Monthly Archives: มีนาคม 2013

อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๘. อุปักกิเลสสูตร (๑๒๘)
[๔๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี
สมัยนั้นแล พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันเสียดสีกันและกันด้วย
ฝีปากอยู่ ฯ

[๔๔๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับครั้นแล้วถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืน เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีนี้ เกิดขัดใจทะเลาะ
วิวาทกัน เสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอาศัยความอนุเคราะห์
เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของ ภิกษุเหล่านั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ต่อนั้นได้เสด็จ
เข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย เมื่อพระผู้มีพระภาค
ตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อนขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย
ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่
ด้วยการขัดใจ ทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกันเช่นนี้ ฯ

[๔๔๑] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่ ๒ ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย ภิกษุรูปนั้นก็ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาค แม้ในวาระที่ ๒ ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ
แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ
แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้ ฯ

[๔๔๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่ ๓ ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย ภิกษุรูปนั้นก็ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคแม้ในวาระที่ ๓ ดังนี้ว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคผู้
เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ
แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิดพวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ
แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้ ฯ

[๔๔๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตร จีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว
ทรงเก็บเสนาสนะ กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละ ได้ ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใครๆ สำคัญตัวว่าเป็นพาล
เมื่อสงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ยิ่ง พวกที่เป็น
บัณฑิต ก็พากันหลงลืม มีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์
พูดไป เท่าที่ปรารถนาแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป ก็ชน
เหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา
คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่า
นั้นย่อมไม่สงบ ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้
ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้
ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้ เวรใน
โลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่จะระงับ
ได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่ ก็คนพวกอื่นย่อม
ไม่รู้สึกว่า พวกเราจะย่อยยับในที่นี้ แต่ชนเหล่าใดในที่นั้น
รู้สึก ความมาดร้ายกัน ย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้ คนพวกอื่น
ตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ลักโค ม้า ทรัพย์กัน แม้ชิง
แว่นแคว้นกัน ยังมีคืนดีกันได้ เหตุไร พวกเธอจึงไม่มีเล่า
ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์
มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชม
มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัว
ร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่
พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ
และเหมือนช้างมาตังคะในป่า ฉะนั้นการเที่ยวไปคนเดียวประ
เสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้
ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความ
ขวนขวายน้อยในป่าฉะนั้น ฯ

[๔๔๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคครั้นประทับยืนตรัสพระคาถานี้แล้ว ได้เสด็จ
เข้าไปยังบ้านพาลกโลณการ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระภคุอยู่ในบ้านพาลก โลณการ ได้เห็น
พระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงแต่งตั้งอาสนะและน้ำสำหรับล้างพระบาทไว้
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้แล้วทรงล้างพระบาท ท่านพระภคุถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระภคุผู้นั่ง
เรียบร้อยแล้วดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ พอทน พอเป็นไปได้หรือ เธอไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาต
บ้างหรือ ฯ
ท่านพระภคุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พอทน พอเป็นไปได้และข้าพระองค์ไม่
ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตเลย พระพุทธเจ้าข้า ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับท่าน
พระภคุทรงชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรมแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้า
ไปประทับนั่งยังป่าปาจีนวงส์ ฯ

[๔๔๕] ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่าน พระกิมพิละ อยู่ใน
ป่าปาจีนวงส์ คนรักษาป่าได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ได้กล่าวกะ
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านสมณะ ท่านอย่าเข้าไปยังป่านี้ ในป่านี้ มีกุลบุตร ๓ คน
กำลังหวังอัตตาอยู่ ท่านอย่าได้ทำความไม่สำราญแก่เขาเลย ท่านพระอนุรุทธได้ยินคนรักษาป่าพูด
กับพระผู้มีพระภาคอยู่ ครั้นได้ยินแล้ว จึงบอกคนรักษาป่าดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้รักษาป่า ท่านอย่า
ห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของพวกเราได้เสด็จถึงแล้วโดยลำดับ ต่อนั้น
ท่านพระอนุรุทธเข้าไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละ ยังที่อยู่ แล้วบอกดังนี้ว่า นิมนต์
ท่านทั้งสองไปข้างหน้าๆ กันเถิด พระผู้มีพระ ภาคผู้เป็นพระศาสดาของพวกเรา เสด็จถึงแล้ว
โดยลำดับ ครั้งนั้นแล ท่านพระ อนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละต้อนรับ
พระผู้มีพระภาค องค์หนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค องค์หนึ่งแต่งตั้งอาสนะ องค์หนึ่ง
ตั้งน้ำสำหรับล้างพระบาท พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งแล้ว ทรงล้างพระบาท
แม้ท่านทั้ง ๓ นั้นก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๔๔๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอนุรุทธผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ว่า ดูกร
อนุรุทธ เธอพอทน พอเป็นไปได้หรือ พวกเธอไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตบ้างหรือ ฯ
ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พอทนได้ พอเป็นไปได้ พวก
ข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรอนุรุทธ ก็พวกเธอพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกันเข้ากันได้ดัง
นมสดและน้ำ มองดูซึ่งกันและกันด้วยนัยน์ตาที่น่ารักอยู่หรือ ฯ
อ. แน่นอน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พร้อมเพรียงกันยินดีต่อกันไม่วิวาทกัน
เข้ากันได้ดังนมสดและน้ำ มองดูซึ่งกันและกันด้วยนัยน์ตาที่น่ารักอยู่ ฯ
พ. ดูกรอนุรุทธ อย่างไรเล่า พวกเธอจึงพร้อมเพรียงกันยินดีต่อกันไม่วิวาทกัน เข้า
กันได้ดังนมสดและน้ำ มองดูซึ่งกันและกันด้วยนัยน์ตาที่น่ารักอยู่ได้ ฯ

[๔๔๗] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็น
ลาภของเรา เราได้ดีแล้วหนอที่อยู่กับเพื่อนภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วม กันเห็นปานนี้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นเข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา
ในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ และมีความดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงวางจิตของ
ตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ข้าพระองค์นั้นแล จึงวางจิตของตนให้เป็น
ไปตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ก็พวกข้าพระองค์ต่างกันแต่กายเท่านั้น ส่วนจิตคงเป็น
อันเดียวกัน ฯ

[๔๔๘] แม้ท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละ ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้วหนอที่
อยู่กับเพื่อนภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันเห็นปานนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้น
เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งใน
ที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ และมีความดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิต
ของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ข้าพระองค์นั้นแล จึงวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุ
เหล่านี้ ก็พวกข้าพระองค์ต่างกันแต่กายเท่านั้น ส่วนจิตคงเป็นอันเดียวกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อย่างนี้แล พวกข้าพระองค์จึงพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดังนมสด
และน้ำ มองดูซึ่งกันและกัน ด้วยนัยน์ตาที่น่ารักอยู่ได้ ฯ

[๔๔๙] พ. ดีละๆ อนุรุทธ ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปใน
ธรรมอยู่บ้างหรือ ฯ
อ. แน่นอน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร
ส่งตนไปในธรรมอยู่ ฯ
พ. ดูกรอนุรุทธ อย่างไรเล่า พวกเธอจึงเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียรส่งตนไป
ในธรรมอยู่ได้ ฯ

[๔๕๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ พวกข้าพระองค์รูปใดกลับ จากบิณฑบาต
แต่หมู่บ้านก่อน รูปนั้นย่อมแต่งตั้งอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้และ กระโถนไว้ รูปใดกลับทีหลัง
ถ้ามีภัตที่ฉันเหลือยังปรารถนาอยู่ ก็ฉันไป ถ้าไม่ปรารถนา ก็เทเสียในที่ปราศจากหญ้า หรือทิ้งเสีย
ในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์ รูปนั้นจะเก็บอาสนะ เก็บน้ำฉันน้ำใช้และกระโถน กวาดโรงฉัน
รูปใดเห็นหม้อน้ำฉันหรือหม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้นจะตักใส่ไว้ ถ้ารูปนั้นไม่อาจ
พวกข้าพระองค์จะกวักมือเรียกรูปที่สองมาแล้ว ช่วยกันตั้งหม้อน้ำฉัน หรือหม้อน้ำใช้ไว้โดย
ช่วยกันหิ้วคนละมือ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะไม่ปริปากเพราะเหตุนั้นเลย
และพวกข้าพระองค์จะนั่งประชุมสนทนาธรรมกันคืนยังรุ่งทุกๆห้าวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อย่างนี้แล พวกข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ได้ ฯ

