาให้อิ่มวันนี้ ให้ท่านจังหันให้อิ่ม พระสารีบุตรจับขอบปากบาตรไว้นะ ถ้าปล่อยขอบปากบาตรของอยู่ในนั้นจะหมด

นี่เห็นไหมเรื่องบุญเรื่องกรรมใครอย่าไปคาดไปหมายนะ เหนือทุกอย่างเลย เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง บุญกรรมที่เจ้าของสร้างเอาไว้นี้มันเหนือทุกอย่าง พระองค์นี้ฉันจังหันไม่อิ่ม พระสารีบุตรเลยไปจับขอบปากบาตรเอาไว้ เอา ให้ฉัน จัดของให้เต็มบาตรแล้วให้ฉัน ท่านจับปากบาตรไว้ ท่านฉันให้พอ ฟาดเสียให้พอ วันนั้นเลยตายเพราะอิ่มมากเกินไป ฉันอิ่มวันเดียวเลยตายวันนั้น ในตำรามี ไม่มีท่านเขียนไว้ทำไม ของจริงทั้งนั้นละเอามาเล่าให้เราฟัง ผู้เป็นเป็นอย่างนั้นละฉันจังหันไม่เคยอิ่ม ใครเอามาให้ก็หมดๆ จนกระทั่งพระสารีบุตรไปจับขอบปากบาตรไว้ เอาฉันให้อิ่มวันนี้ ถ้าปล่อยมือแล้วของมันจะหมดไป นี่ละอำนาจแห่งกรรมใครคาดได้เมื่อไร คาดไม่ได้นะ อำนาจแห่งกรรมเหนือทุกอย่าง จึงว่าใครคาดไม่ได้ ท่านฉันจังหันวันนั้นก็พระสารีบุตรจับขอบปากบาตรเอาไว้ ไม่อย่างนั้นมันจะหมดของอยู่ในบาตร นั่นเห็นไหมอำนาจของกรรม ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น หากหมดไปๆ ไม่อิ่ม เพราะฉะนั้นพระสารีบุตรจึงจับขอบปากบาตรเอาไว้ เอาจัดของให้เต็มบาตร ใส่ให้เต็มบาตรแล้วก็เอาให้ฉัน ท่านจับขอบปากบาตรไว้ด้วยให้พระองค์นั้นฉัน พระสารีบุตรเป็นผู้จับขอบปากบาตรเอาไว้ เอาฉันให้พอ ฉันให้อิ่มให้พอ ไม่อย่างนั้นของในบาตรมันจะหมด มันบันดลบันดาล กรรมของเจ้าของนั่นละ ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เคยเสียสละทำบุญให้ทานแก่ผู้ใดเลย ฉันอิ่มวันนั้นก็เลยตายวันนั้น จะอิ่มมากไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ทราบว่าฉันอิ่มวันเดียวตาย พระสารีบุตรจับขอบปากบาตรเอาไว้ ไม่อย่างนั้นของในบาตรจะหมด

พระอติเรภลาภมากก็พระสีวลี ไปไหนเกลื่อนไปหมดเลย พระสีวลีเป็นผู้มีอติเรกลาภมากที่สุดบรรดาสาวกของพระพุทธเจ้า องค์นี้ไปไหนไม่อดไม่อยาก นี่ละอำนาจของกรรม ให้เชื่อกรรม คำว่ากรรมๆ ผู้แสดงใครเป็นคนแสดง จอมปราชญ์ทั้งนั้นมาแสดงไว้ ท่านโกหกเราได้อย่างไร ไม่โกหกจอมปราชญ์ฉลาดแหลมคม อย่างนั้นละกรรมใครไปคาดไม่ได้นะอำนาจของกรรม กรรมดีกรรมชั่วคาดไม่ได้ทั้งนั้น ใครอย่าไปคาด พูดไปพูดมาก็เหนื่อย เอาละให้พร

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒
http://www.luangta.com

พระธาตุพนมพัง

ธรรมดาคนเราทุกวันนี้ลำบาก ไม่เห็นง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น พระธาตุพนมพัง คนร้องไห้ก็มีและวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายๆ อย่างมันเป็นกรรมเป็นเวร เป็นเสนียดจัญไรแก่บ้านเมือง ว่าไปอย่างนั้น อย่างไรมันจะเสียใจมันก็คิดไป เพราะคนมันหลง ความเป็นจริงอันนี้ เป็นธาตุท่านพังนะ ท่านนิพพาน ก่อนท่านไป ตัวท่านเองท่านก็ยังไปท่านไม่อยู่ ท่านยังบอกว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดแล้วไม่แปรผันไปนั้นไม่มี ต้องแตกทำลายเป็นเบื้องหน้า ท่านสอนไว้ ตัวของท่านเองท่านก็ไปแล้ว เหลือแต่อัฐิ อัฐิก็กระดูกท่าน แต่ตัวจริงท่านก็ผ่านไปแล้ว ท่านยังสั่งว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง อย่าพากันไปตำหนิก้อนอิฐ อย่าไปตำหนิก้อนหิน อย่าพากันไปถือโลหะต่างๆ เป็นที่พึ่ง มันไม่เกิดประโยชน์ ให้เราพ้นจากทุกข์ไปได้ แม้ท่านจะนิพพานแล้วก็ตาม ให้พากันเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม ให้มีรากฐานแน่นหนา ให้มีอริยสงฆ์ อันเกิดจากพระสัทธรรมเป็นที่พึ่งอันนั้นเป็นสรณะที่พึ่งของเรา

