Monthly Archives: กุมภาพันธ์ 2013

ผู้เจริญอริยมรรคย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๒๘๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลมหลายชนิดพัดไปในอากาศ คือ
ลมตะวันออกบ้าง ลมตะวันตกบ้าง ลมเหนือบ้าง ลมใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง
ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมพัดเบาๆ บ้าง ลมพัดแรงบ้าง แม้ฉันใด
เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
สติปัฏฐาน ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
สัมมัปปธาน ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
อิทธิบาท ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
อินทรีย์ ๕ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
พละ ๕ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
โพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำ
ให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า
สติปัฏฐาน ๔ จึงถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
สัมมัปปทาน ๔ …
อิทธิบาท ๔ …
อินทรีย์ ๕ …
พละ ๕ …
โพชฌงค์ ๗ จึงถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ
อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ
อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล
สติปัฏฐาน ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง
สัมมัปปธาน ๔ …
อิทธิบาท ๔ …
อินทรีย์ ๕ …
พละ ๕ …
โพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความบริบูรณ์บ้าง.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๗๔/๔๖๙
อากาสสูตร

เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๒๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์
มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างไร

สิกขา คือ
อภิสมาจารเราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว

สิกขา คือ
อภิสมาจารเราบัญญัติแล้วแก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการใดๆ
สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง
ไม่ให้พร้อย ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วยประการนั้นๆ

อีกประการหนึ่ง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง สิกขาอันเป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์
เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ
สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาดไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลายด้วย ประการนั้นๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างไร ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้ว
แก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลาย
เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ
ธรรมทั้งหมดนั้นอันสาวกพิจารณาด้วยปัญญา ด้วยประการนั้นๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างไร ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแก่
สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการ ทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเรา
แสดงแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรมทั้งหมดนั้น
เป็นธรรมอันวิมุตติถูกต้องแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างไร สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า
เราจักบำเพ็ญอภิสมาจาริกสิกขาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่า จักอนุเคราะห์
อภิสมาจาริกสิกขาอันบริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้ว
ในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญสิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
หรือว่าจักอนุเคราะห์สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ
ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักพิจารณาธรรมที่เราไม่ได้พิจารณาแล้วด้วย
ปัญญาในฐานะนั้นๆ หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เราพิจารณาแล้วได้ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง
สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้องด้วยวิมุตติ
หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่เรากล่าวว่า เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์
อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย ดังนี้
เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๓๐/๒๔๐

เหตุปัจจัยให้เกิดเป็นมนุษย์ มีอายุสั้น มีอายุยืน มี โรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๕๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล สุภมาณพ โตเทยยบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยัง
ที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน
ไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
[๕๘๐] สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้
ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์
อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มี
โรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย
มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและ
ความประณีต ฯ
[๕๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็น
ทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อม
จำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ
ส. ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้ เจริญตรัสโดยย่อ
มิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความ แห่งอุเทศนี้โดยพิสดารได้เถิด ฯ
พ. ดูกรมาณพ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป สุภมาณพ
โตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระเจ้าข้า ฯ
[๕๘๒] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็น
สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด
หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขา ให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้า
ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมี
อายุสั้น ดูกรมาณพปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็น
คนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต ฯ
[๕๘๓] ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละ
ปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึง
ความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลก
สวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติ
โลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา
วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ฯ
[๕๘๔] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติ
เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตราเขาตายไป จะเข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป
ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคน
มีโรคมาก ดูกรมาณพปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ
หรือ ก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ
[๕๘๕] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึง
สุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้า
ถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย ดูกร
มาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน
หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ
[๕๘๖] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนมัก
โกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำ
ความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิ
บาต นรก ถ้ามาเป็น มนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่า
เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียด
ให้ปรากฏ ฯ
[๕๘๗] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มัก
โกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาด
ร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความ ขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลก
สวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติ
โลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูก
เขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความ
ขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ
[๕๘๘] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา
ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการ
บูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้
พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์
เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีศักดาน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย
นี้ คือ มีใจ ริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ
[๕๘๙] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่
ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การ
ไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้
พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่
ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามากนี้ คือ มี
ใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ
[๕๙๐] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็น
ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีป
แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อัน
เขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามา
เป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีโภคะน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ
มีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าวน้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่
อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ ฯ
[๕๙๑] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้
ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป
แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม
สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ใน
ภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย แก่สมณะ
หรือพราหมณ์ ฯ
[๕๙๒] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนกระด้าง
เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่
สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทางไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคน
ที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้า
ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดใน
สกุลต่ำ ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อม
ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ
ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับ
ถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา ฯ
[๕๙๓] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนไม่
กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คน
ที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควร
เคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคน ที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะ
กรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้า
มาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง ดูกรมาณพ ปฏิปทา
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งย่อมกราบไหว้คนที่ควร
กราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่
ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา ฯ
[๕๙๔] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตามย่อมไม่เป็นผู้
เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไร
ไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไร เมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้น
กาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขา
ตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทาน
ไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ
ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็น
ผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไร
ไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร ไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์
สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ
[๕๙๕] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้า
ไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็น อกุศล อะไรมีโทษ อะไร
ไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้น
กาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขา
ตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หาก
ตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญา
มาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว
สอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษอะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร
ไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ
[๕๙๖] ดูกรมาณพ ด้วยประการฉะนี้แล ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้นย่อมนำเข้าไปสู่ความ
เป็นคนมีอายุสั้น ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน ปฏิปทา
เป็นไปเพื่อมีโรคมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม
ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่
ความเป็นคนน่าเลื่อมใสปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะ
น้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความ
เป็นคนมีโภคะมาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดใน สกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ
มีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อม
นำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็น ของตน เป็นทายาท
แห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนก
สัตว์ให้เลวและประณีต ฯ
[๕๙๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรง
ประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือน หงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอก
ทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์
นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๘๗/๔๑๓
จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๓๕)

วิธีทำสมาธิของพระเยซู(Jesus Christ) กับของพระพุทธเจ้า ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?