[๔๕๑] พ. ดีละๆ อนุรุทธ ก็พวกเธอผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรม
อยู่อย่างนี้ ย่อมมีคุณวิเศษคือ ญาณทัสสนะอันประเสริฐ สามารถกว่าธรรมของมนุษย์อันยิ่ง
เป็นเครื่องอยู่สบายอันได้บรรลุแล้วหรือ ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ประมาท มี ความเพียร
ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้า เท่าไร แสงสว่างและการ
เห็นรูปอันนั้นของพวกข้าพระองค์ ย่อมหายไปได้ พวกข้าพระองค์ยังไม่แทงตลอดนิมิตนั้น ฯ

[๔๕๒] พ. ดูกรอนุรุทธ พวกเธอต้องแทงตลอดนิมิตนั้นแล แม้เราก็เคยมาแล้ว
เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้เองด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการ
เห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้
เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเรา
หายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉาแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็วิจิกิจฉา
เป็นเหตุสมาธิของเรา จึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๓] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นแลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา
ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและ
การเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า อมนสิการแล เกิดขึ้นแล้ว
แก่เรา ก็อมนสิการเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและ
การเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา และอมนสิการขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๔] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า
ถีนมิทธะแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ถีนมิทธะเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อน
แล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาอมนสิการ และถีนมิทธะ
ขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๕] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้ มีความรู้ดังนี้ว่า
ความหวาดเสียวแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความหวาดเสียวเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษ
เดินทางไกล เกิดมีคนปองร้ายเขาขึ้นที่สองข้างทาง เขาจึงเกิดความหวาดเสียว เพราะถูกคน
ปองร้ายนั้นเป็นเหตุ ฉันใด ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความหวาดเสียวแลเกิดขึ้นแล้ว
แก่เรา ก็ความหวาดเสียวเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่าง
และการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ และความ
หวาดเสียวขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ ดังนี้ว่า
ความตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความตื่นเต้นเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิ
เคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหา
แหล่งขุมทรัพย์แห่งหนึ่ง พบแหล่งขุม ทรัพย์เข้า ๕ แห่งในคราวเดียวกัน เขาจึงเกิดความตื่นเต้น
เพราะพบแหล่งขุมทรัพย์ ๕ แห่งนั้นเป็นเหตุ ฉันใด ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความ
ตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความตื่นเต้นเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิ
เคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ
ถีนมิทธะความหวาดเสียว และความตื่นเต้นขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๗] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้ มีความรู้ ดังนี้ว่า
ความชั่วหยาบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความชั่วหยาบเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา
อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียวความตื่นเต้น และความชั่วหยาบขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๘] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ ดังนี้ว่า
ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเหตุ สมาธิ
ของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ
เปรียบเหมือนบุรุษเอามือทั้ง ๒ จับนกคุ่มไว้แน่น นกคุ่มนั้นต้องถึงความตายในมือนั้นเอง ฉันใด
ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แล
ความเพียร ที่ปรารภเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่าง
และการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ และความเพียรที่ปรารภเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๙] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ ดังนี้ว่า
ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเหตุ
สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้วแสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ
เปรียบเหมือนบุรุษจับนกคุ่มหลวมๆ นกคุ่มนั้นต้องบินไปจากมือเขาได้ ฉันใด ดูกรอนุรุทธ
ฉันนั้นเหมือน กันแลความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความเพียรที่ย่อหย่อน
เกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและ การเห็นรูปจึง
หายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น
ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป และความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๐] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้ มีความรู้ ดังนี้ว่า
ตัณหาที่คอยกระซิบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและ การเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา
อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ความเพียร ที่ย่อหย่อนเกินไป และตัณหาที่คอยกระซิบขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๑] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้ มีความรู้ ดังนี้ว่า
ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันเป็นเหตุ
สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้วแสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เรานั้น
จักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ
ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ และความสำคัญ
สภาวะ ว่าต่างกันขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๒] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึก
แสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหาย
ไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูป
ของเราหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เรา นั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปแล
เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิ
เคลื่อนแล้วแสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ
ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกิน ไป ความเพียร
ที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่าง กัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูป
เกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๓] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นแลรู้ว่า วิจิกิจฉาเป็นเครื่องเกาะจิตให้ เศร้าหมอง จึงละ
วิจิกิจฉาตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่าอมนสิการเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละ
อมนสิการตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่าถีนมิทธะเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละ
ถีนมิทธะตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความหวาดเสียวเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความหวาดเสียว ตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความตื่นเต้นเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมอง จึงละความตื่นเต้นตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความชั่วหยาบเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมอง จึงละความชั่วหยาบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความเพียรที่ปรารภ
เกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความเพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมอง
เสียได้ รู้ว่า ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความเพียรที่
ย่อหย่อนเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมอง จึงละตัณหาที่คอยกระซิบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความสำคัญสภาวะว่า
ต่างกันเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความสำคัญสภาวะว่าต่างกันตัวเกาะจิตให้เศร้าหมอง
เสียได้ รู้ว่า ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้ เศร้าหมอง จึงละลักษณะที่เพ่งเล็ง
รูปเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ ฯ

[๔๖๔] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึก
แสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียวแลแต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอด
กลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง เรานั้นจึงมีความดำริ
ดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เรารู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป
เห็นรูปอย่างเดียวแลแต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้ง
กลางคืนและกลางวันบ้าง ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เราไม่ใส่ใจ นิมิตคือรูป
ใส่ใจแต่นิมิตคือแสงสว่าง สมัยนั้น เราย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป
ส่วนสมัยใดเราไม่ใส่ใจนิมิตคือแสงสว่าง ใส่ใจแต่นิมิตคือรูป สมัยนั้น เราย่อมเห็นรูปอย่าง
เดียวแล แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและ
กลางวันบ้าง ฯ

[๔๖๕] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึก
แสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูป
อย่างหาประมาณมิได้ ตลอดกลางคืนบ้างตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
เราจึงมีความดำริดังนี้ว่าอะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เรารู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย
เห็นรูป ได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้างดูกรอนุรุทธ
เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เรามีสมาธินิดหน่อย สมัยนั้นเราก็มีจักษุนิดหน่อย ด้วยจักษุ
นิดหน่อย เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อยเห็นรูปได้นิดหน่อย ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิ
หาประมาณมิได้ สมัยนั้น เราก็มี จักษุหาประมาณมิได้ ด้วยจักษุหาประมาณมิได้ เรานั้นจึงรู้สึก
แสงสว่างหาประมาณมิได้ และเห็นรูปหาประมาณมิได้ ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง
ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง ฯ
ดูกรอนุรุทธ เพราะเรารู้ว่าวิจิกิจฉาเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละ
วิจิกิจฉาตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าอมนสิการเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละ
อมนสิการตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าถีนมิทธะเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอัน
ละถีนมิทธะตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความหวาดเสียวเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความหวาดเสียวตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความตื่นเต้นเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความตื่นเต้นตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความชั่วหยาบเป็นเครื่อง
เกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความชั่วหยาบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความเพียร
ที่ปรารภเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความเพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะ
จิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอัน
ละความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเครื่อง
เกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละตัณหาที่คอยกระซิบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความ
สำคัญสภาวะต่างกันเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความสำคัญ สภาวะว่าต่างกัน
ตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็น เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ เรานั้นจึงได้มีความรู้ดังนี้ว่า
เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองนั้นๆ ของเรา เราละได้แล้วแล ดังนั้น เราจึงเจริญสมาธิโดยส่วนสาม
ได้ในบัดนี้ ฯ

