Monthly Archives: มิถุนายน 2013

พุทธคุณ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ว่าด้วยพุทธคุณ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ตถาคตนั้นทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลัง ในสกุลใดสกุลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว ย่อมตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่เขาขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมาเขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๔๓/๔๓๐ ข้อที่ ๔๕๔

ธรรมคุณ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ว่าด้วยธรรมคุณ
[๔๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องต้นว่าในอดีตกาล เราได้มีแล้ว หรือว่า ไม่ได้มีแล้ว เราได้เป็นอะไรแล้ว หรือว่าเราได้เป็นแล้วอย่างไร หรือเราได้เป็นอะไรแล้ว จึงเป็นอะไร ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องปลายว่า ในอนาคตกาล เราจักมี หรือว่าจักไม่มี เราจักเป็นอะไร หรือว่าเราจักเป็นอย่างไร หรือเราจักเป็นอะไรแล้ว จึงจักเป็นอะไร ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ปรารภถึงปัจจุบันกาล ในบัดนี้ ยังสงสัยขันธ์เป็นภายในว่า เราย่อมมี หรือว่าเราย่อมไม่มี เราย่อมเป็นอะไร หรือว่าเราย่อมเป็นอย่างไร สัตว์นี้มาแล้วจากไหน สัตว์นั้นจักไป ณ ที่ไหน ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระศาสดาเป็นครูของพวกเรา พวกเราต้องกล่าวอย่างนี้ ด้วยความเคารพต่อพระศาสดาเท่านั้น ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงกล่าวว่า พระสมณะตรัสอย่างนี้พระสมณะทั้งหลายและพวกเรา ย่อมไม่กล่าวอย่างนี้ ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่น ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงเชื่อถือสมาทานวัตรความตื่นเพราะทิฏฐิ และทิฏฐาทิมงคล ของพวกสมณะและพราหมณ์เป็นอันมาก ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่พวกเธอรู้เห็นทราบเองแล้ว พวกเธอพึงกล่าวถึงสิ่งนั้นมิใช่หรือ?
ภ. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกละ พวกเธออันเรานำเข้าไปแล้ว ด้วยธรรมนี้อันเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน คำที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๔๓/๔๓๐ ข้อที่ ๔๕๔

สิ่งใดที่หมู่สัตว์อื่นกล่าวแล้วโดยความเป็นทุกข์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นสุข

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒

[๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เมื่อราตรีเพ็ญมีพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งอยู่ในอัพโภกาส ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่ง จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า จะมีประโยชน์อะไร เพื่อการฟังกุศลธรรมอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ แก่ท่านทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงตอบเขาอย่างนี้ว่า มีประโยชน์เพื่อรู้ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างตามความเป็นจริง ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า ท่านทั้งหลายกล่าวอะไรว่าเป็นธรรม ๒อย่าง พึงตอบเขาอย่างนี้ว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยนี้ข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

[๓๙๑] ชนเหล่าใดไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือ โดยประการทั้งปวง และไม่รู้มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้นเสื่อมแล้วจากเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้ ส่วนชนเหล่าใดรู้ทุกข์เหตุเกิดแห่งทุกข์ รรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง และรู้มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ชนเหล่านั้น ถึงพร้อมแล้วด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เป็นผู้ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา ฯ

[๓๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบเนืองๆ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่าพึงมี ถ้าเขาพึงถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปธิปัจจัย นี้เป็นข้อ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปธิทั้งหลายนี้เองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเป็นอันมากในโลก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดแลไม่รู้ย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นผู้เขลาย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ผู้พิจารณาเห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์เนืองๆ ทราบชัดอยู่ ไม่พึงทำอุปธิ ฯ

[๓๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม ควรตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชา นั่นเองดับไปเพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าอวิชชานั้นเอง เป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติมรณะและสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ อวิชชา คือความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วย วิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ ฯ

[๓๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะสังขารทั้งหลายนั่นเองดับไปเพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะสังขารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดภิกษุรู้โทษนี้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย ทุกข์จึงเกิดขึ้นเพราะความสงบแห่งสังขารทั้งมวล สัญญาทั้งหลายจึงดับความสิ้นไปแห่งทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุรู้ความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้โดยถ่องแท้ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบผู้ถึงเวทย์ รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลสเป็นเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ ฯ

[๓๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เพราะวิญญาณดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้หายหิวดับรอบแล้วเพราะความเข้าไปสงบแห่งวิญญาณ ฯ

[๓๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ของชนทั้งหลายผู้อันผัสสะครอบงำแล้ว ผู้แล่นไปตามกระแสร์แห่งภวตัณหา ผู้ดำเนินไปแล้วสู่หนทางผิด ย่อมอยู่ห่างไกล ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้ผัสสะด้วยปัญญา ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบชนแม้เหล่านั้น เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้วเพราะการดับไปแห่งผัสสะ ฯ

[๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะเวทนาเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะเวทนานั่นเองดับเพราสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ภิกษุรู้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนากับอทุกขมสุขเวทนา ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกว่าเวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีความสาปสูญไปเป็นธรรมดามีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมไปอยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้ง ความเป็นทุกข์ในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั้นเองทุกข์จึงไม่เกิด ฯ

[๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะตัณหาเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหานั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นผู้มีตัณหาปราศจากไปแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ

[๓๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปาทานนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ภพย่อมมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์ ต้องตาย นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตทั้งหลายรู้แล้วโดยชอบ รู้ยิ่งความสิ้นไปแห่งชาติแล้วย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ฯ

[๔๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะการริเริ่มนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย เพราะความริเริ่มดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัยดังนี้แล้ว สละคืนความริเริ่มได้ทั้งหมดแล้ว น้อมไปในนิพพานทีไม่มีความริเริ่ม ถอนภวตัณหาขึ้นได้แล้ว มีจิตสงบมีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ ฯ

[๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหารทั้งหมดนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย เพราะอาหารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมผู้ถึงเวทย์ รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว กำหนดรู้อาหารทั้งปวงเป็นผู้อันตัณหาไม่อาศัยในอาหารทั้งหมด รู้โดยชอบซึ่งนิพพานอันไม่มีโรค พิจารณาแล้วเสพปัจจัย ๔ ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะอาสวะทั้งหลายหมดสิ้นไป ฯ

[๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะความหวั่นไหวทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย เพราะความหวั่นไหวดับไม่มีเหลือทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุสละตัณหาแล้ว ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหวไม่ถือมั่น แต่นั้นพึงเว้นรอบ ฯ

[๔๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่าความดิ้นรนย่อมมีแก่ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ผู้ที่ตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน ส่วนผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ภิกษุรู้โทษนี้ว่าเป็นภัยใหญ่ในเพราะนิสสัย คือ ตัณหาทิฐิและมานะทั้งหลายแล้วเป็นผู้อันตัณหา ทิฐิและมานะไม่อาศัยแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ

[๔๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่านิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ นี้เป็นข้อ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าสัตว์เหล่าใดผู้เข้าถึงรูปภพ และตั้งอยู่ในอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้ชัดซึ่งนิพพานก็ยังเป็นผู้จะต้องมาสู่ภพใหม่ ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปภพแล้ว (ไม่) ดำรงอยู่ด้วยดีในอรูปภพ ชนเหล่านั้นน้อมไปในนิพพานทีเดียว เป็นผู้ละมัจจุเสียได้ ฯ

[๔๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายนามรูปที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นามรูปนี้เป็นของจริง พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นามรูปนั่นเป็นของเท็จ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นิพพานนี้เป็นของเท็จ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้นเป็นของจริง นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ท่านผู้มีความสำคัญในนามรูป อันเป็นของมิใช่ตนว่าเป็นตนจงดูโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้ยึดมั่นแล้วในนามรูป ซึ่งสำคัญนามรูปนี้ว่า เป็นของจริง ก็ชนทั้งหลายย่อมสำคัญ (นามรูป)ด้วยอาการใดๆ นามรูปนั้นย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการที่เขาสำคัญนั้นๆ นามรูปของผู้นั้นแลเป็นของเท็จ เพราะนามรูป มีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาปสูญไปเป็นธรรมดา พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นิพพานนั้นโดยความเป็นจริง พระอริยเจ้าเหล่านั้นแล เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว เพราะตรัสรู้ของจริง ฯ

[๔๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ โดยชอบ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหมพึงตอบเขาว่า พึงมี
ถ้าเขาถามว่าพึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายอิฏฐารมณ์ที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า เป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่านั่นเป็นทุกข์ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ มีประมาณเท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่ อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชนเหล่านั้นสมมติกันว่าเป็นทุกข์ ความดับแห่งเบญจขันธ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นสุข ความเห็นขัดแย้งกันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอยู่ ชนเหล่าอื่นกล่าววัตถุกามใด โดยความเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็นทุกข์ ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าวนิพพานนั้นโดยความเป็นสุข ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความมืดตื้อ ย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผู้ไม่เห็นอยู่ ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้ ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแสร์ภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลายใครหนอ ย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะเพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน ฯ

[๔๐๗] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ข้อที่ ๔๐๖

เหตุปัจจัยให้ภิกษุผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภารทวาชสูตร
[๑๙๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแล พระเจ้าอุเทนได้เสด็จไปหาท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ทรงสนทนาปราศรัยกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญเหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิทเป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่าเป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ในสตรีปูนพี่สาวน้องสาว เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา ขอถวายพระพร ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิทเป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

[๑๙๖] อุ. ท่านภารทวาชะผู้เจริญ จิตเป็นธรรมชาติโลเลบางคราว ธรรมคือ ความโลภทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาวน้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี มีไหมหนอท่านภารทวาชะ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิทเป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

บิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาพิจารณากายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืดไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

[๑๙๗] อุ. ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้นเป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี มีไหมหนอแล ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

บิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิดเธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด เธอทั้งหลายเห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะจงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอทั้งหลายฟังเสียงด้วยหูแล้ว… สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว … ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว… ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว… รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วอย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะจงปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ จงถึงความสำรวมในมนินทรีย์ขอถวายพระพร แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

[๑๙๘] อุ. น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญตามกำหนดธรรมปริยายนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังเป็นผู้ไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ในสมัยใดแม้ข้าพเจ้าเอง มีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายในในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลาย ย่อมครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ แต่ว่า ในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้วเข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายไม่ครอบงำข้าพเจ้าท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด ฯ

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ข้อที่ ๑๙๕ – ๑๙๖

ไม่มีอะไรในนิพพาน

บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิ อาศัยอยู่แล้ว ย่อมมีความหวั่นไหว
สำหรับผู้ไม่มีตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มีความหวั่นไหว
เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ
เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ
เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิดไปเกิด
เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติและอุปบัติ
เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ไม่มีโลกหน้า
ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อที่ ๗๕๑

ความไม่หวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัย
ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย
เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี
เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป
เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ
โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ข้อที่ ๑๖๒

ไม่ควรถือว่าวิญญาณเป็นดุจภูตผีปีศาจ

วิญญาณขันธ์ วิญญาณ (ความรู้แจ้งในอารมณ์) เป็นผลหรือการตอบสนองซึ่งมีอินทรีย์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) เป็นปทัฏฐาน และมีประสบการณ์ภายนอกที่สัมพันธ์กัน ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง (รูปที่เห็น เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัสได้และธัมมารมณ์ กล่าวคือความนึกคิด) เป็นวัตถุเครื่องรองรับ (เป็นอารมณ์)