ผู้ถาม : “วิธีทำสมาธิของพระเยซู(Jesus Christ) กับของพระพุทธเจ้า ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?”

หลวงตา : “ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี อาจารย์ไม่อาจเอื้อมเอาพระเยซูกับพระพุทธเจ้ามาชกมวยแชมเปี้ยนกันบนเวที เพราะศาสนาไม่มีอะไรจะทะเลาะและตีกัน แต่คนเราที่เป็นบริษัทของคริสต์และพุทธต่างหาก ชอบทะเลาะตีกันด้วยฝีปาก เพราะดื้อ ไม่ปฏิบัติตามศาสนานั้น ๆ ศาสดาองค์ใดสอนไว้อย่างไรก็เหมือนท่านให้ทางเราเดินดีแล้วด้วยเมตตา เราควรจะระลึกถึงคุณของท่าน เปรียบเหมือนเราจะเดินทางไปสู่จุดหนึ่ง เราตั้งต้นเดินทางที่เรารู้ แล้วไปถึงที่เราไม่รู้เราก็ถามผู้รู้ ๆ ก็บอกทางให้ เราก็เดินไปอีก พอถึงที่ไม่รู้ ก็ถามไปอีก จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง ผู้ที่บอกทางให้เราทุกคนมีบุญคุณแก่เรา เราควรจะระลึกถึงคุณท่าน พระพุทธเจ้าท่านเห็นประจักษ์ในธรรม และวิธีการฝึกของท่าน ดังนั้นท่านจึงไม่จนมุมแก่พุทธบริษัท ท่านพร้อมที่จะช่วยโลกให้พ้นจากอันตรายต่าง ๆ ได้ด้วยพระอุบายที่เต็มไปด้วยพระเมตตา รวมความแล้วทั้งสองศาสนาท่านสั่งสอนคนให้ดีด้วยเมตตาเหมือนกัน จะ ต่างกันอยู่บ้างก็ความสามารถที่อาจแหลมคม ต่างศาสนาจึงอาจมีความหยาบละเอียดต่างกันไปตามผู้เป็นเจ้าของศาสนา”

http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=600

คัมภีร์ในชั้นอรรถกถาไม่น่าเชื่อถือ อยากฟังความเห็นหลวงตา

คำถาม
ขอกราบนมัสการพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระเดชพระคุณหลวงตาที่เคารพอย่างสูงยิ่ง … กระผมมีคำถามเกี่ยวกับคัมภีร์ในชั้นอรรถกถา อยากฟังความเห็นของหลวงตาในเรื่องนี้ขอรับ… คือว่า …เดี๋ยวนี้ ในวงการศาสนาพุทธมีนักวิชาการส่วนหนึ่ง บอกว่า คัมภีร์ในชั้นอรรถกถา ไม่น่าเชื่อถือ …หลวงตาเห็นว่าอย่างไรขอรับ…. ขอกราบนมัสการมาด้วยความเคารพนับถืออย่างสูงยิ่ง … นาย ฬ

คำตอบ

หลวงตา : คนที่พูดว่าไม่น่าเชื่อถือ เขาเป็นคนประเภทคาถา หรือเป็นคนประเภทอรรถกถา

โยม : เขาเป็นนักวิชาการครับ

หลวงตา : นักวิชาการ ถ้านักวิชาการก็นักวิชาการตาบอดเข้าใจไหม หามาอวดทำไม ใครจะเกินพระพุทธเจ้า นักวิชาการแก้กิเลสได้ นักวิชาการนี้กอบโกยกิเลสเข้ามาทิฐิมานะ ถือตัวว่าตัวรู้ตัวฉลาด นี้คือคลังกิเลสเข้าใจเหรอ พระพุทธเจ้าคือคลังของธรรม อรรถกถา ท่านแยกขยายออกมา คาถา อรรถกถา เป็นต้นแล้วก็แยกออกมาเป็นกิ่งเป็นก้าน มันก็กิ่งก้านของต้นไม้ต้นนั้นแหละ จะผิดหรือถูกจับกิ่งก้านเข้ามาก็มาหาลำต้นของมัน ถ้าเราไม่เป็นบ้าไปโดดจากกิ่งก้านลงเหวไปเสีย พวกนักวิชาการ อย่าเป็นนักวิชาการลงเหว เข้าใจไหม เอ้า ว่าไป

โยม : ขอโอกาสเจ้าค่ะ ที่มีคนถามถึงอรรถกถานะค่ะ ก็คงหมายถึงว่า ตำราที่อรรถกถาจารย์อธิบายคัมภีร์พระไตรปิฎก คงจะหมายถึงอย่างนั้นมากกว่า

หลวงตา : เออ ก็อย่างนั้นแล้ว พระไตรปิฎกก็มาจากคาถามาจากพุทธพจน์ว่ายังไง เราก็เลือกเฟ้นเอาซิ กิ่งนั้นก้านนี้ก็มาหาต้นใหญ่ ถ้ามันไม่เลือกผิดโดดผิด โดดผิดตกเหวตายเสียไม่กุสลาให้ เข้าใจเหรอ ก็ยังบอกให้พินิจพิจารณานะ นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ว่าไง เอะอะจะไม่เชื่ออย่างเดียวไม่ได้ เราเก่งกว่าศาสดามาจากไหน เก่งกว่าอรรถกถาจารย์มาจากไหน จึงจะว่าไม่เชื่อทีเดียว อันนี้ก็ยิ่งเห็นความเลวความชั่วของเจ้าของเข้าใจหรือเปล่าล่ะ แล้วมีอะไรอีกล่ะ พุทธพจน์ คาถา อรรถกถา แปลมาเรื่อย ๆ ถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ ใช่ไหมล่ะ เราก็จับไปจากนี้เข้าไปหาต้นตอเอาซิ ถ้าเป็นผู้เฉลียวฉลาดจริง ๆ น่ะ ถ้าจะเอาหลักวิชาการมาอวดนี้ นักวิชาอันนี้ไม่มีใครเชื่อเหมือนกันนั่นแหละ อย่าว่าแต่เราไม่เชื่ออย่างเดียวเขาก็ไม่เชื่อเราเหมือนกันทั้งโลกคนแบบนี้น่ะ เข้าใจเหรอ