[๔๖๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง ได้เจริญ สมาธิไม่มีวิตก
มีแต่วิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มี
ปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ฯ
ดูกรอนุรุทธ เพราะสมาธิชนิดที่มีวิตกมีวิจารบ้าง ชนิดที่ไม่มีวิตกมี แต่วิจารบ้าง ชนิดที่
ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ชนิดที่มีปีติบ้าง ชนิดที่ไม่มีปีติบ้างชนิดที่สหรคตด้วยสุขบ้าง ชนิดที่
สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง เป็นอันเราเจริญแล้วฉะนั้นแล ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้ เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อุปักกิเลสสูตร ที่ ๘
__________

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๒๙/๔๑๓ ข้อที่ ๔๓๙ – ๔๔๑

ความเป็นคนจน และการกู้ยืมเรียกว่า เป็นทุกข์ในโลก

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๓๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจนเป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืม
แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ กู้ยืมแล้วย่อมรับใช้ดอกเบี้ย
แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ยแล้ว
ไม่ใช่ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา
แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา
แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ฯ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แม้ความเป็นคนจนก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
ด้วยประการฉะนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริ ในกุศลธรรม
ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า
เป็นจนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้าฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ
ยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม
ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เรากล่าว
การประพฤติทุจริตของเขาว่า เป็นการกู้ยืม เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการ
ปกปิดกายทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา
ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา
เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดวจีทุจริตนั้น ฯลฯ
เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดมโนทุจริตนั้น
ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา
เรากล่าวเหตุการปกปิดทุจริตของเขานั้นว่า เป็นการรับใช้ดอกเบี้ยเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีล
เป็นที่รักได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุรูปนี้ เป็นผู้กระทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้
เรากล่าวการถูกว่ากล่าวของเขาว่า เป็นการทวงดอกเบี้ย อกุศลวิตกที่เป็นบาปประกอบด้วยความ
เดือดร้อน ย่อมครอบงำเขาผู้อยู่ป่า ผู้อยู่โคนไม้ หรือผู้อยู่ในเรือนว่าง เรากล่าวการถูก
อกุศลวิตกครอบงำนี้ของเขาว่า เจ้าหนี้ติดตามเขา คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล ครั้นประพฤติ
ทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมถูกจองจำ ในเรือนจำ คือ นรก หรือใน
เรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่ง
เดียว ซึ่งร้ายกาจ เป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ
หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำ คือ นรก หรือเรือนจำ คือ
กำเนิดดิรัจฉานเลย ฯ

ความเป็นคนจนและการกู้ยืมเรียกว่า เป็นทุกข์ในโลก คนจนกู้ยืมเลี้ยงชีวิต
ย่อมเดือดร้อน เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา เพราะไม่ใช้หนี้นั้น
เขาย่อมเข้าถึงแม้การจองจำก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ของชนทั้งหลาย
ผู้ปรารถนาการได้กาม ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้ใดไม่มีศรัทธา
ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต ย่อมปรารถนา ย่อมดำริว่า คนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา พอกพูน
บาปกรรมในที่นั้นๆ อยู่บ่อยๆ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เราตถาคต
ย่อมกล่าวว่า เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม
ทราบความชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน มีหนี้สิน เลี้ยงชีวิตอยู่ย่อมเดือดร้อน
ลำดับนั้น ความดำริที่มีในใจ เป็นทุกข์เกิดขึ้นเพราะความเดือดร้อนของเขา
ย่อมติดตามเขาที่บ้าน หรือที่ป่า เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม
ทราบความชั่วของตนอยู่ ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานบางอย่าง
หรือถูกจองจำในนรก ก็การจองจำนั้นเป็นทุกข์ ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้
บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลาย ที่ได้มา
โดยชอบธรรม ย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสองของผู้มีศรัทธา
อยู่ครองเรือน คือ
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน
และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ
การบริจาคของคฤหัสถ์ดังกล่าวมานั้น ย่อมเจริญบุญ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น
มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล
ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแลเราเรียกว่ามีชีวิตเป็นสุข
ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิส
ยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่นละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้
ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏ
มีปัญญารักษาตัว มีสติจิตของเขาย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะทราบเหตุ
ในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือมั่น
โดยประการทั้งปวง หากว่าเขาผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ในนิพพาน
เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมมีญาณ
หยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบไซร้ ญาณนั้นแลเป็นญาณ
ชั้นเยี่ยม ญาณนั้นเป็นสุขไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มีโศก หมดมัวหมอง
เป็นญาณเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้ ฯ

(อิณสูตร)
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๒๐/๔๐๗ ข้อที่ ๓๑๖

ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการอันพวกเราพึงหวังได้

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ดูกรอาวุโส ก็เมื่อพวกท่านประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้อยู่
ผลกี่ประการ อานิสงส์กี่ประการ อันท่านทั้งหลายพึงหวังได้ ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เมื่อพวกเราประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แลอยู่ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการ อันพวกเราพึง หวังได้ ๔ ประการเป็นไฉนดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้จะเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ต้องตกต่ำเป็นธรรมดาเป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าเพราะสังโยชน์สามสิ้นไป
ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๑ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑

ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุจะเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น
แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์สามสิ้นไปและเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะเบาบางข้อนี้เป็นผลประการที่ ๒ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒

ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุจะเป็นอุปปาติกะ [เป็นพระอนาคามี] ผู้จะปรินิพพานในภพนั้นเป็นผู้ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ทั้ง ๕ สิ้นไป
ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๓ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓

ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๔ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔

ดูกรอาวุโส เมื่อพวกเราเป็นผู้ประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แลอยู่
ผล ๔ ประการอานิสงส์ ๔ ประการเหล่านี้ อันพวกเราพึงหวังได้ ดังนี้ ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๐๕/๒๘๘ ข้อที่ ๑๑๖

ทานให้แล้วมีผลมากไม่มีอานิสงส์มาก และทานให้แล้วมีผลมากมีอานิสงส์มาก ฯ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทานสูตร

[๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคคราใกล้จัมปานคร
ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวเมืองจัมปามากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมีกถา
เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้ฟังมานานแล้ว ขอได้โปรดเถิด พวกกระผม
พึงได้ฟังธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายพึงมาในวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถาในสำนักพระผู้มีพระภาค
แน่นอน อุบาสกชาวเมืองจัมปารับคำท่านพระสารีบุตรแล้วลุกจากที่นั่ง อภิวาทกระทำ
ประทักษิณแล้วหลีกไป ต่อมา ถึงวันอุโบสถ อุบาสกชาวเมืองจัมปาพากันเข้าไปหาพระสารีบุตร
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสก
ชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคน
ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแล และทานเช่นนั้นแล ที่บุคคล
บางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มากพึงมีหรือพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
พึงมี ฯ
สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแล
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย
เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล
ให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน
คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่อง
อุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ
สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคล
บางคนในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่คิดว่า
ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี เขาให้ทาน
คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและ
เครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ
สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน
ในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี แต่ให้ทาน
ด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน
คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า
ตา ยายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน
สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์
ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต
เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเราหุงหากินได้
สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์
ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน
คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี
วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก
แจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯและภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า
เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้
จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ
ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์
แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ
สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน
ในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดีไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
เคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทาน
ด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี
วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี
และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส
จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อ
ตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ
เป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย
เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็น
เครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
จบสูตรที่ ๙

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๕๔/๓๗๙ ข้อที่ ๔๙

ต้องรู้จักให้อภัย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โลกมนุษย์นี้มีความงามงอนเหมือนราชรถ
มีคำต่อ ไปว่า มีผู้โง่เขลาเท่านั้นข้องอยู่ ผู้มีสติปัญญาที่ฉลาดรอบรู้หาข้องอยู่ไม่
ถ้าเรา ใช้วิจารณญาณพิจารณาในคำสอนของพระพุทธเจ้าในบทนี้
จะเป็นอุบายสอนใจตัวเองได้เป็นอย่างดี
ผู้ที่มีความทุกข์เดือดร้อนใจ มีสาเหตุเนื่องจากไม่ยอมรับความจริง
สิ่งใดไม่ถูกใจไม่ชอบใจ ก็จะเกิดความรู้สึกรับในสิ่งนั้นไม่ได้
เป็นในลักษณะเข้าข้างตัวเอง ไม่ยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกใจ
ไม่ว่าสิ่งใดจะต้องให้เป็นไปตามใจชอบทั้งหมด ไม่ยืดหยุ่น
มีความเห็นอย่างไร มีความเข้าใจเป็นอย่างไร ก็อยากให้สิ่งทั้งหมด
เป็นไปตามความเข้าใจอย่างนั้น นี้คือศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของโลกไม่ทั่วถึง
ไม่เข้าใจในกระแสโลกที่มีอยู่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง

การศึกษาธรรมก็คือศึกษา หลักของธรรมชาติคือความเป็นจริง
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีการตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปหรือดับไป
ความเข้าใจและความเห็นของคนเราย่อมแตกต่างกัน
จะให้ทุกคนมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันนั้นเป็นไปไม่ได้
ความเห็นของนักปราชญ์บัณฑิตก็มีความเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ความเห็นของคนพาลสันดานชั่วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ในโลกนี้มีทั้งนักปราชญ์และคนพาลอยู่ร่วมกัน
ความคิดความเห็นย่อมมีความแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา
ถ้าหากคบกับนักปราชญ์ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
เมื่อจำเป็นจะต้องได้อยู่ในกลุ่มคนพาลก็ต้องหาทางออกที่ยืดหยุ่น
อ่านนิสัยของคนพาลสันดานชั่วให้เข้าใจในธาตุแท้ของคนพาล มีความประพฤติเป็นอย่างไร
คนพาลก็คือคนพาล จะเอาอะไรให้สมบูรณ์แบบไม่ได้
คนที่ใจต่ำทราม การทำการพูดเขาไม่ได้คิดถึงเหตุและผล เขาก็จะทำจะพูดให้ถูกกับใจเขาเท่านั้นเอง
จะเอาความประพฤติในการทำการพูดของคนพาล ให้ถูกกับความต้องการของเราทั้งหมดไม่ได้
ต้องรู้จักให้อภัยกับคนประเภทนี้ เพราะเขายังไม่มีสติปัญญารับผิดชอบในการทำการพูดของเขาได้
บัณฑิตกับคนพาลก็มีความอยากอยู่ในตัว แต่ใช้ความอยากที่แตกต่างกัน การทำกรรมก็ทำไปคนละอย่างกัน

ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
http://www.baanjomyut.com/pratripidok/toon/04.html

อานิสงส์การถวายสังฆทาน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทสร้างด้วยอิฐใกล้นาทิกคาม
ครั้งนั้น คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะ (พ่อค้าฟืน) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
ดูกรคฤหบดี ทานในสกุล ท่านยังให้อยู่หรือ
คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยัง
ให้อยู่และทานนั้นแล ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค
ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯ

พ. ดูกรคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร
บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่
พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตมรรค ดูกรคฤหบดี
ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน
ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์
เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่ามมีสติตั้งมั่น
มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์
เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯเมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านฯลฯเมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ
มีใจไม่ตั้งมั่นมีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น
มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้
ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ดูกรคฤหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส
ท่านนั้นเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะ ทูลสนองว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์นี้จักให้สังฆทานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

(ทารุกัมมิกสูตร)
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๕๑/๔๐๗ ข้อที่ ๓๓๐

สัมมาสมาธิของพระอริยะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะอันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งประกอบแล้วด้วยองค์ ๗
เหล่านี้แลเรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ
รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
[๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผลผล
วิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้
โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี นี้มิจฉาทิฐิ ฯ
[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ
สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว
มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า
ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกมีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
[๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ
เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้
พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ฯ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
ย่อมห้อมล้อมเป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ

[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ
รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
[๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน คือ ความดำริในกาม ดำริในพยาบาท
ดำริในความเบียดเบียน นี้มิจฉาสังกัปปะ ฯ
[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ
สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑
สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน
นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
[๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ
เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตกความดำริ ความแน่ว ความแน่
ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค
เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะ
ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้ มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
เป็นไปตามสัมมาสังกัปปะของภิกษุนั้น ฯ

[๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา
รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
[๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาวาจาเป็นไฉน คือพูดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบเจรจาเพ้อเจ้อ นี้มิจฉาวาจา ฯ
[๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ
สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์
เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ นี้สัมมาวาจา ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้น
จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค
เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจา ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่ ความพยายามของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ฯ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมเป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น ฯ

[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า มิจฉากัมมันตะ
รู้จักสัมมากัมมันตะว่า สัมมากัมมันตะ
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน คือ
ปณาติบาต อทินนาทานกาเมสุมิจฉาจาร นี้มิจฉากัมมันตะ ฯ
[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ
สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑
สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ
[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน
คือ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรคเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงดความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริต ทั้ง ๓ ของภิกษุ
ผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล
สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ
ความพยายามของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ฯ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือสัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น ฯ

[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่า มิจฉาอาชีวะ
รู้จักสัมมาอาชีวะ ว่าสัมมาอาชีวะ
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ การโกง การล่อลวง
การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภนี้มิจฉาอาชีวะ ฯ
[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ
สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑
สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ
[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ
ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล
สัมมาอาชีวะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ
ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ

[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ จึงพอเหมาะได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘
จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ฯ

[๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฐิได้ ทั้งอกุศลธรรมลามก เป็นอเนกบรรดามี
เพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฐิสลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนก
ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฐิเป็นปัจจัย ฯ
ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้…
ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้…
ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้…
ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้…
ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้…
ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้…
ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้…
ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้…
ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี
เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว
และกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ
อันเราให้เป็นไปแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้ ฯ

[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียน
คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อน และการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ
อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว ถ้าใคร
ติเตียนสัมมาทิฐิ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีทิฐิผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสังกัปปะผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาจาผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีการงานผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีอาชีวะผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีความพยายามผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสติผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ ผู้มีสมาธิผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีญาณผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่าน สมณพราหมณ์ผู้มีวิมุตติผิด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้าน
ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วย
เหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว
ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้พวกอัสสะและพวกภัญญะชาวอุกกลชนบท ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ
นัตถิกวาทะก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ นั่นเพราะเหตุไร
เพราะกลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๔๕/๔๑๓

พระพุทธเจ้าอยู่เหนือกรรม ธรรมะโดยหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ

null

ความวุ่นวายที่ทุกคนมีอยู่ยังดับไม่ลง เดี๋ยวเรื่องนั้นเข้ามาแทรกเดี๋ยวเรื่องนี้เข้ามาซ้อน เรื่องลูกหลานเรื่องบ้านเรือน เรื่องรักเรื่องใคร่ เรื่องโลภโกรธหลงมีอยู่ในหัวใจทุกคน แสวงหาความอยาก ความรัก เช่นไปขอความรักเขา อยากให้เขารักเรามากๆ รักน้อยไม่เอา อยากให้มันเพิ่มมากขึ้น ที่จริงมันเพิ่มทุกข์ทั้งนั้น

สามีก็อยากให้ภรรยารักให้มากรักให้หลงเลย ให้รักตนคนเดียวไม่ให้ไปรักคนอื่น ภรรยาก็อยากให้สามีรักตนคนเดียวไม่อยากให้รักผู้หญิงอื่น ให้รักคนเดียวและอยากให้รักมากๆ มีเพื่อนฝูงก็อยากให้เพื่อนฝูงรักและเห็นใจตนคนเดียว

เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็ทุกข์มากขึ้น รักมากก็กังวลมาก กลัวจะเป็นโน่นเป็นนี่ กลัวจะไม่ดี กังวลกลัวจะเปลี่ยนแปลง เกิดความทุกข์กระสับกระส่ายกระวนกระวาย เมื่อรักมากห่วงมากก็เป็นทุกข์มาก ห่วงมากๆเข้าก็หึงหวงเกิดทะเลาะขัดแย้งกันเพราะไม่ตรงตามที่ตกลง

ภรรยาก็เป็นอย่างนั้น เมื่อสามีไปไหนไม่ตรงตามเวลา คอยแล้วคอยอีกคอยจนดึกดื่น ถ้าไม่มาคืนนี้ก็เป็นปัญหาเพราะมันรักหมดหัวใจจนหลงมากก็ห่วงมาก เป็นทุกข์กังวล ผลที่สุดเมื่อไม่สมใจแล้วก็ขัดแย้งกันต่อว่ากันถากถางกันรุนแรง ทีแรกก็หวานกันดีหนักเข้าคำพูดที่ไม่ดีก็ออกมา การต่อว่ากันทะเลาะขัดแย้งกันก็มาจากความรักมากนั่นเอง เพราะรักมากจึงต้องห่วงกลายเป็นว่าเอาความรักมาทะเลาะกัน