ตัวอย่างเช่น จักขุวิญญาณมีตาเป็นฐานและมีรูปเป็นวัตถุรองรับ มโนวิญญาณมีใจ (มนัส) เป็นฐาน มีธัมมารมณ์เป็นวัตถุเครื่องรองรับ (อารมณ์) ดังนั้น วิญญาณจึงเกี่ยวข้องกับอินทรีย์ (หรืออายตนะ) อื่น ๆ ด้วยประการฉะนี้ วิญญาณก็เหมือนกับเวทนา สัญญาและสังขารคือ มี ๖ ประการ ซึ่งสัมพันธ์ระหว่างอายตนะภายใน ๖ กับอายตนะภายนอก ๖

ควรที่จะเข้าใจให้ชัดว่า วิญญาณไม่ได้จำวัตถุ (อารมณ์) วิญญาณเป็นเพียงความรู้ชัดชนิดหนึ่ง คือรู้ชัดความมีอยู่ของอารมณ์ เมื่อตากระทบกับสี เช่น สีน้ำเงิน จักษุวิญญาณเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพียงการรู้ชัดความมีอยู่ของสี แต่วิญญาณไม่ได้จำว่า มันเป็นสีน้ำเงิน ไม่มีการจำได้ในขั้นนี้ ตัวสัญญา (ขันธ์ที่ ๓) ต่างหากซึ่งจำได้ว่า มันเป็นสีน้ำเงิน คำว่า “จักษุวิญญาณ” เป็นการแสดงออกทางทัศนะที่กำหนดความคิดอันเดียวกัน ดังที่เราทราบตามภาษาธรรมดาว่า “การเห็น” การเห็นโดยได้หมายความว่า การจำได้ ดังนั้นจึงมีชนิดของวิญญาณแบบอื่น ๆ อีก

ต้องย้ำไว้ตรงนี้ (สักนิด) ว่า ตามทัศนะทางพุทธศาสนา ไม่มีสิ่งที่เที่ยงแท้ วิญญาณไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเรียกว่า Self, Soul หรือ Ego ซึ่งตรงข้ามกับรูปวัตถุ จุดนี้ควรจะย้ำเป็นพิเศษ เพราะพระบรมศาสดาทรงค้านว่า “ดูกรโมฆบุรุษ เธอได้ฟังเราประกาศธรรมทำนองนี้แก่ใคร? เรา (ตถาคต) ได้อธิบายด้วยนัยเป็นเอนกมิใช่หรือ วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย (และว่า) การเกิดขึ้นของวิญญาณที่ปราศจากปัจจัยไม่มีเลย”

จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงดำเนินการอธิบายวิญญาณในรายละเอียดว่า “วิญญาณมีชื่อตามปัจจัยที่มันอาศัยเกิดขึ้นกล่าวคือ อาศัยตาและรูปวิญญาณเกิดขึ้น และวิญญาณก็มีชื่อว่า “จักขุวิญญาณ” อาศัยหูกับเสียง วิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณนี้มีชื่อว่า “โสตวิญญาณ” อาศัยจมูกและกลิ่น วิญญาณเกิดขึ้น เราเรียกวิญญาณนี้ว่า “ฆานวิญญษณ” อาศัยลิ้นกับสร วิญญาณเกิดขึ้น เราเรียกวิญญาณนี้ว่า “ชิวหาวิญญาณ อาศัยร่างกายและโผทัฏฐัพพารมณ์ วิญญาณเกิดขึ้น เราเรียกวิญญาณนี้ว่า “กายวิญญาณ อาศัยใจและธัมมารมณ์ วิญญาณเกิดขึ้น เราเรียกวิญญาณนี้ว่า “มโนวิญญาณ”

คัดลอกมาจากหนังสือ “พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร”

ผู้มุ่งประโยชน์หวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพสัทธรรม ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปุญญวิปากสูตร
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่า บุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญอันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปีครั้นแล้ว เราไม่ได้กลับมายังโลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อโลกถึงความพินาศ [ถูกไฟไหม้] เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่าได้ยินว่า ในวิมานพรหมนั้น เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ใครๆ ครอบงำไม่ได้ มีความเห็นแน่นอน มีอำนาจเต็ม เป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งทวยเทพ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชามีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ชนะสงคราม มีชนบท ถึงความสถาพรตั้งมั่นประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รัตนะ ๗ ประการของเรานั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนพลแก้วเป็นที่ ๗ อนึ่งเราเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ เราครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ฯ เชิญดูผลแห่งบุญกุศลของบุคคลผู้แสวงหาความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเจริญเมตตาจิตมาแล้ว ๗ ปี ไม่ต้องกลับมาสู่โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกถึงความพินาศ เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราเข้าถึงวิมานอันว่างเปล่า ในกาลนั้น เราเป็นท้าวมหาพรหมผู้มีอำนาจเต็ม ๗ ครั้ง เป็นท้าวสักกะจอมเทพเสวยสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป เป็นกษัตริย์ได้รับมุรธาภิเศกแล้ว เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ปกครองปฐพีมณฑลนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา สั่งสอนคนในปฐพีมณฑลนั้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน ครั้นได้เสวยราชในปฐพีมณฑล นี้โดยธรรมแล้ว ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากมาย ทั้งบริบูรณ์พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ อันอำนวยความประสงค์ให้ทุกอย่าง ฐานะดังที่กล่าวมานี้พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้สงเคราะห์ประชาชาวโลกทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหตุที่ท่านเรียกว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน เพราะความเป็นใหญ่ เราเป็นพระราชาผู้เรืองเดช มีอุปกรณ์เครื่องให้ปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์ มียศ เป็นใหญ่ ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป ใครบ้าง ได้ฟังแล้วจะไม่เลื่อมใสแม้จะเป็นคนมีชาติต่ำ เพราะฉะนั้นแหละ ผู้มุ่งประโยชน์ จำนงหวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพสัทธรรม ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๗๕/๓๗๙ ข้อที่ ๕๙

