Monthly Archives: พฤษภาคม 2013

ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก

การที่เราจะหาของดีวิเศษดังจอมปราชญ์ทั้งหลายท่านเสาะแสวงหานั้น ความรู้สึกในแง่ต่าง ๆ ตลอดกิริยาอาการแห่งการกระทำของเรา ต้องผิดปกติธรรมดาทุกอย่าง ไม่เช่นนั้นไม่เจอ จะเป็นนิสัยใดก็ตามนี่เข้าใจว่าต้องมีหนักมือ ถึงจะได้เห็นเรื่องเห็นราวเห็นเคล็ดลับของกิเลสประเภทใดบ้างที่ควรจะทำให้หนักเบามือขนาดไหน

สำหรับเราจะว่าเราหยาบก็ถูก เราก็ยอมรับว่าเราหยาบ เพราะทำอย่างธรรมดาไม่ได้ มันต้องมีความเด็ดขาดเป็นช่วง ๆ ไป ถ้าเป็นอย่างนั้นผลก็ปรากฏ นี่จึงทำให้หยุดไม่ได้ ถ้าทำธรรมดาเหมือนทั่ว ๆ ไปมันไม่ได้เรื่อง ในขั้นสงบมันก็ไม่สงบให้ เราเอาหนักมือเข้าไปมัดมันเข้าไป ๆ จิตก็สงบ ก็แสดงว่ากิเลสนี้รุนแรง ความเพียรไม่รุนแรงไม่ทันมัน มันเป็นเครื่องบอกอยู่ในตัว ขั้นสงบนี้ก็แทบล้มแทบตายมันถึงสงบได้ ขั้นปัญญาก็อีกเหมือนกัน แต่ปัญญานี่คิดว่าจะไม่เหมือนกันทุก ๆ รายไป

อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติที่จะผ่านพ้นทุกข์ไปได้ ไม่ปรากฏมีปัญหามีเหตุการณ์มีเรื่องอะไรให้ได้ใช้ความคิดความพินิจพิจารณาแก้ไขถอดถอนเลยนั้น เราว่าจะเป็นไปได้ ผู้ไม่มีปัญหาใด ๆ เลยแล้วผ่านไปเรื่อย ๆ นี่ นอกจากขิปปาภิญญาผู้ที่รู้ได้เร็วอันนั้นยกไว้ แต่ธรรมดาทั่ว ๆ ไปนี้ยังไงก็จะต้องเจอ ปัญหาที่จะให้ขุดให้ค้นให้ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปหลายแง่หลายกระทง จนเป็นเหมือนธรรมจักรมันถึงเป็นไปได้ นั่นละขั้นปัญญาล้วน ๆ แล้วต้องเป็นอย่างนั้น

สมาธิก็ต้องมีสติบังคับ ไม่มีสติเผลอเมื่อไรจิตต้องปรุงออกเมื่อนั้น ความปรุงออกของจิตนั้นแลเป็นภาพเป็นเรื่องราวหลอกเจ้าของให้หลงเพลินไปตามเงานั้น ตัวจริงมันปรุงอยู่ภายในจิต แต่เงามันออกแสดงหลอกตัวเองอยู่ภายนอกแล้วก็เพลินไปตามเงานั้นเสีย นี่ร้อยทั้งร้อยต้องเป็นอย่างนี้ด้วยกัน ผู้ปฏิบัติถ้าไม่ทราบอย่างนี้แล้วจิตจะหาความสงบไม่ได้ ต้องสังเกต

จิตถ้าเรามีสติอยู่ขณะที่จิตจะปรุงมันจะมีลักษณะดัน ๆ ออกมาแล้วก็ปรุงแย็บออกมา แต่ทีนี้มันรู้ไม่ได้เพราะมันออกเวลาเผลอ ตอนนั้นไม่มีสติมันปรุงแบบไหนเราก็ไม่รู้ รู้แต่มันออกเป็นเรื่องเป็นราวไปแล้ว แล้วก็หลงเรื่องราวหลงเงามันไป เป็นเรื่องเป็นราวเป็นแถวเป็นแนวไม่มีสิ้นสุดยุติ เรื่องนี้ต่อเรื่องนั้น ๆ ก็เพราะเรื่องสังขารมันปรุงติดปรุงต่อปรุงไปเรื่อย ๆ คิดอยู่ไม่หยุดไม่ถอย หลงไปตามเงานั้นเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ว่านั่งภาวนามันนั่งหลงอารมณ์ ไม่ใช่นั่งดูจุดของมันที่จะแสดงอารมณ์ออกมาจะแสดงเหตุออกมา แสดงเรื่องแสดงราวออกมา สติไม่มีอยู่ที่นั่นจิตจะหาความสงบอย่างไรได้ ให้พากันเข้าใจให้ดีตรงนี้ เป็นอย่างนั้นแท้ ๆ ไม่สงสัย นี่เคยเป็นมาแล้วรู้อยู่แล้ว ไม่รู้แล้วเอามาพูดได้อย่างไร

ขั้นสงบ จะทำจิตให้สงบต้องจดจ่ออยู่ตรงที่มันปรุง การคิดปรุงนั้นคือความยุแหย่ก่อกวนตัวเองนั่นแล สติเป็นเครื่องรับรู้อยู่กับจิตที่มีสิ่งที่พาให้ปรุงให้คิดต่าง ๆ ให้รู้อยู่ตรงนั้น ไม่ต้องไปคาดไปหมายอะไรเหมือนโลกอันนี้ไม่มี มีเฉพาะความรู้จ้อกันอยู่ตรงนั้นเท่านั้น มันจะปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาจดจ่อกันอยู่ตรงนั้น หรือคำบริกรรมก็ให้รู้อยู่กับคำบริกรรม ปรุงเป็นคำบริกรรมไม่จัดว่าเป็นสังขารส่วนสมุทัย เป็นฝ่ายมรรคผิดกัน เพราะความปรุงอันนี้ไม่ใช่ปรุงเพื่อความฟุ้งซ่าน ปรุงเพื่อความสงบระงับ ไม่เป็นเรื่องเป็นราวที่จะให้เกิดความฟุ้งซ่าน

ธรรมไม่ใช่พาให้คนฟุ้งซ่าน แต่โลกคืออารมณ์ของโลกนั้นมันพาให้ฟุ้งซ่าน ถ้าจิตคิดไปในทางโลกสงสารมันก็เป็นสมุทัย คิดเท่าไรไม่มีสุดมีสิ้นไม่มีอิ่มพอ คิดไปเรื่อยปรุงไปเรื่อยหลอกไปเรื่อย วันนี้ก็เป็นอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืนจนกระทั่งหลับไปก็เป็นอยู่อย่างนั้น เลยไม่ได้ผลประโยชน์อะไร เราตั้งใจมาหาผลหาประโยชน์ สติตั้งลงให้ดีกำหนดดูที่จุดนั้น ถ้าเป็นคำบริกรรมก็ให้รู้อยู่กับคำบริกรรม นี่ในขั้นเพื่อความสงบให้ทำอย่างนี้

ผู้ที่มีความสงบพอสมควรแล้วก็ควรจะหาอุบายคิดในแง่ปัญญา โดยยกอาการแห่งร่างกายจะเป็นอาการใดก็ตาม ฝ่ายรูปก็มีหลายอาการถึง ๓๒ อาการ เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็มี จะคิดในแง่ใดให้เป็นปัญญาก็คิด จิตสงบตัวคือกิเลสสงบตัว กิเลสรวมตัวเข้ามาจิตจึงได้รับความสงบ ไม่คว้าโน้นคว้านี้เหมือนอย่างจิตธรรมดาที่หาความสงบไม่ได้ เมื่อจิตมีความสงบแล้วพอเป็นบาทเป็นฐานหรือเป็นปากเป็นทางที่จะให้ได้หายใจ พอมีความสะดวกสบายบ้าง เพราะความไม่สงบของจิตนั้นก็คือความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ก่อกวนตัวเองด้วยเรื่องต่าง ๆ อยู่ทั้งวันทั้งคืน เอายาพิษป้อนเข้ามา ๆ สู่ใจ ผลที่ได้รับจึงมีแต่ความทุกข์ความลำบากเจือกับความกระวนกระวายส่ายแส่ ต้อนเข้ามาให้เห็น เมื่อจิตมีความสงบย่อมเย็น ความคิดเหล่านี้ก็จางไป ๆ เมื่อเราทราบอย่างนั้นแล้วก็ให้มีสติเพิ่มตัวขึ้นไป

เมื่อมีความสงบพอสมควร ถึงวาระที่ควรจะพิจารณาทางด้านปัญญาก็พิจารณา จะนำสิ่งภายนอกมาพิจารณาก็ได้ดังที่เคยพูดแล้วไม่ผิด เป็นรูปหญิงรูปชายรูปสัตว์รูปบุคคลอะไรก็ตาม ภายนอกภายในเทียบเคียงกันให้ได้ทุกสัดทุกส่วนในเรื่องความปฏิกูลโสโครก เรื่องความตาย ความแปรสภาพความสลายลงไปแห่งร่างกายของเขาของเรา จิตมันหมุนติ้ว ๆ อยู่นั้น ทำงานอยู่นั้น พิจารณาใคร่ครวญอยู่นั้นปัญญา สติต้องแนบ สติเป็นยาประจำบ้านเว้นไม่ได้สติ ปราศจากไม่ได้ไม่ว่างานชิ้นใดสติจะต้องแนบอยู่เสมอ งานสมถะคือความสงบก็มีสติจึงจะเป็นความสงบได้ งานวิปัสสนาก็มีสติถึงจะพิจารณาได้อย่างชัดเจนคล่องแคล่วว่องไว ถ้าสติไม่มีก็กลายเป็นสัญญาไปเสีย

ในเบื้องต้นปัญญามักจะเป็นสัญญาเพราะเรายังไม่เห็นเหตุเห็นผลพอที่จะให้เกิดความกระหยิ่ม หรือเกิดความพออกพอใจในผลที่เกิดขึ้นแล้วและผลที่ยังไม่เกิด ก็ต้องเสาะแสวงหาด้วยความพากเพียรโดยทางปัญญา เมื่อยังไม่เห็นผลอย่างนี้ปัญญาก็มักจะกลายเป็นสัญญาไป จึงต้องได้บังคับบัญชาด้วยสติ พิจารณาสิ่งใดให้ดูสิ่งนั้น ใคร่ครวญสิ่งนั้น คลี่คลายดูสิ่งนั้นด้วยเจตนาให้เห็นอย่างชัดเจนโดยลำดับ ๆ พอมีเงื่อนพอจะถอดถอนสิ่งใดได้ กิเลสตัวใดได้แล้ว มันก็เห็นผลขึ้นมาภายในจิตใจของเจ้าของเอง แล้วต่อจากนั้นปัญญาก็เป็นปัญญาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นปัญญาล้วน ๆ สัญญาเข้าแทรกไม่มีเลย ถ้าถึงขั้นนั้นแล้วก็ไม่เป็นไร