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ตอบถามปัญหาธรรมะ
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2546
http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=495

เผลอสติลบหลู่พระอริยะเป็นบาปหรือไม่

เขาภาวนาด้วยความเผลอสติ ดิฉันเคยคิดลบหลู่ครูบาอาจารย์พระอริยะท่าน แม้ท่านไม่ถือโทษ แต่บาปใหญ่ก็เกิดขึ้นแก่ตัวผู้คิด ทางแก้ก็คือต้องไปขออโหสิกรรม และท่านให้อโหสิกรรม ดิฉันก็ได้ยินมาแบบนี้นะคะ จึงอยากกราบเรียนถามหลวงตาเพื่อเป็นคติ และสำรวมระวังต่อไป หากเกิดการลบหลู่ครูบาอาจารย์โดยเผลอสติไปแล้ว และสำนึกสำรวมระวังต่อไป และท่านไม่จำเป็นต้องเอ่ยอโหสิกรรมให้ ผู้คิดลบหลู่นั้นจะมีบาปติดใจหรือไม่เจ้าคะ ดิฉันไม่สบายใจจึงขอความเมตตาหลวงตามา

คำตอบ
หลวงตา : เออ ให้มีสติ อย่าไปคิดลบหลู่ครูบาอาจารย์ผู้ท่านดี ให้คิดลบหลู่ดูหมิ่นเราตัวกำลังสร้างความชั่วช้าลามก ว่ายกโทษครูบาอาจารย์อยู่เวลานี้ให้มันสงบราบลง เข้าใจไหม ตัวนี้ละตัวเป็นมหาภัย ตัวไปคิดลบหลู่ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ตัวเป็นภัย ให้ระวังตัวนี้ให้ดี เอาละเท่านั้น มีอะไรอีกล่ะ

โยม : เขาก็บอก ถ้าได้รับคำสั่งสอนจากหลวงตาแล้วเขาจะรีบเดินทางไปขออโหสิกรรมกับครูบาอาจารย์ที่เขาคิดลบหลู่ครับ

หลวงตา ไปไม่ไปไม่จำเป็น ให้อยู่กับภาวนาถูกต้องแล้ว เข้าใจเหรอ

โยม : อ๋อ ไปก็ได้ไม่ไปก็ได้เหรอครับ

หลวงตา : ไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ เราว่าไม่ไปดีกว่า (คนในศาลาหัวเราะ) อ้าว ให้ภาวนาอยู่นี้ ภาวนาไม่ต้องไปมันดีกว่า ไปก็ เดินโขยกเขยกไปก็จะไปดูถูกท่านอีก กลับมาขาด้วนไปหมด เดินไปเดินมาไปโขยกเขยกไป ไปดูถูกท่านอีกกลับมาขาขาดไปข้างหนึ่งแล้ว ไปที่สองขาขาด ๒ ข้าง ครั้งที่ ๓ กลิ้งไปเลย เข้าใจเหรอ

http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=437

ขณะเดินจงกรมเอาจิตไปที่ไหน

กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพอย่างสูง
กระผมอยากจะเรียนถามว่าขณะที่เราเดินจงกรมนั้นจะเอาจิตไปอยู่ที่ไหน (ลมหายใจ เข้า-ออกหรือ เท้าขวา-ซ้ายที่ย่างก้าวเดิน) และบริกรรมภาวนาพุทโธไปด้วยหรือเปล่าครับ ?
กระผมใช้จิตไปอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาในขณะก้าวเดินและบริกรรมภาวนาพุทโธไปด้วย ไม่ทราบว่าถูกหรือผิดประการใด ได้โปรดเมตตาไขข้อข้องใจด้วยครับ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพ (จากคุณ ตุ๊ก)

คำตอบ
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2546

หลวงตา : ถ้าถนัดในพุทโธก็บริกรรมพุทโธในขณะที่เดินจงกรม ถนัดทางไหนก็เอาแบบนั้น แต่เรื่องสติเป็นสำคัญมาก เช่นอย่างก้าวเดินซ้ายขวา ถ้ามีสติอยู่ก็ดีพอๆ กัน แต่สติมักจะจับติดอยู่ที่จุดเดียวนะ ถ้าเคลื่อนย้ายๆ เดี๋ยวเผลอไป แต่อย่างไรก็ตามมันอยู่ที่ความตั้งใจ คือความตั้งใจนี้จ่อลงจุดไหนขาดสะบั้นไปเลย เราเคยทำมาแล้วนี่นะ นี่ที่ได้เป็นตัวอย่างอันดีงามให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายฟังในคราวที่จิตของเราเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมๆ เราบึกบึนไปนี้ ๑๔-๑๕ วัน ไปถึงจุดที่เคยเจริญแล้วก็เสื่อมลง อยู่ได้เพียงสองสามวัน แล้วเสื่อมลงมานี้ เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขา ทับเราลงไปเลย แล้วก็กลิ้งขึ้นไปใหม่ ๑๔-๑๕ วันถึง อย่างนี้เป็นประจำ