แม้รักลูกมากก็ตาม ลูกกลับดึกดื่นกลับไม่ตรงเวลา แม่ก็ด่าสาดเข้าไปคอยบ่นคอยว่า ลูกก็ไม่ชอบ ความรักจึงกลายเป็นความทุกข์เสียแล้ว

“ทำไมรักแล้วต้องเป็นอย่างนี้ด้วย” รักแล้วต้องคอยติดตามเป็นเงาตามตัวทำไม?
คนถูกรักก็ไม่เข้าใจในความรัก คนที่รักก็ไม่เข้าใจในความรัก รักแล้วกลายเป็นห่วงกลายเป็นเฝ้าติดตามจนกลายเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา รักไม่มีธรรมะมักเป็นอย่างนี้

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วไม่มีครอบครัวหรือชีวิตใดที่เป็นไปตามความหวัง ตามความต้องการตามที่ตนปรารถนาได้ ลูกต้องการให้พ่อแม่ตนรักอย่างมีขอบเขต แต่พ่อแม่ก็รักมากเกินไปจนไม่มีขอบเขต สามีก็อยากให้ภรรยารักตนให้มากและให้มีขอบเขต แต่มันก็ไม่มีขอบเขต ภรรยาก็มีรักที่ไม่มีขอบเขตกับสามีหรือสามีก็มีรักที่ไม่มีขอบเขตกับภรรยา พิษภัยความทุกข์จึงเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความรักมาก แล้วปัญหานี้ก็แก้ไม่ตก

ถ้าเราไม่เข้าหาธรรมะมันก็หนักเอียงไปทางเดียว เอียงไปทางที่เป็นทุกข์อยู่เรื่อย เพราะเราอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันตรงกับตามความต้องการ แต่มันก็ไม่เป็นดังที่เราต้องการสักที นี่แหละชีวิตคนเราถ้าไม่มีธรรมะแล้วก็จะมีปัญหา แม้แต่ความรักก็เป็นเรื่องใหญ่โตเป็นความทุกข์ที่เข้ามาแทรกซ้อนอยู่ทุกลมหายใจ

แม้คนที่รักเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอะไรขึ้นมาก็เป็นทุกข์กับคนที่รัก ทรมานจิตใจเหลือเกินเจ็บหัวใจเหลือเกินเพราะไม่อยากให้เขาเจ็บไข้ไม่อยากให้เขาตาย อยากให้เขาดีอยู่ตลอดเวลา เพราะความรักมากเป็นห่วงมากจึงเฝ้าเป็นทุกข์อยู่คนเดียว

ส่วนพ่อแม่ที่รักลูกมาก ลูกไม่เป็นทุกข์แต่พ่อแม่เป็นทุกข์เพราะห่วงลูกมากอยากให้ลูกเป็นไปตามที่ตนต้องการ แต่ลูกก็เป็นลูกอย่างนั้นเองที่ไม่เข้าใจพ่อแม่ แม้ภรรยาก็เป็นภรรยาอย่างนั้นเองที่ไม่เข้าใจสามี หรือแม้สามีก็เป็นสามีอย่างนั้นเองที่ไม่เข้าใจภรรยา จึงเป็นความรักที่ไม่เข้าใจกัน

ความรักจะเข้าใจกันทีแรกเท่านั้น อยู่ไปนานๆ มันไม่รู้จักความเข้าใจเพราะมันเกินเลยไม่มีขอบเขต คนเราจึงมีปัญหาหัวใจ เป็นทุกข์เพราะห่วง เพราะหวง เพราะกังวล เพราะมันไม่ตรงตามที่เราต้องการ

แม้ความรักที่สาบานว่าจะรักกันจนตายมันก็ยังทิ้งกันได้ ต่างคนต่างเกิดมาก็ตายจากกันได้ ไม่มีอะไรเป็นของเที่ยงเลย แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นว่าทุกอย่างนั้นจะเป็นไปตามสัญญาไม่มีหรอก

ถ้าเขาไม่รักแล้วจะทำอย่างไร

เขาไม่ห่วงเราแล้วเราจะห่วงเขาทำไม?
เขาไม่รักเราแล้วเราจะรักเขาทำไม?
เมื่อรักไม่สมปรารถนา เราจะตายบูชาความรักทำไม?

เขานั่งยิ้มอยู่แต่เราไปผูกคอตาย เป็นความคิดผิดๆ รักเขามากเขาไม่รักด้วยไปตายดีกว่า โธ่! เขาไม่รักแล้วจะตายทำไมจะต้องทำใจให้ได้ รักตัวเองเข้าหาธรรมสิ!

คนเรามันโง่ก็คิดไปผิดๆ เขาไม่รักเรายิ่งทุกข์ใหญ่ เขาไม่รักเราสิสบายใจเราไม่ต้องไปปรนนิบัติเอาใจเขา เป็นทาสของความรัก เรียกว่าเป็นทุกข์เพราะความรัก

ถ้าเป็นคนมีธรรมะใครไม่รักไม่หวงไม่ห่วงก็ไม่เป็นไร เราจะได้อยู่กับธรรมะ จะได้ไปบวชเรียนไปสร้างบารมีจะได้คบคนดีเป็นมิตร จะได้ไม่ผิดหวัง ไม่เจอคนหลอกลวง ถ้าฝืนทนอยู่กับคนที่เขาไม่รัก เขาไม่จริงใจด้วย เป็นความคิดผิด เป็นความทุกข์

ถ้ามีธรรมะประจำใจแล้วจะปลงตก ผัวไปมีเมียน้อยก็ยกให้เมียน้อยเลย จะได้ไปหาธรรมะรอเวลานี้มานานแล้วจะได้หมดห่วงเสียที อยู่กับคนไม่ดีคนสองใจนี่ไม่มีความสุขหรอก ไปอยู่กับธรรมะใจเดียวดีกว่าสบายใจดี ถ้าฉลาดคิดสักหน่อยสลัดทิ้งเหมือนผ้าขี้ริ้วเลย ถ้าไม่ฉลาดคิดก็เป็นทุกข์อยู่นั่นเองต้องตกเป็นทาสของมันเป็นทาสของความรัก ความหวง ความห่วง

การปรุงแต่งที่ผิดๆว่าลูกเราครอบครัวเราทำไมจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เกิดความกังวลเป็นทุกข์ นึกคิดขึ้นมาเพราะความหลงผิดปรุงแต่งผิดๆ ไปนึกถึงคนนั้นคนนี้ขึ้นมาก็เกิดความร้อนรุ่มกลุ้มใจ ถ้าเราเพิ่มความรักมากขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น ควรทำใจให้สงบคิดเสียว่า (ช่างมึ..ช่างมัน) มันจะเกิดก็ต้องเกิดมันจะดับก็ต้องดับมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้นานเนแล้ว

ความรู้ความเข้าใจมีสติระลึกรู้ระวังใจตัวเองนี้ต้องฝึกฝนอบรมไปเรื่อยๆ ทำให้เรามีความสุขได้มากเหมือนไปสวรรค์ในครั้งหนึ่งเหมือนมีวิมานในใจ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยึดเหนี่ยวทำให้ใจร่มเย็น เรามีความสุขสงบครั้งหนึ่งก็เท่ากับเป็นทุนเป็นปัจจัยที่ฝังลึกลงไปในหัวใจเราว่าทางดับทุกข์มีทางเดิน แต่ที่วุ่นวายอยู่นี่เพราะเรายังเดินทางไปไม่ถึง เรายังอยู่กับความวุ่นวาย เราต้องละความห่วงความกังวลให้มันน้อยลงมันก็สิ้นทุกข์ไปเอง

การมีธรรมะฝึกอบรมใจช่วยให้จิตใจเรามีพื้นฐาน เมื่อมีทุกข์จะได้ไม่ไปทุกข์กับมัน อดทนรู้ทันอารมณ์รู้ทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นมา อันนี้เขาเรียกว่าธรรมะคุ้มครองปกป้องรักษา อยู่กับพระรัตนตรัยแล้วก็จะมีความสุข