เบื้องต้นที่จะพิจารณาให้เป็นความสงบ ให้เป็นปัญญานี่มันลำบาก อย่าเอาความลำบากที่กล่าวมาเหล่านี้ไปเป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางตัวเอง งานที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็เพราะกลัวว่าลำบากนั่นเอง จากนั้นก็ขี้เกียจอ่อนแอไปเสียเลยไม่ได้เรื่องได้ราว มีแต่อารมณ์ของโลกมาเต็มหัวใจ เราก็ควรจะเห็นโทษของมันแล้ว อยู่กับโลก คละเคล้ากันมาตั้งแต่วันรู้จักเดียงสาภาวะ เรื่องสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโลกก็ควรจะเห็นโทษของมัน

คำว่าความเพียรถ้าไม่มีสติมันเป็นโมฆะไปหมด สติเป็นของสำคัญในประโยคแห่งความเพียรไม่ว่าจะเดินจงกรม ไม่ว่าจะนั่งสมาธิภาวนาแบบไหนสติต้องมี นั่งอยู่ท่าไหนเพื่อความสงบหรือเพื่อปัญญา จะต้องมีสติเป็นนายบังคับเป็นผู้ควบคุมอยู่เสมอ นี่ละวิธีการที่จิตจะได้ผล ถ้าปราศจากสติแล้วไม่ได้เรื่อง นี่ก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายจึงไม่ปรากฏผลเป็นที่พอใจเป็นลำดับ ๆ ไป เพราะไม่มีสติ สติอ่อน ถ้าสติอ่อนแล้วก็อย่างว่า…. เหตุใดจึงอ่อนก็เพราะการเสริมสติมีกำลังน้อยไม่ค่อยสืบต่อกัน

สติเป็นสิ่งที่แก่กล้าสามารถได้เช่นเดียวกับปัญญา ปัญญาก็ล้มลุกคลุกคลานทีแรกเพราะยังไม่เห็นผลที่เกิดขึ้นจากปัญญา แต่พอปรากฏผลขึ้นมาเป็นลำดับลำดาแล้วปัญญาก็เป็นปัญญา ตั้งหน้าตั้งตาขุดค้นพินิจพิจารณา จนเกิดความติดอกติดใจเกิดความเพลิดเพลินในการพิจารณา ดังที่กล่าวไว้ในสังโยชน์เบื้องบนว่าอุทธัจจะ ความเพลินในการพิจารณาเกินตัวก็เรียกว่าเป็นสังโยชน์อันหนึ่ง มันไม่พอดี อุทธัจจะความฟุ้งของจิตคือค้นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่อุทธัจจะกุกกุจจะในนิวรณ์ ๕ ซึ่งมีอยู่ในสามัญชนทั่วไป ผิดกันตรงนี้ อันนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องโลกสงสารใด ๆ ภายนอก มีตั้งแต่หมุนติ้วอยู่ภายในวงขันธ์นี้ด้วยปัญญา พิจารณาโดยทางไตรลักษณ์ ความเกิดความดับของความปรุงความคิดของตัวเอง แก่กล้าไปอย่างนั้น สติก็แก่กล้าได้ ปัญญาก็แก่กล้าได้

ไม่เคยคิดเคยนึกตั้งแต่พอรู้สึกตัวตื่นนอนขึ้นมานี้ สติกับปัญญาหมุนติ้วอยู่กับงานนั้นตลอดไป อย่างนี้เราก็ไม่เคยเห็นไม่เคยคาดคิดไว้ แต่ก็ปรากฏได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ตั้งแต่ขณะตื่นทีแรกจนกระทั่งถึงขณะหลับ เราได้เผลอเวลาใดบ้าง เผลอที่ตรงไหนมีไหม ไม่ปรากฏเลย นั่นฟังซิสติถ้าไม่แก่กล้าได้ทำไมจะไม่มีเผลอ ไม่ได้ตั้งท่าตั้งทางเพื่อจะไม่ให้เผลอสตินะ มันเป็นสติอัตโนมัติจะเผลอได้ยังไง เมื่อถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติแล้วเป็นอย่างนั้น ในครั้งพุทธกาลท่านว่าเป็นมหาสติมหาปัญญา

พ่อแม่ครูจารย์ท่านเคยพูดเสมอ ฝึกสติให้เป็นมหาสติซี ฝึกปัญญาให้เป็นมหาปัญญา ไม่อย่างงั้นมันจะทันกลมายาของกิเลสเหรอ กิเลสมันสั่งสมตัวมันมากี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ภายในหัวใจ จนมองดูที่ไหนไม่เห็นมีธรรมแทรกเลย มีแต่กิเลสล้วน ๆ เต็มอยู่ภายในหัวใจ มันมีกำลังมากขนาดนั้นแหละกิเลส เมื่อสติปัญญาของเราไม่เพียงพอจะไปปราบกิเลสได้ยังไง เพราะฉะนั้นจงสั่งสมอบรมสติปัญญาขึ้นให้เพียงพอกับกำลังของกิเลส ให้เหนือกำลังของกิเลส เมื่อกำลังของสติปัญญาเพียงพอแล้ว เหนือกำลังของกิเลสแล้ว ไม่ว่ากิเลสประเภทใดจะเหนือสติปัญญาไปไม่ได้ จะต้องถูกทำลายไปหมด

ท่านพูดเด็ดมากเพราะนิสัยของพ่อแม่ครูจารย์มั่นเป็นนิสัยอาชาไนย มีความองอาจกล้าหาญคล่องแคล่วว่องไว พูดตรงไปตรงมาตามนิสัยของท่านที่เป็นคนจริงจัง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมอะไรกับผู้ใด แต่กับกิเลสนั้นท่านฉลาดมาก กิเลสมีเล่ห์เหลี่ยมยังไงท่านต้องแก้ตามเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสด้วยอุบายของท่านเอง เราเป็นนักปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนั้น

พยายามให้เห็นมหาสมบัติภายในจิตของตน เวลานี้จิตกำลังถูกกิเลสรุมล้อมอยู่เต็มหมดภายในจิตจนหาดูจิตภายในตัวจริง ๆ ไม่เจอ มีแต่เรื่องของกิเลสล้อมไปหมด ผุดออกมาขณะใด ปรุงออกมาขณะใด คิดออกมาขณะใด มีแต่เรื่องของกิเลสออกมาทั้งนั้นเรื่องของอรรถของธรรมไม่มี นี่เวลากิเลสมันหนามีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ ขยับตัวออกมาจากใจนั่นแหละ คือความคิดปรุงต่าง ๆ มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้น เพราะสติปัญญายังไม่มี

ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามฝึกสติปัญญาอย่างเอาจริงเอาจังให้ทันกับกำลังของกิเลส ทนไปไม่ได้สติเมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมหรือบำรุงรักษาอยู่เสมอ จะต้องมีความแก่กล้าสามารถขึ้นโดยลำดับ ปัญญาอย่าเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ได้ใช้อุบายหรือไม่บังคับให้คิด แม้จะมีสมาธิขั้นใดก็มีเถอะ อันนี้มีความเข้าใจผิดกันอยู่มากในวงปฏิบัติทั้งหลายเราได้เคยอ่านในหนังสือ เมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาเกิดเอง ว่าอย่างนี้ สำคัญที่เมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเอง มันเกิดเองได้อย่างไร

เราก็เป็นนักปฏิบัติผู้หนึ่ง เมื่อได้ประจักษ์กับตัวเองแล้วใครจะมาโกหกได้เหรอ มันติดจมอยู่ในสมาธิมากี่ปีจนพ่อแม่ครูจารย์ขนาบใหญ่โต ไล่ออกจากสมาธิ ถึงได้นำไปพินิจพิจารณาแล้วจากนั้นก็เริ่มออกทางด้านปัญญา ทีนี้เมื่อจิตมันพร้อมตัวอยู่แล้วที่จะเป็นเครื่องหนุนปัญญาคือสมาธิความแน่นหนามั่นคงของจิตมันพอตัวของมันแล้ว ไม่ได้หิวได้โหยกับเรื่องอะไร มีความเอิบอิ่มอยู่ภายในความสงบของตัวเอง แม้จะปรุงจะคิดเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม ฐานแห่งความสงบเย็นนั้นไม่เคยละตัวเองเลย เป็นพื้นฐานแน่นหนามั่นคงอยู่กับตัวเอง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิโดยแน่นอน แล้วปัญญาเกิดได้เมื่อไร ไม่เห็นปัญญาเกิด

เข้าที่ภาวนานี้นั่งอยู่ที่ไหนก็ตามเพราะความชำนาญ พอกำหนดให้จิตหยุดคิดหยุดปรุง พอกำหนดเท่านั้นมันลงได้เร็วไม่กี่นาทีแหละเพราะความชำนาญ พอลงไปนั้นก็เหลือแต่ความรู้เด่นอยู่อันเดียวไม่มีสองกับสิ่งใดเลย เหลือแต่รู้เท่านั้น สุดท้ายก็ติดความรู้อันนั้น เสกสรรความรู้อันนั้นว่านี้แหละผู้จะเป็นนิพพานก็คือตัวนี้ เลยจ่ออยู่แต่อันนั้นเสียเลยไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร หาทราบไม่ว่าผู้รู้ที่ดิ่งหรือแน่วอยู่นั้นน่ะมันมีอะไรฝังจมอยู่ภายในจิตนั้นน่ะเราไม่ได้คิด มันมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งใดบ้าง เราไม่เห็นเพราะปัญญาไม่มี