จึงต้องมาหวนคิดอ่านไตร่ตรอง คือตอนนั้นเราไม่ได้ใช้คำบริกรรม กำหนดสติอยู่กับผู้รู้ แล้วมันแฉลบไปไหนเราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นมันจึงมีทางเจริญแล้วเสื่อม จึงมาตั้งใหม่ เอ้า ทีนี้ลงใจแล้วว่าจิตของเรานี้จะเผลอไป เพราะเราไม่มีคำบริกรรมกำกับ คราวนี้จะให้มีคำบริกรรมกำกับ ก็เอาพุทโธตามนิสัยของเราที่ชอบ แต่เราพูดจริงๆ เราไม่ค่อยจะเหมือนใครนัก คือความจริงจัง เหมือนกับว่าเราเป็นคู่ความกัน ความเผลอกับความไม่เผลอ เอาทีนี้ลงใจแล้วเราจะเอาพุทโธ เหมือนกับว่าระฆังดังเป๋งเลย เป็นอย่างนั้นละนิสัยอันนี้ คราวนี้เราจะเอาพุทโธติดแนบตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จะไม่ให้มีเผลอเวลาใดเลย ระยะนี้มันจะเป็นอย่างไรให้รู้ นี่ละถึงได้เหตุได้ผลกัน

พอระฆังดังเป๋งนักมวยก็ต่อยกัน ระหว่างเผลอกับไม่เผลอซัดกันเลย ไม่เผลอติดแนบเลย ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปไหน เหมือนกับว่ามัดคอไว้กับสติเลย เอาอย่างนี้แล้วพอดีพอเหมาะ เวลานั้นหลวงปู่มั่นไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ที่อุบลฯ ท่านให้เราเฝ้าวัดอยู่คนเดียว เหมาะทีเดียวเลย ซัดกันตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับๆ ไม่ให้เผลอจริงๆ นี่นะ เหมือนกับคอขาดเลยทีเดียวถ้าเผลอ ไม่ได้กี่วันนะมันก็รู้ทีเดียว จิตหนักแน่นเข้าๆ ทีนี้ขยับเลย ขยับแล้วจิตก็ขึ้นถึงที่ คือเราปล่อยอาลัยตายอยากแล้วนะ ทอดอาลัย เอ้า จะเสื่อมก็ตามจะเจริญก็ตาม เราจะไม่สนใจกับความเสื่อมความเจริญ ซึ่งเราสนใจมามากแล้วมันก็เสื่อมอยู่ได้ต่อหน้าต่อตา คราวนี้จะไม่สนใจ แต่จะไม่ปล่อยพุทโธ เอาคำเดียว เอา จะเสื่อมจะเจริญให้ไป แต่กับพุทโธนี้ไม่ปล่อย จับติดเลย

ทีนี้พอเจริญขึ้นไปถึงนั้น เอ้า เสื่อม ถึงระยะที่มันเคยเสื่อม เอ้า เสื่อม ไม่สนใจอีกนะ เอาพุทโธๆ อยู่งั้นๆ ไม่เสื่อมแล้วค่อยขึ้น อ๋อ จับได้แล้วนะ มันเสื่อมเพราะเราไม่ตั้งคำบริกรรม เพราะพระตั้งหน้าภาวนาจริงๆ เป็นงานเป็นการจริง ๆ ต้องทำอย่างงั้นได้ ไม่ได้เหมือนฆราวาสเขาที่มีงานหลายอย่าง คือพูดนี้แยกประเภทเข้าใจไหม ตั้งแต่นั้นมาจับติดเลย ได้เลย ได้ตลอดเลย นี่เราจึงเอามาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง เหมือนกับว่าระฆังดังเป๋ง คราวนี้จะไม่ให้เผลอตั้งแต่บัดนี้ เป๋งระฆังเท่านั้นก็เอาเลย มันเป็นอย่างงั้นจริง ๆ จิตใจเราไม่เหมือนใคร ยังบอกแล้ว

ที่ได้เป็นคติมาสอนพี่น้องทั้งหลาย สตินี้เป็นตัวสำคัญทีเดียว เป็นธรรมที่สำคัญมาก ที่จะรักษาความแคล้วคลาดปลอดภัยให้จิต ไม่งั้นกิเลสมันจะผลักดัน ไอ้ที่ว่ากิเลสเข้ามาทางนู้นทางนี้นี่เป็นความสำคัญเฉย ๆ ความจริงกิเลสของเรานี้มันดันออกไป มันอยากคิดอยากปรุงเข้าใจไหม มันอยากมันดันออกไป พอดันไปกับสิ่งใดก็พาดพิงสิ่งนั้นจะเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้นมา รูปนั้นรูปนี้ เข้าใจไหม เรื่องนั้นเรื่องนี้ ความจริงออกมาจากนี้ ถ้าเราดันอันนี้ไว้ด้วยพุทโธกับคำบริกรรม ติดแนบไม่ให้มันออก ก็มีแต่ธรรม ทีนี้ธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจซิ ธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจ จิตใจก็ชุ่มเย็นเข้ามา สงบเข้ามา ความอยากคิดอยากปรุงเลยเบาไป ๆ ทางนี้ก็เน้นหนักเข้าเรื่อย นี่จำเอานะ

คืออารมณ์ของธรรมเป็นความคิดเหมือนกัน เรียกว่าสังขาร ความปรุงความคิด เช่นพุทโธก็เรียกว่าความคิด ธัมโม สังโฆ เป็นความคิด แต่นี่ความคิดเป็นธรรมเป็นคุณประโยชน์ แต่ความคิดของกิเลสมันจะบริกรรมไม่บริกรรมก็ตาม มันเป็นกิเลสเต็มตัวของมัน นั่นแหละคือความคิดของกิเลส บังคับไม่ให้ความคิดนั้นออก เราเอาความคิดของธรรมตีเข้าไป ๆ ก็ระงับ ๆ ลง จนมันพุ่งๆ ได้ จำเอานะ นี่แหละการบริกรรม เราจะเอาอะไรก็แล้วแต่ ทีนี้กลับมาถึงการตอบปัญหาโดยตรง คือสติเป็นสำคัญ ตามแต่จริตนิสัยที่จะบริกรรมคำใดก็ได้ แต่สติเป็นสำคัญด้วยกัน มีเท่านั้น

http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=422

จำเป็นหรือไม่การภาวนาต้องควบคู่ไปกับการเรียนอภิธรรม

กราบนมัสการหลวงตามหาบัวที่เคารพ

นับแต่ผมได้ฟังเทศน์ของหลวงตา ผมก็หันมาสนใจในพระพุทธศาสนา และได้ฟังหลวงตาเทศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตอยู่เป็นประจำครับ อาทิ ปฏิบัติภาวนา ท่องพุทโธให้ติดอยู่แนบจิต ทำสมาธิ ตามคำแนะนำของหลวงตา และหาอ่านธรรมะที่มีอยู่ทางเว็บไซต์ครับ

