Monthly Archives: เมษายน 2013

สิ่งของที่ทรงห้ามมิให้พระภิกษุจับต้อง

สิ่งของที่ทรงห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์จับต้องเรียกว่า “วัตถุอนามาส” ได้แก่ วัตถุสิ่งของดังต่อไปนี้
๑. ผู้หญิง รวมทั้งเครื่องแต่งกายหญิง รูปภาพหญิง หรือรูปปั้นของผู้หญิงทุกชนิด
๒. รัตนะ ๑๐ ประการ คือทอง เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์(ที่เลี่ยมทอง) ศิลา เช่น หยก และโมรา เป็นต้น
๓. เครื่องศาสตราวุธทุกชนิด อันเป็นเครื่องทำลายชีวิต
๔. เครื่องดักสัตว์บกและสัตว์น้ำทุกชนิด
๕. เครื่องประโคมดนตรีทุกอย่าง
๖. ข้าวเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่กับที่

สิ่งของที่เป็นวัตถุอามาสเหล่านี้ทุกชนิด ไม่นิยมนำไปประเคนถวายพระภิกษุ เพราะผิดพระวินัยพุทธบัญญัติทำให้พระภิกษุต้องอาบัติโทษ

คัดลอกจากหนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

“พระไตรปิฎก” ศาสนาจะอยู่ไม่นานเพราะอะไร

เมื่อเอ่ยถึง พระไตรปิฎก หลายๆคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวและยากจะเข้าถึง ซึ่งอาจเกิดจากภาษาที่ใช้ ทั้งๆที่พระไตรปิฎกถือได้ว่าเป็นตำราหรือคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาที่ทุกคนควรได้เรียนรู้ เพราะได้รวบรวมคำสอนหลักๆขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการถอดความ และจัดทำพระไตรปิฎกออกมาในภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นพระไตรปิฎกฉบับประชาชนบ้าง ฉบับเยาวชนบ้าง รวมทั้งมีคัดเลือกเนื้อหาสาระบางส่วนที่น่าสนใจมาเผยแพร่ ทำให้คนทั่วไปได้ทราบเรื่องราวในพระไตรปิฎกมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ที่ไม่เคยทราบเกี่ยวกับพระไตรปิฎกว่ากล่าวถึงเรื่องอะไรไว้บ้าง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำสาระน่ารู้บางส่วนที่นำมาจากพระไตรปิฎกมาเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องๆ เริ่มด้วยการรู้จัก “พระไตรปิฎก”กันก่อน

คำว่า “พระไตรปิฎก” มาจากคำว่า “ไตร”ที่แปลว่า สาม และ “ปิฎก” หมายถึง กระจาด ตะกร้า หรือบางแห่งก็แปลว่า คัมภีร์ เมื่อรวมความแล้ว หมายถึง ที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจายสูญหาย แต่ให้อยู่ในตะกร้าหรือกระจาดนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนหรือ ๓ คัมภีร์คือ พระวินัยปิฎก เป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยหรือศีลของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก เป็นเรื่องคำสอนทั่ว ๆ ไปที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ต่างๆมีการเอ่ยชื่อบุคคล สถานที่และประวัติตามท้องเรื่อง และสุดท้ายคือ พระอภิธรรมปิฎก เป็นข้อธรรมะล้วนๆกล่าวถึงความเป็นไปแห่งชีวิตและจุดหมายปลายทางของชีวิต หรือนิพพานนั่นเอง ซึ่งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ยังไม่มีการแบ่งชัดเจนเช่นนี้ และมิได้เรียกว่าพระไตรปิฎก มีแต่เพียงการรวบรวมข้อธรรมะของพระพุทธเจ้าและพระวินัยเป็นข้อๆแล้วซักซ้อมท่องจำกันมา แล้วพระพุทธองค์ก็จะทรงขานรับรองว่าถูกต้อง ซึ่งการท่องจำเช่นนี้นี่เอง จึงเป็นที่มาของการสวดปาติโมกข์ คือ การท่องจำพระวินัยอันเป็นการสวดข้อบัญญัติทางวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อทุกๆ ๑๕ วันในเวลาต่อมา และเนื่องจากภาษาที่ปรากฎในพระไตรปิฎกสมัยนั้นยากแก่การเข้าใจ จึงได้มีการอธิบายความพระไตรปิฎกขึ้นภายหลัง ซึ่งเรียกกันว่า อรรถกถา แปลว่า คำอธิบายพระไตรปิฎกโดยพระเถระผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า
พระอรรถกถาจารย์

ปัจจุบันเรามักได้ยินคนพูดว่า ศาสนาเสื่อมลงๆ เพราะคนในสังคมผิดศีล ขาดธรรมกันมากขึ้น ซึ่งในเรื่องพระศาสนาจะตั้งอยู่ได้นานหรือไม่นั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงกล่าวตอบข้อสงสัยข้อนี้ของพระสารีบุตรว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าวิปัสสี สิขี และเวสสภู อยู่ไม่ได้นานเนื่องจากเมื่อแสดงธรรมแก่สาวกแล้ว พระพุทธเจ้าเหล่านี้ มิได้มีการบัญญัติเป็นพระวินัยเอาไว้ เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระศาสนาของพระองค์ก็อันตรธานหายตามไปด้วย ส่วนในสมัยพระพุทธเจ้ากกุธสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ ดำรงอยู่ได้นานเพราะเมื่อแสดงธรรมแล้ว ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ด้วย เมื่อทั้งสามพระองค์ปรินิพพาน พระศาสนาก็ยังคงสืบเนื่องต่อไปได้ ทั้งนี้ ทรงเปรียบให้ฟังว่า บรรดาคฤหัสถ์ที่ออกบวชในศาสนา โดยไม่มีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณ ที่กองไว้บนพื้นกระดาน โดยไม่มีด้ายร้อยให้ติดกัน ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้ง่าย ฉันใดก็ฉันนั้นแต่บรรดาคฤหัสถ์ต่างชาติต่างสกุลที่ออกบวช โดยมีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองบนพื้นกระดาน โดยมีด้ายร้อยติดกันไว้ ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้โดยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ความเสื่อมและความเจริญแห่งพระศาสนามาจากการมีพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้คอยควบคุมความประพฤติผู้เข้ามาบวชในพุทธศาสนานั่นเอง ทั้งนี้เพราะพระวินัย ก็คือข้อปฏิบัติหรือศีลของพระ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นรากแก้วของศาสนา เป็นรากฐานแห่งความดีต่างๆ พระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดเนื้อนาบุญแห่งพระศาสนา หากพระสงฆ์อยู่ในพระวินัย และปฏิบัติดีย่อมทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพเลื่อมใสและที่พึ่งของประชาชน แต่หากพุทธสาวกมิได้ทำตามพุทธบัญญัติ ก็ย่อมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ และถอยห่างจากศาสนา อันนำมาซึ่งความเสื่อมสลายไปในที่สุด

การกำเนิดวันพระ มาจากดำริของพระเจ้าพิมพิสาร ที่เห็นว่าทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ นักบวชนอกพระพุทธศาสนา มักจะมาประชุมเพื่อกล่าวธรรมของตน และชาวบ้านก็จะพากันไปฟังด้วยความเลื่อมใส พระองค์จึงอยากให้พระสงฆ์กระทำเช่นนั้นบ้าง จะได้ความรักและความศรัทธาเลื่อมใสจากประชาชน จึงนำพระดำรินี้ไปทูลขอต่อพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ประชุมกันในทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ แต่ปรากฏว่าในครั้งนั้น พระภิกษุเมื่อประชุมกันแล้ว พากันนิ่งเฉยไม่พูดอะไร ชาวบ้านก็พากันตำหนิ ว่าทำไมประชุมกันแล้ว ไม่แสดงธรรม

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงอนุญาตให้มีการแสดงธรรมในวันดังกล่าว ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “วันพระ” หรือ “วันธรรมสวนะ” และต่อมาทรงเห็นว่า ควรนำเอาศีลของภิกษุ ๒๒๗ ข้อมาแสดงในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำอันเป็นวันอุโบสถ ที่เรียกว่า สวดปาติโมกข์ด้วย จึงเป็นประเพณีสวดปาติโมกข์ทุก ๑๕ วันดังที่ทรงบัญญัติไว้

มีคนกล่าวไว้ว่า “สตรีเป็นศัตรูแห่งพรหมจรรย์” บางคนอาจคิดว่าเป็นการกล่าวร้ายผู้หญิง จริง ๆแล้วในพระไตรปิฎก็มีการพูดถึง “สตรีเป็นมลทินของภิกษุ” โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอุทายี เป็นพระในสกุลเมืองสาวัตถี ท่านชอบเข้าออกในสกุลเป็นประจำ ซึ่งสมัยนั้นท่านมีหญิงสาวที่พ่อแม่ได้ยกให้ไว้แล้วเป็นอุปัฏฐากอยู่ วันหนึ่งท่านไปบ้านหญิงดังกล่าว และหญิงสาวอยู่ในห้อง ท่านก็ตามเข้าไปในห้องคุยกันสองต่อสอง ปรากฏว่านางวิสาขามหาอุบาสิกา ไปบ้านนั้นพอดีเห็นพระอุทายีทำเช่นนั้น ก็กล่าวติเตียนว่าปฏิบัติตนไม่เหมาะสม แต่พระอุทายีไม่สนใจ นางจึงไปเล่าให้พระภิกษุอื่นฟัง พวกพระภิกษุก็พากันตำนิพระอุทายีและนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ให้มีการประชุมสงฆ์สอบสวนเรื่องนี้ เมื่อได้ความจริงก็ทรงตำหนิว่า พระอุทายีทำไม่เหมาะ ไม่ควร เพราะจะเป็นเหตุให้ผู้ไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ยิ่งไม่เลื่อมใส ส่วนใครที่เลื่อมใส ก็อาจจะคลายความเลื่อมใสลง เมื่อกล่าวติเตียนแล้วก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุนั่งในที่ลับหูหรือลับตากับหญิง หนึ่งต่อหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งพระวินัยข้อนี้ยังใช้อยู่จนปัจจุบัน จากเรื่องนี้จะเห็นว่าที่กล่าวว่าผู้หญิงทำให้ภิกษุเป็นมลทิน นั้น ก็เพราะว่าหากผู้หญิงเข้าใกล้พระเมื่อใด แม้จะเพียงคุยกัน และไม่มีอะไรกันเช่นพระอุทายี แต่ก็จะทำให้พระมัวหมอง และถูกกล่าวหาได้โดยง่าย ยิ่งอยู่ในที่ลับตาคน ยิ่งไม่เหมาะ และพระภิกษุแม้จะบวชถือศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ก็มิใช่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ยังมีความเป็นปุถุชนอยู่ หากอยู่ใกล้ชิดกันโอกาสจะเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามนั้นมีง่าย ซึ่งเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า ถ้ามีผู้หญิงมาบวชเมื่อไร ก็จะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาตั้งอยู่ได้ไม่นาน และคงด้วยเหตุผลนี้ เมื่อพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านางและพระมารดาบุญธรรมของพระองค์มาขอบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก พระวินัยของภิกษุณีจึงมีถึง ๓๑๑ ข้อมากกว่าพระภิกษุเสียอีก รวมทั้งมีครุธรรมที่ต้องปฏิบัติอีกด้วย

เชื่อไหมว่า คำว่า “คว่ำบาตร” ก็มีปรากฏในพระไตรปิฎกด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า เจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งมีเพื่อนเป็นพระภิกษุสองรูปชื่อพระภุมมชกะและพระเมตติยะ ถูกพระทั้งสองใช้ให้ไปทำอุบายใส่ร้ายพระทัพพมัลลบุตร ด้วยพระสองรูปคิดว่าพระภิกษุองค์นี้กลั่นแกล้งตน เจ้าลิจฉวีก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าใส่ความหาว่าพระองค์นี้ข่มขืนมเหสีของตัว เมื่อพระพุทธเจ้าสอบสวนหาความจริง ก็ทราบว่าเจ้าลิจฉวีโกหก พระพุทธองค์จึงทรงแนะให้สงฆ์ทั้งหมดดำเนินการคว่ำบาตรเจ้าลิจฉวีทันที กล่าวคือ ห้ามสงฆ์คบค้าสมาคมบุคคลผู้นี้อีกต่อไป รวมถึงบุคคลผู้ทำความชั่ว ๘ อย่าง ให้สงฆ์งดเกี่ยวข้องด้วย เช่น พวกที่ยุยงพระให้แตกกัน ผู้ที่ด่าว่าเปรียบเปรยพระ ผู้ที่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นต้น เมื่อเจ้าลิจฉวีได้ทราบว่าตนถูกคว่ำบาตรก็เสียใจจนสลบไป ครั้นต่อมา ได้มาขอเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลขออภัยโทษสำนึกผิด พระพุทธองค์ก็ทรงยกโทษให้ ด้วยการประชุมสงฆ์และหงายบาตร อันถือเป็นการคืนดีกับพระสงฆ์

กำเนิด”ชีวกโกมารภัจจ์” (ชี-วะ-กะ-โก-มา-ระ-พัด) ผู้ที่เรียนแพทย์แผนโบราณ คงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี ด้วยถือว่าเป็น “ครูทางการแพทย์แผนโบราณ” ปัจจุบันหากเราไปตามสถานที่นวดแผนโบราณ เรามักจะเห็นรูปภาพหรือรูปปั้นที่มีหน้าตาคล้ายฤาษีนั่งสมาธิที่เขาตั้งไว้บูชา นั่นคือ รูปของหมอชีวกโกมารภัจจ์นั่นเอง ตามประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของ นางสาลวดี หญิงงามเมืองในกรุงราชคฤห์ ซึ่งมีความงามและเสน่ห์ยิ่ง ซึ่งเมื่อนางท้องและกลัวจะมีผลต่ออาชีพ จึงได้แกล้งป่วย และเมื่อคลอดบุตรออกมาก็ให้ทาสนำทารกใส่กระด้งไปทิ้งกองขยะ รุ่งเช้าเจ้าชายอภัยผ่านมาเห็นทารกถูกฝูงกาห้อมล้อม ก็ตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยูหรือ” (ชีวกะ) ครั้นได้ทรงรับคำยืนยันว่า”ยังมีชีวิตอยู่” จึงได้นำทารกนั้นมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า “ชีวก” และให้นามสกุลว่า “โกมารภัจจ์” เมื่อเติบโตขึ้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้ถามหาบิดามารดา พระองค์ก็ตอบว่าไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อแม่แท้ๆ แต่พระองค์เป็นบิดาเพราะชุบเลี้ยงมา ชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้คิดว่า ตามธรรมดาในราชสำนัก หากไม่มีศิลปะ(ไร้การศึกษา) คงจะพึ่งพาบารมียาก จึงหนีไปเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ สำนักตักกศิลา เรียนอยู่ ๗ ปีเรียนได้เร็ว และจำได้มาก ความรู้แตกฉาน แต่ก็สงสัยว่าทำไมอาจารย์ไม่ให้จบสักที เมื่อสอบถามอาจารย์ๆเลยให้ลองไปหาพืชที่มิใช่สมุนไพรมาให้ดูสักตัว ปรากฏว่าหาไม่ได้ มีแต่พืชที่ทำยาได้ทั้งนั้น ไปบอกอาจารย์ๆเลยบอกว่าสำเร็จการศึกษาแล้วระดับหนึ่ง พอจะทำมาหาเลี้ยงชีพได้ และมอบเสบียงกรังให้เดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งหลังจากนั้นชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้ใช้วิชาแพทย์รักษาคนเรื่อยมา ต่อมาได้รักษาริดสีดวงให้พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์จึงมีพระราชานุญาตให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นหมอประจำพระองค์ ตลอดจนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

ทำอย่างไรสามี-ภริยาจะพบกันทุกชาติ มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปรับบิณฑบาตที่บ้านคฤหบดีผู้หนึ่ง คฤหบดีและคฤหปตานี สามีภริยาได้ถวายบังคมและทูลถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์ที่ทั้งสองมีต่อกันให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ว่าตั้งแต่อยู่กินกันมาทั้งคู่ไม่เคยคิดนอกใจกันเลยไม่ว่าด้วยกายหรือใจ และทูลต่อว่าหากทั้งสองปรารถนาจะพบและเป็นสามี-ภริยากันอีกในทุกๆชาติจะเป็นไปได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ถ้าสามีภริยาปรารถนาจะพบกันอีกในภายหน้าย่อมเป็นไปได้ หากคนทั้งสองนั้นมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีการบริจาคเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกัน

ทั้งหมดนี้คือ เนื้อหาสาระบางส่วนที่ปรากฏใน พระไตรปิฎก ซึ่งหลายๆเรื่องเราอาจจะคาดไม่ถึงว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ด้วยหรือ เช่น เหตุที่ทำให้สตรีสวยงาม วิธีแก้ง่วง การป้องกันงูกัด เสน่ห์หญิงเสน่ห์ชาย เป็นต้น ท่านที่สนใจไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะพระไตรปิฎกสำหรับเยาวชนอ่านได้ง่าย สนุก และได้เรียนรู้หลักธรรมในระดับหนึ่ง

……………………………………………………………….

อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

“ ตำราดูพระ” นับถือให้ถูก กราบไหว้ให้เป็น

ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย คงจะรู้สึกตรงกันว่า “ พุทธศาสนา ” ของเรามองดูเหมือนเสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก ในขณะที่วัดอันเป็นรูปธรรมทางศาสนาได้มีการบรูณะปฏิสังขรณ์อย่างสวยงามโอ่อ่า บางแห่งก็มีการสร้างถาวรวัตถุใหญ่ หรูหรา จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไปเพื่อชมความวิจิตรงดงามนั้นๆ แต่พระภิกษุที่เป็นเสมือนตัวแทนของ “ พระพุทธองค์ ” กลับมีวัตรปฏิบัติที่บั่นทอนความศรัทธาลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมั่วสีกา ฆ่าเพื่อนพระ เมาสุราอาละวาด เสพสังวาสกับสัตว์ ชอบสะสมทรัพย์ หรือลักเพศ เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวที่ทำลายพุทธศาสนาทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี หากเราได้ศึกษาพระไตรปิฎก หลายคนคงจะทราบได้ว่า พระภิกษุในสมัยพุทธกาลหรือสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ก็มีการประพฤติปฏิบัติที่นอกลู่นอกทาง จนพระพุทธองค์ต้องบัญญัติเป็นวินัยหรือข้อห้ามเอาไว้เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มาบวชเป็น “ พระภิกษุ ” ก็มาจากคนที่แตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญคือ ความต้องการมาศึกษาและเรียนรู้ “ ธรรมะ ” เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ตั้งแต่ระดับธรรมดาสามัญจนไปถึงขั้นนิพพาน ดังนั้น ในระหว่างบวชเรียน จึงมีความต่างจาก “ ปุถุชน ” ก็ตรงที่ต้องศึกษา “ ธรรมะ ” ของพระองค์ให้ถ่องแท้ และต้องประพฤติตัวอยู่ในธรรมวินัย โดยมี “ ผ้าเหลือง ” เป็นเสมือนเครื่องแบบให้ผู้บวชได้เกิดความสำรวม และระลึกเสมอว่าตนเข้ามาในร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อการใด และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ต้องดำรงตนให้เหมาะสม อีกทั้งต้องช่วยเผยแผ่ “ ธรรมะ ” ให้แพร่หลายออกไปเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป

ท่านพุทธทาสได้เขียนเรื่อง “ ตำราดูพระ ” อันเป็นการพูดถึงภิกษุที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เป็นแบบต่างๆ ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอสรุปบางส่วนมาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นำไปใคร่ครวญดูว่า พระภิกษุแบบไหนที่เราควรกราบไหว้ หรือแบบใดที่เราควรห่างไกล

คำว่า “ พระ ” ท่านว่า แปลว่า ประเสริฐ ประเสริฐตรงที่มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ส่วนคำว่า “ ภิกษุ ” ถ้าตามตัวหนังสือ แปลว่า “ ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารหรือความทุกข์ หรือจะแปลว่า “ ผู้ขอ ” ก็ได้ แต่ว่ามิใช่ขอแบบขอทาน เนื่องจากพระภิกษุมิได้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองดังเช่นคนทั่วไป แต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อช่วยตนเองและผู้อื่น การถือบาตรไปขออาหารจึงเป็นเพียงต้องการอาหารไปประทังชีวิต เพื่อจะได้ทำหน้าที่ชำระตน และชำระโลกให้สะอาด บริสุทธิ์ หมดจากกิเลสและความทุกข์ ดังนั้น ภิกษุจึงจะต้องประพฤติตนให้เหมาะสมกับอาหารหรือสิ่งที่ทายกทายิกาเขาทำบุญ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ผิดอะไรกับขอทาน หรือกลายเป็นคนหลอกลวงเพราะไม่ประพฤติปฏิบัติหน้าที่ของตน

อย่างไรก็ดี ท่านได้กล่าวไว้ว่า ศาสนาที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ตัวธรรมะ มิได้อยู่ที่ตัววัดวาอาราม หรือตัวภิกษุสามเณร ซึ่งตัวศาสนานี้ท่านจำแนกเป็น ๓ อย่างคือ ปริยัติศาสนา หมายถึง ความรู้ ปฏิบัติศาสนา หมายถึง การปฏิบัติ และ ปฏิเวธศาสนา หมายถึง ผลของการปฏิบัติ คือมรรผลนิพพาน เมื่อมีครบ ๓ อย่างจึงจะเรียกว่ามี “ พระธรรม ” ลำพังเพียงมีวัดวาอาราม หรือมีพระภิกษุสามเณรมากมาย ก็เป็นเพียงแต่เปลือกของศาสนา มิใช่เนื้อแท้ ดังนั้น การบำรุงพุทธศาสนาจึงต้องมีการบำรุงให้ถึงกับมีการปฏิบัติธรรมจนพ้นจากความทุกข์จริง มิใช่เพียงถาวรวัตถุทั้งนี้ เพราะ พระธรรมหรือศาสนานี้ มีไว้เพื่อเป็นที่พึ่งของชาวโลก มิใช่ให้คนดีหนีโลกหรือทิ้งโลก และต้องการให้คนเป็นอยู่ในโลกอย่างมีประโยชน์ และไม่มีความทุกข์

สำหรับภิกษุประเภทต่างๆที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ ได้แก่

-ภิกษุอุจจาระ พระองค์ตรัสว่า นักบวชที่เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็อ้างตัวว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็อ้างว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่า เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย นักบวชชนิดนี้ คือ คนที่ทุกๆคนควรขยะแขยง ไม่ควรคบหาสมาคม ไม่ควรเข้าใกล้ เปรียบเหมือนงูตกลงไปในหลุมอุจจาระ กัดไม่ได้ก็จริง แต่ก็ทำให้คนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นเปื้อนอุจจาระไปด้วย และถ้าอยู่ใกล้แม้จะไม่ประพฤติแบบเดียวกัน แต่คนก็จะร่ำลือว่ามีมิตรหรือเพื่อนเลวทรามเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ควรเข้าใกล้หรือคบสมาคมกับนักบวชพวกนี้

-ภิกษุชอบหญิง พระองค์ว่าพรามณ์หรือสมณะใดที่อ้างว่าเป็นผู้รักษาพรหมจรรย์โดยชอบ แม้จะไม่ได้เสพเมถุนกับหญิง แต่หากยินดีกับการพูดจา เล่นหัวสัพยอกกับหญิง ปลาบปลื้มในลักษณะดังกล่าว หรือชอบสบตากับหญิง หรือยังชอบฟังเสียงผู้หญิงพูดจา ขับร้อง หัวเราะร้องไห้อยู่ก็ดี หรือยังชอบระลึกถึงเรื่องเก่าๆที่เคยเล้าโลม เล่นหัวกับหญิงอยู่ก็ดี หรือยินดีปลาบปลื้มกับการที่เศรษฐีหรือบุตรเศรษฐีที่ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณก็ดี หรือประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหวังไปเกิดเป็นเทพยดาพวกใดพวกหนึ่งก็ดี พระพุทธองค์ว่าสิ่งเหล่านี้คือความขาด ความทะลุ และความด่างพร้อยแห่งพรหมจรรย์ หรือประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังเกี่ยวพันกับเมถุน ดังนั้น จึงย่อมไม่พ้นจากทุกข์ไม่ว่าจะเป็นความเกิด แก่ เจ็บและตายได้

– ภิกษุแหวกแนว หมายถึง ภิกษุที่ทำการชักชวนมหาชนให้ทำกายกรรม วจีกรรมและการบำเพ็ญทางจิตให้ผิดแนวทางแห่งการทำให้พ้นทุกข์ในพระศาสนา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้มหาชนเสื่อมเสีย หมดสุข ทำให้เกิดความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และสร้างทุกข์ทั้งแก่มนุษย์และเทวดา พูดง่ายๆ ก็คือ ภิกษุที่ชอบชักชวนให้คนประพฤติปฏิบัติผิดจากที่พระพุทธเจ้าสอน ทำให้หลงงมงาย เชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ

-ภิกษุเนื้อนา ที่ไม่เกิดบุญ หมายถึง ภิกษุที่ประกอบเหตุ ๕ อย่าง คือ ภิกษุที่ไม่อดทนต่อรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสทั้งหลายที่ก่อให้เกิดความกำหนัดยินดี ไม่อาจตั้งจิตเป็นกลาง(จิตว่าง)อยู่ได้ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ภิกษุติดบ่วงกามคุณ ก็ได้ คือหมกมุ่น มัวเมาในกามคุณทั้ง ๕ จนไม่เห็นโทษ และไม่เห็นอุบายออกไปจากทุกข์ รังแต่จะถึงความพินาศย่อยยับ พระพุทธองค์ว่า ภิกษุที่ประกอบเหตุหรือติดบ่วงกามคุณ ๕ อย่างนี้ ย่อมไม่ควรแก่ของบูชา ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ของทำบุญ ไม่ควรทำความเคารพ และไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างดีเยี่ยม

-ภิกษุทำศาสนาเสื่อม มี ๔ ประเภทคือ ๑.ภิกษุที่เล่าเรียนพระสูตรอันถือกันมาผิดๆด้วยคำและสำเนียงที่ใช้กันผิด ทำให้ความหมายคลาดเคลื่อน ๒.ภิกษุที่ว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น ๓.ภิกษุเรียนรู้มาก คล่องแคล่วในหลักพระพุทธศาสนา รู้ธรรม รู้วินัย รู้แม่บท แต่ไม่เอาใจใส่ที่จะบอกจะสอนใจความพระสูตรแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านี้ล่วงลับ พระสูตรทั้งหลายก็ขาดอาจารย์ที่จะถ่ายทอดต่อ ๔.ภิกษุเถระที่สะสมเครื่องอุปโภค บริโภค ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่สนใจในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ทำความเพียรเพื่อบรรลุ ทำให้ผู้บวชภายหลังนำไปประพฤติเป็นแบบอย่าง ไม่สนใจจะทำสิ่งที่ไม่แจ้งให้แจ้ง(นิพพาน) มูลเหตุทั้งสี่ประการข้างต้นจะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไปในที่สุด

ที่กล่าวข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนจากหนังสือดังกล่าว ซึ่งเพียงแค่นี้ก็คงทำให้พุทธศาสนิกชนพอเห็นแล้วว่า “ ภิกษุ ” หรือสาวกของพระพุทธองค์ควรเป็นเช่นไร แบบไหนที่เราควรทำบุญเพื่อสืบทอดพระศาสนาหรือควรห่างไกล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่นั้นได้เคยกล่าวว่า “ อานนท์ เราไม่พยายามทำกะพวกเธออย่างทนุถนอม เหมือนพวกช่างหม้อทำแก่หม้อที่มันยังเปียก ยังดิบอยู่ อานนท์ เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด อานนท์ เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้ใดหวังมรรคผลเป็นวัตถุประสงค์ ผู้นั้นจักทนอยู่ได้เองแล ” นอกจากนี้ยังทรงตรัสว่า การที่พระองค์ออกบวชเป็นบรรพชิตมิใช่เพราะจีวร มิใช่เพราะบิณฑบาต มิใช่เพราะที่อยู่อาศัยมิใช่เหตุเพราะขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ หรือจะให้ร่ำรวยด้วยสิ่งเหล่านี้ แต่เพราะพระองค์ต้องการแสวงหาทางหลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ต่างหาก ดังนั้น พระองค์จึงเตือนภิกษุที่มาบวชให้สำเหนียกว่า การมาบวชแล้วกลับไปแสวงหากามที่ละแล้ว(คือรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสที่ทำให้เจริญราคะ) ย่อมเป็นของต่ำทรามและไม่สมควรปฏิบัติ และที่สำคัญคือ พระองค์ได้ตรัสสอนไว้ว่า

“ พวกเธอ (ภิกษุ) ทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาท (คือรับมรดกธรรม) ของเราเถิด อย่าเป็นอามิสทายาท (คือรับมรดกสิ่งของ) เลย ”
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
อ้างอิงภาพ : http://variety.mcot.net/V2278

สารพัด ”ผีของไทย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้คำจำกัดความของ “ผี” ว่าคือ สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและเลว หรืออาจหมายถึง คนที่ตายไปแล้ว หรือเทวดาก็ได้ ส่วน “วิญญาณ” หมายถึง สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่

ด้วยเหตุที่ “ผี” เป็นสิ่งที่ยากจะบอกได้ถึงรูปพรรณสัณฐานที่แน่นอน มีความลึกลับ ขึ้นกับความเชื่อ และจินตนาการ จึงถูกหยิบยกมาขู่เด็กอยู่เสมอ จนทำให้บางคนแม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกกลัวผีก็ยังมีอยู่ หนัง/ละครหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นของไทย หรือต่างประเทศ ต่างก็สร้างสรรค์ “ผี” ออกมาในรูปแบบต่างๆมีทั้งแนวตลกขบขัน แนวสยองขวัญ น่ากลัว หรือแม้แต่แนวรักโรแมนติก ที่ฮิตๆอมตะสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ได้แก่ พวกแดร็กคิวร่า แฟรงเก็นสไตน์ แวมไพร์ม ส่วนไทยก็มี แม่นาคพระโขนง ผีปอบ ผีกระสือ ผีกระหัง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผีที่เราเห็นในหนังหรือละครนับว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผีทั้งหลายที่ยังมีอีกหลากหลายในไทย ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงอยากจะขอแนะนำ “ผีไทย” ในแบบอื่นๆให้รู้จักกันบ้าง โดยทั่วไป คนไทยแต่เดิมได้แบ่งผีออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ

๑.ผีฟ้า ได้แก่ผีที่อยู่บนฟ้า ซึ่งต่อมาเมื่อเรารับความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์มาจากพุทธศาสนา คนไทยภาคกลางจึงเรียกผีที่อยู่บนฟ้าว่า “เทวดา”หรือ “เทพ” และถือว่าเทวดามีหลายองค์ ส่วนคนทางภาคอีสานจะเรียกว่า “แถน”

๒.ผีคนตาย ได้แก่ผีที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว ผีชนิดนี้มีทั้งผีดีและผีไม่ดี ซึ่งผีดีที่คนนับถือยังแบ่งย่อยเป็นอีก ๓ ระดับ คือ ผีเรือน เป็นผีประจำครอบครัว คนไทยโบราณและชนชาติไทบางกลุ่มเรียกว่า “ผีด้ำ” หมายถึง ผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่าตายายพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังสถิตอยู่ในบ้านเรือน เพื่อคอยคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือลูกหลาน และลูกหลานจะต้องเซ่นสรวงตามโอกาสอันสมควร ผีบ้าน คือ ผีประจำหมู่บ้าน บางแห่งเรียก”เสื้อบ้าน” ได้แก่ผีที่คอยคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์แก่คนในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมักจะมีสถานที่สำหรับทำพิธีบูชาบวงสรวง ผีเมือง หรือบางแห่งเรียก”เสื้อเมือง” ได้แก่ วิญญาณของเจ้าเมืององค์ก่อนๆหรือวีรบุรุษของกลุ่มชน คอยคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์ดูแลคนทั้งเมืองหรือรัฐ บางแห่งก็เรียก “เทพารักษ์” และมักมีการสร้างศาลให้เป็นที่สถิต

๓.ผีไม่ปรากฎรายละเอียดในด้านความเป็นมา ได้แก่ ผีที่ประจำอยู่กับสิ่งต่างๆที่มีในธรรมชาติ เช่น ผีป่า ผีเขา ผีน้ำ ผีประจำต้นไม้ เป็นต้น ผีดังกล่าวให้คุณและโทษได้ จึงต้องเซ่นสรวงให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีผีตามสภาพที่ปรากฏ เช่น บอกสภาพการตาย ได้แก่ ผีตายโหง ผีหัวกุด ผีตายทั้งกลม เป็นต้น ต่อไปนี้จะขอแนะนำผีแต่ละจำพวกให้ได้รู้จักกัน ดังนี้