จิตพระอรหันต์

คำว่า “สมมุติ” คือการเกิดการตายดังที่เป็นอยู่นั้น จะไปเกิดในภพที่เงียบๆ ละเอียดขนาดไหนก็ตาม ที่เป็นเรื่องของสมมุติแฝงอยู่นั้นจึงไม่มี ท่านผ่านไปหมดโดยประการทั้งปวง นี่ได้แก่จิตพระอรหันต์และจิตพระพุทธเจ้า พูดถึงเรื่องนี้ก็ยังมีเรื่องของ “พระวังคีสะ” พระวังคีสะ ท่านเก่งมากในการที่ดูจิตผู้ที่ตายแล้ว ไปเกิดในภพใดแดนใด ตั้งแต่ท่านเป็นฆราวาส ใครตายก็ตาม จะว่าท่านเป็นหมอดูก็พูดไม่ถนัด ท่านเก่งทางไสยศาสตร์นั่นแหละ เวลาใครตายเขานำเอากะโหลกศีรษะมาให้เคาะ ป๊อก ๆๆ กำหนดดูทราบว่าอันนั้นไปเกิดที่นั่น ๆ เช่นไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็บอก ไปเกิดในสวรรค์ก็บอก ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นเปรตเป็นผีอะไรท่านบอกหมดไม่มีอัดมีอั้น บอกได้ทั้งนั้น ขอให้ได้เคาะกะโหลกศีรษะของผู้ตายนั้นก็แล้วกัน

พอท่านวังคีสะได้ทราบจากเพื่อนฝูงเล่าให้ฟังว่า พระพุทธเจ้ายังเก่งกว่านี้อีกหลายเท่า ท่านอยากได้ความรู้เพิ่มเติม จึงไปยังสำนักพระพุทธเจ้าเพื่อขอเรียนวิชาแขนงนี้เพิ่มเติมอีก พอไปถึงพระพุทธเจ้าท่านก็เอาศีรษะพระอรหันต์มาให้เคาะ “เอ้า ลองดูซิไปเกิดที่ไหน?” เคาะแล้วฟัง เงียบ, เคาะแล้วฟัง เงียบ, คิดแล้วเงียบ กำหนดแล้วเงียบ ไม่ปรากฏว่าเจ้าของกะโหลกศีรษะนี้ไปเกิดที่ไหน!

ท่านจนตรอก ท่านพูดสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่ทราบที่เกิด”

ทีแรกพระวังคีสะนี้ว่าตัวเก่งเฉลียวฉลาด จะไปแข่งกับพระพุทธเจ้าเสียก่อนก่อนจะเรียนต่อ พอไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์เอากะโหลกศีรษะพระอรหันต์มาให้เคาะนี่ ซิ ! ท่านมาติดตรงนี้! ทีนี้ก็อยากจะเรียนต่อ ถ้าเรียนได้แล้วก็จะวิเศษวิโสมาก เมื่อการณ์เป็นไปเช่นนั้นก็ขอเรียนที่สำนักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนวิชาให้ สอนวิธีให้ คือสอนวิชาธรรมนี่ให้ ฝึกปฏิบัติไป ๆ พระวังคีสะก็เลยสำเร็จพระอรหันต์ขึ้นมา เลยไม่สนใจจะไปเคาะศีรษะใครอีก นอกจากเคาะศีรษะเจ้าของ รู้แจ้งชัดเจนแล้วหมดปัญหาไปเลย นี่เรียกว่า “เคาะศีรษะที่ถูกต้อง”!

เมื่อยกเรื่องจิตที่ไม่เกิดขึ้นมา กะโหลกศีรษะของท่านผู้บริสุทธิ์แล้ว เคาะเท่าไรก็ไม่รู้ว่าไปเกิดที่ไหน! ทั้งๆ ที่พระวังคีสะแต่ก่อนเก่งมาก แต่จิตที่บริสุทธิ์แล้วหาที่เกิดไม่ได้ ! เช่น “พระโคธิกะ” ก็เหมือนกัน นี้ก็น่าเป็นคติอยู่ไม่น้อย ท่านไปบำเพ็ญสมณธรรมเจริญขึ้นไปโดยลำดับๆ แล้วเสื่อมลง เจริญขึ้นเสื่อมลง ฟังว่าถึงหกหน หนที่เจ็ดท่านจะเอามีดโกนมาเชือดคอตนเอง “โอ้ เสียใจ” แต่กลับได้สติขึ้นมา จึงได้พิจารณาธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์ในวาระสุดท้าย อันนี้เราพูดย่อเอาเลย ตอนท่านนิพพาน พวกพญามารก็มาค้นหาวิญญาณของท่าน พูดตามภาษาเราก็ว่า “ตลบเมฆเลย” การขุดการค้นหาวิญญาณของท่านนั้นไม่เจอเลย ไม่ทราบว่าท่านไปเกิดที่ไหน

พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า “การที่จะค้นหาวิญญาณของพระโคธิกะที่เป็นบุตรของเรา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วโดยประการทั้งปวงนั้น จะขุดจะค้นจะพิจารณาเท่าไร หรือพลิกแผ่นดินค้นหาวิญญาณท่านก็ไม่เจอ มันสุดวิสัยของ “สมมุติ” แล้วจะเจออย่างไร! มันเลยวิสัยของคนที่มีกิเลสจะไปทราบอำนาจจิตของพระอรหันต์ท่านได้!

ในวงสมมุติทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดจะสามารถตามวิถีจิตของพระอรหันต์ท่านได้ เพราะท่านนอกสมมุติไปแล้ว จะเป็นจิตเหมือนกันก็ตาม ลองพิจารณาดูซิ จิตของเราที่กำลังล้มลุกคลุกคลานอยู่เวลานี้ก็ตาม เมื่อได้ถูกชำระเข้าไปโดยสม่ำเสมอไม่หยุดไม่ถอย ไม่ละความเพียรแล้ว จะค่อยละเอียดไปได้ จนละเอียดถึงที่สุด ความละเอียดก็หมดไป เพราะความละเอียดนั้นเป็นสมมุติ เหลือแต่ธรรมชาติทองทั้งแท่งหรือธรรมทั้งดวง ที่เรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” แล้วก็หมดปัญหาอีกเช่นเดียวกัน เพราะกลายเป็นจิตประเสริฐ เช่นเดียวกับจิตของท่านที่พ้นไปแล้วนั้นนั่นแล

จิตประเภทนี้เป็นเหมือนกันหมด ไม่นิยมเป็นผู้หญิงผู้ชาย นี่เป็นเพศหรือสมมุติอันหนึ่งต่างหาก ส่วนจิตนั้นไม่ได้นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย ความสามารถในอรรถในธรรมจึงมีได้ทั้งหญิงทั้งชาย และความสามารถที่บรรลุธรรมขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นไปได้ ก็เป็นไปได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะบังคับกันได้ ขอแต่ความสามารถอำนาจวาสนาของตนพอแล้ว เป็นอันผ่านไปได้ด้วยกันทั้งนั้น

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
http://www.luangta.com
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘
(คัดลอกมาบางส่วน)

พระพุทธเจ้าสอนสร้างตัวเอง ไม่ได้ให้สร้างพระพุทธรูป

พระไตรปิฎกท่านชี้เข้ามาหาตัวของบุคคลเรา ใครบกพร่องที่ตรงไหนให้พยายามแก้ไขดัดแปลงอย่างนี้ไปทั่วหน้ากันแล้ว เมืองไทยเราไม่ต้องถามหาเรื่องความสุข จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รวมหัวกันแล้วเกิดทั่วเมืองไทยเรา นี้คือความสุขเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ อันนี้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าชี้ลงทางภาคปฏิบัติ ปริยัติเมื่อศึกษาเล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาแล้วให้ไปปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายตามที่ท่านสอนไว้ สอนไว้คือปริยัติ มาปฏิบัติตนเองแก้ไขตามปริยัติที่ท่านสอน หรือว่าแบบแปลนแผนผังได้แก่ปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติตัวตามนั้น ๆ แล้วจะค่อยเบาขึ้นไปเรื่อย ๆ

คำว่าปฏิเวธ คือผลของงานที่เราทำลงไป เรียกว่าปฏิเวธ แปลออกแล้วแปลว่าความรู้แจ้งในธรรมที่ตนปฏิบัติ จากปริยัติที่ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ปฏิบัติตามนั้น ๆ ผลจะเป็นความสงบร่มเย็น ๆ ตัวเองก็ชุ่มเย็นภายในจิตใจ นี่เรียกว่าปริยัติ นอกจากนั้นจะรู้เห็นธรรมในแง่ต่าง ๆ ขึ้นเป็นลำดับลำดา เริ่มตั้งแต่กิเลสขาดออกไปจากใจ ๆ ธรรมแผ่กระจายขึ้นมา เป็นความสุขขึ้นมาพร้อมกับธรรมที่แผ่กระจายออกไป นั่นเรียกว่าปฏิเวธ ๆ เป็นผลรู้ประจักษ์ใจตัวเอง ๆ แล้วก็เป็นผลจนหาที่ต้องติไม่ได้จากปริยัติ สำหรับพวกเราเรียนปริยัติจากครูจากอาจารย์ ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล แล้วผลจะปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ

ปริยัติเล่าเรียนมาเพื่ออะไร ก็เล่าเรียนมาเพื่อแก้ตัวเอง ชี้เข้ามาหาตัวเอง หลักวิชาทุกด้านของธรรมก็ดีของโลกก็มี เข้ามาหาตัวของเราทั้งนั้นแหละ ให้นำมาปฏิบัติผลจะปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจะสมชื่อสมนามว่าเราเป็นชาวพุทธ เวลานี้ชาวพุทธเรามันมีแต่ชื่อนะ ส่วนมากเป็นอย่างนั้น ตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ ให้เห็นผลประจักษ์กับตัวเอง แล้วมาประกาศสอนให้คนอื่นได้รับความสุขความเย็นใจไปด้วยนี้มีน้อยมากทีเดียว อะไร ๆ ก็มีแต่วัตถุ ไปคลำไปเกาอยู่วัตถุนั่น ไม่ได้มาเกาตัวหมัดที่มันกัดให้คัน ๆ อยู่ในหัวใจคือกิเลสนั้นเลย กิเลสตัวมันทำให้คันอยู่ในนี้ ถ้ามาแก้ตรงนี้แล้วจะสมชื่อสมนามว่าพุทธศาสนาสอนสัตวโลกนะ ไม่ได้สอนให้ไปงมเงาเกาหมัดข้างนอก

อย่างนี้ละที่ควรเตือน-เตือนเสียบ้างซิ ให้รู้เรื่องรู้ราว เรื่องตำรับตำราที่ไหนนี้เกลื่อนไปหมด แต่ไม่สนใจปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามตำรับตำราซิ มันถึงเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไม่สมศักดิ์ศรีกับศาสนาที่มีวัตถุเครื่องกราบไหว้บูชาเป็นขวัญใจ แล้วนำตัวน้อมเข้าสู่ธรรมปฏิบัติตนเองตามนั้น มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะเวลานี้ มีแต่คัมภีร์ใบลาน ไปที่ไหนเต็ม พระพุทธรูปนี้ก็เกลื่อนไปหมดเลย มันสนใจสร้างพระพุทธรูป ไม่ได้สร้างตัวเองนั่นซี ถ้าว่าธรรมก็ เอ้า พิมพ์ไป ฟาดกี่พระไตรปิฎกฟาดลงมา สุดท้ายรวมกัน ๔๕ เล่มเป็นเล่มหนึ่ง แล้วใครจะไปแบกได้หนังสือถึง ๔๕ เล่มมาเป็นเล่มหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เล่มบาง ๆ มันก็ขี้เกียจจนจะตายแล้ว