พอออกทางด้านปัญญา พอปัญญาออกก้าวเดินเท่านั้นก็มองเห็นสิ่งนั้นมองเห็นสิ่งนี้ เกิดสะดุดใจขึ้นมาในแง่นั้นในแง่นี้แห่งธรรมทั้งหลาย ก็ตามกันไปเรื่อยพิจารณากันไปเรื่อย แล้วกิเลสก็ค่อยหลุดลอยไปเรื่อย ๆ อ้าว เป็นอย่างนี้ อ้าว ๆ แล้วกันเป็นอย่างนี้เหรอ นั่น เห็นคุณค่าละที่นี่ เห็นคุณค่าของปัญญา จากนั้นปัญญาก็ก้าวเดิน ยิ่งเห็นเหตุเห็นผลชัดเจนไปโดยลำดับเท่าไรก็ยิ่งมีความขยันหมั่นเพียรในอันที่จะพิจารณา สุดท้ายก็มาตำหนิสมาธิว่ามานอนตายอยู่เฉย ๆ ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นี่มันก็ไม่พอดีนักปฏิบัติเรา

แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าสมาธินั้นจะมีถึงขั้นใดภูมิใดก็ตาม ถ้าไม่ใช้ปัญญาให้เกิดปัญญาขึ้นมา ไม่บังคับให้พินิจพิจารณาแล้วปัญญาจะไม่เกิด ถ้าปัญญาเกิดเองแล้วผู้ปฏิบัติทางสมาธิเรียกว่าสมบูรณ์เต็มที่ของสมาธิแล้วมันก็ต้องเกิดปัญญาเอง แต่นี้ไม่เห็นมีอะไรเกิด ทำสมาธิมันก็มีแต่สมาธิ ทำเพื่อความสงบก็มีแต่ความสงบ ทำวิปัสสนาเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงก็ต้องค้นคว้าจึงจะเป็นวิปัสสนา ความรู้แจ้ง แปลตามศัพท์ รู้แจ้งด้วยปัญญา ไม่ควรจะนอนใจอยู่เฉย ๆ

จะเป็นความสงบขั้นใดก็ตามควรแก่ปัญญาขั้นนั้น ๆ เป็นลำดับ นี่เป็นทางที่ถูกเป็นทางที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้ปฏิบัติ ไม่ทำให้เสียเวล่ำเวลาว่าเราทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ถูก มีครูมีอาจารย์คอยแนะวิธีการให้ทราบแล้วมันก็ควรจะดำเนินไปได้อย่างสะดวกสบาย เพราะไม่มีอะไรสงสัย ผู้เทศน์ก็ไม่สงสัย ผมพูดตามความจริงผมไม่ได้สงสัยในการสอนหมู่เพื่อน เพราะได้ผ่านมาอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ทั้งฝ่ายเหตุก็ประจักษ์ใจมาโดยลำดับ ฝ่ายผลก็ประจักษ์ใจโดยลำดับ

อย่างขณะที่พูดว่าตั้งแต่ตื่นขึ้นมาสติกับปัญญาหมุนตัวเป็นเกลียวอยู่กับงาน คือการถอดถอนกิเลส ด้วยการค้นคว้าคุ้ยเขี่ยทุกสิ่งทุกอย่างตามแต่อุบายของสติปัญญาที่จะหมุนไปตามกิเลสอันเป็นกลไกหนึ่งของสติปัญญา จนกระทั่งถึงขณะหลับได้ทบทวนตัวเอง มันมีเผลอเวลาไหนบ้างไหมตั้งแต่ขณะตื่นนอนขึ้นมา มันก็มีแต่หมุนติ้ว ๆ อยู่กับงานนี้ตลอดไปจนกระทั่งหลับไม่มีปรากฏว่ามันเผลอที่ตรงไหน นั่นฟังซิ นี่มันก็เป็นเองอยู่แล้วนี่จึงได้นำมาพูดให้ฟัง

แต่ไม่ได้หมายถึงว่าท่านทั้งหลายมายึดนี้เอาไปเป็นสัญญาอารมณ์ หรือถือเอาไปทุกกระเบียด ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นอุบายวิธีอันหนึ่งหรือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะพอไต่เต้าไปด้วย แม้จะไม่เป็นเช่นนั้นทุกกระเบียดก็ตาม ขอให้เป็นแบบลูกศิษย์มีครู เพราะการพูดนี้พูดตามหลักความจริงของสติปัญญาที่เคยล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว แต่ตั้งตัวตรงแน่วหรือหมุนติ้ว ๆ ไปโดยไม่เผลอเนื้อเผลอตัว มีแต่ปราบปรามกิเลสประเภทต่าง ๆ โดยไม่หยุดไม่ถอย นี่ละสติก็ดีปัญญาก็ดีเมื่อได้รับการอบรมอยู่เสมอไม่หยุดไม่ถอย ต้องเป็นอย่างนี้จนได้

ฉะนั้นขอให้ทุกท่านพยายามขุดค้นลงไป ของวิเศษอยู่ภายในจิตนี้แหละ จิตดวงนี้แหละเป็นจิตที่วิเศษ เวลานี้จิตดวงนี้เป็นจิตที่ต่ำช้าเลวทรามหาคุณค่าไม่ได้ เพราะกิเลสซึ่งเป็นของต่ำช้าเลวทรามครอบจิต จึงเป็นจิตที่หาคุณค่าไม่ได้ จึงต้องชำระออกด้วยความขยันหมั่นเพียร อุบายสติปัญญาของใครมีอย่างไรให้นำมาใช้ เราอย่าหวังคอยเอาแต่ครูบาอาจารย์ทุกแง่ทุกมุมไปในแง่ต่าง ๆ อุบายของสติปัญญาที่ท่านสอนเราคิดเอาได้โดยลำพังเรานั้นแหละ กินไม่หมดถ้าเราคิดได้เอง ท่านบอกแต่วิธี ยื่นให้เป็นชิ้นเป็นอันแล้วเราไปตีแผ่ออกให้ได้หลายแง่หลายแขนง นั่นจึงเป็นสมบัติของเราแท้

หากจะพิจารณาอสุภะก็เอาซี เอาให้จริง อสุภะมันก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญา คลี่คลายดู เที่ยวกรรมฐานตั้งแต่ข้างบนศีรษะลงไปถึงพื้นเท้า ฝ่าเท้าขึ้นมาถึงศีรษะรอบด้าน ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ หุ้มอะไร หุ้มกองปฏิกูลโสโครก ตัวหนังเองก็ปฏิกูล มีผิวนิดหน่อยข้างนอกที่พอดูได้ แล้วก็มีตั้งแต่ขี้เหงื่อขี้ไคลเต็มไปหมด ต้องชะต้องล้างเพราะสกปรกออกมาจากภายใน ต้องชะต้องล้างทุกวันทุกเวลา นี่มันเป็นยังไง ผู้ใดพิจารณากายชอบกายวิภาค พินิจพิจารณากายแยกขยายกายตามสัดตามส่วนที่มีอยู่ด้วยปัญญาอยู่โดยสม่ำเสมอ ผู้นั้นละจะก้าวไปได้เร็ว แล้วถือเป็นจุดสำคัญแห่งสนามรบด้วย กายคตาสติเป็นของสำคัญ ในเมื่อจิตยังติดอยู่ในเนื้อในกายแล้ว กายนี้เป็นของสำคัญที่จะต้องพิจารณาให้รู้ตลอดทั่วถึงด้วยปัญญา

เวลาที่จะทำความสงบก็ไม่ต้องไปคิดไม่ยุ่งกับปัญญา ทำเป็นเหมือนไม่เคยคิดเลย ทำแต่หน้าที่ที่จะให้สงบโดยถ่ายเดียวเท่านั้นไม่ให้ก้าวก่ายกัน เวลาทำใจเพื่อความสงบ พักใจให้สะดวกสบายหายห่วงจากความวุ่นวายทั้งหลาย ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำความสงบอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่เป็นห่วงใยกับเรื่องการพิจารณาทางด้านปัญญาเลยในขณะนั้น จิตได้พักสงบให้เห็นประจักษ์กับตัวเอง พอถอยออกจากนั้นมาแล้วควรแก่การงานที่จะต้องพิจารณา เอ้า ทีนี้ก้าวทางปัญญาค้นคิดให้โลกธาตุกระเทือนไปหมดนี้เป็นไร สมาธิไม่ต้องไปยุ่งไม่ต้องไปคิดไม่ต้องไปเป็นอารมณ์กับสมาธินั้นเลยในขณะที่เดินปัญญา นั่นเรียกว่าถูกต้อง จะทำหน้าที่ใดให้จริงจังต่อหน้าที่นั้น เหมือนกับน้ำไหลลงช่องเดียวมีกำลังมาก เดี๋ยวจะเป็นห่วงปัญญาเวลานั่งสมาธิ เวลาพิจารณาปัญญาก็จะไปห่วงสมาธิ เลยยุ่งกันไปยุ่งกันมาหาทางไปไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนั้น เป็นคนจับจดหาความจริงจังในตัวเองไม่มี จึงต้องให้จริงผู้ปฏิบัติ

เดินจงกรมก็ เอ้า อย่าไปคิดเรื่องอะไรในโลกนี้ ให้เหมือนโลกไม่มี มีแต่ความรู้กับสิ่งเกี่ยวข้องเราอยู่เท่านี้ สิ่งเกี่ยวข้องคืออะไร สิ่งเกี่ยวข้องที่มีอยู่กับตัวเราหนึ่ง สิ่งเกี่ยวข้องคืออารมณ์ต่าง ๆ ที่เรากำลังพินิจพิจารณาหรือกำลังบริกรรมอยู่นั้นหนึ่ง เรียกว่าสิ่งเกี่ยวข้อง รู้เท่านี้ อย่าไปห่วงใยโลกนี้ไม่หายไปไหนแหละ มันมีแต่เรื่องเกิดเรื่องตายทับถมกันอยู่ตลอดเวลามา มันไม่ไปไหนแหละ โลกอันนี้มีแต่เรื่องเกิดเรื่องตายเรื่องสลายพลัดพราก เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป เราห่วงใยอะไรกับมัน

ร่างกายที่พายืนพาเดินพาหลับพานอนพาขับพาถ่ายกินอยู่ปูบายอยู่ตลอดเวลานี้ มันก็แปรสภาพของมันมาจนขนาดนี้แล้วดูซิ ตั้งแต่ก่อนเป็นเด็ก ๆ ตัวแดง ๆ ตกออกมาจากท้องแม่ทีแรกเป็นยังไง แล้วก็โตขณะนี้ มันโตไปอะไร ความโตนั้น อนิจฺจํ ก็โตไปด้วย ทุกฺขํ ก็โตไปด้วย อนตฺตา ก็โตไปด้วย ความเปลี่ยนแปรสภาพความเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างมันโตไปด้วยกันนั่นแหละ เราจะหาความดิบความดีจากความโตแห่งสังขารนี้ได้ยังไงถ้าไม่เอาความดีจากสติปัญญา