จนกระทั่งผมได้สนทนากับเพื่อนที่สนใจในทางธรรมะ เพื่อนแนะนำให้ผมได้ไปอ่านพระอภิธรรม เพื่อความรู้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อผมอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจครับ ติดขัดในข้อบาลี ครั้นไปเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ก็ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ เมื่อพระผู้สอนก็เอ่ยถึงคำบาลี ผมเองก็ไม่เข้าใจความหมาย เพราะไม่เคยเรียนมาทางด้านนี้เลย

ดังนั้นผมขอถามว่า การปฎิบัติภาวนาจำเป็นหรือไม่ที่ต้องศึกษาพระอภิธรรมควบคู่ไปด้วยครับ ท้ายสุดนี้ ขอกราบขอบพระคุณหลวงตาที่ได้เทศนาสั่งสอนแก่ชาวโลกให้หันมาสนใจในธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์ครับ

คำตอบ
หลวงตา : อภิธรรมก็คือพระพุทธเจ้าองค์เอก เข้าใจเหรอ นั่นแหละตู้อภิธรรมคือพระพุทธเจ้าองค์เอก อภิธรรมออกมา ออกมาจากพระพุทธเจ้า ครั้นออกมาแล้วก็มาเป็นความจดความจำของผู้ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยรู้เคยเห็น มันจึงเหลวไหลไปทั้งเขาทั้งเรา เพราะฉะนั้นจึงเอาภายในจิตนี้ให้ดี อภิธรรมอยู่ในจิตนี้ เข้าใจหรือ บอกอะไรก็ไม่เหนือไปจากสติกับจิตให้ติดแนบกัน มันจะแยกขยายไปไหนอาการของจิต มันจะค่อยรู้ค่อยแตกแขนงออกไป แล้วปัญญาจะค่อยพิจารณาไปตามสิ่งที่รู้ที่เห็นนั่นแหละโดยไม่ต้องสงสัย กิเลสมันไม่เห็นมีบาลีวะ ตรงนี้ไม่เห็นใครพูดกัน เอะอะก็บาลี ๆ บาลีเป็นเรื่องธรรมของพระพุทธเจ้า กิเลสมันไม่เห็นเป็นบาลีอะไร

เดี๋ยวนี้มีตั้งแต่เอากิเลสมาใช้กัน ครั้นเวลาจะพูดธรรมะก็ขึ้นเป็นบาลีแล้วก็แปลสุ่มสี่สุ่มห้า เจ้าของก็ไม่เคยปฏิบัติ บาลีว่างั้นบาลีว่างี้ไปเลย แล้วเต็มตั้งแต่บาลีแหละพวกปริยัติ หลวงตาบัวนี้ก็เป็นมหาบัว มันก็เป็นหนอนแทะกระดาษเข้าใจไหม ถ้าไม่ปฏิบัตินะ ถ้าปฏิบัติจะเป็นความจริงขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นจึงขอให้มีภาคปฏิบัติ จิตตภาวนาเป็นรากใหญ่สำคัญมากของการปฏิบัติ และผลทั้งหลายจะรู้ขึ้นจากภาคปฏิบัติ เพียงแต่เรียนจำมาเฉย ๆ ยกคัมภีร์มาแบกจนหลังหักมันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเป็นความจำ เด็กเรียนก็ได้ผู้ใหญ่เรียนก็ได้ ผู้หญิงผู้ชายเรียนก็ได้จำได้ด้วยกัน แต่ไม่มีกิเลสถลอกปอกเปิก ถ้าไม่นำออกปฏิบัติ ถ้านำออกปฏิบัติไม่ว่าหญิงว่าชาย นักบวชหรือฆราวาส ปฏิบัติได้ด้วยกัน เพราะจิตนี้ไม่มีเพศ กิเลสก็ไม่มีเพศ มันอยู่ในจิต ธรรมไม่มีเพศ อยู่ในจิต แก้เข้าไปถูกจุดแล้วกิเลสก็กระจายออก บาลีไม่บาลีไม่สำคัญ เข้าใจหรือ เอาแค่นี้ก่อน

http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=439

การซื้อขายพระเครื่องเป็นโทษหรือไม่

กราบเรียนหลวงตาที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

ครอบครัวของหลานเคารพเลื่อมในในพระพุทธศาสนาทั้งครอบครัวค่ะ และได้มีโอกาสไปกราบหลวงตาในหลายๆ ครั้งค่ะ ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และหลาน และพี่ ๆ น้อง ๆ ในระยะหลัง ๆ นี้ เพื่อนคุณพ่อมักจะขายพระเครื่องให้คุณพ่อโดยว่าราคาในอนาคตจะดีมาก หลานได้มีโอกาสทราบว่าคุณพ่อก็มีการซื้อพระเครื่องเข้ามาที่บ้านเป็นระยะ ๆด้วยราคาถือว่าที่สูงพอสมควร สำหรับตัวหลานเอง มีความคิดว่าการซื้อขายพระเครื่องเพื่อหวังผลที่นอกไปจากเพื่อการปกป้องคุ้มครอง หรือผลประโยชน์ทางด้านจิตใจของเจ้าของนั้น เป็นเรื่องที่ให้โทษค่ะ (เช่นการหวังผลกำไรอย่างเป็นรูปธรรม หรือเห็นเป็น”ทรัพย์สิน”ประเภทหนึ่ง บางคนก็เก็บสะสมพระเครื่องไปเรื่อย ๆ) หลานอยากกราบเรียนหลวงตาให้ช่วยให้โอวาทเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายพระเครื่องด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา ว่าการกระทำเช่นนี้จะให้โทษมากน้อยแค่ไหนค่ะ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณหลวงตามากค่ะสำหรับความเมตตาที่สูงยิ่งต่อชาวไทย และลูกศิษย์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับท่านอย่างหาประมาณไม่ได้ หลานขอให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงและสดชื่นตราบนานเท่านานนะคะ