ฉะนั้น ถ้าเราไปอาศัยภูเขา อาศัยต้นไม้ อาศัยก้อนหิน อาศัยก้อนอิฐอยู่มันก็พัง ถ้าพังแล้วก็ร้องไห้เสียใจ นี่ล่ะ… พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว มันทุกข์ มันนำตนพ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นจากวัฏฏะสงสารไม่ได้ มันเป็นมงคลตื่นข่าว ฉะนั้นยากที่คนจะเห็น ยากที่คนจะรู้จักซึ่งธรรมะ พูดตามความเป็นจริง ความจริงที่มันมีอยู่ ตั้งอยู่เสมอ ไม่มีอะไรหวั่นไหว ความจริงยังตั้งมั่นอยู่ ท่านว่ามันพัง มันก็พัง ท่านว่ามันแตก มันก็แตก ท่านว่ามันฉิบหาย มันก็ฉิบหาย มันก็ถูกอยู่แล้วไม่มีอะไรจะเกิดวิปลาสอีกต่อไป ไม่มีทางแก้ไข ความจริงตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ เมื่อพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ท่านก็เทศน์ให้ฟัง เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานแล้วท่านก็สั่งไว้ โดยปริยาย ในเบื้องปลาย เพื่อจะให้ประชาชนทั้งหลายเข้าใจธรรมะ ขนาดนี้ก็ยังเข้าใจได้ยาก นี่อะไรมันบัง อะไรมันปิดบังไว้ อะไรมันปิดดวงตา เช่นท่านให้พิจารณาสกนธ์ร่างกาย เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่สะอาด เป็นของไม่เป็นแก่นสาร สภาพร่างกาย ตาเรามองเห็น เห็นขน เห็นขา เห็นนิ้วมือ นิ้วเท้า เห็นทุกส่วน แต่ว่ามันไม่เห็น เห็นแล้วก็ไม่เห็น เห็นแล้วไม่เห็นลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในรูปอันนี้ เมื่อมันวิบัติมาวิบัติไปก็มีความโศกเศร้าปริเทวนารำพันชื่อว่าเราไม่เห็น ไม่ใช่ตาเนื้ออันนี้ ท่านหมายถึงตาใจ คือปัญญา ให้พิจารณา ทุกสิ่งสารพัดท่านให้ภาวนา ภาวนาคือให้มันถูก คิดให้มันแม่น การคิดให้มันแม่น การคิดให้มันถูกนั้นแหละ คือยอดธรรมะ ยอดของการภาวนา เราจะเดินจงกรมก็ดี เราจะนั่งสมาธิก็ดี เคลื่อนอิริยาบถต่างๆ ทั้งหลายก็ดี คือ พระพุทธเจ้าท่านบังคับให้สติรอบรู้อยู่อย่างนั้น ก็เพราะว่าท่านอยากให้เรามีความเห็นถูกต้องดี ถ้ามีความเห็นถูกต้องดีมันก็เป็นมรรค เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น เมื่อเราทุกข์เราก็จะระบายทุกข์ออก เช่นว่าเราเจ็บไข้ มันเจ็บหัว มันปวดท้องอย่างนี้เป็นต้น หรือมันเฒ่าแก่ชรามาอย่างนี้ เราเห็นแล้วเราก็มีความสบายในธรรมะ เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้เอง มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่น ทุกรูปทุกนามเกิดมาแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ มันจะมีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่เมา มันจะมีความสุขเกิดขึ้นมามันก็ไม่เมา ไม่ได้เมาในสิ่งใดทั้งหลายทั้งปวง เพราะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น ตามเหตุตามปัจจัยของมัน เมื่อความเห็นถูกต้อง ใจก็ไม่ตื่นเต้นไม่หวาดไม่กลัว ไม่สะดุ้งต่อเหตุการณ์ทั้งหลายต่างๆ จะเห็นรูปก็ดี จะได้ยินเสียงก็ดี จะได้ลิ้มรสก็ดี ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายก็ดี ธรรมารมณ์อันเกิดขึ้นทางใจก็ดีอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็ดี จิตใจของผู้บรรลุธรรมะ จะตรง จะมั่น จะเที่ยง จะมั่น รู้รอบอยู่ตามเป็นจริงนั้น พ้นจากทุกข์