ผียอดนิยมซึ่งเป็นที่รู้จักและมักถูกนำมาสร้างหนัง/ละครบ่อยๆ ได้แก่ ผีกระสือ คือผีที่เข้าสิงในตัวผู้หญิง และชอบกินของโสโครก คู่กับผีกระหัง ที่ชอบเข้าสิงผู้ชาย เชื่อกันว่าผีกระหังเป็นผู้ชายที่เรียนวิชาอาคม เมื่อแก่กล้าก็มีปีกมีหาง จะไปไหนก็ใช้กระด้งต่างปีก สากตำข้าวต่างขา สากกะเบือ ต่างหาง ชอบกินของโสโครกเช่นเดียวกับกระสือ ผีปอบ คือ ผีที่สิงอยู่ในตัวคน พอกินตับไต้ไส้พุงหมดแล้วก็จะออกไปและคนๆนั้นก็จะตาย ผีดิบ คือ ผีที่ยังไม่ได้เผา หรือผีดูดเลือด ผีตายทั้งกลม คือ หญิงที่ตายในขณะที่ลูกอยู่ในท้อง ผีตายโหง คือ คนที่ตายผิดธรรมดา เช่น ถูกฆ่าตาย ตกน้ำตายหรือตายด้วยอุบัติเหตุ ผีพราย หมายถึงหญิงที่ตายอันเนื่องมาจากคลอดลูกหรือตายในขณะที่ลูกเกิดมาได้ไม่นาน เชื่อกันว่าวิญญาณหญิงดังกล่าวจะมีความร้ายกาจมาก ส่วนผีพราย อีกประเภทหนึ่ง คือคนแก่ที่ป่วยไข้ออดแอดจนไม่มีกำลังต้องนอนซมอยู่เสมอ แต่พอคนอื่นไม่อยู่หรือเผลอ คนแก่นั้นก็เปลี่ยนไป ดวงตากลับวาวโรจน์และมีเรี่ยวแรงลุกไปหาของกินที่เป็นของสดหรือมีกลิ่นคาว หากมีใครมาพบก็จะทำท่าหมดแรงต้องนอนซมเหมือนเดิม บางแห่งก็ว่าผีพรายสามารถจำแลงกายเป็นสัตว์ต่างๆได้ โดยเฉพาะนกเค้าแมว หากบ้านไหนมีคนป่วยและมีนกเค้าแมวมาเกาะ จะเชื่อกันว่าผีพรายแปลงกายมาซ้ำเติมคนป่วยให้ตายโดยเร็ว ส่วนผีที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มข้างต้นแต่ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไรก็ได้แก่ ผีโพง และ ผีเป้า คือผีที่ชอบกินของสด ของคาว เช่น เลือดสด และสิงในคนได้ บ้างก็ว่าผีโพงสิงคนแล้ว จะทำให้มีแสงสว่างออกมาทางจมูกเวลาหายใจและชอบหากินเวลากลางคืน ผีโขมด เป็นพวกเดียวกับผีกระสือหรือผีโพง เห็นเป็นแสงเรืองวาวในเวลากลางคืน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าคนถือไฟอยู่ข้างหน้า ผีกองกอย คือ ผีชนิดหนึ่งที่มีตีนเดียว ไม่มีสะบ้าหัวเข่า จึงต้องเดินเขย่งเกงกอย ชอบออกมาดูดเลือดที่หัวแม่เท้าของคนที่นอนหลับพักแรมในป่า

สำหรับผีที่ให้คุณก็มี ผีขุนน้ำ คือ อารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสถิตอยู่บนดอยสูง ผีขุนน้ำมักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านจะอัญเชิญมาสถิตที่หอผีที่ปลูกอย่างค่อนข้างถาวรใต้ต้นไม้เหล่านี้ ผีขุนน้ำที่อยู่ต้นแม่น้ำใด ก็มักจะได้ชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ขุนลาว เป็นผีอยู่ต้นแม่น้ำลาว ในจ.เชียงราย ผีมด และ ผีเมง คือ ผีบรรพบุรุษตามความเชื่อชาวล้านนา ( คำว่า “มด” หมายถึงระวังรักษา) ส่วนผีเมงนี้เข้าใจกันว่ารับมาจากชนเผ่าเม็งหรือมอญโบราณ ผีเจ้าที่ คือผีที่รักษาประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลรักษาเขตนั้นๆ ดังนั้น คนโบราณเมื่อเดินทางและหยุดพักที่ใด มักจะบอกขออนุญาตเจ้าที่ทุกครั้ง ผีเจ้านาย คือ ผีที่มาประทับทรงเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆของชาวบ้านชาวเมือง แต่มิใช่เสื้อบ้าน เสื้อเมืองหรือผีปู่ย่าตายาย ผีย่าหม้อหนึ้ง เป็นผีจำพวกผีเรือนสถิตอยู่กับหม้อที่ใช้นึ่งข้าว เมื่อใครจะเดินทางไกลก็นำข้าวเหนียวหนึ่งปั้นและกล้วยหนึ่งผลไปสังเวยบอกกล่าวผีย่าหม้อหนึ้งเพื่อให้คุ้มครอง หรือหากลูกหลานไม่สบายร้องไห้โยเยกลางคืน ชาวบ้านก็มักไปเอายาจากผีย่าหม้อหนึ้งโดยขูดเอาดินหม้อที่ติดกับหม้อไปผสมน้ำให้ลูกอ่อนกิน นอกจากดูแลคุ้มครองทรัพย์สินในครัวเรือนแล้ว ยังมีอำนาจในการพยากรณ์ได้ด้วย ซึ่งการลงผีย่าหม้อหนึ้งนี้มักทำเมื่อบุตรหลานไม่สบายหรือของหาย

นอกเหนือไปจากผีดังกล่าวแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นยังมีผีอีกหลายประเภท ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน อาทิ ผีกละ หรือ ผีกะเป็นผีที่มักเข้าสิงคนเพื่อเรียกร้องจะกินอาหาร เมื่อเข้าสิงใคร ก็จะแสดงกิริยาผิดปกติไป เมื่อคนสังเกตเห็นก็มักร้องขอกินอาหารและจะกินอย่างตะกละตะกลาม จึงเรียกผีกละตามลักษณะการกิน แต่มักเขียนเป็นผีกะ ผีกละยักษ์ เป็นผีที่อยู่รักษาสถานที่ต่างๆ เช่น วัดร้าง ถ้ำ หรือที่ซึ่งมีสมบัติฝังหรือซ่อนอยู่ ผีกละยักษ์จะคอยพิทักษ์สมบัติเหล่านั้น จนกว่าเจ้าของจะรับทรัพย์สินเหล่านั้นไป ในกรณีผีกละยักษ์ที่อยู่ในวัด เล่ากันว่า มักจะเป็นวิญญาณของพระหรือเจ้าอาวาสที่ผิดวินัย เมื่อตายแล้วไปเกิดไม่ได้ จึงต้องทำหน้าที่พิทักษ์วัดไปจนกว่าจะสิ้นกรรม รูปร่างของผีกละยักษ์ ไม่แน่นอน บ้างก็ว่าเป็นหมูตัวใหญ่ที่มีร่างกายเป็นทองแดง บ้างก็ว่าเป็นสุนัขใหญ่สีดำสนิททั้งตัว ผีตามอย (อ่านว่า ผี-ต๋า-มอย) หมายถึงผี ๒ ชนิด ชนิดแรกเป็นผีที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีคน ผีชนิดนี้จะคอยมาเลียก้นคนที่ไปถ่ายอุจจาระ เพราะคนสมัยก่อนมักไปถ่ายตามขอนไม้ เมื่อถ่ายเสร็จก็จะใช้ไม้แก้งขี้ปาดไปตามร่องก้นให้สะอาด ถ้าแก้งขี้ไม่สะอาดก็จะถูกผีตามอยมาเลียก้น ทำให้เจ็บไข้ได้ วิธีแก้คือให้เอาดุ้นไฟสุดหรือไม้ที่เหลือจากไฟไหม้แล้วมาแก้งขี้เสีย (แก้ง-หมายถึงขูดให้สะอาด) ผีตามอย อีกชนิด เป็นผีที่คอยจับเอาหนุ่มหรือสาววัยรุ่นที่แตกกลุ่มเพื่อนที่เข้าไปในป่าหรือในดง นำไปมีเพศสัมพันธ์กับตน โดยคนที่ถูกกุมไปมักมีสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ผีโป่ง เป็นผีที่อยู่ตามโป่งซึ่งอาจเป็นโป่งดิน คือบริเวณที่มีดินเค็มซึ่งสัตว์มักไปแทะกิน หรือโป่งน้ำ คือที่มีน้ำผุดออกมาจากดิน ผู้ที่ไปสู่บริเวณโป่ง หากไม่สำรวมอาจจะถูกผีโป่งทำร้าย ทำให้เจ็บปวดที่เท้าหรือขา หรืออาจมีอาการเจ็บไข้รักษาไม่หาย

นอกจากผีลักษณะต่างๆตามที่กล่าวมาแล้ว เรายังมีทั้งการละเล่น สำนวน ช่วงเวลา กิริยาอาการและคำหลายคำที่เกี่ยวกับผี เช่น ผีด้งหรือผีนางด้ง เป็นผีที่หนุ่มสาวในท้องที่จะเชิญมาเล่นตามลานบ้านช่วงสงกรานต์ ผีถ้วยแก้ว เป็นการเล่นทรงเจ้าเข้าผีโดยผู้เล่นเอานิ้วแตะก้นแก้วให้เคลื่อนไปตามตัวอักษรเพื่อสื่อความหมาย ผีถึงป่าช้า หมายถึงจำใจทำเพราะไม่มีทางเลือก ผีบุญ คือ ผู้อวดคุณวิเศษว่ามีฤทธิ์ทำได้ต่างๆนานา ผีบ้านไม่ดี ผีป่าก็พลอย หมายถึง คนในบ้านเป็นใจให้คนนอกบ้านเข้ามาทำความเสียหายได้ ผีซ้ำด้ำพลอย คือ ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย ผีอำ คือ อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนมาปลุกปล้ำหรือยึดคร่า ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น บางคนก็เรียก ผีทับ จะมีอาการอึดอัด พูดจาไม่ได้ ลุกไม่ได้ ผีผลัก คืออุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหรือล้มตาย เนื่องจากใช้ของแหลมมาจี้ใส่กันเป็นเชิงล้อเล่น ผีเจาะปาก หมายถึงมีปากก็สักแต่พูดเรื่อยเปื่อย พูดไม่มีสาระ ผีพุ่งไต้ หมายถึงดาวตก ผีตากผ้าอ้อม หมายถึง แสงแดดที่สะท้อนกลับมาสว่างในเวลาเย็นจวนค่ำ มีสีส้มอมเหลือง ผีขนุน หมายถึงหญิงขายบริการตามต้นขนุนริมคลองหลอด กรุงเทพฯ ผีเพลีย คือดิถีวันห้าม ไม่ให้แรกนา ฯลฯ (ดิถี คือการนับวันตามจันทรคติ เช่น ขึ้น ๑ ค่ำ แรม ๒ ค่ำ เป็นต้น)

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น แม้จะเป็นเพียงบางส่วนของเรื่องผีๆ แต่เชื่อว่าคงจะทำให้ท่านได้รู้จัก “ผีของไทย”มาก ยิ่งขึ้น

…………………………………………..

อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ข้อมูลจากสารานุกรมไทย /พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและฉบับมติชน

ธรรมมีราคายิ่งกว่าทองคำ

(หลวงปู่เพ็ง วัดเหล่างา จ.ขอนแก่น มากราบนมัสการหลวงตา)
หลวงปู่เพ็ง มากราบปรึกษา จะเอาพระพุทธรูปทองคำมาถวายหลวงตาไปไว้ท้องพระคลัง
หลวงตา เราไม่เอา ของมีราค่ำราคาเราไม่เอา ฐานะเราไม่สมทองคำอย่างนั้น แล้วมาก็ต้องรักษาตลอดเวลา ไม่เอา บอกเขาไม่เอา จะเอาไปทางไหนไปเลย กังวลใหญ่นี่ กองกังวลอยู่นั่นหมดเลย รักษาทองคำ ธรรมเลิศเลอยิ่งกว่าทองคำ ยังจะไปให้รักษาทองคำหนักยิ่งกว่าธรรม ไม่เอา เข้าใจไม่ใช่เหรอ ธรรมมีราคายิ่งกว่าทองคำ ให้เรารักษาทองคำเราไม่เอา เข้าใจ บอกเขาเลยอย่าเอามา ที่ไหนที่จำเป็นพอเหมาะสมกับที่รักษาทองคำให้เอาไป ถึงเอามาอย่างไรก็ไม่พ้นความกังวลวุ่นวายของผมที่จะรับผิดชอบในทองคำอันนี้ใช่ไหมล่ะ กว่าจะไปถึงที่มอบหมายทุกอย่างผมต้องกังวลใหญ่โต เข้าใจเหรอ ไม่ต้องเอามา ให้เข้าจุดใดจุดไหนที่ต้องการให้เข้าเลย อย่าเอามา

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
http://www.luangta.com
(คัดลอกมาบางส่วน)

นอนฟังธรรมะ สมควรหรือไม่?

ผู้กำกับ เขาถามปัญหามาข้อหนึ่งครับ ลูกศิษย์ได้รับฟังธรรมะทางสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน มีบางท่านอยากจะฟังตลอดไปทั้งวันทั้งคืน เลยฟังธรรมะในอิริยาบถนอน ไม่ทราบว่าจะเป็นการสมควรหรือไม่ เพราะมีครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่าการนอนฟังธรรมเป็นการไม่สมควร ไม่เคารพธรรม ตายแล้วจะไปเกิดเป็นงู เลยทำให้ลูกศิษย์ไม่สบายใจ กราบเรียนขอเมตตาถามหลวงตาครับ

หลวงตา ที่นอนฟังธรรมะนี้ก็ถูก มันถูกคนละขั้นของธรรม ขั้นของธรรมที่ว่านอนฟังก็ได้นี้มันเป็นธรรมตลอดเวลา อิริยาบถไหนเป็นธรรมทั้งนั้นๆ อยู่ท่าไหนเป็นธรรมหมด นี้นอนฟังก็ได้ ยืนฟังก็ได้ ถ่ายมูตรถ่ายคูถฟังก็ได้ ได้หมด เข้าใจไหม มีอีกขั้นหนึ่งที่ว่าฟังเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านตั้งหน้าตั้งตาเทศน์ให้ฟัง เราไปนอนเอกเขนกอยู่หน้านี่ ถ้าเป็นหลวงตาบัวเอานี้ฟาดเลย ไม่ทราบว่าจะควรหรือไม่ควร เข้าใจกันแล้วเหรอ (เรื่องเกิดเป็นงูว่าไงครับ เขาบอกอาจารย์บางท่านบอกการนอนฟังธรรมะไม่สมควร) อ้าว ก็พูดแล้วตะกี้นี้มันเป็นขั้นๆ ยังพูดแล้วไม่ใช่เหรอ ถึงขั้นที่ว่าเป็นธรรมตลอดนั้น ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอน เป็นงูเป็นช้างเป็นม้าอะไรก็เถอะเป็นธรรมทั้งนั้น กิริยาเป็นอะไรก็ตาม สำคัญอยู่ที่จิตเป็นธรรมล้วนๆ ถึงขั้นนี้แล้วเป็นธรรม เป็นธรรมล้วนๆ แล้วนี้อยู่ท่าไหนเป็นธรรมทั้งนั้น

ที่ว่าอย่าไปนอนฟังเดี๋ยวเป็นงูนะ ก็จริงๆ ทั้งหลายเขามาฟังเทศน์นั่งด้วยความเคารพ ผู้เทศน์ก็เทศน์ด้วยความเคารพธรรม ผู้ฟังก็ฟังด้วยความเคารพธรรม แล้วอยู่ๆ มีคนมานอนเอกเขนกอยู่นี้เวลาเทศน์ เป็นยังไงจะเป็นบาปหรือไม่เป็นบาป ถ้าเป็นหลวงตาบัวกำลังเทศน์นี้เอานี้ปาเลย เข้าใจไหม ไม่ทราบบาปหรือไม่บาป ไม่ต้องถามกัน อย่างนี้ก็เข้าใจกันแล้วใช่ไหม มันควรหรือไม่ควรพิจารณามันก็รู้เอง ถ้าถึงขั้นธรรมที่ควรตลอดเวลาแล้วควร นั่นเป็นอย่างนั้น เป็นบางกาล มี แล้วมีอะไรอีก

กลางคืนนอนฟังก็ได้ทั้งนั้น ฟังธรรมจะเป็นอะไรไปไม่เสียความเคารพอะไร (เรื่องฟังธรรมก็พอเข้าใจแล้ว ทีนี้เขาบอกว่าเวลาสวดมนต์นอนสวดได้ไหมครับ) ถ้าลงจิตใจได้พอกับธรรมแล้วเป็นธรรมทั้งนั้น เข้าใจหรือเปล่า ให้เข้าใจตรงนี้ซิ มันเป็นขั้นๆ เป็นขั้นของธรรม เวลาปฏิบัติเข้าไปมันซึมเข้าหากัน มันหากรู้จักความเหมาะสมเองอยู่ในนั้นเสร็จ เราก็เคยพูดไมใช่หรือที่ว่า เรียนหนังสือไปๆ เรื่องบาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามี แต่เราว่ามีหรือไม่มีน้า เห็นไหมล่ะ นั่นละคนเก่า หัวใจดวงเก่า เวลาเรียนหนังสือไปเอาถึงนิพพานเลยเทียว

บาป บุญ นรก สวรรค์ เชื่อ ตัวหลักใหญ่นั้นเชื่อๆ ส่วนย่อยที่กิเลสมันมาขอแบ่งสันปันส่วนไปกินแล้ว บาป บุญ นรก สวรรค์ มีหรือไม่มีน้า นี่ส่วนย่อยเข้าใจไหม มันมาแบ่งไปกิน ส่วนใหญ่ของเราเชื่อแล้ว จนกระทั่งถึงนิพพานที่นี่ พอถึงนิพพาน อ่านไปถึงนิพพาน เอ นิพพานมีหรือไม่มีน้า ส่วนใหญ่เชื่อแล้วว่านิพพานมี ส่วนย่อยมันไปแบ่งกิน ว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า นี่เวลาเรียนเป็นอย่างนี้ เวลาออกปฏิบัติที่นี่ เอาคนเก่านี่แหละ ว่านิพพานมีหรือไม่มี เอาตรงนั้นเลย เวลาปฏิบัติเข้าไปๆ จิตมันหมุนเข้าๆ ทีนี้พอหมุนเข้าไปจริงๆ แล้วเข้าถึงขั้นละที่นี่ ถึงขั้นนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ นี่หมายถึงว่าความเห็นโทษกับความเห็นคุณมีน้ำหนักเท่ากัน บืนใหญ่เลย ไม่รู้จักหลับจักนอน สุดท้ายต้องรั้งเอาไว้ๆ คำว่านิพพานมีหรือไม่มีน้าหายแล้วนะ มีแต่นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ

เวลาอ่านไปว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า พอปฏิบัติเข้าไปๆ สุดท้ายก็นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ หมุนตลอดเลย จนกระทั่งผึงเข้าถึงนั้น นิพพานมีหรือไม่มีน้า เฉย เข้าใจไหมที่นี่ นิพพานมีหรือไม่มีน้าเลยเฉย หัวใจดวงเก่านี่แหละ มันเป็นขั้นๆ นิพพานมีหรือไม่มี ส่วนใหญ่จิตมันเชื่อแล้ว ส่วนย่อยมันมาแบ่งไปกินว่านิพพานไม่มี มันแบ่ง ทีนี้เวลาเข้าใกล้ชิดติดพันเข้าจริงๆ นิพพานเลยกลายเป็นอยู่ชั่วเอื้อมๆ สุดท้ายผึงเลย นิพพานมีหรือไม่มีน้าเลยหายสงสัย เป็นอย่างนั้นจิตดวงนี้แหละ

(หลวงตาว่านิพพานมีก็เชื่อ แต่จะมีจริงไหมน้อ จนได้ไปเจอหลวงปู่มั่นจึงหายสงสัย) อันนี้หมด เชื่อหลวงปู่มั่นก็เรียกว่าเต็มที่แล้วในจิตของเราที่เป็นปุถุชนนะ เชื่อเต็มที่ พอปฏิบัติไปๆ ธรรมละเอียดเข้าไปๆ ยังหนักเข้าไปอีกจนกระทั่งนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ จะว่ามีหรือไม่มีก็ตามแต่นิพพานอยู่ชั่วเอื้อม หมุนตลอด เป็นอย่างนั้นละ จนผางถึงนิพพานเสียเลย ทีนี้มีหรือไม่มีหมดปัญหา แน่ะเป็นอย่างนั้น เราเอาหัวใจเรานี้เองออกพูดมันถึงชัดเจน เราเป็นเอง อยู่ขั้นใดตอนใดมันอยู่ในใจของเรา เรารู้เองเห็นเองเป็นลำดับลำดา เราก็พูดถูกต้องละซิ

แต่ก่อนว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า ส่วนใหญ่เราเชื่อ บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน มี แต่ส่วนย่อยกิเลสมันแบ่งสันปันส่วนให้สงสัย บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน มีหรือไม่มีน้า นี่มันแบ่งกิน พอออกไปปฏิบัติ ปฏิบัติหนักเข้าๆ เลยกลายเป็นว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ บืนใส่ๆ มีหรือไม่มีนิพพาน ทำไมจึงกลายเป็นอยู่ชั่วเอื้อมๆ มันเป็นของมันเอง ผางขึ้นนี้เลยหมด นิพพานมีหรือไม่มีหมด เป็นอย่างนั้นนะ เป็นขั้นๆ นะจิต เรื่องธรรมท่านเป็นธรรม อยู่ยังไงก็เป็นธรรม เราจะหาแต่สมมุติขั้นหยาบขั้นละเอียดเอาเข้ามารบกันไม่ได้ ขั้นใดให้เป็นขั้นนั้นของธรรม

ขั้นที่เป็นธรรมล้วนๆ แล้วอยู่ไหนเป็นธรรม ไม่เสียความเคารพ แน่ะ เช่นอย่างนอนฟังเทศน์ นั่งฟังเทศน์อะไร พิจารณาโดยอรรถโดยธรรม อยู่ไหนเป็นธรรมหมด แน่ะถ้าถึงขั้นธรรมแล้ว มันเป็นขั้นเป็นตอนไปนะ ฟังท่าไหนก็ฟังเถอะน่ะ ฟังเสียงธรรมไม่มีคำว่าเสียผลเสียประโยชน์ จะฟังเสียงในอิริยาบถใดยืนเดินนั่งนอนเป็นธรรมทั้งนั้น ทีนี้การสร้างบาปก็อีกเหมือนกัน ยืนเดินนั่งนอนสร้างบาปเป็นบาปด้วยกันทั้งนั้น ไม่ได้ผิดกัน ขึ้นอยู่กับผู้ทำคือใจออกมาปั๊บๆ ออกมาทางบาปเป็นบาป ออกมาทางบุญเป็นบุญ ไม่ได้คำนึงว่าควรหรือไม่ควร มันออกเป็นสัดเป็นส่วน คือออกทางบาปเป็นบาป ออกทางบุญเป็นบุญ เต็มสัดเต็มส่วนของตนทันทีๆ สำคัญอยู่ที่ใจ

โอ๊ย โลกมองข้ามใจ ไม่มีใครว่างั้นเลย โลกนี้ไม่มีใครที่จะมองเห็นว่าใจเป็นของสำคัญ มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวขั้นเริ่มแรก ศาสนาใดก็ไม่สอนลงที่ใจว่าเป็นของสำคัญ พุทธศาสนาเท่านั้นสอน ขึ้นต้นก็ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ทุกอย่างรวมอยู่ที่ใจเป็นมหาเหตุทั้งนั้น นั่นพระพุทธเจ้า เวลาปฏิบัติเข้าไปนี้ มหาเหตุมันมีทั้งธรรมทั้งกิเลสอยู่ในใจหมด จ่อเข้าไปนั่นปั๊บก็เจอทั้งสอง นั่นละมหาเหตุ

โลกนี้เขาไม่ได้มองดูใจ เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าโลกมืดบอดก็ไม่ผิด หัวใจอยู่กับตัว ครองร่างตัวอยู่ยังไม่เห็นว่าใจเป็นยังไงบ้าง นี่มันพิลึกนะ เลยเหมาหมดทั้งตัวนี้ว่าเป็นเรา ความรู้ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรา เป็นเราเสียทั้งหมด ทีนี้ใจซึ่งเป็นแกนนำอยู่ภายในร่างกายนั้นไม่ทราบเป็นยังไงเลยไม่สนใจ ไม่รู้นะ พระพุทธเจ้ามารู้ได้ยังไง ตรัสรู้ผางขึ้นมา นั่น พอผางขึ้นมานี้ใจเลิศที่นี่ ขึ้นผางไม่ต้องถามใครละ ผางขึ้นมาเลย ใจเลิศ ยก มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ไปเลย อะไรๆ ก็ตามรวมลงที่ใจหมด ดีชั่วใจจะเป็นผู้ก่อเหตุ ว่าลงตรงนั้น เราจึงชี้นิ้วเลยพุทธศาสนา เพราะเราได้ผ่านด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มนิพพานมีหรือไม่มีน้า

จิตใจก็มุ่งจะไปนิพพานอยู่แล้วนะ มันยังว่ามีหรือไม่มีน้า แน่ะฟังซิ ส่วนย่อยมันแบ่งเอา มันไปแบ่งกินกิเลสแบ่ง จนกระทั่งหมดสุดวิสัยกิเลสมันแบ่งไม่ได้ ผางเข้านิพพานแล้ว นิพพานมีหรือไม่มีน้าเลยหายสงสัย นั่นเป็นตัวกิเลสเป็นตัวมัวหมอง เป็นตัวอุปสรรคกีดกั้นทางเดินไม่ให้สะดวก พอว่าจะไปจริงๆ กลัวว่านิพพานไม่มี แน่ะ นิพพานมีหรือไม่มีน้า นี่มันก็ขาดกำลังไปแล้ว พอว่านิพพานมีหรือว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ ด้วยภาคปฏิบัติในธรรมขั้นสูง ธรรมขั้นสูงนี้นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมนะ มันหากเป็นของมันเอง บืนตลอดๆ เหมือนว่าอยู่ชั่วเอื้อม หวุดหวิดๆ จับผิดจับถูกมันก็บืนใหญ่ละซี ผางขึ้นนี่นิพพานมีหรือไม่มี หมดปัญหา นั่น

(คำว่านิพพานหมายความว่าอะไรครับ) หมายความว่านอนหลับไม่ตื่น นอนจนกระทั่งตายก็เรียกว่าดับ นิพพานแปลว่าดับ เข้าใจไหม บรรดาสมมุติทั้งหมดดับสนิทไม่มีอะไรเหลือถึงเรียกว่า นิพพาน แปลว่าดับสนิท บรรดาสมมุติทั้งหมดดับสนิทไม่มีอะไรเหลือ อันนั้นเหนือสมมุติ เรียกว่านิพพาน เข้าใจแล้วนะ พวกเรามันมีแต่นิพพานบนเสื่อบนหมอน แล้วจะมาถามนิพพานของพระพุทธเจ้านี่มันก็ลำบากอยู่นะ นิพพานของพระพุทธเจ้า นิพพานของพระอรหันต์ ไม่ใช่นิพพานเสื่อหมอนเหมือนพวกเรา ไปที่ไหนดาดาษมีแต่นิพพานเต็ม อู๊ย ทุกขัง นิพพานของโลกหูหนวกตาบอดมีแต่เสื่อแต่หมอนเต็มไปหมดเลย นิพพานของพระพุทธเจ้านี่จ้าตลอด แม้แต่นอนอยู่บนเสื่อบนหมอนก็จ้าอยู่ในนั้น ยืนเดินนั่งนอนจ้าตลอดเวลา ชื่อว่านิพพานเที่ยง คือไม่มีคำว่าเปลี่ยนแปลงไปไหนเลย ท่านเรียกว่าเที่ยง กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ความแปรปรวนต่างๆ นี้ไม่มีในพระนิพพาน จึงว่าไตรลักษณ์คือทางเดินเพื่อพระนิพพาน

ทีนี้ไปคว้าเอามาว่า อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา หรือ อตฺตา เหล่านี้มาขวางพระนิพพานละซิ บางคนก็ว่านิพพานเป็นอนัตตา บางคนว่าเป็นอัตตา นี่ไปเอาทางเดินเพื่อพระนิพพานมาเป็นนิพพาน มันก็เถียงกันวันยังค่ำ นั่นเห็นไหมตอบ มีอยู่นั่น ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครสวนมาอีกถามมาอีก เงียบเลย เห็นไหม ถอดออกจากหัวใจตอบนี่ นิพพานคือนิพพาน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ บอกไว้แล้วนั่น อนัตตาก็ดี อัตตาก็ดี เป็นทางก้าวเดินเพื่อพระนิพพาน ไม่ใช่พระนิพพาน ผู้จะก้าวเดินเพื่อพระนิพพานต้องเดินตามอัตตาและอนัตตานี้ เป็นทางเดินก้าวไป จนกระทั่งพ้นนี้แล้ว หลุดพ้นไปแล้ว เป็นอีกฝั่งหนึ่งแล้ว นั้นคือพระนิพพาน บอกไว้แล้วนั่น นี่ถอดออกมาจากหัวใจมาพูดนะ ใครจะเถียงไปไหนก็เถียงไปซิ

เราพูดจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นก็จะให้ว่ายังไง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสงสัย ตอบอย่างอาจหาญชาญชัยตามหลักความเป็นจริงที่มีอยู่ในหัวใจเต็มส่วน ไม่สงสัยในการตอบ ที่ว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า คือมันยังไม่เห็นนิพพาน พอไปเห็นแล้วมันจะเป็นบ้าอะไร นิพพานมีหรือไม่มีน้า ขึ้นมาถึงบนบ้านแล้วยังลงไปคลำบันได มีหรือไม่มีน้า อยู่นิพพานแล้ว ยังว่าบันไดขึ้นนิพพานมีหรือไม่มีน้า เพราะเหตุไร นั่น คือการก้าวเดินเพื่อถึงพระนิพพานต้องมีบันไดมีทางเดินไป ทางเดินคือบารมีของเราที่สร้างมามากน้อย เป็นสายทางเดินก้าวเดิน ส่งๆ จนถึงนิพพานแล้ว บาปก็ดี บุญก็ดี ปล่อยวางโดยประการทั้งปวง เพราะเป็นสมมุติทั้งมวล ทั้งสองอย่างนี้เป็นสมมุติทั้งหมด อันนั้นผ่านสมมุติไปแล้วเป็นวิมุตติ

ท่านจึงว่า ปุญญปาปปหินบุคคล เป็นผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว นิพพานละหมดทั้งบุญและบาป ไม่เอาทั้งนั้น นี้เป็นสมมุติทั้งมวล พากันเข้าใจ การพูดทั้งนี้เราไม่ได้สงสัยอะไรเลยนะ เพราะฉะนั้นเราจวนจะตายยิ่งเร่งธรรมะขึ้นมา จะว่าอาจหาญหรือมันก็เลยเสีย มันไม่มีอะไรที่จะว่าอาจหาญ มันเลยไปหมด ความจริงเต็มหัวใจพูดได้เต็มสัดเต็มส่วน อย่างเขามาถามว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา นั่นตอบผางมาเลยเชียว ที่อยู่เขื่อนภูมิพล พอตอบตอนเช้าหลังจังหันแล้ว พอบ่ายเขาก็ออกทางวิทยุ ออกทางวิทยุลั่นไปหลายวันนะ ตั้งแต่นั้นมาเงียบ นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตาเงียบไปหมดเลย คำพูดอันนี้ละออก ตั้งแต่นั้นมาไม่ได้ยินอีกเลย ก็เราถอดความจริงออกไป

บ้านนี้เรือนนี้ นี้บันได จะมาเอาบันไดกับบ้านกับเรือนเป็นอันเดียวกันได้ยังไง บ้านเป็นบ้าน เรือนเป็นเรือน บันไดเป็นบันได อยู่ด้วยกันมันก็ต่างกันอยู่ นั่นบันไดขึ้น นี่ศาลา มันก็เห็นชัดๆ ในหัวใจนี่มันผ่านไปหมดแล้วก็รู้ ถ้ารู้ภายในจิตใจแล้วมันไม่ได้ถามใครนะ ดังเคยพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง สำนวนโวหารที่เราเทศน์เราพูดทุกวันนี้ เป็นสำนวนโวหารใหม่จากภาคปฏิบัติที่เป็นธรรมล้วนๆ เกิดภายในจิต นำออกจากจิตมาเทศน์ ไม่ได้เหมือนแต่ก่อนที่เอาจากความจดความจำตามคัมภีร์ใบลาน เทศนาว่าการไปไม่ว่าท่านว่าเรา พระทั่วประเทศไทยหรือที่ไหนก็ตาม ท่านต้องเทศน์แบบเดียวกัน เทศน์ตามตำรับตำรา ท่านอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น เจ้าของยังไม่เห็นว่าบาป บุญ นรก สวรรค์เป็นอย่างไร เจ้าของไม่เห็น อ่านแต่ในตำราก็ลูบคลำไปธรรมดาๆ

เพราะฉะนั้นการเทศน์ผู้เทศน์ก็ไม่ได้แน่นอน ไม่ได้จริงจัง ไม่ได้รู้ได้เห็นจริงตามตำราที่ท่านสอนไว้ เป็นคนคลังกิเลส ทีนี้เวลาอ่านไปๆ ท่านว่าอย่างไรก็ว่าไปนั้น ทีนี้เทศน์ก็เทศน์ไปตามนั้น เจ้าของก็ไม่รู้ว่าบาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพานเป็นอย่างไร ไม่รู้ ตำราท่านบอกตามความจริงแต่ใจเราปลอม มันก็ไปแทรกอยู่ในนั้น แล้วสุดท้ายนิพพานมีหรือไม่มีน้า นั่นเห็นไหม นี่ละเป็นอย่างนี้จิตใจที่จอมปลอม นี่เป็นภาคปริยัตินะ

ทีนี้เวลาเทศน์ไม่ว่าท่านว่าเราจะเทศน์แบบเดียวกันหมด ไม่มีใครบังคับใคร เพราะตำราบังคับอยู่แล้ว เทศน์ไปตามตำรา ถ้ามีคนมาถามแล้วทำไมถึงเทศน์อย่างนั้นล่ะ หลบปั๊บเลย ก็ตำราว่าอย่างนั้น เอาตำรามาบังไว้เสีย หลบรอดตัวไปได้ เข้าใจว่ารอดตัวไปได้ มันไม่ได้รอด หลักใหญ่แล้วไม่ได้รอด นี่คือภาคปริยัติ เราก็เคยเทศน์อย่างนั้นมาตลอดเหมือนพระทั้งหลาย แต่สมัยที่ยังไม่ปฏิบัติรู้ธรรมเห็นธรรมนะ เทศน์อย่างนั้นเหมือนกันหมด ไปเทศน์ที่ไหนเหมือนกันหมด เราเองที่ออกปฏิบัติเวลาธรรมยังไม่เกิดภายในจิตใจ ความแน่นอนความตายใจยังไม่เกิด ก็ต้องอาศัยคัมภีร์ คัมภีร์ว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ทีนี้เทศน์ก็เทศน์ไปตามคัมภีร์ จึงว่าท่านเหมือนเรา เราเหมือนท่าน สำนวนโวหารก็เป็นแบบเดียวกันไป จะว่าผาดว่าโผนก็ไม่มี เรียบๆ ไปธรรมดาๆ