คำตอบ
หลวงตา โทษไม่โทษก็ตามเถอะ อย่าไปหาขายพระเครื่อง พระเครื่องธรรมดาก็เป็นพระพุทธเจ้า เอาพระพุทธเจ้ามาเป็นสินค้าขายเกลื่อนเวลานี้เต็มไปหมด พวกชาวพุทธขายพ่อตัวเอง พระพุทธเจ้ามีเยอะ แล้วมีหลายรายนะที่มาถวายพระพุทธรูปให้เรา มาถวายแล้วเราก็ เอ้า รับให้แล้วเอาคืนไปกราบเสียไปเท่านั้นละ เราไม่เอา เพียงแค่นี้ก่อนลึกกว่านั้นยังไม่พูด มันไม่สมควรจะรับได้เอาแค่นี้ก่อน เอ้า รับให้แล้วนะเรียบร้อยแล้วหลวงตารับให้แล้ว เอ้า เอาคืนไปกราบนะ ความจริงก็คือเราไม่เอา จะส่งเสริมคนให้เป็นบ้าขายพระพุทธรูป เอาพระพุทธรูปเป็นปลาเน่าไปขายเกลื่อน คนนั้นก็ว่าดิบว่าดี มันก็ดีแหละดีแบบนี้น่ะ ดีแบบเลิศกว่านี้เป็นยังไงมันไม่มีมันไม่รู้เข้าใจไหม จำเป็นอะไรจะต้องเอาพระพุทธเจ้ามาขาย

ทีนี้เวลาทำขึ้นไปเมื่อขายได้มีราคาดีอย่างนี้ มันก็มีกำไรใช่ไหม ก็มีกำลังใจสร้างพระพุทธรูปขึ้นขายเกลื่อน เดินไปตามถนนหนทางให้ระวังนะ เดี๋ยวไปโดนพระพุทธรูปเข้านะ เขามาขายเกลื่อนอยู่นั้น สินค้าใหญ่เข้าใจไหม พวกนี้เป็นอย่างนั้นนะ หากิน อาศัยธรรมนี้เป็นเครื่องหากิน เวลานี้เกลื่อนพระพุทธเจ้าเป็นสินค้าอันใหญ่หลวง ศาสนานี้เป็นสินค้าอันใหญ่หลวง ขายเกลื่อนกันไปหมด อะไรที่จะพอเอาไปขายได้เป็นประโยชน์ว่าอย่างนั้นเลยตามความรู้สึกของเขา เกลื่อนไปหมดด้วยสิ่งเหล่านี้ แต่ที่จะเนรเทศกิเลส ขายกิเลสออกจากใจให้มีความเบาบางภายในตัวเองมีความสุขบ้าง มันไม่สนใจกันนะ พระพุทธเจ้าสอนให้ชำระสิ่งเหล่านี้ที่มันหนัก

แม้ที่สุดไปเอาพระพุทธเจ้ามาขายกินอย่างนี้มันก็ยิ่งไปใหญ่แล้วนะ ถ้าพูดไปมันก็กระเทือน มันมีส่วนได้นิดหนึ่งส่วนเสียมาก นั่น ไม่พูดเสียดีกว่า อย่างที่เขาเอาพระพุทธรูปมาให้เราไม่ทราบว่ากี่ราย เราทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป มารับให้แล้ว เอ้า เอากลับคืนรับให้เรียบร้อยแล้วนะ คือเราไม่เอา มันจะเป็นการส่งเสริมพวกนี้ บางรายถ้าเราจะแย็บออกบ้างก็ นี่สินค้าใหญ่คือพระพุทธรูปนี่เห็นไหม พากันไปซื้อให้หมดบ้านหมดเมืองนะ เอามาขายเกลื่อน อย่าสนใจกราบพระพุทธเจ้า ให้หาพระพุทธเจ้ามาขายกันกินอย่างนี้ แล้วกราบลมกราบแล้งไปอย่างนั้นนะ ว่าอย่างนี้ละเรา มันไม่รู้ภายใน

จากกัณฑ์เทศน์’เป็นศาสดาด้วยการภาวนา”
วันที่ 5 ต.ค. 2546
http://www.luangta.com/thamma_forum/forum_detail.php?cgiForumID=370

มาฆบูชา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

วันนี้เป็นวันมาฆบูชา คล้ายกับวันปลงพระชนมายุสังขารของพระพุทธเจ้า ที่จะทรงลาโลกลาสงสาร หรือลาเรือนจำแห่งวัฏจักร สละธาตุขันธ์ทิ้ง เพราะเป็น “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” มาเป็นเวลาแปดสิบพระพรรษาแล้ว ซึ่งเป็นภาระหนักมาก ทรงแบกมาถึง ๘๐ ปี หนักตลอดเวลา ไม่เคยเบาเลย คือธาตุขันธ์นี้แล อย่างอื่นยังมีเบาบ้างหนักบ้าง พอได้หายใจโล่ง ข้าว น้ำ เราหาบหิ้วมาหนักๆ นี่ เราคดกินไป รินไป ใช้อย่างอื่นไป ก็หมดไป หมดไป แล้วก็เบาไป ส่วนธาตุขันธ์แบกมาตั้งแต่วันเกิดไม่เคยเบา หนักมาเรื่อยๆ ยิ่งเฒ่ายิ่งแก่ กำลังวังชาที่จะแบกจะหามไม่พอ ก็ยิ่งปรากฏว่าหนักขึ้นไปโดยลำดับ ท่านจึงว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้านี้เป็นภาระอันหนักมาก”