การมีธรรมะได้เปรียบอย่างนี้แหละ พยายามฝึกใจฝึกให้เห็นธรรมให้รู้ธรรมที่ใจ ทุกข์มันเกิดที่ใจก็ต้องแก้ปัญหาที่ใจด้วยความคิดทางธรรม และแก้ปัญหาด้วยการภาวนา (พุทโธ) ทำให้ใจเราเย็นลงสงบลง ภาวนามากๆ เข้า ใจมันสบายเอง จิตมันไม่สับสนกังวล ความห่วงก็น้อย

เพราะอะไร เพราะมีปัญญาที่ตัดใจได้ เมื่อเราเกิดมาคนเดียวก็ตายคนเดียว ห่วงกันก็แค่นั้นเองช่วยอะไรกันไม่ได้ พอมีปัญญาก็ปลงตก ถ้าไม่มีปัญญาก็ทุกข์คนเดียวทั้งที่คนอื่นเขาไม่ทุกข์เท่าไหร่ ฉะนั้นธรรมะนี้จึงแก้ปัญหาหัวใจตนเอง

เราต้องรู้จักบั่นทอนตัดกิเลสอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียดให้มันลดน้อยถอยลง ขัดเกลาให้มันว่างบ้างสงบบ้าง จากหนักกลายเป็นเบา เบาลงๆเกิดความปล่อยวางขึ้นก็สบาย เพราะความรู้ทันว่าอะไรควรคิดอะไรไม่ควรคิด อะไรควรรับอะไรไม่ควรรับจึงจะมีความสุข เมื่อเข้ามาสู่แดนธรรมมาสู่ทางสว่างทางสงบ

รู้จักละวางให้ใจว่างบ้างด้วยการภาวนา ด้วยการเข้าใจธรรม พอมันไปห่วงไปรักไปกังวลคนอื่นมันเป็นทุกข์ทุกทีอีกแล้วว่าเขาจะเป็นโน่นเป็นนี่ ตัดใจให้ได้ช่างมันเถอะเกิดคนเดียวตายคนเดียว เอาความตายมาตัดปุ๊ปสบายใจ คนเรากรรมใครกรรมมัน เขาทำบุญไว้ก็ต้องไปดีเขาทำบาปก็ต้องไปตามกรรมของเขา ใครจะไปดึงรั้งเขาได้

จึงว่าเราเกิดมาแล้วก็ศึกษาชีวิตให้เป็นธรรมะเสีย เกิดคนเดียวตายคนเดียวกินคนเดียวทุกข์คนเดียว ถ้าเรายังช่วยใจตนเองให้สงบไม่ได้ ก็ช่วยคนอื่นไม่ได้จะต้องช่วยเหลือตนเองก่อน เมื่อช่วยเหลือตนเองได้ก็ช่วยเหลือผู้อื่นได้

http://www.baanmaha.com/community/thread10695.html

ยักษ์กาลเวลาหรือเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ธรรมะเป็นแดนสงบ ธรรมะเป็นที่อยู่ของใจ ธรรมะ คือการรู้ทันสภาพความเป็นจริงของจิตที่คิดอยู่ทุกวันนี้ว่ามันมีอะไรบ้าง ทำได้ก็ไม่ยาก แต่เราไม่ควรประมาท คนประมาทถือว่าเป็นคนที่ไม่รู้เวลาของตัวเอง หรือไม่รู้อายุของตัวเอง คนที่ประมาทนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า คือคนที่ตายแล้ว

เวลา วันคืนเปรียบเหมือนยักษ์ ยักษ์ตัวนี้เขาเรียกว่า ยักษ์กาลเวลา หรือเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท คือการวนเวียนย้อนกลับมาตั้งต้นใหม่อยู่เรื่อยไม่จบไม่สิ้น ปฏิจจสมุปบาท เหมือนนาฬิกา สมมุติว่าตอนนี้ 9 โมง 39 นาที แล้ว มันก็จะวนกลับมา 9 โมง 39 นาทีอีก มันก็วนของมันอยู่อย่างนี้ แต่ทุกครั้งที่วนกลับมานั้นมีความหมาย คือ เมื่อมันวนมาบ่อยๆ หลายๆ ชั่วโมง เราก็แก่ไปเรื่อย ๆ

เช่นเรานั่งอยู่นี่ พอมันวนมาอีก 39 นาที เราก็เมื่อย เมื่อยคืออนิจจังเกิดแล้ว ทุกขังเกิดแล้ว เราก็แก่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามันวนไปถึงปีเราก็จะแก่ไปอีกปี ถ้ามันวนไปถึงสิบปีเราก็แก่ไปอีกสิบปี เวลานี้มันกินเราไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ตัวหรอกว่า เมื่อตอนเด็ก ๆ มันก็ 9 โมง 39 นาที วันนี้ก็ 9 โมง 39 นาที แต่เราไม่สังเกตหรอกว่า มาถึงวันนี้มันวนมากี่รอบแล้ว

เมื่อสมัยเราอายุ 9 ขวบก็ 9 โมง 39 นาที ตอนนี้อายุ 60 กว่าปี มันก็ 9 โมง 39 นาที แต่ทำไมร่างกายมันไม่เหมือนกัน ทำไมเส้นผมมันเปลี่ยนสี เมื่อก่อนมันดำแต่ตอนนี้มันหงอก มันก็ 9 โมง 39 นาทีเหมือนกันนี่แหละ แต่ว่าเวลามันหมุนเวียนมากินเราเสียจนร่างกายสมัยอายุ 9 ขวบนั้นหายไปแล้ว ยักษ์กาลเวลาตัวนี้มันกินเราไปแล้ว ถ้าเรามาปฏิบัติธรรมตั้งแต่สมัยโน้นตอนนี้เราก็อาจจะเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่ที่จริงไม่รู้ว่าสมัยโน้นเราไปอยู่ที่ไหน และถึงเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามก็ไม่ใช่ไปอยู่เฉยๆ นะไปสะสมกิเลสไว้เยอะเลย ไปสะสมลูกหลานบ้านเรือน ไปสะสมความคิดตัวกูของกู ไปสะสมปัญหาต่างๆ มาสุมหัวใจจนเต็มไปหมดเลย

เวลาเดียวกัน แต่ถูกกลืนกินสังขารหายไปหมดเสื่อมไปเยอะเลย นี่ยกตัวอย่างให้ฟังนะ

ยักษ์ตนนี้มีสองตา ตาหนึ่งดำ ตาหนึ่งขาว บนหัวมีมงกุฏกะโหลก 5 หัว ที่หูทัดดอกไม้ไฟ ตัวหุ้มด้วยหนังเสือ เล็บมือเล็บเท้ายาวแหลมคม ข้อมือข้อเท้ามีห่วงเปลวเพลิง

ยักษ์ตนนี้มันกลืนกินหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ก็ดี สัตว์นรกก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี เทวดาก็ดี เว้นอยู่จำพวกเดียวคือ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ที่มันกินไม่ได้ นอกนั้นล้วนตกอยู่ในอำนาจของกรงเล็บยักษ์ทั้งสิ้น ยักษ์นี่กลืนกินทุกวันเลย แล้วก็อยู่ในวงวัฏจักรอยู่ในชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ยักษ์ตนนี้จะกลืนกินคนที่หลงอย่างนี้เวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้จนไม่จบไม่สิ้น พอเกิดใหม่ก็จะหลงอยู่อย่างนี้

บางคนหลงมาก พอตายไปก็ตกนรก บางคนได้สติมีปัญญารู้จักให้ทานรักษาศีล พอตายไปก็ไปเป็นเทวดา หากทำสมาธิได้ก็ไปเป็นพรหม แต่ก็วนเวียน อยู่ในกาลเวลาใน ปฏิจจสมุปบาทนี่เอง มีอย่างเดียวที่เราทำได้ คือปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8

มรรคมีองค์ 8 คือวิธีปฏิบัติที่พุทธเจ้าชี้ทางให้ เพื่อให้มารู้เรื่องจิตใจของเราว่าอะไรทำให้จิตของเรามืดมน ให้เราตื่นขึ้นรู้ขึ้น เยือกเย็นขึ้น สงบขึ้น เรียกว่ารู้ทันมากขึ้น

ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่พยายามดิ้นออกจากกรงเล็บของยักษ์ ผู้ปฏิบัติธรรมนี่ ถือว่ากาลเวลากินไม่ได้ แต่ถ้าคนไหนเดินเข้าไปหาชีวิตที่ไม่ได้ปฏิบัติก็ถือว่ายักษ์ตนนี้ครอบงำอยู่ คอยจับกินให้ตายไปกับเวลานั้น แล้วเราก็หนีเวลานี้ไม่พ้นไม่ว่าจะเป็นกลางคืนหรือกลางวันก็หนีไม่พ้น เขาต้องกินเราตลอดเวลาแน่นอน พระพุทธเจ้าจึงปรินิพพานทรงออกจากกงกรรมสารจักร หักเขี้ยวเล็บยักษ์ตนนี้ได้แล้ว พระพุทธเจ้าอยู่เหนือกรรมแล้ว เหนือพระไตรลักษณ์แล้ว เวลาไม่กินท่านอีกแล้ว ท่านจึงได้ชื่อว่าไม่ตาย

http://www.baanmaha.com/community/thread9349.html

กรรมเหนือหมอดู

null

“กรรมเหนือหมอดู”
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ
โดย อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ผมเป็นศิษย์โหร แต่มิได้เป็นโหร หลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี หรือมหาอิ๋น เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ธนบุรี (สมัยนั้น) เป็นโหราจารย์ชั้นยอด สมัยนั้นมีโหราจารย์ที่ดังอยู่เพียงสองท่านเท่านั้น คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกรูปหนึ่งคือพระภัทรมุนี

แต่โหรสมัยก่อนเขามิได้ทายส่งเดช อย่างหลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี ท่านเป็นที่ปรึกษาทางจิตใจให้แก่ศิษย์มากกว่าเป็นหมอดู เรื่องประเภทไหนควรทาย ไม่ควรทายท่านมี “จรรยาบรรณ”

บางทีกว่าจะทายได้สักราย ท่านคำนวณแล้วคำนวณอีกถึงสองสามวันก็มี ไม่แน่ใจท่านก็ไม่ทาย

มีเรื่องเล่าว่า หนุ่มสาวคู่หนึ่งจูงมือมาให้หลวงพ่อกำหนดวันแต่งงานให้ ท่านดูๆ แล้ว บอกว่าท่านไม่สามารถให้ฤกษ์ได้ ขอให้ไปหาสมเด็จฯ วัดสระเกศ สองคนก็ไปหาสมเด็จฯ และก็ได้ฤกษ์ไป มีผู้ถามสมเด็จฯ ภายหลังว่า ทำไมเจ้าคุณอิ๋นไม่ให้ฤกษ์ สมเด็จฯ บอกว่า “เจ้าคุณท่านดูแล้วสองคนนี้จะอยู่ด้วยกันไม่ตลอด แต่อาตมาถือว่า เขาเป็นคู่กันต้องได้แต่งงานกัน ส่วนต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงให้ฤกษ์แต่งไป”

ถูกทั้งสองรูป รูปหนึ่งมองว่าถ้าจะแต่งงานกันก็ควรไปได้ตลอด อีกรูปหนึ่งมองว่า ดวงมันเป็นคู่กันก็ต้องได้แต่งงานกัน ส่วนจากนั้นไป จะอยู่ด้วยกันยืดหรือไม่ เป็นเรื่องของทั้งสองคน แล้วแต่จะมอง

เมื่อผมสอบเปรียญเก้าประโยคได้แล้ว หลวงพ่อพยายามชักจูงให้ผมเรียนโหราศาสตร์ ผมก็ยืนยันว่า ไม่อยากเป็น “หมอดู” หลวงพ่อบอกว่า โหร มิใช่หมอดู เราศึกษาโหราศาสตร์ให้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต ไม่จำเป็นต้องพยากรณ์ใคร คล้ายจะบอกว่า โหราศาสตร์กับพยากรณ์ศาสตร์แยกกันได้

แต่ผมก็เห็นโหรส่วนมากท่านก็พยากรณ์ทั้งนั้น

ผมแย้งว่าพระพุทธเจ้าท่านตำหนิเป็น “ติรัจฉานวิชชา” มิใช่หรือ ท่านตอบว่า ถ้าเอาคำจำกัดความว่า ติรัจฉานวิชชาคือ วิชชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เณรเรียนนักธรรมบาลีก็เข้าเกณฑ์นี้ทั้งนั้น

ผมจำนนท่าน แต่ผมก็ไม่ยอมเรียนอยู่ดี ไม่งั้นป่านนี้เป็นหมอดูแม่นๆ ไปแล้ว

หลวงพ่อเล่าว่า ปราชญ์โบราณท่านเรียนโหราศาสตร์ทั้งนั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชการที่สี่ สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น ก็ทรงเชี่ยวชาญโหราศาสตร์ทั้งนั้น แต่ก็ไม่เห็นท่านใช้โหราศาสตร์พยากรณ์ใครเป็นอาชีพ แล้วท่านก็เล่าเรื่องที่ต่างๆ ให้ผมฟังแล้วก็ตื่นเต้นด้วยความดีใจที่ได้รับรู้เรื่องราวเก่าๆ ชนิดจะไปหาอ่านที่ไหนไม่ได้

ก่อนทรงศึกษาโหราศาสตร์นั้น พระวิชรญาณ (สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่สี่) ทรงได้รับพยากรณ์จากหลวงตาเฒ่ารูปหนึ่งดูเหมือนชื่อ ทอง แห่งวัดตะเคียนว่า จะได้ราชสมบัติแน่นอน รับสั่งว่าให้เป็นจริงเถอะ จะสมนาคุณอย่างงามเลย แล้วในที่สุดก็ทรงได้ขึ้นครองราชย์จริงๆ ทรงรำลึกถึงหลวงตาเฒ่าวัดตะเคียนขึ้นมา ตั้งพระทัยจะไปนมัสการ ก็ทรงทราบว่า หลวงตาเฒ่ามรณภาพไปนานแล้ว จึงทรงปฏิสังขรณ์เป็นการบูชาคุณหลวงตาเฒ่าแล้วพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดมหาพฤฒาราม (แปลว่า วัดที่สร้างถวายพระผู้เฒ่า)

เมื่อทรงเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์แล้ว ก็มิได้ทรงใช้วิชาโหราศาสตร์ทำนายทายทักอะไร นอกจากทรงวิพากษ์วิจารณ์ดวงพระชาตาของพระราชโอรสบางองค์ ดังทรงวิจารณ์ดวงพระชาตากรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่โหรทั้งหลายว่าเป็นดวงแตก เอาดีไม่ได้ ว่าถ้าถอดดวงให้ละเอียดแล้ว กลับเป็นดวงดีอย่างยิ่งเป็นต้น

และทรงสามารถใช้โหราศาสตร์แก่เคล็ดได้อีกด้วย ดังทรงเห็นว่าดวงพระชาตาพระอนุชาธิราชแข็งมาก จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อถูกอัญเชิญลาสิกขาเพื่อไปครองราชย์ พระองค์จึงทรงสถาปนาพระอนุชาธิราชให้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ากันว่าทรงแก้เคล็ดทางโหราศาสตร์

สองสามวันมานี้มีข่าวโหร หรือหมอดูแม่นชื่อ หมอดูอีที (ขอประทานโทษถ้าฟังมาผิด) เป็นชาวพม่า ทำนายดวงนักการเมืองดังๆ มามาก หลายท่านก็ว่าทำนายได้แม่นยำ

อย่างป๋าเหนาะท่านว่า ท่านเองก็เคยให้หมอดูอีทีทำนาย แม่นมาก “ขนาดเงินกระเป๋าผม ยังทายได้เลยว่า มีใบพัน ใบห้าร้อย ใบร้อยกี่ใบๆ และแต่ละใบเลขอะไร” แล้วท่านเล่าต่อ หมอเขาก็เตือนว่า