พูดตรง ๆ อย่างนี้ นี่เรียกภาษาของธรรม พี่น้องทั้งหลายจำเอานะ เอาเหตุผลไปจับกันอย่างนี้ แล้วเกิดประโยชน์อะไรจากการรวมกันหาเหตุผลมาซิน่ะ เพียงเล่มเดียว ๆ มันก็พอแล้วเอามาอ่านด้วยความสนใจ ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปที่ไหนติดตัวไปด้วย ติดย่ามไปด้วย ติดถุงไปด้วยก็ได้ถ้าตั้งใจปฏิบัติ ขัดข้องตรงไหน เปิดคัมภีร์ออกมาดู คัมภีร์นี่คือแปลน แปลนบ้านแปลนเรือนแปลนมรรคผลนิพพานอยู่ในนั้นในศาสนา แปลนบ้านแปลนเรือนดังที่เขาสร้าง เขาสร้างตามแปลนเป็นยังไง สำเร็จขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเรือนตึกรามบ้านช่องใหญ่โตขนาดไหน ขึ้นมาจากแปลน ๆ อันนี้ก็เหมือนกันไม่เหนือแปลนแห่งศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าได้เลย ในสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในแดนโลกธาตุนี้ เต็มอยู่ในแปลนคือศาสนาพระพุทธเจ้าทั้งหมดแล้ว

มันบกพร่องแต่พวกเรา ที่จะปฏิบัติตามแปลนที่ถูกต้องดีงามเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนนี้บกพร่องมากพวกเรา รู้สึกว่าบกพร่องมากทีเดียว เพราะฉะนั้นไปเทศน์ที่ไหน ๆ เราจึงได้เตือนเสมอ ๆ เพราะฟืนไฟเกิดไปจากกิเลสตัวทำลายแปลน ถ้าแปลนพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างใด กิเลสจะเข้าไปลบ ๆ แล้วก็เอาตั้งแต่ความจอมปลอมขึ้นมาให้โลกได้เชื่อ เชื่อแล้วก็วิ่งตามมัน กองทุกข์ก็ไหลเข้ามา ๆ โลกอันนี้ตรงไหนที่มีความสุขเอามาอวดสักหน่อยน่ะ อย่าไปอวดพระพุทธเจ้า เอามาอวดหลวงตาบัวนี้ก็ได้ เวลานี้หลวงตาบัวยังไม่ตาย เอามาอวด แล้วหัวใจดวงนี้กับโลกทั้งหลายเอามาอวดกันดูซิน่ะ ว่าอย่างนี้นะ ฟังซิท่านทั้งหลายฟังเอา

เราสอนโลกเราสอนเล่นเมื่อไร สอนจริงสอนจังทุกอย่าง เราปฏิบัติมาจนถึงขั้นจะสลบไสล ไม่สลบไสลก็บอกไม่สลบไสล บอกว่าเราไม่เคยสลบไสล แต่เฉียดตลอด เฉียดเรื่อย ๆ พระพุทธเจ้าถึงขั้นสลบไสล นั่นฟังซิ เราไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่เอาตามอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารของเรา คือเป็นหนูตัวหนึ่งก็มาเถอะน่ะ หนูตัวนี้ก็เต็มตัวของหนู หางมันก็มี หัวมันก็มี หูมันก็มี ขี้มันก็มี เยี่ยวมันก็มีเหมือนคน ช้างทั้งตัวมันก็มีแบบเดียวกันครบหมด แล้วจะไปมีอันไหนว่ายิ่งหย่อนกว่ากัน หนูก็เป็นหนูเต็มตัว อันนี้ความรู้ก็เต็มตัวที่ปฏิบัติมาเต็มกำลังความสามารถ อะไรขัดต่อธรรมจะรู้ทันที ๆ ไม่อวด นอกจากไม่พูดเท่านั้น เพราะเกี่ยวกับภายนอก เรื่องของเจ้าของขัดตรงไหนแก้ทันที เรื่องของคนอื่นแทนที่จะแก้ให้มันถูก สอนคนแทนที่จะเป็นมงคล กลับเป็นเสนียดจัญไรขึ้นแก่ผู้ฟังไปเสีย ไม่เกิดประโยชน์

เพราะฉะนั้นจึงพูดบ้างไม่พูดบ้าง รู้เท่าไรควรพูดก็พูด ไม่ควรพูดไม่พูด เพราะนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ยังเป็นโทษแก่ผู้ฟังอีก อย่างพูดเหล่านี้เราก็ไม่ได้เชื่อว่าจะเป็นไปตามแนวทางที่เรานำมาสอนเพื่อความถูกต้องนี้หรือไม่ประการใด เราก็ยังไม่ได้เชื่อนะหัวใจ กิเลสมันฝังมันคอยโต้ตอบอยู่ภายใน มันไม่เชื่อจะว่าไง สิ่งใดที่มันเชื่อก็คือเรื่องที่จะพาให้จม คือเรื่องลบล้างความจริงนั้นแหละ อะไรที่ไปลบล้างความจริง ก็คือความจอมปลอมไปลบล้างความจริง มันก็ปลอมไปตามกิเลสเสียไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร

เวลานี้ศาสนาของเรามีแต่คัมภีร์นะ ฟังทุกคน คัมภีร์อยู่ตามตู้ตามหีบ คัมภีร์ใบลานที่ว่านะ ไม่อยู่ในคัมภีร์คือหัวใจคนตามที่พระพุทธเจ้าประทานสอนเอาไว้ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ดีชั่วสำเร็จแล้วด้วยใจทั้งนั้น ท่านสอนลงไปที่นี่ ให้แก้ตรงนี้ ๆ ไม่ได้มาแก้คัมภีร์นี้นะ คัมภีร์ตัวมหาภัย ตัวเองทำมหาภัยแก่ตัวเอง สร้างแต่บาปแต่กรรมเต็มตัวแล้วยังไประบาดสาดกระจายไปให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนอีก ทำไมไม่พากันแก้คัมภีร์ตัวนี้น่ะ คัมภีร์ตัวนี้เป็นตัวอาละวาดใหญ่ทั่วบ้านทั่วเมือง มีอยู่กับทุกผู้ทุกคนไม่มากก็น้อย ให้แก้คัมภีร์นี้บ้าง พระพุทธเจ้าสอนให้แก้คัมภีร์นี้นะ

หายุ่งตั้งแต่สิ่งภายนอกไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าที่ไหนไม่คันละไปเกา ถ้าคันไม่ยอมเกาให้มันหายคันบ้าง ถ้าเกาถูกที่คันมันก็หายคัน เกาที่มันไม่คันก็ยิ่งถลอกปอกเปิก เพิ่มความคันความเจ็บปวดแสบร้อนขึ้นอีก เลอะเทอะไปหมดทั้งตัว เลยกลายเป็นหมาขี้เรื้อนไปเลย เป็นอย่างนั้นนะเกาไม่ถูกที่คัน เป็นอย่างนั้น ขอให้พี่น้องทั้งหลาย นำแปลนของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้แล้ว นั้นละคือแปลนแห่งมรรคผลนิพพาน แปลนบุญแปลนบาปอยู่ในนั้นหมด ให้นำไปพินิจพิจารณาแก้ไขดัดแปลงตัวเอง อย่ายุ่งตั้งแต่ภายนอกจนเกินไป

ไปที่ไหน ๆ เห็นตั้งแต่สิ่งก่อสร้าง ทำไปแล้วมันทำง่ายนะ ทำไปแล้วก็ทิ้งไว้ ๆ เจ้าของจะเป็นยังไงไม่สนใจ ถือว่าได้สร้างพระพุทธรูป เอาแค่นั้นแหละ สร้างตัวเองพระพุทธเจ้าสอนอย่างเด็ดขาด สร้างลงตัวเองนี่นะ ไม่ได้ให้สร้างพระพุทธรูปอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้เคารพพระองค์ยิ่งกว่าเคารพธรรมนะ ถ้าลงธรรมตรงไหนพระพุทธเจ้ากราบ พระพุทธเจ้าไม่ทรงกราบอะไรในสามแดนโลกธาตุ กราบแต่ธรรมอย่างเดียว ฟังซิน่ะ พระพุทธเจ้าเคารพธรรมด้วย

นี่เราก็ให้เคารพธรรม ธรรมอยู่กับตัวของเรา คัมภีร์ใหญ่อยู่นี้ ให้มาแก้ตัวนี้บ้าง อย่าพากันเร่ ๆ ร่อน ๆ ไปที่ไหนมองดูถ้าตาบอด-บอดมานานแล้วนะ มันอดดูไม่ได้ ใจก็เหมือนกันใจแตกแล้วนะ มันอดดูอดคิดอดฟังอดพินิจพิจารณาเรื่องเขาเรื่องเราไม่ได้ ทีนี้เมื่อมันมาเกี่ยวข้องถึงโอกาสที่จะพูดก็พูดให้พี่น้องทั้งหลายฟังเสียบ้าง ให้พากันแก้ไขดัดแปลงแปลนของเราเสียใหม่ แปลนน่ะถูกต้อง ตัวของเรานี้มันไม่ถูก ท่านบอกแปลนไว้อย่างหนึ่งมันไปทำอย่างหนึ่ง บอกว่าให้ไปสร้างวัดสร้างวาหรือสร้างที่ภาวนา มันไปสร้างโรงสุราขึ้นแทน มันเป็นอย่างนั้นนะเดี๋ยวนี้

อย่างที่เราเคยพูดที่หลวงปู่ท่านสอน ไปจุดธูปจุดเทียนปักไหว้วอน ดังที่เขาเขียนการ์ตูนไว้นั้น ศาลเจ้าพ่อใหญ่อยู่ข้างบน มีสายระโยงระยางลงมา เขาทำเป็นการ์ตูนให้เห็น เป็นคติธรรมดีมาก เพราะฉะนั้นจึงนำมาพูดเสมอ นี่ละความเสื่อมของคน เข้าใจไหม หลวงปู่ท่านมองเห็นซิ กำลังจุดธูปจุดเทียนไหว้วอนอยู่ ทำอะไรล่ะหลาน เป็นทุกข์อะไรเหรอ โอ๊ย เป็นทุกข์มากปู่ เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะปฏิบัติตามปู่สอนนั้นแหละ ปู่สอนว่ายังไง สอนว่าให้มีความปรารถนาน้อย แล้วไปทำยังไงมันถึงเป็นทุกข์ล่ะ ไปมีเมียน้อย นั่นเห็นไหมมันเสือกไปอย่างนั้น พวกนี้มันเสือกไปอย่างนั้น บอกให้ไปสร้างนี้มันไปสร้างนั้นเสีย มันไปมีเมียน้อย หมดท่าเลย หลวงปู่ก็มีแต่ เหอ เท่านั้นหมดท่าเลย หมดท่า มันเป็นอย่างนั้นนะ มันเสือกไปอย่างหนึ่ง

http://www.luangta.com
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วันที่ 18 มกราคม 2545
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
(คัดลอกมาบางส่วน)