แบกรูป แบกกายหนักแล้วยังไม่แล้ว ยังแบกทุกขเวทนาที่มีอยู่ในกาย แบกสัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งล้วนแต่เป็นของหนัก และยังทิ่มแทงหัวใจเราอีกด้วยไม่เพียงหนักเฉยๆ มันยังมีหนามอันแหลมคมเสียบแทงเข้ามาภายในกายในใจอีก

พระพุทธเจ้าท่านทรงอดทนแบกธาตุขันธ์นี้มาจนถึง ๘๐ พระพรรษา วันนี้พูดง่ายๆ ก็ว่า “โอ๊ย! ขันธ์นี้เหลือทนแล้ว ลาเสียทีเถอะ!” อันเป็นการปลงพระทัยว่า จะทรงปลงพระชนมายุสังขาร จากนี้ไปอีกสามเดือนจะทรงสลัดปัดทิ้งภูเขาภูเรานี่เสียที ทรงตรึกในวันเพ็ญเดือนสามเช่นนี้ ในวันเพ็ญเดือนสามนั้นเองปรากฏว่า ยังมีพระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ ต่างองค์ต่างมาด้วยอัธยาศัยน้ำใจของตัวเอง ซึ่งไม่ต้องถูกเชื้อเชิญนิมนต์มาแม้แต่องค์เดียว มารวมกันในวันนั้นโดยพร้อมเพรียง จึงได้ประทานพระโอวาท เป็น “วิสุทธิอุโบสถ” ขึ้น ให้บรรดาสาวกอรหันต์ทั้งหลาย เป็นเครื่องรื่นเริงในธรรมของพระพุทธเจ้าที่ประทานในวันนั้น ในบทความย่อ ๆ ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา,
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร,
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ,
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

นี่เป็นพระโอวาทที่ประทานเป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ในเวลาบ่าย ซึ่งคล้ายกับวันนี้ พระโอวาททั้งหมดนั้นเป็นเครื่องรื่นเริงสำหรับสาวกอรหันต์เหล่านั้น ไม่ใช่แสดงเพื่อให้ท่านเหล่านั้นยึดเป็นเครื่องมือ เพื่อซักฟอกกิเลส หรือนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะออกจากจิตใจแต่อย่างใด เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วทั้งนั้น จึงเรียกว่า “วิสุทธิอุโบสถ” ที่ประทานพระโอวาทในท่ามกลางพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ นี้ก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏอีกเลยในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทั้งตอนที่ยังทรงพระชนม์อยู่และเวลาที่ปรินิพพานไปแล้ว และตลอดไป คงไม่มีซ้ำอีก

ที่เราระลึกถึงท่านเหล่านั้น ก็เพราะท่านเป็น “อัจฉริยบุคคล” เป็นบุคคลอัศจรรย์ ในท่ามกลางแห่งมนุษย์ทั่วโลกที่ล้วนเป็นผู้มีกิเลสโสมม หมักหมมอยู่ภายในใจ ไม่ปรากฏแม้คนหนึ่งจะบริสุทธิ์อย่างท่าน

“สพฺพปาปสฺส อกรณํ” การไม่ทำบาป ความเศร้าหมองอันเป็นความทุกข์ทั้งปวง หนึ่ง คือบาปทางใจนั้นสำคัญมาก คนเราสร้างได้ทุกเวลา บาปทางกาย ทางวาจายังมีกาลมีเวลา แต่บาปทางใจที่สร้างความเศร้าหมองขึ้นมาแก่จิตใจนั้น มันเกิดขึ้นด้วยความคิดความปรุงของตัวเอง สิ่งที่ผลักดันออกมาให้ปรุงให้จิตใจเศร้าหมอง ก็คือสิ่งที่เศร้าหมองอยู่แล้ว สิ่งที่สกปรกอยู่แล้วภายในใจ ท่านเรียกว่า “กิเลส” กิเลสเป็นเครื่องปรุงแต่งสัญญา, สังขารออกมา มันเป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง การทำบาป คือการสร้างความเศร้าหมอง ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเที่ยวฉกลัก ปล้นสะดมใครก็ตาม อันนั้นเป็นส่วนหยาบ บาปส่วนกลาง ส่วนละเอียดนั้น คนเรามักสร้างกันอยู่ภายในใจตลอดเวลา จึงเท่ากับสร้างความเศร้าหมองอยู่ภายในจิตตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อใจเป็นความเศร้าหมอง นั่งอยู่ก็เศร้าหมอง เพราะนั่งอยู่ก็สร้างความเศร้าหมองให้แก่ใจ ยืน เดิน นั่ง นอน คิดได้สร้างได้ทั้งนั้น ใจจึงเศร้าหมองได้ทุกอิริยาบถ ท่านสอนให้ไม่ทำความเศร้าหมองนี้ประการหนึ่ง

จะทำด้วยวิธีใด ใจจึงจะไม่เศร้าหมอง? “กุสลสฺสูปสมฺปทา” จงยังความฉลาดให้ถึงพร้อมเพื่อจะแก้ไข เพื่อซักฟอกความเศร้าหมอง คือ “บาป” นั้นออกจากใจ แล้วกลายเป็น “สจิตฺตปริโยทปนํ” ขึ้นมา คือใจจะผ่องใส เมื่อความฉลาด คือมีสติ มีปัญญา เป็นเครื่องซักฟอกบาปความเศร้าหมอง ความสกปรกทั้งหลายออกจากใจ ใจก็เป็นความผ่องใสขึ้นมาที่เรียกว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ” บาปน้อย บาปใหญ่ก็ค่อยหมดไป หมดไป กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา นี่คือพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น สอนให้พวกเราทำอย่างนี้ด้วยกัน จึงไม่มีทางอื่นที่จะเลือก