ระวังจะถูกหักหลัง ดวงทำบุญคนไม่ขึ้น หมอยังบอกว่าใครควรคบไม่ควรคบ ถึงตรงนี้เสียงนักข่าวแทรกขึ้นว่า “แล้วหมอบอกหรือเปล่าว่าคนหน้าเหลี่ยมไม่ให้คบ” ป๋าท่านก็บอกว่าไม่เอาแล้วๆ อย่าถามมาก อะไรประมาณนั้น

หมอดูที่ทายแม่นยังกับตาเห็น มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ส่วนมากทายอดีตและปัจจุบันค่อนข้างแม่น แต่ทายอนาคตไม่ค่อยแม่น นานๆ จะทายอนาคตค่อนข้างแม่นยำ ดังกรณีซินแสมองหน้าพระหนุ่มสองรูปกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ แล้วก็หัวเราะชอบใจ พระหนุ่มสองรูปถามว่า หัวเราะอะไร ซินแสตอบว่า

“ลื้อสองคงนี้จะได้เป็นพระเจ้าแผ่งลิง (แผ่นดิน)” แล้วก็หัวเราะเห็นฟันเหลือง

คราวนี้ พระคุณเจ้าทั้งสองรูปหัวเราะบ้าง ดังกว่าเสียงของซินแส ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้อย่างไร สองคนเป็นพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน ! ถ้าซินแสแกมีอายุยืนยาวจนได้เห็นว่าอดีตพระหนุ่มสองรูปนั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจริง คือ พระสินได้เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระทองด้วงได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แกก็คงหัวร่อชอบใจที่แกพยากรณ์แม่นจริงๆ

ทำไมการพยากรณ์อดีตจึงแม่น พยากรณ์อนาคตไม่แม่น

ตอบง่ายนิดเดียว เพราะชีวิตคนมิได้ขึ้นอยู่กับโหราศาสตร์เป็นเงื่อนไขอย่างเดียว มันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมาย อดีตนั้น “นิ่ง” แล้ว ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาผลักดันให้เป็นอื่นได้ เพราะฉะนั้น การทำนายทายทักจึงมักจะตรง แต่ปัจจุบันและอนาคต มันยังเคลื่อนไหวเพราะเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง ยังไม่นิ่ง

เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ “กรรม” (การกระทำ) ของคนๆ นั้นเอง เขาทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีคละกันไป สิ่งเหล่านี้แหละมีแนวโน้มจะให้ผลในอนาคต ไม่ว่าดีหรือไม่ดี

พูดอีกนัยหนึ่ง เราเป็นผู้กำหนดอนาคตเราเอง ถ้าต้องการให้ชีวิตเป็นไปอย่างใด ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่ดีๆ ไว้ให้มาก แล้วอนาคตจะไปดีเอง ตรงข้ามถ้าสร้างแต่เงื่อนไขไม่ดี อนาคตก็เป็นไปตามนั้น

ลองฟังนิทานชาดกนี้ดู พระราชาสองเมืองทำสงครามกัน ผัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถึงฤดูฝนก็หยุดพักสิ้นฤดูฝนก็รบใหม่ เป็นอย่างนี้มานาน จนมีคนไปถามฤๅษีว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ ฤๅษีก็ไปถามพระอินทร์อีกต่อ พระอินทร์บอกว่าพระราชาเมือง ก. จะชนะ เมือง ข. จะพ่ายแพ้ ข่าวนี้ก็ไปเข้าพระกรรณของพระราชาทั้งสององค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ก็ดีใจ ประมาท เลี้ยงฉลองกันมโหฬารตั้งแต่ยังไม่รบ ไม่ฝึกปรือกองทัพให้พร้อม สบายใจว่าจะชนะแน่ ส่วนพระราชาที่หมอทำนายว่าจะแพ้ ก็ไม่ยอมถอดใจ ตั้งหน้าตั้งตาฝึกปรือกองทัพอย่างเข้มงวด วางแผนรุกแผนรับไว้อย่างพร้อมสรรพ

เมื่อถึงคราวรบจริง เรื่องก็กลับตาลปัตร ฝ่ายที่ว่าจะชนะ ก็ถูกตีกระจุย ฝ่ายที่ว่าจะแพ้ ก็กำชัยชนะไว้ได้ พระราชาองค์ที่ฤๅษีว่าจะชนะ จึงไปต่อว่าฤๅษีหาว่าทำนายส่งเดช ฤๅษีก็หน้าแตกไปตามระเบียบ จึงไปต่อว่าพระอินทร์หาว่าทายซี้ซั้ว ทำให้แกผู้นำคำทำนายไปเผยแพร่เสียหน้า พระอินทร์กล่าวว่า

“ไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมัน พระราชา ก. จะชนะแน่นอน แต่บังเอิญว่ามีเงื่อนไขใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ความพากเพียรพยายามฝึกฝนฝึกปรือกองทัพของพระราชาเมือง ข. การณ์จึงกลายเป็นตรงกันข้าม”

แล้วพระอินทร์จึงกล่าวปรัชญาว่า

“คนที่พยายามจนถึงที่สุดแล้ว แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้”

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของเหลียวฝาน ที่มิสโจ แปลไว้ในหนังสือ โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน ที่พิมพ์เผยแพร่มาหลายครั้งแล้ว

เหลี่ยวฝานเดิมชื่อเสวียห่าย ได้พบผู้เฒ่าข่ง ผู้เฒ่าทำนายว่าจะได้เป็นขุนนาง ปีไหนจะเป็นอย่างไรบอกไว้หมด และว่าท่านเหลี่ยวฝานจะไม่มีบุตร และจะตายเมื่ออายุได้ 50 ปี

คำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่า แม่นยำมาตลอด จนท่านคิดว่าชะตาชีวิตคนเราถูกฟ้าดินกำหนดมาแล้ว ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เลยไม่คิดที่จะขวนขวายพยายามต่อไป ปล่อยให้เป็นไปตามฟ้าลิขิต ต่อมาท่านได้พบ พระเถระนาม ฮวิ๋นกุ ท่านได้สอนว่า ชะตาชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อนาคตเราต้องสร้างเอง คนทำดีชะตาก็ดี ทำชั่วชะตาก็ชั่ว เมื่อต้องการอนาคตดี ต้องทำดี ถ้าประกอบแต่ความไม่ดี แม้ชีวิตดีมาแล้วก็กลายเป็นร้ายได้

เหลี่ยวฝานได้เล่าคำทำนายของท่านผู้เฒ่าให้พระเถระฟัง ว่าที่ท่านทำนายไว้ถูกต้องแม่นยำมาตลอด ยังเหลือแต่สองข้อสุดท้าย คือจะไม่มีบุตร และสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 50

พระเถระกล่าวว่า ให้ตั้งปณิธานว่าจะทำดีให้มาก สั่งสมบารมีให้มาก ไม่ยอมตนอยู่ในอิทธิพลของคำพยากรณ์ต่อไป บุญกุศลใดที่ทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ แม้กระทำครั้งเดียว ก็เท่ากับกระทำหมื่นครั้งทีเดียว

ท่านก็เชื่อพระเถระ ตั้งหน้าทำแต่ความดีงาม สำรวจความดีความชั่วของตนเองว่า วันหนึ่งๆ ทำความชั่วอะไรบ้าง ความดีอะไรบ้าง แล้วพยายามลบความชั่วด้วยความดีเรื่อยๆ จนมีความดีเพิ่มมากขึ้น แล้วท่านก็ชนะชะตาชีวิต คือได้บุตรชายคนหนึ่ง เมื่อถึงอายุ 50 ปี ก็มิได้ตายดังคำทำนายของผู้เฒ่าข่ง อยู่มาถึงอายุ 69 ปี

ท่านจึงแน่ใจว่า คนเราถ้าไม่ขวนขวายพยายาม ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฟ้าดิน แต่กรรมเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดอย่างแท้จริง นั่นคือเราต้องสร้างอนาคตของเราเอง คนที่พยายามพึ่งตัวเองด้วยการกระทำแต่ความดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมอยู่เหนือโชคชะตา ถ้าใครคิดว่าชีวิตถูกลิขิตมาอย่างใดก็ย่อมเป็นอย่างนั้น แก้ไขไม่ได้เลย ผู้นั้นถึงจะเป็นคนคงแก่เรียนเพียงใด ก็นับว่าโง่อยู่นั้นเอง