ถ้าสติปัญญาไม่เติบไม่โตไม่เจริญรุ่งเรืองแล้วเราจะหาทางเอาตัวรอดไม่ได้ นอนกอดสังขารตายจมสังขาร แล้วก็เอาสังขารนี้มาก่อกำเนิดเกิดอีกเป็นเรือนร่างแห่งความเกิดแก่เจ็บตายแห่งกองทุกข์ทั้งหลายอยู่อีกตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ตั้งกัปตั้งกัลป์หาที่สิ้นสุดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นผู้ต้องการจะตัดภพตัดชาติ จึงต้องค้นคว้าต้องพิจารณา ต้องหนักในทางความเพียร

ทุกข์ก็ทุกข์เถอะ เกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครเป็นสุขล้วน ๆ มาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย มันมีความสุขความทุกข์สับปนกันตลอดมา ทั้งเศรษฐี กุฎุมพี ทั้งคนรู้คนฉลาดจอมปราชญ์ไหนก็ตาม เรื่องสังขารมันไม่ฟังใครทั้งนั้นแหละ คนจนคนมีกองทุกข์เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์นี้มีอยู่เต็มตัวด้วยกัน เราเคยทุกข์มาแล้วไม่ควรจะย่อท้อในความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการประกอบความเพียร ทุกข์อันนี้ทุกข์เพื่อผลอันดี ทุกข์เพื่อความเลิศเลอเพื่อความประเสริฐ ทุกข์เพื่อการถอดถอนกิเลสให้เป็นอิสรภาพภายในจิตใจของตน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ทุกข์ขนาดไหนก็ยอมรับ ขอให้มีสติปัญญาศรัทธาความเพียรหมุนไปกับทุกข์เถอะ แต่อย่าไปทนทุกข์อยู่เฉย ๆ อย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์

ทุกข์เกิดมากน้อย เอ้า ปัญญาขุดค้นลงไปให้มันเห็นทุกข์เป็นทุกข์ล้วน ๆ เป็นความจริงอันหนึ่งอย่างประจักษ์ใจ กายแต่ละส่วนก็ให้เห็นเป็นความจริงอันหนึ่งแห่งอาการของกายนั้น ๆ จิตก็มีแต่ความรู้อยู่โดยลำพังของตัวเอง ส่วนสัญญามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป ๆ ไปหมายนั้นว่าเป็นเรา หมายนี้ว่าของเรา หมายว่านั้นเป็นทุกข์นี้เป็นทุกข์ นี่มันหลอกเรา

เมื่อพิจารณาแยกแยะให้เห็นกายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนาแล้ว จิตจะไม่สักแต่ว่าจิตได้ยังไง สัญญาอารมณ์ความหมายมันก็ดับไป นี่ละการพิจารณาให้มันจริงจังอย่างนี้ นี่ละในวงสติปัฏฐาน ๔ พูดอริยสัจ ๔ ก็ถูก สติปัฏฐาน ๔ ก็ถูก มันถูกอยู่ที่ตัวของเรานี่ เอาให้จริงให้จังเราอย่าลดละท้อถอย

ผมเป็นห่วงหมู่เพื่อนมากจึงต้องได้ให้การอบรมอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นก็จิตก็เฉื่อยชาไปได้ อบรมปลุกจิตปลุกใจปลุกด้วยความถูกต้องตามอรรถตามธรรม ให้ยึดไปประพฤติปฏิบัติ อย่าลดละความเพียร ง่วงให้ล้างหน้า หาอุบายวิธีดังครั้งพุทธกาลท่านทำ ท่านเขียนไว้ทำไมถ้าไม่เขียนไว้สอนพวกเรา นั่งง่วงให้ลงเดิน เดินมันยังง่วง มีอยู่ในประวัติของสาวกบางองค์ จนกระทั่งลงไปในน้ำ ลงไปในน้ำแค่เข่ายังง่วง ลงไปเรื่อยมันยังง่วง ไปหาหญ้าหาฟางมาจุ่มน้ำพอกบนศีรษะนี้จนหายง่วง พิจารณาธรรมทั้งหลายอยู่นั้นจนได้บรรลุธรรม แน่ะฟังซิ

ความเข้าใจของเราว่าจิตของท่านก้าวขึ้นสู่ภูมิสูงมากแล้ว แต่ความโงกง่วงนั้นมันไม่ไว้หน้าผู้ใด ท่านจึงต้องหาอุบายวิธีด้วยสติปัญญาของท่านเพื่อความพ้นทุกข์อย่างรวดเร็วมาปฏิบัติต่อความง่วงนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นลงในน้ำ แล้วก็ลงไป ๆ มันก็ยังไม่หายง่วง กระทั่งเอาหญ้าเอาฟางจุ่มน้ำแล้วก็มาพอกบนศีรษะพิจารณาจนบรรลุธรรม นี่หมายถึงธรรมขั้นสูง ภูมิจิตสูง ไม่ท้อถอยในความเพียร แต่ธาตุขันธ์มันอยากหลับอยากนอนโงกง่วง ธาตุขันธ์มันเป็นธาตุขันธ์

ฟังซิพระโสณะท่านประกอบความเพียรจนกระทั่งฝ่าเท้าแตกเหมือนกัน เราเล็งไปในแง่แห่งความเพียรกล้าของท่าน สติปัญญาหมุนตัวเป็นเกลียวไปกับความเพียรนั้นตลอดเวลาเลยลืม เพลิดเพลินไปในการเดินจงกรมจนกระทั่งฝ่าเท้าแตก ที่ว่ามันไม่พอดีนั้นก็คือว่าการค้นการพินิจพิจารณานั้นมันฟุ้งเกินไป ที่เรียกอุทธัจจะ เพลินในการพิจารณาเกินไปไม่เข้าพักในเรือนสมาธิ เมื่อเข้าพักพอสมควรแล้วออกพิจารณา พิจารณาพอสมควรแล้วพัก อย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง ไม่ผิด

เหมือนกับคนทำงาน เวลาทำงานก็ตั้งหน้าตั้งตาทำให้จริงให้จัง ให้ได้ผลของงานเป็นลำดับลำดา เมื่ออิดหิวเมื่อยล้าก็มารับประทานอาหารพักผ่อนนอนหลับให้สบาย ไม่เป็นกังวลกับงานการใด ๆ ทั้งสิ้นในขณะนั้น พักให้สบายจนธาตุขันธ์เพียงพอกับความต้องการแล้ว เอ้า ประกอบการงานอีก นี่จิตก็เหมือนกันความคิดความค้นพินิจพิจารณาต่าง ๆ นั้นเป็นงานของจิต ความคิดความปรุงแม้จะเป็นเรื่องของปัญญาก็เป็นงานของจิต จิตต้องมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเหมือนกัน จึงต้องเข้าพักสมาธิคือความสงบ หยุดอากัปกิริยาโดยประการทั้งปวง เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ที่เป็นความสงบอยู่ภายในสมาธินั้น เพียงเท่านั้นก็มีกำลัง

พอถอยออกมาจากนั้นแล้วพิจารณาทางด้านปัญญา มันก็เหมือนมีดที่เราได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว เจ้าของก็ได้พักผ่อนนอนหลับรับประทานอาหารจนมีกำลังแล้ว กิเลสตัวนั้น ปัญญาอันนั้นแลฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับที่ยังไม่ได้พักจิตเป็นไหน ๆ เช่นเดียวกับบุคคลที่ได้พักผ่อนนอนหลับสะดวกสบาย มีดก็ลับหินเรียบร้อยแล้ว ไม้ท่อนนั้นแหละฟันลงไป คนคนนั้นแหละ คนคนเก่าที่กำลังอ่อนเปียกอยู่นั้นแหละ พอมีกำลังแล้วฟันไม้ท่อนนั้นชิ้นนั้นขาดสะบั้นไปได้เลย

นี่ท่านว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ก็คือว่าปัญญาอันมีสมาธิเป็นเครื่องหนุน เหมือนกับแม่ครัวจะปรุงอาหารมีเครื่องครัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะปรุงให้เป็นอาหารประเภทใดก็ได้ ถ้าไม่ปรุงเครื่องครัวก็ทิ้งไว้นั้น เป็นผักก็ทิ้งไว้นั้น น้ำพริกก็ทิ้งไว้นั้น เนื้อก็ทิ้งอยู่นั้น มันก็เป็นเนื้อเป็นผักอยู่อย่างนั้นจะเป็นแกงได้ยังไง นี่สมาธิก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นถ้าไม่ประกอบให้เป็นปัญญา เหมือนกับเครื่องครัวทั้งหลายที่นำมาปรุงอาหาร ถ้าไม่ประกอบให้เป็นอาหารประเภทใดก็ไม่สำเร็จ ก็เป็นเครื่องครัวอยู่นั้นต่อไปก็เน่าเฟะทิ้งไปเลยไม่เกิดประโยชน์

นี่สมาธิก็เหมือนกัน ถ้าใครหลงในสมาธิติดสมาธิก็เหมือนกับเน่าเฟะอยู่ในสมาธิน่ะซิ เป็นที่หลุดพ้นที่ตรงไหนสมาธินั้น เป็นแต่เพียงเครื่องหนุนให้จิตใจมีกำลัง จิตใจเมื่อมีสมาธิแล้วมีความอิ่มตัวไม่หิวโหยกับอารมณ์อะไร ควรแก่การพิจารณาได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว นั่นความหมายว่าอย่างนั้น ไม่ใช่สมาธิเป็นธรรมชาติที่ถอดถอนกิเลส มันครอบกิเลสเอาไว้ หรือรวมตัวกิเลสเข้ามาสู่จิตหรือเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้พินิจพิจารณา

เพราะจิตที่มีความอิ่มตัวด้วยความสงบแล้วย่อมทำงานได้อย่างดี ไม่กลายเป็นสัญญาอารมณ์ไป เหมือนอย่างเรารับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญแล้วทำงานก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำเวลาหิวโหยเป็นยังไงคนเรา ทำอะไรจับ ๆ จด ๆ ความโมโหก็เร็ว จิตใจเมื่อไม่มีสมาธิจะพิจารณาทางด้านปัญญาก็เถลไถลเป็นสัญญาอารมณ์ไปตามโลกตามสงสารไปเสีย เลยหาประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นธรรมสำคัญที่เป็นเครื่องหนุนปัญญา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมาก จิตที่ปัญญาได้อบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ

ปัญญาเข้าไปซักฟอกกิเลสที่มีอยู่ในจิต สมาธิไปซักฟอกได้ยังไง หนุนกันไปเป็นลำดับ เรื่องของสมาธิเป็นสมาธิ เหมือนกับบันไดขั้นหนึ่งขั้นสองขั้นสามหนุนไปเรื่อย ๆ ศีลก็เป็นขั้นของศีล สมาธิเป็นขั้นของสมาธิ ปัญญาเป็นขั้นของปัญญา หนุนเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายก็ปัญญาเป็นผู้ตัดให้ขาดกระจายไปหมด กิเลสทุกประเภทไม่มีสิ่งใดเหลือเลย นั่นคือคุณค่ามหาศาลเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติที่สละเป็นสละตายเพื่อผลอันนี้ ความทุกข์ทั้งมวลนั้นก็กลายเป็นปุ๋ยไปเสียให้จิตใจได้มีความเจริญงอกงามเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเต็มที่เต็มฐาน ถึงพระนิพพานทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เอ้า ท่านปัญญาอธิบายให้หมู่เพื่อนฟัง

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒
(คัดลอกมาบางส่วน)
http://www.luangta.com

ทางปัญญานำออกจากทุกข์

เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกกันว่า “บุญ” กับ สิ่งที่เรียกว่า “กุศล” บ้างไม่มากก็น้อยแล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้วบุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้ามตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น, ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมายเช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง

บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตามแล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ทำบุญเอา น้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออก ไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติอย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจและ เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้

ส่วนกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรังไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่งสิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้วเกิดอีก และมีจุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว ในเมื่อบุญต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้นเป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่าฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญนั้น ยังเป็นความมืดบอดอยู่

แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมี การกระทำทางภายนอกอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหลในคำสองนี้อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไรหรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้เรียกว่า ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการเพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่าให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศลซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทานจนกลายเป็นผลร้ายขึ้น ในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูงพ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่าควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ เพราะว่ากุศลไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร

ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จักความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล แล้วรักษาเพื่ออวดเพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้หรือ ทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัดในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่ง รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวน เท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไป คนละทิศละทาง อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะ แห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสีย ก็ไม่มีทางตกหล่ม จมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไป มากเท่าไรก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่ากุศล แปลว่า ความฉลาดหรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้สมาธิ เพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตรายแก่เจ้าของ ถึงกับต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หายจนตลอดชีวิตก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่า สมาธิเช่นนี้มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุดก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิตให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศลไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ

ครั้นมาถึงปัญญา นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัวปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์อย่างเดียว แม้ยังจะต้องเกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ ไม่วนเวียนจนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าปัญญาในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น

ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเองดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลงเอาบุญ กับ กุศล มาปนเปเป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสนอลเวงเพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ จนเกิดความยุ่งยากสับสนอลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอาของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า “บุญกุศลๆ” เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับการทำบุญกุศลนี้ ให้ลุล่วงไปด้วยความดีจนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้

ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม หรือปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัดรากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ ความต่างกันอย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ดังกล่าวนี้

คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศลและปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็นและจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใดจึงจะชื่อว่าพวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้า และทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกันได้เลย แม้จะเรียกว่า “ทางๆ” เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย

วัดธารน้ำไหล
๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๓
http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/boonkusol.html

ติดสมาธิเป็นสมุทัย

นี่ละพ่อแม่ครูจารย์สอนตรงไหน ๆ นี้แหม ไม่มีผิดเลย คำว่ามันหลงสังขาร ท่านพูดกลาง ๆ นะมันหลงสังขาร สมาธิหมูขึ้นเขียงเหมือนกัน เวลาเรามาจาระไนออกทีหลังนี้ โถ ท่านสอนเราไม่ค่อยจะสอนจะแจ้งไปนะ เอามาทั้งดุ้นให้มันไปจาระไนเอง เช่น ไม้ก็เอามาทั้งท่อนเลยให้มันไปเลื่อยเองพูดง่าย ๆ อะไรก็โยนตูมมาให้เลยให้ไปจาระไนเอง อันนี้ก็เหมือนกัน สมาธิหมูขึ้นเขียง สมาธิทั้งแท่งมันเป็นสมุทัยทั้งแท่ง นั่นน่ะท่านตีออกหมดเลย ไม่ให้เหลือสมาธิให้มันหาใหม่ ครั้นเวลามารู้ทีหลัง อ๋อ ที่ว่าสมาธิที่เป็นสมุทัยได้นั้นน่ะ เพราะความหลงในสมาธิความติดในสมาธิ แน่ะ เอาแล้วนะรู้แล้ว มันติดในสมาธินี้เองเป็นสมุทัย

ท่านไม่ได้ว่าสมาธิเป็นสมุทัย ความหลงในสมาธิต่างหากเป็นสมุทัย มันแยกของมันเองนะ ยอมท่าน ทีนี้ยอมเอง พอเราพิจารณา อ๋อ ท่านพูดอย่างนั้นเอง ความติดในสมาธิต่างหากเป็นสมุทัย ไม่ใช่สมาธิเป็นสมุทัย แต่ท่านเพื่อจะดัดสันดานเราคนเก่ง ท่านก็ฟาดหมด ยกทิ้งเข้าป่าหมดเลย สมาธิให้มันหาใหม่ ทีนี้เรื่องปัญญาก็อีกเหมือนกัน ปัญญานั่นมันหลงสังขาร ๆ เวลาพิจารณาเต็มเหนี่ยว มันย้อนเข้ามาชะมาล้างมาทบมาทวน โอ๋ย เข้ากันได้ปั๊บเลย อ๋อ ที่ท่านว่ามันหลงสังขาร คือใช้ปัญญาก็ใช้สังขาร คือความคิดนี้เอง กิเลสมันก็เป็นความคิดเป็นสมุทัย ธรรมก็เอาความคิดนี้เป็นมรรค คือคิดทางด้านสติปัญญาเรียกว่ามรรค ความคิดทางด้านกิเลสก็เป็นกิเลสเป็นสมุทัยไป ท่านว่ามันหลงสังขาร

สังขารตีไปได้สองอย่างเข้าใจไหมล่ะ ตีไปทางมรรคก็ได้ ตีไปทางสมุทัยก็ได้ นี่ละมันเลยเถิดมันไปทางสมุทัย สมุทัยแทรกแล้ว ๆ ความหมายว่างั้น ปัญญาถูกสมุทัยแทรกแล้ว ท่านว่ามันหลงสังขาร เวลามันพิจารณาเต็มเหนี่ยวมันแยกของมันเอง อ๋อเป็นอย่างงี้ ๆ เราจึงไม่ลืม กับพ่อแม่ครูจารย์นี้ไม่เคยบอกละเอียดลออ คือถ้าไม้ก็ไม้ทั้งท่อนมาโยนตูมให้เลย ๆ ทุกอย่าง แล้วค่อยเจียระไนตามหลัง ๆ เป็นอย่างงั้นนะ

เวลามันเปิดของมันนี้ โถ เปิดจริง ๆ สติปัญญา รู้ทั้งเรื่องละกิเลส รู้ทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กำลังก้าวเดินฟัดกับกิเลสอยู่นั้น สิ่งที่จะรู้มันพาดพิงถึงกันมันก็รู้ของมัน ตัวสำคัญคือกิเลสมันก็หมุนใส่กิเลส ทีนี้สิ่งที่มันกระจายที่จะไม่ให้มันรู้มันเห็นได้ยังไง มันสัมผัสกันอยู่นี้มันรู้อยู่นี้ แต่ไม่ถือเป็นสำคัญยิ่งกว่าการฆ่ากิเลส เพราะกิเลสเป็นตัวข้าศึกโดยตรง มันจะหมุนอยู่นี้ แต่จะอดให้มันรู้ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้นะมันรู้ เป็นแต่เพียงว่าเราไม่เป็นอารมณ์กับมันมากยิ่งกว่าอารมณ์ที่จะฆ่ากิเลส ทีนี้เวลาฟาดอันนี้เต็มเหนี่ยวแล้วมันจะปิดได้ยังไงพูดง่าย ๆ มันจ้าไปหมดแล้วปิดได้ยังไง ตั้งแต่กำลังฆ่ากิเลสอยู่มันยังรู้นี่สิ่งภายนอกที่มันเกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ตัวกิเลสนะสิ่งที่ว่า เช่น ต้นเสานี้ไม่ใช่กิเลส มันก็รู้ว่าต้นเสา แต่มันยังไม่สนใจนะ ต้องฟัดกับตัวที่เป็นข้าศึกอยู่ในหัวใจออกแล้ว อะไร ๆ อยู่ที่ไหนมันก็รู้หมดล่ะซี นั่นมันเป็นอย่างงั้นนะ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
(คัดลอกมาบางส่วน)
http://www.luangta.com

อย่าพากันไปทางสวรรค์น้อยนัก

เมื่อคืนนี้ฝันแปลกๆ ฝันแกมภาวนา มันแฝงกันไปในตัวภาวนาไปมันก็รู้กันไปๆ มีผู้มาติดต่อถามถึงเรื่องคนที่ไปสวรรค์ไปพรหมโลกทำไมจึงน้อยนัก ว่าอย่างนั้น มาถามปัญหาว่าทำไมคนไปสวรรค์ไปพรหมโลกนี้น้อยนัก มาถามเรา อ๋อ นี่มันก็อยู่กับหัวใจคน สำหรับเราล่ะเราย้อนนะ สำหรับหลวงตาล่ะไปไหน ไม่ตอบเลยนะ นั่นเห็นไหมปัญหามันมา นั่งภาวนาอยู่.เข้ามาถามทำไมคนจึงไปสวรรค์น้อยนัก พอว่าอย่างนั้นแล้วอาตมาล่ะจะไปทางไหน เลยไม่ตอบ ติดปัญหาเรากลับคืนไป นั่นละเป็นอย่างนั้น แปลกๆ อยู่ เขาถามว่าเราจะไปไหนล่ะ ไม่เห็นตอบเลย ไม่กล้าตอบ ขบขันดี