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

พระธาตุจมน้ำ

มีเรื่องเกี่ยวกับพระธาตุศักดิ์สิทธิ์อีกเหมือนกัน วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งมาจากกรุงเทพฯ เขามากราบนมัสการท่านอาจารย์ชา และได้นำวัตถุที่ถือว่าเป็นมงคลยิ่งมาให้ท่านด้วย สิ่งนั้นคือ พระธาตุพระอรหันต์ เขาเล่าและยืนยันว่า ถ้าเป็นพระธาตุแท้จะไม่จมน้ำ แต่ถ้าปกติวัตถุธรรมดาที่มีขนาดเดียวกับพระธาตุนี้ ก็จะจมน้ำ แต่เขาได้พิสูจน์แล้วว่าพระธาตุนี้ดีจริง ลอยน้ำได้ ครั้นว่าดังนั้น เขาก็เอาน้ำใส่แก้วมาแก้วหนึ่งเพื่อจะทำให้ท่านดู

เมื่อท่านเห็นดังนั้น จึงหัวเราะและห้ามเขาว่า “อย่าทำ เดี๋ยวมันจะจม”

แต่ชายคนนั้นไม่เชื่อฟังท่าน เขายังขืนทำ ครั้นวางพระธาตุลงในน้ำ มันก็จมจริงๆ และท่านก็ยังคงนั่งหัวเราะอยู่อย่างเดิม พระรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน กล่าวแสดงความเห็นกับพระด้วยกันว่า

“ผมว่าพระธาตุจมน้ำได้นี่แหละประหลาดกว่าพระธาตุลอยน้ำได้ วันนี้โชคดีจริงๆ ที่ได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุด หรือท่านมีความเห็นอย่างไรๆ”

พระอีกรูปหนึ่งได้แต่หัวเราะ

ท่านสอนว่า “ทิฏฐิของคนเรา ถ้าเราเอาไปใส่ไว้ในอะไรแล้ว สิ่งนั้นมันก็เป็นของมีค่าขึ้นมาทันที จะกลายเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่มีทิฏฐิเข้าไปตั้งอยู่ ทุกสิ่งมันก็ไม่มีราคา อย่างคนไทยเราถือว่าศีรษะเป็นของสูง ใครมาจับเล่นไม่ได้ เป็นเหคุให้โกรธฆ่ากันเลยก็ได้ เพราะมีทิฏฐิมันจึงไม่ยอม ความยืดถือมันเหนียวแน่นมาก เราไปเมืองนอกเห็นฝรั่ง เขาจับหัวกันได้สบาย พระฝรั่งที่ไปด้วย พาไปเยี่ยมพ่อพอเห็นหน้าพ่อ เอามือลูบหัวเล่นเลย ทั้งลูบทั้งหัวเราะ พ่อเขาก็ดีอกดีใจ ถือว่าลูกรักเขา… เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ถ้าคนเราไม่มีทิฏฐิเสียแล้ว ทุกอย่างมันก็หมดค่า ทุกข์ทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ ไม่มีอะไรจะมาทำให้เป็นทุกข์ เรื่องการถือมงคลภายนอก ก็เรื่องของทิฏฐิเหมือนกัน ทิฏฐิเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนี้ไม่ดี มันก็กลายเป็นเป็นของดีของไม่ดี ของศักดิ์สิทธิ์ ของไม่ศักดิ์สิทธิ์กันขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ยึดถืออย่างนั้น ท่านให้ถอนทิฏฐิมานะ ความสำคัญมั่นหมาย ท่านให้ละทิฏฐิมานะอย่างนั้น ถ้าเราละสิ่งเหล่านั้นออกไปแล้ว การปฏิบัติมันก็ถูกทางเท่านั้นเอง ทุกอย่างมันจะหมดค่าหมดราคา เมื่อเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อุปาทานก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อไม่มีอุปาทาน ภพชาติก็ไม่มี แล้วทุกข์มันจะมาจากไหน?”

หลวงพ่อชา
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
บันทึกประวัติส่วนหนึ่ง รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ต.ป. เตชปัญโญ

สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การปรินิพพานของพระสารีบุตร
[๗๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ บ้านนาฬกคามในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ.

[๗๓๔] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตรและจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหาพระอานนท์ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์ สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว.

[๗๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว.

[๗๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ?
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตรมิได้พาศีลขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรมธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร.

[๗๓๗] พ. ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้วมีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

[๗๓๘] ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใดซึ่งใหญ่กว่าลำต้นนั้นพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลยดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

[๗๓๙] ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล.

[๗๔๐] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้นที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๗๘/๔๖๙