ทีนี้เวลามาปฏิบัติ มันเห็นชัดเจนนี่ซี เวลามาปฏิบัติๆ สมควรธรรมที่จะเกิดขึ้นตามขั้นตามภูมิของกำลังความสามารถของตนธรรมก็เกิดๆ ทีนี้ธรรมเกิดขึ้นภายในใจไม่ได้เหมือนตำรานะ เกิดขึ้นตรงไหนแม่นยำๆ อยู่ในนี้นะ เกิดขึ้นตรงไหนแม่นยำ ธรรมขั้นนี้แม่นยำในขั้นนี้ ธรรมขั้นนี้แม่นยำในขั้นนี้ ธรรมขั้นนั้นแม่นยำๆ ตลอดทะลุผึงถึงนิพพานแม่นยำหมด การเทศนาว่าการจึงเทศน์ตามหลักความเป็นจริง ทีนี้หลักความเป็นจริงคือแน่นอนไม่เป็นอื่น

เมื่อเรารู้เราเห็นอย่างนี้แล้วเราจะไปเทศน์แบบปริยัติลูบนั้นคลำนี้ หลีกๆ เลี่ยงๆ เช่นกิเลสอยู่ตรงนี้หลบไปตรงนี้เสียๆ ปริยัติเป็นอย่างนั้นนะ ไม่เป็นภาคปฏิบัติ ตรงไปตรงมาผางๆ เลย มันเป็นอยู่ในนี้บีบบังคับ รู้เห็นอย่างนี้แล้วจะไปเทศน์อย่างอื่นไม่ได้นะ มันเป็นอย่างไรต้องบอกเป็นอย่างนั้นๆ ๆ ตามหลักของธรรมที่รู้เห็นขึ้นภายในใจ ไม่ว่าธรรมขั้นใดๆ จะเป็นธรรมแน่นอนตายตัว บีบบังคับให้พูดไปตามนี้ พูดอย่างอื่นผิดธรรม ธรรมที่รู้ที่เห็นเป็นอย่างนี้ เราจะแยกไปๆ เทศน์อย่างอื่นๆ ไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องเทศน์ตามความจริง เทศน์ตามความจริงก็เลยกลายเป็นขวานผ่าซากไป เข้าใจไหมล่ะ

เทศน์กระแทกแดกดันเป็นขวานผ่าซาก เพราะเทศน์ตามหลักความจริงมันมีเน้นหนัก มีหนักมีเบานะ กิเลสมันมีคลื่น ธรรมะก็มีคลื่น ควรจะหนักก็หนัก ควรจะเบาก็เบา ควรจะกระแทกแดกดันตามที่โลกสมมุติ แต่ความจริงกระแทกแดกดันนั้นฟาดกิเลสต่างหากนะ ตีกิเลส กระแทกกับกิเลสต่างหาก เทศน์เป็นขวานผ่าซากคือเทศน์ไปตามความจริงล้วนๆ ทีนี้สำนวนที่เราเคยเทศน์มานั้นมันเลยกลายมาเป็นสำนวนขวานผ่าซากไปหมดแล้วเวลานี้ แต่เราก็ไม่สงสัยในสำนวนของเรา เพราะเราเคยเทศน์มาแล้วตั้งแต่เรียน

ทีนี้มาภาคปฏิบัตินี้เป็นภาคบีบบังคับ คือรู้เห็นอย่างไรจะเทศน์เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นะ เป็นอย่างนั้นต้องว่าอย่างนั้นๆๆ มันจึงตรงไปตรงมา แล้วก็กลายเป็นขวานผ่าซากไป เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น ใครจะว่าเป็นขวานผ่าซาก เราไม่มีความรู้สึก มีแต่ไปตามความจริงเท่านั้นๆ นี่พูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง สำนวนของเราจึงไม่ค่อยเหมือนใคร อย่างเทศน์ทั่วประเทศไทย ก็มีใครพูดเหมือนกันว่าหลวงตาองค์นี้เทศน์ไม่ค่อยเหมือนใคร ๆ จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็ตามเราเทศน์ตามหลักความจริง

ทางภาคปริยัติเราก็เทศน์มาแล้ว เทศน์ตามหลักความจริงก็เทศน์ เราก็เทศน์ตามหลักความจริง จนกระทั่งทะลุถึงนิพพานปึ๋งก็เป็นแบบนั้นไปเลย จะให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ขัดกับธรรม ธรรมคือความจริงตรงไปตรงมา การเทศน์ต้องบอกตามหลักความจริงจึงจะตายใจได้สำหรับผู้ฟัง พากันเข้าใจนะ สำนวนจึงไม่เหมือนแต่ก่อน เป็นสำนวนใหม่ขึ้นมาจากจิตที่ปฏิบัติได้เป็นสมบัติของตน คือความรู้ความเห็นธรรมเกิดขึ้นมามากน้อยเป็นสมบัติของตนด้วย พูดได้อย่างอาจหาญชาญชัยตามหลักความจริงนั้นด้วย นั่นต่างกันอย่างนี้นะ ให้พี่น้องทั้งหลายทราบเอา

อย่างนี้เราก็ไม่เคยเป็นมาแต่ไหน มันเป็นขึ้นภายในใจจากภาคปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าชี้แนวทางไปอย่างนี้ มันก็ต้องรู้ตามเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนวทางไว้แล้วด้วยสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วๆ เมื่อปฏิบัติตามนั้นก็รู้ขึ้นมาตามนั้นๆ รู้ขึ้นมาตามนั้นแล้วจะพูดอย่างอื่นไปไม่ได้ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา ตรงไปตรงมา ไม่ว่าธรรมขั้นใดๆ ตรงแน่วเหมือนกันหมดเลย พากันเข้าใจ

สำนวนที่เทศน์ทุกวันนี้ไม่ได้เอาสำนวนปริยัติมาเทศน์ พูดตรงๆ เลย เอาสำนวนปฏิบัติออกมาจากจิตใจล้วนๆ ไม่ว่าเทศน์ธรรมะขั้นใด ถอดออกมาจากนี้หมด ตั้งแต่ต้นถึงวิมุตติหลุดพ้นเต็มอยู่ในหัวใจนี้หมดแล้วจะอัดอั้นที่ไหน พูดให้มันเต็มยศ ขอให้มีผู้สงสัยควรจะรับธรรมขั้นใดมันจะออกรับกันเองๆ ถ้าไม่ควรออกดึงออกก็ไม่ออกนะ ธรรมท่านเหมาะสมตลอด ควรจะออกหนักเบามากน้อยเพียงไรก็ออกๆ

ยกตัวอย่างเช่นเขาถามปัญหามา พอเขาถามมาทางนี้ออกรับกันปั๊บร้อยเปอร์เซ็นต์ จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ธรรมะที่จะรับกันกับปัญหาเขา คำตอบนี้จะออกรับกับปัญหาเขาที่ถามมา ผู้ที่ถามปัญหามีแง่หนักเบาขนาดไหน พอธรรมะออกนี้ คำตอบออกนี้จะออกร้อยเปอร์เซ็นต์เลยเต็มภูมิๆ ทีนี้พิจารณาผู้ที่จะมารับการตอบปัญหานี้จะมีความสามารถมากน้อยเพียงไร มันจะแบ่งอยู่ในตัวของมันเสร็จ เช่นร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่ออก ออก ๙๐-๘๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ ลงมา ทีนี้ก็มาถึงแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ จากนั้นไม่ตอบ ขี้เกียจไปเลย ตั้งแต่นั้นขึ้นไปแล้วตอบ ถ้าคนที่มาถามเป็นความมุ่งหวังอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ การตอบปัญหาที่ออก ออกร้อยเปอร์เซ็นต์รับกันผึง ได้เต็มสัดเต็มส่วนเลย

ยกตัวอย่างเช่นเดียรถีย์นิครนถ์ จะมาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเดียรถีย์นิครนถ์ เป็นศาสนาอื่น ทีนี้มาฟังธรรมะพระพุทธเจ้าเกิดความเชื่อความเลื่อมใส มาขอบวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าก็ได้วางกฎกติกากันไว้อย่างนั้น คือศาสนาอื่นที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนานี้ต้องมาอยู่อบรม เรียกว่าติตถิยปริวาส ต้องอยู่อบรม ๔ เดือนเสียก่อน เมื่อเห็นสมควรที่พอจะบวชได้แล้ว ใน ๔ เดือนนั้นสมควรที่จะบวชได้แล้วถึงจะบวชให้ ถ้ายังไม่สมควรจะบวช ๕ เดือน ๖ เดือนก็ยังต้องอยู่นั้นก่อนยังไม่ให้บวช

ทีนี้เดียรถีย์นิครนถ์คนนั้นเขาฟังอย่างถึงใจแล้ว พระองค์ก็ทรงประทานโอวาทนี้ออกไป ว่ากฎข้อบังคับสำหรับพุทธศาสนานี้ต้องมีการอบรมเสียก่อน ก่อนที่จะบวชนั้นอยู่ประมาณสี่เดือน พอสมควรบวชได้แล้วถึงจะบวชให้ นี่เรียกว่าติตถิยปริวาส ทางนั้นตอบมาเลยทันที อย่าว่าแต่เพียงให้อยู่ติตถิยปริวาสสี่เดือนเลย สี่ปีข้าพระองค์ก็จะอยู่ ฟังซิน่ะ อยู่สี่เดือนนี้ยังไม่พอ เอาๆ สี่ปีข้าพระองค์ก็จะอยู่ เพราะด้วยความพอใจ พอว่างั้น เอ้าๆ บวชเดี๋ยวนี้ เห็นไหมล่ะนั่น ย่นเข้ามาสี่เดือน สี่ปีเลยไม่มี เอาถ้าอย่างนั้นบวชเดี๋ยวนี้ นี่เห็นศรัทธาแก่กล้าสมควรที่จะรับแล้วเอาเดี๋ยวนี้เลย นั่นความหมาย ถ้าเป็นกลางๆ ก็สี่เดือน ถ้าสมควรที่จะตัดจะย่นเข้ามาตามความเหมาะสมแล้วตัดทันที ดังพระพุทธเจ้าตัด เอาถ้าอย่างนั้นบวชเดี๋ยวนี้บวชเลย เข้าใจทุกคน

พุทธศาสนาของเรานี้ไม่ใช่ธรรมดานะ มันไม่เห็น หูหนวกตาบอด ก็นอนเฝ้างูจงอางงูสามเหลี่ยมงูเห่าอยู่อย่างนั้นละพวกเรา กิเลสตัณหาประเภทต่างๆ เท่ากับจงอางสามเหลี่ยมงูเห่า เรานอนอยู่ท่ามกลางเขาเป็นยังไง แล้วขับลำทำเพลงสบายอีกด้วยนะ พวกนี้พวกตายไม่มีป่าช้า ป่าช้ามอบให้สามเหลี่ยมจงอางงูเห่าไปหมดแล้ว มันไม่มีความหมายอะไร ก็ยังเพลินอยู่ในนั้นแหละ ทีนี้ผู้ที่ท่านเห็นภัยในสามกษัตริย์คือจงอางสามเหลี่ยมงูเห่าเป็นต้นนี้แล้วอยู่ได้อย่างไรล่ะ ดีดผึงเลย ดีดออกจากสามเหลี่ยมเป็นต้น ออกผึงเลย ท่านผู้เห็นภัยท่านจึงว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ ดีดตลอดๆ คำว่าถอยไม่มี ตายก็ตายไปเลย คำว่าถอยไม่มี นี่ละนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ เป็นอย่างนั้น พุ่งๆ เลย

ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าลงได้เข้าดื่มเข้าเห็นแล้วจะอยู่ไม่ได้ บอกว่าอยู่ไม่ได้ เพราะทนทุกข์ทรมานมานี้กี่กัปกี่กัลป์ ตายกี่ภพกี่ชาติ คนๆ หนึ่งนี้ ตายไปกี่ภพกี่ชาติไปเป็นภพใดชาติใด สัตว์ตัวใด เปรตผีตัวใด เทวบุตรเทวดา หรือสัตว์นรกตัวใด มันเคยเป็นมาหมดแล้ว แต่มันไม่รู้ถูกกลบไว้หมดทางเดินของเรามา ก็ยังเหลืออยู่ตั้งแต่ว่าตายแล้วสูญ ทีนี้ตายแล้วสูญอยากทำอะไรก็ทำ ทำลงไปแล้วไม่มีอะไรเป็นเครื่องสนองผล บาปบุญไม่ได้รับแหละ เสวยกรรมไม่มี ตายแล้วสูญ อยากทำอะไรก็ทำๆ นี้แหละพอว่าอยากทำอะไรก็ทำ มันก็ทำแต่บาป ทีนี้ตายแล้วมันไม่สูญน่ะซี มันว่าเอาเฉยๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่าเอาเฉยๆ ว่าด้วยญาณหยั่งทราบแล้ว จึงต้องให้พากันระวัง ให้ฟังเสียงพระพุทธเจ้า อย่าฟังเสียงพวกตาบอดหูหนวกมันจะหลอกไปทั่วโลกดินแดน จมไปด้วยกันหมดนะ จำให้ดี เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านี้

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๘
http://www.luangta.com

ใครปล่อยสติ… ตาย

ถ้าใครปล่อยสติ..ตาย จำให้ดีนักปฏิบัติทั้งหลาย นี้ได้ผ่านมาหมดแล้วมาสอนนี้ไม่ผิด เรานี่สมบุกสมบันมากทีเดียว ได้พิจารณาพิสูจน์ทดสอบทุกอย่างๆ ก่อนที่จะตั้งตัวได้ตรงไหนๆ ต้องพิจารณาให้เรียบร้อยแล้วปฏิบัติตามนั้นๆ ตัดสินใจลงเป็นจุดๆ วิธีนี้เป็นยังไงถูกหรือผิด เอา ตัดสินใจทดลอง ทดลองวิธีนี้ๆ จนกระทั่งผ่านไปแล้วสอนหมู่เพื่อนไม่สงสัยนะ เพราะฉะนั้นจึงมารวมลงที่สติ เรื่องปัญญาจะมาด้วยกันขอให้มีสติเถอะ ถ้าไม่มีสติไม่เป็นท่านะนักภาวนา ยิ่งสติติดแนบตลอดทั้งวันทั้งคืนกิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสจะเกิดขึ้นจากทางสังขารความคิดความปรุง สังขารนั้นเอาไปใช้ทางด้านธรรมะเสีย เช่นความปรุง ปรุงพุทโธ ปรุงธัมโม เป็นสังขารเป็นธรรม อันนี้เป็นด้านธรรม สังขารเป็นกิเลสนี้เป็นอันตราย

ตั้ง ถ้าสติมีอยู่แล้วทั้งวัน เอามันทั้งวัน ไม่เผลอทั้งวัน กิเลสเกิดไม่ได้ทั้งวัน พอเผลอแพล็บกิเลสออกแล้ว ออกนั่นละเอาไฟเข้ามาเผาเรา เราเคยพูดเสมอเพราะมันถึงใจ พยายามทำความพากเพียร บางคืนไม่ได้นอนเลย ถูไถ เหมือนกลิ้งครกขึ้นจอมปลวกนั่นละ กลิ้งขึ้นไป ๑๔-๑๕ วันเอาแทบเป็นแทบตาย ไปอยู่ได้คืนสองคืน เวลามันพลิกกลับมานี้ไหลทับเราเลย จึงได้ใช้ความพินิจพิจารณามันเป็นเพราะเหตุไร เราก็ตั้งสติสตัง บางคืนก็ไม่นอน แล้วมันเสื่อมได้ยังไงจิตนี้

จึงมาจับจุดบกพร่องนี้ได้ อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ใช้คำบริกรรม สติติดแนบกับคำบริกรรมก็ได้ จิตถึงเสื่อมได้ๆ ปีกับ ๕ เดือน จำเอานะท่านทั้งหลาย นี่ละเราตกนรกทั้งเป็นปีกับ ๕ เดือน จิตเจริญขึ้นไปแล้วเสื่อมลง ทีนี้พอเสื่อมลงไปแล้วเอาขึ้นไม่ได้ เอาอยู่ปีกับ ๕ เดือนตกนรกทั้งเป็น อยู่ไหนไม่สบายเลย เหมือนเราเคยมีสมบัติเงินทองข้าวของเป็นล้านๆ แต่มาล่มจมเสียด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้เงินจะมีอยู่ในบ้านเป็นแสนๆ ก็ไม่มีความหมาย จิตมันไปอยู่โน้น อยู่ที่เงินล่มจมไปเป็นล้านๆ

อันนี้จิตของเราเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคง ขาดสะบั้นลงไปด้วยความเสื่อม ทำยังไงๆ มันก็ไม่ขึ้นจึงเป็นทุกข์มากที่สุดเลย นี่ละปีกับ ๕ เดือน จึงได้พิจารณาๆ เอาสติจับปุ๊บ มันจะเป็นเพราะเหตุนี้ละมังจิตถึงเจริญแล้วเสื่อมๆ คราวนี้จะเอาสติติดกับคำบริกรรม ไม่ยอมให้สติเผลอ เอ้า มันจะเสื่อมไปทางไหนเสื่อม เอากันตรงนี้ละ ปล่อยเลย เอ้าเสื่อมก็เสื่อมไป เจริญก็เจริญ ไม่ต้องบอกละเรื่องเจริญ ไอ้เสื่อมนี้แหม มันดัดสันดานเราเหลือเกิน ไม่อยากให้เสื่อมเท่าไรกลับเสื่อมต่อหน้าต่อตา