ให้พี่น้องทั้งหลายหมุนใจเข้าสู่อรรถสู่ธรรมนะ ใจถ้าเข้าสู่ธรรมแล้วอ่อนนิ่มนวลนะ ถ้าออกไปทางกิเลสนี้เป็นฟืนเป็นไฟ แม้ที่สุดในครอบครัวเดียวกันก็ทะเลาะกัน ถ้าต่างคนต่างมีธรรมในครอบครัวก็เย็น ออกไปสู่สังคมหน้าที่การงานก็เย็น พากันจำเอาไว้ ธรรมเข้าตรงไหนเย็นตรงนั้นละ ถ้ากิเลสเข้าตรงไหนเป็นฟืนเป็นไฟไป ให้ระวัง อย่าให้กิเลสเข้ามาสู่ใจ มันจะเป็นฟืนเป็นไฟ ให้ธรรมเข้าสู่ใจ ธรรมเข้าสู่ใจแล้วเย็นสบายเลย เป็นอย่างนั้นละธรรมเข้าสู่ใจ

อย่างเขามาถามเราทำไมคนจึงไปสวรรค์น้อยนักล่ะ เขามาถามเรา ทำไมคนไปสวรรค์น้อยนัก แล้วทางนี้ถามย้อนว่าแล้วอาตมาล่ะไปทางไหน เลยไม่กล้าตอบนะ เขาไม่กล้าตอบเลย เพราะมันย้อนกัน ถ้าตอบมาอีกจะเอาอีก มันจะไปอีกอยู่นะ ขบขันดี คำฝันคำภาวนามันไปด้วยกัน เขาถามเรานี้ก็คือว่าถามในจุดรวมเพื่อจะได้เตือนบรรดาพี่น้องทั้งหลายอย่าพากันไปทางสวรรค์น้อยนัก ให้ไปมากกว่านั้น นี่เขามาถาม ทำไมคนไปสวรรค์น้อยนัก แต่คนไหลลงทางนรกทางต่ำมีมากมายเขาว่าอย่างนั้น แล้วทางนี้ก็เลยย้อนถามแล้วอาตมาล่ะจะไปทางไหน เขาเลยไม่กล้าตอบนะ นี่ละมันแปลกๆ อย่างนี้ละ เราจะไปทางไหนมันไม่กล้าตอบ มันอาจไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้มันอาจไม่รู้ก็ได้ เข้าใจไหมล่ะ เราอาจรู้กว่ามันที่มันมาถามเราก็ได้ ขบขันดีนะ เอาละจะให้พร

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒
อย่าพากันไปทางสวรรค์น้อยนัก
(คัดลอกมาบางส่วน)
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=5385&CatID=2

จิตเหนือโลก

นี่ละจิตเหนือโลกแล้ว โลกคืออะไรคือกิเลส กิเลสเท่านั้นที่มันเหนือโลกอยู่ทุกวันนี้ นอกจากกิเลสไม่มีอะไรเหนือโลก โลกถึงวิ่งไปตามกิเลสจึงร้อนกันทุกหย่อมหญ้าซิ ทีนี้เมื่อธรรมเหนือกิเลสแล้วกิเลสหมอบ เมื่อกิเลสหมอบแล้วธรรมก็ออกอย่างสง่าผ่าเผย ไม่สะทกสะท้านกับสิ่งใด พากันจำเอาไว้นะ นี่เราจวนจะตายพูดให้ท่านทั้งหลายฟังเสีย สิ่งที่เราหาตั้งแต่วันบวชมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เราสมมักสมหมายแล้ว สมมักสมหมายไม่ได้มีที่ต้องติว่าบกพร่องตรงไหนบ้างไม่มี สมบูรณ์แบบทุกอย่างจึงสอนโลกได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่สะท้านหวั่นไหวว่าเรายังขาดอะไร ไม่มีขาด หัวใจเต็มไปด้วยธรรม ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน พูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแหละ

เทศน์อบรมพระสงฆ์และฆราวาส
เมื่อบ่ายวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
(คัดลอกมาบางส่วน)
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=6152&CatID=2

พระพุทธเจ้าไม่พาเอารถยนต์ไปตรัสรู้

อย่าเอาวัตถุมาอวดกัน เอารถยนต์รถไฟอะไรมาอวดกันในวัดนี้ พระพุทธเจ้าไม่พาเอารถยนต์ไปตรัสรู้ พระสาวกทั้งหลายเอารถยนต์ไปตรัสรู้ไม่เคยมี มีแต่ผ้าไตรจีวรไปเลย นี้เอานี้ไปอวด มันกำลังนะนี่ เดี๋ยวเอารถมาแข่งกันในวัดนี้นะ ในวัดป่าบ้านตาดเอารถมาแข่ง เราก็บอกว่ารถคันที่ของเราเอามานี้ เขามาถวายบอกเราไม่เอา เราไม่ได้บวชมาหารถ บอกเด็ดขาดเลย แล้วมันก็ไม่พ้น เขาเป็นเจ้าของแล้วก็เอารถมาไว้ให้เพื่อความสะดวก อย่างนั้นละ ที่เรานั่งเหล่านี้รถเขาในกรุงเทพไม่ใช่รถเรา พากันจำเอานะ เราไม่ได้เป็นบ้ากับรถ ใช้มันไปอย่างนั้นแหละ เมื่อมาด้วยความเป็นธรรมแล้วเราก็รับ ความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนี้เป็นอีกแง่หนึ่งนะ ด้วยความเป็นธรรม เอ้า ก็รับไว้ด้วยความเป็นธรรม แต่ไม่ลืมตัวตลอด พากันจำเอานะ

อยู่ด้วยกันอย่าหาแต่ยกโทษยกกรณ์กันนะพวกนี้ จะยกโทษกิเลสที่มันตัวเป็นข้าศึกมันฟุ้งๆ อยู่ภายในใจไม่ดู ดูตั้งแต่มันเอาไฟไปเผาคนนั้นเผาคนนี้ มันเลอะเทอะมาก มาภาวนายังไงไปดูแต่กิเลสคนอื่น แล้วเอาไฟไปเผากันมีอย่างเหรอพวกนี้ นี้อนุโลมเต็มที่แล้ว บทเวลามันแสนทน อดทนไม่ไหวแล้วดีดทีเดียวนะ คนเต็มวัดพระเต็มวัดไม่มีความหมายเราพูดจริงๆ ชี้นิ้วเลยไม่เหมือนใครนะ เราได้พิจารณาเต็มที่เหนี่ยวแล้วหาทางออก ออกได้ทางเดียวเท่านี้ผึงเลย ไปเลยเท่านั้นไม่ยาก ให้พากันจำเอานะ ทำอยู่อย่างนี้เราทนแสนทนแล้วนะ เหมือนขอนซุง อะไรก็เฉยๆ แต่หัวใจมันไม่เฉยละซิ มันหมุนของมันอยู่ตลอดเวลา เอาละ ให้พรหรือยัง

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
(คัดลอกมาบางส่วน)
http://www.luangta.com

ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

* ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ
ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม
คืออาศัยการกำหนดพิจารณาธรรม
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีปรากฏอยู่
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่
ได้ยินอยู่ สัมผัสอยู่ ปรากฏอยู่ จิตใจเล่าก็มีอยู่
ความนึกคิด รู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดี และร้ายก็มีอยู่
ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอก ภายใน ก็มีอยู่
ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือ
ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ
เช่น ใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงมา
พินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายมีอยู่เสมอแล้ว
ชื่อว่า ได้ฟังธรรมทุกเมื่อแล

* ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว
แต่หารักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน
จะปรารถนาจนวันตายรวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด
วิมุตติธรรมก็ฉันนั้นนั่นแล
มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้
คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูก
หรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนวันตาย
จะประสพวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

รวมคำสอนของพระเถระรูปสำคัญ
http://www.khonnaruk.com

สมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ พิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

* การบำเพ็ยจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว
ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว
เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์
ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ
เป็นสมาธิผิด ไม่พ้นทุกข์
ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์

* การพิจารณาอย่างใด้จิตหนีออกนอกกายนี้
จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ ก็อย่าได้ท้อถอย
เพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ล่ะ
จะพิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ
หรือให้เห็นเป็นธาตุก็ได้
หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์
หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ได้ทั้งนั้น
แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริงๆ
ตลอดอิริยาบถทั้งสี่
แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วจะหยุดเสียเมื่อไร
จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ
เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว
สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก

รวมคำสอนของพระเถระรูปสำคัญ
http://www.khonnaruk.com

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

* สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย

รวมคำสอนของพระเถระรูปสำคัญ
http://www.khonnaruk.com

ธรรมเทศนาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจาอยูหัว และสมเด็จพระนางเจาพระบรมราชินีนาถ โดยพุทธทาสภิกขุ

ขอถวายพระพร เจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแดสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองคสมเด็จพระปรมินทรธรรมิก มหาราชาธิราชเจาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนา ในธรรมวิจักขณกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปญญาบารมี, ถารับพระราชทานถวายวิสัชนาไป มิไดตองตามโวหารอรรถาธิบาย ในพระธรรมเทศนาบทใดบทหนึ่งก็ดี ขอเดชะพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ และพระขันติคุณ ไดทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอภัยแกอาตมะผูมีสติปญญานอย ขอถวายพระพร.

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ ฯ
โย ธัมมัง ปสสะติ, โส มัง ปสสะติ โย ธัมมัง นะ ปสสะติ, โส มัง นะ ปสสะตี-ติ ธัมโม
สักกัจจัง โสตัพโพติ ฯ

ณ บัดนี้ จักไดรับพระราชทานถวายวิสัชนา ในธรรมวิจักขณกถา ดำเนินความตามวาระพระบาลี ดังที่ไดยกขึ้นไวเป็นนิกเขปบทเบื้องตนวา โย ธัมมัง ปสสะติ โส มัง สสะติ ฯลฯ เป็นอาทิ ซึ่งมีใจความวา “ผู้ใดเห็นธรรม ผูนั้นเห็นเราตถาคต ; ผูใดไมเห็นธรรม ผู้นั้นไมเห็นเราตถาคต” ดังนี้เป็นตน เพื่อเป็นธรรมเทศนา เนื่องในโอกาสพระราชกุศลวิสาขบูชา ตามพระราชประเพณี

ก็แล ในการกุศลวิสาขบูชานี้ พุทธบริษัททั้งหลาย ยอมถวายการบูชาอันสูงสุดดวยกาย วาจา ใจ แดสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจา. การบูชาดวยกาย ก็คือการเดินเวียนประทักษิณเป็นตน, การบูชาดวยใจ ก็คือการนอมระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระผูมีพระภาคเจาพระองคนั้น อยูตลอดเวลาแหงการกระทำวิสาขบูชา. ก็แตวาการกระทำทั้งสามประการนี้ จักสำเร็จประโยชนเต็มที่ได ก็ดวยการเห็นธรรมตามที่พระพุทธองคไดตรัสไววา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ดังที่กลาวแลวขางตนนั้นเอง. ดังนั้น จะไดถวายวิสัชนาโดยพิสดาร ในขอความอันเกี่ยวกับคำวา “ธรรม” ในที่นี้.