ของดีผู้ที่จะนับถือมีน้อย

ที่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ ท่านดำเนินตามทางสายเดียวกันมา จนกระทั่งมาถึงพระสมณโคดมเรานี้ นี้เป็นองค์ที่ ๔ ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ กกุสันโธ โกนาคมโน กัสสโป โคตโม อริยเมตไตรโย เป็นห้า จากนี้แล้วพระอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้เป็นศาสดาแทน นี่พระองค์ก็ทรงเล็งญาณไว้เรียบร้อยแล้ว ระยะนั้นจะมา จากนั้นท่านก็แสดงอนาคตวงศ์ คือวงศ์ของศาสดาที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้านี้ ระยะนี้มีเท่านั้นองค์ ระยะนั้นมีเท่านั้นองค์ บอกไปเลย แล้วก็จะมาตามนั้น พระพุทธเจ้าองค์ใดทรงเล็งญาณทราบอย่างแม่นยำ เอกนามกึ หนึ่งไม่มีสอง คือพระญาณหยั่งทราบของพระพุทธเจ้า ไม่มีคำว่าผิดพลาดไปเลย ต่อไปพระอริยเมตไตรยก็จะมาข้างหน้า ท่านก็ดำเนินตามนี้

นี่ล้วนแล้วตั้งแต่ธรรมสอนโลก รื้อกองทุกข์ออกจากโลกด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ๆ เหมือนกันหมด ศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นแบบฉบับ เป็นศาสนาคู่โลกคู่สงสาร จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก แต่ของดีผู้ที่จะนับถือมีจำนวนน้อย แต่ของเลวมีมาก ท่านจึงรับสั่งกับพระอานนท์ที่ทูลถามว่า คนที่จะไปสวรรค์กับคนที่จะไปตกนรก ทางไหนมากกว่ากัน พระองค์รับสั่งว่า คนผู้ที่จะไปสวรรค์นั้น เพราะการปฏิบัติดีของตนเองเพียงเขาโค เท่ากับเขาโค มีจำนวนน้อย แต่ผู้ที่จะหลั่งไหลลงนรกอเวจีนั้นเท่ากับขนโค ฟังซิ โคตัวหนึ่งมีขนมากน้อยเพียงไร มีเขาอย่างมาก ๒ เขา มิหนำซ้ำเขากุดเขาด้วนหรือเป็นโคหัวโล้นก็มี ก็คือแทบจะไม่มีใครไปสวรรค์ไปนิพพาน นี่เรียกว่าโคหัวโล้น

สมัยนี้มันมีพอเขาไหม ศาสนาพระพุทธเจ้าในของพวกชาวพุทธเรามันมีพอเขาไหม หรือเป็นโคหัวโล้นไปหมด มันเต็มไปตั้งแต่ขนโคนั้นหรือ คนที่ต่ำช้าเลวทรามมีจำนวนมากที่จะไหลลงไปสู่ทางต่ำๆ ทางต่ำเป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงนรกอเวจี เรียกว่าต่ำสุดยอดก็คือนรกอเวจีขึ้นมาๆ เรื่อยๆ จากนั้นก็ขึ้นสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน มีเพียงขนาดเขาโคเท่านั้น ทีนี้เราก็ย่นเข้ามาถึงคนผู้ที่นับถือพุทธศาสนามีจำนวนมากน้อยเพียงไรกับคนทั้งโลก เอา เทียบกันซิ นี่ถือของจริงของแท้คือพุทธศาสนา แล้วคนที่จะมานับถือของแท้ของจริงนี้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งเท่ากับเขาโค แต่ที่ถือสะเปะสะปะไปทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยถือว่าเป็นของดิบของดี ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่แถวของขนโคทั้งนั้น นั้นจำนวนมากทีเดียว

เอ้าที่นี่ย่นเข้ามาอีก เข้ามาๆ จนถึงตัวของเรา วันหนึ่งๆ เราคิดถึงความดีงามในหัวใจของเรา คิดถึงศีลถึงธรรม ถึงทาน ศีล ภาวนา คุณงามความดีทั้งหลายที่จะสั่งสมเข้าสู่ตัวของเรานี้ มีจำนวนมากน้อยเพียงไร แต่มันคิดสะเปะสะปะตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ความคิดของเราคนเดียวมีมากขนาดไหน นี่พวกขนโค เข้าใจไหม เราตื่นขึ้นมาสั่งสมแต่ขนโคๆ เขาโคไม่ค่อยมี แล้วคิดถึงเรื่องบุญเรื่องกุศลมีน้อยมากเท่ากับเขาโค คิดสะเปะสะปะไปตามนิสัยของกิเลสครอบหัวใจมีจำนวนมากมาย ให้ย่นเข้ามาที่นี่ พยายามตัดขนโคออก สั่งสมเขาโคให้แหลมเข้าไปๆ เข้าใจเหรอ เอาให้เขาโคแหลมปิ๊ดพุ่งถึงนิพพาน เข้าใจแล้วเหรอ ย่นเข้ามาๆ วันนี้เทศน์เพียงเท่านั้นละ เรื่องพวกเขาโคกับพวกขนโค พวกอยู่ในศาลาหลวงตาบัวเวลานี้มีตั้งแต่ขนโคทั้งนั้น เขาโคไม่มี ถ้าว่าหลวงตาบัวก็หัวโล้นเสียไม่มีเขา เลยไม่เป็นท่า เอาละแค่นั้นละวันนี้ ให้เป็นข้อเปรียบเทียบ

นี่เราสรุปลงมาถึงจุด แต่เรายังไม่บอกอย่างละเอียดสุดของความคิด คือจิตเวลามันรวมตัวเข้าแล้วมันจะคิดแบบกุศลมากๆ แหลมเขาโค จนกระทั่งฟาดแหลมปิ๊ด พุ่งถึงนิพพานเป็นอรหันต์ ทีนี้ไม่มีเลยขนโค หมด มีแต่เขาโค นั่นเป็นอย่างนั้น วันนี้ฝนตก พวกขนโคมันท่วมคนหมด เขาโคมาโผล่ในศาลานี้ไม่กี่ราย ขนโคเอาไปกินหมด เขาโคโผล่ออกมาจากฟ้าจากฝนมาศาลานี้มีเพียงสองเขา

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
http://www.luangta.com
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗
(คัดลอกมาบางส่วน)