สติจับติดเลยเทียว ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไม่ยอมให้เผลอ มันเผลอไปไหนกิเลสมันก็ออกมันเข้าตรงนั้นละ ติดๆๆ โถ วันแรกนี้เหมือนอกจะแตก คือสังขารความคิดมันดันออกๆ ทีนี้สติบังคับ คำบริกรรมบังคับ ปิดช่องมันไว้ไม่ให้ออก เอาอยู่งั้น จับได้ถนัดชัดเจน วันแรกเหมือนอกจะแตก วันที่สองรองกันลงมา แต่คำว่าเผลอไม่ยอมให้เผลอเลย เรื่อย สามวันสี่วันสงบ สงบละที่นี่ สงบเรื่อยๆ จากนั้นก็ตั้งได้ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ได้มาจากนั้นละ ไม่เสื่อมๆ เรื่อยมา จึงได้สอนนักภาวนาทั้งหลาย การตั้งรากฐานที่จิตให้มีความสงบนี้ต้องตั้งด้วยสติ คำบริกรรมเป็นที่ยึดของสติ ถ้าสติไม่เผลอกิเลสเกิดไม่ได้ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล นั่นละเรื่องฟืนเรื่องไฟ จิตเสื่อมก็เสื่อมตรงนั้นแหละ ถ้าลงสติไม่เผลอไม่เสื่อม จำให้ดีนักปฏิบัติ

ท่านทั้งหลายอยากเห็นความสุขความเจริญ ความอัศจรรย์ในหัวใจของท่านทั้งหลายเอง ให้ภาวนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พระพุทธเจ้าเลิศเลอมาแล้วสอนโลกทั้งหลายจึงไม่ผิดพลาด ให้ยึดนี้เป็นหลักใจไว้ เรื่องจิตที่ภาวนาไม่ได้หน้าได้หลัง คือขาดสติ ถ้าสติขาดวรรคขาดตอนเรื่องความเพียรก็เป็นอย่างว่านั่นแหละ เฉพาะนักบวชนักปฏิบัติเราไม่ควรจะให้เผลอเลย ทำข้อวัตรปฏิบัติอันใดๆ เช่นในวัดนี้ เคลื่อนไหวไปมาอะไรจะเร็วยิ่งกว่าสติ มันจะเผลอไปไหนว่ะ จับติดๆ ตลอด เคลื่อนไหวไปไหนสติติดแนบๆ จากนั้นก้าวเข้าสู่ความเพียรโดยเฉพาะ ไม่มีงานอื่นใดมายุ่งกวน ติดแนบเลย

เอา มันจะเจริญหรือไม่เจริญลองดูซิ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นี้ ท่านบอกสติปัฏฐาน ๔ มหาสติปัฏฐาน ๔ ที่ตั้งของสติ จนกระทั่งมหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม นี่ที่ตั้งของสติท่านบอกไว้แล้ว จากนั้นก็เป็นมหาสติมหาปัญญา ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ท่านบอกไว้อย่างช้า ๗ ปี หดลงมา ๗ เดือน ๗ วัน บรรลุธรรมไม่สงสัย นี่คือสติๆ เป็นเครื่องรับรองมรรคผลนิพพาน ไม่พ้นจากสติไปได้เลย จึงเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ที่ตั้งของสติ คือกาย เวทนา จิต ธรรม นี้หนึ่ง มหาสติปัฏฐาน ๔ ก็ที่ตั้งของมหาสติ เมื่อเจริญสติมากๆ เข้าไปแล้วก็เป็นมหาสติมหาปัญญาพ้นได้เลย นี่เป็นเครื่องรับรอง สติปัฏฐาน ๔ มหาสติปัฏฐาน ๔ เรียนมาทำไมถ้าไม่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เรียนมาก็เป็นนกขุนทองไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้จำเอานะ

พวกนักปฏิบัติเราให้มันได้ซิให้ได้มรรคได้ผล เอาจริงจังตามพระพุทธเจ้า ธรรมพระพุทธเจ้าหลอกลวงโลกหรือ ไอ้เราหลอกเรานั่นซิเดี๋ยวนี้น่ะมันไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร อย่าหลอก ให้จริงจังทุกอย่าง ท่านทั้งหลายจะได้ทรงมรรคทรงผล ธรรมเข้าสู่หัวใจกับกิเลสบีบบี้สีไฟหัวใจมันเป็นยังไงหัวใจเราดวงเดียวนี้ เอาธรรมเข้ามาแทรกกันดูซิน่ะ มีแต่กิเลสบีบบี้สีไฟตลอดเวลา ความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา บีบตลอดเวลา เอาสติปัญญาหยั่งเข้าไปๆ นี้เป็นเครื่องกำจัดสิ่งเหล่านั้น จะได้เห็นในจิตใจของเรานั่นแหละ จิตใจที่เป็นมูตรเป็นคูถเพราะกิเลสตัวมูตรตัวคูถเหยียบหัวมัน หาความเจริญไม่ได้ หาคุณค่าราคาไม่ได้ เอาธรรมแทรกเข้าไปเป็นยังไง จะรู้ในตัวของเราเองนี่ละ จำให้ดี เอาละให้พร

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
http://www.luangta.com
(คัดลอกมาบางส่วน)

“คนดี” ไม่ทำบาปเลย ทำบุญอย่างเดียว แต่ยังไม่พ้นทุกข์

สัมมาทิฏฐิชั้นกลาง หมายถึง ความเข้าใจถูกต้อง อันทำให้ได้รับผลที่สูงขึ้นไป กว่าประโยชน์ในโลกนี้ กล่าวคือ ประโยชน์ตามทางธรรมะ หรือ ประโยชน์เกี่ยวกับโลกอื่นที่สูงขึ้นไปจนถึงกับมีความสุขทางใจ เป็นอันดับแรก การเข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมะ หรือ ศาสนาทำให้มีความรู้เรื่อง ทาน ศีล บุญกุศล สูงขึ้นไปตามลำดับ รู้จักทำให้เกิดสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขใจที่ยิ่งไปกว่าทรัพย์ ชื่อเสียง และไมตรีหรือมิตรภาพ ทำให้คนรู้จัก เสียสละความสุขทางเนื้อหนัง เพื่อถือเอาความสุขทางใจความเข้าใจถูกต้องในสัมมาทิฏฐิชั้นกลางนี้ มีอยู่เป็นหลักย่อๆในพระบาลีว่า “การให้ทาน หรือ การบูชานั้นเป็นสิ่งที่มีผล ทำแล้วก็เป็นอันทำไม่เสียหาย ผู้ทำนั่นเองได้รับผลโลกอื่นซึ่งนอกไปจากโลก ที่ตนรู้จัก นั้นยังมีอยู่อีก การเข้าใจว่า มีโลกแต่โลกเดียว เท่าที่ตนรู้จักนั้น เป็นความโง่เขลาอย่างยิ่ง บุคคลผู้มีความหมาย ในตัวเองเป็นพิเศษกว่าธรรมดานั้นมีอยู่ เช่น บิดา มารดา คนแก่ชรา เป็นต้น อันเป็นบุคคล ประเภทที่ตน จะต้องมองดู และปฏิบัติต่อด้วยสายตา และ การกระทำเป็นพิเศษเช่นกัน ภาวะแห่งความเปลี่ยนแปลงทางจิต โดยฉับไวนั้น เป็นสิ่งมีอยู่อย่างแท้จริง คือชั่วโมงนี้นาทีนี้เป็นมนุษย์ แต่นาทีต่อมากลายเป็นสัตว์เดรัจฉานไปแล้ว หรือกลายเป็นสัตว์นรกไปแล้วเป็นคนธรรมดาอยู่ ในขณะนี้ ต่อมาก็กลายเป็นเทวดาหรือพรหมไปแล้ว ในขณะหนึ่งการกระทำทางจิตของตนเอง เปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ อย่างผลุบผลับ จะเป็นช้าหรือเร็วถาวรหรือไม่ถาวรเพียงใด แล้วแต่การกระทำ ของตนเป็นผู้มีความเชื่อว่า ภาวะแห่งโอปปาติกสัตว์เช่นนี้มีอยู่แน่ แล้วเป็นผู้ไม่ประมาท ในการกระทำของตน เพื่อให้มีการผุดเกิด แต่ในภาวะที่น่าสรรเสริญ เป็นผู้มีความเชื่อและเห็นชัดว่าปฏิปทา หรือ ทางปฏิบัติที่ทำให้เข้าใจ ในโลกทั้งปวงแจ้งชัดแล้ว ไม่ติดอยู่ในโลกไหนๆ ข้ามขึ้นจากโลกทั้งปวงนั้นมีอยู่ และมีบุคคลผู้ทำเช่นนั้นได้จริงแล้ว สอนคนอื่นให้รู้ตามได้ด้วย ก็มีอยู่”
สัมมาทิฏฐิชั้นกลางนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เป็น สาสวา คือยังไม่พ้นไปจากอาสวะ, เป็น ปุญญภาคิยา ยังเกี่ยวอยู่กับบุญ ทำให้ติดอยู่ในบุญ, เป็น อุปธิเวปักกา ยังเนื่องอยู่กับกิเลส ชั้นละเอียด จึงยังไม่ใช่สัมมาทิฏฐิชั้นสูงสุด คนที่เรียกกันว่า “คนดี” ไม่ทำบาปเลย ทำบุญอย่างเดียว แต่ยังไม่พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ต้องเผชิญกับ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องโทมนัสในเมื่อพลัดพรากจากของรัก หรือเมื่อไม่ได้อะไร ตามใจหวัง ใจยังไม่หลุดพ้น จากสิ่งที่ให้เกิดความทุกข์ โดยประการทั้งปวง จึงมีทุกข์ชั้นละเอียดเหลืออยู่ เป็นเครื่องทรมาน ไม่รู้สิ้นสุด เพราะตนพอใจในความเป็นอย่างนั้น

บรรณานุกรมสัมมาทิฏฐิ
๑. นิพพานจุดหมายปลายทางของชีวิต “รุ่งอรุณของนิพพาน” ของอตัมมโย
http://www.bangkokconsumer.org/dhamma

หลวงตามหาบัวเทศน์ไว้ “เหตุการณ์อันใหญ่หลวงที่จะเผาเมืองไทยนี้จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่ามีขึ้นมาจริง ๆ มันจะเกิดจริง ๆ ไม่เป็นอื่น”

สรุปทองคำและดอลลาร์วันที่ ๑๑ เมื่อวานนี้ ทองคำได้ ๕ บาท ๘๕ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๔๖๘ ดอลล์ ทองคำที่จะมอบเข้าคลังหลวงคราวนี้ ๔ พันกิโล มอบเข้าคลังหลวงเรียบร้อยแล้ว ๒,๕๕๐ กิโล ยังขาดอยู่อีก ๑,๔๕๐ กิโลจะครบจำนวน ๔ พันกิโล นี่เป็นพักหนึ่ง พักต่อไป ทองคำที่ได้หลังจากการมอบเข้าคลังหลวงแล้ว ๑๘๑ กิโล ๑๘ บาท ๖๕ สตางค์ ทองคำต่อยอดจากโครงการช่วยชาติ ๘๐๐ ล้านนั้น ได้ซื้อทองคำได้ ๒,๐๑๒ กิโลครึ่ง หรือเท่ากับ ๒ ตันกับ ๑๒ กิโลครึ่ง รวมยอดทองคำที่มอบเข้าคลังหลวงแล้วเวลานี้ได้ ๔,๕๖๒ กิโลครึ่ง รวมยอดทองคำทั้งหมดทั้งที่มอบเข้าคลังหลวงแล้วและยังไม่ได้มอบเป็นจำนวนทองคำ ๔,๗๔๓ กิโลครึ่ง

ยังเหลืออีก ๒๕๖ กิโลครึ่งก็จะถึง ๑ พันกิโล เมื่อถึงนั้นแล้วก็จะหลอม หลอมแล้วก็จะเข้ามอบคลังหลวงอีก มอบเป็นพัก ๆ คือเวลานี้เราประกาศว่ามอบแต่ละครั้งขอให้ได้ ๕๐๐ กิโลมอบทีหนึ่ง เราเก็บหอมรอมริบไว้อย่างนี้ มันขึ้นอยู่กับการพอกับจำนวนที่เราจะมอบแต่ละครั้ง ๆ เมื่อพอจำนวนเมื่อไรเราก็เข้ามอบ ๆ เพราะฉะนั้นจึงมีห่างอยู่มากทีเดียว เพราะทองคำเป็นของมีค่ามาก กว่าจะถึงจำนวนที่เรามอบแต่ละครั้งนั้น จึงรู้สึกว่านานพอสมควร มอบเป็นระยะ ๆ ที่มอบแล้วก็เป็นอันว่ามอบแล้ว ที่ยังไม่ได้มอบก็เก็บสั่งสม ทองคำที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ นี้เข้าไปรวมกันแล้ว ถ้ายังไม่ได้หลอมก็ไปเก็บไว้ที่ตู้นิรภัยก่อน หลอมแล้วถ้าพอมอบก็เข้ามอบเลย ถ้ายังไม่พอก็ต้องเอามาเก็บไว้ที่ตู้นิรภัยไว้ก่อน ๆ ตลอดมาอย่างนี้ไม่ไปไหน ปลอดภัย คำว่าตู้นิรภัยเรียกว่าตู้ปลอดภัยนั่นเอง ไปเช่าตู้นิรภัยของธนาคารเขาตั้งแต่เริ่มช่วยชาติมา

ให้พี่น้องทั้งหลายทราบไว้ว่าสิ่งที่ท่านทั้งหลายบริจาคนี้ เรียกว่าเขียนเป็นประวัติศาสตร์ได้เลย พร้อมกับประวัติศาสตร์ช่วยชาติไทยของเราคราวนี้ในการบริจาคของพี่น้องทั้งหลาย เข้าสู่จุดมุ่งหมาย ๆ ไม่มีรั่วไหลแตกซึมเลย เรียกว่ามีครั้งนี้ว่างั้นเลยนะที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับสมบัติพี่น้องทั้งหลายที่มาบริจาคนี้ ไม่มีรั่วไหลแตกซึม หลวงตาเป็นผู้ควบคุมเรื่องนี้แต่ผู้เดียว ด้วยอำนาจแห่งความเมตตาล้วน ๆ ทีเดียว ความเมตตาจะไม่มีอะไรมาแย่งมาชิงไปได้แหละ ครอบหมดเลย เราได้เขียนประวัติเรื่องสมบัตินี้ ประวัติแห่งการบริจาคพี่น้องทั้งหลายเข้าสู่ เรียกว่าความปลอดภัย ๆ ตลอดมานี้เขียนได้เลย เพราะเราเป็นผู้นำเอง เป็นผู้จัดการทุกอย่างในสมบัติ ทองคำ ดอลลาร์ เงินสด เราเป็นผู้ดูแลทุกอย่าง ไม่ให้ใครมาทำแทนเลย เรียกว่ามันไม่แน่ใจ เจ้าของต้องเป็นผู้ทำหน้าที่เอง

คิดดูซิเงินนี้เราไม่เคยเกี่ยวข้องนะ ตั้งแต่ไปเรียนหนังสืออยู่นั้นก็มีธรรมดา ก็เกี่ยวข้องธรรมดา มีคนเก็บไว้ให้อย่างไวยาวัจกร เราต้องการใช้เกี่ยวกับหนังแส่หนังสือศึกษาเล่าเรียน พอก้าวขึ้นเวทีซัดกับกิเลสเท่านั้นปัดหมดเลยเทียว ไม่เอาอะไรเลยทั้งนั้น ไปเทศนาว่าการในที่ไหน ๆ ไปเทศน์ที่ไหนบ้านนั้นต้องมีวัด สมมุติว่ามีความจำเป็นไปเทศน์ เขาถวายอะไรมา จตุปัจจัยไทยทานมอบหมดไปเลย ๆ ไม่เคยมีอะไรติดย่ามตลอดมา เราปฏิบัติตัวของเรามาอย่างนั้น

มาอยู่วัดป่าบ้านตาดก็ได้มา ๆ ก็ให้ไวยาวัจกรเขาจัดการทางโน้นไม่ได้เกี่ยว แล้วก็สั่งเท่านั้น สั่งจ่าย ๆ เรื่อยมา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายนี้มาเกี่ยวกับเงินแล้วนะหลวงตา ไม่เคยเกี่ยวแต่ก่อน เหตุที่เกี่ยวนี้ก็คือว่า เรื่องความปลอดภัยของสมบัติที่พี่น้องทั้งหลายบริจาคผ่านมานี้ จะเป็นที่ไว้ใจกับใคร ก็เราเป็นผู้ออกหน้าเองด้วยความเมตตาล้วน ๆ ในหัวใจเรา เราจะปฏิบัติยังไงสมบัติเหล่านี้ถึงจะปลอดภัย สุดท้ายก็ต้องมากุมอำนาจอันนี้ รับผิดชอบหมดเลย ทองคำ ดอลลาร์ เงินสด อยู่ในบัญชีของเรา เราเป็นผู้ถือบัญชีแต่ผู้เดียว สั่งเก็บเอาไว้นี้ก็เราเก็บยังไม่ให้จ่าย สั่งจ่ายเราจ่ายผู้เดียวทั้งนั้น จึงเรียกว่าบริสุทธิ์ตลอดมา