จากพุทธภาษิตนั้น ยอมแสดงใหเห็นไดโดยประจักษอยู่แลววา “พระพุทธองคจริงนั้น คือสิ่งที่เรียกวา ธรรม” หรือ “ธรรม นั่นแหละ คือพระพุทธองค องคจริง” ,ดวยเหตุนั้นเอง พระพุทธองคจึงไดตรัสวา ผู้ใดไมเห็นธรรม ผูนั้นไมเห็นเราตถาคต ; ตอเมื่อเห็นธรรม จึงชื่อวาเห็นตถาคต. ก็แล ในสมัยที่พระพุทธองคยังทรงพระชนมชีพอยูนั้น พระสรีระรางกายของพระองคได้ต้องอยูในฐานะเป็นตัวแทนแหงธรรม สำหรับรับเครื่องสักการบูชา แหงสัตวโลกทั้งหลายเป็นตน ครั้นพระองคเสด็จดับขันธปรินิพพานแลว ก็มีพระสารีริกธาตุ คือธาตุอันเนื่องกับพระสรีระนั้น ไดเหลืออยู่เป็นตัวแทนแหงธรรมสืบไปตลอดกาลนาน ดังเชนพระสารีริกธาตุแหงนี้ ที่พุทธบริษัททั้งหลาย มีสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเป็นประธาน ไดกระทำสักการบูชา เสร็จสิ้นไปเมื่อสักครูนี้. ขอนี้ สรุปความไดวา พระพุทธองค พระองคจริงนั้น ยังอยูตลอดกาล และเป็นสิ่งเดียวกันเสมอไป , ไดแกสิ่งที่เรียกวา “ธรรม” สวนนิมิต หรือตัวแทนแหงธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไปไดตามควรแกสถานะ, คือจะเป็นพระสรีระของพระองคโดยตรงก็ได, หรือจะเป็นพระสารีริกธาตุก็ได, หรือจะเป็นอุทเทสิกเจดียมีพระพุทธรูปเป็นตน ก็ได, แตทั้งหมดนั้น ลวนแตมีความหมายอันสำคัญ สรุปรวมอยู่ที่สิ่งที่เรียกวา “ธรรม” นั่นเอง.

คำวา “ธรรม” คำนี้ เป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุดในโลก เป็นคำที่แปลเป็นภาษาอื่นไมได ไดมีผูพยายามแปลคำคำนี้เป็นภาษาตางประเทศ เชน ภาษาอังกฤษเป็นตน ออกไปตั้ง ๒๐–๓๐ คำ ก็ยังไมไดความหมายครบ หรือตรงตามความหมายของภาษาบาลี หรือภาษาของพุทธศาสนา . สวนประเทศไทยเรานี้โชคดี ที่ไดใชคำคำนี้ เสียเลย โดยไมตองแปลเป็นภาษาไทย, เราจึงไดรับความสะดวก ไมยุงยากลำบากเหมือนพวกที่พยายามจะแปลคำคำนี้เป็นภาษาของตนๆ

คำวา “ธรรม” เป็นคำสั้นๆ เพียงพยางคเดียว แตมีความหมายกวางขวางลึกซึ้ง นามหัศจรรยอยางยิ่ง เพียงไร เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาดูอยางยิ่ง ดังตอไปนี้. ในภาษาบาลี หรือภาษาพุทธศาสนาก็ตาม คำวา “ธรรม” นั้น ใชหมายถึงสิ่งทุกสิ่ง ไมยกเวนสิ่งใดเลย, ไมวาจะเป็นสิ่งดี สิ่งชั่ว หรือสิ่งไมดีไมชั่ว ก็รวมอยู่ในคำวา “ธรรม” ทั้งหมด ดังพระบาลีวา กุสลา ธัมมา, อกุสลา ธัมมา, อัพยากะตา ธัมมา, เป็นอาทิ.

ลักษณะเชนที่กลาวนี้ของคำวา “ธรรม” ยอมเป็นอยางเดียวกันกับคำวา “พระเป็นเจา” แหงศาสนาที่มีพระเป็นเจา เชนศาสนาคริสเตียนเป็นตน. คำคำนั้นเขาใหหมายความวา สิ่งทุกสิ่ง รวมอยู่ในพระเป็นเจาเพียงสิ่งเดียว. ดังนั้นแมในวงพุทธศาสนาเรา ถาจะกลาวกันอยางใหมีพระเป็นเจากะเขาบางแลว เราก็มีสิ่งที่เรียกวา “ธรรม” นี้เอง ที่ตั้งอยูในฐานะเป็น “พระเป็นเจา” อยางครบถวนสมบูรณ. ทั้งนี้ก็เพราะวาสิ่งที่เรียกวา “ธรรม” ในพุทธศาสนานั้นหมายถึงสิ่งทุกสิ่งจริงๆ. เพื่อใหเห็นไดอยางแจงชัดและโดยงาย วาสิ่งที่เรียกวา “ธรรม” หมายถึงสิ่งทุกสิ่ง อยางไรนั้น เราอาจจะทำการจำแนกไดวา “ธรรม” หมายถึงสิ่งเหลานี้ คือ

(๑) ธรรมชาติทุกอยางทุกชนิด ลวนแตเรียกในภาษาบาลีวา “ธรรม” หรือธรรมในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาติ นั่นเอง.
(๒) กฎของธรรมชาติ ซึ่งมีประจำอยูในธรรมชาติเหลานั้น ก็เรียกในภาษาบาลีวา “ธรรม” อีกเหมือนกัน, นี้คือ ธรรม ในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ, และมีความหมายเทากันกับสิ่งที่เรียกวา “พระเป็นเจา” ในศาสนาที่ถือวามีพระเป็นเจาอยูอยางเต็มที่แลว.
(๓) หนาที่ตางๆ ที่มนุษยจะตองประพฤติหรือกระทำ ในทางโลก หรือทางธรรมก็ตาม, นี้ก็เรียกโดยภาษาบาลีวา ธรรม อีกเหมือนกัน. มนุษยตองประพฤติใหถูกใหตรงตามกฎของธรรมชาติ จึงจะไมเกิดความทุกขขึ้นมา. มนุษยสวนมากสมัยนี้หลงใหลในทางวัตถุมากเกินไป ไมสนใจสิ่งที่เป็น ความสุขทางนามธรรม ขอนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎธรรมชาติ จึงเกิดการยุงยากนานาประการที่เรียกกันวา “วิกฤติกาล” ขึ้นในโลก จนแกกันไมหวาดไมไหว. มนุษยสมัยนี้ ตองการสิ่งประเลาประโลมใจ แตในทางวัตถุ, ไมตองการธรรมเป็นเครื่องประเลาประโลมใจ เหมือนคนในครั้งพุทธกาล. และยิ่งไปกวานั้นอีกก็คือ มนุษยสมัยนี้ มีการกักตุนเอาไวเป็นของตัว หรือพวกของตัว มากเกินไป จนผิดกฎของธรรมชาติ, จึงไดเกิดลัทธิอันไมพึงปรารถนาขึ้นมาในโลกอยางที่ไมเคยเกิดมาแตกอน ดังนี้เป็นตน. ขอนี้ เป็นตัวอยางของการที่มนุษย ประพฤติหนาที่ของตน อยางไมสมคลอยกันกับกฎของธรรมชาติ, หรือเรียกอีกอยางหนึ่งก็คือ ประพฤติผิดตอธรรมฝายที่จะเป็นไปเพื่อดับทุกข. แตไดเป็นไปในฝายที่จะสรางความทุกขขึ้นมาในโลก อยางไมมีที่ส้ินสุด. นี้อยางหน่ึ่ง.
(๔) ผลของการทำหนาที่ หรือการปฏิบัติ. ที่เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ เชนความทุกข ความสุข หรือการบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือแมที่สุดแตความเป็นพระพุทธเจา ของพระพุทธองคก็ดี ซึ่งก็ลวนแตเป็นผลของการทำหนาที่ หรือการปฏิบัติไปทั้งนั้น, ทั้งหมดนี้ ทุกชนิดทุกอยาง ก็ลวนแตเรียกโดยภาษาบาลีวา “ธรรม” อีกเหมือนกัน. ทั้งหมดนี้ คือความหมายอันกวางขวางของคำวา “ธรรม” ซึ่งมีอยูเป็นประเภทใหญๆ ๔ ประเภท.

สรุปแลวคำวา “ธรรม” เพียงพยางคเดียว หมายความไดถึง ๔ อยาง คือ หมายถึง ตัวธรรมชาติก็ได, หมายถึงกฎของธรรมชาติก็ได, หมายถึงหนาที่ ที่มนุษยตองทำใหถูกตามกฎของธรรมชาติก็ได, และหมายถึงผลตางๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหนาที่นั้นๆ ก็ได. นับวาเป็นคำพูดคำหนึ่ง ที่ประหลาดที่สุดในโลก, และไมอาจจะแปลเป็นภาษาอื่นได ดวยคำเพียงคำเดียว ดังที่กลาวแลวขางตน.เมื่อสิ่งที่เรียกวาธรรม มีมากมายมหาศาลอยางนี้ ปญหาจะเกิดขึ้นมาวา คนเราจะรูธรรม หรือเห็นธรรม ไดทั้งหมดอยางไรกัน ? เกี่ยวกับขอนี้ พระพุทธองคไดตรัสไวเองแลววา เราอาจจะรู้ไดทั้งหมด และปฏิบัติไดทั้งหมด ในสวนที่จำเป็นแกมนุษยหรือเทาที่มนุษยจะตองเขาเกี่ยวของดวย. สวนที่เหลือนอกนั้นไมตองสนใจเลยก็ได, ขอนี้ พระองคไดตรัสไววา ธรรมที่ตถาคตไดตรัสรูทั้งหมดนั้น มีปริมาณเทากับใบไมหมดทั้งปา , สวนธรรมที่นำมาสอนคนทั่วไปนั้น มีปริมาณเทากับใบไมกำมือเดียว. ขอนี้หมายความวา ทรงนำมาสอนเทาที่จำเป็นแกการดับทุกขโดยตรง เทานั้น. ธรรมที่ทรงนำมาสอนนั้น แมจะกลาวกันวา มีถึง ๘๔๐๐๐ ขอ หรือ ๘๔๐๐๐ ธรรมขันธก็ตาม ก็ยังสรุปลงไดในคำพูดเป็นประโยคส้ั้นๆ เพียงประโยคเดียววา “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ซึ่งแปลวา “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไมควรสำคัญ ม่ันหมาย วา ตัวตน หรือของตน” ดังนี้. การรูขอนี้ คือการรู้ธรรมทั้งหมด, การปฏิบัติขอนี้ คือการปฏิบัติธรรมทั้งหมด, ในพระพุทธศาสนา, และเป็นการมีชัยชนะเหนือความทุกขทั้งหมดได เพราะเหตุนั้น, ไมวาจะเป็นทุกขสวนบุคคล หรือเป็นทุกขของโลกโดยสวนรวม ก็ตาม. ถาผู้ใดเห็นธรรมสวนนี้โดยประจักษ ผู้นั้นชื่อวา เป็นผู้เห็นองคพระตถาคตพระองคจริงโดยแทจริง.