หากมีทางเลือก พอผ่อนหนักผ่อนเบาได้ ก็ไม่มีใครที่จะเฉลียวฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า คงจะสานอู่สานเปลให้พวกเรานอกเอกเขนก ฆ่ากิเลสอยู่ในอู่ในเปลเรื่อยไปจนไม่มีเหลือ สมพระนามว่าเป็น ศาสดาที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกผู้อ่อนแอขี้บ่น แต่พระองค์ทรงทำ “ทางลัด ทางตรง” ให้แล้ว เต็มพระปรีชาสามารถ

พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาจนได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงชำระกิเลสออกจากพระทัยไม่มีอันใดเหลือด้วยธรรมใด จึงต้องทรงสอนไปตามแนวทางที่ถูกต้องนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเลือกเฟ้นเต็มพระสติกำลังความสามารถแล้ว จึงได้ธรรมที่เหมาะสมแก่บรรดาสัตว์มาสั่งสอนโลก

คำว่า “เหมาะสม” นั้น ไม่ใช่เหมาะสมกับความชอบใจของบรรดาสัตว์ แต่เป็นความเหมาะสมในการแก้กิเลสของสัตว์โลกต่างหาก ธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมมีเท่านี้ ไม่มีธรรมอื่นที่ยิ่งไปกว่า คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่ประทานไว้แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ไม่มีธรรมใด เครื่องมือใด วิธีการใด ที่กิเลสจะกลัว กิเลสจะหลุดลอยออกไป แม้แต่ผิวหนังถลอก

อนูปวาโท อย่าไปกล่าวไม่ดีกับผู้หนึ่งผู้ใด
อนูปฆาโต อย่าฆ่า อย่าทำลาย หรือทำร้ายสัตว์ มนุษย์ ไม่ดี
ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมอยู่ในข้ออรรถข้อธรรมที่จะเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ให้รู้จักประมาณในการกินอยู่ปูวาย อย่าให้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุเกินผลสำหรับนักปฏิบัติ ให้รู้จักประมาณในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตน
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ให้แสวงหาที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อกำจัดกิเลสด้วยความวิเวกนั้นๆ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค พึงประกอบจิตให้ยิ่งในอรรถธรรมด้วยสติปัญญาไปโดยลำดับ

เมื่อขยายความออกก็มีเท่านี้ นี่เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ประทานไว้

เวลาประกาศธรรมให้เป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาสาวก ท่านประกาศอย่างนี้ เวลาทรงสอนสาวกเหล่านี้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ทรงสอน “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” นี้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นความจำเป็นที่พวกเราทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามนั้น มีทางเดียวที่จะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปจากใจได้โดยลำดับๆ พระโอวาทนี้ถึงใจพวกเราไหม? หรือมีเฉพาะอู่กับเปลเท่านั้นที่ถึงใจพวกเราน่ะ

ธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงถอดถอนจากพระทัยมาสอนพวกเรา พวกเราถึงใจบ้างไหม? พระองค์ก็ประทานด้วยพระเมตตาเต็มส่วน พวกเรารับด้วยความจงรักภักดี เต็มจิตเต็มใจ มากน้อยประการใดบ้าง? หากว่าการรับธรรมดุจจะทิ้งเสีย ธรรมก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เรา ไม่สมเจตนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

ถึงวันเพ็ญเดือนหก ก็เป็นวันทรงปลงสังขาร ตามที่ทรงประกาศไว้ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งคล้ายกับวันนี้ จากนั้นมา เรื่องธาตุเรื่องขันธ์สิ่งบังคับก่อกวน ก็หมดสิ้นไปจากพระพุทธเจ้า เป็น “อนุปาทิเลสนิพพาน” ล้วนๆ หมดความกังวล หมดความรับผิดชอบในสมมุติทั้งปวง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นี่เรียกว่า “ธรรมเหนือโลก” “ธรรมสุดส่วน”

โลก คือสมมุติทั้งหลายนั้นเอง สมมุติน้อยใหญ่ มีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น “สามโลก” คือ โลกแห่งความสมมุติแห่งความเสกสรร แห่งความแปรปรวน “โลกแห่งอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ซึ่งเป็นโลกก่อความวุ่นวายตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นภพใด ชาติใด เป็นโลกที่หมุนไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นเจ้าอำนาจ เป็นทางเดิน ใครจะหักห้ามไม่ได้ พอพ้นจากนี้แล้ว ก็หมดปัญหา!

นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต หมดความหิวโหย ดับสนิท ไม่มีสมมุติใดๆ เหลืออยู่เลย ธรรมนี้เป็นเครื่องกังวานอยู่ในความจริง ที่พระองค์ตรัสไว้ทุกแห่งหน

ถ้าเราได้น้อมเข้ามาประพฤติปฏิบัติด้วยความซึ้งใจในธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นก็จะมากังวานอยู่ในจิตของเรา เบื้องต้นก็จะกังวานอยู่ในความสงบร่มเย็นภายในใจ คือสมาธิเป็นขั้นๆ แล้วก็กังวานอยู่ด้วยปัญญา ความคิดค้นหาเหตุผล เพื่อเปลื้องตนให้หลุดพ้นได้เป็นระยะๆ สุดท้ายก็กังวานถึง “ความบริสุทธิ์” หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง นั่น! นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ดับความหิวโหยอะไรทั้งหมด เพราะกิเลสทุกประเภทเป็นเชื้อแห่งความหิวโหยทั้งนั้น ไม่มีความอิ่มตัว ไม่มีความพอตัว ก็คือกิเลส เราจะยกน้ำในมหาสมุทรมาทั้งมหาสมุทรก็สู้ความหิวนี้ไม่ได้ “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” ความหิวโหยด้วยอำนาจของกิเลสนี้ จะเอาแม่น้ำมหาสมุทรมาแข่งก็สู้ไม่ได้ มีเต็มอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก ไม่เคยบกพร่องเลย ตลอดกาลไหน ๆ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
http://www.luangta.com
(คัดลอกมาบางส่วน)