แม้แต่ที่ไปฝากไว้ธนาคารโครงการช่วยชาตินี้ เราจะถอนแต่ละครั้งเราก็ประกาศให้พี่น้องทั้งหลายทราบนะ ถ้าไม่ประกาศแล้วแสดงว่าไม่ถอน นั่น เราเปิดเผยขนาดนั้นด้วยความบริสุทธิ์ สำหรับเราบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ก็อยากให้พี่น้องทั้งหลายได้เข้าใจในการดำเนินของเราเป็นยังไงบ้าง เราดำเนินมาอย่างนี้ แล้วต่อไปก็เป็นแบบเดียวกันเพราะคน ๆ นี้ไม่เป็นอื่น จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ปลอดภัยเรื่อยไป อย่างที่เราเคยพูดว่านาน ๆ ทองคำจึงจะเข้าคลังหลวงทีหนึ่ง บางคนอาจจะปลงตกก็ได้เพราะมันนาน ๆ เอามาบริจาคอย่างนี้มารวมไว้ ๆ เก็บสั่งสมไว้ ๆ ทีนี้เห็นนานไม่เห็นมีสักที ไม่เห็นรู้เรื่องรู้ราวสักที

บางคนจะปลงตก เอ๊ย เราให้ท่านไปแล้วจะเอาไปไหนก็แล้วแต่เถอะ อาจคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ความจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น คือมาเก็บสั่งสมไว้ ๆ จนพอแล้วออกคลังหลวงทีหนึ่ง ๆ อย่างนี้ จะเป็นต่อไปก็แบบเดียวกัน แต่คราวนี้เรากะไว้ว่าประมาณสัก ๕๐๐ กิโล แต่ก่อน ๔๐๐ กิโลเข้าได้เลย เดี๋ยวนี้ประมาณ ๕๐๐ กิโลจะเข้าคลังหลวงทีหนึ่ง พอครั้งที่สองก็เต็มตันเลย ๆ เราได้ประกาศไว้แล้วว่า ๕๐๐ กิโล เพราะฉะนั้นเวลาเราหลอมนี้เราจึงต้องคำนึงถึง ๕๐๐ กิโล ถ้ายังไม่พอหลอมแล้วเราเอาเข้าตู้นิรภัยไว้ก่อน พอครบจำนวนเมื่อไรก็ออก ส่วนดอลลาร์ก็ตามกันไป ดอลลาร์ก็ได้ไปตามกัน มากน้อยก็ได้ไปตาม

คราวที่แล้วที่ไปมอบที่ทำเนียบรัฐบาล ดอลลาร์ได้เพียงสองแสน เราต้องไปคว้าเอาเงินในโครงการช่วยชาติออกมาดูเหมือน ๑๐ ล้านมาซื้อดอลลาร์เข้าไปพร้อมกัน จึงได้ดอลลาร์ ๔ แสน กับเงินที่เราไปถอนออกจากโครงการช่วยชาติมา ๑๐ ล้าน ถอนออกไปซื้อทองคำ ๑๕ ล้านนั้นเพื่อนำกฐินเราปีก่อนนี้ อันนั้นเราเอาเงินโครงการช่วยชาติออกไป ๑๕ ล้านไปซื้อทองคำมาเพื่อนำหน้าทอดกฐินทองคำ นี่อันหนึ่ง เพราะฉะนั้นในโครงการช่วยชาติที่ซื้อทองคำจึงเป็นเงินทั้งหมด ๘๑๕ ล้าน ออกไปดอลลาร์เสีย ๑๐ ล้าน เป็น ๘๒๕ ล้านสำหรับเงินสด นอกนั้นไม่เข้า มีแต่ออกนอกเลย

ออกตามสถานที่ต่าง ๆ ดังที่เคยเรียนให้ทราบแล้ว ตั้งแต่สถานสงเคราะห์ โรงร่ำโรงเรียน โรงพยาบาลที่ไหน ๆ ต่อไปไม่หยุดไม่ถอย ที่ราชการต่าง ๆ เงินนอกจากเข้าคลังหลวงนี้เราก็แยกออกไปช่วยทั่วประเทศไทย จำนวนนี้ไปอย่างนั้น กว้างขวาง จำนวนหนึ่งเข้าจุดคือหัวใจของชาติ พอจำนวนนอกจากนั้นไปแล้วก็เป็นแข้งขาอวัยวะต่าง ๆ ออกไปทั่วประเทศไทยเรา จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายตายใจได้เลยในการบริจาค ไม่เป็นอื่นว่างั้นเถอะ เพราะหลวงตาเป็นผู้ควบคุมการเงินเองด้วยความเมตตาล้วน ๆ หลวงตาไม่หวังอะไรเลย

พูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยคือไม่เอาอะไรเลยในสามแดนโลกธาตุ มีอะไรเราไม่เคยสนใจเราไม่เอา ปล่อยหมด วัตถุอย่างนี้ก็ปล่อย หัวใจกับสิ่งทั้งหลายที่จะเป็นกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ปล่อย ปล่อยหมด ก็ยังมีแต่ความเมตตา เมตตาก็เป็นธรรมล้วน ๆ แล้วออกตลอดเลย ไม่ติดไม่ข้องไม่พัวไม่พันกันเมตตาธรรม ไม่เหมือนวัตถุที่จะไปติดสิ่งนั้นสิ่งนี้เราไม่ติด เราปล่อยหมดแล้ว แต่เรื่องเมตตาธรรมนี้ออกจากใจล้วน ๆ กระจายไปหมด จะว่าติดหรือไม่ติดพี่น้องทั้งหลายก็พิจารณาเอา

ช่วยชาติพี่น้องทั้งหลายก็เห็นทั่วหน้ากันแล้ว ช่วยศาสนาเราก็เต็มกำลังความสามารถของเราที่อบรมแนะนำสั่งสอนพระเณรประชาชนมาเป็นเวลา ๕๐ กว่าปี นี่สั่งสอนเรื่องอรรถเรื่องธรรมล้วน ๆ จากนั้นก็ออกช่วยชาติด้านวัตถุ ธรรมต้องแทรกตลอดเลย เพราะด้านวัตถุนี้เป็นที่ออกหน้าออกตาได้เห็นทั่วหน้ากัน แต่ด้านธรรมะโลกไม่ค่อยจะมีน้ำหนักอะไรเลย รวนเร จึงต้องสอนอรรถสอนธรรมไปพร้อมกับการประกาศบิณฑบาตขอสมบัติทั้งหลายเข้ามาสู่หัวใจแห่งชาติไทยของเราคือคลังหลวง ธรรมะนี่เน้นหนักเรื่อย ไปที่ไหนปล่อยไม่ได้เลย เพราะเวลานี้ชาติไทยของเรารู้สึกว่าห่างเหินต่ออรรถต่อธรรมมากทีเดียว

โทษแห่งความห่างเหินจากธรรม ถึงกับว่าจะเอาเมืองไทยให้จมได้เลยดังที่เห็นต่อหน้าต่อตา นี่โทษแห่งความห่างเหินจากธรรม ใกล้ชิดติดพันกับกิเลสตัณหาความโลภโมโทโส หลงลาภหลงยศ หลงรายได้รายรวย เลยจะเอาเมืองไทยทั้งชาตินี้เป็นสมบัติของตัวเองแต่ผู้เดียว เมืองไทยก็เลยจะจมให้เห็น นี่ละความห่างเหินจากอรรถจากธรรม มันเข้าใกล้ชิดติดพันกับกิเลสตัณหาซึ่งจะทำให้โลกพินาศได้ไม่สงสัย เรื่องกิเลสไม่ทำใครให้เจริญ จิตใจไม่มีทางเจริญถ้าลงกิเลสได้เข้าแล้ว เจริญเรื่องข้างนอกที่กิเลสมันเสกให้ว่า มีอันนั้นมีอันนี้ นั่นกิเลสเสกสรรให้หลงบ้าไป มีสมบัติเงินทองข้าวของมากมาย มียศถาบรรดาศักดิ์สูง ต่อจากนั้นก็หลงไป ติดพันไปกับลาภยศสรรเสริญ สมบัติเงินทองข้าวของติดไปอย่างนั้น จากนั้นก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนฝูงทั่วประเทศนั่นแหละ เจ้าของร้อนแล้ว

เราอย่าเข้าใจว่า คนหาสมบัติได้มาแบบนี้แล้วจะมีความชุ่มเย็น ไม่มี ภายในเป็นไฟ ภายนอกเป็นเครื่องประดับร้าน มีเท่านั้น ไม่มีอะไรจะแทรกธรรมค้านธรรมได้ ธรรมจึงเป็นธรรมที่ท้าด้วยการพิสูจน์ ใครจะว่าใครมั่งมีศรีสุขเป็นความสุข ไม่มี ถ้ามีธรรมในใจไม่ประกาศก็รู้ ชุ่มเย็น มีอรรถมีธรรมมากน้อย ตื่นขึ้นมานี้ให้ระลึกถึงอรรถถึงธรรมวันหนึ่ง ๆ คนจะไม่เพลินมาก จะไม่ลืมเนื้อลืมตัวมาก จะไม่ดีดไม่ดิ้นมากเกินไป เพราะมีอรรถมีธรรมเป็นเบรกห้ามล้อกระตุกเอาไว้ไม่ให้มันรุนแรง ถ้ารุนแรงเข้าสู่ฟืนสู่ไฟ ความโลภพาเข้าสู่ฟืนสู่ไฟเผาหัวใจตัวเองนั่นแหละ ถ้าธรรมแล้วกระตุกเอาไว้ เรียกว่าเป็นเบรกห้ามล้อ ให้พอเหมาะพอดีพออยู่พอกินพอเป็นพอไป อันนั้นถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธรรม

เมืองไทยเราห่างเหินธรรมมาก จึงจะทำให้จมต่อหน้าต่อตา กิเลสจะพาให้ล่มจม จึงต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องฉุดเครื่องรั้งขึ้นมา ดังที่เราเห็นเวลานี้เราพยายามฟื้นฟูชาติไทยของเรามาเป็นเวลา ๔ ปีนี้แล้ว ผลก็ได้เป็นที่พอใจเป็นลำดับลำดา อย่างที่ผู้ว่าการธนาคารชาติประกาศให้พี่น้องทั้งหลายทราบที่สวนแสงธรรมนั่น เงินที่เราติดหนี้เขานั้น โหย รอหายใจอยู่เท่านั้นนะ คือรอแต่จะจม หายใจเป็นเวลานาทีไปเท่านั้นเอง เขาจะมากำเมื่อไรก็ได้ เพราะติดหนี้เขาตั้งหลาย ๆ แสนล้านฟังซิน่ะ เขามากำเอาทีเดียว ว่าติดหนี้ข้าจะว่าไงล่ะ เขามากำทีเดียวหมดเลย นี่ละเรียกว่าสงครามเศรษฐกิจ ไม่ต้องมีปืนผาหน้าไม้ต่อสู้กันแหละ เพียงเจ้าหนี้เท่านั้นมาใส่ทีเดียวตูมหมดเมืองไทยเราไม่มีเหลือเลย

ทีนี้เราก็พอรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ต่างคนต่างฟื้นขึ้นมาเป็นเวลา ๔ ปีนี้แล้ว แล้วสมบัติเงินทองของเราที่เคยติดหนี้เขาตั้งหลาย ๆ แสนล้าน ไม่ใช่น้อย ๆ นะแสนล้านดอลลาร์ด้วย รอลมหายใจจะขาดเท่านั้น เมื่อเขากำเมื่อไรก็ขาด นี้เรายังฟื้นตัวขึ้นมาได้ เวลานี้ที่ว่าติดหนี้เขาหลาย ๆ แสนล้านบาทนั้น เราได้มาใช้หนี้เขาเต็มเหนี่ยวแล้วเวลานี้ ปีนี้ภาคภูมิใจเต็มเหนี่ยว ล้นเหลือ ยังสามารถที่จะใช้หนี้ปีหน้าได้เต็มเหนี่ยวอีก นั่นเห็นไหมเงินเราได้มา สมบัติเราได้มา มันหากเป็นเพราะบุญเพราะกรรม เพราะอำนาจแห่งความรักชาติ ความเสียสละของพวกเรานั่นแหละ ไปหนุนชาติไทยของเราให้ขึ้นมาอย่างนี้

เงินในกระเป๋าก็โดยเฉพาะไม่ได้บริจาคช่วยชาติของเราจะหนุนไม่ได้นะ แต่นี้เงินบริจาคของพี่น้องทั้งหลายคนละเล็กละน้อยหนุนได้ เราเห็นคุณค่าตรงนี้เอง เงินในกระเป๋าเรากับเงินที่เราเอาไปบริจาคเพื่อหนุนชาติ อันไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน ต่างคนต่างหนุน ต่างคนต่างได้เท่านั้นบาทเท่านี้สตางค์ หนุนชาติไทยได้ ถ้าอยู่ในกระเป๋าจะมีคนละหมื่นละแสนละล้าน ๆ ก็ตามไม่ได้หนุนนะ อยู่อย่างนั้นละ จะพาเมืองไทยเราให้จมได้ด้วย ต่างกันอย่างนี้ ทีนี้อานิสงส์ของเราที่ได้ก็เห็นประจักษ์ตา ฟื้นขึ้นมาแล้วเวลานี้ เรียกว่าเป็นที่ภูมิใจในการติดหนี้เขา ที่เขาจะกำอยู่นั้น เวลานี้เขาเปิดอุ้งเล็บเขาออกแล้ว เราก็โผล่ขึ้นเต็มเหนี่ยวเลย

การค้าการขาย ทีนี้ประเทศนอกกับประเทศไทยของเราก็เข้าประสานกันแล้ว เขาหวังรายได้จากเรา เพราะเรามีหลักทรัพย์ หลักทรัพย์ก็คือเงินและทองคำของเรา ต่างคนต่างก็ทยอยเข้ามาลงทุนลงรอนในชาติไทยของเรามากขึ้น ๆ เป็นผลพอใจ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างขวนขวายมาที่ทางราชการมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ขวนขวายสมบัติทั้งหลายที่พี่น้องชาวไทยบริจาคมา เข้าไปในจำนวนงบประมาณ งบประมาณที่ไหน ๆ ไม่อั้นเวลานี้ นายกรับหมด ๆ ได้เงินมาจากไหน แต่ก่อนไม่ได้ยิน มันเป็นยังไง งบประมาณเข้ามาก็มาจากพี่น้องชาวไทยเราอย่างเดียวกันนั่นแหละ มาเป็นลำดับลำดา แต่จะเอาไปช่วยทำอะไรไม่ค่อยได้ มิหนำซ้ำพี่น้องทั้งหลายยังจะถูกบีบถูกบี้ไปด้วยวิธีการต่าง ๆ ของการคดการโกงการรีดการไถประเภทไม่มีประมาณเข้าอีก ดูซิน่ะ แต่เวลานี้รู้สึกว่าเปิดเผยขึ้นมาเป็นลำดับทางคุณงามความดีของผู้นำเรา

ทีนี้งบประมาณที่ไหน ๆ ก็เอาเงินจากพี่น้องทั้งหลายนี้แล ออกไปสู่โครงการนั้นโครงการนี้ทั่วประเทศไทยเวลานี้ ก็เอาจากภาษีอากร แต่ก่อนมันไปไหนภาษีอากรเหล่านี้น่ะ ก็เสียมาดั้งเดิมแล้วมันไปไหนหมด แล้วคราวนี้ทำไมถึงมาโผล่ขึ้นมา มันน่าคิดอยู่มากนะพิจารณาซิ เด็กอมมือมันก็คิดได้นี่นะ นี่ก็แสดงว่าไม่กินไม่กลืน ออกมาเท่าไรก็เข้ารวม ๆ รวมแล้วก็ออกโครงการต่าง ๆ ทั่วไปหมดแดนไทยของเรา นี่เมืองอุดรนี้ก็เท่าไรแล้ว จะกั้นน้ำท่วมเมืองอุดร ทางนี้ไปติดต่อขอทางโน้น จะให้งบประมาณมาแล้วหรือยังไม่ทราบนะ ก็แน่นอนแต่เพียงยังไม่ทราบว่าให้มาจำนวนเท่าไรแล้วที่อุดรเรา งบประมาณช่วยน้ำท่วมนี่นะ (อนุมัติแล้ว ตัวเงินกำลังจัดสรรมาให้) นี่ละอนุมัติมาแล้วก็จะส่งมา อย่างนี้ละ ส่งมาทางนั้นส่งมาทางนี้ไปหมดอย่าว่าเมืองอุดร ทั่วประเทศไทย ออกจากงบประมาณ งบประมาณก็ออกจากพี่น้องชาวไทยนี้กระจายไปเวลานี้ เปิดเผยมากเด่นมากทีเดียวการช่วยชาติคราวนี้ทางนายกรัฐมนตรีนำ ออกที่ไหนไม่อัดไม่อั้น โครงการที่ไหน ๆ เอาได้หมด ๆ นั่นฟังซิน่ะ