การเห็นธรรม ในที่นี้ เมื่อกลาวโดยใจความ หมายถึงการมี ธรรมที่เป็นความดับทุกขอยูแลวในตน และเห็นประจักษอยู่แลวในใจตน วาความดับทุกขนั้นเป็นอยางไร. นี่แหละคือหนทางออกทางเดียวของพวกเรา ซึ่งเป็นมนุษยสมัยปจจุบันนี้ ที่อาจจะเห็นพระพุทธองคพระองคจริงได ทั้งที่เขากลาวกันวา พระองคเสด็จปรินิพพานไปแลวตั้งแตสองพันกวาปี ; แตเราอาจจะเห็นพระองคได โดยการนำมาใสไวในใจของเราเสียเลย ; นับวาเป็นที่นาอัศจรรย ยิ่งขึ้นไปอีก.

ขอที่ควรทราบ ยังมีสืบไปอีกวา สิ่งที่เรียกวา “ธรรม” นั้น นอกจากจะเป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุด โดยแปลเป็นภาษาอื่นไมได และหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไมยกเวนอะไรเลยดังนี้แลว ยังเป็นของประหลาดในขอที่วา เป็นสิ่งที่มีอยูกอนสิ่งทั้งปวง เชนเดียวกับสิ่งที่เรียกวา “พระเป็นเจา” ในศาสนาของพวกที่มีพระเป็นเจา นั้นเหมือนกัน.

ขอนี้ปรากฏอยู่ในบาลี ขุททกนิกายชาดก วา “ธัมโม หะเว ปาตุระโหสิ ปุพเพ” ซึ่งแปลวา “ธรรมไดปรากฏอยูกอนแลว แล” ดังนี้เป็นตน. “ธรรม” ในลักษณะเชนนี้ ในทางพุทธศาสนา หมายถึงกฎของธรรมชาติ หรืออำนาจอันลึกลับสูงสุดเหนือสิ่งใด ที่บันดาลใหสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตางๆ นานา อยู่ฝ่ายหนึ่งหรือประเภทหนึ่ง, และอีกประการหนึ่ง ซึ่งตรงกันขาม คือไมมีการเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง อันไดแกตัวกฎของธรรมชาติ หรืออำนาจอันนั้นนั่นเอง ดังนี้. ถาผูใด ไดรู้ ไดเห็น หรือได้เขาถึงธรรมประเภทหลังนี้แลวก็จะไมหลงใหลในธรรมประเภทที่เปลี่ยนแปลง อีกตอไป. นับวาเป็นสิ่งที่นาประหลาดมหัศจรรย อีกอยางหนึ่ง.

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เรียกวา ธรรม นี้ ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดกาล ยิ่งกวาดวงอาทิตย ดวงจันทร เป็นตนเสียอีก . สมมติวา ถาเอาอายุของดวงอาทิตยเป็นตน ไปเปรียบกับอายุของธรรมแลว ก็จะมีลักษณะเทากันกับการเอาอายุของยุงตัวหนึ่ง ไปเปรียบกับอายุของอาทิตย อีกนั่นเอง, ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นาขบขัน และนาคิด อยางไมมีอะไรเหมือน. ทั้งนี้ก็เพราะวา ธรรม นั้นก็คือสิ่งที่เป็นความสมดุลย หรือเหมาะสมที่จะคงอยูตลอดกาลนั่นเอง.

กฎทางวิทยาศาสตรที่วา “สิ่งใดเหมาะสมที่จะอยู สิ่งนั้นจะคงอยู่หรือเหลืออยู ; สิ่งใดไมเหมาะสมที่จะอยู่ คือเขากันไมไดกับสิ่งแวดลอมเป็นตน แลว สิ่งนั้นจะสูญไป” ดังนี้นั้น ก็คือ กฎของธรรม โดยตรง , และ ธรรมนั่นแหละเป็นเพียงสิ่งเดียว ที่จะยังคงอยูตลอดกาล อยางไมมีที่สิ้นสุดจริงๆ . ดังนั้น สิ่งที่เรียกวา “ธรรม” นั้น จึงต้องอยูในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด จนกระทั่งแมพระพุทธเจาทั้งหลายทุกพระองค ก็ลวนแตทรงเคารพธรรม, มีธรรมเป็นที่เคารพ, ไมอาจจะมีสิ่งอื่นเป็นที่เคารพ นอกจากธรรมเพียงสิ่งเดียว ทั้งที่พระพุทธเจาเอง เป็นผูที่ไดตรัสรู้ธรรม หรือทำใหธรรมนั้น ปรากฏแกสายตาของสัตวทั้งปวง ซึ่งไมอาจจะมองเห็นไดดวยสติปญญาของตนเอง. ขอความนี้ เป็นสิ่งที่พระองคทรงรำพึง และตรัสไวเองในคราวที่ตรัสรูแลวใหมๆ ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นวา พระพุทธเจาจะทรงอยูโดยมีอะไร เป็นที่เคารพหรือไม ดังนี้.

ขอความทั้งหมด ตามที่กลาวมานี้ ถาจะสรุปความใหสั้นที่สุด ก็จะสรุปไดความวา เนื้อตัวจิตใจเราทั้งหมด ก็คือธรรม, กฎธรรมชาติที่ควบคุมเราอยู ก็คือธรรม, หนาที่ที่เราจะตองกระทำใหถูกตองตามกฎธรรมชาตินั้นๆ ก็คือธรรม, และในที่สุด ผลตาง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแกเรา ตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลในขั้นสุดทายของเรา ก็คือธรรม อีกนั่นเอง. ดังนั้นพระพุทธองคจึงตรัสวา ธัมมทีปา ธัมมสะระณา, ซึ่งแปลวาทานทั้งหลาย จงมีธรรมเป็นดวงประทีป, จงมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เถิด ดังนี้, และพรอมกันนั้น ก็ไดตรัสวา “ผูใดเห็นธรรมผูนั้นเห็นเราตถาคต ; ผูใดไมเห็นธรรม ผู้นั้นไมเห็นเราตถาคต แมวาผูนั้นจะจับมุมจีวรของเราถืออยูแลว ก็ตาม” ดังที่กลาวแลวขางต้น.

บัดนี้ เป็นการกลาวไดวา เป็นโชคดีมหาศาล เป็นบุญกุศลมหาศาล ของประชาชนชาวไทย ที่ไดมี มหาอัตตา หรือ ตนหลวง ที่เป็นดวงวิญญาณของประเทศชาติ ที่เป็นธรรมิกราชา คือเป็นตนหลวงที่ประกอบดวยธรรม, เป็นตนหลวงที่ทรงสรรเสริญธรรม, เป็นตนหลวงที่ทรงชักชวนประชาชนในธรรม, เป็นตนหลวงที่ทรงโปรดปรานผูที่ตั้งอยู่ในธรรม, และทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพื่อความมีอยู่แหงธรรมในประเทศไทยและตลอดโลกทั้งปวง, ดังมีพระราชภารกิจตางๆ ปรากฏเป็นประจักษ์พยานอยู แกสายตาของประชาชนชาวไทยทั้งมวลแลว.

สวนที่ควรนับวาเป็นกรณีพิเศษในวันนี้นั้น คือสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร ไดเสด็จมาถึงเมืองไชยานี้ เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา, ในที่เฉพาะหนาแหงพระธาตุเจดีย อันเป็นที่ประดิษฐานแหงพระบรมสารีริกธาตุนี้ ยอมเป็นการกระทำที่สงเสริมความมีอยูแหงธรรมในจิตใจของประชาชน ใหยิ่งๆ ขึ้นไป ; หรืออยางนอย ก็จะยังคงมีอยูอยางเพียงพอแกการที่จะคุ้มครองประชาชนสวนนี้ ใหตั้งอยูในธรรม, ใหมีความราเริงกลาหาญในการประพฤติธรรมสืบตอไปตลอดกาลนาน.

แมวาเมืองไชยานี้ จะเป็นเมืองโบราณมาแลวแตสมัยศรีวิชัย เคยรุ่งเรืองดวยพุทธศาสนามาแลวอยางยิ่ง ถึงกับแมแตบทกลอมลูกของชาวบาน ก็มีการกลาวถึงนิพพาน มาแลวก็ตาม, แตบัดนี้ ตกอยูในสภาพที่ตองการสิ่งกระตุ้นเตือนใจในทางธรรม เป็นอยางยิ่ง . ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินมาจนถึงที่นี่ ในลักษณะอยางนี้ ในสถานะการณอยางนี้ ยอมเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และสวัสดีมงคล แกประชาชนในถิ่นนี้ อยางมหาศาล เหลือที่จะเปรียบปาน.ขอใหสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร จงไดทรงทราบถึงความจริงขอนี้ โดยประจักษ, แลวทรงสำราญพระราชหฤทัยตามวิสัยแหงธรรมราชา ผูทรงชักชวนประชาชนทั้งหลาย ในทางแหงธรรม จงทุกประการเถิด.

ธรรมเทศนา สมควรแกเวลา, เอวัง ก็มี ดวยประการฉะนี้. ขอถวายพระพร.

คัดลอกมาบางส่วนจากหนังสือ ๑๐๐ ปี พุทธทาส เล่ม ๑
ชีวิตและการทำงาน
ธรรมวิจักขณกถา
ธรรมเทศนาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจาอยูหัว
และสมเด็จพระนางเจาพระบรมราชินีนาถ
ในโอกาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วิสาขบูชา
ณ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ไชยา
เมื่อเพ็ญเดือนหก ที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๑๐
โดยพุทธทาสภิกขุ