นี่ละการช่วยชาติของเรามีคุณมีอานิสงส์มากอย่างนี้ ทางชาติบ้านเมืองก็ช่วยหนุนกัน ทางศาสนาก็ช่วยหนุนกัน ชาติไทยของเราจึงค่อยฟื้นฟูขึ้นไปเป็นลำดับ จึงขอให้พี่น้องชาวไทยเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยไป หลวงตายังมีชีวิตอยู่และพอเป็นไปได้ ก็จะพาถูพาไถไปอย่างนี้แหละ จนกว่าเมืองไทยของเราจะมีความชุ่มเย็นเป็นสุขเราก็เป็นที่พอใจ อย่างอื่นเราไม่หวังอะไรแหละ เราไม่มีอะไรที่จะหวังแล้วในโลกอันนี้ ถ้าอยู่ไปก็อยู่แบบสุด ๆ สิ้น ๆ ก็ถูก สุด ๆ คือไม่มีอะไรมาต่อ สิ้น ๆ คือไม่มีอะไรจะมาต่ออีกเหมือนกัน จะว่าไง สุด ๆ สิ้น ๆ เราไม่มีอะไรนี่เราอยู่สบาย ผลแห่งความสุด ๆ สิ้น ๆ ขึ้นอีกแบบหนึ่ง คาดไม่ได้เลย

ที่เราวิตกวิจารณ์อยู่เวลานี้ก็เกี่ยวกับเรื่องศาสนาของเรา น่าคิดนะ โอ๊ย มันน่าทุเรศจริง ๆ เราเป็นผู้ปฏิบัติศาสนาเป็นพระหัวโล้น ๆ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ของศากยบุตรพุทธชิโนรส ปรากฏให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาว่าเป็นพระ ๆ แล้วทำไมมาตลบตะแลงพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันพันคม จะทำลายศาสนาอยู่เวลานี้ จะยกตนขึ้นด้วยการเหยียบหัวพระพุทธเจ้าลงไป แล้วก็ยกตนขึ้นอยู่บนหัวพระพุทธเจ้า เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายเขาจะกราบจะไหว้ แม้แต่หมามันก็ไม่กราบคนประเภทนี้ พระประเภทนี้น่ะ เราจึงไม่ควรจะไปคิดอุตริขึ้นมาให้โลกทั้งหลายได้กราบไหว้ หมาตัวหนึ่งนั่งขึ้นอยู่หัวพระพุทธเจ้า แล้วให้หนูเข้าไปกราบไหว้ ให้มนุษย์ทั้งประเทศ พระไทยทั้งประเทศเข้าไปกราบไหว้ ใครจะกราบไหว้ลงคอ นี่ซิมันน่าคิดมาก

ควรจะพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขดัดแปลงตนเสียใหม่ ถ้าได้ริเริ่มและได้ทำขึ้นมาอย่างนี้แล้ว อันนี้เป็นฟืนเป็นไฟเป็นภัยแก่ศาสนาแก่ชาติบ้านเมืองอย่างยิ่ง ไม่ควรที่จะคิดขึ้นมา แฝงขึ้นมาในท่ามกลางแห่งมหาชนชาวพุทธเรา ทั้งพระทั้งเณรเต็มเมืองไทยเราให้ได้เกิดความสลดสังเวช ด้วยความเย่อหยิ่งจองหองพองตัว อำนาจป่าเถื่อนของเราที่กีดขวางโลกเช่นนี้ต่อไป ควรจะระงับลงเสีย จะเป็นที่เหมาะสมยิ่งกว่าการที่จะมาต่อสู้ฟาดฟันกัน ถ้าสมมุติว่าทางนี้ขึ้นนะ พวกที่ทางขึ้นตัวก็ว่าเก่งว่ากล้าสามารถอำนาจบาตรหลวงนี้ จะขึ้นมาเหยียบคนทั้งชาติ คนทั้งชาติก็เป็นมนุษย์แล้วจะยอมให้เหยียบกันง่าย ๆ หรือ นี่ละข้าศึกมันจะเกิด

อันหนึ่งก็เป็นฝ่ายมหาโจรปล้นชาติศาสนาเข้ามา อันหนึ่งเป็นเจ้าของสมบัติ ทั้งชาติทั้งศาสนาเป็นสมบัติของชาติไทยเรา จะยอมตัวให้เปรตให้ผีให้ยักษ์ให้มาร มหาโจรเข้ามาเหยียบย่ำอย่างง่าย ๆ นี้เป็นไปไม่ได้ จึงควรพิจารณาแก้ไขดัดแปลงตนเสียตั้งแต่บัดนี้ โลกทั้งหลายเขาไม่เห็นว่าเป็นความถูกต้อง เรายังเห็นว่าเป็นความถูกต้อง จะปีนขึ้นเหยียบหัวคนทั้งชาติอย่างนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง ควรจะแก้ไขดัดแปลงตนเสียใหม่ เราบวชมาในพุทธศาสนา ศาสนาทำความร่มเย็นแก่โลกมาเท่าไร เราทำไมบวชมาแล้วมาก่อความเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเผาคนทั้งชาติ ทั้ง ๆ ที่ศาสนาเต็มหัวใจอยู่กับทุกคนตลอดพระเณร มาทำอย่างนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงควรจะแก้ไขดัดแปลงตนเองเสียใหม่ ไม่เสียท่าไม่เสียที ไม่เสียคำว่าศักดิ์ศรีดีงาม ไม่มีอะไรเสีย

การปลดเปลื้องความผิดที่ออกจากตัว เพื่อประชาชนทั้งหลายได้เบาใจทั่วประเทศไทยเรานี้เป็นความดีความงามว่ารู้สึกโทษ แม้แต่พระเทวทัตทำพระพุทธเจ้าขนาดไหน แต่ถึงวาระสำคัญขึ้นมาแล้ว พระเทวทัตยังเข้าไปกราบไหว้บูชาขอขมาพระพุทธเจ้า จนกระทั่งได้สำเร็จอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ขึ้นมา ว่าต่อไปนี้พระเทวทัตนี้จะได้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าชื่อ อัฏฐิสาระ องค์หนึ่ง เพราะความเห็นโทษของตัวเอง แล้วขอขมาพระพุทธเจ้าแม้จะยังไม่เข้าถึงพระองค์ถูกแผ่นดินสูบเสียก่อนก็ตาม อำนาจแห่งคุณค่าของคางกรรไกรที่ถวายบูชาพระพุทธเจ้านี้ ดันพระเทวทัตให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง ในเวลาได้ตรัสรู้ขึ้นมาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า

นี่เราไม่ได้ถึงขั้นพระเทวทัตทำลายพระพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงว่าเราคิดริเริ่มจะเป็นความผิดความพลาดเราก็เข้าใจว่าเราถูก แต่คนทั้งชาติเวลานี้ทั้งพระทั้งเณรทั้งประชาชนชาวพุทธด้วยกัน ไม่มีใครเห็นด้วยเราว่าเป็นความถูกต้อง ซึ่งเราควรจะเสริมตัวขึ้นให้แผลงฤทธิ์มากยิ่งกว่านี้ อย่างนี้ต่อไปอีกไม่ควรทำ ควรจะแก้ไขดัดแปลงตนเองเสีย ตั้งเหตุการณ์อันใหญ่หลวงที่จะเผาเมืองไทยนี้จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่ามีขึ้นมาจริง ๆ มันจะเกิดจริง ๆ ไม่เป็นอื่น ที่จะให้เมืองไทยทั้งประเทศซึ่งมีศาสนาพุทธเต็มหัวใจ ๆ นี้ปล่อยให้เรื่องราวโกโรโกโส มหาโจรแผลงฤทธิ์อย่างนี้โดยถ่ายเดียวไปครองอำนาจแล้วจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นก็จะฟัดกันเท่านั้นเอง จึงต้องขอให้พิจารณาเสียตั้งแต่บัดนี้

เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตด้วยกัน ให้พิจารณาลึกซึ้งในอรรถในธรรมของพระพุทธเจ้า สมกับเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต แล้วทำความร่มเย็นแก่ตนและผู้อื่นโดยลำดับลำดาไปอย่างนี้ การทำอย่างนี้ไม่ได้ทำความร่มเย็นให้แก่โลก ให้แก่ชาวพุทธของเรา จะทำความเดือดร้อนก่อฟืนก่อไฟเผาชาติศาสนาไปตาม ๆ กัน ไม่มีทางสงสัยได้เลย จึงขอบิณฑบาต จะเป็นพระลูกพระหลานใครก็ตามที่ทำอย่างนี้เป็นความผิด สังคมชาติไทยเราไม่ยอมรับ อย่าฝืนสังคมที่ไม่ยอมรับ การไม่ยอมรับเห็นว่าไม่ถูกจึงไม่ยอมรับ เราพิจารณายังไงเราจึงแสดงอันนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ชาติไทยของเรามีมานานเท่าไร ศาสนาพุทธมีมานานเท่าไร ไม่เห็นมีเรื่องมีราวอะไรเกิดขึ้นมา ก็เพราะต่างคนต่างปฏิบัติตามศีลตามธรรม ทางกฎหมายบ้านเมือง และศาสนากลมกลืนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยมีข้าศึกต่อกันระหว่างศาสนากับกฎหมายบ้านเมือง ปกครองกันมาอย่างนี้ ๆ

ทางศาสนาก็พระเณรปกครองกันเอง ถ้าพระเณรไม่ดื้อด้านหาญทำ สอดหัวออกไปทะลึ่งกฎหมาย ๆ ก็ไม่ทำอะไร ถ้าออกไปทะลึ่งกฎหมายก็เป็นกฎหมายโดยตรง อันนี้ก็ปกครองกันมา กฎหมายเป็นกฎหมาย ศาสนาเป็นศาสนาต่างฝ่ายต่างปกครองกันมาอย่างนี้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ก็สมบูรณ์แล้วนี่นะ แล้วจะอุตริไปตั้งกฎหมอยกฎแหมอะไรมาอีก จะมาเผาชาติมนุษย์นี้ ด้วยความแผลงฤทธิ์ของตัวเอง หาเหตุหาผลไม่ได้ อยากใหญ่อยากโตอยากมีชื่อมีเสียงบนหัวใจคน ขี้รดหัวใจคน อย่างนี้ไม่ใช่ชื่อเสียงอันดี ชื่อเสียงก็คือว่า มันไม่มีส้วมมันมาขี้รดหัวคนทั้งชาติ ชื่ออย่างนั้นใครอยากฟังไหมล่ะ จึงควรให้แก้ไขดัดแปลงเสียใหม่จะเป็นความดีความงาม

เราเรียนหลักธรรมหลักวินัยมาด้วยกัน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้แผลงฤทธิ์ศักดานุภาพแบบกิเลสตัณหาอย่างนี้ แผลงฤทธ์ด้วยการฆ่ากิเลสที่มันแผลงฤทธิ์ขึ้นมานี้ดี พระพุทธเจ้าเลิศด้วยการแผลงฤทธิ์ฆ่ากิเลส ความโลภโมโหโทโส ความจะเอาดีเอาเด่น ชิงดีชิงเด่น ตั้งชื่อตั้งเสียงตัวขึ้นคณะของตัวขึ้นเพื่อให้เป็นความโด่งดัง อะไรจะโด่งดัง โด่งดังก็มีแต่ระเบิดกลางเมืองไทยแหละมันจะขึ้นแน่ ๆ ถ้าหากว่ายังฝืนกันไปอย่างนี้ก็จะขึ้น

เพราะฉะนั้นให้ระงับเสียตั้งแต่ต้น อย่าให้มีต้นเหตุขึ้นมา ระงับตั้งแต่ต้นเหตุซึ่งกำลังจะแสดงอยู่เวลานี้ ให้ระงับลงเสีย บ้านเมืองเราจะมีความสงบร่มเย็น เขาจะได้อนุโมทนาเราว่าเป็นผู้รู้โทษรู้คุณจริง ๆ ควรจะปฏิบัติตัวอย่างนั้น ถ้าจะแผลงขึ้นไปกว่านี้อีกจะไม่มีชิ้นดี จะแหลกไปเลย นี่พูดถึงเรื่องความวิตกวิจารณ์เรื่องศาสนา ซึ่งนักบวชเราต่างคนต่างเรียนคัมภีร์วินัยมาด้วยกัน ควรจะพิจารณาตามหลักคัมภีร์วินัยศาสนาพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วบ้านเมืองจะสงบไปเรื่อย ๆ ดังที่เคยสงบเย็นมา วันนี้ก็พูดเพียงเท่านี้ละ เอาละพอ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
http://www.luangta.com

ผู้ทำให้ป่างาม

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๓๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระสาวกผู้เถระซึ่งมีชื่อเสียงมากรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปท่านพระอนุรุทธ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เถระ ซึ่งมีชื่อเสียงอื่นๆ ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสป ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า มาไปกันเถิด ท่านกัสสป เราจักเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระมหากัสสปรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป และท่านพระอนุรุทธ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป และท่านพระอนุรุทธเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะแล้วกล่าวกะท่านพระเรวตะว่า ท่านเรวตะ ท่านสัปบุรุษพวกโน้น กำลังเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม มาไปกันเถิด ท่านเรวตะ เราจักเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระเรวตะรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม.

[๓๗๐] ท่านพระสารีบุตร ได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ความเห็นพระอานนท์
ท่านพระอานนท์ตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัยท่านพระสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระเรวตะ
[๓๗๑] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระเรวตะว่า ท่านเรวตะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอานนท์พยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ท่านพระเรวตะตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่ห่างเหินแล้ว ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระอนุรุทธ
[๓๗๒] เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระอนุรุทธว่า ท่านอนุรุทธ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านเรวตะพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอถามท่านอนุรุทธในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ท่านอนุรุทธตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ขึ้นปราสาทอันงดงามชั้นบนพึงแลดูมณฑลแห่งกงตั้งพันได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระมหากัสสป
[๓๗๓] เมื่อท่านพระอนุรุทธกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปดังนี้ว่า ท่านกัสสป ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอนุรุทธพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอขอถามท่านกัสสปในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ท่านพระมหากัสสปตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ตนเองอยู่ในป่าเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรด้วยตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตรด้วย ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วย ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมวิมุติด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระมหาโมคคัลลานะ
[๓๗๔] เมื่อท่านพระมหากัสสปกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ท่านโมคคัลลานะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านมหากัสสปพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระสารีบุตร
[๓๗๕] ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่าท่านสารีบุตร ปฏิภาณตามที่เป็นของเรา อันเราทั้งหมดพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านสารีบุตร ในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจและไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็นเปรียบเหมือนผอบผ้าของพระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่างๆ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเช้า ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเย็น ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเย็น ฉันใด ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยงหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

[๓๗๖] ลำดับนั้น ท่านสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านผู้มีอายุเหล่านั้นดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฏิภาณตามที่เป็นของตนๆ พวกเราทุกรูปพยากรณ์แล้ว มาไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้ว จักกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่พวกเราอย่างใด พวกเราจักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น. ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว.

เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
ลำดับนั้น ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วท่านพระสารีบุตร ได้กราบทูลดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่านพระเรวตะ และท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไปท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่าใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัยท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า อานนท์ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันอานนท์นั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้วสั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น อานนท์นั้น แสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัย.

[๓๗๗] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะท่านพระเรวตะดังนี้ว่า ท่านเรวตะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอานนท์พยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระเรวตะ ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่าท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า เรวตะ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

[๓๗๘] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะ พระอนุรุทธดังนี้ว่า ท่านอนุรุทธ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านเรวตะพยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านอนุรุทธในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่าท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ขึ้นปราสาทอันงดงามชั้นบน พึงแลดูมณฑลแห่งกงตั้งพันได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบพึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธ ย่อมตรวจดูโลกตั้งพันด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

[๓๗๙] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระอนุรุทธกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปดังนี้ว่า ท่านกัสสป ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านพระอนุรุทธพยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านมหากัสสปในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่างไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสป ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมหากัสสป ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ตนเองอยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรด้วย ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเองเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตรด้วยตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วย ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุติด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสป เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า กัสสป ตนเองเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรด้วย ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตรด้วย ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษด้วยตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเองเป็นถึงพร้อมด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุติด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วย.

[๓๘๐] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระมหากัสสปกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะท่านมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านพระมหากัสสปพยากรณ์แล้ว เราจะขอถามท่านโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ดูกรท่านโมคคัลลานะป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วยและธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ดูกรท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบพึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะ เป็นธรรมกถึก.

[๓๘๑] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ในลำดับต่อไป ข้าพระองค์ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร ปฏิภาณตามที่เป็นของตน เราทั้งหมดพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ดูกรท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น เปรียบเหมือนผอบผ้าของพระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมเป็นสีต่างๆ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเช้า ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเย็น ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเย็น ฉันใด ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตร เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบพึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิตเธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น.

พระพุทธโอวาท

[๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า คำของใครหนอเป็นสุภาษิต?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิตโดยปริยายก็แต่พวกเธอจงฟังคำของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไรนั้น เราตอบว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบ มหาโคสิงคสาลสูตร ที่ ๒

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๘๐/๔๓๐ ข้อที่ ๓๖๙ – ๓๗๐